Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

นักเรียนเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปแล้วจะได้รับการบอกกล่าวจากบรรดาอาจารย์ก่อนปูพื้นไปสู่บทเรียนอันเข้มข้นว่าเศรษฐศาสตร์คือราชาหรือราชินีแห่งสังคมศาสตร์ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่มีระเบียบวิธีการเข้าถึงความจริงเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุด และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการตัดขาดจากบริบททางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมในจินตนาการของนักเรียนเศรษฐศาสตร์

เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เริ่มรู้จักกันในบ้านเราอาจนับได้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2454 จากหนังสือชื่อ ทรัพยศาสตร์โดยพระยาสุริยานุวัตร ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดเกี่ยวกับชุดความรู้ที่ว่าด้วยทฤษฎีมูลค่าของสำนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิก โดยที่พระยาสุริยานุวัตรพยายามประยุกต์เข้ากับรูปธรรมของระบบเศรษฐกิจไทย มีการเสนอแนะแนวคิดเกี่ยวกับการระดมทรัพยากรเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างการกระจายรายได้ให้เท่าเทียมกันของคนไทย นอกจากนั้นยังมีเนื้อหาในส่วนของภาคการค้าและการเงินระหว่างประเทศ และเนื้อหาว่าด้วยเศรษฐศาสตร์การคลังในส่วนสุดท้าย1>

การเข้ามาของชุดความรู้ใหม่ในการอธิบายว่าเศรษฐกิจไทยควรจะเป็นอย่างไร ทำให้หน้าที่ของมันได้เข้าไปท้าทายอำนาจจารีตของสังคมในขณะนั้น จนทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้นามปากกา “อัศวพาหุ” แสดงความเห็นในเชิงประชดประชันวิชาเศรษฐศาสตร์ไว้ว่า “มหาเศรษฐีจำนวนมากในยุโรปไม่มีผู้ใดเลยที่เป็นผู้รอบรู้ในวิชา Political Economy ส่วนผู้ที่เป็นอาจารย์เจ้าตำราในวิชาอันนั้น เท่าที่ข้าพเจ้าได้ทราบประวัติของเขาทั้งหลาย มีอาจารย์จอห์น สจ๊วต มิลล์ (อังกฤษ) และอาจารย์ยี้ด (ฝรั่งเศส) เป็นต้น ไม่ปรากฏเลยว่าเป็นคนที่มั่งมี2> ด้วยคำตอบโต้ดังกล่าวของ “อัศวพาหุ” คือการแสดงให้เห็นว่าเป็นการปะทะกันรูปแบบหนึ่งระหว่างโลกทัศน์แบบใหม่ที่มาแทนที่การอธิบายปรากฏการณ์สังคมด้วยแนวคิดแบบเดิม3> หากพิจารณาให้ง่ายกว่านั้นเพียงแค่เนื้อหาในส่วนที่อธิบาย การสร้างการกระจายรายได้ให้เท่าเทียมกันของคนไทยก็เป็นการสั่นคลอนวัฒนธรรมการเมืองแบบไทยที่ยึดถือเรื่องลำดับชั้นแล้ว

หากมองตามเป้าหมายของหลักวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ได้เสนอตัวเข้ามาในสังคมไทยมันก็คือเครื่องมือที่พยายามจะสร้างความเท่าเทียมให้กับสังคมไทย มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นกันหากจะกล่าวในขั้นต้นว่า “นักเศรษฐศาสตร์” คือกลุ่มคนที่จะเป็นความหวังให้กับประชาชนบนหนทางสู่ความเป็นประชาธิปไตย ดังนั้นด้วยเป้าหมายเช่นนี้โดยตัวศาสตร์เองมันจึงเป็นเรื่องของการเมืองโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเข้าสู่ยุคพัฒนาประเทศให้เจริญทัดเทียมตะวันตกในทศวรรษ 2500 บริบททั้งการเมืองไทยและเศรษฐกิจได้เชื่อมเข้ากับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์ต้องเชื่อมโยงกับระบบโลกมากขึ้นหรือกล่าวได้ว่าโลกตะวันตกใช้ตำราของ Paul A. Samuelson ที่ชื่อ Economics : An Introductory Analysis ประเทศไทยก็ต้องใช้เล่มดังกล่าวสอนเป็นหลักเหมือนกัน4> ประกอบกับกลุ่มที่ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวมาร์กซิสต์ในประเทศไทยก็ไม่ได้เสนองานที่สอดรับกับบริบทที่ต้องการความพัฒนารวมถึงการคาดการณ์อนาคตบนวิถีการพัฒนาจึงทำให้เสียงของคนกลุ่มนี้แผ่วลง

