สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 10 - 16 มิ.ย. 2555

สรส. บุกทำเนียบฯขอขึ้นเงินเดือน 5% / ชงปรับเงินพนักงานมหาวิทยาลัยเพิ่มสวัสดิการเทียบเท่าข้าราชการ / สร.ขสมก.บุกคมนาคม จี้ถามการปรับขึ้นค่าแรง-เงินเดือน
 
โรงงานใหม่ทิ้งไทยหนีค่าแรงแพง 
 
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยจำนวนผู้ได้รับอนุญาตให้เปิดโรงงานใหม่เดือน พ.ค. อย่างไม่เป็นทางการจำนวน278 ราย มูลค่าลงทุน 6,113 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการลงทุนกว่า 2.39 หมื่นล้านบาทลดลง 400% โดยเหตุหลักมาจากนักลงทุนชะลอแผนการสร้างโรงงานในไทย และเปลี่ยนไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงนโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง ขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ที่จะมีผลวันที่ 1 ม.ค. 2556 ซึ่งมีผลมากกับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ 
 
อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและอุตสาหกรรมอาหาร โดยประเด็นดังกล่าวรัฐบาลยังมองว่าไม่น่ากังวลใจ เพราะโรงงานบางประเภทต้องปรับแผนไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหาแหล่งต้นทุน การผลิตที่ต่ำกว่า และประเทศไทยไม่มีค่าจ้างแรงงานในระดับที่ต่ำอีกแล้ว แต่ยังมีอีกหลายประเทศและหลายอุตสาหกรรมที่สนใจมาลงทุนในไทย หลังจากรัฐบาลไปโรดโชว์ต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่นอินเดีย และกลุ่มยุโรป เพราะไทยยังเป็นตัวเลือกฐานการผลิต 
 
เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ดีที่สุด มีความได้เปรียบทั้งสถานที่ตั้ง บุคลากร และวัตถุดิบ 
 
(บ้านเมือง, 10-6-2555)
 
สปส.เตรียมจัดติวเข้มแกนนำเครือข่าย สปส.รองรับ ม.40 วันพุธนี้ 
 
11 มิ.ย. 55 - สำนักงานประกันสังคมเตรียมจัดอบรมโครงการพัฒนาสมรรถนะแกนนำเครือข่ายประกัน สังคมและเจ้าหน้าที่ สปส.ที่ทำหน้าที่ขยายการขึ้นทะเบียนประกันสังคม ม.40 เพื่อให้ความรู้ด้านประกันสังคมตามมาตรา 40 พร้อมพัฒนาทักษะการสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์และการสร้างเครือข่ายจูงใจให้ แรงงานนอกระบบสมัครเป็นผู้ประกันตน ม.40 
 
นายเผดิมชัย  สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 12-13 มิถุนายนนี้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะจัดการประชุมและมอบนโยบายโครงการอบรมพัฒนาสมรรถนะแกนนำเครือข่ายประกัน สังคมและเจ้าหน้าที่ประกันสังคมที่ทำหน้าที่ขยายการขึ้นทะเบียนประกันสังคม มาตรา 40 ที่โรงแรมอุบลบุรี รีสอร์ท จ.อุบลราชธานี ทั้งนี้ สืบเนื่องจากนโยบายด้านแรงงานของนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็น อยู่ของผู้ใช้แรงงาน เริ่มตั้งแต่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน การให้ประชาชนทั่วไป ข้าราชการ และผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินหรือประสบอุบัติเหตุเข้ารักษาพยาบาลที่โรง พยาบาลใดก็ได้ ในส่วนของประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบ รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการให้มีการประกันสังคมตามมาตรา 40 เพื่อให้มีหลักประกันที่มั่นคงแก่แรงงานกลุ่มนี้ โดยตั้งเป้าหมายรับสมัครผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จำนวน 1,200,000 คน ภายในเดือนกันยายนนี้ 
 
“การประชุมฯ ครั้งนี้เป็นการประชุมสำคัญที่จะทำให้แกนนำเครือข่ายประกันสังคมตามมาตรา 40 ผู้ปฏิบัติงานที่เป็นข้าราชการ และพนักงานของสำนักงานประกันสังคมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และได้เรียนรู้เทคนิคในการจูงใจและการโน้มน้าวใจเพื่อส่งเสริมการทำงานให้มี ประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมทั้งเป็นการชี้แจงความรู้ความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชนให้เห็นความสำคัญ ของการมีประกันสังคม และเป็นการเชิญชวนให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกประกันสังคมมาตรา 40 ให้มากขึ้น  ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2555 ได้มีผู้สนใจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แล้ว  จำนวน 824,255 คน” นายเผดิมชัย กล่าว            
 
สำหรับโครงการอบรมพัฒนาสมรรถนะแกนนำเครือข่ายประกันสังคม จะมีการจัดอบรม 5 ครั้ง โดยครั้งนี้จัดเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 12-13 มิถุนายน 2555 ณ โรงแรมอุบลบุรี รีสอร์ท จ.อุบลราชธานี และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2555 ณ โรงแรมเวคัมจอมเทียม บีชพัทยา จ.ชลบุรี ส่วนครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 13-14 กรกฎาคม 2555 ณ โรงแรมทวิน โลตัส จ.นครศรีธรรมราช ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 6-7 สิงหาคม 2555 ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ และครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม 2555 ที่โรงแรมเจริญธานี จ.ขอนแก่น. 
 
(สำนักข่าวไทย, 11-6-2555)
 
สรส. บุกทำเนียบฯขอขึ้นเงินเดือน 5% 
 
12 มิ.ย. 55 - ที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีออกมารับหนังสือร้องเรียนจากนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) แทนนายกรัฐมนตรี ?ซึ่งหนังสือดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขข้อเรียกร้องของ ผู้ใช้แรงงาน ที่ให้ปรับอัตราเงินเดือนให้แก่พนักงาน รัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกับข้าราชการและเป็นไปตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐ วิสาหกิจสัมพันธ์(ครส.) ในอัตราร้อยละ5 เท่ากันทุกตำแหน่ง สืบเนื่องจากมติครม.รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้กำหนดไว้ว่าให้ปรับเงินเดือนร้อยละ 5 แต่ไม่เกิน5หมื่นบาท โดยมติดังกล่าวถือว่าไม่เคารพหลักการไตรภาคี และเลือกปฏิบัติส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเงินเดือนและขวัญกำลัง ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิมรับปากที่จะผลักดันเรื่องนี้เข้าที่ประชุมกลั่นกรองคณะ 4 ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.คลังเป็นประธานให้พิจารณาต่อไป 
 
(แนวหน้า, 12-6-2555)
 
ชงปรับเงินพนักงานมหาวิทยาลัยเพิ่มสวัสดิการเทียบเท่าข้าราชการ 
 
นายสุมิตร สุวรรณ ประธานเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา เปิดเผยว่า จากการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของพนักงานมหาวิทยาลัยที่มี ผู้แทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมได้เสนอแนวทางปฏิบัติ/เกณฑ์กลางในการบริหารงานบุคคลสำหรับการ บริหารพนักงานมหาวิทยาลัยดังนี้ 
 
สวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อกูลไม่น้อยกว่าของระบบข้าราชการพลเรือนใน มหาวิทยาลัยที่เคยได้รับ โดยอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบ ได้แก่ การประกันสังคม การประกันสุขภาพกลุ่ม ค่ารักษาพยาบาลบิดามารดา คู่สมรสและบุตร ปีละ 50,000 บาท ให้สะสมได้ การตรวจสุขภาพประจำปี เงินค่าเล่าเรียนบุตร เงินช่วยเหลือค่าทำศพ เงินตอบแทนพิเศษประจำปี (โบนัส) การเลื่อนขั้นเงินเดือนปีละ 2 ครั้ง ครั้งละร้อยละ 3 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานสะสมร้อยละ 4-8 มหาวิทยาลัยสมทบร้อยละ 8 กองทุนสวัสดิภาพบุคลากร การให้เงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย/หอพัก/ค่าเช่าบ้าน ทุนการศึกษาและการฝึกอบรม การลาศึกษาต่อ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 
 
นอกจากนั้นยังเสนอปรับโครงสร้างค่าตอบแทน/อัตราเงินเดือนแรกบรรจุของ พนักงานมหาวิทยาลัยดังนี้ ในระยะ 2 ปีแรก 1.ให้จ้างพนักงานสายวิชาการในอัตราไม่ต่ำกว่า 1.5 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ 2.ให้จ้างพนักงานสายสนับสนุนวิชาการในอัตราไม่ต่ำกว่า 1.3 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ ส่วนระยะ 2 ปีถัดมา 1.ให้จ้างพนักงานสายวิชาการในอัตราไม่ต่ำกว่า 1.6 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ 2.ให้จ้างพนักงานสายสนับสนุนวิชาการในอัตราไม่ต่ำกว่า 1.4 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ 
 
3.การได้รับเงินประจำตำแหน่งแบ่งเป็น สายวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จำนวน 5,600 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 5,600 บาท รองศาสตราจารย์ จำนวน 9,900 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 9,900 บาท ศาสตราจารย์ ระดับ 10 จำนวน 13,000 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 13,000 บาท ศาสตราจารย์ ระดับ 11 จำนวน 15,600 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 15,600 บาท 
 
ส่วนสายสนับสนุนวิชาการ ชำนาญการ 3,500 บาท ชำนาญการพิเศษ 5,600 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 5,600 บาท เชี่ยวชาญ 9,900 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 9,900 บาท เชี่ยวชาญพิเศษ 13,000 บาท บวกเงินค่าตอบแทน 13,000 บาท สำหรับเรื่องการออกจากงานกรณีพนักงานสัญญาจ้างทดลองงาน 1 ปี สัญญาต่อไปจนถึง 60 ปี แต่สามารถยกเลิกสัญญาจ้างได้ถ้าไม่ผ่านการประเมิน ให้ใช้วิธีการประเมินแบบ 360 องศา หรือคณะกรรมการเป็นผู้ประเมิน 
 
นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้นโดยมอบหมายให้ ทปอ. ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ไปศึกษารายละเอียดและความเป็นไปได้ของหลักเกณฑ์ตามที่เครือข่ายพนักงาน มหาวิทยาลัยเสนอ เพราะการบริหารจัดการต่างๆขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาไม่มีอำนาจไปบังคับ และหากได้ข้อสรุปอย่างไรจะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) พิจารณาอีกครั้ง หาก ก.พ.อ. เห็นชอบ จะต้องออกเป็นประกาศ ก.พ.อ. เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป 
 
(โลกวันนี้, 14-6-2555)
 
สร.ขสมก.บุกคมนาคม จี้ถามการปรับขึ้นค่าแรง-เงินเดือน 
 
นายวีระพงศ์ วงแหวน เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแล ขสมก. โดยมีวาระสำคัญ 4 ข้อ คือ 1. การปรับโครงสร้างเงินเดือนให้พนักงาน ซึ่งคณะกรรมการบริหาร ขสมก.ไม่ได้ดำเนินการตามมติของคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของพนักงานมาก 2. การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ให้กับพนักงาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล 3. การปรับระเบียบการดำเนินการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้มีสิทธิ์เท่าเทียมกับ กองทุนบำเหน็จบำนาญ และ 4. แผนการจัดซื้อรถเมล์ NGV 3,183 คัน ที่ควรมีการเร่งรัดการดำเนินการ เนื่องจากรถเมล์บางคันมีอายุการใช้งานถึง 18 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลการประกอบกิจการของ ขสมก. 
 
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการสหภาพฯ ขสมก.กล่าวเสริมว่า จากข้อเรียกร้องทั้งหมดข้างต้น ได้เคยเสนอให้คณะกรรมการ ขสมก.หลายครั้งแล้ว แต่คณะกรรมการไม่เคยมีการดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้ว และคิดว่าคณะกรรมการควรพิจารณาถึงข้อบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง 
 
ทั้งนี้ ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ เวลา 09.00 น. พนักงาน ขสมก.ไม่ต่ำกว่า 500 คน จะเดินทางมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อฟังคำชี้แจงจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 14-6-2555)
 
คนทำงานบ้านแฉยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญา 189 
 
16 มิ.ย. 55 - ครบ 1 ปี หลังรับรองอนุสัญญา 189 ว่าด้วยการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน แรงงานไทย เผยยังคงถูกนายจ้างเอาเปรียบ ได้ค่าจ้างต่ำ-ไม่มีวันหยุด ด้าน ก.แรงงาน เผยอยู่ระหว่างให้กฤษฎีกาตีความกฎหมาย ก่อนออกเป็นกฎกระทรวงบังคับใช้   
 
ในงานเสวนาเรื่อง “การคุ้มครองแรงงานลูกจ้างทำงานบ้าน : 1 ปีหลังอนุสัญญา” จัดโดยมูลนิธิ ฟรีดริค เอแบร์ท มีบรรดาเครือข่ายลูกจ้างผู้ทำงานบ้านจากทั่วประเทศ รวมถึงผู้แทนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ของผู้ทำงานในบ้านทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งในวงเสวนายังพบว่าลูกจ้างประเภทนี้ยังเป็นกลุ่มแรงงานที่มีความอ่อนแอ มากที่สุด และมากกว่าครึ่งของลูกจ้างทำงานบ้านทั่วโลก ยังคงต้องทำงานโดยไม่มีวันหยุด ขณะที่ร้อยละ 36 ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองว่าด้วยสิทธิในการตั้งครรภ์ 
 
นางสมจิตร ครบุรี ตัวแทนลูกจ้างทำงานบ้าน ระบุว่า แม้ประเทศไทยจะรับรองอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 189 ว่าด้วยสิทธิในการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน มาครบ 1 ปี แต่ปัจจุบันลูกจ้างทำงานบ้านในไทยยังคงถูกนายจ้างเอารัดเอาปรียบ ได้รับค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม และทำงานมากกว่า 16 ชั่วโมงต่อวัน แลกกับค่าจ้างเพียงเดือนละ 5,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และต่ำกว่าค่าจ้างที่แรงงานต่างด้าวได้รับ 
 
ด้านนายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างรอการพิจารณาร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้ม ครองแรงงานของลูกจ้างทำงานบ้าน ซึ่งล่าสุดอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญของกฎกระทรวงดังกล่าว จะทำให้ลูกจ้างทำงานบ้านมีวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดราชการ และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม. 
 
(สำนักข่าวไทย, 16-6-2555)
 
บอร์ด ขสมก.ยอมสหภาพฯ รับหมด4ข้อ 'เลื่อนขั้น-เพิ่มเงิน′ ขู่หากเบี้ยวเจอ พนง.ชุมนุมไล่ 
 
นายวีระพงศ์ วงแหวน เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน นายสมชัย ศิริวัฒนโชค อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก. และนายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการ ขสมก.ได้เรียกสหภาพฯเข้าหารือกรณีสหภาพฯยื่นหนังสือถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่กำกับดูแล ขสมก. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อให้สั่งบอร์ด ขสมก.ดำเนินการ 4 ข้อ คือ 1.ให้ปรับเลื่อนขั้นพนักงานที่มีอัตราเงินเดือนขั้นต้น ประจำปี 2.ให้ปรับเพิ่มเงินสมทบและเงินชดเชยกรณีสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อ เกษียณอายุราชการตามมติคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ 3.ให้จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ 4.ให้เร่งรัดดำเนินการจัดหารถใหม่แทนรถเก่า 
  
นายวีระพงศ์กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันบอร์ดยืนยันที่จะดำเนินการตามที่สหภาพฯเรียกร้อง แต่ที่ยังไม่ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา เพราะก่อนหน้านี้กระบวนการแต่งตั้งบอร์ดมีความล่าช้าส่งผลให้การพิจารณา เรื่องต่างๆ ล่าช้าไปด้วย เมื่อบอร์ดเข้ามาทำหน้าที่แล้วจะผลักดันทุกเรื่องให้เป็นไปตามกระบวนการต่อ ไป โดยเฉพาะการเลื่อนขั้นพนักงาน การเพิ่มเงินสมทบ และจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน สำหรับการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีใหม่นั้น บอร์ดได้ชี้แจงว่าอยู่ระหว่างขั้นตอนการตั้งอนุกรรมการเข้ามาดำเนินงาน ทั้งนี้สหภาพฯเห็นว่าควรจะเร่งการจัดซื้อรถใหม่มาให้บริการโดยเร็ว เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและยังจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของ รถเมล์ ขสมก.มากยิ่งขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม วันที่ 18 มิถุนายนนี้ สหภาพฯจะหารือร่วมกับฝ่ายบริหาร เพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่ยื่นเสนอไปทั้งหมดอีกครั้ง จากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดต่อไป 
  
"ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ สหภาพฯจะหยุดการเคลื่อนไหวกดดันบอร์ดไปก่อน เพราะบอร์ดรับปากแล้วแต่หากไม่ได้รับความจริงใจไม่ทำตามที่รับปากไว้ สหภาพฯจะออกมากดดันเพื่อขับไล่บอร์ดออกจากตำแหน่งแน่นอน" 
 
(มติชนออนไลน์, 16-6-2555)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท