ยูโร 2012: บางแง่มุมเกี่ยวกับ 16 ทีมที่คุณควรรู้ (กลุ่ม B)

สำหรับคอกีฬา เราลองมารู้จักบางแง่มุมของ 16 ประเทศที่จะร่วมโม่แข้งในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปนอกเหนือจากเรื่องฟุตบอล ขอนำเสนอเกร็ดเล็กๆ ของประเทศในกลุ่ม B เนเธอร์แลนด์, เดนมาร์ก, เยอรมัน และโปรตุเกส

 
เนเธอร์แลนด์

 
พิษเศรษฐกิจบีบนายกลาออก – นายกรัฐมนตรี Mark Rutte แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ด้วยการยื่นหนังสือลาออกต่อสมเด็จพระราชินี Beatrix หลังจากล้มเหลวที่ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนในรัฐสภา ในการผ่านมาตรการตัดลดงบประมาณขาดดุลของประเทศ (หรือที่เรียกกันว่านโยบายรัดเข็มขัด)  ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้นำของกรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปน และอิตาลี ก็ถูกบีบให้ต้องออกจากตำแหน่งเพราะภาวะติดหล่มทางเศรษฐกิจของยุโรป
 
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์มองว่าเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 5 จาก 17 ประเทศ ในกลุ่มยูโรโซน ยังมีลู่ทางฟื้นตัวได้ไวกว่าหลายๆ ประเทศ โดยเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศผู้ให้กู้มากกว่าผู้กู้เงินจากชาติยุโรปทั้งหมด ซึ่งมีความสำคัญเพราะชาติยุโรปที่ประสบวิกฤตหนี้คือประเทศที่จำเป็นต้องกู้เงินจากประเทศ อื่นๆเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี
 
โดยเนเธอร์แลนด์มีกำหนดจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 12 ก.ย.นี้
 
เดนมาร์ก
 

 
นายกหญิงคนแรก– เช่นเดียวกับประเทศไทย เดนมาร์กพึ่งจะมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก และยังถือเป็นครั้งแรกในรอบเกือบทศวรรษที่ฝ่ายค้านเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง
 
Helle Thorning-Schmidt วัย 44 ปีจากพรรคการเมืองแนวซ้ายกลางอย่างพรรค Socialdemokraterne รวบรวมเสียงพันธมิตรทางการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยสามารถได้ 89 ที่นั่ง จากทั้งหมด 179 ที่นั่ง (โดยพันธมิตรประกอบไปด้วย Socialdemokraterne, Det Radikale Venstre, Socialistisk Folkeparti และ Enhedslisten)
 
ส่วนพรรครัฐบาลเก่าอย่างพรรค Venstre พรรคการเมืองแนวเสรีนิยม ถึงแม้จะเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกผู้แทนมากที่สุด แต่ก็สามารถรวบรวมเสียงจากพรรคพันธิมิตรได้เพียง 86 ที่นั่ง แต่หลังจากการประกาศผลการเลือกตั้ง อดีตนายกอย่าง Lars Løkke Rasmussen ก็ออกมายอมรับผลการเลือกตั้งอย่างโดยดี (ทั้งๆ ที่พรรคของเขาได้รับเลือกมากที่สุด)
 
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ระบุว่าชัยชนะของ Thorning-Schmidt นั้นมาพร้อมกับความคาดหวังของประชาชนชาวเดนมาร์กกว่า 5.6 ล้านคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ทั้งนี้ในการหาเสียงพรรค Socialdemokraterne ได้สนับสนุนมาตรการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ ขึ้นภาษีคนรวย และให้ทุกคนทำงานเพิ่มขึ้นวันละ 12 นาที โดยระบุว่า ชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้นในแต่ละสัปดาห์จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้
         
เยอรมัน

 
หัวหอกอัดยูเครน – ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Dirk Niebel รัฐมนตรีการพัฒนาของเยอรมัน ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Die Welt ว่าต้องการส่งสารทางการเมืองไปถึงรัฐบาลยูเครนว่าเหตุใดเขาจึงยกเลิกแผนการที่จะเดินทางไปร่วมชมเกมการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ที่มีทีมชาติเยอรมันลงแข่งขันด้วยที่ประเทศยูเครน ทั้งที่รัฐบาลยูเครนเคยแสดงความต้องการที่จะยกระดับเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เป็นไปในทางเดียวกันกับมาตรฐานของประเทศในยุโรป แต่ขณะนี้เรื่องดังกล่าวกลับร้ายแรงยิ่งนักและเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องที่จะมากักขังผู้คนไว้ในคุกเพราะความผิดทางการเมือง (ซึ่งหมายถึงกรณีของนาง Yulia Tymochenko ที่เราจะอภิปรายกันต่อไปเมื่อกล่าวถึงยูเครน)
 
นักการเมืองของเยอรมันอีกหนึ่งรายคือ ประธานาธิบดี Joachim Gauck ก็ได้ปฏิบัติกับยูเครนอย่างที่สามารถเอาไปตั้งข้อสงสัยได้ว่า นี่เป็นการแสดงความพยายามบอยคอตส์ โดย Gauck ปฏิเสธคำเชิญไม่ไปร่วมประชุมที่เมือง Yalta เมืองทางใต้ของยูเครนเมื่อเดือนที่ผ่านมา
 
ภารกิจของพี่เบิ้ม –มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรปด้วยแผนการออกพันธบัตรยูโร (Eurobonds) ภายใต้การผลักดันของประธานาธิบดี François Hollande แห่งฝรั่งเศสนั้นกำลังเป็นที่กล่าวขวัญว่าอาจจะช่วยแก้ปัญหาที่ยุโรปกำลังเผชิญอยู่
 
โดยพันธบัตรยูโรมีการระดมทุนคล้ายกับการออกพันธบัตรทั่วไปของแต่ละประเทศ ทว่าแตกต่างตรงที่ทั้ง 17 ประเทศในกลุ่มยูโรโซนจะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ร่วมกันทั้งหมด โดยแบ่งตามสัดส่วนตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับสัดส่วนของเงินที่ได้ไปจากการประมูลพันธบัตรยูโร ทั้งนี้เยอรมันรู้ดีว่าพันธบัตรยูโรคือหนทางช่วยเหลือทุกประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจยกเว้นเยอรมนีเพียงชาติเดียวเท่านั้น
 
โดยเยอรมันจะเป็นผู้เสียประโยชน์แทบจะทุกด้าน กับการนำตัวเองไปค้ำประกันหนี้ก้อนใหญ่ร่วมกัน โดยเฉพาะชาวเยอรมันผู้เสียภาษี จะตั้งคำถามตามมาว่าเหตุใดเยอรมันจึงต้องมาแชร์หนี้กับประเทศที่ไม่มีวินัยการคลังอื่นๆ ด้วย ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจของประชาชน และอาจเป็นความเสี่ยงสำคัญทางการเมืองที่รัฐบาลเยอรมันไม่ต้องการเผชิญในวันเลือกตั้งครั้งหน้า
 
แต่นี่อาจจะเป็นภารกิจที่เลี่ยงไม่ได้ของพี่ใหญ่ของกลุ่มประเทศยูโรโซนอย่างเยอรมัน
 
“นักเตะทีมชาติ” ลืมจับมือ "ประมุข" ของประเทศ – เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสื่อได้ประโคมข่าวเรื่องที่ Bastian Schweinsteiger นักเตะทีม Bayern Munich และทีมชาติเยอรมัน ลืมจับมือกับประธานาธิบดี Joachim Gauck แห่งเยอรมนี หลังจากที่ทีมของเขาพ่ายแพ้ในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกให้กับ Chelsea
 