เมื่อเสียงของกลุ่มศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองแผ่วลงก็ยิ่งทำให้เป็นการไฮไลท์เศรษฐศาสตร์กระแสหลักชัดเจนมากขึ้นในสังคมไทย มีการเน้นหนักในด้านการใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์ในการเข้าถึงความจริงของการใช้เหตุผลในกระบวนการตัดสินใจของมนุษย์ มีการบังคับให้นักเรียนที่ต้องการเข้าศึกษาในสาขาเศรษฐศาสตร์ต้องจบอย่างน้อยสายศิลป์คำนวณเพื่อหวังได้ว่าจะมีพื้นฐานทางแคลคูลัส เนื่องจากแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มีฐานมาจากแคลคูลัส และสมมติฐานว่ามนุษย์ในหน่วยวิเคราะห์จะแสวงหา “ผลประโยชน์สูงสุด” ซึ่งจะตัดบริบททางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมออกไปให้เหลือแต่ปัจจัยทางเศรษฐกิจเท่านั้น กระบวนการเข้าถึงความจริงดังกล่าวจึงเรียกได้ว่าเป็นการลดทอนบริบท

ในยุคหลังมาซึ่งในที่นี้ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใดอาจจะตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมาที่เริ่มมีการจัดการแข่งขันวัดความรู้ทางเศรษฐศาสตร์อย่างเข้มข้นของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทยที่มีการเปิดสอนหลักสูตรคณะหรือสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งข้อสอบการแข่งขันส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 จะเป็นแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่ต้องคำนวณด้วยสูตรคณิตศาสตร์ทั้งเศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาค ชัยชนะของการแข่งขันจึงเป็นตัวอย่างที่ตอกย้ำนักศึกษาว่าเศรษฐศาสตร์เท่ากับการคำนวณทางคณิตศาสตร์อย่างเข้มข้น ซึ่งการคำนวณดังกล่าวจะต้องมีการจำกัดตัวแปรในแบบจำลองให้แน่นอนจำนวนหนึ่ง พฤติกรรมดังกล่าวอาจส่งผลให้นักเรียนเศรษฐศาสตร์มองโลกและเข้าถึงปัญหาโดยใช้วิธีการลดทอนและก็เชื่อว่านั่นคือวิธีการมองโลกที่ชัดเจนและแน่นอนที่สุดเพราะมันคือชุดความรู้คำอธิบายภายใต้ “วาทกรรมวิทยาศาสตร์” ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์กระแสหลักของการมองโลกในปัจจุบัน

ตัวผู้เขียนเองก็เคยน้อยเนื้อต่ำใจในความสามารถทางคณิตศาสตร์ของตัวเองเช่นกันเมื่อครั้งตอนจบปริญญาตรีและขอคำแนะนำจากอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งที่ผู้เขียนเคารพและนับถือโดยท่านแนะนำว่า “ควรจะหาเรียนเศรษฐศาสตร์ในชั้นปริญญาโทที่เน้นหนักในด้านคณิตศาสตร์เพื่อที่ตัวเราจะได้ไม่มีความเอนเอียงในการวิเคราะห์ซึ่งอาจมาจากอคติทางการเมือง” (สุดท้ายแล้วผู้เขียนก็ไม่สามารถหาที่เรียนได้ด้วยความโง่เขลาทางคณิตศาสตร์ของตัวเอง)

บทสรุปของนักเรียนเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งคือต้องแสวงหาระบบการคิดแบบเศรษฐศาสตร์ที่ “ไม่มีความเอนเอียง” และต้องเป็นการเน้นหนักทางคณิตศาสตร์ หลังจากไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์ตามคำแนะนำของอาจารย์แล้ว ผู้เขียนก็ได้ติดตามผลงานเขียนของอาจารย์ “นักเศรษฐศาสตร์” ท่านนั้นทางอินเตอร์เน็ตมาตลอดด้วยความเคารพ ซึ่งงานเขียนของท่านส่วนใหญ่จะเป็นการพยายามใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาจับปรากฏการณ์ทางการเมืองเพื่ออธิบายและเสนอทางออกของปัญหาจากผลของการใช้แบบจำลองนั้นๆ โดยพยายามทำให้การวิเคราะห์ปราศจาก “อคติ” มากที่สุด

งานเขียนบางชิ้นของอาจารย์ “นักเศรษฐศาสตร์” ได้แสดงออกอย่างชัดเจนของระบบการคิดที่ถูกแทรกแซงจาก “เรื่องเล่า” แห่งชาติรวมถึงละเลยการวิพากษ์ “เรื่องเล่า” ที่หยิบขึ้นมาเป็นฐานในการอธิบายราวกับว่ามันคือเรื่องจริงโดยไม่ต้องพิสูจน์ดังเช่นบทความชื่อ “ฟรีด้อมเฮ้าส์กับมุมที่ไม่ได้มอง5> ซึ่งเป็นบทความที่พยายามชี้ให้เห็นถึงความไม่เห็นด้วยกับการจัดลำดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยจากฟรีด้อมเฮ้าส์ซึ่งมีเนื้อความบางส่วนดังนี้

“ตอนที่เกิดการปฏิวัติในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 ผู้นำของประเทศต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งได้ออกมาแสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ ต้องการให้ประเทศกลับเข้าสู่วิถีทางแห่งประชาธิปไตยโดยเร็ว องค์กรนานาชาติที่ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้เป็นอันดับต้นๆ ในตอนนั้น คือ ฟรีด้อมเฮ้าส์ (Freedom House) ฟรีดอมเฮ้าส์ประกาศตัวอยู่เสมอว่า ตนเองมุ่งส่งเสริมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นโลก โดยเชื่อว่า ประชาธิปไตยเป็นหนทางเดียวที่ประชาชนจะมีอิสรภาพได้…

… ตอนที่ฟรีด้อมเฮ้าส์ออกแถลงการณ์ต่อต้านการปฏิวัติ พวกเขาไม่ได้พยายามอธิบายเลยด้วยซ้ำว่า ถ้าการยึดอำนาจคราวนี้มันแย่ขนาดนั้นจริง แล้วทำไมรถถังจึงถูกประดับประดาไปด้วยดอกไม้จากประชาชนถ้าคนไทยไม่เห็นด้วยกับการกระทำนี้ แล้วทำไมยังมีคนนำอาหารไปให้เหล่าทหารที่คอยดูแลตรวจตราสถานที่ต่างๆ ถ้าการยึดอำนาจจะนำไปสู่เผด็จการ เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ แล้วทำไมหลายคนถึงยังไปถ่ายรูปกับเหล่าทหารและยุทโธปกรณ์ราวกับเป็นงานรับปริญญา…

…จริงอยู่  การเมืองบ้านเราล้มลุกคลุกคลานมาตลอด แต่หากมองกันยาวๆ  หกสิบกว่าปีมานี้เราก้าวหน้าไปมากพอสมควร  นานาชาติจะมองเรา วิพากษ์วิจารณ์เราอย่างไรก็ควรฟังหูไว้หู  ตามหลักกาลามสูตร 10  สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้คือสังคมไทยต้องหาคำตอบให้ได้ว่า  จากนี้ไป  วิถีทางแห่งประชาธิปไตยของไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร…” 6>

หลังจากที่ผู้เขียนได้อ่านบทความฉบับดังกล่าวแล้วก็ทำให้เข้าใจได้ว่าแท้จริงแล้ว “นักเศรษฐศาสตร์”7> เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถสลัด “เรื่องเล่า” ความเป็น “เอกลักษณ์เฉพาะ” ของไทยออกไปได้ถึงแม้ว่าตลอดระยะเวลาการเรียนเศรษฐศาสตร์นั้นจะเน้นที่ความไม่เอนเอียงให้มากที่สุดโดยวิธีการทางคณิตศาสตร์ แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่ากระบวนการทางคณิตศาสตร์ดังกล่าวได้ทำให้พวกเขาทำการลดทอนความละเอียดอ่อนทางบริบทไป ดังบทความที่ยกมา “นักเศรษฐศาสตร์” ได้โต้แย้งฟรีด้อมเฮ้าส์ด้วยความคิดที่ว่ากระบวนเป็นประชาธิปไตยมีหลากหลายทางไม่จำเป็นต้องเหมือนตะวันตก เพราะประเทศไทยมี “เอกลักษณ์เฉพาะ” ที่ไม่เหมือนใครในโลก ขนาดการรัฐประหารยังเป็นที่ยอมรับของประชาชน ซึ่งการกล่าวอ้างเช่นนั้นเท่าเป็นการลดทอนบริบทอันละเอียดอ่อนหลังรัฐประหาร 49 เพราะว่ามันทำให้เห็นเพียงด้านเดียวและอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าการรัฐประหารนั้นเป็นการกระทำที่ได้รับความยินยอมจากประชาชน แต่แท้จริงแล้วมันมีการต่อต้านที่ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงถึงขั้นแลกด้วยชีวิตดังกรณีนายนวมทอง ไพรวัลย์เป็นต้นและยังไม่นับเหตุการณ์ไม่เห็นด้วยตามมาอีกมากมาย

“นักเศรษฐศาสตร์” อาจมองเห็นว่ารัฐประหารคือวิถีไทยๆ เป็นการแก้ปัญหาแบบไทยๆ จึงเป็นที่ยอมรับได้หากประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยที่ต่างไปจากสากล หาก “นักเศรษฐศาสตร์” ไม่ลดทอนบริบทอื่นๆ ดังเช่นกรณีของนายนวมทอง ไพรวัลย์เข้ามาร่วมในข้อโต้แย้งฟรีด้อมเฮ้าส์ก็อาจทำให้เขามองเห็นว่าการรัฐประหารนั้นคือตัวปัญหาของกระบวนการเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่งเพราะมันคือการตบหน้าผู้ลงคะแนนเสียงว่าเป็นพลเมืองไร้คุณภาพที่เลือกนักการเมืองเลวเข้ามาบริหารประเทศ ถือว่าเป็นการคุกคามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แบบหนึ่ง ดังนั้นเมื่อมันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงต้องมีการตั้งคำถามต่อ “ลักลักษณะเฉพาะ” ของการเมืองไทยนั้นว่ามันผิดปกติหรือไม่ในกรณีที่ “ลักษณะเฉพาะ” มันไม่ได้เท่ากับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คำถามที่ตามมาคือนอกจากการคิดแบบลดทอนแล้วยังมีแบบจำลองใดอีกในมุมเศรษฐศาสตร์ที่เป็นต้นแบบในการอธิบายการเมืองอันนำไปสู่ปัญหาของระบบคิดที่ตัดขาดจากบริบท?

ถัดมาอีกหลายเดือนคำถามหรือข้อสงสัยดังกล่าวได้ถูกตอบและตอกย้ำคำตอบที่ผู้เขียนมีอยู่ในใจลางๆ อยู่แล้วจากงานเขียนของ “นักเศรษฐศาสตร์” คนดังกล่าวชื่อบทความ “ประชาธิปไตยไทยในมุมมองของเศรษฐศาสตร์8> เป็นบทความที่ปรับปรุงมาจากบทความชื่อเดียวกันที่เคยตีพิมพ์ในคอลัมน์เดียวกันนี้  เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2551 (แสดงว่าเป็นฐานความคิดให้กับการเขียนบทความแรกที่ยกมา) ซึ่งเป็นบทความที่พยายามอ้างแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออธิบายระดับความเป็นประชาธิปไตยโดยมีเนื้อความบางส่วนอธิบายว่า

เมื่อปี ค.ศ. 1999 โรเบิร์ต แบร์โรว์ นักเศรษฐศาสตร์ใหญ่ของอเมริกาได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัย ชื่อว่า “ปัจจัยกำหนดความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการศึกษาว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ช่วยส่งเสริมและฉุดรั้งพัฒนาการไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ หากใช้แบบจำลองจากงานวิจัยเรื่องนี้มาเป็นฐานในการพยากรณ์ โดยสมมติว่านโยบายการพัฒนาของเราเป็นการเดินตามรอยเท้าของประเทศพัฒนาแล้วประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ได้ภายในปี 2540 แสดงว่า ตอนนี้เราล่าช้ากว่ากำหนดไปแล้วถึง 15 ปี…  

... การเมืองเป็นเกมที่มีผู้เล่นสองกลุ่ม คือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และพรรคการเมืองซึ่งเป็นฝ่ายนำเสนอนโยบายต่อประชาชน ประชาชนจึงเป็นผู้ซื้อและพรรคการเมืองเป็นผู้ขายในตลาดการเมือง เมื่อนำเอาตรรกะทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเชื่อว่าการแข่งขันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเข้ามาจับ การแข่งขันทางการเมืองจึงเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของสังคม…

.... ภายใต้เงื่อนไขข้างต้น พรรคการเมืองไหนที่เสนอนโยบายโดนใจประชาชน

ส่วนใหญ่จะเป็นผู้กำชัยในการเลือกตั้ง จุดนี้เองที่เศรษฐศาสตร์และการเมืองมาบรรจบกัน เนื่องจากระบบประชาธิปไตยเป็นกลไกทางการเมืองที่สอดคล้องกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มากที่สุดอย่างไรก็ตามในทางเศรษฐศาสตร์ โจทย์ที่จะต้องขบให้แตก เพื่อให้กลไกของประชาธิปไตยสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมีอยู่สองข้อด้วยกัน

ข้อแรก คือ ทำอย่างไรประชาชนจึงจะสามารถคิดและแสดงออกถึงความต้องการที่แท้จริงของตนให้พรรคการเมืองได้รับรู้…

ข้อสอง คือ ทำอย่างไรพรรคการเมืองจึงจะรักษาสัญญาที่ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง…

... ทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้ ก็คือ การส่งเสริมให้มีการลงโทษโดยภาคประชาชน ไม่ใช่ด้วยการไปประท้วงหน้าทำเนียบ ไม่ใช่ด้วยการเดินขบวนปิดถนน แต่เป็นการลงโทษด้วยการไม่เลือกพรรคการเมืองนั้นอีกในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหากไม่รักษาสัญญาที่เคยให้ไว้…

… สังคมไทยถูกทำให้เชื่อว่าเราต้องการรัฐธรรมนูญ เมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วเดี๋ยวอะไรก็จะดีขึ้นมาเอง ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมได้เปล่งรัศมีบดบังประเด็นอื่นๆ ที่ควรทำก่อนหรือทำควบคู่กันไปกับการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการปฏิรูปความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองของคนไทย อาจจะเป็นเพราะว่าประเด็นหลังนี้ทำได้ยากกว่าและใช้เวลานาน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว อะไรที่แก้ยากแก้นานก็ยิ่งต้องเริ่มให้เร็ว เพราะยิ่งเริ่มช้ากว่าจะแก้ปัญหาได้ก็ยิ่งนานเข้าไปอีก...”9>

แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่อธิบายการเมืองดังที่ “นักเศรษฐศาสตร์” ยกมาเป็นแกนในการอธิบายทำให้เราเห็นได้ว่า มันเป็นการจงใจโฟกัสไปที่ผู้เล่นในระบบการเมืองไทยให้มีเพียงแค่ 2 กลุ่มเท่านั้นคือผู้เลือกตั้งและนักการเมืองโดยตัดผู้เล่นกลุ่มอื่นๆ ออกไปหมดจากกระดานหมาก ซึ่งความคิดดังกล่าวไม่ได้แตกต่างจากงานศึกษาการเมืองเรื่องการเลือกตั้งตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เป็นต้นมาที่มองว่าชาวบ้านผู้เลือกตั้ง “โง่ จน เจ็บ” ไม่มีข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจึงทำให้เลือกนักการเมืองที่ “ไม่ดี” โกงกิน ต้องแก้ไขด้วยการให้การศึกษาเมื่อมีการศึกษาพฤติกรรมทางการเมืองก็จะดีขึ้นเอง ซึ่ง “นักเศรษฐศาสตร์” อาจจะได้รับอิทธิพลทางความคิดที่มองว่าผู้เลือกตั้ง “โง่ จน เจ็บ” อันเป็น “เรื่องเล่า” แบบไทยๆ ตลอดหลายทศวรรษมาก่อนก็เป็นได้ถึงทำให้พวกเขายอมรับและใช้แบบจำลองดังกล่าวเป็นแกนในการอธิบาย

สิ่งที่ไม่เห็นเลยอย่างน้อยที่สุดก็คือการเมืองของชนชั้นนำที่เป็นผู้เล่นคนที่ 3 ในเกมการเมืองซึ่งส่งอิทธิพลตลอดช่วงจังหวะเวลากระบวนการเป็นประชาธิปไตยของไทย แต่ระบบคิดของ “นักเศรษฐศาสตร์” กลับเป็นการลดทอนจนมองไม่เห็นบริบททางการเมืองอันสลับซับซ้อนที่ส่งผลต่อกระบวนการเป็นประชาธิปไตยไทย เมื่อมองไม่เห็นโดยจงใจหรือไม่จงใจก็แล้วแต่ มันจึงเป็นการเปิดทางให้ตาอยู่ทางการเมืองที่ไม่ใช่ทั้งผู้เลือกตั้งและนักการเมืองเข้ามาแทรกแซงกระบวนการเป็นประชาธิปไตยได้อย่างง่ายดาย ดังความคิดในบทความที่ยกมาก่อนหน้านี้ที่ว่าการรัฐประหารคือวิถีทางหนึ่งในกระบวนการเป็นประชาธิปไตยของไทยและเป็นที่ยอมรับได้ เนื่องจากผู้เล่นคนที่ 3 ไม่มีอยู่ในแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ แต่การไม่อยู่ในแบบจำลองนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นปัจจัยที่ไม่มีความหมายเลยทางเศรษฐศาสตร์ เพราะว่า “นักเศรษฐศาสตร์” มักจะคุ้นเคยกับการมองหาผู้เล่นคนที่ 3 เพื่อให้เข้ามาแทรกแซงแบบจำลองในช่วงเวลาที่คิดว่าตลาดกำลังล้มเหลว (market failure) จากพฤติกรรมของตัวแปรที่กำหนดไว้ในตอนแรก ดังกรณีระบบประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้งมันล้มเหลวโดยผู้เลือกตั้งกับนักการเมืองซึ่งไม่สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แต่ฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุด การยอมรับให้ผู้เล่นคนที่ 3 เข้ามาจัดการจึงกลายเป็นเรื่องที่ชอบธรรมในมุมมองของ “นักเศรษฐศาสตร์” ไป

ด้วยความเปลี่ยนแปลงไปประกอบกับกระบวนการสร้างให้เศรษฐศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุดมันอาจส่งผลต่อระบบคิดของ “นักเศรษฐศาสตร์” รุ่นใหม่ให้ลดทอนบริบทอันสลับซับซ้อนของสังคมการเมืองลงให้เหลือแต่หน่วยการวิเคราะห์ที่มีผู้เล่นจำกัดและปล่อยให้ “เรื่องเล่า” แบบไทยๆ เข้าไปเป็นเบื้องหลังของที่มาทางความคิดโดยไม่ตั้งคำถามกับ “เรื่องเล่า” แบบไทยๆ ว่ามันได้เป็นตัวการขัดขวางความเท่าเทียมกันของมนุษย์หรือไม่ จากที่เศรษฐศาสตร์ควรจะเป็นศาสตร์ที่ดำรงอยู่เพื่อความเท่าเทียมของมนุษย์อย่างที่ได้เคยท้าทายอำนาจจารีตของไทยดังกรณีของหนังสือทรัพยศาสตร์ของพระยาสุริยานุวัตรในทศวรรษ 2450 แต่กลับเป็นผู้สืบทอด “เรื่องเล่า” แบบไทยๆ ในทศวรรษนี้เสีย อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็เชื่อเสมอว่า “นักเศรษฐศาสตร์” มีความหวังดีต่อสังคมจึงได้พยายามเสนอมุมมองทางเศรษฐศาสตร์อธิบายการเมืองและสังคมอย่างไม่ขาดสาย  บทความนี้จึงเป็นการชี้ให้เห็นว่า “นักเศรษฐศาสตร์” ไม่ได้เป็นผู้ปราศจากอคติหรือความเอนเอียงเลย พวกเขาอยู่ในสังคมที่ “เรื่องเล่า” แบบไทยๆ มีอิทธิพล เพราะฉะนั้นต่อให้เศรษฐศาสตร์มีกระบวนการคิดแบบคณิตศาสตร์มากขนาดไหนจนเรียกมันว่า “Economics” แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ยังคงเป็นมนุษย์ธรรมดาซึ่งไม่เคยหนีห่างจากความคิดทางการเมืองบนพื้นฐานของ “เรื่องเล่า” แบบไทยๆ เลย

 

======================

1> นภาพร อติวานิชยพงศ์. “ประวัติศาสตร์ความคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองไทย”. คอนเซ็พท์พริ้นท์ กรุงเทพฯ. 2552

2> เรื่องเดียวกัน, หน้า 25

3> เรื่องเดียวกัน, หน้า 26

4> เรื่องเดียวกัน, หน้า 93
5> เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว, ฟรีด้อมเฮ้าส์กับมุมที่ไม่ได้มอง, กรุงเทพธุรกิจ, 10 ก.พ. 55
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/keatanun/20120210/435237/435237.html (สืบค้นวันที่ 23 กรกฎาคม 2555)
6> เรื่องเดียวกัน
7> นักเศรษฐศาสตร์ที่ผู้เขียนหมายถึงอาจเป็นการยกตัวอย่างอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งพยายามใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เป็นฐานในการคิดอธิบายการเมือง ไม่ได้เป็นอคติระหว่างตัวผู้เขียนกับนักเศรษฐศาสตร์เป็นการส่วนตัวแต่ผู้เขียนมีปัญหากับระบบความคิดแบบเศรษฐศาสตร์ที่พยายามอธิบายการเมือง และไม่มีเจตนาจะตีขลุมเหมารวมนักเศรษฐศาสตร์ทุกคน เพียงแต่ต้องการจะเตือนสตินักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่กำลังจะรับใช้สังคมในอนาคตโดยยกตัวอย่างและวิจารณ์ความคิดดังกล่าวผ่านงานเขียนของ “นักเศรษฐศาสตร์”   
8> ประชาธิปไตยไทยในมุมมองของเศรษฐศาสตร์, เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว, กรุงเทพธุรกิจ, 16 ก.ค. 2555
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/keatanun/20120716/461181/461181.html (24 กรกฎาคม 2555)
9> เรื่องเดียวกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net