Skip to main content
sharethis

การสัมมนาหัวข้อ “เปิดมิติเนปิดอว์เมืองหลวงใหม่พม่า: ที่มา ที่ไป และที่เป็น” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่่ผ่านมา ที่ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การปาฐกถานำเรื่อง “เมืองหลวงใหม่พม่าในมิติความมั่นคง” โดย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม กระทรวงกลาโหม (รับชมแบบ HD)

 

นายทหารไทยเผยนาทีถาม "หม่องเอ" สาเหตุพม่าย้ายเมืองหลวง

โดยช่วงแรกเป็นการปาฐกถานำเรื่อง “เมืองหลวงใหม่พม่าในมิติความมั่นคง” โดย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม กระทรวงกลาโหม

ตอนหนึ่ง พล.อ.นิพัทธ์กล่าวว่า เวลาพูดถึงที่ตั้ง คนที่เรียนเสนาธิการต้องพิจารณาปัจจัย 4 ประการ ได้แก่ "ที่สูงต่ำ ทางน้ำไหล พืชพันธุ์ไม้ สิ่งปลูกสร้าง" ทหารจะคิดทำอะไรเรื่องที่ตั้ง ถ้าเอามาใช้ในสเกลใหญ่ ขนาดย้ายเมืองเมืองหลวง ผมคิดว่าพอจะเอามาประยุกต์ใช้กันได้ สันเขาไปทางไหน น้ำควรจะไหลไปทางไหน บริเวณย่านที่จะเป็นจุดศูนย์ดุลจะอยู่ตรงไหน จุดตรงไหนจะเป็นจุดที่สามารถควบคุมประเทศชาติได้โดยที่มีมิติความมั่นคง และมิติอื่นๆ พิจารณาประกอบกัน

หลังจากที่พม่าได้ย้ายเมืองหลวงประมาณปลายปี 2548 ต่อมาในเดือนมกราคมปี 2550 พล.อ.นิพัทธ์ ซึ่งขณะนั้นร่วมคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของไทยเช่น พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดขณะนั้นไปเยือนเนปิดอว์ ได้มีโอกาสถาม พล.อ.อาวุโส หม่องเอ รองประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือ SPDC ว่า "ท่านย้ายเมืองหลวงหรือศูนย์ราชการขึ้นมาไว้ที่เนปิดอว์ด้วยเหตุผลอะไร?" พล.อ.อาวุโส หม่องเอ ตอบว่า "สิ่งที่พม่าคิดคือทำอะไรไว้ให้ลูกให้หลาน" และตอบด้วยว่า ถ้าสหรัฐอเมริกามีวอชิงตันดีซีเป็นศูนย์ราชการ ถ้าออสเตรเลียมีแคนเบอรา มาเลเซียมีปุตราจายา สิ่งต่างๆ เหล่านี้พม่าก็อยากจะมีเนปิดอว์เป็นศูนย์ราชการเหมือนประเทศอื่นมีกัน

และ พล.อ.อาวุโส หม่องเอ ก็ถามด้วยว่า "แล้วประเทศไทยที่คิดจะย้ายศูนย์ราชการ ทำไปหรือยัง?"

โดยองค์ปาฐกกล่าวด้วยว่า ได้ถามรองประธานสภา SPDC ในขณะนั้นด้วยว่า "เรื่องหมอดูมีความเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่?" พอ.อ.อาวุโส หม่องเอ ก็หัวเราะ

ทั้งนี้ พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวบรรยายพร้อมภาพประกอบ โดยกล่าวว่าเมืองหลวงใหม่ของพม่ามีการวางผังเมืองที่ไม่เลว การก่อสร้างเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช้าๆ ไม่ได้หรูหรา แต่ต้องยอมรับว่าบรรยากาศดีน่าอยู่ ช่วงแรกๆ ข้าราชการที่ต้องย้ายจากย่างกุ้งไปเนปิดอว์ก็มีความขมขื่น เพราะต้องย้ายที่อยู่ และเรื่องของลูกที่ต้องไปหาที่เรียนหนังสือใหม่ ช่วงแรกๆ ข้าราชการที่เนปิดอว์จะดีใจเวลาที่มีโอกาสกลับมาเยี่ยมย่างกุ้ง ซึ่งความรู้สึกเหมือนกับสมัยที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าต้องย้ายจาก ถ.ราชดำเนิน ไปที่เขาชะโงก ขณะที่ช่วงแรกๆ ของการย้ายเมืองหลวงนักการทูตต่างประเทศก็ไม่ได้ย้ายสำนักงานตามไปที่เนปิดอว์เนื่องจากไม่สะดวก

พล.อ.นิพัทธ์กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ จากข้อมูลของบริษัทนำเที่ยว ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวจากไทยเข้าไปเที่ยวพม่าและเลยไปเยี่ยมชมเมืองหลวงใหม่ถึงวันละ 3 พันคน และพม่ากำลังตื่นเต้นกับค่าที่พักโรงแรมจากเดิมคืนละ 50 เหรียญสหรัฐ ได้เพิ่มขึ้นเป็น 150 เหรียญสหรัฐ ซึ่งการห้องพักสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปในพม่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก

ในเรื่องการก่อสร้างถนน พล.อ.นิพัทธ์ ได้แสดงภาพถนนสายหลักขนาด 10 เลนในเนปิดอว์ และแสดงความเห็นว่า ถนนในเนปิดอว์มีความจงใจที่จะสร้างให้มีความสง่างาม อย่างไรก็ตามการก่อสร้างไม่ได้ใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ การผสมปูนก็ด้วยการเอารถผสมปูนมาเทแล้วใช้แรงงานคน ใช้เกรียงปาดปูนเพื่อฉาบผิวถนน เพราะฉะนั้นถนนจะไม่เรียบนัก โค้งถนนไม่มีสโลป และอาจมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูง

ช่วงหนึ่ง พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวถึง การที่ พล.ท.หล้า มิ้นท์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมพม่า กล่าวระหว่างการประชุมเรื่องความมั่นคง "แชงกรีล่าไดอะล็อก" ที่สิงคโปร์โดยสถาบันนานาชาติเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ (International Institute for Strategic Studies หรือ IISS) ซึ่งนอกจากองค์ปาฐกสำคัญที่หลายฝ่ายจับตามอง อย่างลีออน พาเนตตา (Leon Panetta) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ซึ่งเน้นย้ำเรื่องนโยบาย "การปรับสมดุลใหม่ในเอเชีย" แล้ว องค์ปาฐกอื่นซึ่งที่ประชุมให้ความสนใจก็คือ พล.ท.หล้า มิ้นท์ รัฐมนตรีกลาโหมของพม่า ซึ่งพูดถึงสิ่งที่ตะวันตกกังวลคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะเรื่องนิวเคลียร์

โดย พล.ท.หล้า มิ้นท์ กล่าวว่า รัฐบาลพม่า ได้ลดระดับความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือลงไปแล้ว ความสัมพันธ์เรื่องนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือนั้นไม่มี แต่ยอมรับว่ามีการติดต่อเรื่องนิวเคลียร์ขั้นต้นยอมรับว่ามีจริง แต่เป็นเรื่องเทคโนโลยีด้านการวิจัย โดย พล.อ.นิพัทธ์ได้อ้างคำกล่าวของ พล.อ.หล้า มิ้นท์ที่ว่า "ประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่ใช่เพื่อการรบ หรือพัฒนาเป็นอาวุธ หรือเป็นการวิจัยในอดีต"

ส่วนเรื่องของอุโมงค์ที่เนปิดอว์นั้น พล.อ.นิพัทธ์เล่าว่ามีจริง แต่เชื่อว่าเป็นคลังเก็บอาวุธ 

"เหมือนกองทัพไทยก็สร้างคลังเก็บอาวุธ โดยพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ราบก็สร้างคลังขึ้นมา มีกำแพงคอนกรีตล้อม มีช่องระบายอากาศ มีทหารยืนเฝ้า มีที่ดับเพลิง มีทรายใส่ถัง มีพลั่วเป็นสิ่งที่ทหารทั้งโลกทำกันถ้าอยู่ในที่ราบ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ภูเขา ถ้าหลังพิงเขาได้ เจาะเขาได้ เอาสิ่งที่เป็นวัตถุระเบิด กระสุนต่างๆ ไปไว้ ในช่องที่เจาะเข้าไปในภูเขาได้ก็เป็นคลังที่ดีเลิศคลังหนึ่ง เพราะฉะนั้นเรื่องอุโมงค์ที่พม่าได้ทำ เนื่องจากพื้นที่เป็นเขาก็เอื้อกับการทำเป็นคลังหรือ Depot เป็นเรื่องที่พม่าทำ ตามสไตล์เกาหลีเหนือและอีกหลายๆ ประเทศ" พล.อ.นิพัทธ์ กล่าว

 

000

สุเนตร ชุตินธรานนท์: ไขคติ "เบิกยุค" ธรรมเนียมพม่าย้ายราชธานี

การอภิปราย “การย้ายราชธานีของพม่าก่อนยุคเนปิดอว์” โดย รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รับชมแบบ HD)

 

ช่วงต่อมาเป็นการอภิปรายหัวข้อ “การย้ายราชธานีของพม่าก่อนยุคเนปิดอว์” โดย รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอาจารย์สุเนตรได้กล่าวถึงภูมิหลังประวัติศาสตร์และความเป็นมา ของธรรมเนียมการย้ายราชธานีพม่าในอดีต เปรียบเทียบกับการย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้ง ไปสู่เนปิดอว์ ในปัจจุบัน

โดยตอนหนึ่ง อาจารย์สุเนตรกล่าวถึงคติการย้ายเมืองหลวงของพม่าว่า "สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการย้ายเมืองของพม่าคือ เขาย้ายเมืองเพราะผู้ปกครองต้องการแสดงพระองค์ให้เห็นว่า ยุคสมัยของพระองค์ต้องการจะ "เบิกยุคใหม่" คิดใหม่ ทำใหม่ สร้างสิ่งใหม่ให้ราชอาณาจักร เพราะฉะนั้นสัญลักษณ์ของการสร้างสิ่งใหม่ เบิกยุคใหม่ ที่ทำได้อย่างเช่น ถ้าไม่สร้างวังใหม่ ก็ย้ายเมืองเสียเลย"

"ถามว่าทำไมต้องมี "เบิกยุค" คำว่า "เบิกยุค" หมายความว่า กษัตริย์พม่ามีคติเรื่องการปกครองที่เชื่อว่าพุทธศาสนานับวันจะเลวลง นับวันจะเสื่อมถอยลง เป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่จะต้องฟื้นฟูบูรณะพระศาสนาให้ยืนยงสถาพรเท่าพุทธทำนายคือ 5,000 ปี เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเหตุทุกภิกขภัยต่างๆ เกิดโรคระบาด เกิดรบราฆ่าฟัน แพ้สงคราม ก็จะเป็นคล้ายๆ เป็นสัญลักษณ์ว่าพุทธศาสนาคงเสื่อมแล้ว บ้านเมืองถึงปรากฏสภาวะเสื่อมโทรมดังนี้ ทำอย่างไรดีล่ะ ก็ต้องปลุกขวัญกำลังใจเหล่าอาณาประชาราษฎร์ เบิกยุคใหม่ บอกว่า "ไม่ต้องห่วงยังไม่สิ้น บ้านเมืองยังไม่สิ้น ยุคแห่งพุทธศาสนาไม่เสื่อม เราจะนำพาความรุ่งเรืองกลับมาอีกครั้ง ให้ยืนยงไปดังพุทธทำนาย" รูปธรรมต้องสร้างเมือง สร้างวัง ย้ายเมือง อย่างนี้เป็นต้น" สำหรับการอภิปรายของ รศ.ดร.สุเนตร ประชาไทเคยนำเสนอแล้วก่อนหน้านี้โดยสามารถอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net