Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มีอยู่ช่วงหนึ่งเพื่อนของ ME ชวน ME เปิดร้านช็อกโกแลตครบวงจร ด้วยความเนิร์ดME ก็รับไปศึกษาประวัติศาสตร์ของช็อกโกแลตว่ามีเส้นทางประวัติศาสตร์เป็นมาอย่างไร ก็ค้นพบว่า ประวัติศาสตร์ของช็อกโกแลตนั้นย้อนรอยไปได้ยาวนาน และก็เป็นธรรมดาของสิ่งที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่จะต้องมีความแพรวพราวของเรื่องเล่าน่าตื่นตาจำนวนมากตามไปด้วย แต่มิติหนึ่งที่ ME จะยกขึ้นมากล่าวถึงอย่างพิเศษก็คือ ช็อกโกแลตมีส่วนร่วมทางประวัติศาสตร์ในกลุ่มชนชั้นนำมากเป็นพิเศษ กล่าวได้ว่า ช็อกโกแลตโดยเฉพาะช่วงแรกของประวัติศาสตร์นั้นพัวพันอยู่กับชนชั้นนำสังคมมากกว่าชนชั้นลางอย่างเด่นชัด

ก่อนอื่นต้องให้ความรู้เบื้องต้นว่าช็อกโกแล็ตนั้นได้จากการนำเมล็ดของต้นคาเคา (Cacao) มาผ่านกระบวนการ หลายขั้นตอนก่อนจะมาเป็นช็อกโกแลตแสนอร่อยให้พวกเราได้ทาน ข้อสันนิษฐานโดยทั่วไปชี้ว่าต้นคาเคาน่าที่จะมีถิ่นกำเนิดเริ่มต้นที่อเมริกากลางไปจรดอเมริกาใต้ สัตว์ชนิดแรกที่กินมันเข้าไปก็คือ “ลิง” โดยลิงกินจะแกะเปลือกที่แข็งออก กินส่วนที่เป็นเนื้อผล (pulp - มีรสหวาน) และทิ้งส่วนที่เป็นเมล็ดตรงกลาง (bean) ซึ่งเป็นพฤติกรรมแสนจะธรรมชาติของสัตว์ในการกินส่วนอร่อยและทิ้งส่วนนี่แข็ง-ขม เมื่อมนุษย์โบราณMesoamerica เห็นลิงกินแล้วปลอดภัย(อร่อย?) ก็กินตามลิง กินแล้วก็ทิ้งเปลือกเหมือนลิง... เมล็ดคาเคาก็กระจายตัวไปอย่างกว้างขวางกินที่ไหนก็ทิ้ง(และถ่าย)ที่นั้นต้นคาเคาก็ขึ้นงอกงาม

การละเลยเมล็ดต้นคาเคาดำเนินมาจนกระทั่งปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีว่าชนเผ่าที่ปลูก (domesticate) ใช้งานเมล็ดของต้นคาเคาครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วง 1,200-300 ปีก่อนคริสตกาลโดยเผ่าโบราณที่ชื่อ Olmecsบริเวณที่ราบต่ำทางตอนกลาง-ใต้ของเม็กซิโก โดยชาว Olmecsเรียกเมล็ดของคาเคาว่า Kakawaและใช้มันในพิธีกรรมทางศาสนา (แหล่งพลังลี้ลับด้านสุขภาพและอำนาจ) ซึ่งแน่นอนว่าใจกลางอำนาจของเผ่าโบราณขึ้นอยู่กับพลังเหล่านี้ไม่มากก็น้อย

ชนเผ่าโบราณที่อยู่ดินแดนใกล้เคียงกันในยุคต่อมาได้แก่ชาวมายัน (Mayan) ซึ่งมีวิวัฒนาการก้าวล้ำอย่างมากในยุคนั้น คือมีปีระมิดและปฏิทินที่ใช้งานได้ยาวนานถึงศตวรรษที่ 21 และยังมีภาษา-ตัวอักษรสลับซับซ้อน ชาวมายันไม่ได้ทานช็อกโกแลตเป็นแท่งอย่างที่เราทานกันในปัจจุบัน หากทานเป็นน้ำช็อกโกแลตควบคู่กับเครื่องเทศที่มีความหลากลายทางโภชนาการอย่างมาก (และแน่นอนไม่อุดมไปด้วยน้ำตาล)

ต่อมาชาวเผ่าที่เข้าครอบครองพื้นที่แทนชาวมายันก็คือ... ชาวแอซเทค (Aztecs) ซึ่งเชื่อในตำนานที่ว่า มนุษย์ได้รับต้นคาเคามาจากเทพที่ชื่อ Quetzalcoatl จนเป็นเหจุให้เทพองค์ดังกล่าวถูกเนรเทศเพราะได้มอบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้แก่มนุษย์ผู้ต่ำต้อยไม่เป็นอมตะ แต่Quetzalcoatl สาบานว่าจะกลับมาอีกครั้ง ความเชื่อนี้เองเป็นเหตุให้ในราวศตวรรษที่ 16 กษัตริย์ชาวแอซเทคนามว่ามอนเตสซูม่า (King Montezuma) เข้าใจผิดว่านักสำรวจชาวสเปนชื่อ คอเตซ-ผู้พิชิต(Cortes, the Spanish conquistador) เป็น Quetzalcoatl กลับมาและได้ยินยอมให้คอเตซขูดรีดเอาทรัพยากรอย่างไร้ขอบเขต ทั้งๆที่ชาวแอซเทคมีมากกว่าผู้บุกเบิกกลุ่มนี้หลายเท่า

ในช่วง 200 ปีระหว่างก่อนที่ชาวสเปนจะเข้ามายึดครองความมั่งคั่งทั้งหมดของชาวแอซเทค(ในนามของพระเจ้า)ไปนั้นช็อกโกแลตมีส่วนอย่างมากในทางเศรษฐกิจเช่น ประการแรก เมล็ดคาเคาสามารถเป็นเงินตราได้ เมล็ดคาเคา 30 เมล็ดแลกได้กับกระต่ายตัวเล็กๆ 1 ตัว, หาก 3 เมล็ดแลกไข่ไก่งวงได้และ 1 เมล็ดแลกมะเขือเทศลูกใหญ่ได้ 1 ผล เป็นต้น สองพระคลังของกษัตริย์ (Royal storehouse) เต็มไปด้วยหน่วยเงินตราที่เป็นเมล็ดคาเคา (cacao currency) นี้อยู่ถึงราว 11,680,000 เมล็ด ซึ่งหากไข่ไก่งวงราคาเท่ากับปัจจุบัน (ราว 3.5 เหรียญสหรัฐ) เมล็ดคาเคาที่กษัตริย์เก็บเอาไว้มีมูลค่าราว 408.8 ล้านบาทโดยประมาณเลยทีเดียว และเนื่องจากทุกๆเมล็ดของคาเคาที่จะนำมาทำเป็นเครื่องดื่มคือเงิน (ตรงตามตัวเลยเพราะเมล็ดคาเคาคือเงินในยุคดังกล่าว) ชนชั้นนำของสังคมเท่านั้นจึงทานช็อกโกแลตเป็นเครื่องดื่ม กษัตริย์ของพวกเขาชอบทานช็อกโกแลตอย่างมากเป็นที่ลือกันว่า Montezuma  ดื่มช็อกโกแลตราว 50 แก้วต่อวัน

เมื่อภายหลังคอเตซ ได้ครอบครองโลกใหม่ (สำหรับชาวยุโรปแต่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนแสนเก่าของชาวพื้นเมือง) ภายใต้การบุกเบิกของสเปนเช่น เฮติและตรินิแดด เขาได้นำต้นคาเคาไปปลูกด้วย และยังมีตำนานลือกันต่อไปอีกว่าคอเตซนี่เองคือคนที่นำต้นคาเคาไปปลูกที่แอฟริกาตะวันตกในระหว่างการเดินทางสำรวจโลกใหม่ของเขา อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานมากมายนักยืนยันถึงประเด็นเหล่านี้ ผลิตผลคาเคาถูกส่งกลับไปยุโรปบางส่วนแน่นอนเพื่อกษัตริย์คาลอสที่ 1 แห่งสเปน บัดนี้ต้นคาเคาอภิสิทธิ์แห่งหมอผีผู้นำทางจิตวิญญาณชนเผ่าโบราณ สู่อภิสิทธิ์แห่งกษัตริย์ชนเผ่า และสู่อภิสิทธิ์แห่งกษัตริย์ชาวตะวันตก

ต่อมาเมื่อเจ้าหญิงสเปน Princess Maria Theresa อภิเษกสมรสกับกษัตริย์หลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1660 และนั่นทำให้ช็อกโกแลตเดินทางสู่ชนชั้นนำของยุโรป (Cream of European Society) อย่างสง่างาม... ชนชั้นนำที่ถูกเชิญมาในงานได้ลิ้มรสช็อกโกแลตร้อนของโปรดของเจ้าหญิงแล้วต่างติดใจ(พระทัย)ไปตามๆกันโดยเฉพาะพระสวามีมักทานควบคู่ไปกับการตอกไข่แดงลงไปด้วยเสมอๆ (โด๊ป?)และในช่วงศตวรรษที่ 17 เมื่อกษัตริย์ Holy Roman Empire Charles ที่6 ได้ย้ายจากมาดริด ไปพำนักที่ออสเตรีย, เวียนนา พระองค์ก็ได้นำช็อกโกแลตไปแพร่หลายที่นั่นด้วย

ในอีกด้านหนึ่งการที่อังกฤษเข้าไปยึดครองจาไมก้าราว ค.ศ. 1655 ก็ทำให้อังกฤษรับเอาช็อกโกแลตเข้ามารับประทานเช่นเดียวกัน โดยเป็นช่วงเดียวกันกับที่อังกฤษรับเอากาแฟมาจากแอฟริกาและชาจากเอเชีย โดยราคาชามากกว่าช็อกโกแลต และช็อกโกแลตราคาสูงกว่ากาแฟ (แพงเป็น 3 เท่าของกาแฟ) นั่นทำให้ชาและช็อกโกแลตแพร่หลายในชนชั้นนำมากกว่ากาแฟ (ทำให้แตกต่าง) ในขณะที่กาแฟทานได้ทุกๆหัวมุมถนน ช็อกโกแลตจะหาทานได้ก็เฉพาะในร้านช็อกโกแลต (Chocolate house) เท่านั้น ซึ่งมักจะกลายเป็นที่สนทนาเรื่องการเมืองเฉพาะผู้ใหญ่ (เด็กห้ามเข้า) และต่อมาการเปิด Chocolate house ก็แพร่หลายเข้าไปที่ Netherland ด้วย

ช็อกโกแลตได้หมดยุคสมัยของชนชั้นนำ – อภิสิทธิ์ชนก็เมื่อราว คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมานี้เองโดยกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรมและการเกิดขึ้นของช็อกโกแลตบาร์ซึ่งไม่ต้ออาศัยกรรมวิธีที่ยุ่งยากในการกินโดยเฉพาะการกินแบบนั่งโต๊ะพูดคุยอย่างลอยชายในสังคมชั้นสูงซึ่งเริ่มต้นตราสินค้าช็อกโกแลตที่เป็นที่รู้จักกันในโลกทุกวันนี้อย่างเช่น Swiss made และช็อกโกแลตดัตช์ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงการผูกขาดทางฝั่งผู้ดื่มกินช็อกโกแลตอาจจะนับเป็นก้าวสั้นๆของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยและความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้นฝั่งผู้บริโภค

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง... ด้านของผู้ผลิตในฝั่งละตินอเมริกา จากยุคสมัยของบรรพบุรุษที่ถูกยึดครองขูดรีด มาสู่ยุคสมัยของการประกาศเอกราช ผู้ผลิตชาวพื้นเมืองเหล่านี้ยังไม่อาจจะหลุดพ้นไปจากความยากจนข้นแค้นกระทั่งเกิดคำว่า “ทาสช็อกโกแลต (Chocolate Slaves)” ขึ้นมาและมีการทำสารคดีโดย BBC ในเรื่องนี้โดยเฉพาะด้วย – ผู้อ่านอาจลองหาจากเฮีย “กู” ดูได้ครับไม่ยากครับ

ข้อมูลเบื้องต้นก่อนที่จะได้ไปหาอ่านกันต่อก็คือ ประเทศผู้ผลิตเมล็ดคาเคาในละตินอเมริกานั้นมีคุณภาพชีวิตที่แย่เอามากๆ และจำนวนไม่น้อยคือเด็กอายุต่ำกว่าเกณฑ์ซึ่งถูกขายทำงานประเทศอย่างเช่น กาน่า และไอเวอรี่โคสที่ผลิตเมล็ดคาเคากว่าร้อยละ 60 ของโลกและมีครัวเรือนกว่า 10 ล้านครัวเรือนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานยังมีรายได้ต่ำผิดจากบรรดาบริษัทที่รับซื้อเมล็ดจากพวกเขาลิบลับเด็กวัยเรียนราว 100,000 คนอยู่นอกโรงเรียนและบริษัทอย่างเช่น Nest(XX) (สองตัวอักษรหลังใส่เอาเองนะครับ ME ไม่อยากถูกฟ้อง) ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมโครงการ Fair trade ปฏิเสธเพียงว่า “Panorama (สารคดี BBC – ME) ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าแหล่งผลิตที่ Nest(XX) ซื้อนั้นมีการใช้แรงงานเด็กในการผลิต” สิ่งที่น่าสนใจคือท่ามกลางการปฏิเสธเสียแข็งของบริษัทเอกชนเหล่านี้ กฎหมายซึ่งริเริ่มโดย Congressman Eliot Engel เพื่อให้รัฐสภาสหรัฐออกกฎหมายติดฉลาก ปลอดการใช้แรงงานทาส-เด็ก (slave-labour-free or child-slave-labour-free) กลับต้องตกไปไม่ผ่านสภาเมื่อ 9 ปีก่อนเพราะแรงล็อบบี้จากบริษัทเหล่านี้เองด้วยส่วนหนึ่ง

ดูเหมือนว่าการขูดรีดจากยุคลัทธิอาณานิคม (Colonialism) แม้จะผ่านมาสู่ยุคทุนนิยม (Capitalism) แล้ว... ก็ไม่ได้มีอะไรต่างไปจากเดิมมากนัก ผู้ที่ถูกขูดรีดก็ยังคงถูกขูดรีดต่อไป ในนามประชาธิปไตย (ที่จะปฏิเสธความช่วยเหลือ) และเสรีภาพ-การค้าเสรี

 

 

Biography
www.allchocolate.com
http://news.bbc.co.uk/panorama/hi/front_page/newsid_8583000/8583499.stm
CREDITED PICTURE:-http://blog.friendseat.com/candy-bars-made-by-child-slaves

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net