ภาคภูมิ แสงกนกกุล: ความยุติธรรมในบริบทของเศรษฐศาสตร์(6)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ถึงแม้ Lorenz curve และ Gini Index จะเป็นเครื่องมือคณิตศาสตร์ที่นิยมใช้ในการวัดการกระจายทรัพยากร ก็มีข้อจำกัดและไม่สามารถวัดความไม่เท่าเทียมกันได้อย่างรอบด้าน Lorenz curve สามารถวัดการกระจายทรัพยากรได้แค่ตัวแปรเดียวโดยไม่สามารถวัดการกระจายทรัพยกรสองชนิดได้พร้อมๆกัน เช่น ถ้าเราต้องการทราบถึงการกระจายบริการสาธารณสุขว่าสัมพันธ์กับรายได้อย่างไร คนรวยใช้บริการสาธารณสุขมากกว่าคนจนหรือไม่เป็นต้น ดังนั้นเครื่องมือคณิตศาสตร์ อีกชนิดหนึ่งคือ Concentration curve & index จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อวัดการกระจายทรัพยากรอย่างหนึ่งอย่างใดโดยสัมพันธ์กับตัวแปรเศรษฐกิจและสังคมอีกชุดหนึ่ง(socioeconomic variables)

Concentration curve & index เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้มากในเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเพื่อวัดความเท่าเทียมกันในระบบสาธารณสุข เช่น วัดความไม่เท่าเทียมกันของสุขภาพระหว่างคนรวยคนจน ความไม่เท่าเทียมกันของการบริโภคการรักษาของคนจนคนรวย จากรูปข้างล่าง [1] แสดงConcentration curve เกี่ยวกับการกระจายการอุดหนุนของภาครัฐในบริการสธารณสุขในประชากรกลุ่มต่างๆเรียงจากจนสุดไปมากสุด เส้นสีฟ้าทแยงมุมเป็นเส้นความเท่าเทียมกัน ถ้ารัฐกระจายเงินอุดหนุนอย่างเท่าเทียมกันเส้น Concentration curve จะทับกับเส้นนี้ ถ้าเงินอุดหนุนของรัฐให้กับคนจนมากกว่าCurveจะอยู่เหนือเส้นทแยงมุม ถ้าเส้นCurveอยู่ใต้เส้นทแยงมุมแสดงว่ารัฐให้เงินอุดหนุนกับคนรวยมากกว่าคนจน

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: ความยุติธรรมในบริบทของเศรษฐศาสตร์(6)

Concentration index คือ2 เท่าของพื้นที่ระหว่างเส้นทแยงมุมกับเส้นConcentration curve ค่านี้สามารถมีได้ตั้งแต่ –1ถึง1 และจะมีค่าเป็นบวกถ้าCurve อยู่ใต้เส้นทแยงมุม มีค่าเป็นลบถ้าCurve อยู่เหนือเส้นทแยงมุม และมีค่าเท่ากับศูนย์ถ้ามีความเท่าเทียมกันระหว่างประชากรทั้งหมด จากรูปภาพข้างบน Curve ของโรงพยาบาลรัฐ(เส้นโค้งสามเส้นที่อยู่เหนือเส้นทแยงมุม)แสดงว่ารัฐมีการอุดหนุนให้โรงพยาบาลรัฐเพื่อบริการสาธารณสุขโดยให้คนจนมากกว่าคนรวย ส่วนCurve ของโรงพยาบาลเอกชน(เส้นสีแดง)อยู่ใต้เส้นทแยงมุมแสดงว่าเงินอุดหนุนจากรัฐกระจุกที่คนรวยมากกว่าคนจน

อย่างไรก็ตามLorenz curve และ Concentration curve มีจุดอ่อนสำคัญที่มันสามารถบอกเราได้แค่ว่ามีการกระจายตัวทรัพยากรอย่างไม่เท่ากัน (Inequality) มากเท่าไร ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันที่แสดงออกมานั้นอาจไม่ใช่ความไม่เท่าเทียม(Inequity) ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับค่านิยมในสังคม ปทัสถานในสังคมว่า สิ่งใดเป็นความเท่าเทียมที่ชอบธรรม (legitimate inequality) หรือ ความไม่เท่าเทียมกันที่ไม่ชอบธรรม (illegitimate inequality) ซึ่งแนวความคิดนี้มาจาก Roemer และนักวิชาการสาย Egalitalisme liberale เป็นสำคัญและเป็นที่นิยมในวงวิชาการปัจจุบัน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราบอกว่าความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้เป็นเรื่องไม่ชอบธรรมแล้ว ดังนั้นรัฐต้องแก้ไขโดยการออกนโยบายให้คนทุกคนมีรายได้เท่ากันหมด แต่ถ้าเราวิเคราะห์ลึกลงไปอีกว่า มันเป็นการสมควรหรือไม่ถ้าคนที่ไม่ทำงานเลยกลับมีรายได้เท่ากับคนทำงานตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ดังนี้มันจะมีความยุติธรรมในสังคมหรือ? แนวความคิดที่นิยมปัจจุบันจึงมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันซึ่งเกิดจากสาเหตุที่ไม่ชอบธรรม และสามารถยอมรับความแตกต่างได้ถ้ามันมีสาเหตุที่มีความชอบธรรม เช่นคนที่มีการศึกษาระดับประถมควรมีรายได้ไม่ต่างกันมากกับคนที่จบมหาวิทยาลัยถ้าสองคนนี้ทำงานจำนวนชั่วโมงเท่ากัน ถ้ามีความแตกต่างรายได้เกิดขึ้นคนที่รายได้มากกว่าต้องชดเชย(compensate)ให้คนรายได้น้อยกว่า แต่ถ้าคนแรกรายได้มากกว่าเพราะทำงานจำนวนชั่วโมงมากกว่าคนๆนั้นสามารถรับผลประโยชน์นี้ได้โดยถือว่าเป็นรางวัล (reward) จากความขยันของเขา

ดังนั้นจากการที่ Concentration curve เป็นเครื่องมือคณิคศาสตร์ที่ไม่ดีพอที่จะวัดความไม่เท่ากันในสังคม(Inequity) ไม่สามารถจำแนกความไม่เท่าเทียมกันที่ชอบธรรมและความไม่เท่าเทียมกันที่ไม่ชอบธรรมได้ ดังนั้นนักคณิตศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากจึงหาวิธีพัฒนาการวัดต่างๆ เช่นการพัฒนา Concentration curve ใหม่โดยเทคนิคเช่น direct standardization และ indirect standardization ซึ่งจะไม่ขอกล่าวรายละเอียดในที่นี้ แต่จะกล่าวเฉพาะแนวความคิดหลักคือ พยายามหาความไม่เท่าเทียมกันของการกระจายทางทรัพยากรหรือผลลัพธ์อย่างหนึ่งที่มาจากผลกระทบจากตัวแปรที่ไม่ชอบธรรมเท่านั้น ซึ่งทำโดยการกำหนดตัวแปรไม่ชอบธรรมให้เป็นค่าคงที่มาตรฐานค่าหนึ่ง

กรณีรูปข้างบน เราจะพบว่ามีความไม่เท่าเทียมกันในระบบสาธารณสุข โดยรัฐบาลให้เงินอุดหนุนกับคนจนมากกว่าคนรวยที่มาใช้บริการสาธารณสุขกับโรงพยาบาลรัฐ จนพื้นที่ระหว่าง Curve กับเส้นทแยงมุมกว้างมากนั่นหมายถึง Concentration index และความไม่เท่ากันมีสูงมาก ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญว่าทุกคนต้องได้รับการอุดหนุนจากรัฐเท่าเทียมกันหมดไม่ว่าคนรวยหรือคนจน ความไม่เท่าเทียมกันนี้ย่อมเป็นปัญหาและรัฐบาลต้องออกนโยบายใหม่เพื่อให้เกิดการอุดหนุนที่เป็นธรรมจนกระทั่ง Concentration index เท่ากับศูนย์

แต่ถ้าเราให้ความสำคัญว่าบริการสาธารณสุขเป็นสิ่งสำคัญ คนจนควรได้รับการรักษาและรัฐต้องอุดหนุนให้คนจนมากกว่าคนรวยแล้ว ดังนั้นความไม่เท่ากันนี้จึงเป็นสิ่งที่รับได้และควรกระทำ รัฐไม่จำเป็นต้องออกนโยบายใหม่เพื่อมาแก้ไขให้จนกระทั่ง Concentration index เท่ากับศูนย์

โดยสรุป ในการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียม สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือ ชุดปรัชญาเศรษฐศาสตร์เพื่อเป็นการจุดแนวความคิดใหม่ๆหรือ แนวความคิดที่ควรจะเป็นในสังคม โดยวิชาเศรษฐศาสตร์ทำหน้าที่แปลงแนวความคิดทางปรัชญาเศรษฐศาสตร์นี้เพื่อให้กลายเป็นนโยบายสาธารณะที่จับต้องได้ โดยมีเครื่องมือคณิตศาสตร์ที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยวัดสภาวะที่เกิดขึ้นในสังคมออกเป็นตัวเลขเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนเป็นรูปธรรม ดังนั้นรัฐบาลฝ่ายเดียวไม่สามารถสร้างการกระจายรายได้อย่างยุติธรรมได้ ตราบใดที่ค่านิยมร่วมกันของสังคมไม่สามารถกำหนดว่าอะไรเป็นความยุติธรรมที่ควรพึงกระทำ หรืออะไรที่เป็นค่านิยมสากลที่เราในฐานะมนุษย์รู้สึกว่าพึงกระทำเพื่อให้เกิดความยุติธรรมขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น ตราบใดที่สังคมยังให้ค่านิยมว่า คนจบปริญญาเอกต้องมีรายได้มากกว่าคนกวาดถนนมากชนิดอย่างน่าใจหายแล้ว เป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรม ,คนที่เกิดมาจนแล้วเป็นเพราะชาติที่แล้วทำบาปไว้มาก คนที่เกิดมารวยแสดงว่าชาติที่แล้วทำบุญไว้มาก การกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมในประเทศไทยคงเป็นเรื่องฝันไกลเกินเอื้อม

 

อ้างอิง:

  1. สุวิทย์ วิบูญผลประสิทธิ์ (บรรณาธิการ) (2550). การสาธารณสุขไทย 2548-2550. สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท