Skip to main content
sharethis

ประธานสภาแจงการแก้ รธน. เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติตามที่ รธน. บัญญัติ มิใช่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ด้านทีมกฎหมายเพื่อไทยยืนยันแก้ รธน. เพื่อให้มี ส.ส.ร. สามารถกระทำได้ ที่ผ่านมาเคยมีการดำเนินการเช่นนี้มาแล้ว จึงไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 ได้ส่งคำแถลงการณ์ปิดคดีกรณีที่มีผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ต่อศาลรัฐธรรมนูญ แล้วเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 11 ก.ค. โดยมีข้อความขอคำแถลงปิดคดีดังต่อไปนี้

ข้อ 1. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินการของรัฐสภา ในการใช้อำนาจนิติบัญญัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อทำการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 6 รัฐสภา ส่วนที่ 5 การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา 136(16) และหมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 จึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แต่อย่างใด

ข้อ 2. ประธานรัฐสภาได้ดำเนินการสั่งบรรจุระเบียบวาระญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณา โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ดำเนินการตรวจสอบและเสนอความเห็นว่าญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เสนอโดยถูกต้องและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 แล้ว ประกอบกับญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ได้บรรจุระเบียบวาระนั้น มีหลักการเช่นเดียวกับญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วว่า ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291(1) วรรคสอง และมิได้มีเนื้อหาเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แต่อย่างใด

ข้อ 3. จากผลการพิจารณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวาระที่หนึ่ง และวาระที่สองซึ่งได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 ไม่พบว่าญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอมาได้ปรากฎถึงเนื้อหาที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291(1) วรรคสอง แต่อย่างใด ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 219/11 วรรคห้า ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญจะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้ นอกจากนั้น ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 291/11 วรรคหก ยังกำหนดให้ในกรณีที่รัฐสภา วินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะตามวรรคห้า ให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป ประกอบกับเมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จจะต้องจัดให้มีการทำประชามติก่อนว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่อีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดที่ได้มีความเห็นภายหลังการตรวจสอบคำร้องของผู้ร้องแล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวมิได้มีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 291(1) วรรคสอง

ข้อ 4. ในการดำเนินการภายหลัง หากญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญแล้ว ในระหว่างที่สภาร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญอยู่นั้น สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภายังมีอำนาจตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 135 ในการตั้งคณะกรรมการวิสามัญของแต่ละสภา เพื่อทำหน้าที่พิจารณาศึกษาและติดตามการดำเนินการของสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทำการพิจารณาตรวจสอบความคืบหน้าและดำเนินการของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมีการรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นระยะ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับสมาชิกรัฐสภาได้ใช้ประกอบการพิจารณาเมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น และประธานรัฐสภา ได้บรรจุระเบียบวาระเข้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นเรื่องแจ้งเพื่อทราบ

ข้อ 5. เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว และได้นำเสนอต่อประธานรัฐสภา ประธานรัฐสภาจะทำการบรรจุระเบียบวาระเข้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นเรื่องแจ้งเพื่อทราบ ซึ่งสมาชิกรัฐสภาจะได้มีโอกาสในการร่วมกันอภิปรายและแสดงความคิดเห็น ซึ่งหากมีสมาชิกรัฐสภาเพียงคนใดคนหนึ่งมีข้อสงสัยในประเด็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ประธานรัฐสภาจะวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญไปในทางที่มีข้อสงสัยว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291/13 เพื่อให้รัฐสภาได้พิจารณาลงมติว่าจะให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไปหรือไม่

ข้อ 6. ประธานรัฐสภา ยังคงยืนยันในจุดยืนที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญและสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ว่า ตนจะไม่ใช้อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญไปโดยลำพังแต่จะใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ตามมาตรา 291/13 วรรคสองในการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีคุณสมบัติและมีความเป็นกลาง และมีความสมัครใจเพื่อทำหน้าที่พิจารณาตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยประธานรัฐสภาจะดำเนินการออกประกาศรัฐสภาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การตั้งคณะกรรมการ การพิจารณาและเสนอความเห็น ตลอดจนการวินิจฉัยโดยประกาศให้ประชาชนได้ทราบโดยทั่วไป และหากคณะกรรมการมีความเห็นในทางที่มีข้อสงสัยในประเด็นว่าร่างรัฐธรรมนูญมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ประธานรัฐสภาจะวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญไปในทางที่มีข้อสงสัยว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291/13 เพื่อให้รัฐสภาได้พิจารณาลงมติว่าจะให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไปหรือไม่ เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวไว้ในข้อ 5

ข้อ 7. การปฏิบัติหน้าที่ของประธานรัฐสภาภายหลังจากที่ปรากฎว่าได้มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 ฉบับ ขัดต่อรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งแจ้งมายังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแจ้งประธานรัฐสภาให้แจ้งต่อที่ประชุมรัฐสภา ให้รอการพิจารณาและได้มีความเห็นทางกฎหมายว่ารัฐสภาไม่ผูกพันตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ตาม แต่เนื่องจากประธานรัฐสภา ได้ประสงค์จะให้การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น โปร่งใส ไม่ก่อให้เกิดปัญหาความเคลือบแคลงใจในหมู่สาธารณชนว่า การดำเนินการของรัฐสภาอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาความวุ่นวายในบ้านเมือง ประธานรัฐสภาจึงได้เลื่อนการบรรจุระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สามออกไปสักระยะหนึ่ง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 เพื่อรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน

ในตอนท้าย นายสมศักดิ์ ได้ยืนยันในเจตนารมณ์ว่าการดำเนินการต่างๆ ได้กระทำโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 ทุกประการ และการดำเนินการต่างๆ ในส่วนของประธานรัฐสภาได้กระทำไปโดยมุ่งหวังความสงบสุขของบ้านเมืองเป็นประการสำคัญ จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้โปรดพิจารณาตามที่ได้มีคำแถลงการณ์ปิดคดีและได้โปรดวินิจฉัยให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5 คำร้อง พร้อมนี้ได้ยื่นสำเนาคำแถลงการณ์ปิดคดีโยข้อความถูกต้องเป็นอย่างเดียวกันอีก 9 ชุด

ด้านวอยซ์ทีวี รายงานความเห็นของนายชูศักดิ์ ศิรินิล ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ถึงการเขียนคำแถลงเปิดคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยนายชูศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งคำแถลงไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว โดยคำแถลงมีทั้งหมด 20 หน้า มีสาระสำคัญหลักๆ คือ หนึ่ง ชี้แจงว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องว่ามีการกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญม.68 และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณา เพราะความผิดตามม.68 กรณีการกล่าวหาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น ไม่สามารถยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ 

สอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญม. 291 เพื่อให้ ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้ และที่ผ่านมาก็เคยดำเนินการมาแล้ว

สาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง ขณะเดียวกันการแก้ไขรัฐธรรมนูญม. 291 ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรนูญทั้งฉบับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net