Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รูปพื้นที่บ้านพระบาท (พื้นที่พิพาทนำมาสู่คดี) ซึ่งให้ปัจจุบันก็ยังถูกปล่อยทิ้งร้างอยู่เช่นเดิม

 

อีกไม่กี่วันศาลจังหวัดลำพูน ก็จะอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีชาวบ้านพระบาท อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ที่มีการพิพาทมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ และจะสิ้นสุดลงตามคำพิพากษาของศาลฎีกาในวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๕ นี้ และไม่ว่าผลของคดีจะเป็นอย่างไร ผู้เขียนคงมิอาจก้าวล่วงได้ แต่สิ่งที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงในที่นี้ เป็นข้อเท็จจริงที่กำลังเป็นความขัดแย้งและนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก ดังที่เห็นได้จากการพิพาทเรื่องที่ดินที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทั่วประเทศ

ปมเหตุแห่งความขัดแย้งและการพิพาทเรื่องที่ดิน เป็นเรื่องที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ตั้งแต่เมื่อปี ๒๔๗๖ ดังที่ปรากฎในสมุดปกเหลือง (เค้าโครงการเศรษฐกิจ) ซึ่งจัดทำโดยหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ผู้เขียนขอยกเอาข้อความบางส่วนที่บันทึกในสมุดปกเหลืองมาทวนอีกครั้ง ดังนี้ ....เราจะเห็นว่า ๙๙ % ของราษฎรหามีที่ดินและเงินทุนเพียงพอที่จะประกอบอาชีพการเศรษฐกิจแต่ลำพัง....ในประเทศสยามมีที่ดินถึง ๕ แสนตารางกิโลเมตรเศษ (คิดเป็นไร่ได้กว่า ๓๒๐ ล้านไร่) ...มีพลเมือง ๑๑ ล้านคนเศษ...เวลานี้ที่ดินซึ่งทำการเพาะปลูกได้ตกอยู่ในมือของเอกชน นอกนั้นเป็นที่ป่าที่ต้องก่นสร้าง ที่ดินซึ่งอยู่ในมือของเอกชนในเวลานี้ ผลจากที่ดินนั้นย่อมได้แทบไม่คุ้นค่าใช้จ่ายและค่าอากรหรือดอกเบี้ย....เมื่อกาลเป็นเช่นนี้แล้ว รัฐบาลจะซื้อที่ดินเหล่านั้นกลับคืนมา....เมื่อได้ที่ดินกลับมาเป็นของรัฐบาลเช่นนี้แล้ว รัฐบาลจะได้กำหนดลงไปให้ถนัดว่า การประกอบเศรษฐกิจในที่ดินนั้นจะแบ่งออกเป็นส่วนอย่างไร...ส่วนการจัดหาทุนเพื่อนำมาซื้อที่ดินบันทึกกล่าวไว้ว่า .....เห็นว่ารัฐบาลควรจัดหาทุนโดยทางอื่น วิธีจัดหาทุนคือ การเก็บภาษีบางอย่าง เช่น ภาษีมรดก เช่นภาษีรายได้หรือภาษีทางอ้อม...(หมวดที่ ๕ : วิธีที่รัฐบาลจะจัดหาที่ดิน ,แรงงาน เงินทุน : บทที่ ๑ :การจัดหาที่ดิน เจ้าของที่ดินเวลานี้ไม่ได้รับผลจากที่ดินเพียงพอ)

สมุดปกเหลือง ถูกจัดทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการบรรลุหลัก ๖ ประการของคณะราฎร ภายใต้เจตนารมณ์ "การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร" ซึ่งผ่านมาแล้วกว่า ๘ ทศวรรษ ก็ยังไม่มีรัฐบาลชุดใหนที่จะดำเนินการหรือให้ความสำคัญต่อการกระจายการถือครองที่ดิน แม้ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๙๗ ประเทศได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งบัญญัติถึงการได้สิทธิ์ในที่ดิน และการเสียสิทธิ์ในที่ดินอย่างชัดเจน แต่การบังคับใช้ก็เป็นไปอย่างไม่เท่าเทียม (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป) จนเกิดเป็นความขัดแย้งของคนในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง คนยากจนในชนบทได้ลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิ์ในที่ดินจนเกิดเป็นขบวนการชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย และพัฒนามาเป็นกลุ่มองค์กรต่าง ๆ มากมาย ล้วนแล้วแต่มีสาเหตุมาจาการไร้ที่ดินสำหรับการผลิตอย่างเพียงพอ และในช่วงปี ๒๕๓๖ กลุ่มชาวบ้านไร้ที่ดินในจังหวัดลำพูนจึงได้ทำการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งมีการครอบครองแต่ไม่ทำประโยชน์ ด้วยการนำที่ดินเหล่านั้นมาจัดสรรค์ให้กับสมาชิกสำหรับทำการผลิต

สิ่งที่ควรพิจารณาการกระทำของชาวบ้านลำพูน โดยผู้เขียนขอให้ความเห็นอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าการกระของชาวบ้านลำพูนไม่ควรตกเป็นจำเลยด้วยข้อกล่าวหาว่าบุกรุก เพราะเมื่อพิจารณาเนื้อหาของประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๖ ที่ระบุว่า ...บุคคลใดมีสิทธิในที่ดินตามโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หากบุคคลนั้นทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือปล่อยให้ที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เกินกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้

(๑) สำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน เกินสิปปีติดต่อกัน
(๒) สำหรับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เกินห้าปีติดต่อกัน

ให้ถือว่าเจตนาสละสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนที่ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือที่ปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เมื่ออธิบดีได้ยื่นคำร้องต่อศาล และศาลได้สั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าว....ซึ่งที่พิพาทนั้นก็เป็นที่รกร้างว่างเปล่าทอดทิ้งไม่มีการทำประโยชน์ ซึ่งควรอย่างยิ่งที่หน่วยงานราชการโดยเฉพาะกรมที่ดินควรที่จะดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าว แต่กลับละเลยละเว้นไม่ดำเนินการตามหน้าที่ ซึ่งพฤติกรรมนี้นำมาสู่เหตุแห่งความลำเอียง ความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย การกระทำของชาวบ้านลำพูนจึงควรเรียกว่าเป็น การบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกันของคนในสังคม

จากปี ๒๔๗๖ ที่ประเทศไทยมีประชากรราว ๑๑ ล้านคนเศษ และปัจจุบันประชากรในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น ๖๕.๔ ล้านคน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ:๒๕๕๓) ขณะที่เนื้อที่่ประเทศไทยมีจำนวนเท่าเดิมคือ ๓๒๐ ล้านไร่เศษ ย่อมหลีกเลี่ยงสภาพความขัดแย้งการแย่งชิงที่ดินไม่พ้น และยิ่งหน่วยงานราชการ และรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญในการกระจายการถือครองที่ดิน ซ้ำยังปล่อยให้เกิดการกักตุนที่ดินไว้ในมือคนบางกลุ่มที่มีทุนและมีอำนาจ ก็ยิ่งเป็นการบีบบังคับให้คนยากจนไร้ที่ดินต้องหาทางออกที่เลือกไม่ได้ ดังเช่นการบุกยึดที่ดินที่กำลังดำเนินอยู่ทั่วประเทศในขณะนี้

ผ่านมาแล้วกว่า ๘ ทศวรรษ การกระจายการถือครองที่ดินก็ยังไปไม่เกิดขึ้น และหากปล่อยให้การกระจายการถือครองที่ดินดำเนินการโดยรัฐและกลไกของรัฐก็คงเป็นดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นการลุกขึ้นยึดที่ดินที่ถูกปล่อยทิ้งร้างโดยชาวบ้านไร้ที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรค์เพื่อทำการผลิต ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องและน่ายกย่องเชิดชูด้วยซ้ำ และยิ่งเมื่อคาดการณ์ไปข้างหน้าถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับรัฐ ทั้งในด้านรายได้ที่มาจากภาษี และผลผลิตทางการเกษตรที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการสร้างงานให้กับพลเมืองอีกจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้มากยิ่งขึ้นอีก

ช่วงเวลาที่ผ่านมากว่า ๘ ทศวรรษ น่าจะเพียงพอสำหรับการที่รัฐเสียโอกาส จากรายได้ที่ควรจะเกิดขึ้นจากที่ดินจำนวนมากที่ไม่ถูกใช้ประโยช์อย่างเต็มที่ และที่สำคัญรัฐควรจะใช้ประโยชน์จากกรณีพิพาทที่ดินลำพูน ให้เป็นกรณีศึกษาสำหรับนำไปสู่การปฏิรูปที่ดินครั้งใหญ่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

ดังนั้น ไม่ว่าผลการตัดสินของศาลฎีกา จะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม ซึ่งทุกฝ่ายต้องน้อมรับ แต่สำหรับผู้เขียนเห็นว่า มีความจริงอีกด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย คือการลุกขึ้นดำเนินการปฏิรูปที่ดินโดยภาคประชาชน ซึ่งควรที่รัฐและกลไกของรัฐควรจะเร่งปรับตัว เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในขณะนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net