Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข้อถกเถียงลิขสิทธิ์บอลยูโรเป็นประเด็นร้อนในสังคมไทยทุกวันนี้ดูเผินเหมือนจะทำให้สังคมไทยเรียนรู้มากขึ้นกับปัญหาของการ “ผูกขาดลิขสิทธิ์” (ซึ่งจริงๆ เป็นการกล่าวซ้ำซ้อน เพราะลิขสิทธิ์คือการผูกขาดอยู่แล้ว [1]) แต่สิ่งที่ผู้เขียนเห็นไปพร้อมกันนั้นก็คือ ฝ่ายต่างๆ ที่ออกมาพูด ดูจะเน้นไปที่ประเด็นอื่นๆ ตั้งแต่เรื่องสิทธิผู้บริโภค ไปจนถึงประเด็นที่ดูจะไม่เป็นประเด็นทางธุรกิจอย่าง “ความใจแคบ” น้อยคนนักที่จะพูดเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งก็ไม่ต้องพูดถึงการตั้งคำถามกับระบบลิขสิทธิ์ที่เป็นอยู่โดยตรง ดังนั้นผู้เขียนในฐานะที่ศึกษาเรื่องนี้มาบ้างก็อยากจะพูดถึงประเด็นนี้ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน

สิทธิในการแพร่ภาพและเสียงรู้จักกันในภาษาระบบลิขสิทธิ์ในคำที่ความหมายมากกว่าว่า Performance Right หรือที่ผู้เขียนจะแปลในที่นี้ว่า “สิทธิในการนำแสดงต่อสาธารณะ” สิทธิที่ว่านี้ถือเป็นสิทธิลูกของลิขสิทธิ์ กล่าวคือผู้ถือครองลิขสิทธิ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะผูกขาดการนำแสดงสิ่งนั้นสู่สาธารณะแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเขาจะขายหรือมอบสิทธินั้นให้ผู้อื่นภายใต้เงื่อนไขใดๆ ก็ได้ตามแต่จะตกลงกัน

สิทธิในการนำแสดงต่อสาธารณะไม่ใช่สิ่งที่เกิดมาพร้อมกับลิขสิทธิ์ คำภาษาอังกฤษของลิขสิทธิ์อย่าง Copyright ก็ดูจะมีความหมายตรงตัวมากถึงต้นกำเนิดของมันซึ่งก็คือสิทธิในการทำสำเนา ในยุคแรกราวๆ ศตวรรษที่ 17-18 ลิขสิทธิ์ในทางปฏิบัติ คือสิทธิในการผูกขาดการตีพิมพ์ข้อเขียนแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น มันเป็นสิทธิที่เชื่อมโยงโดยตรงกับการขยายตัวของเทคโนโลยีทางพิมพ์และการล่มสลายของอำนาจศักดินาในยุโรป กล่าวคือในยุคศักดินายุโรปผู้ที่มีอำนาจการให้สิทธิการพิมพ์สิ่งต่างๆ ในรัฐก็คือกษัตริย์ และการที่ระบบกษัตริย์ในยุโรปล่มสลายหรืออ่อนอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจลง มันก็ทำให้สิทธิ์นี้ตกเป็นของเอกชนผู้สร้างสรรค์งาน และนี่คือต้นกำเนิดของแนวคิดเรื่องลิขสิทธิ์ร่วมสมัย

ขอบเขตการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องไม่ได้ต่างจากการขยายตัวของการทำให้สารพัดสิ่งกลายเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลในระบบทุนนิยม และ “สิทธิในการนำแสดงต่อสาธารณะ” ก็เป็นผลหนึ่งของการขยายตัวนี้

ต้นกำเนิดของสิทธินี้เกิดขึ้นในคาเฟ่แห่งหนึ่งในฝรั่งเศสช่วงกลางศตวรรรษที่ 19 เรื่องมีอยู่ว่ามีนักแต่งเพลงสามคนไปใช้บริการคาเฟ่แห่งหนึ่งซึ่งมีดนตรีสด และนักดนตรีในคาเฟ่แห่งนั้นก็ได้เล่นบทเพลงที่เป็นผลงานประพันธ์พวกเขาขึ้น นักแต่งเพลงเหล่านั้นพอได้ยินเพลงดังขึ้นก็มีความรู้สึกไม่พอใจว่าเหตุใดเพลงของพวกเขาถึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการค้าขายแต่เขากลับไม่ได้ผลประโยชน์เป็นตัวเงินใดๆ เลย [2] พวกเขารู้สึกไม่พอใจทางคาเฟ่มากๆ และพวกเขาก็ลุกออกไปจากคาเฟ่โดยที่ไม่ยอมจ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่มใดๆ พร้อมให้เหตุผลว่าการที่คาเฟ่นำเพลงของพวกเขามาเล่นโดยไม่จ่ายเงินให้พวกเขาเป็นการละเมิดสิทธิ์ตามกฏหมาย ดังนั้นพวกเขาก็มีสิทธิ์ที่จะไม่จ่ายค่าอาหารเครื่องดื่มเช่นกัน หลังจากนั้นเขาก็นำเรื่องไปฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ที่จะได้ส่วนแบ่งรายได้ยามที่บทเพลงของเขาถูกนำไปใช้ ศาลฝรั่งเศสตัดสินให้เขาชนะคดี และ “สิทธิในการนำแสดงต่อสาธารณะ” ก็ถือกำเนิดขึ้นมาในโลก และหลังจากที่พวกเขาชนะคดีราว 1 ปี นักแต่งเพลงทั้งสามพร้อมกับเจ้าของสำนักพิมพ์ที่ออกค่าใช้จ่ายในการสู้คดีให้ก็ร่วมกันตั้งองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์แห่งแรกของโลกนาม Syndicat des Auteurs, Compositeurs, et Editeurs de Musique (SACEM) ขึ้น ซึ่งองค์กรนี้ก็ยังดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ [3]

องค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์มักจะเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า collecting society การที่มันถูกเรียกเช่นนี้เพราะมันมีลักษณะเป็น “สมาคม” (society) ที่ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของสมาชิกสมาคมมากกว่าที่จะเป็นบริษัทที่มุ่งจะแสวงกำไรให้องค์กร องค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ก็เป็นองค์กรเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในภาคการผลิตสินค้าศิลปวัฒนธรรมซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่สามารถที่จะไปไล่เก็บค่าลิขสิทธิ์ด้วยตัวเองได้อย่างทั่วถึง และช่วงศตวรรษที่ 19 มันก็มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวแทนการเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้บรรดานักแต่งเพลงทั้งหลายที่เป็นสมาชิกสมาคมเมื่อเพลงของพวกเขาถูกนำไปใช้ในกิจกรรมทางการค้าต่างๆ

ในศตวรรษที่ 20 องค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์เริ่มมีบทบาทมากขึ้นเมื่อเกิดอุตสาหกรรมบันทึกเสียงขึ้น เมื่อมีการบันทึกเสียง บทเพลงก็สามารถจะถูกนำไปเปิดในที่ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ก็มักจะตามไปเก็บถึงที่ น่าจะเรียกได้ว่าองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์สามารถตามไปเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้ในสถานธุรกิจทุกที่ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงเหล้า ดิสโก้เธค ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ โรงแรม ฯลฯ นอกจากนี้แหล่งรายได้หลักขององค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ในหลายๆ ประเทศก็ยังเป็นการเก็บค่าลิขสิทธิ์จากผู้กระจายภาพและเสียงที่อุตสาหกรรมดนตรีถือลิขสิทธิ์ด้วยตั้งแต่วิทยุแบบ FM/AM ดั้งเดิมไปจนถึงเว็บฟังเพลงออนไลน์หรือกระทั่งเว็บวิดีโอแบบ Youtube ซึ่งในหลายๆ ครั้งที่เราเข้า Youtube แล้วขึ้นข้อความว่า “This Video is Not Available In Your Country” (น่าจะประมาณนี้ ผู้เขียนไม่ได้เช็ค) มันก็หมายความว่า Youtube ไม่ยอมจ่ายเงินให้องค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ในประเทศของเราซึ่งถือลิขสิทธิ์เพลงนั้นๆ อยู่ และที่กล่าวมาทั้งนี้นี่คือภาคปฏิบัติทางธุรกิจของ “สิทธิในการนำแสดงต่อสาธารณะ” นั่นเอง

อาจมีผู้สงสัยว่าการเก็บค่าลิขสิทธิ์การเผยแพร่ดนตรีต่อสาธารณะมันทำจะเงินได้มากสักเท่าใดเชียว? ในโลกตะวันตกมีการแบ่งอุตสากรรมดนตรีเป็น 3 ส่วน คืออุตสาหกรรมบันทึกเสียง (recording industry) อุตสาหกรรมการแสดงดนตรีสด (live music industry) และอุตสาหกรรมการเผยแพร่ดนตรีต่อสาธารณะ (music publishing industry) โดยทั่วไปในปัจจุบันรายได้จากทั้ง 3 อุตสาหกรรมจะคิดเป็นราวๆ อุตสาหกรรมละ 1/3 ของรายได้ทั้งอุตสาหกรรมดนตรีทั้งหมดดังนั้นน้ำหนักความสำคัญมันจึงใกล้เคียงกันมาก อุตสาหกรรมสองส่วนแรกคงจะไม่ต้องอธิบายมากมายนัก แต่ส่วนที่สามหลายๆ คนก็งงงวยว่ามันคืออะไรกันแน่เมื่อเห็นชื่อมันครั้งแรก ความจริงในภาพรวมแล้วมันก็คือ อุตสาหกรรมการเก็บค่าลิขสิทธิ์นั่นเอง [4]

ถ้าชีวิตสาธารณะของมนุษย์ยุคปัจจุบันมีดนตรีอยู่ทุกที่ อุตสาหกรรมการเก็บค่าลิขสิทธิ์ในการแสดงดนตรีต่อสาธารณะก็ยิ่งมีพื้นที่ในการเก็บค่าลิขสิทธิ์มากขึ้น ผู้เขียนได้กล่าวถึงสถานที่ต่างๆ องค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์เหล่านี้แล้วในข้างต้น แต่ประเด็นที่คนมักจะสับสนกันก็คือ การเก็บลิขสิทธิ์การเผยแพร่ซ้ำในหลายระดับ (เช่น การเก็บกับสถานีวิทยุ แล้วมาเก็บอีกกับสถานีบันเทิงที่เปิดวิทยุของสถานีนั้นๆ) ได้หรือไม่

คำตอบคือได้ และนี่เป็นเรื่องปกติของระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ในประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก ถ้ากฏหมายไม่มีการระบุข้อยกเว้นไว้ชัดเจน โดยทั่วไปการเก็บในทุกระดับสามารถเกิดขึ้นได้โดยบริยาย ตัวอย่างการเก็บที่ซ้ำซ้อนที่สุดอย่างหนึ่งได้การการใช้งานดนตรีในงานแฟชั่นโชว์ ถ้างานโชว์ใช้งานดนตรีอันมีลิขสิทธิ์และจัดในสถานที่ยังไม่ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์การนำแสดงดนตรีต่อสาธารณะ ผู้จัดงานก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ก่อนรอบหนึ่ง ถ้าทางสถานีโทรทัศน์นำแฟชั่นโชว์นี้ไปฉายอย่างจริงจัง (มากกว่าการรายงานข่าวสั้นๆ) ทางสถานีโทรทัศน์ก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์อีกรอบ [5] และถ้ามีผู้เอาคลิปงานแฟชั่นโชว์นี้ไปขึ้นเว็บไซต์ทางเจ้าของเว็บไซต์ก็ต้องจ่ายอีกทอด [6] และถ้ากฎหมายไม่ระบุไว้ว่าการเผยแพร่ซ้ำตามสถานบันเทิงต่างๆ ไม่จัดเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ พวกสถานบันเทิงต่างๆ ก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เช่นกันถ้าเอารายการแฟชั่นโชว์มาเปิด และการเก็บค่าลิขสิทธิ์จากบรรดาผู้ประกอบการแทบทุกชั้นนี้ก็เป็นที่มาจองรายได้ของอุตสาหกรรมการเผยแพร่ดนตรีต่อสาธารณะ

แน่นอนว่ารายละเอียดเหล่านี้ต่างกันไปในแต่ละระบบกฎหมาย กฎหมายอเมริการะบุชัดว่าสถานีวิทยุภาคพื้นดินต่างๆ ไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เจ้าของลิขสิทธิ์ดนตรี (ซึ่งต่างจากหลายๆ ประเทศที่ต้องจ่าย) แต่ในทางตรงข้ามพวกสถานีวิทยุออนไลน์กลับและพวกเว็บฟังเพลงออนไลน์กลับต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ซ้ำถึง 2 ชั้น คือกับองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ดนตรีเอกชนดังเดิมที่มักเก็บค่าลิขสิทธิ์แบบเหมาจ่าย และองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่เป็นองค์กรอิสระที่ตั้งมาโดยรัฐที่เก็บค่าลิขสิทธิ์โดยคิดจากจำนวนครั้งที่เพลงหนึ่งๆ ถูกฟังบนเว็บ [7] ในขณะเดียวกันในระบบกฏหมายไทยก็มีคดีที่ตัดสินว่าการเปิดเพลงในร้านอาหารไม่นับว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ เป็นต้น

ในประเทศทางยุโรปส่วนใหญ่องค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ทางดนตรีจะมีแค่องค์กรเดียวเท่านั้นที่จะไล่ตามเก็บค่าลิขสิทธิ์การนำแสดงดนตรีต่อสาธารณะให้นักแต่งเพลงในประเทศของเขาทั้งหมด ทางด้านในอเมริกาก็มีถึง 3 องค์กรคือ ASCAP, BMI และ SASAC ซึ่งทั้งสององค์กรหลังก็เกิดขึ้นในเงื่อนไขของการแข่งกันกันโดยองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่ก็มักจะมีข้อเสนอที่ดีกว่าทั้งกับสมาชิกองค์กรและทางภาคธุรกิจที่ซื้อจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพื่อซื้อสัญญาอนุญาตในการเปิดเพลงสาธารณะจากองค์กร ทั้งนี้การมีองค์กรเดียวหรือหลายองค์กรนั้นจริงๆ ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าองค์กรเหล่านี้จะทำงานซ้ำซ้อนกันหรือไม่ กล่าวคือถ้าองค์กรเหล่านี้เกิน 1 องค์กรเก็บลิขสิทธิ์การแสดงดนตรีต่อสาธารณะของบทเพลงเดียวกันอย่างซ้ำซ้อนกัน มันก็จะสร้างความปวดหัวให้กับเจ้าของสถานบริการที่จะต้องจ่ายไม่รู้จักจบจักสิ้น และการทำงานที่ไม่เป็นระบบแบบนี้ก็อาจทำให้เงินที่เก็บมาได้ไปไม่ถึงบรรดาเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วย ซึ่งสภาวะที่ว่านี่คือสภาวะการเก็บค่าลิขสิทธิ์ดนตรีในไทยที่น่าจะเป็นประเทศหนึ่งที่มีองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์จำนวนมากที่สุดในโลกถึงหลายสิบองค์กร

น่าสนใจว่าองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ทางดนตรีเท่านั้นทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม ภาพยนตร์ หรือกระทั่งกีฬาก็สามารถจะมีองค์กรแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมได้ แต่โดยทั่วไปอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมแบบนี้ก็ไม่ได้มีหน่วยงานพิเศษใดๆ ที่จะมาจัดการกับค่าลิขสิทธิ์เฉพาะทาง และผู้ที่ดำเนินการเก็บค่าลิขสิทธิ์ในแทบทุกแบบก็จะเป็นองค์กรที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เอง

ในกรณีของฟุตบอล มาตรฐานในการใช้กฎหมายลิขสิทธิ์โดยทั่วไปก็ไม่น่าจะแตกต่างจากดนตรีเพราะอยู่ใต้ตัวบทเดียวกัน การแยกแยะระหว่างการแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินและการเผยแพร่ทางเคเบิลเป็นสิ่งที่กฏหมายลิขสิทธิ์จำนวนมากแยกอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ตัวบทกฏหมายอเมริกันมีความชัดเจนมากว่าการเผยแพร่ “ฟรีทีวี” ทางเคเบิลทีวีนั้นทางผู้ให้บริการเคเบิลต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่กฎหมายกำหนดไว้กับหน่วยงานของรัฐตามยอดของสมาชิกของเคเบิลทีวีนั้นๆ ก่อนที่ทางหน่วยงานจะนำค่าลิขสิทธิ์ไปกระจายสู่เจ้าของลิขสิทธิ์อีกที นี่เป็นวิธีการที่รัฐเข้ามาแก้ปัญหาการเก็บค่าลิขสิทธิ์ซ้ำซ้อน และปัญหาที่ทางช่องเคเบิลต้องมานั่งเคลียร์ค่าลิขสิทธิ์สารพัดเช่นเดียวกับที่ทางฟรีทีวีได้ทำไปแล้ว [8]

อย่างไรก็ดีเท่าที่ทราบ ในไทยก็ไม่มีวิธีการป้องกันปัญหาแบบนี้ฝังอยู่ในระบบการแพร่ภาพ ลำพังการอ้าง “สิทธิผู้บริโภค” มาโจมตีทางฝั่ง GMMZ ที่ถือลิขสิทธิ์บอลยูโรและใช้อำนาจรัฐมาบังคับให้ทาง GMMZ ปล่อยสัญญาณก็คงจะเป็นสิ่งที่ขัดกระแสโลกพอควร เพราะนี่คือการเวนคืนลิขสิทธิ์ให้กลับมาเป็นของสาธารณชน แม้จะเป็นเรื่องที่ฟังดูดีแต่ก็ไม่มีรัฐสมัยใหม่ในโลกใดๆ ที่ทำแบบนี้นอกจากพวกรัฐสังคมนิยมในยุครุ่งเรือง แต่นี่ก็ไม่แปลกอะไรถ้ารัฐไทยจะดำเนินการเวนคืนลิขสิทธิ์เพราะถึงที่สุดไทยก็อาจจะมีระบอบลิขสิทธิ์แบบไทยๆ เช่นเดียวกับที่ไทยได้มีสารพัดสิ่งในแบบไทยๆ มาแล้ว อย่างไรก็ดีถ้า “สิทธิผู้บริโภค” เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในระบบกฏหมายไทยก็ดูจะเป็นสิ่งที่น่ายินดี เพราะในระบบกฎหมายอเมริกาเองสิ่งที่อยู่เหนือและพอจะมางัดข้อกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ได้มันก็ต้องเป็นสิ่งที่ใหญ่โตอย่างหลักเสรีภาพในการพูดที่อยู่ในรัฐธรรมนูญเลยทีเดียว

 

อ้างอิง

  1. ทางฝั่งต่อต้านระบบลิขสิทธิ์ใช้คำว่า Copyright Monopoly แทนคำว่า Copyright เฉยๆ เพื่อเน้นว่าลิขสิทธิ์เป็นการผูกขาดทรัพย์สินทางปัญญาที่อนุญาตโดยรัฐ ซึ่งก็ไม่ต่างจากการได้สัมปทานต่างๆ แต่อย่างใด
  2. ในสมัยนั้นรายได้ของนักแต่งเพลงมีแต่การขายโน้ตเพลงที่เขาแต่งเท่านั้น
  3. อ่านรายละเอียดเรื่องราวของกำเนิดของสิทธิ์ในการนำแสดงต่อสาธารณะและองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ ได้ใน Jacques Attali, Noise: The Political Economy of Music, Translated by Brian Massumi, (Minneapolis: University of Minnesota Press, 1985), pp. 77-78
  4. อันที่จริงแล้วการเก็บค่าลิขสิทธิ์มันมีขอบเขตที่มากกว่าการเก็บบทฐานของสิทธิ์ในการนำแสดงสาธารณะที่กล่าวมา สิทธิที่สำคัญอีกอย่างคือสิทธิเชิงกลไก (mechanical right) ซึ่งก็คือสิทธิในการผลิตซ้ำงานดนตรีชิ้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการตีพิมพ์โน้ตเพลง หรือการบันทึกเสียงเพลงเหล่านี้ในเวอร์ชั่นคัฟเวอร์ ซึ่งองค์กรที่เก็บค่าลิขสิทธิ์เชิงกลไกนี้ก็จะเป็นองค์กรที่ต่างจากองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ในการนำแสดงต่อสาธารณะ (ในอเมริกาองค์กรที่เก็บค่าลิขสิทธิ์นี้ส่วนใหญ่คือ Harry Fox Agency) โปรดดู http://en.wikipedia.org/wiki/Music_publisher_(popular_music) และ http://en.wikipedia.org/wiki/Mechanical_license
  5. สถานีโทรทัศน์อาจต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ถึง 3 ชั้นกับ 3 ฝ่ายถ้ารายการแฟชั่นโชว์ที่ออกอากาศใช้บทเพลงที่มีลิขสิทธิ์ ชั้นแรกทางสถานีต้องจ่ายเงินให้บริษัทเก็บค่าลิขสิทธิ์การนำดนตรีแสดงต่อสาธารณะ (ส่วนใหญ่สถานีต้องจ่ายแบบเหมาจ่ายอยู่แล้ว) ชั้นที่สองทางสถานีต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์การประสานภาพกับเสียง (synchronization) ให้ตัวแทนเจ้าของบทประพันธ์เพลง (บางครั้งเป็นบริษัทบริหารค่าลิขสิทธิ์) หรือตัวเจ้าของบทประพันธ์เพลง ชั้นสุดท้ายทางสถานีต้องจ่ายค่าใช้งานบันทึกเสียงเพลงต้นฉบับ (master) ให้กับค่ายเพลงที่เป็นเจ้าของงานบันทึกเสียงต้นฉบับดังกล่าว
  6. และก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์หลายๆ ชั้นเช่นเดียวกับที่สถานีโทรทัศน์ต้องจ่าย ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2012/120215legalfashion
  7. ประเด็นนี้กำลังเป็นเรื่องเป็นราวมากเพราะ ทางฝั่งสถานีวิทยุดั้งเดิมที่ขยายกิจกรรมไปออนไลน์ไม่พอใจมาก ทั้งนี้ การเก็บลิขสิทธิ์โดยองค์กรเก็บค่าลิขสิทธิ์ดั้งเดิมที่คิดอย่างเหมาจ่ายทุกองค์กรนั้นคิดเป็นมูลค่าไม่ถึง 5% ของรายได้ของเว็บฟังเพลงออนไลน์เหล่านี้ด้วยซ้ำ ในขณะที่การเก็บค่าลิขสิทธิ์ต่อการฟังเป็นรายครั้งขององค์กรอิสระแทบจะคิดเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้ของเว็บ ดู http://www.digitalmusicnews.com/permalink/2012/061512playfair
  8. แต่แน่นอนว่าถึงเป็นอเมริกาเอง พวกสถานบริการต่างๆ ที่เปิดกีฬาให้ลูกค้าดูก็น่าจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์การแพร่ภาพกีฬาให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์กีฬาเช่นกันไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม การที่ทางสถานีโทรทัศน์ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ไปแล้วไม่ใช่เหตุผลที่สถานบริการจะไม่ต้องจ่ายแม้แต่นิดเดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net