Skip to main content
sharethis
ผ่าทางตัน กม.คุ้มครองแรงงานรับงานไปทำที่บ้าน ก.แรงงานรับลูกเร่งออกกฎกระทรวง 
 
รายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 18 มิถุนายน 2555 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)และคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมจัด ประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “กฎหมายลำดับรองกับการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน” ที่โรงแรมทีเค พาเลส แจ้งวัฒนะ 
  
นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า มีข้อสังเกต 2 ประเด็นคือ 1.พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553ออกมาแล้วแต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ และจะเห็นว่าในพ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ระบุจะต้องตั้งคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ภายใน120 วันนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่คณะกรรมการเพื่อดำเนินการไปพลางก่อนแต่ขณะ นี้ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งหรือเลือกเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการฯประเด็นนี้ถือ เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องขับเคลื่อน 2.ยังมีกฎกระทรวงที่ต้องออกมารองรับขณะนี้ยังมีความล่าช้า อย่างไรก็ตามในแง่กฎกระทรวงหากเป็นไปได้ควรให้จัดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาค แรงงานด้วย โดยสามารถจัดตั้งคณะกรรมการชุดเล็กคณะหนึ่งเพื่อให้ภาคแรงงานมีส่วนร่วมเสนอ ความเห็น 
  
นายวินัย ลู่วิโรจน์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน  กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัตินี้ จะต้องมีกฎหมายลำดับรองทั้งสิ้น 14 ฉบับ ซึ่งออกไปแล้วในส่วนที่ไม่มีผลกระทบต่อบุคคลภายนอก 6 ฉบับ ส่วนที่เหลืออีก 8 ฉบับที่มีผลกระทบต่อบุคคลภายนอกยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดยเหตุที่ทำให้เกิดความล่าช้ามาจากต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีการศึกษามาก่อนและมีรายละเอียดมากที่ ต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการอ้างอิง หากเร่งรีบเกรงว่าจะเป็นช่องทางให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง เช่น กฎกระทรวงเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานของหญิงมีครรภ์และเด็กอายุต่ำ กว่า15 ปีตามมาตรา 21, กฎกระทรวงเกี่ยวกับค่าพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพและค่าทำศพ ตามมาตรา 25, การกำหนดอัตราค่าตอบแทน เป็นต้น 
  
ส่วนเรื่องการดำเนินการขณะที่ยังไม่มีคณะกรรมการตามมาตรา 50 ซึ่งระบุให้ บุคคลตามที่กำหนด ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการแทนไปก่อนได้ ซึ่งในการสรรหาขณะนี้ยังติดปัญหาที่วิธีการสรรหากรรมการที่เป็นตัวแทนฝ่าย ลูกจ้าง ซึ่งตามหลักการแล้วจะต้องใช้วิธีลงคะแนนแบบหนึ่งคนหนึ่งเสียง(one man one vote) แต่ใช้งบประมาณมาก ดังนั้น อาจต้องใช้ระบบไตรภาคี คือ ให้ตัวแทนเสนอรายชื่อ แต่การเลือกแบบนี้อาจจะได้ตัวแทนไม่ตรงตามที่ต้องการ  โดยอาจจะขอความร่วมมือกับหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมในข้อมูลส่วนนี้ หากได้รับความร่วมมือจะทำให้ได้ข้อมูลทั้งกลุ่มนายจ้างและกลุ่มผู้รับงานไป ทำที่บ้าน เมื่อประกอบกับฐานข้อมูลเก่าของกรมจัดหางานและกลุ่มแรงงาน 5 ภาค แล้วน่าจะคลอบคลุมเกือบทั้งหมด โดยในวันที่ 21 มิถุนายนนี้จะมีการประชุมเรื่องดังกล่าวคาดว่าน่าจะมีความคืบหน้ามากยิ่ง ขึ้น 
  
“เห็นด้วยที่จะให้ออกกฎกระทรวงโดยเร็ว คือเสนอหลักการไปก่อนแล้วปรับปรุงเพิ่มเติมรายละเอียดในภายหลัง และเน้นย้ำว่าเรื่องสำคัญที่ควรจะตราออกมาก่อน คือ เรื่องความปลอดภัย ซึ่งจะรับหน้าที่ผลักดันให้ออกมาเป็นลำดับแรก และยังเปิดโอกาสให้กลุ่มต่างๆมีแนวทางที่น่าสนใจ สามารถร่างและนำมาเสนอประกอบการพิจารณาออกกฎกระทรวงด้วย” 
  
นายอภิมุข สุขประเสริฐ กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  กล่าวว่า กฎกระทรวงยังมาไม่ถึงขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งหากมาถึง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วคาดว่าจะพิจารณาใช้เวลาไม่นานประมาณ    1 -2เดือน เว้นแต่มีประเด็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัย โดยหลักของกฎหมายฉบับนี้ต้องการคุ้มครองแรงงานนอกระบบที่รับงานไปทำที่บ้าน ให้ได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกับลูกจ้างในระบบ ส่วนประเด็นการออกกฎกระทรวงนั้น เห็นว่าต้องเร่งผลักดัน ส่วนระดับของความคุ้มครองนั้นสามารถปรับปรุงพัฒนา แก้ไขได้ ขณะที่เรื่องการสรรหาคณะกรรมการตามมาตรา 50 วรรคแรก เป็นมาตรการเร่งรัด ดังนั้นต้องเริ่มที่ต้องให้เกิดคณะกรรมการชุดแรกตามมาตรา 25ก่อนแล้วจึงจะเข้าสู่กระบวนการสรรหาโดยคาดว่าไม่น่าจะใช้เวลานาน 
  
นายสุภัท  กุขุน ที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร   กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มุ่งดูแล 3 ส่วนคือค่าตอบแทน สวัสดิการ และคุณภาพชีวิต  ขณะที่กรอบงานในมาตรา 3 ระบุงานที่รับไปทำที่บ้านหมายถึง งานที่ผู้จ้างงานในกิจการอุตสาหกรรมมอบให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านเพื่อนำไป ผลิตหรือประกอบนอกสถานประกอบกิจการของผู้จ้างงานหรืองานอื่นที่กำหนดในกฎ กระทรวง คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะใช้เวลาอีกนานพอสมควร 
  
เนื่องจากต้องพิจารณาในรายมาตราและต้องมีกฎกระทรวงและระเบียบมารองรับ ส่วนตัวเห็นว่าควรจะเขียนควบคู่กันเพื่อให้กฎหมายดังกล่าวออกบังคับใช้ได้ เร็ว อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในมาตรา24 ระบุถึงความรับผิดชอบในค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพแลค่าทำศพในกรณีที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านประสบอันตราย เจ็บป่วยหรือทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์และสิ่งอื่นที่ใช้ในการทำงานที่ผู้ว่าจ้างจัดหาหรือส่งมอบให้ ประเด็นคือจะต้องจ่ายตามหลักเกณฑ์ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงข้อน่ากังวลคือ บางกรณีอย่างกรณีพลุระเบิด นายจ้างจะนำค่าจ้างส่วนใดมาจ่าย ประเด็นนี้ยังไม่ได้คิดเผื่อไว้และหากลูกจ้างทุพพลภาพจะดูแลจะช่วยกันอย่าง ไร เรื่องนี้อาจจะขยายผลต่อไปถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกองทุนดูแลและคุ้มครอง หรือไม่ 
  
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ขอให้ส่งร่างกฎกระทรวงที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พิจารณาเพื่อจะเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะของคปก. ให้กฎหมายดังกล่าวนำไปสู่ขับเคลื่อนต่อไป 
  
นางวิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม กรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคมต้องพิจารณา กล่าวว่า มี 3 ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ 1.ลักษณะการจ้างเป็นแบบใดเป็นลักษณะการจ้างทำของหรือเป็นสัญญาจ้างแรงงาน 2.ปัญหาที่มีกฎหมายแม่แล้วแต่กฎหมายลูกยังไม่ออกมาจึงไม่สามารถนำมาบังคับ ใช้ได้ หากกลไกไม่สามารถทำได้อาจจะต้องหาวิธีการอื่น  เพราะแม้จะตั้งกรรมการไม่ได้แต่การดำเนินการจะมีช่องว่างไม่ได้ หากมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ก็จำเป็นต้องตีความ ดังนั้นแม้ว่าจะไม่มีลายลักษณ์อักษรเรื่องค่าจ้าง หรือความปลอดภัย หากไม่มีก็ต้องเทียบเคียงได้ โดยสามารถนำกฎหมายแรงงานใช้เทียบเคียงได้ 3.เรื่องค่าตอบแทน ต้องไม่น้อยกว่าค่าจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งจะมี 2 ประเภทคือ เป็นไปตามมาตรฐานฝีมือ หรืออัตราค่าจ้างขั้นต่ำท้องที่ เป็น 3 ประเด็นสำคัญที่ต้องนำไปพิจารณาด้วย 
  
นางพูนทรัพย์  สวนเมือง ตุลาพันธุ์  ผู้แทนเครือข่ายผู้รับงานไปทำที่บ้าน  กล่าวว่า ผู้รับงานไปทำที่บ้านมีปัญหาอย่างมากโดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงอัตราค่าจ้าง และยังไม่แน่ชัดว่าจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่แม้ว่าจะมีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ รับงานไปทำที่บ้าน แต่ค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นทุกปีในช่วงระยะ 10-15 ปีที่ผ่านมาพบว่า ค่าแรงไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงอยากเรียกร้องให้แต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน โดยเร็วเนื่องจากบทบาทของคณะกรรมการฯมีหน้าที่ในการกำหนดอัตราค่าตอบแทนและ กฎหมายลูกต่างๆ เพราะจะเห็นว่าแรงงานประมาณ70-80% เป็นแรงงานหญิงซึ่งยังไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่  จึงอยากจะร้องขอให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้อย่างเร่งด่วนหากเป็นไปได้ไม่ ควรเกิน 1ปี 
  
นางสาวนุชนภา บำรุงนา กรรมการเครือข่ายแรงงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่า  สถานการณ์ขณะนี้แรงงานส่วนใหญ่เสียโอกาสด้านค่าแรง และประสบปัญหาความปลอดภัยในการทำงาน โดยแรงงานผู้รับงานไปทำที่บ้านหลายพื้นที่ประสบปัญหาสารพิษตะกั่วตกค้างใน ร่างกาย ขณะเดียวกันมีความเสี่ยงสูงที่ผู้สูงอายุและเด็กในบ้านจะได้รับสารพิษดัง กล่าวด้วยอันเนื่องมาจากการรับงานมาทำที่บ้าน    
 
(มติชน, 18-6-2555)
 
เผยผลสำรวจสายงานที่ผู้หญิงสนใจอยากทำมากที่สุด 5 อันดับแรก 
 
แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เปิดเผยผลสำรวจ 10 อันดับความต้องการของตลาดแรงงานสำหรับผู้หญิง และ สายงานที่ผู้หญิงสนใจทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ งานธุรการ อันดับ 2 งานด้านการตลาดและงานประชาสัมพันธ์ อันดับ 3 คืองานด้านโฆษณา อันดับ 4 งานด้านการเงินการธนาคาร อันดับ 5 งานด้านการโรงแรมและท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังคัดสรรงานดีๆสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะกว่า 20,000 อัตรากับบริษัทชั้นนำทั่วประเทศ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Age of Lady Has Begun” 
 
สุธิดา กาญจนกันติกุลผู้จัดการฝ่ายการตลาดแมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า จากผลสำรวจของทีมบริหารงานบุคคลของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป พบว่าจากปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อ หลายครอบครัวส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยออกมาหางานประจำนอกบ้านทำมากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว ฉะนั้น แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ในฐานะที่เป็นผู้นำขององค์กรที่นำเสนอโซลูชั่นการจัดหาแรงงานเชิงนวัตกรรม จึงได้คัดสรรงานดีๆสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะกว่า 20,000 อัตรา กับบริษัทชั้นนำ ทั่วประเทศจากหลากหลายสาขาอาชีพ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Age of Lady Has Begun” จะเป็นการสร้างโอกาสดีๆให้กับผู้หญิงทั้งหลายได้มีงานทำมากขึ้น เพราะเราเข้าใจการทำงานของผู้หญิง และเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้หญิงเช่นกัน แต่สำหรับบางคนอาจมีข้อจำกัดหรือขาดโอกาสในการหางานทำ ขณะเดียวกัน แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ได้ทำการสำรวจสายงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานสำหรับผู้หญิง พบว่า 10 อันดับแรก ได้แก่ สายงานบริการลูกค้าสัมพันธ์มีจำนวนกว่า 25,042 อัตรา สายงานธุรการจำนวน 1,278 อัตรา สายงานการผลิตจำนวน 805 อัตรา สายงานขาย จำนวน 121 อัตรา สายงานการตลาด และ ประชาสัมพันธ์จำนวน 95 อัตรา สายงานคอลเซ็นเตอร์ จำนวน 86 อัตรา สายงานบัญชี จำนวน 55 อัตรา สายงานสุขภาพโภชนาการ จำนวน 51 อัตรา สายงานบริการเฉพาะทาง จำนวน 47 อัตรา และสายงานการธนาคารและการเงิน จำนวน 39 อัตรา และในส่วนสายงานอื่นๆ เรายังเปิดรับไม่ต่ำกว่า 200 อัตรา และจากผลสำรวจสายงานที่ผู้หญิงสนใจอยากทำมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ งานธุรการ อันดับ 2 งานด้านการตลาด และงานประชาสัมพันธ์ อันดับ 3 คือ งานด้านโฆษณา อันดับ 4 งานด้านการเงินการธนาคาร อันดับสุดท้าย งาน ด้านการโรงแรม และท่องเที่ยว 
 
(Manpower, 19-6-2555)
 
สธ.ยกระดับ รพ.ในระยอง รองรับอุตสาหกรรม 
 
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2555 นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ลงพื้นที่ จ.ระยอง เพื่อตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลระยอง และติดตามการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ โอกาสนี้ยังได้เข้าเยี่ยมอาการของ นายบุญพึ่ง จิตต์ปลื้ม อายุ 48 ปี เป็นผู้ป่วยรายสุดท้ายใน 394 ราย ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์บริษัท บีเอสที อีลาสโตเมอร์ (มาบตาพุด) สารเคมีระเบิด เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมพบว่าผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ ยังเหลือปัญหากระดูกที่ส้นเท้าแตก ต้องฟื้นฟูต่อเนื่องและมีปัญหาเยื่อแก้วหูทั้ง 2 ข้างทะลุ ไม่ได้ยิน ซึ่งจะได้รับเครื่องช่วยฟังในเร็วๆ นี้ 
 
นายวิทยา เปิดเผยว่า กรอบงานสาธารณสุขใน จ.ระยอง นอกจากจะดูแลปัญหาการเจ็บป่วยทั่วไปเหมือนพื้นที่อื่นแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการลงทุนภาคอุตสาหกรรม มีโรงงานประมาณ 2,235 แห่ง มีประชากรแฝงเข้าไปทำงานจำนวนมาก ทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าว รวมทั้งประชาชนพื้นที่ รวมทั้งจังหวัดมีมากกว่า 1 ล้านคน จะต้องให้การดูแลทั้งหมด รวมทั้งยังมีความเสี่ยงจากผลกระทบสุขภาพจากสารเคมีในระยะยาว จึงมอบนโยบายพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาล 4 แห่ง ได้แก่ รพ.ระยอง รพ.แกลง รพ.มาบตาพุด และ รพ.ปลวกแดง ให้สามารถพร้อมรับทั้งภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน โดยจะพิจารณาอย่างรอบคอบตามความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนอย่างเร็วที่สุด 
 
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ด้านการรักษาพยาบาลได้ยกระดับโรงพยาบาลมาบตาพุดเป็นโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง เพื่อดูแลผู้ป่วยที่เกิดจากการประกอบอาชีพ มีแพทย์เฉพาะทาง เพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่อีก 200 กว่าอัตรา และเพิ่มแพทย์อาชีวเวชศาสตร์เป็น 4 คน เพื่อเป็นศูนย์รองรับการส่งต่อผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมี และโรคจากการประกอบอาชีพอื่นๆ ซึ่งมีความจำเป็นมาก ขณะเดียวกัน ในด้านการเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพ และมลพิษทางอากาศ น้ำ ดิน ได้มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพ ประชาชนในชุมชน ทั้งในเขตและนอกเขตควบคุมมลพิษอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบผลกระทบที่อาจมีต่อประชาชน ในปี 2556-2560 
 
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนจัดบริการตรวจเฝ้าระวังปีละ 50 กว่าล้านบาท ตรวจสุขภาพประชากรปีละ 15,000 คน ในระยะยาวจะหารือการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันผล กระทบ มีการตรวจเชิงลึก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะมีมาตรการให้ลูกหลานแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนซื้อ บัตรประกันสุขภาพเพิ่มเติมด้วย 
 
รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในส่วนของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ตนยังได้มอบนโยบายให้ร่วมเฝ้าระวังตรวจสอบความผิดปกติของมลภาวะมลพิษใน พื้นที่ โดยให้จัดอบรม อสม. ด้านพิษภัยของสารเคมี เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันแก่ตนเองและชุมชน สามารถรองรับเมื่อเกิดวิกฤติฉุกเฉิน ช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยรวมด้วย ทั้งนี้ ยังมอบนโยบายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในภาคตะวันออก ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าโอทอป ยกระดับให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพีขั้นต้น รองรับครัวไทยสู่ครัวโลก ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค เนื่องจากโซนนี้มีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก หากสินค้าได้มาตรฐานจีเอ็มพีขั้นต้น ก็สามารถวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าได้. 
 
(ไทยรัฐ, 19-6-2555)
 
พยาบาลบุกทำเนียบฯ จี้บรรจุลูกจ้างชั่วคราว 1.7 หมื่นคนเป็นราชการ 
  
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 55 ที่เลียบคลองเปรมประชากร ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 2,000 คน จากทั่วประเทศ ได้มาชุมนุมติดตามข้อเรียกร้องที่ให้รัฐบาลมีมติให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมาย และนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.)และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)ดำเนินการเปิดกรอบอัตรากำลังใหม่ สำหรับบรรจุพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวฯเป็นข้าราชการ ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ยื่นต่อนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สธ. เมื่อ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ขอให้กระทรวงสาธารณสุข ออกจากระบบของสำนักงานกพ. เนื่องจากกพ.ไม่เข้าใจในบริบทของระบบสุขภาพ จึงไม่นำเรื่องความขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพ มาปฏิบัติในการพิจารณากรอบอัตราตำแหน่ง ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ได้รับบริการสุขภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด 
 
ด้านนายอนุสิษฐ์ เป็งแก้ว ผู้ประสานงานกลาง พยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กล่าวว่า ทางเครือข่ายได้เข้ายื่นเรื่องกพ.แล้ว เพื่อให้ดำเนินการเปิดอัตราบรรจุลูกจ้างชั่วคราว 17,000 ตำแหน่ง ซึ่งในวันนี้(19 มิ.ย.)จะรอคำตอบจากรัฐบาล โดยเฉพาะนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สธ.จะให้คำตอบอย่างไร และมีตัวแทนเครือข่ายเดินทางไปพบกับนายวิทยา ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี สัญจรแล้ว และหากยังไม่ได้รับคำตอบเป็นที่น่าพอใจก็จะยกระดับการชุมนุมเรียกร้องให้นาย วิทยา ดำเนินการให้มีความชัดเจน กรณีที่เคยรับปากว่าจะบรรจุลูกจ้าง 3,000 คน ที่เข้าทำงานปี 2549-2550? ซึ่งหากยังไม่มีความชัดเจน อาจจะมีพยาบาลวิชาชีพฯลาออกทั่วประเทศก็ได้ ขณะเดียวกันก็จะรอคำตอบจาก กพ. หากไม่ดำเนินการก็จะยื่นถอดถอนนายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการ ก.พ. ออกจากตำแหน่งด้วย 
 
(แนวหน้า, 20-6-2555)
 
สวีเดนให้โควต้าแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่า 5,000 คน 
 
นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากทางการสวีเดนว่า ได้ให้โควตาแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน นี้ ประมาณ 5,000 คน โดยสหภาพแรงงานในสวีเดนได้ประกันรายได้ให้แก่ผู้ที่เดินทางไปเก็บผลไม้ จะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 80,000 บาท และได้จัดเตรียมทั้งที่พักและข้าวของไว้ให้แรงงานไทยเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะที่พักจัดแยกเป็นหลายแคมป์ ทำให้ไม่แออัดเช่นปีผ่านๆ มา ส่วนประเทศฟินแลนด์จะให้โควตาแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ประมาณ 2,000 คน 
 
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีแรงงานไทยมาลงทะเบียนเพื่อเดินทางไปเก็บผลไม้ในสวีเดนและฟินแลนด์ ประมาณ 6,000 คน ซึ่งการเดินทางไปทำได้ใน 2 รูปแบบ คือ 1.แจ้งการเดินทางผ่านบริษัทจัดหางาน และ 2.เดินทางไปด้วยตนเองโดยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสวีเดนคนละ 7.5 หมื่นบาท และฟินแลนด์คนละ 6 หมื่นบาท คาดว่าจะเริ่มส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ใน 2 ประเทศนี้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ 
 
(มติชนออนไลน์, 20-6-2555)
 
ก.แรงงาน เตรียมแผนรับมือเลิกจ้างจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป 
 
นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเตรียมการรับผลกระทบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจประเทศในแถบยุโรป หลังเข้าร่วมการประชุมกับนายกรัฐมนตรีและผู้แทน 9 กระทรวงที่เกี่ยวข้องที่ทำเนียบรัฐบาลว่า  กระทรวงแรงงานเตรียมแผนรับมือผลกระทบวิกฤติที่จะเกิดขึ้นกับแรงงานไทย โดยแบ่งเป็น  3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มแรงงานในสถานประกอบการที่อาจจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโดยเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มยอดการส่งออกสินค้าไปประเทศแถบยุโรปลดลง พร้อมเฝ้าระวัง  4  กลุ่มอุตสาหกรรมเป็นพิเศษ คือ  กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มคอมพิวเตอร์ กลุ่มยานยนต์และกลุ่มสิ่งทอ โดยจะให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สรุปข้อมูลภาพรวมว่าสถานประกอบการเหล่านี้อยู่ในจังหวัดใดบ้างภายในสัปดาห์ นี้   
 
นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า จากนั้นจะให้สำนักงานแรงงานจังหวัดลงไปสำรวจข้อมูลสถานการณ์การจ้างงานและ เลิกจ้างในสถานประกอบการเหล่านั้น  อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสำนักงานประกันสังคมขณะนี้สถานการณ์การจ้างงานในประเทศยังถือว่า อยู่ในภาวะปกติโดยยังอยู่ในช่วงชะลอตัว จากเดิมที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ  1 ต่อเดือน  ล่าสุดเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ  0.2 ลดลงไป 0.8 
 
นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า ส่วนกลุ่มที่สองเป็นแรงงานไทยที่ทำงานในประเทศแถบยุโรปที่ปัจจุบันมีอยู่ 1,800 คน ส่วนใหญ่เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง โดยเตรียมการมาตรช่วยเหลือแรงงานไทยกลุ่มนี้ หากถูกบริษัทเลิกจ้างและต้องเดินทางกลับไทย กระทรวงแรงงานจะช่วยดูแลในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมรองรับ และกลุ่มที่สามเป็นแรงงานไทยที่กำลังจะเดินทางไปทำงานในประเทศแถบยุโรป เช่น แรงงานที่จะไปเก็บผลไม้เบอร์รีที่สวีเดนและฟินแลนด์ ประมาณ 7,000 คน หากไม่ได้เดินทางไป ก็จะหาตลาดงานใหม่ในประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นรองรับ 
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือแรงงานไทยทั้ง 3 กลุ่มนี้จะใช้รูปแบบเดียวกับในช่วงประสบวิกฤติน้ำท่วม  เนื่องจากมองว่าเป็นผลกระทบระยะสั้น เช่น การใช้แรงงานสัมพันธ์เข้าไปป้องกันการเลิกจ้าง โครงการป้องกันการเลิกจ้าง โดยรัฐช่วยจ่ายค่าจ้าง 2,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน โครงการเพื่อนช่วยเพื่อนให้เปลี่ยนที่ทำงานชั่วคราว การให้สินเชื่อเพิ่มสภาพคล่อง หรือการขยายเวลาการลดเงินสมทบประกันสังคม โดยจะเร่งสรุปข้อมูลเสนอนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ที่จะเป็นประธานการประชุมในสัปดาห์หน้า 
 
(สำนักข่าวไทย, 20-6-2555)
 
บ.โดลฯ แจงการประท้วงของพนักงานเป็นการเจรจากันตามประกาศของบริษัทฯ เท่านั้น 
 
20 มิ.ย. 55 -  บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ตั้งอยู่ ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ชี้แจงกรณีการออกมาประท้วงของพนักงานที่รวมตัวกันประท้วงฝ่ายบริหาร เรียกร้องให้มีการจ่ายค่าน้ำมันแก่รถรับ-ส่งพนักงาน และจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาตามจริงเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ความจริงแล้วเป็นการปรึกษาหารือและเจรจากันระหว่างตัวแทนของฝ่ายบริษัทกับ ฝ่ายพนักงานขับรถรับ-ส่งพนักงาน ตามประกาศของบริษัท ซึ่งติดประกาศในเช้าวันดังกล่าว เกี่ยวกับการจ่ายค่าน้ำมันแก่รถรับ-ส่งพนักงาน อย่างไรก็ตาม มีพนักงานของบริษัทเกือบ 2,000 คนเข้าร่วมประชุมด้วยเพื่อติดตามผล เนื่องจากเกรงว่าข้อตกลงระหว่างบริษัทกับพนักงานขับรถจะกระทบต่อการมาทำงาน ของตน 
       
ในการเจรจาดังกล่าวได้มีการโชว์แผ่นป้ายตามรูปภาพที่ได้ลงไว้ แต่ไม่ได้มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ เกิดขึ้น การเจรจาดำเนินไปอย่างเรียบร้อยและสิ้นสุดลงประมาณ 10 โมงเช้า โดยบริษัทยินยอมตามข้อเสนอของพนักงานขับรถบางส่วน หลังจากนั้นประมาณ 11 โมงพนักงานที่เข้าประชุมก็แยกย้ายกลับเข้าทำงานตามปกติ บริษัทได้ทำบันทึกรายงานการประชุม ลงนามยอมรับ และแจ้งให้พนักงานทราบโดยทั่วกันแล้ว 
       
ส่วนประเด็นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำที่มีบางสื่อรายงานว่าบริษัทจ่ายต่ำ กว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนดนั้น บริษัทได้ชี้แจงว่าไม่เป็นความจริงแต่ประการใด ในความเป็นจริงแล้วบริษัทจ่ายสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดใน ปัจจุบัน ส่วนรายละเอียดในข่าวที่ลงผิดพลาดนั้น น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดของผู้ให้ข่าว 
       
ในส่วนที่บางสื่อเสนอข่าวว่าบริษัทไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของ รัฐนั้น บริษัทได้ชี้แจงว่าบริษัทให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นการขอเข้าตรวจสถานประกอบการ ส่งเอกสาร หรือความร่วมมืออื่นๆ นอกจากนั้น บริษัทยังได้รับเลือกให้เป็นโรงงานสีขาวตามมาตรฐานของกระทรวงแรงงาน และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการตรวจแรงงานต่างด้าวทุกครั้ง 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 21-6-2555)
 
พนักงานรง.ผลไม้กระป๋องประจวบฯประท้วงฝ่ายบริหารฯ 
 
กลุ่มพนักงานโรงงานผลิตผลไม้กระป๋อง บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ตั้งอยู่ ตำบลหนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กว่า 3,000 คน นำโดยนายเกียรติสยาม ยินดีสังข์, นายเจือ จาดศรี ,นายอุทัย ศรีสม พนักงานขับรถ ได้นัดหยุดงานรวมตัวทำการประท้วงการบริหารงานของฝ่ายบริหาร ที่ด้านหน้าบริเวณหน้าโรงงาน พร้อมทั้งยืนยันว่าหากฝ่ายบริหารไม่ยอมรับข้อเสนอ พนักงานทั้งหมดจะยังไม่กลับเข้าทำงาน 
 
นายเจือ จาดศรี กล่าวว่า พวกตนได้รวมตัวกับมาตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับความเดือดร้อน จากมาตรการการงดจ่ายค่าน้ำมันรถรับ-ส่ง พนักงาน หากไม่สามารถรับส่งพนักงานได้ตามจำนวนที่กำหนด รวมทั้งราคาค่ารถที่จ่ายให้ก็ขัดกับสภาพปัจจุบันที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูง ขึ้น ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นมานานกว่า 2 ปีมาแล้ว หลังจากที่ผู้บริหารคนเก่าเกษียนอายุไป และมีผู้บริหารคนใหม่เข้ามา 
 
ปัญหาดังกล่าวเริ่มสร้างความเดือดร้อนเมื่อผู้บริหารรายใหม่เข้ามา ซึ่งมีการจ่ายค่าน้ำมันขาไปและขากลับของคนงานต่อคนเพียง 15 บาทเท่านั้น และหากวันไหนรถรับส่งพนักงานมีพนักงานโดยสารมาไม่ถึง 10 คน ก็จะไม่มีการจ่ายเงินให้ ทำให้ผู้ที่ขับรถ รับส่ง ไม่สามารถมาส่งพนักงานได้ และพนักงานก็ไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้เช่นกัน เนื่องจากไม่คุ้มค่า 
 
อีกทั้งราคาที่จ่ายให้ขัดต่อราคาค่าน้ำมันและค่าใช้จ่ายที่เป็นจริง ซึ่งปัจจุบันทางโรงงานอ้างอิงราคาน้ำมันกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังมีการเรียกร้องในข้ออื่นๆที่ส่งผลกระทบต่อพนักงานอีกหลายข้อ ดังนี้คือ "การรับส่งพนักงานของคนรถให้คิดอัตราเฉลี่ยต่อวิก โดยการกำหนดให้พนักงานต้องมาทำงานไม่ต่ำกว่า 48 คนต่อวิก แต่ถ้ามาไม่ถึงให้ทางบริษัทตัดค่าน้ำมันได้โดยยึดหลักเฉลี่ยวันละ 7 บาทต่อคน แต่จะต้องไม่ตัดค่าหัว ขอค่าล่วงเวลาคนขับรถในส่วนที่เกินจาก 2 ชั่วโมงไปแล้วโดยคิดชั่วโมงละ 30 บาท เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น 
 
นอกจากนี้แล้วการทำสัญญาจ้างของบริษัทกับคนรถ จะต้องให้คนรถเข้าร่วมในการร่างสัญญาจ้างละจะต้องมีการเซ็นสัญญาว่าจ้างทุก ครั้งที่เปิดฤดูการผลิตและจะต้องต่อสัญญาออกไปทุกครั้ง และประการสุดท้าย ขอให้ออกใบสลิปค่าหัวคนงานและค่าน้ำมันคนรถโดยการแยกค่าหัวและน้ำมันออกจาก กันทุกครั้งไป 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อไปว่า การประท้วงของกลุ่มคนงานยืดเยื้ออยู่กว่า 3 ชั่วโมง จนกระทั่ง ผู้บริหารของทางโรงงานฯ ได้เรียกตัวแทนคนงานรวม 5 คน เข้าไปเจรจาตกลง ซึ่งเจรจาใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง จากนั้นตัวแทนได้ออกมาแจ้งว่า ทางผู้บริหารได้รับข้อเสนอของกลุ่มผู้ประท้วง แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากไม่มีการยืนยันที่ชัดเจน หรือมีการลงลายลักษณ์อักษร และได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ ผู้บริหาร ออกมาตกลงและเจรจา ต่อหน้าผู้สื่อข่าว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากผู้บริหารทั้งสอง พร้อมกับสั่งเจ้าหน้าที่ รปภ.ห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนายอนุวัช เต็มชัย ปลัดอำเภอหัวหิน ที่เดินทางมาหาข้อเท็จจริง เข้าไปภายในเขตโรงงานโดยเด็ดขาด ทำให้พนักงานส่วนใหญ่ยังไม่กลับเข้าทำงานตามปกติ และยืนยันว่าหากยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจะยังไม่กลับเข้าทำงาน 
 
(เนชั่นทันข่าว, 21-6-2555)
 
สาธารณสุขคลัง-แรงงานถกแก้กองทุนให้เสมอภาค 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี งดจัดรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน" แต่ได้มอบหมาย ให้นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แจงรายละเอียดหลักประกันสุขภาพ ดำเนินรายการโดย นายธีรัตถ์ รัตนเสวี 
 
นายวิทยา กล่าวว่า นโยบายเรื่องการดูแลเรื่องสุขภาพของพี่น้องประชาชนนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ดูแลข้อเท็จจริงว่า ทำอย่างไรให้ใช้สิทธิ์จาก 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนข้าราชการพลเรือน, กองทุนหลักประกันสุขภาพ และกองทุนประกันสังคม ให้เกิดความเท่าเทียมกัน ไม่เหลื่อมล้ำกัน โดยมีกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และกระทรวงสาธารณสุข มาบูรณาการเพื่อทำงานร่วมกัน โดยใช้ทั้ง 3 สิทธิ์ ได้อย่างเสมอภาค อย่างกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งสามารถใช้สิทธิ์ได้ทันที เพียงแค่มีบัตรประชาชนก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลแล้ว 
 
"นายกรัฐมนตรียังมอบหมายในส่วนเรื่องโรคเอดส์ที่ต้องดูแลเรื่องการรักษา ให้มีความเสมอภาค เอดส์ที่ต้องดูแลเรื่องการรักษาให้มีความเสมอภาค โดยต้องทำให้ 3 กองทุนมีมาตรฐานเดียวกัน เมื่อประชาชนเข้ารับการรักษาและเมื่อดูแลการรักษาแล้ว จะต้องดูแลเรื่องการป้องการเพื่อไม่ให้เกิดผู้ป่วยโรคเอดส์รายใหม่ ซึ่งตรงนี้ทางกระทรวงก็จะนำมาสรุปเพื่อหาข้อมูลที่ชัดเจนในการดำเนินการไปใน ทิศทางเดียวกัน หาข้อที่ดีที่สุดเพื่อดูแลสุขภาพของคนไทย ส่วนการรักษาโรคไต ไตวาย ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมาก และขั้นตอนการรักษาค่อนข้างยุ่งยากไม่ว่าจะเป็นการล้างไต การดูแลก็ดี การพบหมอ การล้างช่องท้อง การล้างผ่านเส้นเลือด ตรงนี้นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ขอให้ดูแลผู้ป่วยโรคนี้โดยใช้ทั้ง 3 สิทธิ์ได้อย่างครอบคลุม" นายวิทยา กล่าว 
 
ส่วนกรณียาที่ใช้ในการรักษาที่ประชาชนเข้ารับการรักษาและมีการเปลี่ยน สิทธิ์ หรือเปลี่ยนโรงพยาบาลรักษาและกลัวว่าจะไม่ได้ยาเดิมนั้น ทางกระทรวงเล็งเห็นถึงความสำคัญและได้มีการตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องยาโดย รวมทั้ง 3 กองทุน หาข้อสรุปว่า ควรซื้อยาลักษณะแบบไหน อย่างไร เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานเดียวกัน 
 
"ในบัญชียาหลักจะมีการพูดคุยกัน เพื่อแสวงหายาที่เหมาะสมและราคาที่เหมาะสม เพื่อเป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน อีกทั้งจะมีการกระตุ้นให้ประชาชนนำยาเก่าหมดอายุแล้วมาแลกกับไข่ เนื่องจากยาที่ได้ไปใช้ไม่หมด และมีจำนวนมาก ต้องแก้ปัญหาโดยไม่นำยาเก่าที่หมดอายุมาใช้อีกและส่งผลให้สุขภาพเสื่อมลง ซึ่งช่วยลดงบประมาณ แต่ยืนยันไม่ลดคุณภาพของยาแน่นอน" นายวิทยา กล่าว 
 
(บ้านเมือง, 23-6-2555)
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net