(เก็บตก) เสวนา “วิกฤตและความขัดแย้งทางการเมืองเชิงสถาบัน” เนื่องใน 80 ปี ประชาธิปไตย: รัฐศาสตร์กับ การเมืองไทย

อนุสรณ์ มองถ้ายึดแต่หลักเสียงข้างมากบ่อนทำลายกลไกตรวจสอบจะนำไปสู่อำนาจนิยมสมัยใหม่ภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย สุรชาติ เห็นว่าปัญหาใหญ่คือการจัดวางความสัมพันธ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ จาตุรนต์ ย้ำบทบาทของตุลาการภิวัฒน์ตรวจสอบไม่ได้และไม่ยึดโยงกับประชาชน รับรองการรัฐประหาร จุรินทร์ มองว่าเผด็จการรัฐสภาสร้างเงื่อนไขให้เกิดการยึดอำนาจ

 

9.20น. เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.55 ที่ ห้องประ ชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคาร ประชาธิปก-รำไพพรรณี คณะ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้มีการเสวนาหัวข้อ วิกฤตและความขัดแย้งทางการเมืองเชิงสถาบันวิทยากร ศ.ดร.อนุสรณ์ ลิ้มมณี อ.ประจำภาควิชาการปกครอง รศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ และดำเนิน รายการโดย รศ. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “ 80 ปี ประชาธิปไตย: รัฐศาสตร์กับการเมืองไทย ซึ่งจัดโดยหลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขา วิชาการเมืองและการจัดการปกครอง ร่วมกับ ศูนย์ติดตาม ประชาธิปไตยไทย (Thailand Democracy Watch)

0000

 

“...ถ้ายึดหลักเสียงข้างมากแล้วก็ดันทุรังเอาทุกอย่างตามที่ตนต้องการโดยไม่คำนึงว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนอื่น และไม่สนใจที่จะให้ใครตรวจสอบเพราะถือว่าตัวเองอยู่เสียงข้างมากอยู่แล้ว และพร้อมที่จะบ่อนทำลายกลไกตรวจสอบ มันก็อาจนำไปสู่รูปแบบของสิ่งที่เรียกว่าอำนาจนิยมสมัยใหม่ New Authoritarianism ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย..”

ศ.ดร.อนุสรณ์ ลิ้มมณี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

 

วิกฤติและความขัดแย้งทางการเมืองเชิงสถาบันของไทย เป็นเรื่องธรรมดามาก โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งเป็นประชาธิปไตย เพราะปัญหาความขัดแย้งระหว่างสภาหรือว่าฝ่ายตุลาการระหว่างฝ่ายที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลกับตัวรัฐบาลเป็นเรื่องที่เกิดทั่วไป จะเห็นได้ตั้งแต่ความขัดแย้งที่เกิดในลาตินอเมริกาหลายประเทศ เช่น เวเนซุเอลา ในกรณีของรัสเซีย ซึ่งประเด็นความขัดแย้งอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดามาก แต่ในแง่ของความรุนแรงเกิดภาวะวิกฤติที่กระทบต่อสังคมมันเป็นเรื่องที่น่ากังวล ดูไปแล้วความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในรอบ 80 ปี จริงๆแล้วเราพัฒนาประชาธิปไตยพร้อมกับความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ คือในด้านหนึ่งดูเหมือนว่าเราจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อีกด้านหนึ่งเรามีดีกรีของความขัดแย้งและขอบเขตของความขัดแย้งสูงขึ้นเรื่อยๆ

เราจะพบว่าในยุคแรกๆนี่ความขัดแย้งเป็นเรื่องของคนไม่กี่คนระหว่าผู้นำ 2 ฝ่ายที่ทะเราะกันว่าใครเป็นประชาธิปไตยมากกว่ากัน แล้วหลังจากนั้นก็มีการยกพลพักขึ้นมายึดอำนาจกันบ้าง กบฏกันบ้างก็แล้วแต่ว่าใครแพ้ใครชนะ แต่ปัจจุบันความขัดแย้งลามไปถึงชาวบ้าน ซึ่งแต่ก่อนเขาเคยมีฐานะเป็นผู้ถือหางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าชาวบ้านมีส่วนร่วมโดยตรงและเป็นคู่กรณีและตรงนี้มันนำไปสู่ภาวะวิกฤติทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเป็นห่วงเป็นใยกันอยู่

 

ความขัดแย้งเชิงสถาบันที่เกิดขึ้นในสังคมไทยว่ามันเป็นความขัดแย้งในแง่หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยสมัยใหม่

ความขัดแย้งในเชิงสถาบัน ซึ่งไม่กี่วันมานี้เราจะเห็นความขัดแย้งของ 2 คู่กรณีก็คือระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญ แล้วจะมองในแง่ไหน จริงๆมันมองได้หลายแง่หลายมุม สิ่งที่จะพูดมองเรื่องความขัดแย้งเชิงสถาบันที่เกิดขึ้นในสังคมไทยว่ามันเป็นความขัดแย้งในแง่หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่แสดงออกในรูปความขัดแย้งระหว่างสถาบันที่ทำหน้าที่ต่างกัน มองว่าที่มาของความขัดแย้งในระยะหลังๆนี่โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหลังการปฏิรูปการเมืองที่เราเห็นในปี 2540 มีรัฐธรรมนูญออกมาแล้วก็มีการปฏิรูปกว้างขวาง เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลไกด้านสถาบันที่ยึดโยงอยู่กับวิธีการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองและก็ยึดโยงอยู่กับอีกด้านหนึ่งก็คือเรื่องของการใช้อำนาจรัฐอย่างถูกต้อง ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย เป็นประเด็นที่มีการขัดแย้งและโยงใยอยู่กับสถาบันต่างๆ แน่นอนความขัดแย้งดังกล่าวมันเกิดจากการที่แต่ละฝ่ายพยายามจะผลักดันให้กลไกเชิงกระบวนการและสถาบันทางการเมืองในรัฐธรรมนูญนี่เป็นไปในด้านที่ตนเองจะได้เปรียบหรือได้ประโยชน์ และเชื่อว่าสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานประชาธิปไตยนั้นคือเป็นความขัดแย้งบนพื้นฐานของหลักการ

 

แต่ละฝ่ายยึดหลักการใดหลักการหนึ่งและก็ทะเลาะกัน ระหว่างหลักการเสียงข้างมากกับการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

แน่นอนวัตถุประสงค์จริงๆที่แต่ละฝ่ายอ้างหลักการคนละด้านกันนี่จะเป็นอย่างไรเราไม่รู้ แต่ทุกฝ่ายเปิดสงครามในนามของประชาธิปไตยทั้งคู่ แล้วก็อ้างหลักการซึ่งมองว่าเป็นหลักการ 2 ด้านและ 2 ด้านนี้เป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย พูดง่ายๆคือขา 2 ขาของประชาธิปไตย แต่ละฝ่ายยึดหลักการใดหลักการหนึ่งและก็ทะเลาะกันว่าของตัวเป็นประชาธิปไตยมากกว่ากัน ทั้งๆที่ 2 ด้านนั่นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับประชาธิปไตยสมัยใหม่ ตนมองประชาธิปไตยในแง่ที่พยายามตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องการได้มาซึ่งอำนาจว่าผู้ปกครองได้อำนาจมาอย่างไร กับคำถามอันที่ 2 ก็คือผู้ปกครองนั้นให้อำนาจอย่างไร จากคำถาม 2 คำถามนี่ระบอบประชาธิปไตยพยายามตอบคำถามนี้โดยสร้างหลักการขึ้นมา 2 หลักการ หลักการแรกคือหลักการเสียงข้างมาก หลักการนี้เป้าหมายมันก็คือเพื่อกำหนดแนวทางการปกครองให้สะท้อนความต้องการของคนส่วนใหญ่ ซึ่งอันนี้ก็เป็นหลักการทั่วไปที่เรารู้กันและเป็นหลักการเบื้องต้นของประชาธิปไตย สถาบันที่เป็นตัวแทนของหลักการอันนี้ก็คือตัวรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติ และในบางกรณีก็คือตัวรัฐบาลด้วยก็แล้วแต่ว่าจะกำหนดรูปแบบของการปกครองกันอย่างไร สถาบัน 2 สถาบันนี้เป็นสถาบันที่เชื่อมโยงกับประชาชนโดยตรงในแง่ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ในกรณีประเทศที่เป็นระบบประธานาธิบดีตัวผู้บริหารสูงสุดก็มาจากการเลือกตั้ง ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ระบบอะไร สถาบันเหล่านี้จะเชื่อมโยงกับเสียงข้างมาก

หลักการที่ 2 ซึ่งพัฒนามาในชั้นหลังโดยเฉพาะในศตวรรษที่ 17-18 ก็คือการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ อันนี้คือหลักการสำคัญที่พัฒนามาในระบอบเสรีประชาธิปไตย โดยให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมายหลักๆหรือที่เราเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญ เป้าหมายของหลักการอันนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้สถาบันที่มีอำนาจทั้งหลายนี่ โดยเฉพาะสถาบันที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายหรือสถาบันที่ใช้อำนาจรัฐค่อนข้างมากโดยเฉพาะรัฐบาล ป้องกันไม่ให้ใช้อำนาจในทางที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและต้องการให้สถาบันเหล่านั้นหรือองค์กรเหล่านั้นของรัฐ(16.10)พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำของตน นี่คือหลัก Accountability ความรับผิดชอบหรือความพร้อมที่จะรับผิดต่อการกระทำที่ตนเองทำไว้ในนามของอำนาจรัฐ

 

กลไกหลักที่ได้ผลชัดเจนในการตรวจสอบอำนาจรัฐอยู่ที่ฝ่ายตุลาการ

โดยปกตินี่หลัก accountability หรือความรับผิดชอบนี่สถาบันที่ใช้อำนาจรัฐจะต้องมีมันก็อาจจะรับผิดชอบต่อหลายฝ่ายและมีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่กลไกในการตรวจสอบอำนาจรัฐที่สำคัญที่สุดก็คือกลไกทางกฎหมาย ที่เขาเรียกว่า legal accountability ซึ่งประกอบด้วยกลไกการตรวจสอบในรัฐสภา กลไกการตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ กลไกการตรวจสอบโดยสถาบันอิสระทั้งหลายที่เราตั้งขึ้นมา กลไกการตรวจสอบเหล่านี้เราจะพบว่าในประเทศไทยหรือประเทศที่ปกครองในระบอบรัฐสภา กลไกของการตรวจสอบกันเองในรัฐสภามักจะทำงานไม่ได้ผล อย่างบ้านเราเรายึดมติพรรคเป็นหลัก ดังนั้นโอกาสที่จะออกเสียงสวนมติพรรคนี่เป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นกลไกในการตรวจสอบผ่านกฎหมายก็มักจะเป็นเรื่องของศาลทั้งหลาย ขึ้นอยู่กับว่าเรามอบอำนาจให้ศาลไหนเป็นผู้ตรวจสอบ นอกจากนั้นแล้วจริงๆก็มีกลไกอื่นๆที่ตรวจสอบอำนาจรัฐได้แต่มักจะไม่ได้ผลนักโดยเฉพาะกรณีที่รัฐนั้นไม่รับฟังหรือไม่ต้องการรับฟัง เช่น กลไกตรวจสอบทางสังคม social accountability ซึ่งก็เป็นเรื่องของกลุ่มคนต่างๆในสังคมออกมาตรวจสอบการทำงานของรัฐ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เช่น สื่อบ้าง ของกลุ่มผลประโยชน์บ้าง ของ NGO บ้าง อีกทางหนึ่งเป็นการตรวจสอบที่นานๆเกิดทีคือกลไกทางการเมืองที่เรียกว่า political accountability กลไกหลักก็คือเรื่องของการเลือกตั้งให้ชาวบ้านตรวจสอบ ทำงานไม่เป็นที่ถูกใจเขาก็ไม่เลือก กลไกเหล่านี้ก็ไม่แน่ว่าจะเห็นผลชัดเจน ดังนั้นกลไกหลักที่ได้ผลชัดเจนในการตรวจสอบอำนาจรัฐอยู่ที่ฝ่ายตุลาการ อย่างกรณีของเราที่ใช้ระบบศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการกระทำที่ละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราความขัดแย้งเชิงสถาบันจริงๆแล้วมันเป็นปัญหาที่ฝ่ายหนึ่งยึดหลักเสียงข้างมากแต่เพียงด้านเดียวโดยไม่สนใจเรื่องหลักการในแง่ของการคุ้มครองสิทธิและการตรวจสอบอำนาจรัฐ ส่วนอีกฝ่ายก็จะใช้หลักการตรวจสอบอำนาจรัฐ รวมทั้งเรื่องของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพต่างๆในการปกป้องตนเองจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของฝ่ายรัฐบาลเพราะว่าฝ่ายตนเป็นเสียงข้างน้อย และหากหาทางออกไม่ได้หลายครั้งหลายคราวเราจะเห็นว่าในบ้านเราฝ่ายนี้จะเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรูปของการยึดอำนาจซึ่งก็ไม่ค่อยถูกต้องนักเหมือนกัน

 

ยึดขาใดขาหนึ่งโดยที่ไม่มองขาอีกด้านหนึ่งหรือมีขาเดียว มีโอกาสที่จะสร้างความขัดแย้งขึ้นเรื่อยๆและไม่ได้ประชาธิปไตยอย่างที่ต้องการ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราที่สะท้อนออกมาในรูปของความขัดแย้งเชิงสถาบัน การยึดหลักการเพียงด้านเดียวนั้นโดยตัวมันเองมันไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลยมันนำไปสู่ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มหลายครั้งเกิดเผด็จการหรือระบอบอำนาจนิยมในรูปใดรูปหนึ่งขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะยึดขาใดขาหนึ่งโดยที่ไม่มองขาอีกด้านหนึ่งหรือมีขาเดียว มีโอกาสที่จะสร้างความขัดแย้งขึ้นเรื่อยๆและไม่ได้ประชาธิปไตยอย่างที่ต้องการ

หากเรามุ่งปกป้องตัวเองให้พ้นจากการใช้อำนาจไม่ถูกต้องของรัฐบาล แล้วเราไม่คำนึงถึงวิธีการที่เราจะมากำจัดรัฐบาลที่ใช้อำนาจไม่ถูกต้องเราก็อาจจะเปิดทางให้เกิดเผด็จการรูปแบบเดิมๆก็คือการยึดอำนาจโดยฝ่ายทหารหรือฝ่ายกองกำลังก็แล้วแต่แล้วสถาปนาสิ่งที่เรียกว่าเผด็จการทหาร เผด็จการโดยพรรคเดียวหรือเผด็จการโดยกลุ่มนายทุนขึ้นมาแทน หลายครั้งมันนำไปสู่สถานการณ์เช่นนั้นถ้าช่องทางในการแก้ปัญหาเชิงสถาบันที่มีอยู่นี่มันทำงานไม่ได้ คือทุกฝ่ายไม่ยอมรับการทำงานของสถาบันเหล่านั้นในการตรวจสอบอำนาจรัฐ แต่อีกด้านหนึ่งถ้ายึดหลักเสียงข้างมากแล้วก็ดันทุรังเอาทุกอย่างตามที่ตนต้องการโดยไม่คำนึงว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนอื่น และไม่สนใจที่จะให้ใครตรวจสอบเพราะถือว่าตัวเองอยู่เสียงข้างมากอยู่แล้ว และพร้อมที่จะบ่อนทำลายกลไกตรวจสอบ มันก็อาจนำไปสู่รูปแบบของสิ่งที่เรียกว่าอำนาจนิยมสมัยใหม่ New Authoritarianism ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตยในหลายที่ เช่น ระบอบอำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้ง คือพอเลือกตั้งแล้วมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดถือว่าได้เช็คเปล่ามาแล้วจะเขียนตัวเลขเท่าไหร่ก็ได้ ไม่มีใครมาคัดง้างได้ แล้วใครมาประท้วงก็อ้างเลยว่ามาจากประชาชน ประชาชนให้อำนาจแล้วจะทำอะไรก็ได้ นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ หรือเรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบมอบอำนาจ” คือเลือกตั้งได้แล้วอำนาจได้มาโดยสิ้นเชิงเรียกคืนไม่ได้ นี่ก็เป็นปัญหาอีกด้านหนึ่ง เป็นเผด็จการที่แฝงอยู่ในคราบประชาธิปไตย ซึ่งนับวันเราจะเจอกับระบอบอำนาจนอยมแบบนี้มากขึ้นถ้าเราไม่มีหลักการ 2 ด้านของประชาธิปไตย

ปี 2544 เป็นต้นมาเราได้เผชิญทั้ง 2 รูปแบบ รูปแบบที่รัฐบาลใช้อำนาจไม่บันยะบันยังไม่แคร์ใครทั้งสิ้น ซึ่งเราอาจจะเรียกว่า Electoral Democracy (ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง) หรือ Electoral Authoritarianism(ระบอบอำนาจนิยมจากการเลือกตั้ง) ก็แล้วแต่ เราก็เห็นแล้วการยึดอำนาจเป็นเผด็จการชั่วครั้งชั่วคราว นั่นล่ะคือบทเรียนที่เป็นข้อสรุปจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

 

ถ้าศาลมาจากการเลือกตั้ง สิ่งที่คุณคาดหวังในแง่ของความเป็นกลางความยุติธรรมมันคงไม่มีหรอก เป็นเรื่องธรรมดาคุณต้องเข้าข้างพวกของคุณ

ส่วนที่เราเห็นทะเราะกันในสภาก็ดี หรือว่าวิพากษ์วิจารณ์คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญผ่านทีวีบ้าง ผ่านโน้นผ่านนี่บ้าง นั่นคืออาการแสดงออกถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ที่นี้ถ้าเราสามารถผลักดันกลไกทั้งหลายของสถาบันมันดำเนินงานไปได้หาทางออกไปได้ เชื่อว่าพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยมันก็เกิดขึ้นได้ ให้หลักการใดหลักการหนึ่งเพียงหลักการเดียว โดยเฉพาะหลักการเสียงข้างมากมาครอบทั้งหมดนี่อันตราย เพราะปัญหาที่เราพอยู่ในปัจจุบันคือว่าฝ่ายเสียงข้างมากมักจะบอกว่าอีกฝ่ายหนึ่งที่ทำหน้าที่ตรวจสอบตัวเองนี่ สถาบันทั้งหลายไม่ได้มาจากประชาชน แต่สิ่งที่น่าคิดก็คือถ้ามาประชาชนผมว่าจะยิ่งยุ่งกว่านี้ คุณลองคิดดูถ้าศาลมาจากการเลือกตั้งอะไรจะเกิดขึ้น สิ่งที่คุณคาดหวังในแง่ของความเป็นกลางความยุติธรรมมันคงไม่มีหรอก เป็นเรื่องธรรมดาคุณต้องเข้าข้างพวกของคุณ เพราะฉะนั้นในทุกสังคมที่มีระบอบประชาธิปไตยอยู่มีการตรวจสอบอย่างจริงจังมันก็ต้องมีสถาบันใดสถาบันหนึ่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นคนกลางในการตรวจสอบความถูกต้อง ความไม่ชอบมาพากลในการใช้อำนาจตามหลักกฎหมายตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่

ส่วนจะบอกว่ามันไม่ยึดโยงกับเสียงข้างมากเลย จริงๆมันไม่ใช่ในทุกประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นระบอบที่ใช้ระบบประธานาธิบดีหรือรัฐสภาก็ตาม องค์กรตรวจสอบพวกนี้จะต้องผ่านการสรรหา การเสนอชื่อการแต่งตั้งโดยองค์กรที่มาจากประชาชน โดยเฉพาะสภาทั้งสิ้น อย่างของเราอาจจะมี ส.ส.มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องของการสรรหา วุฒิสภามีส่วนในการออกเสียงตั้งใครหรือไม่ตั้งใครก็ตามที่อยู่ในองค์กรอิสระทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจะบอกว่าไม่ยึดโยงก็คงไม่ได้ สถาบันเหล่านี้มีความสำคัญพอๆกันในเรื่องของการค้ำประกันความอยู่รอดของประชาธิปไตย และไม่มีสถาบันใดสถาบันหนึ่งที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนกันได้ เพราะว่าถ้าปล่อยให้สถาบันใดสถาบันหนึ่งครอบงำได้ทั้งหมดนี่ อันนั้นจะเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะเราต้องการผู้ปกครองมาจากความยินยอมของเราสะท้อนเสียงข้างมากของประชาชน ขณะเดียวกันเราต้องการรัฐบาลหรือผู้ปกครองที่ใช้อำนาจอย่างชอบธรรมถูกต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของใคร

หลายฝ่ายที่จะลดอำนาจสถาบันตรวจสอบหรือไม่มีเสียเลยนั้น ตรงนี้เป็นจุดอันตรายอีกด้านหนึ่ง เราจะได้ประชาธิปไตยเฉพาะในรูปแบบเท่านั้น นี่คือหนทางที่เราจะผลักดันให้เกิดขึ้นคือการมีดุลยภาพระหว่าง 2 ด้าน เพื่อที่เราจะได้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง มีผู้ปกครองที่มาจากเสียข้างมาก ขณะเดียวก็มีการตรวจสอบว่าผู้ปกครองคนนั้นหรือกลุ่มนั้นหรือพรรคนั้นใช้อำนาจอย่างไรด้วย และปัญหาความขัดแย้งมันคงบรรเทาไป แต่โดยธรรมชาติของการเมืองความขัดแย้งมันเป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่ขอให้ความขัดแย้งอันนั้นไม่ขยายตัวจนเกิดภาวะสงคราม ซึ่งตรงนี้คือจุดอันตรายของสังคมไทย เพราะเราสร้างภาวะสงครามขึ้นมานานโดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคิดว่ามันเป็นพัฒนาการที่เลวร้ายลง และถ้ามองในแง่แนวคิดทางรัฐศาสตร์มันไม่เป็นผลดีในแง่การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เพราะอย่าลืมว่าปีนี้เป็นปีที่ 80 ที่เราต้องการพัฒนาและมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆเพื่อเป็นประชาธิปไตย แต่จนถึงบัดนี้เราก็ไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งที่มั่นคงได้ เรายังอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่านหัวเลี้ยวหัวต่อของประชาธิปไตยอยู่เรื่อยๆ อย่างช่วง 40 เราก็พยายามปฏิรูปแล้วคิดว่าไม่มีปัญหา แต่สักพักหนึ่งเราก็ย้อนกลับไปสู่สภาวะเดิมอีกก็คือเริ่มต้นกันใหม่ ถ้าเราไม่ต้องการอยู่ในภาวะชะงักงัน หลักการทั้ง 2 หรือสถาบันที่เกี่ยวข้องกับหลักการทั้ง 2 นี่เราจะต้องประคองเอาไว้และให้มันทำหน้าที่ของมันอย่างดีที่สุด ถ้ามันมีความขัดแย้งก็หาทางออกภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ และตรงนั้นมันจะนำไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้นานแล้วก็คือการเป็นประชาธิปไตยที่เต็มรูปแบบ

 

0000

color:#C00000"> 

“...วันนี้อำนาจถูกเอาไปฝากด้วยความเชื่อที่ว่าสถาบันตุลาการนั้นเป็นสถาบันที่ดีที่สุด เที่ยงตรงที่สุด เที่ยงธรรมที่สุดนั้น เกิดเพราะทัศนะคติทางการเมืองชุดหนึ่ง ซึ่งฝังรากในสังคมไทยแต่เรามีคำเรียกหลายอย่าง ทัศนคติชุดนี้เกิดในลาตินอเมริกาหลังปี 1960  แล้วเกิดเป็นแนวโน้มใหญ่ในบรรดาประเทศแถบลาตินอเมริกา ศัพท์ภาษาทางรัฐศาสตร์เรียก Anti Politics หรืออุดมการณ์ต่อต้านการเมือง...”

รศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เรามักจะคุ้นเคยกับคำพูดที่ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยครั้งแรกเกิดในปี 2475 แต่คิดว่าถ้าดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยจริงๆ ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งแรกของไทยนี่มันเกิดในเหตุการณ์ที่เราเรียกว่า ร.ศ.130 ถ้าเราย้อนกลับไปดูกลุ่มความคิดที่เริ่มก่อตัวในทหารหนุ่มๆนี่เริ่มในปี 2452 และเคลื่อนไหวในปี 2453 และก็ได้รับอิทธิพลอย่างมากของขบวนการที่เกิดขึ้นในสังคมจีนของ ดร.ซุน ยัดเซ็น พอถึงปี 2454 เข้าใจว่าข่าวเริ่มรั่วทางฝ่ายรัฐเริ่มส่งคนเข้ามาเกาะการประชุม ก็ถูกกวาดล้างยกคณะ ดังนั้นความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองที่จะเป็นประชาธิปไตยอย่างที่เราพูดถึงว่าที่จริง มันเริ่มจริงๆตั้งแต่ปี 2452, 2454 แต่ประสบความสำเร็จจริงๆมันใช้เวลา 21 ปีหลังจากเหตุการณ์นั้น

 

ความหวังที่จะสร้างให้ “ระบอบรัฐธรรมนูญ” เกิดขึ้นในการเมืองไทย

เมื่อกลุ่ม 2475 ประสบความสำเร็จ เราเห็นภาษาตัวหนึ่งที่ใช้มากในยุคแรกๆ คือความหวังที่จะสร้างให้ “ระบอบรัฐธรรมนูญ” เกิดขึ้นในการเมืองไทย มีนัยความหมายใหญ่ 2 ประการ

  1. เป็นการปกครองโดยสามัญชน

  2. และสถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

 

การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองไทยได้ทั้งหมด

แต่ถ้าเราสังเกตหลัง 2475 ความขัดแย้งเกิดเป็นระลอก การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองไทยได้ทั้งหมด เราอาจจะนึกไม่ถึงเลยในปี 2476 นั้น เกิดรัฐประหาร 2 ครั้งและเกิดกบฏอีก 1 ครั้ง

ความขัดแย้งหลัง 2475 ถ้าเรามองภาพมหาภาคมันเห็นชัดถึงการต่อสู้ระหว่าง “กลุ่มรัฐธรรมนูญนิยม” ก็คือกลุ่มคณะราษฎร กับ “กลุ่มราชานิยม” ซึ่งยังตกค้างหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง การต่อสู้ชุดนี้จบลงหลังรัฐประหารในวันที่ 8 พ.ย.2490 วันนี้เราพูดถึง 2475 เราอาจลืมนึกไปว่าคณะราษฎรมีจุดจบในปี 2490 ยุค 2475 มีอายุจริงๆเพียง 15 ปี และก็ตอกย้ำด้วยการสิ้นสุดอย่างแท้จริงในปี 2492 คือกบฏวังหลวง

หลังจากนั้นทิศทางการเมืองไทยถูกครอบงำด้วยการสมานฉันท์ระหว่าง “กลุ่มทหารนิยม” กับกลุ่มราชานิยมแล้วก็ครอบทิศทางการเมืองไทยมาโดยตลอด คิดว่าจุดสูงสุดก็คือการขึ้นสู่อำนาจของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ การสร้างระบอบทหารที่เข้มแข็งในการเมืองไทย กลุ่มทหารนิยมอยู่ในการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2490 ผมคิดว่าเราเห็นการเปลี่ยนแปลงในปี 2516 กลุ่มนี้เริ่มพ่ายแพ้ในการเมืองไทย แต่พอถึงปี 19 ปี 20 ก็หวนกลับมาใหม่และดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องจนกระทั้งปี 31

 

ปัญหาใหญ่คือการจัดวางความสัมพันธ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไทยมันเป็นการเปลี่ยนผ่านที่อำนาจถอยไปกลับไปกลุ่มทหารนิยมค่อนข้างมาก แล้วหวนกลับมาด้วยเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่งก็คือรัฐประหารปี 34 ของ รสช. จนกระทั้งมาพ่ายแพ้ทางการเมืองในปี 35 การที่กลุ่มทหารฟื้นอำนาจของตัวเองได้ในปี 34 แต่พ่ายแพ้ในปี 35 นั้น คิดว่าก่อให้เกิดปัญหาในสภาพที่ อ.อนุสรณ์เรียกว่าในระบอบประชาธิปไตยใหม่นั้น มันมีปัญหาที่ซ่อนตัวอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาใหญ่คือการจัดวางความสัมพันธ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ เพราะฉะนั้นจุดจบของปัญหามันเห็นหลังปี 34 กองทัพอาจถูกบังคับให้ถอยออกจากการเมือง แต่พอถึง ก.ย.49 กลุ่มทหารนิยมก็ฟื้นอำนาจใหม่ แต่การฟื้นอำนาจของทหารหลังปี 49 นั้น เป็นการฟื้นอำนาจที่เผชิญการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยชุดที่ใหม่ที่สุด ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลผลิตจากระบอบทหารเอง วันนี้เราต้องยอมรับว่ารัฐบาลที่สร้างชนชั้นกลางไทยนั้นคือรัฐบาลของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เริ่มต้นด้วยการนำเอารายงานของธนาคารโลกมาเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติของไทยฉบับที่ 1 มองอีกมุมหนึ่งคือจุดเริ่มต้นของการก่อรากฐานทุนนิยมสมัยใหม่ของสังคมไทยยุคหลังสนธิสัญญาเบาว์ริงปี 1855

 

ชนบทมีพลวัตมากกว่าที่เราคิด

เพราะฉะนั้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจมันไปสร้างทำให้ชนบทมีการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น คิดว่าสิ่งที่เราเห็นในระยะยุคหลังๆคือ ชนบทมีพลวัตมากกว่าที่เราคิด เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ชนบทอาจจะมากกว่าที่เราคิด จากผลพวงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและการขยายการศึกษา การขยายตัวของการศึกษาในภาคชนบทในภาคการศึกษาระดับสูงที่เกิดขึ้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง รวมถึงการขยายตัวของระบบทุนนิยมท้องถิ่นที่ผนวกกับการขยายตัวของการเมืองภาคท้องถิ่น วันนี้เราเห็นตัวแบบอีกชุดหนึ่งการขยายตัวของทุนนิยมท้องถิ่นบวกการขยายตัวของการเมืองท้องถิ่นก็คือตัวแบบของ อบต. อบจ. วันนี้ในท้องถิ่นเรามี อบต. อบจ. เป็นส่วนงานหลัก เราเห็นน้ำท่วมปีที่ผ่านมาจะเห็นบทบาทของ อบต. อบจ. ที่เข้มแข็งในหลายจังหวัด

 

นโยบายของไทยรักไทยที่ดึงเอาชนบทนั้นเข้ามาเชื่อมกับพรรคการเมืองได้

ในขณะที่ชนบทเกิดพลวัฒน์นั้น นโยบายของพรรคไทยรักไทย ไม่ OTOP ไม่ว่าจะกรณีกองทุนหมู่บ้านนั้น ยิ่งกระตุ้นพลวัฒน์ชนบทให้มากขึ้น พลวัฒน์ในจุดนี้ผูกโยงชนบทเข้ากับพรรคการเมืองที่เสนอขายนโยบาย เราอาจจะเรียกประชานิยม ก่อนปี 2544 ก่อนขึ้นสู่อำนาจของพรรคไทยรักไทยนี่เราจะเริ่มเห็น การเปลี่ยนแปลงการเมืองชุดใหญ่เป็นผลพวงมาจากนโยบายของไทยรักไทยที่ดึงเอาชนบทนั้นเข้ามาเชื่อมกับพรรคการเมืองได้

 

การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ขยายตัวมากขึ้นในชนบทนั้น ยังผูกโยงกับชนชั้นล่างในเมือง

เพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ขยายตัวมากขึ้นในชนบทนั้น ยังผูกโยงกับชนชั้นล่างในเมือง คิดว่าอันนี้เป็นตัวแบบที่เราจะต้องเริ่มพิจารณา ตัวแบบถ้านึกไม่ถึงเมืองไทยคิดว่าตัวแบบในโลกอาหรับแบบเดียวกัน “อาหรับสปริง” นี่ ไม่ใช่เรื่องของการเคลื่อนไหวของชาชั้นกลางในเมืองทั้งหมด แต่ในอาหรับสปริงที่เราเห็นนี่เราเห็นการเคลื่อนไหวของชนชั้นล่างในเมือง แต่บริบทนี้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นไม่มากนัก

 

รัฐประหาร 49 เหมือนการเปิดกล่องแพนโดร่า (Pandora)

ดังนั้นในสภาพที่เรามีประชาธิปไตยใหม่ กระแสพลวัฒน์ในชนบท บวกกับการก่อตัวของปัญหาใหม่ๆ บวกกับการเคลื่อนไหวของฐานล่างของคนในเมือง คิดว่ามันทำให้เกิดสภาพความท่าท้ายมากกับประชาธิปไตยใหม่ สถาบันการเมืองต้องการระยะเวลาในการพัฒนาตัวเอง ในขณะเดียวกันสิ่งที่เราเห็น ความขัดแย้งบางชุดมันซ่อนอยู่กับสังคมไทย ดังนั้นถ้าคิดเล่นๆรัฐประหารปี 49 เหมือนอะไร คิดว่ารัฐประหาร 49 นี่ถ้าใช้สำนวนฝรั่ง เหมือนการเปิดกล่องแพนโดร่า (Pandora) ที่เอาอะไรไม่รู้ใส่ไว้อยู่ในกล่องแล้วเราปิดมันไว้โดยหวังว่าเราจะปิดกล่องแพนโดร่าได้นานเท่านานที่สุด แต่รัฐประหาร 49 เกิดมันไปเปิดกล่องที่บรรจุความขัดแย้งบางอย่างในสังคมไทย คิดว่าความขัดแย้งชุดหนึ่งสิ่งที่เราเริ่มเห็นคือปัญหาความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท ปัญหาความขัดแย้งในบริบททางชนชั้นแต่เกิดในบริบทที่พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นจักรกลของการเคลื่อนไหว คิดว่าในช่วงที่ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) อยู่เคลื่อนไหวนั้นรูปแบบของความขัดแย้งทางชนชั้นอย่างที่เราเห็นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

นอกจากนี้ยังซ่อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใหญ่คือโครงสร้างและปัญหาความสัมพันธ์ของอำนาจทางการเมืองใน 2 ส่วน คือ

  1. ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง

  2. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นล่างกับกระบวนการเลือกตั้ง

โจทย์ 2 โจทย์นั้นไม่ได้ถูกตอบรวมถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่คือความขัดแย้งในระบบทุนนิยม ซึ่งทุนนิยมโลกที่ขับเคลื่อนด้วยโลกาภิวัตน์นั้นมีส่วนต่อต่อการขับเคลื่อนทุนนิยมไทย ผลพวกที่เราเห็นคือการต่อสู่อีกบริบทหนึ่งคือการต่อสู้ระหว่างทุนเก่ากับทุนใหม่

ในสภาพอย่างนี้คิดว่า ชนชั้นนำไทยกับผู้นำทหารอาจจะไม่ค่อยตระหนักว่าความเปลี่ยนแปลงมันเกิดทั้งในเชิงโครงสร้างและเชิงการจัดสรรอำนาจทางการเมือง หรือสิ่งที่พวกเขาไม่เห็นมากที่สุดก็คือมองไม่เห็นถึงการขยายตัวของการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เกิดขึ้นระดับล่างที่มากขึ้น เพราะฉะนั้นรัฐประหารปี 49 ถ้าเราคิดในกรอบของเครื่องมือทางการเมือง รัฐประหารคือความเชื่อว่าการยึดอำนาจจะเป็นเครื่องมือที่ใช้พลังทางอำนาจทางการทหารในการควบคุมระบบทางการเมือง และหวังว่าการควบคุมนั้นจะสร้างผลตอบแทนที่ตัวเองต้องการ แต่รัฐประหารปี 49 ควบคุมระบบการเมืองไม่ได้และไม่สร้างผลิตผลที่เป็นไปตามความปรารถนาของกลุ่มชนชั้นนำและผู้นำทหาร ถ้าเปรียบเทียบกับรัฐประหารทั้งหมดรัฐประหารปี 49 เป็นรัฐประหารที่เผชิญกับความท้าทายมากที่สุด

 

ปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาการจัดสรรอำนาจทางการเมืองจะเห็นปัญหาประมาณ 10 เรื่อง

ความเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากปี 49 จนถึงปัจจุบัน คิดว่ามันสะท้อนภาพของปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาการจัดสรรอำนาจทางการเมือง ถ้ามองแล้วโยงไปข้างหน้าผลพวงอย่างนี้เราเราจะเห็นปัญหาประมาณ 10 เรื่อง ซ่อนอยู่กับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น

  1. วันนี้สังคมการเมืองไทยเผชิญกับความไร้เสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน เพราะถ้าเรามองการเมืองไทยในอดีตมีวิธีการจัดการกับความขัดแย้งที่จะทำให้เสถียรภาพเกิดและมักจะใช้ระยะเวลาสั้นๆ แต่รอบนี้ความขัดแย้งไม่ได้เริ่มที่รัฐประหารปี 49 คิดว่าความขัดแย้งเกิดก่อนปี 49 แต่รัฐประหารปี 49 นั้นเป็นจุดที่สะท้อนให้เห็นว่าความขัดแย้งได้ขึ้นสู่สูงสุด

  2. วันนี้คงต้องตอบและยอมรับว่าสังคมไทยอยู่ในสภาวะของการเผชิญหน้าและการแตกแยก หรือเกิดความเป็นขั้ว หรือ Polarization สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ถ้าเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ปี 2519 อาจจะสร้างความแตกแยก แต่รอบนี้แตกแยกในความเป็นขั้วหนักกว่า

  3. จะทำอย่างไรกับการเมืองภาคประชาชนที่ยังอ่อนแอ ความอ่อนแอเป็นผลมาจากโครงสร้างรัฐธรรมนูญ เป็นผลจากการใช้อำนาจขององค์กรอิสระบางอย่าง ทำอย่างไรที่จะสร้างการจัดสรรอำนาจที่เกิดขึ้นเพื่อลดทอนความอ่อนแอของการเมืองภาคพลเรือน

  4. พลังอนุรักษ์นิยมขับเคลื่อนผ่านเสาหลัก 5 เสา(ตุลาการภิวัฒน์, ประชาภิวัฒน์, สื่อภิวัฒน์, ปัญญาชนภิวัฒน์และเสนาภิวัฒน์) ในอดีตเรามักจะนึกถึงการรัฐประหารเป็นเครื่องมือหลัก แต่วันนี้เราเห็นเครื่องแบบของเครื่องมือชุดใหม่ๆ วันนี้หนีไม่พ้นถึง “ตุลาการภิวัฒน์” และการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ เป็นอะไรที่เราเห็นตั้งแต่กรณียุบพรรค มีคนประดิษฐ์คำอีกคำหนึ่งคู่ขนานกับตุลาการภิวัฒน์คือ “ประชาภิวัฒน์” คือขับเคลื่อนการเมืองโดยคนบนถนน “สื่อภิวัฒน์” สื่อกระแสหลักยืนอยู่ในชุดความคิดชุดเดิม “ปัญญาชนภิวัฒน์” วันนี้เราเห็นตัวแบบของปัญญาชนที่ออกมาทำหน้าที่ปกป้องการรัฐประหารหรือีส่วนผลักดันให้ทิศทางการเมืองไทยไปสู่แนวอนุรักษ์ “เสนาภิวัฒน์” ใช้คำนี้ในความหมายที่ไม่ใช่การรัฐประหารแต่เป็นการใช้อำนาจทางทหารเพื่อการกดดันทางการเมือง ทิศทางของเสาหลักพลังอนุรักษ์นิยม 5 ส่วนนี้จะยังขับเคลื่อนต่อไปเรื่อยๆ

  5. ต้องยอมรับว่าการเมืองไทยนับจากที่เราเห็นมาและก็เป็นในอนาคตนั้นมีลักษณะที่เรียกว่า Mass Politics คือเป็นการเมืองของมวลชน หรือเป็นการเมืองที่อยู่บนท้องถนนมากขึ้น

  6. พลังของการรัฐประหารไม่เหมือนเก่า พลังของการยึดอำนาจของทหารก็ไม่เหมือนเก่าหรือพูดง่ายๆว่า “วันนี้คนไม่กลัวทหาร คนไม่กลัวรถถัง” ภาพของชายจีนที่ยืนหน้ารถถังในกรณีจัตุรัสเทียนอันเหมิน คิดว่าเราเห็นในกรณีของไทยในบางแบบ เช่นกรณีคุณลุง(นวมทอง ไพรวัลย์) ที่ขับรถแท็กซี่ชนรถถัง เป็นต้น วันนี้ต้องเริ่มคิดใหม่กับบทบาทของทหารกับการเมืองไทย

  7. ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราเห็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ เห็นประเด็นใหม่ เห็นวาทกรรมใหม่ เห็นตัวแสดงใหม่ โจทย์ชุดนี้มากับกระแสใหม่อีกชุดหนึ่ง

  8. ในทิศทางการเมืองแบบนี้ ชนชั้นนำและกลุ่มที่มีอำนาจในสังคมไทยนั้นยังเชื่อประชาธิปไตยที่จำเป็นนั้น ต้องเป็นในภาษาที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบชี้นำ” หรือเชื่อว่าประชาธิปไตยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของชนชั้นนำซึ่งกำลังถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ

  9. ไม่มีแนวโน้มของการประนีประนอมและการปรองดองในสังคมไทย ถ้าจะเกิดก็เกิดบน 2 เงื่อนไขคือ หนึ่ง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะเด็ดขาด เพื่อสร้างระเบียบทางการเมืองชุดใหม่ หรือ สอง ตัวแบบในแอฟริกาใต้คุยกันไปเรื่อยๆจนกระทั้งถึงจุดยุติ ที่ตกลงว่าต่างฝ่ายต่างยอม แต่การเมืองไทยไม่เกิดบริบททั้ง 2 นี้เลย

  10. วันนี้ต้องยอมรับว่าโลกรอบๆรัฐไทยกำลังเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทยที่จะหวนคืนสู่ระบอบอำนาจนิยมนั้นวันนี้ถูกท้าทายมากที่สุดเมื่อพม่าตัดสินใจเปิดประเทศ เมื่อวันนี้ อองซาน ซูจี เริ่มสมานฉันท์และปรองดองกับผู้นำทหารที่เนปีดอ วันนี้เราเป็นอองซาน ซูจี เยือนไทย เดินสายที่ยุโรปเรียกร้องให้ชาติหมาอำนาจในยุโรปยกเลิกแซงก์ชันพม่าและกลับเข้าไปลงทุน ในขณะที่นายกเต็ง เส่ง ประการว่าวันนี้ต้องปฏิรูปการเมืองและต้องเปิดเศรษฐกิจพม่า เราอาจตีความว่านายกเต็ง เส่ง และ ซูจี ทะเราะกัน แต่ถ้าดูทิศทางการเมืองแล้วไม่ใช่เช่นนั้น เพราฉะนั้นกระแสในภูมิภาคกำลังเป็นกระแสประชาธิปไตย กระแสที่เป็นเสรีนิยมมากขึ้น

เพราะฉะนั้นทิศทางการเมืองไทยกำลังถูกปิดล้อมด้วยโลกภายนอก ทิศทางใหญ่ๆ 10 ประการยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่คาราคาซังสำหรับสังคมไทย

วันนี้ปัญหาคู่ขัดแย้งเป็นปัญหากระบวนการคิดกระบวนทัศน์ต่อปัญหาประชาธิปไตย ประชาธิปไตยแบบชี้นำ vs ประชาธิปไตยที่ผ่านเสียงของคนส่วนใหญ่

ความขัดแย้งในสังคมไทยในรอบนี้ไม่ว่าจะนับก่อนหรือหลังรัฐประหาร วันนี้ในสายตารอบบ้านประเทศไทยเป็นเหมือนคนป่วยแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุดแบบนี้เราเคยคิดว่าฟิลิปปินส์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วันนี้การเมืองไทยเป็นวิกฤติใหญ่และวิกฤติชุดใหม่ที่ไม่เหมือนในอดีต เนื่องจากความขัดแย้งในอดีตเป็นความขัดแย้งในหมู่ผู้มีอำนาจ ผู้ปกครองด้วยกันเอง หรือหลายครั้งเป็นเพียงความขัดแย้งในหมู่ผู้ใหญ่ในกองทัพเท่านั้นเอง แต่โจทย์ทุกวันนี้ไม่ใช่

ถ้าสรุปภาพรวมอีกมุมหนึ่งวันนี้ปัญหาคู่ขัดแย้งเป็นปัญหากระบวนการคิดกระบวนทัศน์ต่อปัญหาประชาธิปไตย ถ้าเรานั่งดูข้อถกเถียงทั้งหมด การเปิดประเด็นการเปิดวาทกรรมต่างๆในสังคมไทยมีอยู่ 2 ส่วนเท่านั้นเอง ในหมู่อนุรักษ์นิยมเชื่อว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นประชาธิปไตยแบบชี้นำ หรือ Guided Democracy คือประชาธิปไตยที่ถูกควบคุมหรือกำกับของบรรดาชนชั้นนำหรือผู้นำทหาร คนอีกส่วนหนึ่งวันนี้บอกไม่ใช่ ประชาธิปไตยนั้นเป็น Popular Democracy หรือเป็นประชาธิปไตยที่ผ่านเสียงของคนส่วนใหญ่ วันนี้ถ้ามองใน 2 ชุดความคิดนี้เป็นปัญหาคู่ขัดแย้ง

 

Anti Politics หรืออุดมการณ์ต่อต้านการเมือง

ตัวแบบศาลรัฐธรรมนูญไทยในวันนี้มันมีตัวเปรียบเทียบ จะเห็นตัวแบบศาลรัฐธรรมนูญในอิยิปต์ ในปากีสถาน เอาเข้าจริงตัวแบบศาลรัฐธรรมนูญไทยนี่จิ๊บจ้อยเลย แต่อยู่ในแนวโน้มเดียวกัน คนอิยิปต์ออกมาชุมนุมต่อต้านศาลรัฐธรรมนูญการปฏิวัติอิยิปต์ไม่จบ แต่กระแสชุนนี้น่าสนใจ การแสชุดนี้มากับอำนาจสถาบันตุลาการ หรือวันนี้อำนาจถูกเอาไปฝากด้วยความเชื่อที่ว่าสถาบันตุลาการนั้นเป็นสถาบันที่ดีที่สุด เที่ยงตรงที่สุด เที่ยงธรรมที่สุดนั้น เกิดเพราะทัศนะคติทางการเมืองชุดหนึ่ง ซึ่งฝังรากในสังคมไทยแต่เรามีคำเรียกหลายอย่าง ทัศนคติชุดนี้เกิดในลาตินอเมริกาหลังปี 1960  แล้วเกิดเป็นแนวโน้มใหญ่ในบรรดาประเทศแถบลาตินอเมริกา ศัพท์ภาษาทางรัฐศาสตร์เรียก Anti Politics หรืออุดมการณ์ต่อต้านการเมือง อุดมการณ์ต่อต้านการเมืองอยู่บนฐานคติ 3 อย่าง

  1. ไม่เชื่อเรื่องการเลือกตั้ง

  2. ไม่ชอบนักการเมือง

  3. ชอบคนกลาง (ทหาร)

สรุปรวมทัศนคติทางการเมืองชุดนี้เชื่ออย่างเดียวว่านักการเมืองไม่มีศีลธรรมเพียงพอเท่ากับคุณธรรมสูงส่งของผู้นำที่มาจากคนกลาง ในลาติอเมริกาผูกโยงกับสถาบันทหารและสถาบันทางศาสนา ต่างจากกรณีในไทยที่เป็นสถาบันระดับสูง เป็นเพราะ อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง ใช่ไหมในสังคมไทยตอนนี้

 

0000

color:#C00000"> 

“...การเอาฝ่ายตุลาการเข้ามาจัดการความขัดแย้งทางการเมือง โดยให้เหตุผลว่าฝ่ายตุลาการนี้ปลอดจากการเมืองแล้วจะรักษาสิทธิเสรีภาพความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้ แต่ว่าสิ่งที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงในประเทศไทยก็คือฝ่ายตุลาการไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ไม่มีประวัติช่วยรักษาเสรีภาพของประชาชนมาเหมือนในประเทศอื่น ฝ่ายตุลาการรับรองการรัฐประหารเสร็จก็เข้ามามีบทบาทอย่างมากภายใต้เนื้อหา ระบบและกลไกตามรัฐธรรมนูญ…”

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย color:#C00000">

 

 

80 ปีส่วนใหญ่เราถูกปกครองโดยผู้ปกครองที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนอยู่ในฐานะที่มีอำนาจมากกว่าหรือครอบงำอยู่

80 ปีมานี้เป็นปัญหาที่สำคัญอยู่ที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยจริงหรือไม่และเป็นแค่ไหน และมีความขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจหรือองค์กรที่มีอำนาจที่ยึดโยงกับประชาชนฝ่ายหนึ่งกับที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งจะพบว่าประเทศไทยเราปกครองกันมาโดยผู้ปกครองที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ปกครองโดยลำพังค่อนข้างจะนาน และยังเป็นการปกครองโดยผู้ปกครองที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนอยู่ในฐานะที่มีอำนาจมากกว่าหรือครอบงำอยู่ เป็นส่วนใหญ่ของ 80 ปีมานี้ มีการพยายามจะสร้างและพัฒนาระบบรัฐสภา ระบบพรรคการเมืองอยู่ระยะสั้นๆ

ประชาธิปไตยครึ่งใบ ช่วงปี 23-31 เรามีรัฐบาลที่มีนายกคนกลาง นอกจากเรามีนายกคนกลางแล้วเรามีสภาที่ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งโดยนายก ส่วนใหญ่เป็นผู้คุมกำลังในกองทัพ และ ส.ว.ก็มีอำนาจในการพิจารณากฎหมายสำคัญ ซึ่งหมายความว่าสามารถที่จะคุ้มหรือล้มรัฐบาลเมื่อไหร่ก็ได้ เป็นการสร้างหลักประกันให้กับผู้ที่จะมาเป็นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของกองทัพ ประชาธิปไตยครึ่งใบถ้าพูดในเชิงอำนาจแล้ว อำนาจก็อยู่กับฝ่ายที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน อยู่กับผู้ที่สามารถกุมกำลังกองทัพของประเทศนี้ได้ โดยก็มีพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองก็จะมีบทบาทน้อยเพราะว่านโยบายต่างๆกำหนดโดยสภาพัฒน์ โดยการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีที่มีนายกเป็นคนกลางไม่สังกัดพรรคการเมือง

ระบบพรรคเการมเมืองไม่พัฒนาเท่าไหร่นักแต่ว่ายังคงอย่าได้มีความต่อเนื่องพอสมควรจากปี 18 เป็นต้นมา จนกระทั้งเริ่มมีนายกเป็น ส.ส.ในปี 31 อยู่ได้แค่ปี 34 ก็เกิด รสช.ยึดอำนาจ แต่ผู้ยึดอำนาจพยายามสืบทอดอำนาจก็อยู่ไม่ได้ประชาชนไม่ยอม ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ นายกต้องมาจาก ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง ปี 35 มาถึงปี 44 ในระหว่างนั้นมีการปฏิรูปการเมืองมีการแก้รัฐธรรมนูญปี 40

 

รัฐธรรมนูญปี 40 ส่งผลให้ เกิดพัฒนาการของระบบพรรคการเมือง ความเข้าใจของประชาชนต่อนโยบายพรรคการเมือง

ปี 2544 มีการใช้รัฐธรรมนูญปี 40 อย่างเป็นรูปประธรรมเป็นครั้งแรก เป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ให้มีการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้พรรคการเมืองมีการแข่งเป็นพรรคต่อพรรค และนำเสนอว่าใครจะเป็นนายก นำเสนอว่าจะมีนโยบายอย่างไรในการบริหารประทศ ประชาชนก็ได้เรียนรู้ในเรื่องนี้อย่างมากในปี 2544, 2548 ที่มีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 40 ได้เกิดพัฒนาการที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ เกิดพัฒนาการของระบบพรรคการเมือง ความเข้าใจของประชาชนต่อพรรคการเมือง ต้องการเลือกตั้ง ความเข้าใจของประชาชนต่อนโยบายพรรคการเมือง ได้เกิดขึ้นและพัฒนาอย่างมาก

 

ปี 49 เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สวนกับพัฒนาการที่ผ่านมา

ปี 49 เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สวนกับพัฒนาการที่ผ่านมา เกิดความพยายาม เจตนาและการกระทำที่ต้องการที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในลักษณะที่ส่วนกับพัฒนาการที่ผ่านมา เมื่อเกิดการรัฐประหารแล้วก็เกิดการสร้างรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้โดยให้มีระบบกลไกที่ประกันได้ว่าอำนาจอธิปไตยจะไม่เป็นของประชาชน หมายความว่าการเลือกตั้งของประเทศนี้จะไม่มีความหมายเหมือนการเลือกตั้งในอารยะประเทศ คือไปเลือกตั้งกันได้แต่จะมีองค์กรและกลไกตามรัฐธรรมนูญโดยอาศัยเนื้อหาตามรัฐธรรมนูญนี่เปลี่ยนรัฐบาลนั้นเสียได้ โดยไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม ซึ่งได้เกิดขึ้นมาแล้วกับ 2 รัฐบาล

 

องค์กรอิสระตาม รธน.50 เกิดระบบที่ส่งเสริมให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเลือกปฏิบัติ

ในระบบแบบนี้การตรวจสอบการถอดถอนผู้บริหารหรือผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงๆ นอกจากการตรวจสอบว่าเป็นไปตามนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐหรือไม่ ตรวจสอบว่าทุจริตคอรัปชั่นหรือไม่ จะเป็นระบบที่ไม่เป็นอิสระ และโดยตัวมันเองไม่ถูกตรวจสอบโดยประชาชน จากก่อนรัฐประหารปี 49 มีการวิจารณ์กันมากว่ามีองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบ ทำหน้าที่ถอดถอนผู้มีอำนาจทั้งหลายได้ถูกแทรกแซงไม่เป็นอิสระ ในรัฐธรรมนูญถึงได้เปลี่ยนเป็นองค์กรหลายองค์กรได้เกิดขึ้นโดยการแต่งตั้งหรือการเห็นชอบของคณะรัฐประหาร ถ้าไม่เช่นนั้นก็มีที่มาโดยกำหนดในรัฐธรรมนูญนี้ที่มาที่ไม่มีการยึดโยงกับประชาชน และมีลักษณะที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไปมาระหว่างองค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญกับฝ่ายตุลาการ ฝ่ายตุลาการเป็นที่มาสำคัญขององค์กรต่างๆ เป็นระบบที่เอื้อกันไปมา เท่ากับเป็นระบบที่ส่งเสริมให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเลือกปฏิบัติได้ด้วยซ้ำ

 

เกิดวิกฤติทางการเมืองเนื่องจากการเลือกตั้งไม่มีผลตามที่ประชาชนกำหนด

รัฐธรรมนูญลักษณะนี้ทำให้เกิดวิกฤติทางการเมืองเนื่องจากว่าเกิดกรณีที่การเลือกตั้งไม่มีผลตามที่ประชาชนกำหนด เกิด 2 มาตรฐานจำนวนมากกลายเป็นวิกฤติการเมืองของประเทศมาจนทุกวันนี้

ปัจจุบันเป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กรอำนาจ คือฝ่ายตุลาการโดยศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลักกับฝ่ายรัฐสภาหรือฝ่ายบริหาร ความขัดแย้งนี้กำลังจะพัฒนาไปสู่การที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะขยายของเขตอำนาจของตนเอง และจะก้าวไปสู่การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจสูงสุดเหนือกว่าอำนาจอธิปไตยอื่น คือ ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยหลักการของการแบ่งแยกอำนาจคงไม่ได้ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจไปทำนองเดียวกันกับที่จอมพลสฤษดิ์เคยมีอำนาจสูงสุด ซึ่งอันนี้มีลักษณะดิบๆมากๆแต่เวลานี้มีลักษณะแยบยล

 

บทบาทของตุลาการและตุลาการภิวัฒน์ ตรวจสอบไม่ได้และไม่ยึดโยงกับประชาชน รวมทั้งรับรองการรัฐประหาร

บทบาทของตุลาการถ้าในแง่ของการดูแลความถูกผิด รักษากฎหมายเพื่อให้คนได้รับการคุ้มครองอย่างเท่ากันนี่ ถ้าจะมีปัญหาอยู่บ้างเรื่อยมาคือปัญหาที่ไม่มีการยึดโยงอะไรกับประชาชนและตรวจสอบไม่ได้โดยประชาชนซึ่งก็เป็นลักษณะพิเศษของประเทศไทย แต่เมื่อเทียบกับอีกปัญหาหนึ่งแล้วปัญหานี้ยังไม่ใหญ่มากคือบทบาทของตุลาการเป็นฝ่ายที่รับรองการรัฐประหาร ทำให้ประเทศไทย 80 กว่าปีนี้รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นกฎหมายสูงสุดจริงกฎหมายสูงสุดของประเทศนี้คือคำสั่งของคณะรัฐประหารที่ทำสำเร็จและจะถูกรับรองโดยฝ่ายตุลาการทุกครั้งไป ฝ่ายตุลาการได้ทำให้เกิดความชอบธรรมของฝ่ายรัฐประหาร ซึ่งออกเป็นคำพิพากษาศาลฎีกาในครั้งแรกๆ แล้วต่อมาถ้าจะพิจารณาอะไรกันอีกเมื่อไหร่ก็อ้างคำพิพากษาเดิมๆว่าถ้ายึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จแล้วก็เป็นรัฎฐาธิปัตย์ มีอำนาจสูงสุดในรัฐสามารถออกคำสั่งอะไรก็เป็นกฎหมายไปหมด นี่คือบทบาทฝ่ายตุลาการแต่เดิมมา

บทบาทตุลาการในหลังปี 49 ก็ยังเป็นอย่างเดิมคือรับรองการรัฐประหารนี้ แต่ที่มาเพิ่มใหม่ที่เป็นตุลาการภิวัฒน์ ทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารก็คือการเอาฝ่ายตุลาการเข้ามาจัดการความขัดแย้งทางการเมือง โดยให้เหตุผลว่าฝ่ายตุลาการนี้ปลอดจากการเมืองแล้วจะรักษาสิทธิเสรีภาพความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้ แต่ว่าสิ่งที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงในประเทศไทยก็คือฝ่ายตุลาการไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ไม่มีประวัติช่วยรักษาเสรีภาพของประชาชนมาเหมือนในประเทศอื่น ฝ่ายตุลาการรับรองการรัฐประหารเสร็จก็เข้ามามีบทบาทอย่างมากภายใต้เนื้อหา ระบบและกลไกตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน รัฐธรรมนูญปัจจุบันมุ่งที่จะบอกว่าอำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชนและลดความสำคัญของระบบรัฐสภา ทำลายระบบพรรคการเมืองให้อ่อนแอ สาระสำคัญอยู่ตรงนี้

กรณีมาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญได้มาวินิจฉัยว่าผู้ร้องเห็นการกระทำอันเป็นการล้มระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือจะให้ได้อำนาจมาโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ สามารถจะร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งอันนั้นเริ่มเป็นประเด็นขึ้นมาว่ามีอำนาจอย่างนี้จริงหรือปล่าว ผู้ร้องมีอำนาจร้องจริงหรือปล่าว ดูจากบรรทัดฐานเดิมที่มีอยู่ ดูจากการตีความตามตัวหนังสือ ดูจากการอภิปรายกันของ ส.ว. ดูจากเวปไซต์ของศาสรัฐธรรมนูญเอง ก็เห็นได้ชัดว่ามีความเข้าใจตรงกันตลอดมาว่าผู้ร้องต้องไปยื่นต่ออัยการสูงสุดก่อนเท่านั้น ซึ่งในความเห็นหลายฝ่ายรวมทั้งตนเห็นว่าเป็นการวินิจฉัยตีความที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอะไรก็เป็นอย่างนั้น เท่ากับแก้รัฐธรรมนูญไปแล้วว่ายื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

 

ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจจะตรวจสอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นอำนาจของรัฐสภา

ผู้ถูกร้องคือประธานรัฐสภา คือคณะรัฐมนตรี คือพรรคการเมืองบางพรรค และก็คือนาย ก. นาย ข. กับพวก ซึ่งก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทน ศาลรัฐธรรมนูญกำลังบอกว่า ครม. (คณะรัฐมนตรี) นี่เป็นบุคคล รัฐสภานี่เป็นบุคคล คือประธานรัฐสภาแล้วบุคคลอยู่ที่ไหนคือ นาย ก. นาย ข. กับพวก คือมาตรานี้เขามีไว้สำหรับบุคคลและพรรคการเมืองใช้สิทธิเสรีภาพจะไปล้มล้างการปกครอง จริงๆเจตนามีไว้ใช้กับพรรคการเมืองและบุคคล แต่เวลานี้ศาลรัฐธรรมนูญมาใช้กับกรณีที่รัฐสภากำลังแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมันเป็นไปตามมาตรา 291 และเป็นอำนาจของรัฐสภา ซึ่งมันจะไม่เข้าเลยกับมาตรา 68 ถ้าจะให้เข้าคือตีความประธานรัฐสภาคือบุคคล ครม.คือบุคคล จริงๆ ครม.ไม่ใช่บุคคล แต่พอมาวินิจฉัยแบบนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องขัดรัฐธรรมนูญต่อไปในการตีความข้อนี้ และถ้าพิจารณาต่อไป ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาต่อไป คือการตรวจสอบและวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้แล้วในคราวที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยไปร้องรัฐธรรมนูญที่ร่างสมัยรัฐบาลก่อนนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ประธานรัฐสภาในขณะนั้นก็ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจจะตรวจสอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นอำนาจของรัฐสภา

ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบถ่วงดุล แต่แค่ตรวจสอบการแก้กฎหมาย คือระดับพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ไม่มีที่ไหนที่บัญญัติว่าสามารถตรวจสอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าระหว่างร่างหรือร่างเสร็จแล้ว

ขั้นต่ำที่แค่ยุติการแก้รัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลที่จะล้มการปกครองมันจะเท่ากับเป็นปัญหาเสียหายร้ายแรงต่อระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศนี้ เสียหายต่อหลักการสำคัญคือจะเกิดการขยายเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ มาสู่การวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญได้ มีอำนาจเหนือรัฐสภาที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ คือเอาอำนาจนิติบัญญัติไปอยู่ในมือตัวเอง ผลที่ตามมาอีกอย่างคือเกิดการปิดทางไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากๆได้อีกต่อไป เพราะว่าถ้าแก้เป็นรายมาตรา มาตราละเดือน ถ้าอยากจะแก้สัก 30 มาตราก็อาจจะใช้เวลาสัก 5 ปี ถ้า 50 มาตราก็ 8 ปี มันก็คือแก้ไม่ได้นั่นเอง เพราะว่าพอแก้แบบ สสร. ท่านบอกว่าอาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง ปิดทางแก้รัฐธรรมนูญในขณะที่รัฐธรรมนูญมีปัญหา ก็จะนำไปสู่วิกฤติการเมืองที่รุนแรงกว่าที่ผ่านมาเป็นวิกฤติที่ไม่มีทางออก อาจจะเกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง และอาจจะกลายเป็นตุลาการทำหน้าที่มากแล้ว แล้วจะกลายเป็นบ้านเมืองยุ่งมากและเปิดทางให้ผู้นำทหารมาทำรัฐประหารกันอีก

 

0000

 

“..เผด็จการรัฐสภาสร้างเงื่อนไขให้เกิดการยึดอำนาจขึ้น และให้นำไปเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจได้..”

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์

 

เราเผชิญกับเผด็จการที่เปลี่ยนจากเผด็จการทหารมาเป็นเผด็จการรูปแบบใหม่ก็คือเผด็จการรัฐสภา

80 ปีประชาธิปไตยเราล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด ปัญหาในอดีตก็คือเราเผชิญกับการปฏิวัติรัฐประหาร เราเผชิญกับปัญหาเผด็จการทหาร แต่ปัจจุบันถ้าตัดตอนเฉพาะหลัง 19 ก.ย.49 ที่เป็นฉนวนเหตุความขัดแย้งคงไม่ได้ อย่างน้อยจะต้องย้อนไปก่อน 19 ก.ย. และจะทำให้เราเข้าใจมูลเหตุที่มา ปัญหาของประชาธิปไตยใหม่ในยุคปัจจุบันก็คือเราเผชิญกับเผด็จการที่เปลี่ยนจากเผด็จการทหารมาเป็นเผด็จการรูปแบบใหม่ก็คือเผด็จการรัฐสภา

คำว่า “เผด็จการรัฐสภา” ไม่ได้แปลว่ามีเสียงข้างมากแล้วจะเป็นเผด็จการรัฐสภา ประเทศเราปกครองด้วยระบบรัฐสภา เพราะฉะนั้นคนที่จะเป็นรัฐบาล คนที่จะถืออำนาจรัฐจะต้องมีเสียงข้างมาก อันนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา ถ้าใช้เสียงข้างมากโดยธรรม เป็นไปตามกฎหมาย กติกา อย่างนี้ไม่เรียกเผด็จการรัฐสภา แต่เผด็จการรัฐสภาคือการใช้เสียงข้างมากผ่านกลไกฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและกลไกอื่นเพื่อนำไปสู่การรวบอำนาจเบ็ดเสร็จเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ในทุกรูปแบบ หรือกินรวบ กินเรียบประเทศไทย ซึ่งถือเป็นภัยใหม่ของระบอบประชาธิปไตยบ้านเราถัดจากเผด็จการทหาร

 

เผด็จการรัฐสภาในที่สุดก็จะกลายเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การเกิดเผด็จการทหาร

และเผด็จการรัฐสภาในที่สุดก็จะกลายเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การเกิดเผด็จการทหารโดยอ้างเผด็จการรัฐสภา และมันจะวนเวียนกันไปมากลายเป็นวงจรอุบาทว์ของระบอบประชาธิปไตยบ้านเรา เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ชัดเจนว่าเหตุการณ์ก่อน 19 ก.ย.49 สิ่งที่คณะรัฐประหารได้กล่าวอ้างไปสู่การยึดอำนาจก็คือกล่าวอ้างว่า มีการกระทำหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ 4 ข้อ ซึ่งเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การยึดอำนาจ

ข้อ 1 คือ ผู้ใช้อำนาจในขณะนั้นมีการทุจริต

ข้อ 2 คือ มีการใช้อำนาจแทรกแซงทุกองค์กร

ข้อ 3 เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคมอย่างกว้างขวาง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายและเข้าสู่การเผชิญหน้า แล้วก็จะนำไปสู่ความรุนแรง

ข้อ 4 คือ การดูหมิ่นสถาบันมีการขยายรุกรามมากขึ้นเป็นลำดับ

ถ้าเราย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ตรงนั้น เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการก่อรัฐประหารครั้งหนึ่งในประเทศที่มีผู้คนไปแสดงความยินดีกับคณะรัฐประหารเป็นจำนวนมาก ที่เป็นเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าตนเห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเพื่อทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าประชาชนจำนวนมากเห็นว่าเหตุผลของคณะรัฐประหารสอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองขณะนั้น เช่น ในเรื่องของการทุจริต มีการทุจริตเชิงนโยบาย มีการใช้เสียงข้างมากในฐานะอำนาจฝ่ายบริหารและอำนาจนิติบัญญัติออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลคนเดียวหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดก็คือการแก้ไขกฎหมายกิจการโทรคมนาคม ซึ่งกฎหมายเดิมนั้นเปิดโอกาสให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 25% ก็แก้ให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิดร้อยละ 49 ให้ต่างชาติถือหุ้นได้มากขึ้น เพื่อที่จะได้นำไปสู่การขายหุ้นบริษัท ให้กับต่างชาติได้ กฎหมายนั้นมีผลบังคับใช้วันที่ 19 ม.ค.2549 รุ่งขึ้นอีก 2 วัน วันที่ 21 ม.ค.49 มีการขายหุ้นให้กับบริษัทต่างชาติ

ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่สะท้อนว่ามีการใช้กลไกของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ นำไปสู่การออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ เป็นการเฉพาะ นอกจากนั้นก็มีการบิดเบือนการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เพื่อนำไปสู่การสกัดกั้นการตรวจสอบของผู้ถืออำนาจรัฐ เช่น รัฐธรรมนูญ 2540 ระบุไว้ว่าถ้าฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือตรวจสอบนายกรัฐมนตรี ฝ่ายค้านจะต้องใช้เสียง 2 ใน 5 ผู้แทนมี 500 คน ต้องใช้เสียง 200 ก็มีความพยายามที่จะตั้งรัฐบาลเกิน 300 เสียง เพื่อให้ฝ่ายตรวจสอบเหลือไม่ถึง 200 จะได้ตรวจสอบนายกรัฐมนตรีไม่ได้ เกิดการควบรวมพรรคการเมืองว่ามาร่วมรัฐบาลต้องยุบรวมพรรคกับพรรคแกนหลักเพื่อป้องกันการถอนตัวทางการเมือง การบิดเบือนเจตนารมณ์การใช้รัฐธรรมนูญลักษณะนี้ก็ทำให้เป็นที่มาที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยเห็นสอดคล้องกับเหตุผลของคณะรัฐประหารในขณะนั้น นอกจากนั้นการแทรกแซงทุกองค์กร วุฒิสภา องค์กรอิสระ หรือขนาดปรากฏเป็นข่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกแทรกแซงในการวินิจฉัยกรณีซุกหุ้น เป็นต้น เพราะฉะนั้นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นที่มาที่นำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง เพราะเผด็จการรัฐสภาสร้างเงื่อนไขให้เกิดการยึดอำนาจขึ้น และให้นำไปเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจได้

 

คู่ขัดแย้งจริงคือเผด็จการรัฐสภากับฝ่ายต่อต้าน

ก่อน 19 ก.ย. 49 คู่ขัดแย้งจริงคือระบอบเผด็จการรัฐสภาขัดแย้งกับกับฝ่ายต่อต้าน หลัง 19 ก.ย. 49 คู่ขัดแย้งก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่เป้าหมายต่างกัน เป้าหมายความขัดแย้งขณะนี้ไม่ใช่เรื่องของการสืบทอดอำนาจอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการต้องการเงินและอำนาจคืน กับฝ่ายที่เห็นแย้ง ฝ่ายต่อต้าน ฝ่ายที่บอกว่าถ้าเอาเงินเอาอำนาจคืนเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องสิ่งที่เขาอยากเห็นคือทุกคนต้องเคารพกติกา ก็เลยขัดแย้งกันอยู่จนทุกวันนี้

ฝ่ายที่เห็นว่าต้องการเอาเงินเอาอำนาจคืนก็อาศัยกลไกของฝ่ายบริหาร ซึ่งมีเสียงข้างมากอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติในปัจจุบัน อย่างน้อยทำ 2 เรื่อง ที่เป็นปรากฏการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน 1. แก้รัฐธรรมนูญ 2. ออกกฎหมายที่ชื่อว่า “ปรองดอง” แต่ชื่อกับเนื้อในไม่ตรงกัน ชื่อว่าปรองดอง แต่ตนคิดว่ามันเป็นชื่อ “ลับ ลวง พราง” เป็นกฎหมายล้างผิดหรือกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่ง 2 จุดนี้นำไปสู่ความขัดแย้งและวิกฤติของประเทศเราในปัจจุบัน

 

“ไพร่-อำมาตย์” มันเป็นประดิษฐ์กรรมทางการเมือง ที่สร้างขึ้นมาเพื่อขอเงินกับอำนาจคืน

กรณีเรื่องไพร่เรื่องอำมาตย์ตรงนี้ไม่ใช่ประเด็นของความขัดแย้งที่แท้จริง มันเป็นปรากฏการณ์ปกติ ที่เป็นเรื่องความเห็นแย้งที่เกิดขึ้นได้ ตรงนี้เป็นปลายเหตุ ตนไม่ปฏิเสธความเหลื่อมล้ำ เชื่อว่าความเหลื่อมล้ำมีอยู่จริงในสังคมไทย แต่ “ไพร่-อำมาตย์” มันเป็นประดิษฐ์กรรมทางการเมือง ที่สร้างขึ้นมาเพื่อขอเงินกับอำนาจคืน

 

กรณีอัยการสูงสุดกับศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยมาตรา 68 ไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่เป็นกรณีของการตีความกฎหมายที่ไม่ตรงกัน

กรณีอัยการสูงสุดกับศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ เรื่องการรับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 เที่ยวนี้เป็นกรณีล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ มันเป็นกรณีที่ไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่เป็นกรณีของการตีความกฎหมายที่ไม่ตรงกัน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้

อัยการสูงสุดวินิจฉัยว่าถ้าผู้ใดบุคคลใดพบการกระทำว่ามีผู้ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วอัยการสูงสุดถ้าพบว่ามีข้อเท็จจริงก็ยื่นเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการวินิจฉัยสั่งให้ยุติการกระทำ แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วนอกจากประชาชนจะใช้สิทธิยื่นต่ออัยการสูงสุดแล้ว ก็ยื่นอีกทางหนึ่งได้มี 2 ทาง คือสามารถยื่นกับศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงก็ได้เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้หยุดการกระทำ นี่คือความเห็นที่แตกต่างในการตีความกฎหมาย

 

ถ้าตีความแบบอัยการสูงสุด สิทธิของประชาชน 63 ล้านคนก็ไม่มีสิทธิไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ

ซึ่งการตีความของศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นการตีความอย่างกว้าง เพราะถ้าตีความแบบอัยการสูงสุดก็แปลว่าต่อไปนี้สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของคนไทย 63 ล้านคน ถ้าพบว่ามีการกระทำล้มล้างประชาธิปไตย คน 63 ล้านคนไม่มีสิทธิที่จะดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงวินิจฉัยได้ ต้องส่งผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับคนๆเดียวคืออัยการสูงสุด ถ้าอัยการสูงสุดไม่ทำเรื่องไม่ดำเนินการ ดองเรื่องไว้ หรือวินิจฉัยว่าไม่มีข้อเท็จจริง สิทธิของประชาชน 63 ล้านคนก็ไม่มีสิทธิไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ

 

สั่งได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งรัฐสภา ไม่ได้สั่งอำนาจนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ

เพราะฉะนั้นศาลรัฐธรรมนูญเลยขอออกคำสั่งให้ชะลอการลงมติวาระ 3 ไว้ก่อน ฝ่ายหนึ่งบอกว่าสั่งไม่ได้เพราะเป็นการก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติ แต่อีกฝ่ายก็บอกว่าสั่งได้เพราะไม่ใช่การก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติ อย่างน้อยพวกตนก็คิดเช่นนั้นว่าสั่งได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งรัฐสภา ไม่ได้สั่งอำนาจนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ สั่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกับสั่งประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กฎหมายให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งได้ ส.ส. ส.ว. ก็เป็นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรประจำตัวผู้แทนของตนเองเป็นบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมาย ปปช. เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งอำนาจนิติบัญญัติ แต่เขาสั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐตามอำนาจหน้าที่ที่เขามีอยู่ตามกฎหมาย และเขามีอำนาจสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ

 

ทางออกระยะยาวทำประเทศของเราเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบบนิติรัฐ และถือหลักนิติธรรม

สำหรับทางออกระยะยาวของประเทศถ้าจะนำประเทศไปสู่ความสมานฉันท์ปรองดอง ระยะยาวเราต้องสร้างสังคมที่เคารพก็หมาย เคารพกติกาให้เกิดขึ้น ทำประเทศของเราเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบบนิติรัฐ และถือหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นและความขัดแย้งมันจะลดลง ต่อสถานการณ์ระยะสั้นเราต้องช่วยกันเอาฟืนออกจากกองไฟ การแก้รัฐธรรมนูญกับกฎหมายล้างผิด ถ้าเราดึงออกมาได้ โอกาสที่จะเกิดวิกฤติความขัดแย้งในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้มันก็มีความเสี่ยงน้อยลง

 

ประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประเด็นสำคัญ

นอกจากนี้เวทีเสวนายังได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมฟังเสวนาได้ตั้งคำถามและอภิปราย โดย อุเชนทร์ เชียงเสน นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมอภิปรายว่า เวลาเราพูดเรื่องสถาบันทางการเมือง เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ วันนี้ครบรอบ 80 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถ้าเรามองความขัดแย้งเชิงสถาบัน เราก็รู้ว่า 15 ปีของคณะราษฎรในสมัย 2475 ประเด็นความขัดแย้งใหญ่ก็คือเรื่องของพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์กับอำนาจของประชาชน ของที่มาจากรัฐธรรมนูญของประชาชน ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการต่อสู้กันเรื่องนี้ แต่สิ่งที่น่าสังเกตหลังรัฐประหาร 19 ก.ย.49 เมื่อก่อนเราพูดถึงไล่ทักษิณ ไม่เอาทักษิณ แต่ถ้าเราสังเกต บนโปสเตอร์แผ่นพับของประชาธิปัตย์ในรอบที่ผ่านมา ไม่เอาแก้ ม.112 ไม่เอาล้มเจ้า นี่คือข้อขัดแย้ง ปัญหาในตอนนี้ คิดว่ามันได้ไรท์บทบาทสถานะอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ลองดูการอภิปรายถกเถียงการแก้ไข มาตรา 112 หรือแม้กระทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ ก็มีการแปรญัตติว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับหมดสถาบันพระมหากษัตริย์

ทั้งที่ประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่มากในเรื่อง “ล้มเจ้า” ในเชิงการเมืองที่ผ่านมา ความหมายของล้มเจ้าของตนคือความพยายามที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เรื่องล้มเจ้าไม่ได้อยู่ดีๆมันผุดขึ้นมาเอง เพราะว่าถ้าเราพูดในปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมา หลายคนจะอ้างว่ามีการใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทางกาเมือง แต่เราพูดยังราวกับว่าไม่มี Action ของสถาบัน เวลาเราวิจารณ์ระบบเผด็จการสฤษดิ์ ระบบเปรมอย่างนี้ เราพูดราวกับว่าระบบเหล่านี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากราชสำนัก คนที่ศึกษาด้านรัฐศาสตร์ใครก็รู้ถึงบทบาทราชสำนักต่อเปรมหรือว่าบทบาทสฤษดิ์ คิดว่าปัญหาทางการเมืองตอนนี้คือเราไม่พยายามที่จะไรท์ปัญหาที่สำคัญจริงๆ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท