Skip to main content
sharethis

 'ประชาไท' สัมภาษณ์ "ซูนาร์" นักวาดการ์ตูนชาวมาเลเซีย ผู้วิพากษ์การเมืองมาเลเซียอย่างจัดจ้านผ่านภาพเขียนล้อเลียน โดยเฉพาะเรื่องการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลมาเลเซีย ภาพวาดของเขาถูกสั่งห้ามจากกระทรวงมหาดไทยในปี 2552 ไม่ให้ตีพิมพ์และจัดจำหน่าย เนื่องจากไปวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางการเมืองในมาเลเซีย ทำให้ต่อมา เขาและเว็บไซต์มาเลเซียกีนี ตัดสินใจฟ้องศาลสูงเพื่อท้าทายคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันคดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี

ต่อมาในเดือนกันยายนปีเดียวกัน เขาถูกจับในข้อหาปลุกระดม ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนงานเปิดตัวหนังสือรวมภาพวาดการ์ตูนของเขาที่ชื่อ "Cartoon-O-Phobia" เพียงสี่ชั่วโมง โดยตำรวจได้ยึดหนังสือไปกว่า 60 เล่ม สาเหตุคาดว่า น่าจะมาจากเนื้อหาของการ์ตูนที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่อง "อ่อนไหว" ในทางการเมืองมาเลเซีย อาทิ ข่าวการฆาตกรรมนางสาวอัลตันตูย่า การคอร์รัปชั่นและทรัพย์สินของ 'รอสมาห์' ภรรยาของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน รวมถึงการทุจริตการจัดซื้อเรือดำน้ำสกอร์เปียน

'ซูลคิฟลี อันวาร์ อุลฮาร์ค' (Zulkiflee Anwar Ulhaque) หรือที่รู้จักกันในนามปากกา 'ซูนาร์' วัย 50 ปี ปัจจุบันเป็นนักวาดการ์ตูนให้กับเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ 'มาเลเซียกีนี' รวมถึงนสพ.หัวอื่นๆ และเจ้าของรางวัลนักเขียนผู้กล้าหาญจากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ซูนาร์กล่าวว่า เขาจะยังคงเดินหน้าวาดการ์ตูนเพื่อวิพากษ์การเมืองของประเทศต่อไป และมีแผนเพื่อรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่นในช่วงการหาเสียงการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึงในเร็วๆ นี้ด้วย  


'ซูนาร์' กับบางส่วนของการ์ตูนล้อเลียนการเมืองมาเลเซียที่เขาวาด

ในโอกาสที่เขามาเมืองไทย เพื่อเข้าร่วมการสัมมนาปฏิบัติการของพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประชาไทได้พูดคุยกับ 'ซูนาร์' ถึงแรงบันดาลใจ มุมมองต่อการเมืองมาเลเซีย และกิจกรรมในอนาคตของเขา

0000

อะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณกลายเป็นนักวาดการ์ตูนทางการเมือง

เพราะผมเองเป็นนักวาดการ์ตูนที่มีความสนใจทางการเมือง จึงตัดสินใจนำสองอย่างรวมเข้าด้วยกัน ผมมีความสามารถพิเศษด้านการวาดการ์ตูน และขณะเดียวกันก็สนใจเรื่องการเมือง และประเด็นทางสังคม แต่ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับนักการเมืองโดยตรง ที่ผมสนใจก็เพราะ คุณจะเห็นได้ว่าบรรยากาศทางการเมืองในประเทศแถบเอเชียไม่ค่อยดีนัก มันมีกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ก็ถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการ มันถอยหลังเข้าคลองค่อนข้างเยอะ 

ผมก็เลยคิดว่า ในเมื่อผมมีความสามารถเรื่องการวาดการ์ตูนและสนใจเรื่องการเมือง ในขณะเดียวกันผมก็เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูป ทำไมไม่ใช้ทักษะที่มีให้เกิดประโยชน์ ผมจึงต้องการใช้การ์ตูนเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อที่จะสื่อสารและให้การศึกษาแก่สาธารณะ และเพื่อจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล นอกจากนี้ มีคนพูดกันว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าจะเข้าใจในเรื่องปัญหาคอร์รัปชั่น ผมจึงต้องการทำให้มันง่ายขึ้นเพื่อให้ส่งผลกระทบต่อสาธารณะ และการ์ตูนเองก็เป็นสิ่งที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และใช้เวลาซึมซับไม่กี่วินาทีเท่านั้น เมื่อเทียบกับหนังสือหรือสิ่งอื่นๆ 

เห็นว่าคุณวาดเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นมากเป็นพิเศษ

ผมวาดเกี่ยวกับเรื่องต่อต้านคอร์รัปชั่นเยอะ เนื่องจากประเด็นคอร์รัปชั่นไม่ถูกรายงานโดยสื่อกระแสหลักของมาเลเซียเลยถ้ามันเกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี และแทบจะรัฐมนตรีทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาคอร์รัปชั่น แต่ว่าเรื่องดังกล่าวไม่ถูกตีแผ่โดยสื่อมาเลเซีย และเมื่อมันเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาล คุณก็ไม่สามารถตรวจรัฐบาลได้ มันก็ยากจะดำเนินคดีต่อบุคคลในคณะรัฐมนตรี

จะเห็นว่า ปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นกับปัจเจก แต่มันเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก และสาธารณะเองก็ไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ด้วย เพราะเมื่อสื่อไม่ตีแผ่ สาธารณะก็ไม่รู้ และก็ไม่มีใครถูกดำเนินคดี ฉะนั้น นี่คือบทบาทของผมที่ทำงานเพื่อตีแผ่ปัญหาเหล่านี้ และการเขียนการ์ตูนก็ไม่ใช่เพื่อล้อเลียนและสร้างอารมณ์ขันเท่านั้น แต่เป็นการทำให้ประชาชนเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย 

ผมจึงต้องการนำเสนอปัญหาคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะในหมู่ผู้บริหาร เพื่อที่จะให้เขาต้องยอมรับและลงจากตำแหน่ง เพราะส่วนใหญ่ มักจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับผู้น้อยที่ถูกดำเนินคดีจากการรับสินบนเล็กๆ น้อยๆ แต่มันไม่เคยเกิดขึ้นเลยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง มันเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด ฉะนั้น สำหรับรัฐบาล เราจะยอมให้มันเกิดขึ้นแบบนี้ไม่ได้ เราต้องจับตาในทุกระดับตั้งแต่บนลงล่าง 

คุณคิดว่าการ์ตูนของคุณส่งผลสะเทือนแค่ไหนต่อสังคมมาเลเซีย 

ผมคิดว่า มันส่งผลระดับหนึ่งต่อสาธารณะทีเดียว และเหตุผลที่คนชอบการ์ตูนผมมากอาจจะเป็นเพราะว่าพวกเขาไม่สามารถหาการ์ตูนการเมืองแบบนี้ที่ไหนได้อีกแล้วในมาเลเซีย เพราะถ้าคุณไปอ่านหนังสือพิมพ์ของรัฐและอ่านการ์ตูน คุณก็จะเห็นพวกเขาวาดแต่สิ่งดีๆ เกี่ยวกับรัฐบาล หรือทำตามสิ่งที่นายกรัฐมนตรีบอกกล่าว ผมเองยังได้รับคอมเมนท์จากรัฐมนตรีด้วย พวกเขาบอกว่าจะส่งคนมาซื้อหนังสือของผมเพิ่ม และขนาดคนขับเครื่องบินก็ยังจำผมได้ นี่เป็นผลสะเทือนที่ส่งออกไป

อย่างที่ผมบอก ผมมองการ์ตูนของผมในสองระดับ หนึ่ง คุณชอบมัน และสอง คือคุณได้รับข้อความที่สื่อสารออกไป แม้เด็กๆ ก็ยังชอบการ์ตูนของผม เพราะอย่างนี้แหละ งานของผมมันมีผลสะเทือน รัฐบาลจึงต้องการห้ามผมตีพิมพ์งานต่างๆ  

ได้รับแรงบันดาลใจในการผลิตการ์ตูนที่มีอารมณ์ขันปริมาณเยอะแยะอย่างนี้จากไหนบ้าง 

ผมคงจะบอกว่า ก็จำเป็นต้องโฟกัสและอินกับประเด็นนั้นๆ มันสำคัญมาก ผมไม่สามารถจะเอาตัวเองออกจากประเด็นนั้นได้ เพราะมิเช่นนั้นคุณก็ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของมัน และคุณก็จะไม่สามารถวาดการ์ตูนออกมาแบบนี้ได้ ฉะนั้น ถ้าคุณเข้าไปอยู่ในประเด็นนั้น อยู่ในความเคลื่อนไหวนั้น คุณก็จะเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ และสามารถถ่ายทอดมันออกมาได้ 

นอกจากนี้ เวลาวาดการ์ตูน ผมจำเป็นจะต้องวิเคราะห์ให้ถึงรากของปัญหาว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้น เพียงการคอมเมนท์ต่อสถานการณ์มันเป็นสิ่งที่ง่ายเกินไป คุณจะต้องสามารถอธิบายได้ว่า อะไรเกิดขึ้น ทำไมมันถึงเกิดขึ้น อะไรเป็นสาเหตุ แล้วผมก็จะวาดมันออกมา เหมือนเป็นการนำมันมาอธิบายแก่คนอ่าน

คุณเล่าให้ฟังว่าคุณมีส่วนร่วมในขบวนการเบอร์เซะห์ (พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม) ด้วย ได้ไปทำอะไรมาบ้าง 

ผมได้นำกลุ่มนักวาดการ์ตูนการเมืองเข้าร่วมเคลื่อนไหวด้วย เนื่องจากผมไม่อยากเป็นนักวาดการ์ตูนคนเดียวผมจึงต้องการสร้างทีมขึ้นมา และก็พานักวาดการ์ตูนเด็กๆ เข้าร่วมชุมนุมและเปิดประสบการณ์เพื่อให้เขารู้สึกถึงสถานการณ์ และให้เขารู้สึกว่าอยากกลับไปถ่ายทอดออกมาเป็นการ์ตูน 

ตอนนี้กลุ่มของผมมีประมาณ 10 คน ประกอบด้วยนักวาดการ์ตูนเยาวชนที่ผมปั้นขึ้นมา เพราะพวกเขาก็ชอบวาดการ์ตูนกัน จริงๆ แล้วเขาก็เป็นแฟนๆ ของการ์ตูนผมนั่นแหละ แต่เขาไม่ได้อยู่กับสื่อกระแสหลัก แต่อยู่กับสื่อทางเลือก สื่อในอินเทอร์เน็ต พวกเขาใช้เฟซบุ๊กในการสื่อสารและเรียนรู้กระบวนการพวกนี้

แล้วสำหรับกิจกรรมในอนาคตของกลุ่มนักวาดการ์ตูนนี้ กับการเลือกตั้งที่จะมาถึง จะมีกิจกรรมอะไรบ้าง 

ตอนนี้ผมกำลังทำโปสเตอร์ร่วมกันกับกลุ่ม เพื่อที่จะสื่อสารว่าการคอร์รัปชั่นนั้นเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบกับตัวคุณ ไม่ใช่ว่าเรื่องคอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องการเมือง ผมนำเสนอปัญหาคอร์รัปชั่นในแง่การเปรียบเทียบ เช่น ผมเอามาเทียบกับสมบัติส่วนตัวของภรรยานายกรัฐมนตรีมูลค่า 24 ล้านดอลลาร์ โดยคนในชนบทมักจะมองว่า ปัญหาการคอร์รัปชั่นไม่เกี่ยวอะไรกับชีวิตของเรา ว่าเป็นธรรมดาของนักการเมืองอยู่แล้ว แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า เงิน 24 ล้านดอลลาร์นั้นสามารถนำไปสร้างบ้านได้หลายหลัง นำไปซื้อนมขวดให้ประชากรที่ยังขาดแคลนอีกหลายแสนครอบครัว ทั้งหมดนี้ เรานำมาคำนวณและสื่อสารออกไปเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสาธารณะ

ซึ่งตอนนี้เรากำลังทำโปสเตอร์ที่จะนำมารวบรวมเป็นหนังสือ และจะเริ่มทำการรณรงค์ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ผมก็จะทำงานกับกลุ่มนักเขียนการ์ตูนกลุ่มเดิมเพื่อทำงานรณรงค์ผ่านการ์ตูน และได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการของนักวาดการ์ตูนที่ออฟฟิศผมด้วย  ซึ่งก็เปิดให้ผู้คนเข้ามาสอบถามหารือในเรื่องต่างๆ ได้

เราเองไม่ต้องการที่จะเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใด เรารณรงค์ด้วยตัวเราเอง แต่แน่นอนว่าในบริบทของมาเลเซียคุณจำเป็นจะต้องสนับสนุนฝ่ายค้าน ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับเรื่องของพรรคการเมือง แต่มันเกี่ยวกับรัฐบาลที่กดขี่ เราจึงจะเป็นต้องทำงานรณรงค์เพื่อต่อต้านสิ่งนั้น ที่ผ่านมาเราก็ออกไปตั้งโต๊ะ แจกจ่ายเอกสาร และวาดภาพล้อเลียน หรืออะไรก็ตามที่คนดูอยากจะอ่าน

ไม่กลัวหรือว่าจะถูกจับกุมหรือถูกยึดหนังสืออีกครั้ง

คุณจำเป็นจะต้องทำน่ะ ถ้าคุณไม่ทำ คุณจะไม่บรรลุอะไรเลย ถ้ารัฐคิดจะทำ เขาก็ทำ แต่คุณจะทำอะไรได้เล่า ถ้าคุณมัวแต่กลัวอยู่ก็คงจะไม่ได้ทำ ฉะนั้น เมื่อคุณตัดสินใจอะไร คุณกำหนดไม่ได้อยู่แล้วว่าตำรวจจะมาจับกุมคุณหรือเปล่า แต่ที่สำคัญคือเราต้องทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และทำให้ดีที่สุด และเตรียมรับมือกับสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้น และเตรียมตนเองให้พร้อมอยู่เสมอ 

0000

ภาพการ์ตูนในหนังสือ "Cartoon-o-phobia" เล่มล่าสุดของซูนาร์ ล้อบทบาทของรอสมาห์ มานซอร์ (Rosmah Mansor) ภรรยาที่มีอิทธิพลเหนือสามีคือนาจิป ตุน ราซัค นายกรัฐมนตรีปัจจุบันของมาเลเซีย (ที่มา: Malaysiakini)


 

ภาพการ์ตูนในหนังสือ "Cartoon-o-phobia" เล่มล่าสุดของซูนาร์ ตีพิมพ์ในมาเลเซียกินีเมื่อ 31 ส.ค.
ซึ่งเป็นวันประกาศเอกราชของมาเลเซีย ภาพนี้สะท้อนความไม่พอใจนโยบายของผู้ปกครองหลังได้รับเอกราชอย่างชัดเจน โดยในภาพซ้ายมือสะท้อนว่าสมัยอาณานิคมมีอังกฤษเป็นผู้ปกครอง ผู้ใต้ปกครองเป็นคนในมาเลเซียที่ประกอบด้วยหลายเชื้อชาติ ภาพขวามือซึ่งเปลี่ยนเป็นธงชาติมาเลเซียปัจจุบันแล้ว ผู้ใต้ปกครองยังเป็นคนกลุ่มเดิม เปลี่ยนแต่ผู้ปกครองกลุ่มใหม่ที่มีชาวมลายูเป็นชนชั้นนำ
 

 

ภาพการ์ตูนสื่อถึงเหตุการณ์การฆาตกรรมนางสาวอัลตันตูยาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2549 ทั้งนี้ นางสาว
อัลตันตูยา ชาราอีบู เป็นนางแบบชาวมองโกเลียที่ใกล้ชิดกับอับดุล ราซัก บากินดา คนสนิทนายกรัฐมนตรีนาจิป ตุน ราซัค ภายหลังเธอถูกฆาตกรรมโดยการถูกยิงและใช้ระเบิดซีโฟร์ทำลายซากศพ ศาลได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยสองรายซึ่งใกล้ชิดกับ     นายกฯ นาจิบ ราซัคในข้อหาฆาตกรรม ซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิต ส่วนนายอับดุล ราซัก ซึ่งถูกดำเนินคดีด้วยการให้การช่วยเหลือฆาตกรรม ภายหลังถูกศาลยกฟ้อง
 

ภาพการ์ตูนสะท้อนถึงคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อนายกฯ นาจิบ ราซักเรื่องการใช้อิทธิพลทางการเมืองบงการศาล
โดยฝ่ายค้านพรรคยุติธรรมแห่งชาติ (Parti Keadilan Rakyat - PKR) ได้โจมตีนายนาจิบหลายกรณี โดยอ้างว่านายนาจิบใช้กระบวนการทางศาล
ให้ตัดสินเป็นคุณแก่รัฐบาล แต่ใช้บ่อนเซาะอำนาจของกลุ่มฝ่ายค้าน 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net