โดยสื่อได้ประโคมข่าวภาพหลักฐานเห็นชัดว่า Schweinsteiger มีสภาพมองไม่ออกแล้วว่าใครเป็นใครบ้าง เมื่อต้องขึ้นไปรับเหรียญรางวัลรองชนะเลิศ แล้วก็ยังมองผ่าน ประธานาธิบดีของประเทศตนเอง ซึ่งได้ยื่นมือมาให้สัมผัสตามธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อขึ้นรับรางวัล โดยภาพนี้ปรากฏอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับของเยอรมันในวันต่อมา
 
ท้ายสุด Schweinsteiger ได้ออกแถลงการณ์ผ่านทางสโมสร Bayern Munich ต้นสังกัดว่าหากใครเป็นตัวเขาในช่วงเวลานั้น คงเข้าใจความรู้สึกว่า อยู่ในโลกของตัวเองโดยไม่สนใจอะไรเลย หลังจากที่ต้องพบกับความผิดหวังมาอย่างมาก เขารู้สึกตกใจและอยู่ในอารมณ์ผิดหวังจนมองไม่เห็นมือของประธานาธิบดีที่ยื่นออกมาให้จับ ทั้งนี้เขาเองต้องขอโทษอย่างมากที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะสมแบบนี้ขึ้นมา และอยากขอโทษท่านประธานาธิบดีของเยอรมันด้วย
 
อนึ่ง Gauck พึ่งขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีต่อจาก Christian Wulff เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ Wulff ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังอัยการร้องขอให้รัฐสภายกเลิกเอกสิทธิ์คุ้มครองการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย กรณีที่เขาเคยรับสินบนเงินกู้เพื่อสร้างบ้านให้เพื่อนของภรรยาในอดีตก่อนมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
 
ทั้งนี้ตำแหน่งประธานาธิบดีของเยอรมนีไม่ได้มีอำนาจในทางบริหารใดๆ นอกจากการเป็นเพียงประมุขที่เป็นตัวแทนทางด้านพิธีการของประเทศเท่านั้น
 
โปรตุเกส
 

 
วิกฤตเศรษฐกิจ (อีกเช่นกัน) - นี่เป็นประเทศที่สาหัสอีกหนึ่งประเทศ สำหรับวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป โดยโปรตุเกสเป็นประเทศที่ 3 ในยูโรโซน ที่ต้องขอความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากต่างประเทศ (ต่อจากกรีซ และไอร์แลนด์)
 
และการเมืองภายในของโปรตุเกสก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยในปี 2011 พรรค Partido Socialista (PS) พรรคการเมืองแนวสังคมนิยมที่เป็นรัฐบาลต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2005 ถึงคราวหมดอำนาจลง หลังจากที่นายกรัฐมนตรี Jose Socrates ประกาศลาออกเนื่องจากมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถูกคัดค้านจากสภา จากนั้น Pedro Passos Coelho ได้นำพรรค Partido Social Democrata (PSD) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวซ้ายกลาง จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และทำให้ตัวเขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ -- ถือว่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ
 
แต่ทั้งนี้รัฐบาลใหม่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ รวมถึงยังมีแรงต้านจากประชาชนในการนำนโยบายรัดเข็มขัดมาใช้ โดยเฉพาะข้อตกลงการปฏิรูปตลาดแรงงาน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะลดจำนวนวันหยุดพักร้อน และลดเงื่อนไขให้นายจ้างไล่พนักงานออกได้ง่ายขึ้น
 
โดยเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็มีประชาชนร่วมแสนกว่าคนออกมาแสดงพลังประท้วงร่วมแสนคน และมีการประท้วงนัดหยุดงานทั่วประเทศอีกในเดือนมีนาคม โดยแกนนำการประท้วงคือกลุ่มสหภาพแรงงานที่มองว่านโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลจะนำไปสู่การตัดสวัสดิการต่างๆ และจะทำให้คนโปรตุเกสตกงานเพิ่มขึ้นด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท