Skip to main content
sharethis

ปาฐกถาโดยชัยอนันต์ สมุทวณิช ตั้งโจทย์ว่า “กบฏ ร.ศ.130 – การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475” ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างแท้จริงในสาระสำคัญหรือไม่ จะเรียกว่าการปฏิวัติได้หรือไม่

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 55 ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ย้อนทวนเรื่องประวัติศาสตร์ จาก ร.ศ.130 ถึง 24 มิถุนายน 2475” ในการสัมมนา “จาก 100 ปี ร.ศ. 130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย” โดยมีรายละเอียดดังนี้

000


ภาพโดย เสกสรร โรจนเมธากุล

ผมจะพูดถึงเหตุการณ์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 2 เรื่อง

ก่อนอื่น อยากจะกล่าวว่า การศึกษาเรื่อง ร.ศ. 130 และการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2475 นั้น เป็นเรื่องที่กระทำค่อนข้างจะยากลำบาก ด้วยเหตุผลที่ว่าเหตุการณ์ทั้ง 2 เหตุการณ์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน จริงๆ แล้ว รศ. 130 ยังไม่ได้เกิดการกบฎจริงๆ และไม่มีใครรู้ว่าผู้ที่คบคิดมีความคิดที่จะเปลี่ยนการปกครองและจะอาศัยกำลังทหารที่ไหน หรือจะมีแผนการที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างไร

สำหรับการเปลี่ยนแปลงใน พ.ศ. 2475 นั้น เราก็รู้แต่ว่ามีนักเรียนนอกกลุ่มหนึ่งเคยประชุมปรึกษาหารือกัน แต่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดอย่างฉับพลัน และสำเร็จลงอย่างง่ายดายโดยไม่มีการต่อสู้ให้เสียเลือดเสียเนื้อ

การเปลี่ยนแปลงการปกรองที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ผมเคยเรียกว่า “การปฏิวัติที่ปราศจากการเคลื่อนไหว” คือโดยปกติแล้ว ในการปฏิวัติหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องมีการเคลื่อนไหว ซึ่งหากกระทำไม่สำเร็จก็หลบหนีลงใต้ดินแล้วไปเคลื่อนไหว พยายามอีกครั้งหนึ่ง การปฏิวัติที่ไม่มีการเคลื่อนไหวทำให้เกิดปัญหามากมายหลายประการ แล้วก็ไม่มีคนเขียนบันทึกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ไว้ เพราะฉะนั้นเราทุกคนในที่นี้ต่างไม่ได้เป็นคนร่วมสมัยในการที่จะพูดถึงเรื่อง ร.ศ.130 และคณะราษฎรนั้นก็เป็นเรื่องที่ต่างคนก็ต่างมีความคิดเห็นและมุมมองในการวิเคราะห์ต่างกันไป อย่างเช่นการเขียนของนักวิชาการหลายคน โดยปกติแล้วจะมีการสรรเสริญคณะทั้งสองคณะนี้ แล้วก็ใครก็ตามที่อาจจะวิจารณ์ทั้งสองคณะนี้อาจจะได้รับการมอง หรือไปวิเคราะห์ว่าเป็นพวกนิยมเจ้า

ซึ่งจริงๆ แล้ว คุณูปการทั้งสองคณะก็มี แต่เพื่อความยุติธรรมและเพื่อการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์เราควรจะมองให้ลึกซึ้งว่าการเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 นี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างแท้จริงในสาระสำคัญหรือเปล่า คือพูดง่ายๆ ว่า จะเรียกว่าการปฏิวัติได้หรือไม่

คำว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง” เป็นคำกลางๆ แต่มีอีกคำหนึ่งก็คือการรัฐประหาร ซึ่งดูเหมือนอาจจะไม่ดี แต่เราอาจจะนำมาใช้ได้ว่า คือเป็นเรื่องการใช้กำลังโค่นล้มอำนาจทางการเมือง ในวันนี้ผมก็จะพยายามที่จะพูดถึงสองเหตุการณ์นี้ อาจจะมีการเปรียบเทียบเล็กน้อย

เรารู้ว่ากระแสความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่มีมาในเมืองไทย จะว่าไปแล้วก็ไม่ได้ก่อรูปในแง่ของความคิดประชาธิปไตย แบบที่เรารู้จักกัน แต่ความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นจากเรื่องของความต้องการที่จะให้มีกติกาหรือมีรัฐธรรมนูญซึ่งมาจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์มากกว่า เพราะฉะนั้นความคิดตั้งแต่สมัยเจ้านายและข้าราชการกราบบังคมทูลเพื่อเปลี่ยนแปลงการจัดการราชการแผ่นดิน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2427 หรือความคิดของเทียนวรรณที่อยู่ในหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่ความคิด หรือบทความในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ดี ล้วนแต่เป็นความคิดที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ หรือความต้องการที่จะให้มีตัวแทนของราษฎรหรือสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น ความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นจากความไม่พึงพอใจในระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเริ่มมีข้อวิจารณ์มากขึ้นในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการวิจารณ์ระบอบการปกครองซึ่งยังอยู่ในคนกลุ่มน้อย แต่ในหน้าหนังสือพิมพ์มีบทความวิจารณ์ระบอบค่อนข้างแรง แล้วก็เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นเหล่านั้นได้ด้วย

ท่าทีของรัฐบาลในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ได้ใช้วิธีปิดกั้นหรือเซ็นเซอร์ความคิดเห็น แต่กลับไปใช้วิธีการที่จะจัดทำหนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเสียงให้รัฐบาลมากกว่า โดยพระคลังข้างที่ได้ทำการซื้อหนังสือพิมพ์ และเอามาทำ มีคนเข้ามาทำงานมาเขียนบทความที่จะตอบโต้ หรือไม่ก็อธิบายเหตุผลต่างๆ ของคณะรัฐบาลสมัยนั้นในการดำเนินเรื่องต่างๆ

ความไม่พอใจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เกิดจากความไม่สามารถของระบอบที่จะจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมเจ้านายหรือขุนนางบางคน ทำให้คนเกิดความไม่พอใจเห็นว่าบุคคลเหล่านี้เป็นอภิสิทธิ์ชน นอกจากนั้นยังมีความคิดเห็น ความคิดทางตะวันตกที่เริ่มเข้ามาสู่ผู้มีการศึกษา โดยเฉพาะผู้จบการศึกษาจากต่างประเทศ แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดก็คือการเติบโตของสังคมและระบบราชการ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการปฏิรูประบบราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ข้าราชการจำนวนหนึ่งเห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล้าหลัง และไม่สามารถโตตอบท้าทายกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

นายทหารที่สำเร็จจากต่างประเทศก็มีความเห็นว่า การตัดสินใจสำคัญต่างๆ ตกอยู่ในหมู่ผู้อาวุโสไม่ได้คำนึงถึงความรู้ความสามารถ เหมือนบันทึกของพระยาพหลพลพยุหะเสนา เคยพูดถึงการเสนอความเห็นแล้วไม่ได้รับการตอบสนอง

ในที่สุด ร.ศ.130 มีนายทหารระดับล่างส่วนหนึ่งมีแผนที่จะก่อกบฏขึ้น สุดท้ายก็ไม่รู้อะไรมากว่าบุคคลเหล่านี้จะก่อกบฏด้วยวิธีอะไร เพราะว่าต่างก็เป็นนายทหารชั้นผู้น้อย บ้างก็ว่าคณะนี้ต้องการสถาปนาสาธารณรัฐ แล้วไปเชิญเจ้านายพระองค์หนึ่งขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี แต่แผนการก็ถูกล่วงรู้เสียก่อน และมีการจับกุม แต่ก็ไม่ได้มีการลงโทษขนานหนัก เพียงแต่มีการจำคุกเท่านั้น

เมื่อมาดูปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผมคิดว่าอาจจะมีสัก 5 ปัจจัยด้วยกัน
ปัจจัยแรก คือการขยายตัวของระบบราชการที่เรากล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพประจำการ ทำให้เกิดการอุดตันของตำแหน่งที่มีอย่างจำกัด ประกอบกับการที่มีข้อได้เปรียบของเชื้อพระวงศ์ ทำให้คนที่ได้รับการศึกษา และเป็นข้าราชการเกิดความรู้สึกว่าโอกาสถูกปิดกั้น และมีความรู้สึกว่ามีความไม่เป็นธรรม

ปัจจัยที่สอง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา สมัยก่อน พระมหากษัตริย์ถือว่าเป็นสมมติเทพ แล้วะยะห่างของพระมหากษัตริย์กับขุนนางและประชาชน มีค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นทั้งขุนนางและประชาชนก็มีความรู้สึกเกรงกลัว และมีความรู้สึกว่ามีความแตกต่างกัน เกิดความเกรงกลัวพระราชอำนาจ แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎ เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงใกล้ชิดขุนนางมากเป็นพิเศษ ถึงกับแม้เล่นละครก็อาจจะไม่ใช่ตัวเอก เพราะฉะนั้นความใกล้ชิดที่พระมหากษัตริย์มี ทำให้ขุนนาง คนแวดล้อมคลายความเกรงกลัวลง ความเป็นสมมติเทพก็ลดน้อยลง ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า “ความใกล้ชิดทำให้เกิดความดูแคลน” เพราะฉะนั้นยิ่งขุนนางได้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์เท่าไหร่ ขุนนางก็เห็นว่าพระองค์ก็เป็นคนธรรมดาเหมือนพวกเขาเหมือนกัน

ประการที่สามก็คือ การเปิดเสรีทางความคิด ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปิดเสรีทางความคิดอย่างกว้างขวาง ถึงกับมีการเขียนบทความวิจารณ์พระองค์ และพระองค์ก็ทรงโต้ตอบด้วย เพราะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา หนังสือสามารถวิจารณ์การปกครองได้อย่างเสรี มีการวิจารณ์การคอรัปชั่นมากมาย และชี้ให้เห็นภัยของระบอบการปกครองแบบเดิม

ประการที่สี่ ความไม่พอใจของทหารบางพวก ที่มีต่อการจัดตั้งกองเสือป่า ที่จริงแล้วการจัดตั้งกองเสือป่าคือการทำให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการปกป้องประเทศนั่นเอง เพราะว่าทหารมีจำนวนจำกัด แต่ทหารเองก็มีความไม่พอใจเสือป่า เพราะว่าเสือป่ามีลักษณะเหมือนทหาร มีการซ้อมรบ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ให้ความสนพระทัยเสือป่ามาก นอกจากนั้นมีกรณีที่ทหารเกิดทะเลาะวิวาทกับทหารมหาดเล็กและทำให้ถูกลงโทษด้วยการโบย ซึ่งทหารรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่เสียเกียรติยศหรือเสียศักดิ์ศรี

ประการสุดท้าย คือ ความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หรือประชาธิปไตย ที่ต้องการจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ เริ่มแพร่หลายเข้ามาในหมู่คนที่มีการศึกษา นำมาสู่การรวมกลุ่มคนที่มีแนวคิดล้มล้างระบอบในที่สุด ในส่วนของผู้ปกครองเองแม้จะรู้ว่ามีความคิดทางตะวันตกเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพราะไม่คิดว่าเป็นปัญหาสำคัญ หรือมีลำดับความสำคัญเท่าเรื่องอื่นๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาการปรับปรุงระบบบริหารเป็นต้น นอกจากนั้นก็ไม่คาดหวังว่าความคิดเหล่านั้นจะส่งผลสะเทือนไปยังประชาชนส่วนใหญ่จนก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในทางสังคมขึ้นได้

จะว่าไปแล้วมีหลักฐานว่าพระมหากษัตริย์และอภิรัฐมนตรีหรือขุนนางชั้นสูง ได้เคยถกเถียงกันเรื่องเราควรมีรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ก็มีความลังเลและความเห็นส่วนมากค่อนไปในทางว่าประชาชนยังไม่พร้อม แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือว่าเห็นว่าถ้ามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยให้มีรัฐธรรมนูญ ให้มีสภาแล้ว กลุ่มที่จะมีอิทธิพลมีอำนาจสุดเพราะมีการจัดตั้งดี และมีเงินมาก ก็คือกลุ่มคนจีน ซึ่งในขณะนั้นคนจีนยังเป็นกลุ่มชนกลุ่มน้อยที่ยังไม่กลมกลืนเข้ากับสังคมไทยอย่างเต็มที่ และความภักดีก็ยังเป็นความภักดีที่มีต่อแผ่นดินแม่

อาจจะกล่าวด้วยว่าความคิดเรื่องการเมือง คนสนใจหันมาสนใจการเมืองมากขึ้นเพราะข่าวการเปลี่ยนแปลงในเมืองจีน ของหมอซุน หรือซุนยัดเซน และลัทธิไตรราษฎร์ ซึ่งเป็นที่รู้ในหมู่คนจีน และหนังสือพิมพ์ จีนก็ลงข่าวประจำ

ด้วยความลังเลและไม่เชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยจะพร้อมสำหรับสยาม แม้มีผู้เสนอให้เปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตาม ก็ไปปรับปรุงการบริหารแทน โดยเฉพาะระบบการบริหาราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจนการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ให้ทันสมัย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดคือการพัฒนาระบบกฎหมายและการบริหารมากกว่าที่จะเป็นการพัฒนาทางการเมือง

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2475 ขึ้น รัฐไทยมีลักษณะเป็นนิติรัฐเต็มรูปทั้งทางด้านรากฐาน กฎหมาย และทางด้านโครงสร้างการปกครอง กล่าวคืออำนาจรัฐได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็ง พอเกิดการเปลี่ยนแปลง พ.ศ. 2475 ขึ้น อำนาจการเมืองจึงเป็นอำนาจที่อ่อนแอและตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ คณะราษฎรเองก็เห็นภัยของการมีพรรคการเมืองเช่นกัน ฉะนั้นจะพบว่าถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลง มีรัฐธรรมนูญก็ดี มีสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม แต่ก็ยังไม่เปิดโอกาสให้มีพรรคการเมือง จนกระทั่งอีก 20 ปีต่อมา คือ พ.ศ. 2495 จึงเปิดโอกาสให้มีพรรคการเมืองแล้วควบคุมพรรคการเมืองอีก โดยการมี พ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งพัฒนามาจาก พ.ร.บ. อั้งยี่ คือมีการควบคุมพรรคการเมือง แทนที่จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ตามเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ตามสิทธิเสรีภาพทางการเมือง

ถึงแม้คณะราษฎรจะได้อำนาจการเมืองมา แต่ต้องใช้เวลาหลายปีในการจัดอำนาจโครงสร้างรัฐ ที่สำคัญคือการทบทวนการจัดอำนาจโครงสร้างรัฐเสียใหม่ โดยให้อยู่ภายใต้อำนาจทางการเมือง มาตรการสำคัญคือใช้ผู้มีตำแหน่งสำคัญทางราชการเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในขณะเดียวกันยังไม่มีพรรคการเมือง ฉะนั้นแหล่งเดียวที่จะป้อนบุคลากรทางการเมืองก็คือระบบราชการ โดยเฉพาะกองทัพ กฎหมายที่สำคัญที่คณะราษฎรออกมาแล้วทำการแก้ไขคือกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งในขณะนั้นมีความสำคัญ เพราะว่าเป็นการเปิดโอกาสให้อำนาจทางการเมืองสามารถที่จะดำเนินไปได้ มีการออกระเบียบเกี่ยวกับการมอบอำนาจจากรัฐมนตรีไปสู่ปลัดกระทรวง ไปสู่อธิบดีเป็นต้น

ถ้าเราดูคณะราษฎรกับ คณะ ร.ศ.130 จะเห็นว่าจำนวนที่คนเข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎรมีฐานทาง สังคม เศรษฐกิจที่กว้างกว่าคือมีทั้งทหาร พลเรือน และพ่อค้า ทหารเองก็มาจากทั้งทหารบกและทหารเรือ และมีทหารหลายรุ่นคือรุ่นหนุ่ม และรุ่นอาวุโสรวมอยู่ในคณะราษฎร ในแง่นี้ คณะราษฎรก็เป็นแนวร่วมของพันธมิตรผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบการปกครองแบบเก่ามากกว่าแนวร่วมของนักประชาธิปไตย อันนี้คือมีความต่าง คือทุกคนที่มารวมกันไม่พอใจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ความเชื่อมั่น และการยึดถือระบอบประชาธิปไตยยังเป็นที่กังขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นายทหารด้วยกัน ด้วยเหตุนี้เองทำให้ผู้ที่ฝักใฝ่ ประชาธิปไตย อย่างนายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย แล้วเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น การช่วยเหลือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเมื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ก็เป็นการช่วยเหลือในลักษณะของผู้รู้จักสนิทสนมกันมากกว่าเป็นเพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน เพราะฉะนั้นในแง่นี้แล้ว แนวร่วมพันธมิตรของผู้ไม่เห็นด้วยกับระบอบเก่า จะว่าไปแล้วก็เป็นกลุ่มปฏิกิริยา โต้ตอบระบอบเก่า คือเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายไม่เห็นด้วย มากกว่าเป็นอุดมการณ์ฝ่ายรุก Pro-active หรือมีความเป็นปึกแผ่น

ด้วยเหตุนี้เองในเวลาไม่นานจาก พ.ศ. 2475 เราก็จะเห็นความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมาย และตามจดหมายของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีไปถึงปรีดี หลาย 10 ปี หลังหมดอำนาจ และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมลี้ภัยไปอยู่เมืองจีนแล้ว จดหมาย (ของจอมพล ป.) ก็ยังพูดว่าในสมัยนั้นท่านมีความเข้าใจผิดเพราว่ายังอ่อนไวและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความไม่ไว้วางใจกันในหมู่คณะราษฎรมันเกิดขึ้นเพราะว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จเร็วเกินไป
โดยปกติแล้ว ในขบวนการปฏิวัติของหลายประเทศหลายสังคมผู้ที่ร่วมในคณะปฏิวัติมีการเคลื่อนไหว และมีระยะเวลาการต่อสู้ร่วมกันอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นของอินโดจีน ในลาว ในพม่า หรือจีน เป็นตัวอย่างสำคัญที่มีการต่อสู้ยืดเยื้อยาวนาน เป็นเหตุให้ผู้ที่เข้าร่วมขบวนการนั้นสามารถที่จะยอมรับภาวะผู้นำ และภาวะผู้นำของคนที่ร่วมสู้กันจะเกิดขึ้น เราจะเห็นได้ว่าเมื่อขบวนการเหล่านี้ประสบชัยชนะแล้วได้มีการก่อตั้งพรรคการเมือง ก็เกิดความต่อเนื่อง

แต่สำหรับคณะราษฎรนั้น อย่างที่พูดแล้ว เป็นพันธมิตร เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ แล้วต่างไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันมาก่อน เป็นเหตุให้เกิดความหวาดระแวงได้โดยง่าย แล้วในที่สุดคณะราษฎรก็แตกแยกกันในที่สุด เพราะฉะนั้นทั้งสองคณะก็เป็นการก่อหวอดทางการเมือง ที่ขาดการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง มีขอบเขตจำกัดอยู่ในหมู่คนกลุ่มน้อย กลุ่มจึงเปราะบาง

ถ้าเรามาดูว่า 2475 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า ที่เราพูดว่าประชาธิปไตยมีอายุ 80 ปีจริงหรือเปล่า มีอะไรบ้างที่บ่งบอกถึงความเป็นประชาธิปไตยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลผู้มีอำนาจ และผู้มีอำนาจก็ไม่ใช่ประชาชน ประชาชนถูกอ้างชื่อเท่านั้น ผู้ที่เข้ามามีบทบาทมากก็คือข้าราชการโดยเฉพาะกองทัพ สิ่งที่เกิดขึ้นค่อนข้างมากคือการปรับปรุงกฎหมาย เพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนยังไม่เกิดขึ้น อาจจะมีการเลือกตั้ง แต่ที่เรารู้ก็มีการเลือกตั้งครั้งเดียว และกระบวนการทางการเมืองก็ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้ามามีบทบาททางการเมือง

สรุปว่าประชาชนก็เหมือนเดิม ในแง่ประชาชนแล้วอาจจะได้รับสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่แล้วก็จะละเว้นเสียไม่ได้ที่จะกล่าวถึงประโยชน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่เห็นได้ชัดและมีหลักฐานคือรายจ่ายของรัฐ ที่แต่เดิมเคยมีน้อยมากในทางเศรษฐกิจ ในทางเกษตร โดยเฉพาะในทางศึกษานั้นเริ่มขยายตัวมากขึ้น มากว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งสมัยนั้นรายจ่ายกลาโหม มหาดไทย และพระมหากษัตริย์ รวมแล้ว 80% ของรายจ่ายทั้งหมด ในขณะที่รายจ่ายด้านการเกษตร การศึกษามีไม่ถึง 1% เพราะฉะนั้นนี่เป็นคุณูปการของการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เราเห็น พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้มีอำนาจใหม่เป็นผู้ให้ ประชาชนก็เป็นผู้รับและสิ่งเหล่านี้มีต่อมาเป็นเวลานาน

ในแง่ของความคิดและอุดมการณ์ของบุคคลที่อยู่ในคณะราษฎร เราก็ไม่เห็นความพยายามที่จะผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองมากเท่าไหร่ ในพรรคการเมืองเองก็เราจะเห็นได้ว่า ผู้นำคณะราษฎรส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้นำพรรคการเมืองด้วย และอยู่นอกพรรคการเมือง พรรคการเมืองอาจจะสนับสนุนผู้นำบางคน เช่น สนับสนุนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม อย่างนี้เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แล้วพรรคการเมืองกับผู้มีอำนาจในรัฐบาลก็เป็นคนๆ ละกลุ่ม ไม่มีความเชื่อมโยง หรือมีความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับผู้มีอำนาจทางการเมือง แต่เรื่องนี้เป็นไปกระทั่งหลังปี พ.ศ. 2500 จะเห็นว่าพรรคสหประชาไทยก็เป็นพรรคที่รวบรวมเอาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาสนับสนุนผู้นำทหารและข้าราชการ

บทสรุปก็คือว่า 2475 เป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชการได้มีความก้าวหน้ามากขึ้น เปิดโอกาสให้ข้าราชการได้เข้ามามีอำนาจทางการเมือง เราจึงไม่อาจพูดได้ว่าประชาธิปไตยเขาเรานี้ 80 ปี ถึงแม้ว่าคณะราษฎรจะมีคุณูปการอย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรจะมองว่าคณะราษฎรไม่มีข้อบกพร่องหรือข้อเสียเลย เพียงเพราะว่าเป็นกลุ่มที่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ไม่ใช่เชิดชูโดยอัตโนมัติว่าเป็นผู้นำประชาธิปไตยมาให้กับเมืองไทย แต่เป็นผู้เริ่มต้นในการที่จะป้องกันไม่ให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนมาอีก การกระทำของคณะราษฎรภายหลัง พ.ศ. 2475 ก็ไม่ใช่การกระทำที่มุ่งสู่ประชาธิปไตย แต่การดำเนินงานทางการเมืองส่วนใหญ่มุ่งที่จะป้องกันไม่ให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับคืนมาอีก

นี่ก็เป็นทัศนะหนึ่งเท่านั้น และผมคิดว่าคงมีทัศนะอื่นๆ อีกมากมาย แต่หลัง พ.ศ. 2475 งานเขียนทั้งหลายและงานต่างๆ ที่ออกมา ล้วนแล้วแต่เป็นการเชิดชูคณะราษฎรเป็นส่วนใหญ่ แม้กบฏบวรเดชจะมีข้อเรียกร้องที่เราพบว่า สะท้อนให้เห็นปัญหาก็ตาม แต่กบฏบวรเดชก็ถูกมองว่าเป็นเรื่องของกลุ่มนิยมเจ้าทั้งๆ ที่ มองในอีกมิติหนึ่งก็เป็นปฏิกิริยาของทหารหัวเมืองที่มีต่อทหารในเมืองซึ่งเป็นผู้ได้อำนาจ และทหารหัวเมืองก็ถูกทอดทิ้ง ก็เป็นปัญหาเดียวกับที่เกิดสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ผมก็ฝากข้อคิดเหล่านี้ด้วย หวังว่าจะมีการถกเถียงกัน วิเคราะห์วิจารณ์กันต่อไปได้ด้วยมุมมองต่างๆ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นการตีความ เพราะหลักฐานและบันทึกนั้นมีน้อยมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net