ข้อสนทนากับ "นักสื่อสารแรงงาน" กรณีไทยพีบีเอส

 

 

หลัง วิชัย นราไพบูลย์ ผู้ประสานงานฯ เขียนคำแถลงเครือข่ายนักสื่อสารแรงงาน เรื่อง "ติงใบตองแห้ง อย่าหมิ่นเสียงชาวบ้านคนชายขอบ" เพื่อท้วงติงบทความของ "ใบตองแห้ง" เรื่อง “ศึกสายเลือดเขย่า TPBS” ในเว็บ Media Inside Out โดยระบุว่า ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสได้เปิดพื้นที่ให้แรงงานมีโอกาสส่งเสียงมากขึ้น และนำเสนอข่าวประเด็นแรงงานแบบเจาะลึก ทำให้สังคมเข้าใจปัญหาของแรงงานกลุ่มต่างๆ อย่างแท้จริง

"ใบตองแห้ง" ได้เขียนคำอธิบายลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว รับคำท้วงติง พร้อมชี้แจงว่าไม่ได้คัดค้านการเป็นปากเสียงของคนชายขอบ แต่ประชด "วิธีการนำเสนอ" ซึ่งไม่เข้าเป้า ไม่มีคนดู ไม่สามารถจุดประเด็นในสังคม

ขณะที่ จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ เจ้าหน้าที่โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย เขียนบทความลงเว็บไซต์ thailabour.org เรื่อง "นักสื่อสารแรงงาน อย่าหลงประเด็น" แลกเปลี่ยนว่า ประเด็นที่คิดว่าควรสนใจคือการมีส่วนร่วมของแรงงานกลุ่มต่างๆ ในการกำหนดนโยบายและตรวจสอบไทยพีบีเอส รวมถึงการตั้งคำถามต่อประเด็นการไม่สามารถตั้งสหภาพแรงงานและการไม่มีส่วนร่วมในการบริหารองค์กรของพนักงานไทยพีบีเอสมากกว่า

 

 

เนื้อหามีดังนี้

 

ใบตองแห้ง
ที่มา: เฟซบุ๊กส่วนตัว

ผมยินดีรับคำท้วงติง แต่ประเด็นเดียวที่ผมยอมรับว่าอาจมีปัญหาคือ ย่อหน้าแรกที่ว่า "ทีวีของคนชายขอบ ริมขอบ ตกขอบ" ซึ่งที่จริงผมหมายความว่า TPBS อาศัยความเป็นทีวีของคนชายขอบพ่วงนำเสนอทัศนะของพวกริมขอบ ตกขอบ (เหลืองอ๋อย) ทั้งหลายด้วย แต่ผู้ทำงานกับคนชายขอบอ่านแล้วอาจไม่พอใจ

แต่ย่อหน้าที่ 2 และ 3 ผู้เขียนควรตระหนักว่าผมไม่ได้คัดค้านการเป็นปากเสียงของคนชายขอบ แต่ผมประชดประเทียด "วิธีการนำเสนอ" ซึ่งมันไม่เข้าเป้า ไม่มีคนดู ไม่สามารถจุดประเด็นในสังคม (155 ชิ้นจุดประเด็นอะไรได้บ้าง)

เอาง่ายๆ อย่างนี้ดีกว่าว่า แม้แต่พวก NGO หรือคนชายขอบด้วยกันเอง ถามว่าสนใจดูเวทีสาธารณะกันอย่างจริงจังหรือเปล่า เวลาคุณณาตยาคุยกับสายแรงงาน พวกต้านท่อก๊าซดูหรือเปล่า ผมว่าไม่ได้สนใจดูนะ ทุกคนสนใจแต่ประเด็นตัวเอง

ปัญหาคือ อย่าปกป้อง "วิธีการนำเสนอแบบณาตยา" โดยอ้างว่านั่นเป็นการทำความดี ทำเพื่อคนชายขอบ หลายๆ คนกำลังดิ้นพล่าน อ้างว่าถ้าวิจารณ์ "วิธีการนำเสนอแบบณาตยา" หรือความมีสิทธิพิเศษของคุณณาตยา (นี่ผมไม่ได้ว่าเธอวิ่งเต้นเส้นสายนะ แต่หมายความว่าทำรายการแบบณาตยา หมอประเวศ หมอพลเดช สสส.ชอบมาก เธอมีสิทธิพิเศษโดยอัตโนมัติ) ก็เท่ากับทำลายคนชายขอบไปโน่น (หวังว่าคงไม่กล่าวหาว่าพนักงานที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมกำลังจะทำลายทีวีของคนชายขอบ)

ประเด็นที่ NGO กับคนทำข่าวคิดต่างกันคือ NGO อยากให้สื่อเสนอข่าวคนชายขอบเยอะๆ ให้พื้นที่เท่าไหร่ก็ไม่พอ แต่คนทำข่าวต้องคิดถึงความน่าสนใจ ทำให้คนดูคนอ่านสนใจ นี่ไม่ใช่ "ขายข่าว" หรือ "กระตุกเรตติ้ง" แต่ถ้านำเสนอแล้วจุดประเด็นในสังคมไม่ได้ น่าเบื่อหน่าย คุณจะนำเสนอไปทำไม NGO ก็มักไม่ค่อยพอใจ แบบว่าอยากให้หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพาดหัวข่าวเรื่องสิทธิบัตรยา พาดหัวรองเรื่องนาเกลือ ข่าว 3 เป็นเรื่องจินตนา แก้วขาว ข่าว 4 เรื่องปากบารา ฯลฯ ผมถามว่าแม่-ได้ผลอะไร ถ้าไม่มีคนอ่าน

 

"นักสื่อสารแรงงาน อย่าหลงประเด็น"
จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย

 

อ่านคำแถลงของเครือข่ายนักสื่อสารแรงงาน เรื่อง “ติงใบตองแห้ง อย่าหมิ่นเสียงชาวบ้านคนชายขอบ” โดยพี่วิชัย แห่งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ทำให้อยากแลกเปลี่ยนขึ้นมาทันใด ถ้าดูจากชื่อคำแถลง และข้อความบางส่วนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาประกอบคำแถลงนี้ น่าจะมุ่งเน้นไปที่การตำหนิ ไปตองแห้งเสียเป็นหลัก แต่เมื่ออ่านคำแถลงจนจบ กลับพบว่าเป็นแถลงการณ์ที่เน้นปกป้อง TPBS เสียเป็นส่วนใหญ่ โดยหยิบยกประโยชน์ที่แรงงานได้รับ เป็นเหตุผลประกอบ แน่นอนผมเห็นต่างและคิดว่า “นักสื่อสารแรงงาน” กำลังหลงประเด็น

เรื่อง “ใบตองแห้ง” หมิ่นเสียงชาวบ้านหรือไม่ อันนี้ผมขอไม่เกี่ยว คงต้อรอ ใบตองแห้ง ตอบคำถามนี้เอง

ถ้านักสื่อสารแรงงานมองว่า TPBS เป็นทีวี “สาธารณะ” ควรต้องตั้งคำถามสำคัญ ว่าแรงงานที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึง ทั้งแรงงานในระบบ(ประกันสังคม) ทั้งคอปกขาว คอปกน้ำเงิน แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ นั่น มีส่วนในการกำหนดนโยบาย และตรวจสอบ ทีวีสาธารณะแห่งนี้มากน้อยเพียงใด ในกรรมการนโนบาย มีตัวแทนแรงงานในสาขาอาชีพต่างๆ อยู่เป็นจำนวนเท่าไร ถ้าจะคิดเอาจากสัดส่วนประชากร ก็น่าจะมีตัวแทนแรงงานซัก 40% จากสถานประกอบการต่างๆ นี่ต่างหากที่ควรตั้งคำถาม ไม่ใช่ไปหลงดีใจ ว่ามีผลงาน แค่ 155 ชิ้น ถ้าจะพูดให้แรงหน่อย มันก็แค่เศษเนื้อ ที่เขาโยนให้ก็เท่านั้น

นอกจากนั้น นักสื่อสารแรงงาน ควรตั้งคำถามไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของ TPBS ว่าทำไมไม่อนุญาตให้พนักงาน TPBS จัดตั้งสหภาพแรงงาน อะไรเป็นอุปสรรคและจะแก้ไขอย่างไร เพื่อให้พนักงานตั้งสหภาพแรงงานได้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า องค์กรที่สามารถปกป้อง คุ้มครอง ผลประโยชน์ของลูกจ้างได้ดีที่สุดในระบบทุนนิยม คือสหภาพแรงงาน นอกจากนี้ นักสื่อสารแรงงาน ควรตั้งคำถามด้วยว่า ทำไมพนักงานของ TPBS ระดับลูกจ้างไม่มีส่วนร่วมในการบริหารงานขององค์กร ไม่ต้องรอการลงสัตยาบรรณ ILO 87 98 หรอก ในฐานะนักสื่อสารแรงงาน ควรสื่อเรื่องแบบนี้ออกมาได้เลย และควรสื่อสารด้วยว่าพนักงาน TPBS มีปัญหา ถูกกดขี่ รังแก เกี่ยวกับสภาพการจ้างงานอย่างไรบ้าง

และสุดท้ายที่ผมค่อยข้างจะมึนงง พอสมควร กับคำแถลงนี้ ที่กล่าวถึงคุณประโยชน์ของ TPBS ที่มีต่อผลประโยชน์ของแรงงาน อาทิเช่น ช่วยให้ทำให้สังคมเข้าใจประเด็นแรงงานอย่างแท้จริง ไอ้คำว่า “แท้จริง” นี่มันวัดผลอย่างไร อย่าหาว่าจุกจิกเลยนะ แต่มันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคำว่า “แท้จริง” มันวัดผลไม่ได้ จะถือว่าคนงานได้ประโยชน์ได้อย่างไร อย่าลืมนะครับ เงินตั้ง 2000 ล้าน นี่เป็นภาษีของผู้ใช้แรงงานงานทั้งนั้นนะครับ เพราะเก็บภาษีผู้บริโภคโดยตรง

หรือการปกป้องรายการ “เวทีสาธารณะ” ที่ช่วยให้หน่อยงานรัฐ นักการเมืองฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ได้รับรู้ ผลักดัน ช่วยเหลือแรงงาน แต่ผมถามตรงๆ เถอะ บุคคลเหล่านี้ “รับรู้” แล้วอย่างไร โดนหักหลัก โดยหลอกกันมากี่ครั้ง กี่หนกันแล้วยังไม่เข็ดกันอีกเหรอ อย่างแค่ลงสัตยาบรรณ ILO 87 98 นี้ รับปากมากี่ฝ่ายค้าน กี่รัฐบาล แล้ว ถ้า TPBS มีประโยชน์ต่อแรงงานจริง มันต้องทำมากกว่านี้ อย่าลืมนะครับ ในประเทศนี้มีแรงงานไม่น้อยกว่า 40% นะ ย้ำอีกครั้งกันลืม

แน่นอนว่าการได้ออกสื่อที่มีผู้ชมกว้างขวาง(ไม่รู้จริงรึเปล่าเพราะไม่สนเรตติ้ง) เป็นเรื่องดี แต่ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า ที่ผ่านมามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงในด้านดีขึ้นบ้าง ที่ผมพอทราบ ในส่วนของแรงงานข้ามชาติ ปัญหาต่างๆ ยังมีเหมือนเดิม ยังเข้าไม่ถึงประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน และมิหนำซ้ำ ยังมีแนวคิดจะส่งคนท้องกลับประเทศอีก และล่าสุดมีการห้ามแรงงานข้ามชาติที่มีหนังสือเดินทางถูกต้องเดินทางออกจากแม่สอดอีก แรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศยิ่งแล้ว โดยเฉพาะคนงานลิเบีย ที่ TPBS เกาะติดสถานการณ์ในช่วงแรกอย่างใกล้ชิด แต่พึ่งชนะคดีเพียงคนเดียว แน่นอน TPBS คงช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่ยังเหลือคนงานอีกหลายพันคน ก็ฝากบอก TPBS ให้ช่วยไปตามด้วยก็แล้วกัน ว่าโดนยึดที่ดินทำกินไปกันกี่รายแล้ว

ในส่วนของแรงงานไทย ไม่ต้องพูดถึง ถ้านับจากหลังการเกิดขึ้นของระบบประกันสังคม เป็นต้นมา แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ยังถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ผู้นำแรงงานถูกรังแกคนแล้วคนเล่า ระบบสวัสดิการอันน้อยนิด ฯลฯ เดี๋ยวพูดมากไป จะเป็นการบ่นถึงปัญหาแรงงานเสียเปล่าๆ เพราะเอาเข้าจริง TPBS ก็คงจะช่วยอะไรได้ไม่มากนัก แต่ผมคิดว่า นักสื่อสารแรงงาน ควรพุ่งเป้าไปที่การตรวจสอบ TPBS เสียมากกว่า ถึงแม้จะให้เวลาประเด็นแรงงานมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่องอื่น แต่ก็ยังน้อยเกินไป อย่ามัวหลงประเด็น ปกป้องกันเสียเกินงาม เงินตั้ง 2,000 ล้านนะครับ (ย้ำอีกครั้งของคนทำงานทั้งนั้น)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท