Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาหัวข้อ “เปิดมิติเนปิดอว์เมืองหลวงใหม่พม่า: ที่มา ที่ไป และที่เป็น” ที่ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยตอนหนึ่งมีการอภิปรายหัวข้อ “การย้ายราชธานีของพม่าก่อนยุคเนปิดอว์” โดย รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอาจารย์สุเนตรได้กล่าวถึงภูมิหลังประวัติศาสตร์และความเป็นมา ของธรรมเนียมการย้ายราชธานีพม่าในอดีต เปรียบเทียบกับการย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้ง ไปสู่เนปิดอว์ ในปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

"เมื่อพูดคำว่า "เนปิดอว์" คนไทยเข้าใจว่าเป็นชื่อของเมืองที่ปัจจุบันเป็นราชธานีของพม่ามาแทนนคร "ย่างกุ้ง" แต่ถ้ามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ชื่อนี้ไม่ใช่ชื่อเฉพาะอย่างที่เราเข้าใจ "เนปิดอว์" ในภาษาพม่ามีความหมายตรงตัวว่า "ราชธานี""

"คำว่า "เบิกยุค" หมายความว่า กษัตริย์พม่ามีคติเรื่องการปกครองที่เชื่อว่าพุทธศาสนานับวันจะเลวลง นับวันจะเสื่อมถอยลง เป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่จะต้องฟื้นฟูบูรณะพระศาสนาให้ยืนยงสถาพรเท่าพุทธทำนายคือ 5,000 ปี เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเหตุทุกภิกขภัยต่างๆ เกิดโรคระบาด เกิดรบราฆ่าฟัน แพ้สงคราม ก็จะเป็นคล้ายๆ เป็นสัญลักษณ์ว่าพุทธศาสนาคงเสื่อมแล้ว บ้านเมืองถึงปรากฏสภาวะเสื่อมโทรมดังนี้ ทำอย่างไรดีล่ะ ก็ต้องปลุกขวัญกำลังใจเหล่าอาณาประชาราษฎร์ เบิกยุคใหม่ บอกว่า "ไม่ต้องห่วงยังไม่สิ้น บ้านเมืองยังไม่สิ้น ยุคแห่งพุทธศาสนาไม่เสื่อม เราจะนำพาความรุ่งเรืองกลับมาอีกครั้ง ให้ยืนยงไปดังพุทธทำนาย" รูปธรรมต้องสร้างเมือง สร้างวัง ย้ายเมือง อย่างนี้เป็นต้น"

000

เมื่อพูดคำว่า "เนปิดอว์" คนไทยเข้าใจว่าเป็นชื่อของเมืองที่ปัจจุบันเป็นราชธานีของพม่ามาแทนนคร "ย่างกุ้ง" แต่ถ้ามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ชื่อนี้ไม่ใช่ชื่อเฉพาะอย่างที่เราเข้าใจ "เนปิดอว์" ในภาษาพม่ามีความหมายตรงตัวว่า "ราชธานี" ในประวัติศาสตร์พม่ามีราชธานีหลายราชธานี อย่างเช่น พุกาม ก็มีชื่อเฉพาะ รู้สึกจะชื่อ อริมัทนะปุระ ความหมายเฉพาะตัวคือ เมืองที่ไม่อาจจะมีศัตรูใดต่อรบด้วยได้ หรือชื่อเมืองอังวะ ชื่อจริงๆ คือ รัตนะปุระ คือ นครแห่งอัญมณี ถ้าเมืองตองอูที่เรามักคุ้นเคยในวรรณกรรมของยาขอบ ผู้ชนะสิบทิศ ชื่อเต็มคือ เกตุมวดีตองอู ส่วน หงสาวดี เป็นชื่อมอญ พม่าก็ได้มาอาศัยเมืองนี้เป็นราชธานี ที่ผมยกตัวอย่างพอสังเขป เพื่อให้ท่านได้เข้าใจว่า ไม่ว่าจะเป็นพุกามก็ดี อังวะก็ดี ตองอูก็ดี หรือหงสาวดีก็ดีเหล่านี้ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ล้วนเป็นเมืองราชธานี หรือเป็น "เนปิดอว์" ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นคำว่า "เนปิดอว์" ซึ่งมีความหมายว่าราชธานี หรือเมืองหลวง จริงๆ แล้วคำๆ นี้เป็นคำกลาง เมืองแต่ละเมืองจะมีชื่อเฉพาะของตัวเองแตกต่างกันไป แต่จะมีสถานะเป็นเมืองหลวง แล้วแต่ว่ากษัตริย์องค์ไหนเข้มแข็ง ก็สถาปนาศูนย์กลางอำนาจขึ้นมาเป็นเมืองหลวงคือ "เนปิดอว์" ขึ้น

ลักษณะที่น่าสนใจคือ รัฐบาลทหารพม่าในช่วงหลัง เมื่อไปตั้งราชธานีหรือ "เนปิดอว์" ขึ้น ไม่ได้ใช้คำเฉพาะ หรือชื่อเฉพาะ แต่ใช้คำซึ่งในอดีตเป็นคำกลางคือราชธานีมาเป็นชื่อเรียกชื่อเมืองเฉพาะที่ตั้งขึ้นเป็นราชธานี เพราะฉะนั้นคำว่า "เนปิดอว์" ซึ่งในความหมายของพม่าคือเมืองหลวง ย่างกุ้งก็เคยเป็น "เนปิดอว์" ปัจจุบันจึงกลายเป็นชื่อเฉพาะด้วย คือเป็นชื่อราชธานีของพม่า ทำอย่างนี้เพื่อให้รู้กันว่าปัจจุบันราชธานีอยู่ที่ "เนปิดอว์" ส่วนย่างกุ้งทางพม่าถือว่าถึงแม้จะเคยเป็นราชธานีมาก่อน แต่ไม่ได้เป็นราชธานีที่ผู้ปกครองพม่าสถาปนาขึ้นมา เป็นราชธานีที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษสถาปนาขึ้นมาภายหลังสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 2 คือ ค.ศ. 1852 คือต้องการตั้งเมืองศูนย์กลางหรือราชธานี ของรัฐหรือดินแดนในปกครองของอังกฤษก็เลยตั้งย่างกุ้งเป็นเมืองหลวง และถูกใช้เป็นเมืองหลวงสืบเนื่องมาจนกระทั่งพม่าได้รับเอกราชในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1948

ส่วนในประเด็นว่ามีการย้ายเมืองหลวง พม่าย้ายเมืองหลวงบ่อยจากที่โน่นไปที่นี่ ผมอยากทำความเข้าใจในชั้นต้นว่า เมื่อพูดถึงการย้ายราชธานีของพม่า การย้ายราชธานีในความรู้สึกนึกคิดของผมจริงๆ คือเป็นสิ่งที่เกิดในช่วงหลัง คือในยุคสมัยที่พระเจ้าอลองพญามาปกครอง และสถาปนาราชวงศ์สุดท้ายของพม่า หลังจากนั้นเราจะเห็นการย้ายราชธานีบ่อยครั้ง แต่ก่อนหน้านั้น เราไม่เห็นลักษณะการที่พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง วันดีคืนดีเบื่อเมืองที่ตัวเองปกครองก็ขนย้ายอาณาประชาราษฎรไปตั้งเมืองใหม่ อันนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่นิยมทำกันในประวัติศาสตร์แรกๆ พม่า 

 

000

ถ้าอย่างนั้นทำไมพม่าจึงมีราชธานีหลายแห่ง เช่น พุกาม อังวะ ตองอู หงสาววดี ถ้าท่านไม่คุ้นกับที่ตั้งเมืองเหล่านี้ ผมมีแผนที่ให้ดู เมืองพุกามอยู่ทางตอนเหนือ อังวะ อมราปุระ

พม่าในสมัยโบราณมีความแตกต่างกับประเทศไทย ของไทยหรือสยามประเทศจะไม่ค่อยย้ายราชธานี เราจะเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาได้ถูกสถาปนาเป็นราชธานี และคงสถานะเป็นราชธานีต่อเนื่องถึง 417 ปี ลักษณะอย่างนี้ไม่ค่อยเจอในกรณีของพม่า ถามว่าทำไมจึงไม่ค่อยเจอ ทั้งนี้เพราะว่าในยุคสมัยแรกของพม่า การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางที่ใดที่หนึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เกิดบ่อยในประวัติศาสตร์ หมายความว่า ในอาณาจักรพม่า จะมีพระมหากษัตริย์ปกครองเมืองต่างหลายๆ เมือง มีสถานะค่อนข้างใกล้เคียงกัน เช่น มีพระมหากษัตริย์ปกครองที่อังวะ ที่ตองอู ที่แปร หลายเมือง และกษัตริย์เหล่านี้มีสถานะเท่าเทียมกัน

ยกเว้นบางยุค บางสมัยเท่านั้น ที่กษัตริย์เมืองใดเมืองหนึ่งเหล่านี้เข้มแข็งกว่าที่อื่นก็สามารถลุกขึ้นสถาปนาอาณาจักรขึ้นมา และรวมรวมเมืองต่างๆ เหล่านั้นมาอยู่ในอาณาจักรของพระองค์ได้ แต่พอสิ้นสุดสมัยของพระองค์ อาณาจักรที่รวมๆ ไว้หลวมๆ ก็จะแตกไปอีก ก็จะเป็นกษัตริย์ที่ปกครองตามเมืองต่างๆ นั้นอีก ต้องรอคอยคนเข้มแข็ง จากเมืองใดเมืองหนึ่งขึ้นมา สถาปนาเมืองตัวเองขึ้นเป็นราชธานี เป็นอย่างนี้อย่างสม่ำเสมอในประวัติศาสตร์พม่า

ในยุคแรกๆ มีพระเจ้าอโนรธา (Anawrahta Minsaw) เข้มแข็ง สถาปนาเมืองพุกามเป็นราชธานี พอกษัตริย์ที่เข้มแข็งของพุกามล่มสลายก็เกิดบ้านเล็กเมืองน้อย ต้องรอเวลาอีกหลายปี จนเกิดคนดีมีฝีมืออย่างจะพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ (Tabinshwehti) หรือพระเจ้าบุเรงนอง (Bayinnaung) ที่สถาปนาตองอู และหงสาวดีเป็นราชธานี

ในยุคที่พระเจ้าบุเรงนอง สถาปนาหงสาวดีเป็นราชธานี ก็รวมบ้านเล็กเมืองน้อยมาอยู่ในพระราชอำนาจ พอสิ้นพระชนม์ พระเจ้านันทบุเรงขึ้นมา (Nanda Bayin) ไปตามดูหนังพระนเรศวรนะครับประมาณนั้น เหล่าบ้านเมืองอื่นๆ ก็แข็งข้อ ไม่ยอมขึ้น ก็เกิดเมืองต่างๆ แข็งข้อ พอพระเจ้านันทบุเรงหมดอำนาจ พระเจ้านยองยาน (Nyaungyan) ก็สถาปนาเมืองอังวะเป็นราชธานี อาการเป็นอย่างนี้

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์พม่า มีปัญหาการสร้างความเป็นเอกภาพทางการเมืองต่อเนื่องมาโดยตลอด กษัตริย์ที่จะลุกมาสร้างเมืองราชธานีได้ต้องเข้มแข็ง ถ้าตัวเองสร้างเมืองของตัวเป็นราชธานีได้ แต่ลูกหลานไม่เก่ง กษัตริย์เมืองอื่นก็ตั้งราชธานีใหม่ ก็เลยมีราชธานีหลายแห่งเป็นเรื่องปกติ ถ้าเราอ่านพระราชพงศาวดารของเราที่เขียนเกี่ยวกับพม่า จะเห็นว่า พระราชพงศาวดารจะเขียนว่าพระเจ้าตองอู พระเจ้าอังวะ พระเจ้าแปร พระเจ้านั่น พระเจ้านี่ แสดงว่าเป็นกษัตริย์กันหมดเลย ไม่มีใครเลยเป็นขุนนาง เป็นกษัตริย์หมด แล้วแต่ว่าศูนย์กลางของตัวเข้มแข็งตรงไหนขึ้นมาก็จะเป็นราชธานีได้ ลักษณะอย่างนี้เราไม่เห็นกับอยุธยา อยุธยาแม้มีการเปลี่ยนราชวงศ์ แต่ไม่เปลี่ยนเมือง ยังคงอาศัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจนกระทั่งกรุงแตกในปี พ.ศ. 2310 (ค.ศ. 1767) จึงย้ายราชธานีลงมาเป็นกรุงธนบุรี กรุงเทพฯ ตามลำดับ แต่ไม่ได้ห่างจากศูนย์กลางเดิมเท่าไหร่นัก ส่วนของพม่านี่ไปคนละทิศคนละทาง

นี่คือสภาวะที่เป็นอยู่ จนกระทั่งวันดีคืนดี จนในช่วงปลายยุคอังวะ ปรากฏว่ามอญ ลุกขึ้นมาเข้มแข็ง สามารถปราบปรามพม่าลงได้ราบคาบ สถาปนาเมืองหงสาวดีเป็นราชธานีขึ้นมาใหม่ ในยุคนั้นมอญเป็นใหญ่ในพุกามประเทศ ในพม่าเหลือคนดีมีฝีมือหลบเป็นนายพรานป่า หลบไปที่หมู่บ้านที่ชื่อว่า "ชเวโบ" (Shwebo) คนที่เป็นนายพรานป่าคนนี้ชื่อ "มังอองไจยะ" (Aung Zeya) ตั้งตัวเองแข็งข้อไม่ขึ้นกับมอญ มอญส่งกองทัพไปปราบ ปราบเท่าไหร่ก็ไม่ได้ จากชุมนุมเล็กๆ กลายเป็นชุมนุมใหญ่ขึ้นๆ จนสถาปนาศูนย์กลางอำนาจขึ้นพม่ามาแข่งกับมอญ ศูนย์กลางอำนาจมีชื่อว่า "ชเวโบ" จริงๆ แล้วชื่อเดิมคือหมู่บ้านมุตโชโบ แล้วขึ้นมาเป็นใหญ่เป็น "พระเจ้าอลองพญา" (Alaungpaya) ท่านก็เปลี่ยนชื่อศูนย์กลางอำนาจเป็น "รัตนสิงหะ" เป็นราชธานีขึ้นมา

พระเจ้าอลองพญาไม่เหมือนใคร พอขึ้นมาเป็นใหญ่ปั๊บคราวนี้ได้บทเรียนว่า พอพม่าอ่อนแอ มอญกวาดทั้งประเทศไปอยู่ใต้อำนาจมอญ แกลุกขึ้นมาแสดงอำนาจปราบมอญเสียเหี้ยนเตียนไปหมด จนกระทั่งช่วงนั้นมีมอญอพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์อยุธยา จนเป็นเหตุชักนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าอลองพญาและสายสันตติวงศ์ของพระองค์กับกษัตริย์อยุธยาจนนำมาซึ่งสงครามในปี พ.ศ. 2310

นับแต่เปิดราขวงศ์อลองพญาในยุคพระเจ้าอลองพญา ก็สถาปนาเมืองชเวโบ หรือรัตนสิงหะเป็นราชธานี เมืองนี้อยู่ในลุ่มน้ำชิงวิ่น แต่ท่านลงมาปกครองหรือยึดเมืองย่างกุ้งเป็นเมืองท่า ที่เปิดตัวสู่การค้านานาชาติ ส่วนศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ชเวโบ แต่มาปกครองย่างกุ้ง เอาย่างกุ้งเป็นเมืองท่า

รูปของพระเจ้าอลองพญา ถ้านึกไม่ได้ จะเห็นว่าที่เนปิดอว์มีการสร้างอนุสาวรีย์ใหญ่โต มีมหาราช 3 พระองค์ประทับอยู่ หนึ่งในมหาราชคือพระเจ้าอลองพญา พม่านับถือเหลือเกินว่าทำให้พม่าขึ้นมาเป็นปึกแผ่น เป็นตัวเป็นตน เกิดอาณาจักรได้ในยุคท้าย ผมเชื่อว่าจะมากจะน้อย ผู้นำพม่าเป็นคนไม่ทิ้งประวัติศาสตร์ เขาทำอะไรก้าวไปข้างหน้า 2 ก้าว เขาจะหันกลับมาดูว่า ข้างหลังเขาผ่านอย่างไร แล้วอาศัยอดีตเป็นบทเรียนเสมอ เพราะฉะนั้นพระเจ้าอลองพญา จะไม่ลงมาเอาหัวเมืองในรัฐมอญเดิม ไม่ว่าจะเป็นหงสาวดีก็ดี หรือย่างกุ้งก็ดีเป็นราชธานี เพราะไม่สู้ปลอดภัย ท่านตั้งฐานกำลังอยู่ตอนในคือชเวโบ ซึ่งคุมกำลังได้เป็นเมืองหลวงดีกว่า แล้วมาปกครองหัวเมืองที่ติดทะเล ใกล้ทะเล จะเป็นไปได้ไหมที่ผู้ปกคองพม่ายุคหลัง ก็พอจะเล็งเห็นว่า ทำเลที่ตั้งข้องเมืองอย่างเช่นย่างกุ้ง อาจจะล่อแหลมต่อการถูกโจมตีจากมหาอำนาจทางทะเลได้ และย่างกุ้งก็มีความเคลื่อนต่อต้านรัฐบาลทหารในช่วงนั้น ปี ค.ศ. 1988 ก็เป็นตัวอบ่่าง 

อย่ากระนั้นเลยกองทัพควรมีศูนย์กลางอำนาจ ที่ตั้งลึกอยู่ในตอนใน ที่สามารถจะมีความมั่นคงเข้มแข็ง เปรียบประหนึ่งเมืองชเวโบ หรือรัตนสิงหะ ที่ครั้งพระเจ้าอลองพญาเคยทำมา เป็นไปได้หรือเปล่าก็ไม่มีหลักฐานยืนยัน (ท่านหม่องเอคงไม่ได้เรียนท่านนิพัทธ์ในเรื่องนี้) แต่ว่าทหารพม่าก็คิดในเรื่องทำนองนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นไปได้ว่า ไปตั้งราชธานีที่เนปิดอว์เสีย เพื่อให้เป็นเขตปลอดความไม่มั่นคงต่างๆ การจะเดินขบวน เคลื่อนไหว หรือแม้กองทัพต่างชาติจะรุกก็อยู่ไกล แต่สามารถจะแผ่อำนาจลงมาคุมเมืองหลวงเดิมหรือย่างกุ้งได้

กลับมาที่พม่า หลังยุคพระเจ้าอลองพญาขึ้นมาแล้ว เราจะเริ่มเห็นธรรมเนียมการย้ายเมือง กษัตริย์ราชวงศ์นี้มีอำนาจเข้มแข็งและสืบสันตติวงศ์ต่อเนื่อง ลูกของพระเจ้าอลองพญาจะลุกขึ้นมาย้ายเมืองจากเมืองหนึ่งไปเมืองหนึ่ง

อย่างพระเจ้ามังระ หรือเซงพะยูเซง (Hsinbyushin) ที่ส่งเนเมียวสีหบดี และมหานรธามาตีกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ. 2310 ท่านเป็นต้นคิดในยุคสมัยของท่าน ท่านบอกชเวโบเป็นหมู่บ้านเก่าแกเห็นจะไม่ไหว ย้ายไปอังวะ ที่เป็นราชธานียุคเก่าดีกว่า

พอตกมาในสมัยน้องของท่าน คือพระเจ้าปดุง หรือโบดอพญา (Bodawpaya) นึกถึงใครไม่ได้ก็นึกถึงสงคราม 9 ทัพในสมัยรัชกาลที่ 1 กษัตริย์พระองค์นี้ละครับทำสงคราม 9 ทัพ ย้ายเมืองจากอังวะ ไปสร้างเมืองใหม่ชื่อว่า อมรปุระ ไม่ห่างเท่าไหร่ มีความหมายว่าเป็นนิรันดร์ไม่มีสิ้นสูญ ฝรั่งเรียกว่า Immortal City

พอหลังจากนั้น ก็ตกมาสมัยสงครามพม่า-อังกฤษครั้งแรก พม่ารบแพ้อังกฤษในสมัยพระเจ้าบาจีดอ (Bagidaw) ท่านก็ว่าเมืองอมรปุระไม่เป็นมงคลแล้ว ในยุคนี้เราแพ้อังกฤษเรากลับไปอยู่อังวะดีกว่า ท่านเป็นหลานตาพระเจ้าปดุง ย้ายกลับไปอังวะใหม่ อยู่ไปได้สักพัก เข้าใจว่าพระโอรสของพระองค์คือ พระเจ้าสารวดี (Tharrawaddy) ก็ย้ายจากอังวะ ไปอยู่ อมรปุระ อีก เห็นไหมครับ ย้ายกันมาย้ายกันไปอยู่อย่างนี้

พอตกมาสมัยของพระเจ้ามินดง (Mindon) จึงย้ายราชธานีเป็นการถาวรไปอยู่มัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองอันดับสองพม่า

แต่การย้ายไม่เหมือนกับยุคแรก คือยุคนี้พระมหากษัติรย์ที่ย้ายเมืองมาจากราชวงศ์เดียวกัน มีการสืบสายอำนาจกันมา และพระมหากษัตริย์ที่ย้ายเมืองก็เคยอยู่เมืองเดิมมาก่อน ก็ย้ายจากเมืองของพระองค์ไปอยู่อีกเมือง ท่านจะเห็นธรรมเนียมการย้ายเมือง ของกลุ่มผู้นำสายตระกูลเดียวกัน และพระมหากษัตริย์ไม่ใช่คนต่างถิ่นต่างที่ อยู่แปร อยู่อังวะ อยู่สายเดียวกัน ท่านก็พอใจจะย้ายจากที่หนึ่งก็ย้าย เป็นเช่นนี้เสมอ

เหตุปัจจัยการย้ายเมืองมีหลายเหตุปัจจัย ปัจจัยประการหนึ่งของพระเจ้าอลองพญาก็เป็นปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์ อยู่ชเวโบปลอดภัย ลงมาอยู่ย่างกุ้ง แดนมอญไม่ปลอดภัย

เหตุของการย้ายเมืองมีหลายสาเหตุ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการย้ายเมืองของพม่าคือ เขาย้ายเมืองเพราะผู้ปกครองต้องการแสดงพระองค์ให้เห็นว่า ยุคสมัยของพระองค์ต้องการจะ "เบิกยุคใหม่" คิดใหม่ ทำใหม่ สร้างสิ่งใหม่ให้ราชอาณาจักร เพราะฉะนั้นสัญลักษณ์ของการสร้างสิ่งใหม่ เบิกยุคใหม่ ที่ทำได้อย่างเช่น ถ้าไม่สร้างวังใหม่ ก็ย้ายเมืองเสียเลย ถามว่าทำไมต้องมี "เบิกยุค" คำว่า "เบิกยุค" หมายความว่า กษัตริย์พม่ามีคติเรื่องการปกครองที่เชื่อว่าพุทธศาสนานับวันจะเลวลง นับวันจะเสื่อมถอยลง เป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่จะต้องฟื้นฟูบูรณะพระศาสนาให้ยืนยงสถาพรเท่าพุทธทำนายคือ 5,000 ปี เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเหตุทุกภิกขภัยต่างๆ เกิดโรคระบาด เกิดรบราฆ่าฟัน แพ้สงคราม ก็จะเป็นคล้ายๆ เป็นสัญลักษณ์ว่าพุทธศาสนาคงเสื่อมแล้ว บ้านเมืองถึงปรากฏสภาวะเสื่อมโทรมดังนี้ ทำอย่างไรดีล่ะ ก็ต้องปลุกขวัญกำลังใจเหล่าอาณาประชาราษฎร์ เบิกยุคใหม่ บอกว่า "ไม่ต้องห่วงยังไม่สิ้น บ้านเมืองยังไม่สิ้น ยุคแห่งพุทธศาสนาไม่เสื่อม เราจะนำพาความรุ่งเรืองกลับมาอีกครั้ง ให้ยืนยงไปดังพุทธทำนาย" รูปธรรมต้องสร้างเมือง สร้างวัง ย้ายเมือง อย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้นถ้าเรามาดูอาการย้ายเมือง เราจะเห็นว่าอย่างพระเจ้าปดุง ท่านขึ้นมาย้ายเมืองเพราะยุคก่อนท่าน รบราฆ่าฟันเยอะมาก พระเจ้าปดุงลุยทางเลือดขึ้นมาเลยนะครับ ฆ่าพี่ฆ่าน้อง หลานเยอะแยะ กว่าจะมาเป็นกษัตริย์ครองชเวโบท่านก็มองว่า คนตายเยอะ อาณาประชาราษฎรเดือดร้อน ต้องแสดงให้เห็นว่าเบิกยุค นำพาสิ่งใหม่ขึ้นมา ก็เลยย้ายเมืองมา "อมราปุระ" หรือ "เมืองอันเป็นนิรันดร์" 

พอมาถึงสมัยพระเจ้าบาจีดอ รบอังกฤษแล้วรบแพ้ ทำสัญญายันดาโบ ท่านเลยต้องย้ายราชธานี เลยย้ายไปอังวะ และเหตุผลก็ทำนองคล้ายๆ นี้ มีเรื่อง "เบิกยุค" มาด้วย

 

000

เราคงจะมองว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงย้ายราชธานีจากอยุธยาลงมากรุงเทพฯ บ้างก็ว่าเป็นเหตุผลยุทธศาสตร์เพื่อพม่าจะได้เดินทัพมาไม่ถูก ไม่จริง อย่าไปเชื่อเรื่องเหลวไหลอย่างนั้น พม่านั้นชำนาญทาง มาตีอยุธยาหลับตาเดินเลยครับ ย้ายจากอยุธยามาธนบุรี ไม่ยี่หระเลยครับ

เหตุผลประการหนึ่งคือกำลังของท่านน้อย อีกเหตุผลหนึ่งคือมันเสื่อมถอยเต็มทน ท่านต้องการจะ "เบิกยุคใหม่" ไหมล่ะครับ ถ้าท่านต้องการเบิกยุคใหม่ ท่านต้องย้ายราชธานี สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ท่านย้ายราชธานีกลับมาอีกฝั่ง มาฝังกรุงเทพฯ นั่นก็เป็นลักษณะของการเบิกยุคเหมือนกัน เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เกิดอะไรต่ออะไรขึ้น เพราะฉะนั้นท่านต้องการสถาปนาว่าเราจะฟื้นฟูบูรณบ้านเมืองใหม่ สร้างพุทธศาสนาให้เข้มแข็ง

นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์พม่า เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดก่อนที่อังกฤษจะยึดครองพม่า ธรรมเนียมการย้ายเมืองแบบนี้ทำมาโดยเสมอ พออังกฤษมายึดครอง จารีตแบบนี้ก็หมดไป อังกฤษมาปกครองพม่ายาวนานโดยมีย่างกุ้งเป็นราชธานี แต่ความรู้สึกในทางประวัติศาสตร์ บทเรียนประวัติศาสตร์ก็ดี ไม่ได้สูญหายในยุคอาณานิคม ผมยังอยากจะเชื่อว่า เมื่อผู้ปกครองพม่าจะคิดสร้างเนปิดอว์ นัยหนึ่งคงต้องการแสดงให้โลกรับรู้ ให้ชาวพม่ารับรู้ว่า รัฐบาลได้พยายาม ทำให้เหตุการณ์ต่างๆ อันเป็นความขัดแย้งกันเผชิญหน้ากันในสังคม ก็อยากทำอะไรในเชิงสัญลักษณ์

อันนี้นอกเหนือเหตุปัจจุัยด้านความมั่นคงที่ท่านนิพัทธ์ (พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม กระทรวงกลาโหม วิทยากรในการเสวนา) ให้อรรถาธิบาย เนปิดอว์เป็นการเกิดขึ้นของการเบิกยุคใหม่ เบิกราชธานีใหม่ ศูนย์กลางด้านจิตวิญญาณอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์แสดงความยิ่งใหญ่ของพุกามประเทศว่าไม่ได้ไม่ได้เสื่อมสลาย ไม่ได้สิ้นสุด ท้ายที่สุดแล้วสิ่งนี้ยังคงดำรงอยู่ เราจะสร้างขวัญกำลังใจ หรือทำให้เกิดความเชื่อถือให้คนเห็นและถือเป็นรูปธรรมได้อย่างไร ถ้าจะคิดอย่างพม่าก็ต้องย้ายเมือง ผมคิดว่านี่อาจจะเป็นอรรถาธิบายหนึ่งอันนำมาซึ่งการเกิดนครหลวงเนปิดอว์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net