สื่อพม่าประท้วงนิวยอร์กไทมส์-เนชั่น กรณีเสนอข่าวความขัดแย้งในอาระกัน

ด้านกองเซ็นเซอร์สื่อพม่าห้ามเผยแพร่นิตยสาร "Snapshot" ไม่มีกำหนด หลังลงรูปผู้เสียชีวิตเหตุข่มขืน โดยถือว่าละเมิดคำเตือนกองเซ็นเซอร์ที่ห้ามลงข่าวที่เพิ่มความตึงเครียดระหว่างศาสนา กรณีความขัดแย้งในรัฐอาระกัน ขณะที่ "Eleven Media" แถลงค้านการนำเสนอข่าวของนิวยอร์กไทมส์ ระบุจะทำให้สาธารณะชนเข้าใจผิดต่อสำนักข่าว ส่วน "เดอะ เนชั่น" ก็ถูกประท้วงด้วย กรณีลงข่าวโรฮิงยาในกรุงเทพฯ ยื่นหนังสือยูเอ็น 

กองเซ็นเซอร์พม่าแบนนิตยสาร Snapshot อย่างไม่มีกำหนด

แผนกพิจารณาและลงทะเบียนสื่อ (PSRD) หรือกองเซ็นเซอร์สื่อพม่า มีคำสั่งห้ามเผยแพร่นิตยสาร "Snapshot Journal" อย่างไม่มีกำหนด ทั้งนี้เป็นไปตามคำเตือนที่กองเซ็นเซอร์มีไปยังสำนักพิมพ์ทุกแห่ง ให้หลีกเลี่ยงการรายงานข่าวที่เพิ่มความตึงเครียดระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิม

นิตยสาร Snapshot Journal ที่ถูกห้ามจำหน่ายไม่มีกำหนด (ที่มา: เว็บไซต์ Snapshot Journal)

นายเมียต ข่ายน์ (Myat Khine) บรรณาธิการ Snapshot Journal กล่าวว่า ไม่รู้ว่าคำสั่งห้ามจะดำเนินไปยาวนานเท่าไหร่ เขากล่าวด้วยว่า ไม่คิดว่าการดาวโหลดภาพถ่ายจากอินเทอร์เน็ตแล้วพิมพ์ลงในนิตยสารจะมีปัญหาอะไร เพราะภาพเหล่านั้นถูกเผยแพร่ในวงกว้างอยู่ก่อนแล้ว

ทั้งนี้นับเป็นนิตยสารแรกที่ถูกเซ็นเซอร์ นับตั้งแต่กองเซ็นเซอร์ออกคำเตือนเมื่ออาทิตย์ก่อนให้หลีกเลี่ยงการตีพิมพ์เนื้อหาที่ยั่วยุในกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐอาระกัน

และเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้ว่าการภาคย่างกุ้ง มิ้นต์ ส่วย ได้ออกคำเตือนซ้ำไปยังผู้สื่อข่าว ว่าผู้ฝ่าฝืนคำสั่งจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน และมาตรา 505 วรรค b ของประมวลกฎหมายอาญาพม่า ซึ่งกำหนดสูงสุดคือจำคุก 9 ปี

ทั้งนี้พม่าได้ยกเลิกมาตรการควบคุมสื่อที่มีโทษรุนแรง นับตั้งแต่ปีก่อน หลังรัฐบาลพลเรือนขึ้นสู่อำนาจ และประธานาธิบดีเต๋ง เส่งก็เคยกล่าวว่าจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมสื่อ ขณะที่รัฐสภาเองก็เตรียมออกกฎหมายที่เกี่ยวกับสื่อฉบับใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้

อย่างไรก็ตาม นายเมียต ข่าย บรรณาธิการ Snapshot Journal ก็ได้โต้แย้งถึงข้อที่รัฐบาลยกมาอ้างว่าเปิดกว้างมากขึ้น "สิ่งนี้ ทำให้เห็นชัดเจนว่าไม่มีอะไรเปลี่ยน และเราก็ไม่ได้อยู่ใกล้กับประชาธิปไตยเลย" เขากล่าว

ทั้งนี้ Snapshot journal เป็นนิตยสารเดียว ที่ตีพิมพ์ภาพร่างของหญิงชาวอาระกัน ที่ถูกข่มขืนและสังหาร เมื่อ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งชาวมุสลิม 3 คนตกเป็นผู้ต้องหา อย่างไรก็ตามภาพที่น่าเขย่าขวัญดังกล่าวปรากฏอยู่ในเว็บไซต์หลายแห่ง

ทั้งนี้ความตึงเครียดจนถึงจุดวิกฤตที่เกิดขึ้นในรัฐอาระกัน เริ่มมาจากเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่มีชาวมุสลิม 10 คนถูกลากจากรถบัสและถูกสังหารโดยฝูงชนที่มีความโกรธแค้น การสังหารดังกล่าว เป็นผลมาจากการตอบโต้กับกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีสตรีอายุ 26 ปีรายหนึ่งถูกข่มขืนและฆ่าโดยชาวมุสลิม 3 คน เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ถูกควบคุมตัวแล้วและอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี ขณะที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่่ผ่านมา มีรายงานโดยสื่อพม่าว่า หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาได้ฆ่าตัวตายในเรือนจำ และหลังเหตุการณ์สังหารชาวมุสลิมขณะเดินทางกับรถบัส จึงติดตามมาด้วยการแก้แค้นกันหลายรอบระหว่างชาวอาระกัน และชาวโรฮิงยานับตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ราย และบาดเจ็บ 17 ราย

 

สื่อพม่าเครือ ENG ออกแถลงการณ์คัดค้านผู้สื่อข่าวนิวยอร์กไทมส์

ด้วยความโกรธแค้นต่อประเด็นดังกล่าวได้ขยายตัวมากขึ้นจากทั้ง 2 ฝ่าย โดยมีการโจมตีด้วยถ้อยคำและข้อกล่าวหาในพื้นที่แสดงความเห็นของเว็บไซต์พม่า ซึ่งได้ดึงดูดความสนใจของสื่อต่างประเทศ

โดย Eleven Media Group หรือ EMG หนึ่งในสื่อมวลชนในประเทศของพม่า ซึ่งมีทัศนะสนับสนุนการควบคุมสถานการณ์ในรัฐอาระกันโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อวันอังคารนี้ (12 มิ.ย.) ก็ได้ออกแถลงการณ์วิจารณ์นายโธมัส ฟูเลอร์ (Thomas Fuller) ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ หลังข่าว “Crisis in Myanmar over Buddhist-Muslim Clash” ที่เขารายงาน ได้อ้างอิงข้อความที่ปรากฏในเว็บไซต์ของ EMG ซึ่งเป็นของผู้อ่านที่ชื่อ "Maungpho" เข้ามาแสดงความเห็นท้ายข่าวว่าชาวโรฮิงยาเป็นผู้ก่อการร้าย และเสนอให้ฆ่าเสีย

"เราขอคัดค้านอย่างรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวที่ชื่อโธมัส ฟูเลอร์ ในย่อหน้าหนึ่งที่เขาเขียนซึ่งอาจเป็นก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อกลุ่ม Eleven Media ต่อบรรดาผู้อ่านที่อยู่ต่างประเทศและต่อสาธารณชน" แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ

"EMG อนุญาตให้ผู้อ่านแสดงความเห็นในเว็บไซต์ ต่อเหตุจลาจลด้วยเสรีภาพอันสมบูรณ์เพื่อสะท้อนความเห็นของสาธารณชนต่อสถานการณ์ล่าสุดในรัฐอาระกัน"

"มากไปกว่านั้น EMG ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุปะทะที่ไม่เกี่ยวกับชาวอาระกันนับถือพุทธ และชาวมุสลิมท้องถิ่น แต่เป็นเรื่องระหว่างชาวอาระกันและชาวเบงกาลีโรฮิงยา"

"อย่างไรก็ตาม สื่อต่างชาติบางสำนักได้รายงานข่าวอย่างไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเหตุจลาจลในรัฐอาระกัน ซึ่ง EMG ได้แสดงจุดยืนต่อเหตุจลาจลไว้แล้วในแถลงการณ์ต่อสาธารณะ"

"ในแถลงการณ์ EMG ได้แสดงอย่างแจ้งชัดว่า EMG จะยังคงนำเสนอข่าวที่่้น่าเชื่อถือที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของรัฐและสาธารณะ สื่อมวลชนต่างชาติอย่าง BBC และ AFP ควรอ้างถึงอย่างถูกต้องว่า "เบงกาลีโรฮิงยา" ไม่เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ใดในพม่า การรายงานที่เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์ในพม่าควรเป็นไปอย่างถูกต้องและหลีกเลี่ยงความรุนแรงทางเชื้อชาติ"

 

เดอะเนชั่น โดยประท้วงด้วย หลังรายงานข่าวโรฮิงยาประท้วงหน้ายูเอ็น

ขณะเดียวกัน EMG ยังประท้วงการนำเสนอข่าวในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ เดอะ เนชั่น ของไทยด้วย โดยพาดหัวข่าวว่า "Bias reporting of foreign media on Rakhine-Rohingyas issue disgraces Myanmar images" หรือ "การรายงานอย่างมีอคติของสื่อต่างชาติต่อประเด็นยะไข่ โรฮิงยา ทำให้ภาพพจน์ของพม่าเสื่อมเสีย" หลังจากการที่ เดอะ เนชั่น นำรายงานโดยพาดหัวข่าวว่า "Call for UN to intervene in Rohingya 'genocide'" หรือ "เรียกร้องยูเอ็น แทรงแซงการ 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์' โรฮิงยา" โดยก่อนหน้าที่จะมีการแสดงความไม่พอใจดังกล่าวจาก EMG ในเนื้อข่าวดังกล่าวของเดอะ เนชั่น มีการนำภาพถ่ายของ EMG ไปใช้ประกอบข่าว ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนเป็นภาพประกอบข่าวเป็นภาพจากสำนักข่าวต่างประเทศแทน

ประธานและซีอีโอของ EMG ดร.ถั่น ทุน อ่อง กล่าวว่า "เว็บไซต์เดอะ เนชั่นลงข้อความว่า "มีคน 800 ถึง 1,000 คน รวมทั้งผู้หญิง เด็ก และคนชราได้หายตัวไปขณะนี้" ซึ่งแหล่งอ้างอิงของคำพูดเหล่านี้มาจากองค์กรของโรฮิงยา และองค์กรพัฒนาเอกชนไทยบางกลุ่ม ในข่าวยังระบุว่า "กำลังกึ่งทหารและชาวอาระกัน "คลั่งเชื่อชาติ" กำลังเผาบ้านและยิงประชาชน และมีการย่างสดด้วย" นพ.ถั่น ทุน อ่อง ชี้แจงว่า "ข้อมูลเหล่านี้ผิดอย่างสิ้นเชิง ไม่มีกองกำลังกึ่งทหารในรัฐอาระกัน ชาวอาระกัน 20,000 คนในเมืองมงด่อว์จะฆ่าชาวโรฮิงยา 400,000 คนได้อย่างไร?" และอ้างด้วยว่า "EMG เพียงแต่เผยแพร่ข่าวและภาพที่แสดงให้เห็นว่าบ้านเรือนของชาวอาระกันถูกเผาโดยชาวโรฮิงยา มากกว่านั้นกลุ่มดังกล่าวยังเรียกร้องให้มีมาตรการเร่งด่วนเพื่อยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการกวาดล้างชาติพันธุ์ โดยให้ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติมายังรัฐอาระกันเพื่อปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์"

ประธานของ ENG กล่าวด้วยว่า "เพื่อลบการโฆษณาชวนเชื่อของสื่อต่างชาติบางแห่งเหล่านี้ สื่อมวลชนในพื้นที่จึงรายงานข่าวจากพื้นที่เกิดเหตุโดยไม่คำนึกถึงชีวิตของตัวเอง อย่างไรก็ตามสื่อต่างชาติยังคงขูดรีดความพยายามของสื่อมวลชนท้องถิ่น" พร้อมกันนี้เขายังแนะนำให้รัฐบาลจัดการแถลงข่าวแล้วเชิญคณะผู้แทนและสื่อมวลชนต่างชาติด้วย และยังกล่าวว่า EMG ได้ส่งนักข่าว "ที่เชื่อถือได้และขยันขันแข็ง" จำนวน 4 คนลงไปในพื้นที่รัฐอาระกัน "พวกเขากำลังส่งภาพข่าวเพื่อขจัดข้อกล่าวหาจากสื่อมวลชนต่างชาติที่ปราศจากหลักฐานที่ทำให้เชื่อมั่นว่าประเทศของเราและชาวอาระกันเป็นนักฆ่าและผู้ก่อการร้าย นักข่าวของเราเผชิญความเสี่ยงในพื้นที่ขัดแย้งซึ่งไม่มีหลักกฎหมาย มีแต่ดาบแต่อาวุธ ทุกคนสามารถจะนึกได้ถึงสภาพที่ไม่สะดวกสบายนัก

ประธาน ENG กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ได้ส่งข้อคัดค้านไปยังเครือเนชั่นพร้อมแนบภาพที่ปรากฏในเว็บไซต์ของพวกเขา "ในขณะที่ EMG กำลังปกป้องประเทศของเรา เราต้องการให้ประชาชนร่วมมือกับเรา พวกเราจะนำเสนอข่าวที่เที่ยงตรงโดยปราศจากอคติเช่นกัน ประชาชนควรร่วมมือกับความพยายามของเราอย่างจริงจัง"

 

สื่่อในพม่าอัดสื่อต่างชาติไม่เข้าใจประวัติศาสตร์พม่า

ENG รายงานความเห็นของ มะ เมย์ หง่วย หัวหน้ากองบรรณาธิการ Pyi Myanmar Journal ซึ่งกล่าวว่า มีความจำเป็นที่สื่อจะต้องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง สื่อต่างชาติบางสำนักรายงานข่าวในเหตุการณ์ปี 2550 (การประท้วงของพระสงฆ์พม่า) เกือบจะทุกวินาที แต่กับเหตุการณ์ที่รัฐอาระกัน ไม่มีสื่อต่างชาติเผยแพร่ข่าวจริงๆ เลย หัวหน้ากองบรรณาธิการ Pyi Myanmar Journal กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้น "ไม่ใช่ปัญหาระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธ" "สื่อต่างชาติไม่ควรจงใจทำลายเอกภาพของประเทศ นี่ไม่ใช่เหตุจลาจลทางศาสนา นี่เป็นแผนการที่จะรุกรานแผ่นดินของพวกเรา และเป็นการโหมกระพือต่อเรื่องเชื่อชาติ เราจะไม่ยอมรับการโจมตีในเรื่องศาสนาเป็นอันขาด"

ส่วนนายซอว์ เต็ด ถ่วย ผู้พยายามก่อตั้งสหภาพแรงงานนักข่าวพม่า กล่าวว่า "สื่อต่างชาติไม่ค่อยเข้าใจประวัติศาสตร์พม่า การรายงานข่าวเช่นนี้จะเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศและประชาชนของเรา สื่อมวลชนพม่าที่อยู่ในสำนักข่าวต่างประเทศที่มีอคติ ควรเคารพความเป็นมืออาชีพของคุณและรักแผ่นดินของพวกคุณบ้าง โดยปราศจากการให้ความสำคัญแต่เรื่องสิทธิมนุษยชนและคุณค่าความเป็นมนุษย์ พวกคุณควรจะพิจารณาเรื่องผลประเทศแห่งชาติของประเทศเราด้วย"

 

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Journal Suspended for Publishing Photo that Sparked Arakan Riots, By LAWI WENG / THE IRRAWADDY| June 12, 2012

EMG objects to The New York Times correspondent, U Aung Khin, Eleven Media Group, Tuesday, 12 June 2012 16:39

Bias reporting of foreign media on Rakhine-Rohingyas issue disgraces Myanmar images, Eleven Media Group, Tuesday, 12 June 2012 20:34

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท