การปรองดอง ‘ต้องเลือกข้าง’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เกริ่นนำ
บทความนี้เขียนถูกขึ้นพร้อมกับการเริ่มมีกระแสการปรองดองนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เป็นการแสดงออกอย่างสุจริตทางความคิดตามวิถีทางประชาธิปไตยซึ่งผู้เขียนมีเจตนาเพียงเพื่อเสนอมุมมองที่สังคมควร ‘ไตร่ตรอง’ ควบคู่กับการพิจารณากระแสหลักเรื่องความปรองดองตามแผนแม่บทในการสร้างความปรองดองของคนในชาติที่รัฐบาล องค์กรต่าง ๆ ภาคพลเมืองและประชาชนกำลังร่วมกันพยายามสร้างและเสนอขึ้นตามวิถีและด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การถกเถียงโต้แย้งตามวิถีการแสดงออกทางความคิดอย่างเสรีเพื่อหาข้อสรุปที่จะเสนอเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาให้แก่สังคมต่อไป

จุดเริ่มต้นความขัดแย้ง?

สิ่งที่สังคมเข้าใจและรับรู้ร่วมกันในขณะนี้คือ มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคม เริ่มต้นเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการขัดแย้งทางการเมืองโดยกลุ่มการเมืองต้องการครอบครองและมีอำนาจเด็ดขาดในการดำเนินการทางการเมืองเพื่อครอบครองผลประโยชน์มหาศาลที่ซ่อนอยู่ในการเมืองซึ่งก็อาจจะผูกโยงไปถึงกลุ่มทุนที่ยังไม่เปิดหน้าสู่สังคม ทั้งนี้ก็เพื่อผูกขาดอำนาจต่อรองในการดำเนินการบริหารงานในเชิงโครงสร้างซึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งโดยตรงต่อการกำหนดบทบาทและการปฏิบัติซึ่งแน่นอนว่า หากยอมรับความเป็นเหตุเป็นผลร่วมกัน คืออะไรที่เกิดแต่เหตุย่อมดับเพราะเหตุก็น่าจะเชื่อได้ว่า ความขัดแย้งที่เกิดบนวิถีการเมืองก็ต้องแก้ด้วยกฎ ด้วยกติกาทางการเมืองอย่างที่ชอบกล่าวอ้างกันเท่านั้นไม่ แต่ต้องแก้ที่ความขัดแย้งที่เกิดจากการต้องการครอบงำการเมืองของกลุ่มทุนทางการเมืองต่างหาก

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแรกเริ่มนั้นอาจเรียกว่า ไม่เป็นความขัดแย้งก็ได้ เพราะเจตนาตั้งต้นเป็นเพียงแค่การตรวจสอบการทุจริต คอรัปชั่นในการทำงานของฝ่ายบริหารเท่านั้นซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องทำและน่าชื่นชม  การตรวจสอบดังกล่าวเกิดขึ้นโดยคนไม่กี่คน ขยายออกไปยังกลุ่มคนจนขยายไปเป็นกลุ่มมวลชน การตรวจสอบเช่นนี้เป็นจะเป็นสิ่งดีก็ต่อเมื่อได้ดำเนินไปบนพื้นฐานของความเป็นสุจริตชนอย่างตรงไปตรงมาและเสมอต้นเสมอปลายแท้จริง ไม่หักเห เบี่ยงเบนและทุรยศความเป็นสุจริตชนแห่งตนแล้วกลายร่างกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองเสียเอง

แต่ภายหลังจากข้อเท็จจริงปรากฏออกมาว่า หลังจากการดำเนินการเลือกตั้งตามกฎกติกาประชาธิปไตยแล้ว ข้ออ้างที่ว่า การดำเนินการตรวจสอบการทุจริตดูเหมือนจะไม่ทรงพลังเพราะการกลายร่างเป็นกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองปรากฏชัดเจนขึ้นกว่าการเป็นกลุ่มอิสระ หมายความว่า การเป็นสุจริตชนได้หมดความชอบธรรมลงไป ดังนั้นข้ออ้างที่ใช้อ้างจึงเป็นเพียงข้ออ้างบังหน้าสำหรับการต่อสู้ต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าการเรียกร้องเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่เมื่อการกระทำดังเดิมยังดำเนินต่อไป คำถามต่อกระบวนการที่ยังดำเนินต่อไปนั้นก็จึงเกิดขึ้นพร้อมกับการจัดตั้งกลุ่มทางการเมืองเพื่อต่อรองด้วยเหตุผลเดียวกันคือเพื่อต่อสู้ทางการเมืองและความขัดแย้งที่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ทางการเมืองจึงเกิดขึ้นและขยายตัวออกไป

การขยายตัวของความขัดแย้งนั้นเกิดลุกลามไปเมื่อสุจริตกรรมได้จบลงบนเงื่อนไขและถูกต้องตามกฎกติกาแล้ว แต่ข้ออ้างเดิมกลับถูกนำมาเป็นข้ออ้างใช้ใหม่กับเงื่อนไขและเหตุการณ์ใหม่ที่ไม่ได้เกิดบนพื้นฐานอันว่าด้วยการคอรัปชั่นตามที่ได้อ้าง แต่ข้ออ้างดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ว่า ยังถูกนำไปเป็นข้ออ้างในการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและชัดเจนว่าไม่ได้เกิดขึ้นบนฐานของการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น แต่เป็นการตรวจสอบคุณสมบัติอื่นที่ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะซึ่งอาจจะเอาข้ออ้างเรื่องการทุจริตมาใช้ในการสนับสนุนและเพิ่มน้ำหนักในพื้นที่ส่วนบุคคล ข้อเท็จจริงคือบรรดาข้ออ้างที่ถูกใช้ไม่ได้บริสุทธิ์เช่นแต่ก่อนอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นการพิจารณาจึงต้องทำนอกบริบท ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจว่า พื้นที่ที่ถูกขยายไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม กลุ่มที่ต้องการนำเสนอประเด็นนี้ได้ประโยชน์จากข้ออ้างดังกล่าวนี้ นั่นก็คือ ผลต่อการขยายฐานกลุ่มมวลชนของตนเองทั้งในส่วนที่เป็นมวลชนฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่เชื่อได้ว่า ความขัดแย้งรุนแรงอย่างที่เป็นนี้เป็นผลโดยตรงจากการขยายพื้นที่ส่วนบุคคลออกไปสู่พื้นที่สาธารณะ  ดังนั้นเราจึงเห็นความพยายามที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดบนพื้นฐานของพื้นที่ส่วนบุคคลก่อนที่จะนำเข้าสู่การพูดถึงพื้นที่สาธารณะ

การเมืองและบริบทของการปรองดอง

ปกติความปรองดองเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน หากความขัดแย้งไม่ได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานความขัดแย้งทางการเมืองเพราะจุดตั้งต้นและเป้าหมายของการเมืองคือการแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ซึ่งก็ต้องมีกระบวนการแย่งชิงต่อรองกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ที่แน่นอนว่ากลุ่มผลประโยชน์ต้องการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในระบบการเมืองและการคอรัปชั่นก็เกิดเพราะสิ่งเหล่านี้  ดังนั้นเพื่อให้เป้าหมายทางการเมืองบรรลุผล เงื่อนไขที่ตั้งไว้จึงต้องโอนเอียงเข้าหาเป้าหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากความขัดแย้งไม่ได้เกิดบนความขัดแย้งทางการเมือง แต่เป็นด้วยข้องอ้างที่ว่า เป็นการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นเท่านั้น ข้ออ้างนี้ก็จะทรงพลังและไม่นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างที่เป็น การปรองดองก็สามารถทำได้เพราะเงื่อนไขไม่ได้ผูกติดกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและเป็นความถูกต้องที่กลุ่มต่าง ๆ ไม่อาจปฏิเสธได้ หากเรามีสมมติฐานของความแตกแยกว่าตั้งบนพื้นฐานของการเมือง การปรองดองก็คงมีวิธีการคือตกลงผลประโยชน์ที่มีในทางการเมืองให้ได้ก็คงเป็นการเพียงพอ

หากเรายังคงมีความจำดีกันอยู่ เราจะคุ้นชินกับข้ออ้างที่ว่า ความขัดแย้งเกิดจากการเมืองต้องแก้ด้วยวิถีทางการเมือง นั่นก็หมายความว่า การปรองดองที่โหมกระแสจากภาคประชาชนเป็นความพยายามที่ไร้ประโยชน์เพราะประชาชนไม่ได้ร่วมก่อให้เกิดความขัดแย้ง (ในการแย้งชิงผลประโยชน์) การประนีประนอมเป็นเรื่องที่ต้องประนีประนอมผลประโยชน์ของผู้ที่ขัดผลประโยชน์กัน แต่ประชาชนอยู่นอกเหนือการแย่งชิงผลประโยชน์ เป็นแต่เครื่องมือในการแย่งชิงผลประโยชน์ ดังนั้นประชาชนไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งนั้น แต่ภาคประชาชนควรต้องมีความเข้มแข็งต่อสถานการณ์ตรวจสอบที่กระทำต่อนักการเมืองอย่างแท้จริง เมื่อนักการเมืองไม่มีเครื่องมือ (คือประชาชนที่หลงวาทะนักการเมือง) คือการใช้ประชาชนบังหน้า การต่อรองผลประโยชน์เป็นสิ่งที่นักการเมืองต้องการอยู่แล้ว การต่อรองนี้ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วแม้จะไม่มีประชาชนเป็นกำบัง และจะทำง่ายขึ้นเพราะอำนาจต่อรองจะมีน้อยและข้ออ้างที่จะยกขึ้นอ้างจะใช้ไม่ได้ทุกข้อเพราะต้องผ่านการตรวจสอบจากประชาชน เมื่อเป็นเช่นนั้น นักการเมืองจะตระหนักในการสูญเสียผลประโยชน์ก็จะระมัดระวังที่จะก่อความขัดแย้งระหว่างกันและต้องระวังการตรวจสอบ นักการเมืองก็จะไม่ก่อความขัดแย้งระหว่างกันและกัน

สิ่งที่ภาคประชาชนต้องตระหนักร่วมกันอีกประการคือ คำว่า “การปรองดอง” เป็นคำพูดที่นักการเมืองพูด มันมีความหมายถึงว่า เป็นการประนีประนอมผลประโยชน์ของนักการเมืองเอง ไม่ใช่ประโยชน์ของประชาชนโดยรวม หมายความว่า แม้จะปรองดองกันได้จริง ประโยชน์สูงสุดก็ตกแก่นักการเมืองไม่ใช่แก่ประชาชน ดังนั้นประชาชนโดยรวมต้องไม่เคลิบเคลิ้มต่อการเอาผลประโยชน์ประชาชนมาบังหน้าเพื่อให้ได้ประโยชน์ของนักการเมืองเพราะสุดท้ายแล้วประชาชนก็สูญเสียประโยชน์จากบรรดาข้ออ้างเหล่านั้นเหมือนเดิม

บทวิพากษ์อันว่าด้วยความปรองดอง

ความปรองดองเป็นคำใหม่ที่กำลังเป็นกระแสในสังคมไทย เกิดขึ้นบนความคาดหวังว่าจะสามารถลดความขัดแย้งที่เกิดในสังคมไทยในขณะนี้ แต่คำนี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจของสังคม และเมื่อไม่เข้าใจเชื่อได้ว่า การตีความซึ่งเกิดจากความเข้าใจก็ย่อมผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปด้วย มีข้อสังเกตหลายประการสำหรับคำว่า ปรองดองนี้

คำว่า ปรองดอง ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน(2542) เป็นคำกริยา หมายถึง ออมชอม, ประนีประนอม, ยอมหัน, ไม่แก่งแย่งกัน, ตกลงกันด้วยความไกล่เกลี่ย, ตกลงกันด้วยไมตรีจิต หากเราจะใช้คำว่า ปรองดอง โดยนิยามนี้ในแผนการปรองดองถือว่า เป็นสิ่งผิดอย่างใหญ่หลวงของสังคมไทยเพราะการออมชอมผลประโยชน์ของชาติให้กลายเป็นผลประโยชน์ของนักการเมืองเป็นสิ่งผิดทั้งในความเป็นจริงและความถูกต้อง จะกล่าวได้ว่า ไม่มีสังคมใดที่ยอมรับเรื่องเช่นนี้ได้อย่างน่าชื่นตาบาน และหากยอมรับได้ การพูดถึงคุณธรรมในสังคมก็ไม่จำเป็นและไม่มีประโยชน์อีกต่อไป

ที่สำคัญกว่านี้คือ การปรองดองที่เป็นกระแสอยู่ในสังคมขณะนี้ผิดต่อหลักการสำคัญอย่างยิ่งใหญ่ ๆ  3 ข้อ คือ
1. กฎธรรมชาติ หรือกฎสากล (Natural Laws)
2. กฎสากลทางจริยธรรม (Moral Laws)
3. กฎหมายบ้านเมือง (Laws)

อันที่จริงกฎทั้ง  3  นี้ มีพื้นฐานมาจากหลักการอันเดียวกันนั่นคือ “ธรรมดาว่าสิ่งที่ถูกต้องอยู่ที่ไหนย่อมถูกต้องเสมอ” หมายความว่า ถ้าการกระทำ X ใด ๆ เป็นความผิดแล้ว จะเป็นการกระทำของกลุ่ม x หรือ y ก็เป็นความผิดทั้งนั้น ไม่มีทางที่จะเป็นสิ่งถูกต้องเป็นได้ ดังนั้น การนิยามคำว่า ปรองดองซึ่งหมายถึง ออมชอม, ประนีประนอม, ยอมกัน, ไม่แก่งแย่งกัน, ตกลงกันด้วยความไกล่เกลี่ย, ตกลงกันด้วยไมตรีจิต ตามนัยยะที่ราชบัณฑิตสร้างขึ้นจึงใช้ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้อย่างแน่นอน

กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนคือความขัดแย้งของสังคมไทยเกิดจากคู่ขัดแย้งที่เป็นกลุ่มผลประโยชน์และกลายร่างเป็นกลุ่มการเมืองทั้งคู่ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่มแนวร่วมบางกลุ่ม ข้อเท็จจริงที่ปรากฎคือ กลุ่ม  X  ยึดทำเนียบ ฯลฯ สนามบิน เป็นสิ่งผิดกฎหมายบ้านเมืองชัดเจน ในขณะที่กลุ่ม Y  ก็เผาศูนย์การค้ากลางกรุง ฯลฯ เผ่าศูนย์ราชการ (ซึ่งอาจจะอ้างเป็นอย่างอื่น แต่ปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ในระดับหนึ่ง) การกระทำทั้ง  X และ Y เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายบ้านเมืองทั้งคู่  การพยายามปลุกกระแส ‘ปรองดอง’ ระหว่างกลุ่มที่ทำผิดคือ  X และ Y  เพื่อให้ทั้งสองที่ปรากฏชัดว่าผิด เป็นถูกนั้นจึงทำไม่ได้เพราะคำถามที่จะมีตามมาก็คือว่า ทั้งสองจะปรองดองบนพื้นฐานของสิ่งใด กระบวนการจะเป็นอย่างไร การจะบอกว่า ให้กลุ่ม  Y  เลิกแล้วต่อ  X  เสียเถิดทั้งที่ปรากฏชัดว่า  Y  ตายไปแล้ว 91 ศพ  สูญหายไม่ทราบแน่ชัดและบาดเจ็บและพิการกว่า  2,xxx  คนให้ทั้งสองลืมไปเสียและเลิกแล้วต่อกัน สังคมตั้งใจที่จะใจร้ายเกินไปหรือไม่ที่จะละเลยต่อสิ่งเหล่านี้ การจะอธิบายปรากฏการณ์นี้ให้เป็นที่ยอมรับแก่คนในประเทศคงมีไม่ได้ (ถ้าไม่หน้าด้านจริง ๆ คงไม่กล้าหาญพอที่จะตอบและทำเรื่องนี้.ผู้เขียน)

ก่อนหน้าที่จะเกิดมีความขัดแย้ง 2549 นั้น จำได้ว่าเราได้เคยใช้วิธีการปรองดองมาแล้ว 1 ครั้ง เป็นการปรองดองเชิงโครงสร้างระบบอำนาจครั้งสำคัญที่ใช้ขับเคลื่อนประเทศไทย นั่นคือการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้คุณทักษิณพ้นผิดคดี “ซุกหุ้นภาค 1” ด้วยมติ 8:7 ตัดสินว่าคุณทักษิณไม่ผิดทั้งที่หากจะพิจารณาให้ดีจะพบว่ามีความผิดจริงเพราะไม่ได้แตกต่างจากพลตรีสนั่น ขจรประสาสน์ ในขณะที่พลตรีสนั่นผิดและมีโทษ แต่ด้วยเงื่อนไขใดก็ตามที่ไม่สามารถทราบได้ แต่ผู้เขียน ‘เชื่อว่า’ นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดบนหลักการประโยชน์นิยมแบบ Act Utilitarianism อย่างแน่นอน การทำสิ่งผิดให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องในครั้งนั้นน่าจะเป็นบทเรียนให้กับสังคมได้ว่า การปรองดองบนพื้นฐานของหลักการทำความผิดให้เป็นความถูกไม่ใช่สิ่งที่จะยั่งยืนเพราะผิดหลักการดังที่กล่าวมาแล้วและเท่าที่มีเหตุการณ์ความขัดแย้งกันเกิดขึ้นในระดับบุคคล ระดับประเทศหลายครั้งหลายครั้งแม้เราไม่สร้างกระแสความปรองดองแต่เราก็ผ่านความขัดแย้งอันนี้มาได้ด้วยดีทั้งนี้เพราะในทุกกรณีที่ผ่านมานั้นการปรองดองที่เกิดขึ้นตั้งอยู่บนกระแสของการยึดหลักการความถูกต้องเป็นสำคัญเหนือสิ่งใด ไม่ใช่การทำให้คนทำผิดกลายเป็นคนถูกเหมือนความพยายามทำในกระแสการปรองดองในครั้งนี้

หากแม้ว่าข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทั้ง  X และ Y เลิกแล้วต่อกันจริงตามที่หวังไว้ การปรองดองที่แท้จริงก็ยังเกิดขึ้นไม่ได้เพราะอย่างไรเสียคู่ขัดแย้งทั้งสองก็มีคำตอบในใจที่ถูกทำให้ฝังรากลึกอยู่  บรรดาการกระทำใดที่ X และ Y ได้ทำมันเป็นความเจ็บปวด เป็นการกดขี่ สิ่งเหล่านี้ไม่มีทางจะถูกลบออกไปจากความทรงจำได้อย่างแน่นอน แต่จะกลายเป็นความปองร้ายที่ถูกทำให้ต้องเก็บกดไว้ การปรองดองเป็นเพียงแค่ ‘ฉาก’ กั่นทั้งสองฝ่ายไม่ให้มองเห็นกันชัดเจนและสร้างความสงสัยให้อีกฝ่ายเกิดความอยากรู้(ในความเป็นจริง) ท้ายที่สุดแล้วคำตอบที่ทั้งสองต้องการก็ต้องถูกทำให้กระจ่างด้วยวิธีการทำลายม่านมัวนั้นเพื่อให้เกิดความกระจ่างซึ่งจะเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ที่เกิดขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด

องค์กรต่าง ๆ ที่รัฐบาลตั้งขึ้น (หลังการกระชับพื้นที่) หากรัฐบาลยังมีสถานะเป็นเสมือนเป็นคู่ขัดแย้ง องค์กรเหล่านั้นทั้งหมดก็ไร้ความหมายเพราะสถานะองค์กรเหล่านั้นถูกมองจากคู่ขัดแย้งต่างกันและปราศจากการยอมรับด้วยดีจากคู่ขัดแย้งทั้งสอง  กลุ่ม  Y  จะมองว่า องค์กรเหล่านี้มีสถานะเป็นตัวแทน (representative) ของคู่ขัดแย้ง ไม่ใช่ของรัฐบาลเพราะสถานะของรัฐบาลแยกไม่ออกจากกลุ่มผลประโยชน์ในคู่ขัดแย้งของตน  ส่วน X  ก็จะมองว่า องค์กรที่ตั้งขึ้นมีความโน้มเอียงเมื่อองค์กรจะตัดสินอย่างตรงไปตรงมาและไม่เข้าข้างตัวเอง (ขณะเดียวกันก็ไม่เข้าข้างอีกฝ่าย) ดังนั้นในเมื่อการยอมรับองค์กรเหล่านี้ไม่มีมันก็เท่ากับว่า องค์กรเหล่านี้ไม่มีประโยชน์จริงในแง่การปฏิบัติ

ปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเสรีทำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การนำเสนอข้อมูลทางเดียวและพยายามปกปิดข้อมูลอีกด้านที่ถูกนำเสนอโดยรัฐบาลใด ๆ ย่อมเป็นอันตรายตัวรัฐบาลเองเพราะยิ่ง ‘ชาวบ้าน ชาวช่อง’อยากรู้มากเท่าใด เขาย่อมต้องพยายามเข้าถึงแหล่งข้อมูลให้ได้มากเท่านั้นด้วย อำนาจรัฐอาจจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนยอมรับสื่อโดยการปิดหูปิดตาประชาชนโดยสื่อ แต่เมื่อสื่อและข้อเท็จจริงไปคนละทิศละทางก็ย่อมมีคำถามตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สุดท้ายแล้วรัฐก็ต้องตอบคำถามต่อเหตุการณ์และข้อเท็จจริงเหล่านั้น และหากรัฐให้คำตอบเป็นที่พอใจไม่ได้อันตรายก็จะเกิดกับรัฐบาลเองอย่างที่รัฐบาลหลาย ๆ รัฐบาลประสบมา

การปรองดองที่เกิดโดยวิธีการทำคนผิดให้เป็นคนไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของไทย เราทำอย่างนี้มาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เรียกได้ว่า กฎหมายที่ไม่เคยพัฒนาเลย(และไม่เคยล้าหลัง)ก็คือกฎหมายนิรโทษกรรม ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งฉุด-ถ่วงพัฒนาการทางการเมืองและประชาธิปไตยของไทย การปรองดองที่ทำโดยมีกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือหลักถือเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญที่สุดของกำเนิดวงจรอุบาทว์อย่างแท้จริง ความจัดเจนคือ การกระทำเช่นนี้ไม่สามารถช่วยอะไรได้จริง กลับทำให้สังคมไทยถอยกลับด้อยพัฒนาและล้าหลังกว่าที่เป็น

‘พวกเขา’ หรือ ‘พวกเรา’ ตรรกต้นเหตุของความขัดแย้ง

คำที่ได้ยินเสมอในการพูด ในเวทีปราศรัยของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเฉพาะที่เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง มีคำที่ใช้เรียกกลุ่มของตนและกลุ่มอื่น เรียกกลุ่มตนเองว่า “พวกเรา” และเรียกกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มตนเองว่า “พวกเขา” นั่นคือไม่ใช่พวกเรา ในคำทั้งสองนี้หากไม่พิจารณาให้ดีจะไม่เห็นความหมายแฝงหรือนัยยะพิเศษอะไรที่เป็นข้อบกพร่องใด ๆ แต่หากพิจารณาให้ดีก็จะพบนัยยะบางประการที่นำไปสู่ตรรกที่ประนีประนอมไม่ได้อย่างสิ้นเชิง

ในคำว่า พวกเรา นั้นโดยคำพูดเป็นการยืนยันถึงความมีอยู่และตำแหน่งแห่งที่ที่ชัดเจนของตัวตนเขา(ผู้พูด) ในขณะที่ผู้พูดได้พูดมันหมายความว่า ผู้พูดเป็นศูนย์กลางของสิ่งอื่นที่ทุกสิ่งต้องวิ่งเข้าหาในฐานะเป็นผู้มีอำนาจ(ในการพูด)การกระทำ คือ คนพูดได้ครอบครองความเป็นศูนย์กลางของการพูดในฐานะเป็นประธาน  หรือเป็น Subject ไว้หมด  

คำว่า  Subject  มาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า Subjectum  และภาษาละตินในสมัยกลางใช้เป็น  Subjectivus  ซึ่งมีความหมายว่า “ทำให้อยู่ภายใต้(อำนาจหรืออะไรก็ตาม)”หรือ Under throw under  หมายความว่า การพูดมันสัมพัทธ์(relate)หรือถูกกำหนดโดยตัวเขาเองหรือ EGO ของผู้พูดและกลุ่มของเขาให้คนอื่นอยู่ภายใต้อำนาจหรือบางสิ่งอย่างที่ผู้พูดต้องการในการพูดทุกครั้ง

การพูดเชิงยืนยัน(affiamative)ความเป็นบางสิ่งบาง เช่น ยืนยันว่าเป็น A เท่ากับมีนัยยะยืนยันและปฏิเสธความเป็น B โดยประการทั้งปวง เช่นตัวอย่างการพูดว่า พวกเราคนไทย มีความหมายกินความถึงว่า เราไม่ใช่คนลาว ไม่ใช่พม่า หรือไม่ใช่คนอเมริกา เป็นการปฏิเสธโดยนัยยะว่า นี่ไม่ใช่เรา แต่เป็นพวก หรือสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับเราหรือพวกเรา

คำว่า พวกเขา โดยคำพูดที่พูดออกไปมันมีนัยยะปฏิเสธความสัมพันธ์ทั้งในแนวระนาบและแนวดิ่งอย่างสิ้นเชิง คือไม่ใช่เพื่อนหรือไม่มีสถานะใกล้เคียงในความเป็น ‘พวกเรา’ ไม่ใช่พวกเราและไม่ใช่ทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งของความเป็นพวกเรา โดยนัยยะมันหมายถึงกลุ่มที่คัดค้านหรือมีความแตกต่างจากพวกเราเพราะสถานะของพวกเขามีความเป็นปรปักษ์กับความเป็นพวกเราที่มีตัวตนเป็นศูนย์กลาง พวกเขาจึงดำรงสถานะเพียงวัตถุ (Object)บางสิ่งที่จะถูกกระทำอย่างไรก็ได้ในฐานะวัตถุที่อยู่ตรงข้ามกับพวกเราเสมอ

คำว่า Object มาจากรากศัพท์ในภาษาละตินว่า Objectus ซึ่งมีความหมายว่า โยนไว้ตรงข้าม(to throw in the way)กับ Subject คืออยู่ตรงกันข้ามกับผู้พูดหรือกล่าวโดยนัยยะก็คือเป็นเพียง ‘บางสิ่ง’ ที่ผู้พูดจะพูดถึงในฐานะอะไรก็ได้ที่ผู้พูดจะให้คุณค่า

การพูดคำว่า “พวก.....(เขา หรือเรา)” เป็นการจัดประเภทหรือแบ่งแยกอย่างชัดเจน การจัดประเภทดังกล่าวทำให้เกิดละดับชั้น (Hierarchy)ที่ลดลั่นกันและทำให้ไม่เกิดความเท่าเทียมเพราะความแตกต่างที่มีชัดเจนในแต่ละประเภทได้บ่งชี้ในการจัดประเภท  มโนภาพอันว่าด้วยสถานะความเป็นประเภทได้เกิดจากการใช้คำเหล่านั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สมการของคำพูดนี้คือเมื่อเราพูดว่า พวกเรา มันก็เท่ากับว่า เราไม่ใช่เขา และไม่มีทางที่พวกเขาจะเป็นเรา (A=A•A=~B)เพราะทั้งพวกเราและพวกเขาเป็นคนละประเภทกัน

การพูดทุกครั้ง การเปลี่ยนแปลงสถานะระหว่างพวกเรากับพวกเขาจะเกิดขึ้นตลอดและไม่มีความสมดุล หมายความว่าในขณะที่ผู้พูดว่า “พวกเรา” คนพูดได้กลายเป็นศูนย์กลางของการพูดและดำรงสถานะเป็นผู้กระทำ คือคนอื่นจะอยู่ภายใต้อำนาจการพูดของเขา ขณะเดียวกันผู้ที่ถูกกล่าวอ้างถึงว่าเป็น “พวกเขา” ก็จะพูดได้ในสถานะความเป็นศูนย์กลางของการพูดตอบโต้ได้เช่นกันด้วยคำเดียวกันว่า ‘พวกเรา’ นัยยะของการยืนยันตัวเอง ปฏิเสธผู้อื่น(และละเลยต่อเหตุผล)จะเกิดขึ้นอย่างนี้เรื่อยไปในทุกครั้งที่มีการพูด

ต้อง ‘เลือกข้าง’ มากกว่าต้องปรองดอง

อันที่จริงแล้วเราไม่ต้องสร้างกระแสความปรองดองในสังคมก็ได้เพราะประชาชนในสังคมไม่ได้แตกแยกกัน แต่เป็นเพราะคนไม่กี่คนตกลงผลประโยชน์กันไม่ได้แล้วดึงประชาชนเข้าไปสู่หลุมพรางแห่งความขัดแย้งของตนเองเพื่อให้ประชานเป็นเกราะป้องกันตัวเอง การสร้างกระแสความปรองดองนี้ประชาชนไม่ได้เดือดร้อนอะไรเพราะประชาชนไม่ได้ทำผิดอะไร การปรองดองที่ว่าคนที่จะเดือดร้อนคือคนที่ทำผิดเท่านั้น ประชาชนก็ยังทำมาหากินกันตามปกติ คนจนก็จนเหมือนเดิมหรือจะจนกว่าเดิมไม่รู้ คนที่จะได้รับผลจากกระแสปรองดองอย่างแท้จริงคือกลุ่มนักการเมืองและพวกธนกิจการเมืองเท่านั้น ความเป็นสาเหตุและผมของความขัดแย้งไม่ได้เกิดจากประชาชน แต่ประชาชนคือเงื่อนไขที่ถูกนำมาใช้ในหลุมแห่งความขัดแย้ง

หากคนส่วนใหญ่รู้ในความเป็นสาเหตุและผลคืออะไร สิทธิคืออะไร หน้าที่คืออะไร อะไรคือสิ่งที่ต้องทำ ควรทำ ความขัดแย้งก็คงไม่ขยายวงจนยากจะกำหนดขอบเขต แต่เมื่อสถานการณ์เลยมาจนถึงจุดนี้(เพราะเราไม่ได้อยู่ในบริบทความขัดแย้งตั้งแต่ต้นแล้ว) สิ่งที่สังคมต้องพิจารณาและขับเคลื่อนไปร่วมกันก็คือ สำหรับรัฐบาลใด ๆ ที่เรียกตัวเองว่าเป็นรัฐบาล ‘ต้องสำเนียก’ ว่า การเข้ามาเป็นรัฐบาลของตนไม่ใช่เป็นรัฐบาลของกลุ่มใด ไม่ใช่รัฐบาลกลุ่ม  X และไม่ใช่ของกลุ่ม Y  แต่เป็นรัฐบาลของประชาชนและต้องยืนบนจุดยืนที่ชัดเจนในการกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่เฉพาะแค่ใช้วาทศิลป์หรืออำนาจของฝูงชนในการบีบบังคับ ดังนี้แล้วรัฐบาลจึงจะดำรงสถานะอยู่ได้ด้วยความเชื่อถืออย่างมั่นคง หากรัฐบาลโอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งย่อมหมายความว่ารัฐบาลไม่ได้ดำรงสถานะความเป็นรัฐบาลของประชาชนอีกต่อไปและท้ายที่สุดประชาชนก็จะเพิกถอนการสนับสนุนเพราะรัฐบาลเลือกข้างกลุ่มผลประโยชน์ไม่ใช่ประโยชน์ที่แท้ของประชาชนตามเจตจำนงที่ประชาชนได้มอบหมาย

ประเด็นที่น่าพิจารณาให้ถ้วนถี่กว่านั้นก็คือว่า ทำอย่างไรรัฐบาลจะไม่โอนเอียงหันเหออกจากประชาชนเพราะการโอนเอียงจากประชาชนเท่ากับว่า รัฐบาลไม่ได้อยู่ข้างประชาชนที่เลือกเข้ามา ขณะเดียวกันการโอนเอียงก็มีผลชัดเจนต่อการเลือกข้างด้วย หมายความว่า กลุ่มคนที่ดำรงความเป็นกลางอยู่ซึ่งเราเรียกว่ากลุ่มพลังเงียบ(the silent)ที่ไม่ได้เข้าข้างกลุ่มใดๆ ทั้งกลุ่ม  X  และ Y  คนกลุ่มนี้จะถูกรัฐบาลกระทำให้ต้องเลือกข้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กล่าวคือคนกลุ่มนี้จะถูกบีบโดยทางอ้อมให้ไปอยู่ตรงข้ามกับรัฐเพราะข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบันนี้ชัดเจนว่า รัฐบาลเลือกข้างทั้งนี้ไม่ได้เกิดจากข้ออ้างของกลุ่มใด แต่เกิดจากข้อเท็จจริงที่รัฐบาลได้กระทำ หากรัฐบาลจะเลือกข้างจริง ๆ รัฐบาลต้องกล้าที่จะเลือกข้าง “ความถูกต้อง ความยุติธรรม” ที่จะเกิดกับประชาชนทุกคนมากกว่าการพิจารณากลุ่มพวกตนเอง

สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ ต้องตั้งคำถามว่า การปรองดองที่จะเกิดขึ้นบนเงื่อนไขที่กำลังเสนอกันเป็นกระแสนั้นถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะหากเป็นการปรองดองระหว่างคนผิดและคนผิดย่อมไม่สมควรเพราะการปรองดองในลักษณะเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงต่อประชาชนโดยรวม (อันที่จริงเราต้องยอมรับว่า ประชาธิปไตยของไทยไม่ได้ยืนบนหลักการสากลอย่างที่Abraham Lincoln เสนอไว้ การยืนบนหลักการที่ผิดตั้งแต่ต้นจึงไม่ควรที่จะหวังอะไรต่อไป.ผู้เขียน) แต่เป็นประโยชน์ต่อบรรดานักการเมืองและกลุ่มคนที่ทำผิดเท่านั้น การที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนและเข้มแข็งคือการตรวจสอบรัฐบาลใด ๆ นักการเมืองและผู้ถืออำนาจรัฐในมืออย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพกว่านี้ทั้งนี้เป็นการป้องกันมูลเหตุแห่งการทุจริต คอรัปชั่นที่เป็นรากเหง้าความขัดแย้ง  เหนืออื่นใดตามหลักการแห่งประชาธิปไตย นักการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชนไม่ใช่ตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ การยึดหลักประโยชน์ประชาชนเป็นหลักการที่ต้องตระหนัก ไม่ใช่ยึดประโยชน์ของนักการเมือง ดังนั้นการปรองดองจึงต้องเป็นไปเพื่อประประโยชน์ประชาชนไม่ใช่ประโยชน์นักการเมือง

การปรองดองตามแนวพุทธและข้อเท็จจริงปัจจุบัน

ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีหลักการทางสังคมที่แน่นอนใด ๆ ที่จะนำมาเป็นกระบวนการในการสร้างความปรองดองในสังคมได้ แต่หากมองเข้าไปที่หลักทางศาสนาจะพอพบหลักการเหล่านี้ได้เพราะส่วนใหญ่แล้วศาสนาจะตอบเรื่องเหล่านี้ได้ค่อนข้างชัดเจน และในฐานะที่สังคมไทยมักอ้างเสมอว่า ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ(ตามทะเบียนบ้าน)เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วผู้เขียนจึงขอยกเอาหลักการทางพุทธศาสนาบางข้อมาเสนอเพื่อประกอบการอธิบาย

หลักการที่จะนำเสนอนี้จะเรียกว่า หลักการลดและประสานความขัดแย้ง เรียกตามชื่อทางพุทธศาสนาคือ หลักสารณียธรรม ได้แก่ หลักการอยู่ร่วมกันมี  6 ประการ (พระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตฺโต)2543, 233-234) ซึ่งสามารถอธิบายในรายละเอียดได้ว่า

1. เมตตากายกรรม คือ มีการกระทำทางกายต่อเพื่อนร่วมสังคมด้วยความเมตตาทั้งต่อ

หน้าและหลับหลัง แสดงกิริยาอาการต่อกันอย่างสุภาพ เคารพกันและกัน รวมไปถึงคอยช่วยเหลือกิจธุระของหมู่คณะด้วยความเต็มใจ ในข้อนี้รวมความหมายถึง กรรมเคารพกรรมสิทธิ์ สิทธิของผู้อื่นและการไม่ล่วงละเมิดประเพณีทางเพศด้วย

เมื่อย้อนมองเหตุการณ์ปัจจุบันพบว่า สังคมเต็มไปด้วยสิ่งที่ตรงกันข้ามกับหัวข้อนี้ เริ่มที่เด็กและเยาวชนทะเลาะวิวาทกันมากขึ้นถึงขึ้นเอาชีวิต การอาฆาตมาดร้ายแก่กันและกันปรากฏชัดขึ้น อาชญากรรมเพิ่มขึ้น  การจี้ปล้น ลักขโมย วิ่งราวมากขึ้น คอรัปชั่นมากขึ้น มีการอ้างสิทธิกันมากขึ้นแต่เคารพสิทธิของกันและกันน้อยลง ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของการกระทำเป็นหลัก ครอบครัวแตกแยกมากขึ้น หย่าร้างมากขึ้น นี่คือภาวะความเป็นจริงที่ต้องรับรู้และคิดที่จะปรับปรุงร่วมกัน เราไม่ได้มองเพื่อนมนุษย์ด้วยเมตตา แต่กลายเป็นต่างฝ่ายต่างจ้องจับผิดกันตลอดเวลา

2. เมตตาวจีกรรม คือ พูดกับเพื่อนร่วมสังคมด้วยเมตตาทั้งต่อหน้าและหลับหลัง ช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอน แนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี เมตตา มีวาจาสุภาพแสดงความเคารพกันด้วยวาจาทั้งต่อหน้าและลับหลัง รวมทั้ง ไม่กล่าวเท็จเพราะเหตุแห่งตนเอง ผู้อื่น หรือเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ใด ๆ  ไม่พูดเพื่อสร้างความแตกร้าวในสังคม พูดจริง มีเหตุผล มีสาระถูกกาลเทศะ

ในข้อจริงที่กำลังดำเนินไปนั้น แม้จะมีข้ออ้างเรื่องการปรองดองเกิดขึ้น แต่การด่าทอ ใส่ความผู้อื่น ประชดประชัน พูดเท็จ ไร้สาระ เอาดีเข้าตัว ชั่วใส่คนอื่น  พูดดีทำชั่ว ไม่มีมูลเหตุ รวมถึงพูดเพื่อให้เสียประโยชน์โดยรวมมีมากขึ้น คำพูดตนเองถูก คนอื่นพูดผิด เป็นสิ่งที่สังคมต้องตั้งคำถาม ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่น  ก  ในขณะที่มีตำแหน่งเป็น X  พูดว่า “จะหนึ่งคนพูด สองคนพูด หรือแสนคนพูดก็ต้องฟัง” แต่เมื่อ ก  เข้ามาสู่สถานะความเป็น Y เขาไม่ใส่ใจคำพูดนี้และบอกว่า คำพูดเหล่านี้ไร้สาระทั้งที่คำพูดแบบนี้เริ่มต้นที่เขาเป็นคนพูด คนที่ ‘พูดแบบนี้’ ประชาชนต้องร่วมกันลงโทษเพราะเขาไม่ได้พูดหรืออ้างบนผลประโยชน์ประชาชน (และที่หนักกว่านั้นคือ ผู้ปกครองลดตัวลงไปต่อล้อต่อถียงกับแม่ค้าปากตลาดซึ่งมันบ่งชี้ไปถึงภาวะผู้นำในตัวเขาด้วย. ผู้เขียน) เราไม่ได้ดำเนินชีวิตภายใต้สังคมแห่งความเอื้ออาทรอีกต่อไป การพูดการตักเตือนทำด้วยอคติและมุ่งทำลาย

3. เมตตามโนกรรม คือ มีใจปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมสังคม  คิดทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน แก่สังคม มองโลกในแง่ดี ยิ้มแย้มแจ่มใสทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของผู้อื่น ไม่คิดร้าย อิจฉาผู้อื่น มีความชื่อถูกต้องคือเชื่อว่าทำดีแล้วได้ดี ทำชั่วแล้วได้ชั่ว

ในข้อนี้อาจเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจได้เพราะความคิดเป็นสิ่งที่ผู้อื่นไม่สามารถรับรู้ได้ แต่ความคิดเป็นเหตุตั้งต้นของการพูดและการกระทำ ซึ่งก็พอจะอนุมานได้ว่า ปัจจุบันนี้คนคิดกันอย่างไร ที่ชัดเจนก็อาจจะเป็นคำพูดนักการเมืองที่พูดว่า “ถ้าฉันได้ถืออำนาจรัฐคุณต้องถูกย้ายแน่นอน” นั่นหมายถึงว่า ผู้พูดคิดไม่ดีต่อผู้อื่น ทำให้พูดเช่นนี้ออกไป และที่หนักกว่านี้ก็คือภาวะการทุจริตในภาครัฐ  การซื้อขายตำแหน่ง  เด็กฝากซึ่งส่วนหนึ่งก็สะท้อนได้ว่า ผู้ทำเช่นนี้มีความเชื่อไม่ถูกต้อง คือไม่เชื่อว่าการทำดีแล้วได้ดี การทุจริตเป็นความเชื่อ บุคคลเหล่านี้จัดได้ว่า “เป็นผู้มีทัศนคติเป็น ‘อันตราย’ ต่อความมั่นคงของรัฐ” อย่างแท้จริง

4. สาธารณโภคี คือ การรู้จักแบ่งปัน จัดสรรสาธารณประโยชน์ แบ่งปันเจือจานสิ่งที่เป็นสิ่งสาธารณะให้อย่างเท่าเทียม การมีส่วนร่วมในการใช้สอยสิ่งสาธารณะที่สังคมมีอยู่ ไม่หวงไว้คนเดียว กลุ่มเดียว รวมถึงสิ่งที่เป็นสิ่งของส่วนตัวหากมีเหลือใช้หรือไม่เกิดประโยชน์แก่ตนก็นำออกเจือจานผู้อื่น

ปัญหาที่เกิดขึ้นและลุกลามอยู่นี้ก็เริ่มจากการที่ผู้นำไม่นำหลักสาธารณโภคีมาใช้ หรือนำมาใช้ไม่เป็นธรรม นั่นคือหวงประโยชน์สาธารณะหรือ/ และแปรรูปสาธารณประโยชน์ให้เป็นประโยชน์ตนและกลุ่มของตน ไม่จัดสรร  ไม่เจือจาน เงินของรัฐ  ทรัพย์สินของรัฐให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง  ในยุคหนึ่งมีคำพูดว่า จังหวัดไหนเลือกพรรคของเราจะจัดงบประมาณ การช่วยเหลือต่าง ๆ ให้ก่อนและให้มากเป็นพิเศษ  เมื่อแปรทรัพย์สินสาธารณะให้กลายเป็นของตนเองก็ถูกตรวจสอบ และเมื่อจัดสรรทรัพย์สาธารณะไม่เป็นธรรม ไม่เท่าเทียมก็เกิดการเรียกร้องประท้วง กลายเป็นความขัดแย้งไปในที่สุด

5. สีลสามัญญตา คือ มีศีลเสมอกัน หมายความว่า มีความประพฤติเรียบร้อยปกติตามแต่สังคมของตนเอง เช่น เป็นชาวพุทธรักษาศีล  5 เป็นปกติ เป็นต้น  ทำถูกกฎ ระเบียบสังคม เคารพกฎหมายบ้านเมืองทั้งต่อหน้าและลับหลัง

ปัจจุบันนี้น่าเศร้ามากเพราะส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า ศีลคืออะไร ความปกติของชีวิตคืออะไร ความเป็นปกติของสังคมคืออะไร กฎคืออะไร ระเบียบคืออะไร หน้าที่คืออะไร การเคารพกฎหมายต้องทำอย่างไรและที่แย่ที่สุดคือ ชาวพุทธที่อ้างว่า ตนเองเป็นพุทธแต่ไม่เคยรู้ว่าอะไรคือข้อปฏิบัติ อะไรเป็นข้อห้าม  ทำอย่างไรเรียกว่าผิดศีล  อย่างไรเรียกว่าผิดธรรม เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด และใครทำถูก ใครทำผิด และดังนั้นจึงไม่รู้ว่าจะทำตัวเองให้เสมอกับผู้มีศีลด้วยศีลได้อย่างไร การละเมิดศีล ข้อห้าม กฎ ระเบียบ กฎหมายต่างๆ จึงเกิดขึ้นตามมาอย่างมากมายไม่สิ้นสุด และน่าเป็นกังวลอย่างยิ่งหากคนทั่วไปเรียนรู้ว่าความดีคืออะไร คุณธรรมคืออะไรแต่เป็นคนมี่คุณธรรมอย่างที่เป็นอยู่เช่นทุกวันนี้

6. ทิฏฐิสามัญญตา  คือมีทิฏฐิดีงามเสมอกัน มีความเห็นชอบ(สัมมาทิฏฐิ)ร่วมกัน ในหลักการที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง

คำว่า ทิฏฐิ เป็นคำที่มีความหมายกลาง ๆ  หมายถึง ความเห็น  ถ้าเป็นความเห็นที่ถูกต้อง คือเห็นว่า ทำดีได้ผลดี ทำชั่วได้ผลชั่ว เห็นตามความเป็นจริง เป็นความเป็นถูก หรือสัมมาทิฏฐิ ส่วนความเห็นผิด คือความเห็นที่ไม่ถูกต้อง หรือคลาดเคลื่อนจากความเห็นข้างต้น  เช่นมีความเห็นว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป เป็นต้น

บทสรุป

การปรองดองที่เกิดบนพื้นฐานของการปรองดองระหว่างคนทำผิดนั้นเป็นสิ่งผิดทั้งโดยหลักการและหลักปฏิบัติทั้งมวล เพราะการทำให้คนผิดไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษเป็นสิ่งที่นานาอารยประเทศไม่ทำ การปรองดองต้องเกิดบนพื้นฐานความยุติธรรม ความถูกต้อง ความปรองดองเช่นนี้จึงจะเป็นที่ยอมรับได้  ดังนั้นทั้งรัฐบาลและประชาชนต้องกล้าเลือกที่จะปรองดองกับความถูกต้องและยุติธรรมให้กับสังคมโดยรวม และไม่ควรเชื่อวาทกรรมเรื่องการปรองดองในการหาผลประโยชน์ของนักการเมือง เพราะการเมืองไม่สามารถปรองดองได้ แต่เน้นการมีผลประโยชน์ร่วมกัน รัฐบาลต้องหนักแน่นในหลักการที่ถูกต้องเสมอและประชาชนก็ต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบรัฐบาลอย่างยุติธรรม ความปรองดองอย่างแท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้

 

อ้างอิง

พระธรรมปิฎก. (2543). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 9.กรุงเทพ ฯ;             

          โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2546). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2542. กรุงเทพฯ; นานมีบุ๊ค  

          พับลิเคชั่น

อภิญญา   เฟื่องฟูสกุล. (2546). อัตลักษณ์. กรุงเทพ ฯ; สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท