"พลเมืองเน็ต" เสนอแก้นิยาม "พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์" อย่ายุ่งเนื้อหา

 เสนอแก้นิยามของ "ข้อมูลคอมพิวเตอร์" ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้จำกัดเฉพาะข้อมูลที่คอมพิวเตอร์อ่าน กังวลรัฐไทยนอกจากกดดันด้านกฎหมายแล้ว ยังร่วมมือกับต่างประเทศ เพิ่มอำนาจดีเอสไอในการดักข้อมูล และสนใจการกรองการสื่อสารทางเสียงด้วย

(31 ก.ค.55) ในการประชุมว่าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและสิทธิพลเมือง ประจำปี 2555 “อินเทอร์เน็ตกับการจัดทำนโยายสาธารณะ”  ที่ไทยพีบีเอส อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวถึงข้อเสนอของเครือข่ายฯ ในการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ว่า ให้แก้ไขมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยนิยามของข้อมูลคอมพิวเตอร์ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต้องเป็นข้อมูลสำหรับคอมพิวเตอร์อ่าน ไม่ใช่สำหรับมนุษย์อ่าน

โดยการเสนอเช่นนี้จะจำกัดข้อมูลคอมพิวเตอร์ให้หมายถึงเฉพาะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และข้อมูลสำหรับการควบคุมระบบเท่านั้น ไม่รวมเนื้อหา ในรูปแบบภาพหรือเสียงที่คนรับแล้วเข้าใจ ซึ่งในทางปฏิบัติอาจส่งผลกระทบเล็กน้อยต่อมาตรา 16 แต่จะทำให้การเผยแพร่ข้อมูลตามมาตรา 14-16 ถูกจำกัดโดยอัตโนมัติ

อาทิตย์กล่าวว่า เมื่อกลับไปดูสรุปสาระสำคัญการประชุมคณะกรรมาธิการปี 2549 ที่ สนช.กำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมฯ จะพบว่าฐานคิดเดิมพูดถึงการกระทำที่เป็นความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่เป็นการดักฟังข้อมูล ไวรัส โทรจัน ทำสำเนาตัวเองจำนวนมาก (worm) สปายแวร์ โปรแกรมแก้ไขข้อมูล แปลงหมายเลขชื่อต้นทาง ส่งอีเมลหลอก เรียกข้อมูลถี่ (DDos) ซึ่งเมื่อข้อมูลเหล่านั้นเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะมีผลต่อสาธารณะในวงกว้าง เช่น ไวรัสติดเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว แต่เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่มีข้อมูลสำคัญ เช่น จราจร โรงไฟฟ้า ก็จะส่งผลกระทบในวงกว้าง จึงเข้าใจได้ว่าเป็นอาญาแผ่นดินที่ไม่สามารถยอมความไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการรวมเรื่องเนื้อหาต่อบุคคล ในฐานความผิดเรื่องเนื้อหา กลับยังคงโทษอาญาแผ่นดินที่ยอมความไม่ได้เอาไว้ จึงเสนอให้กลับไปที่ความตั้งใจเดิม เพื่อแก้ปัญหานี้

โดยแม้จะแก้นิยามแล้ว ข้อกังวล 3 ข้อในมาตรา 14-15 ที่เป็นปัญหาคือ การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ กระทบต่อความมั่นคง และทำให้เกิดความตื่นตระหนก ก็จะยังทำงานได้ตามปกติ โดยยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลเท็จ - หากมีการปลอมแปลงเลขบัตรประชาชนเพื่อให้คอมพิวเตอร์เข้าใจผิด ก็จะยังใช้กฎหมายจัดการได้ ด้านความมั่นคง มองว่า ปัจจุบัน ที่มีการฟ้องข้อมูลคอมพิวเตอร์ เรื่องความมั่นคง ทางการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ให้มนุษย์อ่าน ไม่ควรผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พร้อมยกตัวอย่างข้อมูลที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เช่น การปล่อยข้อมูล หรือ worm ในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ทำให้ระบบคอมฯ สั่งงานบางอย่างให้ทำงานผิดปกติจากที่ตั้งใจไว้ เมื่อมีเข้าสู่ระบบไฟฟ้า ประปา การควบคุมสาธารณูปโภคของประเทศ นี่จะเป็นเรื่องความมั่นคงแน่ๆ ด้านข้อมูลที่ทำให้ตื่นตระหนก อาทิ ไวรัส ที่ปั่นป่วนระบบไฟจราจร ซึ่งอาจทำให้เมืองโกลาหลได้

ทั้งนี้ เขาย้ำว่า ไม่ใช่ว่าจะปล่อยจะมีการหมิ่นประมาทออนไลน์ แต่มองว่าไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ. คอมฯ จัดการ เพราะมีกฎหมายอื่นๆ อยู่แล้ว
 

3 ข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล
ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวด้วยว่านอกจากข่าวคราวเรื่องการเซ็นเซอร์และคดีความต่างๆ แล้ว ความเคลื่อนไหวจากภาครัฐที่น่าเป็นห่วง 3 ข้อ ได้แก่ 1.นอกจากการกดดันทางกฎหมาย มีการดำเนินนโยบาย "ทางการทูต" กับต่างประเทศ เช่น การที่รัฐบาลไทยมีความพยายามขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการมากขึ้น โดยส่งตัวแทนเข้าคุยกับผู้บริหารของเฟซบุ๊กและกูเกิลเรื่องเนื้อหา ทั้งยังเป็นรัฐบาลแรกในโลกที่ตอบรับเมื่อทวิตเตอร์ประกาศว่าจะให้รัฐบาลส่งคำร้องให้เซ็นเซอร์ทวีตรายประเทศได้

2.เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีประกาศของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอให้คดี พ.ร.บ.คอมฯ จะเข้าไปอยู่ในความดูแลของดีเอสไอ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จากเดิมที่เจ้าหน้าที่จะดักฟัง ดักเก็บข้อมูล หรือ sniff ได้ ต้องขอหมายศาลก่อน แต่หลังจากนี้ไม่ต้องขอหมายศาลอีกต่อไป ต้องการเพียงคำอนุมัติจากอธิบดีเท่านั้น นำมาสู่ความกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน

3.แหล่งข่าวจาก กสทช.ระบุว่า กรรมาธิการทหาร ทำจดหมายสอบถามไปยัง กสทช.เกี่ยวกับเทคโนโลยี VOIP (Voice Over IP) ว่ามีอุปกรณ์ใดดักฟังได้บ้าง หรือจะควบคุมไม่ให้นำเข้า VOIP หรือไม่ และถ้ามีอุปกรณ์เข้ารหัสขายจะมีช่องทางใด จะถอดรหัสได้อย่างไรบ้าง เครือข่ายพลเมืองเน็ตไม่แน่ใจว่ากรรมาธิการทหารต้องการทำอะไร แต่นี่แสดงให้เห็นถึงความสนใจเรื่องการสื่อสารด้วยเสียง ซึ่งการกรองเนื้อหานั้นทำได้ยากกว่าแบบตัวหนังสือ

อนึ่ง การประชุมว่าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและสิทธิพลเมืองครั้งที่ 1 จัดโดย สำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส), สมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) และเครือข่ายพลเมืองเน็ต โดยการสนับสนุนของมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท