นักสิทธิรักเพศเดียวกันไม่พอใจ หลังจีนตัดศัพท์เรียกเกย์ออกจากพจนานุกรม

พจนานุกรมจีนร่วมสมัยฉบับปรับปรุงใหม่ล่าสุด ฉบับที่ 6 ตัดคำว่า 'ตงจื่อ' ซึ่งเป็นคำที่ชาวเกย์ใช้เรียกขานกัน แต่ขณะเดียวกันก็มีความหมายว่า 'สหาย' ทำให้นักสิทธิรักเพศเดียวกันออกมาวิจารณ์

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าว BBC รายงานว่า พจนานุกรมฉบับใหม่ล่าสุดของจีนซึ่งเป็นฉบับที่ ถูกกลุ่มนักกิจกรรมด้านสิทธิวิพากษ์วิจารณ์

กลุ่มนักสิทธิฯ วิจารณ์ว่าพจนานุกรมฉบับดังกล่าวตัดคำที่ชาวรักเพศเดียวกัน (homosexual) ในประเทศจีนใช้เรียก "เกย์" ออกไป

คำที่ว่าคือ "ตงจื่อ" ซึ่งในความหมายดั้งเดิมแปลว่า "สหาย" ซึ่งเป็นที่ใช้เรียกคนรู้จักในสมัยยุคคอมมิวนิสต์

ผู้เรียงเรียงพจนานุกรมรายหนึ่งบอกว่าเขาตัดคำนี้ออกเพราะไม่อยากดึงความสนใจไปสู้ความหมายไม่เป็นทางการของมัน

พจนานุกรมจีนร่วมสมัยฉบับปรับปรุงใหม่ล่าสุด ฉบับที่ 6 บรรจุคำไว้ 69,000 คำ ตัวอักษรภาษาจีน 13,000 ตัวอักษร และวลีใหม่มากกว่า 3,000 วลี

พวกเขาบรรจุคำแสลงอินเตอร์เน็ตใหม่ๆ เช่นคำว่า "เกย ลี" แปลว่า "สุดยอด" และคำที่ไม่ได้เป็นภาษาจีนเช่น PM2.5 ซึ่งหมายถึงเครื่องวัดมลภาวะจากสสารที่เป็นอนุภาค

แต่คำว่า "ตงจื่อ" ซึ่งมีความหมายแบบไม่เป็นทางการว่า "เกย์" ในความหมายของ "รักเพศเดียวกัน" ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในพจนานุกรมฉบับนี้

นักภาษาศาสตร์ เจียง หลาน เฉิง หนึ่งในผู้เรียบเรียงพจนานุกรมฉบับนี้กล่าวให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ของจีนว่า "พวกเรารู้วิธีใช้คำนี้ แต่พวกเราก็นำมันใส่ลงไปไม่ได้"

"คุณสามารถใช้คำนี้อย่างไรก็ได้ แต่เราจะไม่ใส่คำนี้ลงไปในพจนานุกรม เพราะว่าพวกเราไม่ต้องการสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ พวกเราไม่ต้องการให้มีการดึงความสนใจสู่เรื่องพวกนี้" เจียงกล่าว

นักสิทธิขอให้มองคำนี้อย่างปราศจากอคติ

ทัศนคติแบบนี้ไม่เป็นที่น่าแปลกใจสำหรับติง เสวี่ยเหลียง ศาตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากฮ่องกง

"การใช้คำว่า 'ตงจื่อ' ในการพูดถึงคนรักเพศเดียวกันเริ่มจากในฮ่องกงและไต้หวัน เพื่อเป็นการล้อเลียนคำที่ใช้ของกลุ่มลัทธิคอมมิวนิสต์ในจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย เพราะว่าผู้นำจีนมักจะเรียกกันด้วยคำว่า 'ตงจื่อ' แปลว่า 'สหาย' อย่างเช่น 'หู จินเทา ตงจื่อ' หรือ 'เวิ่น เจียเป่า ตงจื่อ' " ติงกล่าว

"ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่รัฐบาลจีนไม่ต้องการให้บรรจุคำในความหมายใหม่นี้ลงในพจนานุกรม"

นักสิทธิทางเพศในประเด็นของเกย์ไม่พอใจในเรื่องนี้มาก

หนึ่งในนักสิทธิที่เรียกตัวเองว่า นาน เฟิง กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวของทางการจีนว่า มันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ที่คำว่า 'เกย์' จากความหมายของคำว่า 'ตงจื่อ' ถูกตัดออกจากพจนานุกรมเพียงเพราะวิจารณญาณและค่านิยมส่วนตัวของผู้เรียบเรียงเอง

"ตงจื่อ เป็นคำที่ใช้กันเป็นปกติ เป็นคำที่ไม่ก้าวร้าวหยาบคาย ถูกใช้ในวงการของพวกเราเวลาเรียกคนที่มีรสนิยมรักเพศเดียวกัน" นาน เฟิงกล่าว

"พวกเราหวังว่าผู้เรียบเรียงจะมองตำนี้แบบปราศจากอคติ"

คำมาตรฐานสำหรับรักเพศเดียวกันในภาษาจีนคือ "ตงซิงเลียน" ซึ่งแปลความหมายตรงตัวว่า "รักคนเพศเดียวกัน" แต่ชาวเกย์ในจีนมองว่าคำๆ นี้ดูเป็นศัพท์ทางการแพทย์มากเกินไป

"ตงจื่อ" แปลตรงตัวได้ว่า "มีจิตใจเดียวกัน"

นักวิชาการเผยชาวจีนยอมรับเกย์ได้มากขึ้น

แต่พจนานุกรมร่วมสมัยของจีนไม่ใช่พจนานุกรมฉบับแรกของศตวรรษที่ 21 ที่มีการตัดคำนี้ออก

พจนานุกรมซินหัว ชือเตียน ฉบับที่ 11 ซึ่งตีพิมพ์ในปร 2010 ก็ตัดความหมายของคำนี้ออกเช่นกัน

การรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฏหมายในจีนจนกระทั่งถึงปี 1997 และอีกหลายปีต่อมาก็ยังถูกจัดเป็นความผิดปกติทางจิต

นักวิเคราะห์กล่าวว่ามีบางคนที่มองว่าการตัดคำว่า "ตงจื่อ" ออก พิสูจน์ให้เห็นว่าจริยธรรมของชาวจีนไม่ได้ปรับ้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

แต่ศาตราจารย์ ติง เสวี่ยเหลียน ก็มองว่าความไม่พอใจในการตัดคำนี้ออก แสดงให้เห็นว่าชาวจีนสามารถยอมรับสิทธิเกย์ได้มากขึ้น

"มีความรู้สึกเห็นใจและอาจถึงขั้นสนับสนุนชาวเกย์" ติงกล่าว "มิเช่นนั้นแล้ว คงไม่มีประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงต่อต้านพจนานุกรมฉบับใหม่นี้"

"แต่ประเทศจีนก็ยังอยู่บนหนทางอีกยาวไกลในการปกป้องสิทธิของชาวเกย์ ในด้านการจ้างงานและการส่งเสริม รวมถึงในแง่อื่นๆ ของสังคม"

 

ที่มา:

New Chinese dictionary in row over 'gay' omission, BBC, 21-07-2012

http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-china-18920096

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท