Skip to main content
sharethis

นักวิจัยด้านแรงงานเสนอการวิเคราะห์ปัญหาเชิงโครงสร้างของเสรีนิยมใหม่ สู่การจ้างงานแบบยืดหยุ่น ความไม่มั่นคงสูงมาก ย้ำขบวนการแรงงานอ่อนแอทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เสนอจัดตั้งขบวนการแรงงานที่ทำกับขบวนการทางสังคม

 

โครงการวิจัยความไม่เป็นธรรมด้านเศรษฐกิจและแรงงาน ปัญหาและข้อเสนอเชิงนโยบาย ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาความเป็นธรรมทางสังคมเพื่อสังคมสุขภาวะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีสัมมนารายงานวิจัย เรื่อง “ความไม่เป็นธรรมด้านเศรษฐกิจและแรงงานปัญหาและข้อเสนอเชิงนโยบาย” ณ โรงแรมรอยัล ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา

ประเด็น “การวิเคราะห์ปัญหาเชิงโครงสร้าง”
นำเสนอรายงานการวิจัยโดย ดร.เสาวลักษณ์ ชายทวีป คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ ดร.โสภิณ จิระเกียรติกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ดร.เสาวลักษณ์ ชายทวีป คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ในการอธิบายเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบต่อแรงงานจะเห็นว่ามีอยู่หลายแนวสำหรับการอธิบาย งานศึกษานี้ทำความเข้าใจเรื่องแนวคิดที่เรียกว่าเป็น “เสรีนิยมใหม่” ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ถูกนำมาอธิบายอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อแรงงาน และเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อีกอันเป็นเรื่องของการผลิตแบบยืดหยุ่น เป็นกรอบหลักๆ 2 กรอบที่ทำให้เราเห็นภาพของการจ้างงานว่าแรงงานถูกแบ่งแยกในรูปแบบการจ้างงานอย่างไรบ้าง

เสรีนิยมใหม่ ฐานความคิดที่สำคัญอยู่ที่อิสระเสรีภาพของปัจเจกบุคคล
สวนทางกับความพยายามจะสร้างระบบที่เป็นความมั่นคงกับแรงงาน

ในแง่ของภาวะเศรษฐกิจโลกนั้น ในช่วงที่ผ่านมาภายใต้แนวคิดการพัฒนาแบบเสรีนิยมใหม่(Neoliberalism) นั้น มีการพูดถึงอย่างมากในหลายมิติ เช่น เรื่องของกลไกการพัฒนาในเชิงระบบตลาด การแข่งขันเสรี รวมทั้งบทบาทของรัฐว่าจะเข้าไปตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง แต่เรื่องของแรงงานเองยังขาดการศึกษาอย่างจริงจัง เราจะปรับตัวอย่างไรต่อภาวะแบบนี้ หรือการจะสร้างระบบสวัสดิการเพื่อให้เกิดความมั่นคงกับการทำงานสำหรับแรงงานนั้นจะมาด้านไหนบ้าง

ในแง่ของการคิดของเสรีนิยมใหม่ ฐานการคิดที่สำคัญของแนวคิดนี้จะอยู่บนเงื่อนไขที่เน้นในเรื่องของอิสระเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เพราะฉะนั้นการให้ความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิที่เป็นเรื่องของปัจเจกนั้น ในเชิงการแข่งขันในระบบตลาดเป็นฐานคิดที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ถ้าดูผลที่เกิดกับแรงงานมันเป็นเรื่องที่สวนทางกับการที่เราพยายามจะสร้างระบบที่เป็นความมั่นคงกับแรงงาน เช่น หลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม เพราะว่าการที่เข้าสู่ระบบการแข่งขันก็จะต้องไปเน้นว่าจะทำอย่างไรที่จะได้กำไรสูงสุด และจะทำอย่างไรที่จะทำให้การแข่งขันนั้นมันสามารถจะพัฒนาไปได้โดยที่ผู้ประกอบการนั้นจะต้องพยายามที่จะทำให้ได้ผลประโยชน์เต็มที่ เพราะฉะนั้นในแง่ของพื้นฐานแนวคิดแบบนี้ การไกล่เกลี่ยหรือการกระจายที่จะผ่านกลไกของตลาดนั้นมันก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อแรงงานที่จะไม่ได้รับการคุ้มครอง เพราะฉะนั้นในส่วนที่จะเป็นตัวกลางเข้ามาผลักดันขับเคลื่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงนโยบายก็ต้องให้ความสำคัญตรงนี้มากขึ้น ว่าบทบาทของภาคแรงงานหรือบทบาทของรัฐที่จะเข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยการกระจายที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมหรือความเป็นธรรมในทางสังคมตกอยู่กับพี่น้องแรงงานหรือว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมได้อย่างไร


การจ้างงานแบบยืดหยุ่น ความไม่มั่นคงสูงมาก
สถานการณ์ที่เป็นภาพรวมของสภาวะเศรษฐกิจโลกนับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมากระบวนการที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมโลกมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต ซึ่งเมื่อก่อนเน้นที่เรื่องของการกระจุกตัวของกระบวนการผลิตภายใต้ระบบโรงงาน (factory system) และเน้นการใช้เทคโนโลยีขนาดสูง ขณะที่ปัจจุบันมีการกระจายการผลิตออกนอกโรงงาน รวมทั้งมีความซับซ้อนของการจ้างงานแบบใหม่ เช่น การจ้างแบบชั่วคราว การจ้างแบบรับเหมาช่วง การเปลี่ยนแปลงของการจ้างงานนี้ทำให้เกิดความไม่มั่นคงสูงมาก และเสี่ยงต่อการเกิดการว่างงานสูง


ดร.โสภิณ จิระเกียรติกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โครงสร้างแรงงานในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาจะพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งแรงงานของเราเข้าสู่วัยสูงอายุมากขึ้น โดย 50% จะเป็นแรงงานที่อายุสูงกว่า 40 ปีขึ้นไป ขณะที่ภาวะการจ้างงานของประเทศไทยในช่วงปี 2513-2533 อยู่ในระดับที่ค่อนข้างคงที่ประมาณร้อยละ 84 ช่วงที่อัตราการจ้างงานตกลงอย่างมีนัยสำคัญคือช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ จากนั้นมาก็กระเตื้องขึ้นในปี 2551

แรงงานในภาคเกษตร เดิมมีสัดส่วนถึง 80% แต่ 40 ปีต่อมา ลดลงไปถึงครึ่งหนึ่ง โดยปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคเกษตรคือ ความเสี่ยงในการทำงาน โดยงานในภาคเกษตรเป็นงานที่หนัก ผลตอบแทนที่ได้รับยังอยู่ในอัตราที่ต่ำและมีความไม่แน่นอนที่ค่อนข้างสูง ขณะที่ทิศทางการขยายตัวในอุตสาหกรรมบริการค่อนข้างสูงกว่าสาขาอื่น

ปัญหาของผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ, แรงงานข้ามชาติ,
แรงงานไร้รัฐและแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ
ในประเทศไทยมีกลุ่มประกอบวิชาชีพอิสระถึง 80% และปัญหาในกลุ่มนี้คือไม่มีสวัสดิการคุ้มครอง และทำให้เกิดรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ กลไกในเรื่องของการจัดสวัสดิการ-การคุ้มครองทำโดยกลุ่มชุมชนหรือกลุ่มนอกระบบ

ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ข้อมูลของกรมการจัดหางานในปี 54 เกือบ 2 ล้านคนที่เป็นแรงงานต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในประเทศอันนี้รวมทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย และ 60% อยู่ในกรุงเทพฯ นอกนั้นก็กระจายอยู่ในภาคต่างๆ และในภาคอีสานน้อยสุด ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาพรวมคือทั้งเข้าไม่ถึงและไม่เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต รวมทั้งขาดการคุ้มครองสิทธิแรงงานทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน เช่น ขาดอิสรภาพในการออกนอกพื้นที่ ในเรื่องของสิทธิในค่ารักษาพยาบาล

ในกลุ่มของแรงงานไร้รัฐหรือแรงงานไร้สัญชาติ ข้อมูลที่ปรากฏ ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมายราว 6 แสนคน และแรงงานที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย 1 ล้านคน และข้อมูลของ UNHCR ระบุว่ามีคนไร้รัฐที่อยู่ในประเทศไทยกว่า 3 ล้านคน ในกลุ่มนี้ปัญหาก็แตกต่างกันออกไป คือถูกกีดกันทางสังคม เรื่องสิทธิต่างๆ ก็จะถูกจำกัด รวมทั้งมองในฐานะที่คนเหล่านี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ อีกอันที่เป็นปัญหาเนื่องจากกฎระเบียบไม่สอดคล้องกับแรงงานกลุ่มนี้ทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่แรงงานกลุ่มนี้จะต้องเข้าไปจดทะเบียนมีค่าใช้จ่ายในทางธุรการค่อนข้างสูง

กลุ่มแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ เป็นกลุ่มที่ส่งเงินกลับไทยค่อนข้างมาก ประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ปัญหาของกลุ่มนี้คือขาดมาตรการรัดกุมที่ป้องกันการถูกหลอกเอารัดเอาเปรียบในการไปทำงานต่างประเทศ ตัวแรงงานเองยังขาดกระบวนการที่จะทำความเข้าใจหรือเรียนรู้ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยที่ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ


การวางแผนผลิตกำลังพลที่มีทิศทางไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน การว่างงานแอบแฝง
ปัญหาเชิงโครงสร้างแรงงานไทย โดยสรุป คือ ในเรื่องของการวางแผนผลิตกำลังพลที่มีทิศทางไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ปัญหาที่ 2 คือเรื่องของการว่างงานแอบแฝง คนไม่ยอมทำงานในระดับต่ำกว่ารายได้ที่ตนเองได้รับ ปัญหาต่อมาคือค่าจ้างที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ในขณะเดียวกันทิศทางของประเทศไทยที่ปรับโครงสร้างไปสู่การผลิตที่มีทักษะมากขึ้น แต่แรงงานเรายังมีทักษะต่ำ รวมถึงยังมีการจ้างบริการเหมาช่วง จ้างแรงงานข้ามชาติมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ในราคาที่ถูกกว่า เพราะฉะนั้นนี่เป็นมิติที่ขัดแย้งกัน

โครงสร้างของประชากรก็มีปัญหาคือเรามีแรงงานสูงอายุมากขึ้น ทิศทางของแรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานที่ไร้ทักษะ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะถูกเลิกจ้างก็จะมีสูง

คนงานเองได้รับส่วนแบ่งจากความมั่งคั่งของประเทศน้อย การเติบโตของค่าจ้างก็ไม่ทันกับการเติบโตของผลผลิต ทำให้ค่าจ้างตอบแทนที่แท้จริงลดน้อยลง ส่วนรูปแบบการคุ้มครองแรงงานจากความไม่เป็นธรรมนั้น แรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นทางการก็มีการคุ้มครองเพียงบางส่วน ในส่วนของแรงงานนอกภาคเกษตร การคุ้มครองทางสังคมยังไม่ทั่วถึง การประกันการว่างงานยังไม่มีการคุ้มครองภายใต้ประกันใดๆ เลยที่รัฐจัดให้ในภาคเกษตร

ข้อเสนอเชิงนโยบาย
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการว่างงานลดลง แต่ภาระของแรงงานไทยก็คือดัชนีราคาผู้บริโภคสูงขึ้นทำให้คนมีกำลังซื้อน้อยลง ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินเฟ้อจากค่าจ้าง แต่ว่าตอนนี้เป็นเรื่องของความต้องการพลังงานมันเป็นตัวทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น เพราะฉะนั้นทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและแรงกดดันให้เกิดการปรับค่าจ้างแรงงาน

มาตรการในการช่วยเหลือผู้ว่างงาน เช่น การสร้างงานหรือการสร้างรายได้ให้กับแรงงาน การมีกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสม การมีสหภาพแรงงานหรือการต่อรอง การจ่ายค่าจ้างตามความสามารถของแรงงาน การยกระดับคุณภาพให้กับแรงงาน รัฐจะต้องอยู่ตรงกลางในการเชื่อมโยงนายจ้างกับลูกจ้าง รวมทั้งการมีเสถียรภาพในการผลิต ความมั่นคงในการทำงาน ระบบการตอบแทนและการคุ้มครองสิทธิที่มีประสิทธิภาพ

ภาพรวมของการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม แบ่งได้เป็น 4 เรื่องใหญ่ๆ 1. ควรจะมีระบบการช่วยเหลือทางสังคมที่จะต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับบริการให้ชัดเจน 2. ระบบการประกันทางสังคมที่เป็นโครงสร้างใหญ่จำเป็นจะต้องขยายการคลอบคลุมไปเพื่อสร้างหลักประกัน 3. การสร้างหลักประกันใหม่ๆ เช่น ระบบการออมแห่งชาติ กองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นทางเลือกใหม่ที่ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการบริการ สุดท้ายคือระบบบริการสังคมต้องยึดหลักความจำเป็นและความพอเพียง และทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมมากขึ้น

ความเห็นต่องานวิจัย
ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ นักวิชาการด้านแรงงาน จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แนวคิดเสรีนิยมบางทียังเป็นแค่อุดมการณ์เท่านั้น เมื่อมาใช้จริงยังไม่มีลักษณะที่กว้างขวาง

เราพูดถึงเสรีนิยมใหม่และโลกาภิวัตน์ว่านำมาสู่ผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงานมาก แต่ตั้งคำถามว่า ในสังคมไทยเรานำมาใช้ปฏิบัติแค่ไหน เช่น รัฐที่เป็นเสรีนิยมใหม่ รัฐต้องออกไปเลย ให้เป็นเรื่องของกลไกตลาด แต่สังคมไทยค่อนข้างเป็นรัฐที่รวมศูนย์ การแปรรูปไม่ถึงกับถอนรากถอนโคน ไม่ได้ขายกิจการหมด ดังนั้น มีข้อเสนอว่าต้องทำให้ชัดว่าเสรีนิยมใหม่ต่างจากเสรีนิยมเก่าอย่างไร และถามว่า ที่ไทยเป็นอยู่เป็นเสรีนิยมปฏิรูปหรือไม่ เพราะเมื่อใช้ Social Movement Unionism จะได้ไม่ติดกับดักที่ว่ารัฐต้องถอยไปให้เป็นเรื่องของภาคประชาชน เพราะแม้ว่า การจัดการโดยรัฐอาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมได้ แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเสนอให้ไปดูที่มิติของรัฐทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบแทน

เมื่อโลกาภิวัตน์เข้ามา มีเรื่องของการจ้างงานยืดหยุ่น เราใช้การ Outsource (การใช้บริการจากภายนอกองค์กร) แต่การ Outsource ต้องการฝีมือด้วย ทำให้การจ้างงานแบบนี้ไม่ใช่การกดค่าแรง ซึ่งเกิดขึ้นในตะวันตก ทำให้เกิดผู้ประกอบอาชีพอิสระสมัยใหม่ขึ้น ขณะที่ประเทศไทย กลับจ้างงานแบบยืดหยุ่นเพื่อลดต้นทุน เพราะฉะนั้นเราต้องจำแนกให้ชัดว่าเราอยู่ใต้การ Outsource แบบไหน เพราะเราไม่สามารถที่จะปฏิเสธการ Outsource ได้

สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่อยู่ในสังคมแรงงาน
เราจะขับเคลื่อนสังคมอย่างไร ในการวิเคราะห์รูปแบบการจ้างงาน เราเข้าสู่ระบบทุนนิยม การขยายตัวของระบบทุนนิยมมันคือพัฒนาการของระบบรับจ้างหรือแรงงานในระบบ เพราะฉะนั้นประเทศที่เป็นประเทศตะวันตก คนส่วนใหญ่จึงกลายเป็นสังคมของผู้ใช้แรงงาน สังคมที่อิงกับสังคมที่คนส่วนใหญ่อยู่ในโรงงานเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่ทำงานในภาคบริการ ดังนั้นการใช้แนวคิดเดิมในการจัดการต้องมีการปรับตัว

ทั้งนี้ มีข้อเสนอต่อผู้วิจัยในการจัดกลุ่มคนงานด้วยว่า หากเราเรียกแรงงานในระบบประกันสังคม 13 ล้านคนว่าเป็นแรงงานในระบบ ส่วนอีก 24 ล้านคน เราเรียกว่า แรงงานนอกระบบ จะกลายเป็นการแบ่งแยกเหมือนกับว่าในกับนอกระบบไม่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งอันนี้ต้องระวัง นอกจากนี้ชี้ว่า ในแรงงานนอกระบบส่วนหนึ่งคือผู้รับงานไปทำที่บ้าน ก็ยังเป็นกึ่งคนงานกับกึ่งผู้ประกอบอาชีพอิสระด้วย

โดยผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เป็นเกษตรกร ข้างนอกเป็นเกษตรกรแต่เนื้อหาภายในไม่ใช่เพราะเป็นผู้ทำงานในเกษตรพันธสัญญา และ 80% ของเกษตรกรในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคเหนือกลายเป็นผู้ที่ทำงานภายใต้โครงการเกษตรพันธสัญญา เป็นความสัมพันธ์การผลิตแบบทุนนิยมและเกษตรพันธสัญญารูปแบบหลัก ไม่ได้อยู่อย่างพอเพียง เพราะฉะนั้นนี่เป็นการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันมีแรงงานรับจ้างในภาคเกษตรเกิดขึ้น ทั้ง 2 ส่วนนี้มันนำไปสู่การวิวัฒนาการไปสู่คนส่วนใหญ่ไปอยู่ในสังคมแรงงาน

เรามีประกันสังคมแต่ก็สำหรับแรงงานในระบบ ส่วนคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบก็เข้าถึงหลักประกันสุขภาพ เพราะฉะนั้นมันมี 2 ระบบใหญ่ๆ แต่ยังเป็นเพียงการจัดระดับสวัสดิการในขั้นกลาง เราจะยกระดับให้สูงขึ้น ไปสู่การให้การคุ้มครองมิติทางกฎหมายและรัฐสวัสดิการ ซึ่งไม่ใช่ว่ารัฐเป็นผู้ที่จะต้องจัดทำทั้งหมด แต่รัฐจะต้องสร้างมิตินี้ แต่การจัดการอาจเป็นรัฐทำ องค์กรอิสระ หรือว่ารัฐที่ไปสนับสนุนให้จัดโดยชุมชนหรืออะไรก็ได้ เป็นเรื่องของการจัดการ

 


ประเด็น “ขบวนการแรงงานไทย” โดยเฉพาะปัญหาและอุปสรรคในการสร้างความเข้มแข็งและเอกภาพของขบวนการแรงงาน
นำเสนอรายงานวิจัยโดย ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการแรงงาน

เมื่อเดือนเมษายนในการประชุมของสมัชชาปฏิรูปประเทศ มีมติอยู่อันหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการทำขบวนการแรงงานให้เข้มแข็ง โดยบอกว่าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว การเจรจาต่อรองค่าจ้างที่เป็นธรรม และการมีสวัสดิการเข้าไปหนุนเสริม มีความสำคัญต่อการสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างมาก ซึ่งตรงกับมติที่เกิดขึ้นจากการประชุมเอเชีย-ยุโรป เลเบอร์ฟอรั่ม ในหัวข้อวิกฤตโลกาภิวัตน์และปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่จัดที่กรุงโซล เกาหลีใต้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อสรุปที่เหมือนกันว่าโลกาภิวัตน์ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ของมัน และทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอ แล้วเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ ในการประชุมที่นั่นมีมติว่าถ้าจะต้องการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ต้องแก้วงจรใหม่ โดยต้องทำขบวนการแรงงานให้เข้มแข็งเพราะจะเป็นตัวนำหรือองค์กรนำในการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปโลกและประเทศได้ เพราะฉะนั้นเรื่องของขบวนการแรงงานจึงเป็นเรื่องที่สำคัญไม่ใช่เฉพาะคนงาน แต่ว่ากับสังคมและโลกด้วย


สมัยก่อนคำนิยามของขบวนการแรงงานกว้าง มีลักษณะที่ครอบคลุมคนงานทั้งหมด
วันนี้ขบวนการแรงงานนิยามของมันเล็กลง
คำนิยามของคำว่า "ขบวนการแรงงาน" ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สมัยก่อนคำนิยามของขบวนการแรงงานกว้าง มีลักษณะที่ครอบคลุมคนงานทั้งหมด และประเด็นการต่อสู้ของคนงานไม่ใช่ประเด็นเรื่องปากท้องอย่างเดียว แต่ว่าเป็นเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่กว้าง และขบวนการแรงงานสมัยก่อนจะเป็นลักษณะที่เป็น Labor Movement เป็นขบวนการของคนงานทั้งมวล แต่วันนี้นิยามถูกทำให้เปลี่ยนไป ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยแต่ในขอบเขตทั่วโลก ขบวนการแรงงานกลายเป็นขบวนการของคนงานในโรงงาน เป็นขบวนการขององค์กรจัดตั้งแบบสหภาพแรงงานที่จำกัดอยู่ในรั้วโรงงาน และมีประเด็นการต้อสู้ที่ถูกบีบให้แคบลงเป็นการต่อสู้เพื่อปากท้องในรั้วโรงงานเป็นสำคัญ เป็นกระบวนการสหภาพแรงงานที่เรียก Trade Union Movement

นิยามของขบวนการแรงงานในประเทศไทยก็ไปในทิศทางเดียวกัน วันนี้ขบวนการแรงงานนิยามของมันเล็กลง ถ้าย้อนกลับไปในอดีตก่อนปี 2518 ขบวนการแรงงานในประเทศไทยไม่ได้หมายความถึงคนงานที่อยู่ในรั้วโรงงาน เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน แต่ว่าเป็นขบวนการของคนงานทั้งมวล บางครั้งรวมเอาปัญญาชน นักศึกษา พ่อค้าแม่ค้าต่างๆ เข้ามาอยู่ในขบวนการ บางครั้งมีพรรคการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแรงงาน แต่ว่าวันนี้ขบวนการแรงงานเปลี่ยนไป ถ้าเราไปดูเส้นทางของมันจะเห็นว่าก่อนจะถึง 14 ตุลา 16 ขบวนการแรงงานไทยเป็นขบวนการในความหมายกว้าง เป็นขอบเขตที่มีมวลสมาชิกที่กว้างและมีเป้าหมายประเด็นการต่อสู้ที่ใหญ่โตกว่า มากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของคนงานในโรงงาน

แต่พอหลังปี 2518 ที่เรามีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่และใช้จนถึงทุกวันนี้ และหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการปราบปรามฝ่ายก้าวหน้าในสังคมไทย จุดนี้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญทำให้นิยามของขบวนการแรงงานเปลี่ยนไป โดยที่คนงานเองก็กังวลกับนิยามนี้ ทำให้ขบวนการแรงงานในประเทศไทยเป็นขบวนการของคนที่อยู่ในโรงงาน คนที่มีนายจ้าง ขอบเขตจำกัดมาก ถ้าเอาตามขอบเขตกฎหมายมีไม่เกิน 10 ล้านคน จากคนงาน 38 ล้านคน เอาเข้าจริง คนที่เข้าสู่ขบวนการแรงงานได้จริงๆ แคบลงไปอีก แล้วการต่อสู้ก็ถูกบีบให้แคบลงไปอยู่ในประเด็นปากท้องที่อยู่ในรั้วโรงงาน ขยายออกมาก็อยู่ในกรอบของไตรภาคี นี่คือข้อจำกัด นิยามถูกเปลี่ยนไปไม่สามารถขยายให้เข้มแข็งได้

ถ้าเราพูดถึงขบวนการแรงงานในวันนี้ เราก็หมายถึงขบวนการของคนงานจัดตั้งตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปี 2518 ที่กำหนดองค์กรแรงงานไว้ 3 แบบ คือ สหภาพ สหพันธ์ และสภา นอกนั้นกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย คนส่วนใหญ่ถูกกันออกไป แรงงานก็กลายเป็นขบวนการของคนส่วนน้อยไป ถ้าเราดูสถิติล่าสุดของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เดือน พ.ค. เรามีคนงานที่รวมอยู่ขบวนการแรงงานประมาณ 5 แสนกว่าคน เป็นสหภาพแรงงานยิบย่อยเป็นส่วนใหญ่ สหภาพแรงงานประเภทสถานประกอบการ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่เรามีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปี 18 ซึ่งถ้าเราย้อนกลับไปรูปแบบขององค์กรของคนงานเราจะมีความหลากหลายเป็นลักษณะที่เรียกว่าสหภาพทั่วไป ใครๆ ก็สามารถมาเป็นสมาชิกได้ หรือสหภาพอุตสาหกรรม หรือสหภาพช่างฝีมือ

ขบวนการแรงงานอ่อนแอทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
ความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน เขามอง 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือในแง่ของเชิงปริมาณ ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นจำนวนมากน้อยของสมาชิกของขบวนการแรงงาน ส่วนประเด็นเชิงคุณภาพ คือความสามารถในการทำงานของขบวนการแรงงาน ความมีเอกภาพของขบวนการแรงงาน 2 ส่วนรวมกันแล้วถึงจะทำให้ขบวนการแรงงานเข้มแข็งขึ้นมา

ในเชิงปริมาณ วัดที่ความเข้มข้นของการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เรามีคนงานเป็นสมาชิกเพียง 1.47% ซึ่งถือว่าต่ำมาก และอีกส่วนคือความครอบคลุมของข้อตกลงร่วมที่มีอยู่ 0.72% ถือว่าต่ำมากเหมือนกัน เปรียบเทียบเฉพาะในเอเชียแปซิฟิกเรานี่อยู่รั้งท้าย ถ้าเปรียบเทียบในโลกก็ไม่ต่างจากนี้ ขณะที่ประเทศหลายประเทศในยุโรปบางประเทศ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์คนเป็นสมาชิกขบวนการแรงงาน ถ้าดูความครอบคลุมของข้อตกลงร่วมที่เวลามีข้อตกลงแล้วมีผลต่อคนงาน เราก็อยู่ในส่วนท้ายเหมือนกัน

ในเชิงคุณภาพ วัดกันที่ขบวนการแรงงานมีเอกภาพ มีความสมานฉันท์ มีการแบ่งงานความรับผิดชอบร่วมกัน จิตสำนึก มีความเป็นอิสระพึ่งพิงตนเอง แล้วก็มีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้าเอา 5 ตัวนี้มาจับในขบวนการแรงงานเราก็จะเห็นว่าเรายังมีข้อจำกัดอยู่อย่างมากทั้ง 5 ส่วน ส่วนที่เห็นได้ชัดก็คือความเป็นเอกภาพ ในระดับโลก ถ้ามีความเข้มแข็งมากก็จะมีสภาแรงงานหรือ National Center เพียงแห่งเดียวในประเทศ รองลงมาไม่เกิน 3 แห่ง ถ้าห่วยหน่อยก็มี 10 แห่งขึ้นไป แต่ของไทยมีถึง 13 แห่ง แสดงถึงความไม่เป็นเอกภาพในขบวนการแรงงาน

ทำไมขบวนการแรงงานจึงอ่อนแอ
ความอ่อนแอของขบวนการแรงงานมีปัจจัย 2 ด้าน คือ ปัจจัยภายนอกและใน ปัจจัยภายนอก ได้แก่ เราอยู่ในประเทศที่ปกครองด้วยอำนาจเผด็จการในรูปแบบต่างๆ เรามีแรงงานตั้งแต่สมัยสมบูรณาณาสิทธิราชย์ แม้เปลี่ยนแปลงเป็นแบบมีรัฐธรรมนูญแล้วก็มีรูปแบบเผด็จการที่หลากหลาย ในสังคมที่เป็นเผด็จการยากที่ขบวนการแรงงานที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องและสร้างความเข้มแข็งได้ โดยผลจากการที่แรงงานรับจ้างในประเทศไทยกลุ่มแรกเป็นแรงงานข้ามชาติที่เป็นแรงงานจีน ทำให้รัฐไทยใช้นโยบายความมั่นคงมาจับเรื่องประเด็นแรงงาน และพยายามที่จะกำกับ ตีกรอบ ควบคุม แทนการพูดถึงการคุ้มครองส่งเสริมสิทธิแรงงาน

เรามีวัฒนธรรมการเมืองที่เป็นแบบไพร่ฟ้าข้าไทย แบบอุปถัมภ์ เราไม่เชื่อเรื่องความเสมอภาค สังคมแบบนี้ยากที่ขบวนการแรงงานจะเกิดขึ้น ไม่ยอมรับการมีส่วนร่วม การรวมตัวต่อรอง อุตสาหกรรมไทยเกิดขึ้นบนฐานของเผด็จการที่เอื้อต่อฝ่ายทุน กรอบของแรงงานสัมพันธ์จึงถูกกำหนดโดยฝ่ายทุนมาโดยตลอด ฝ่ายทุนวางกติกาไว้ก่อนที่ฝ่ายแรงงานจะมีอำนาจในการต่อรอง

เราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันและรูปแบบการจ้างงานที่พัฒนาไปยิ่งทำให้ขบวนการแรงงานขยายลำบาก รูปแบบการจ้างงานที่ทำให้คนเข้าถึงสิทธิการรวมตัวยากขึ้น เราอยู่ในประเทศที่พัฒนาเป็นเสรีนิยมแบบสุดโต่งและเราเน้นการส่งออก กรอบแบบนี้ทำให้รัฐกดให้อำนาจการต่อรองของคนงานต่ำ เรายังมีกลไกมาตรการกฎหมาย ระบบไตรภาคีที่ล้วนแล้วแต่แบ่งแยกและปกครอง ที่ตีกรอบคนงานอยู่ในรั้วโรงงาน เรามีนายจ้างที่ใช้แรงงานสัมพันธ์เชิงรุก

ปัจจัยภายในของขบวนการแรงงานซึ่งพิจารณาได้จาก 2 ด้านคือ 1. ขนาดของฐานสมาชิก ซึ่งถือเป็นการพิจารณาเชิงปริมาณและ 2. สมรรถภาพในการทำงานของขบวนการแรงงาน ซึ่งเป็นการพิจารณาเชิงคุณภาพ ได้แก่ เรื่องความไม่เป็นอิสระของสหภาพแรงงานและการแทรกแซงครอบงำจากฝ่ายการเมือง ความไม่เป็นประชาธิปไตยและการผูกขาดอำนาจของผู้นำแรงงานอาวุโส ความแตกแยกภายในขบวนการแรงงาน ปัญหาการขาดฐานสนับสนุนทางการเงินจากมวลสมาชิก การขาดบุคคลากรและสมรรถภาพทางเทคนิค เป็นต้น

วันนี้ขบวนการแรงงานมีกรอบความคิด 3 ส่วน ส่วนหนึ่งคือกรอบที่ว่าลัทธิการเมือง พวกนี้เชื่อว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะทำให้ชีวิตของคนงานดีขึ้น เป็นแบบซ้ายที่เป็นลัทธิมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ และแบบขวาที่บอกให้รัฐเป็นคนเข้ามากำกับ อีกอันเป็นลัทธิสหภาพแรงงานก็มี 2 แบบ ที่จำกัดตัวเองอยู่กับการต่อรองอย่างเดียวกับสหภาพที่เป็น Social Democracy หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็มีส่วนหนึ่ง แต่ว่าจำกัด สุดท้ายเรามีขบวนการแรงงานที่เป็นแบบ Social Movement Unionism ที่เป็นขบวนการแรงงานที่ทำกับขบวนการทางสังคม ในประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานไทยก็เป็นการต่อสู้ของ 3 แนวทางนี้ วันนี้ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ การจะทำงานร่วมกันของกลุ่มเหล่านี้ก็มีอยู่อย่างจำกัด

ถ้าจะสร้างขบวนการแรงงานให้เข้มแข็งมันมี 2 ทางคือ ต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและภายในขบวนการแรงงาน ชัยชนะของขบวนการแรงงานส่วนใหญ่เป็นขบวนการแรงงานทางสังคมทำงานกับภาคประชาสังคมต่างๆ ปรับโครงสร้างใหม่ ที่ประเทศอื่นๆ ทำกันต้องควบรวมองค์กรที่มีอยู่ให้เหลือน้อยลงเพื่อให้ได้มีอำนาจในการต่อรอง วันนี้การจัดตั้งไม่ง่ายเพราะรูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนไป คนงานที่เป็นเป้าหมายสหภาพแบบเดิมมีน้อยลง เราต้องคิดถึงรูปแบบที่จะไปจัดตั้งใหม่ๆ คนใหม่ๆ เข้ามา จะต้องเชื่อมร้อยองค์กรที่มีการทำงาน เพราะว่ารวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย เป็นกฎธรรมชาติของขบวนการแรงงาน คนงานจะต้องรวมตัวกัน


 

ความเห็นต่องานวิจัย
ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
เวลาเราพูดถึงบริบทเงื่อนไขที่นำมาสู่ความอ่อนแอให้กับขบวนการแรงงาน งานชิ้นนี้จะเน้นที่รัฐเข้ามาควบคุมปราบปราม ซึ่งมีผลแน่นอน แต่เวลาพูดถึงเงื่อนไขนี้อาจมีปัญหาในระดับหนึ่งคือเงื่อนไขบริบทสังคมเศรษฐกิจการเมือง บางทีมีทั้ง 2 ด้าน คือมันอาจจะมีด้านที่เอื้อด้วย ซึ่งเราอาจจะไม่ได้พิจารณา

อีกเรื่องคือปัจจัยภายใน การที่ผู้คนไม่รวมตัวกันมันอาจจะมีปัญหาคลาสสิกคือปัญหาคนโดยสารฟรีไม่จ่ายสตางค์ (Free Rider) คือผลประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นประเด็นที่ทำให้การรวมตัวไม่เกิดขึ้น อาจต้องดูบริบทนี้ มากกว่าการควบคุมโดยรัฐ เช่น ปัจจัยในเชิงองค์กร ทฤษฎีระดมทรัพยากร (resource mobilization theory) ที่พูดถึงปัจจัยเรื่ององค์กร เข้ามาแก้ปัญหาเรื่อง Free Rider

ในประเด็นเรื่อง SMU (Social Movement Unionism) มีรากเหง้าใหญ่ก็คือ ลัทธิเสรีนิยมใหม่มันนำมาสู่ประเด็นความขัดแย้งซึ่งมันข้ามชนชั้นซึ่งมันมีปัญหาการขูดรีดร่วมกันที่มันมากไปกว่าปัญหาเรื่องของค่าจ้างแรงงาน แต่อาจเป็นเรื่องสาระของผู้คนเรื่องอาชีพ เรื่องบริโภคนิยมต่างๆเข้ามา มันมีอัตตลักษณ์ร่วมอะไรบางอย่างที่มากไปกว่าปัญหาเรื่องค่าจ้างแรงงาน เพราะฉะนั้นภาพแบบนี้จะคล้ายกับ New Social Movement ที่เห็นถึงชนชั้นกลางใหม่ มีมิติที่หลากหลายมากขึ้น

หัวใจของ SMU คงไม่ใช่แค่การมีทรัพยากรหรือองค์กร ที่สำคัญคือทำอย่างไรให้ขยายประเด็นร่วมได้ ภายใต้ความขัดแย้งที่มีอยู่มาก การสร้างอัตตลักษณ์ร่วมของผู้คนซึ่งเดือดร้อนร่วมกัน ความเข้มแข็งในมิติพวกนี้ จะไม่ใช่แค่ปริมาณของผู้คน

 

บทสังเคราะห์ภาพรวมและข้อเสนอเชิงนโยบายและทัศนะต่อความไม่เป็นธรรมทางสังคมของแรงงาน
นำเสนอโดย ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทัศนะต่อความไม่เป็นธรรมของแรงงานที่ตนเองได้รับ
กลุ่มแรงงานไร้รัฐไร้สัญชาติ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ เป็นกลุ่มที่รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมเรื่องจำกัดเสรีภาพในเรื่องการเดินทาง การทำงาน ถูกมองว่าเป็นคนอื่น หมายถึงถูกมองว่ามาแย่งงานคนไทยทำด้วย เป็นคนที่ก่ออาชญากรรม เป็นพาหนะโรคติดต่อ แต่แม้จะรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาก็ยอมรับความไม่เป็นธรรมอันนี้ได้ เพื่อที่จะได้ทำงาน

แรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศมีปัญหาร่วมกันกับแรงงานข้ามชาติ จะไม่มีสิทธิของความเป็นพลเมืองเมื่อไปอยู่ต่างประเทศ เขายังคาดหวังบทบาทของรัฐบาลไทยว่าจะไปช่วยเหลือเขา ในขณะที่คนที่เป็นแรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในไทยจะไม่คาดหวังว่ารัฐบาลตัวเองจะช่วยเหลืออะไร

ในส่วนของผู้ทำการผลิตที่บ้าน สัมภาษณ์ 2 กลุ่มคือกลุ่มที่ผลิตเองขายเองกับกลุ่มที่รับงานไปทำที่บ้าน ในกลุ่มนี้อธิบายเรื่องของการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเข้าไม่ถึงแหล่งทุน การที่ได้ค่าจ้างต่ำมากในกรณีผู้รับงานไปทำที่บ้าน ส่วนการเลื่อนชั้นทางสังคมเพื่อพ้นจากสภาพความไม่เป็นธรรมนี้ ทั้งหมดมองว่าไม่เห็นโอกาสที่จะได้เลื่อนชั้น การไม่มีโอกาสตรงนี้เป็นเรื่องอายุ เรื่องการศึกษา ขณะที่กลุ่มทำสินค้าหัตถกรรมส่วนหนึ่ง ไม่ต้องการขยับชั้นทางสังคม เพราะภูมิใจในอาชีพของตนเองซึ่งเป็นมรดกจากบรรพบุรุษ

ในกลุ่มผู้นำและสมาชิกสหภาพแรงงาน รู้สึกไม่มีความมั่นคงในการทำงานจากการที่มาเป็นผู้นำสหภาพแรงงาน ความคาดหวังในเรื่องการเลื่อนชั้นทางสังคม เขาคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้


เสียงสะท้อนจากแรงงาน
แรงงานข้ามชาติมองว่ามาจากการนำเสนอของสื่อ เพราะว่าสื่อโดยมากเสนอเรื่องของแรงงานข้ามชาติเสนอเป็นภาพลบตลอด ภาพที่เป็นภาพบวกไม่ค่อยมี เขาคิดว่ากฎหมายหลายเรื่องไม่เป็นธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับท้องถิ่นมีอภิสิทธิ์ต่อแรงงานข้ามชาติ

ส่วนแรงงานไร้รัฐคล้ายกัน แต่แรงงานไร้รัฐมองว่าวันนี้เขาถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติ กฎหมายก็เป็นกฎหมายแบบเดียวกับที่ใช้กับแรงงานข้ามชาติ แต่เขาคิดว่าเขาไม่ใช่แรงงานข้ามชาติ เขาต้องการที่จะเป็นคนไทย เพราะเขาอยู่เมืองไทยมานาน เพียงแต่ไม่ได้รับสัญชาติเท่านั้น

ส่วนแรงงานไทยในต่างประเทศ เขาจะสะท้อนว่า ไม่มีกลไกหรือองค์กรที่คุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานในต่างประเทศไม่ได้คุ้มครองแรงงานอย่างทั่วถึง และถูกใช้กับแรงงานที่อยู่ในระดับมาตรฐาน แต่พอถึงโรงงานขนาดเล็กหรือคนงานก่อสร้าง แม่บ้าน หรือคนงานเหมาค่าแรงที่คนงานไทยไปทำ กฎหมายเหล่านี้ไม่ครอบคลุมถึงเลย ทั้งในเรื่องของค่าจ้างและสวัสดิการ

ส่วนผู้ทำการผลิตที่บ้านอธิบายถึงการเข้าไม่ถึงแหล่งทุนว่าเพราะเป็นคนจนจึงไม่มีหลักทรัพย์ไปค้ำประกัน ส.ส.ในสภาเป็นตัวแทนของนายทุนไม่ใช่ตัวแทนของคนจนและสังคมไทยมีระบบอุปถัมภ์

สำหรบผู้นำและสมาชิกสหภาพแรงงานอธิบายสาเหตุของความไม่เป็นธรรมว่าเขาเป็นคนจน ไม่มีที่ดินทำกิน ส่วนแรงงานที่มาจากชนบท เป็นผู้มีการศึกษาต่ำจึงต้องมาเป็นคนงาน เขามองว่าระบบการเมืองไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยมีระบบอุปถัมภ์ ประชาชนยังไม่มีจิตสำนึกการตรวจสอบนักการเมืองและข้าราชการ เขาคิดว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานเลย ไม่ว่าจะเป็นศาลหรือระบบแรงงานสัมพันธ์

การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการรวมกลุ่ม
กลุ่มแรงงานข้ามชาติ เขาบอกว่าเขาไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองหรือการรวมกลุ่มต่อรองเพราะมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย การรวมกลุ่มได้เป็นครั้งคราวเช่นวันแรงงานข้ามชาติสากลวันที่ 18 ธันวาคม ในส่วนของแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศยังไม่มีการรวมกลุ่มสร้างอำนาจการต่อรอง แต่ก็พยายามรวมกลุ่มช่วงเหลือกันเอง ซึ่งในกลุ่มที่ศึกษาเขาร่วมกันเองในนามของสมาคมรวมไทยในฮ่องกง

ผู้ทำการผลิตที่บ้านรวมกลุ่มสร้างอำนาจการต่อรองยังทำไม่ได้เพราะยังมีข้อจำกัดในเรื่องของลักษณะการผลิตที่ไม่ได้ผลิตแบบรวมหมู่และกฎหมายไม่เปิดโอกาส แต่ว่าเขาเห็นความสำคัญของการรวมกลุ่ม และบางกลุ่มก็เคยลองทำแต่ไม่สำเร็จ เลยมาเป็นการสร้างเครือข่ายเพื่อที่จะต่อรองกับรัฐในเรื่องนโยบายแทน เช่น เครือข่ายแรงงานนอกระบบ

ในส่วนผู้ทำและสมาชิกสหภาพแรงงาน เป็นกลุ่มที่มีเงื่อนไขดีที่สุดที่จะร่วมทางการเมืองหรือรวมตัวต่อรอง ส่วนใหญ่เคยร่วมเคลื่อนไหวผลักดันนโยบาย กฎหมายแรงงาน ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ ส่วนกิจกรรมทางการเมืองเหลือง-แดง ส่วนใหญ่ไม่ได้ไปร่วม มีบางคนเท่านั้นที่ไปร่วม และพบว่าเห็นด้วยกับข้อรณรงค์ของแรงงานที่ว่าควรจะให้ลูกจ้างมีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนทุกระดับในพื้นที่สถานประกอบการที่เขาทำงานอยู่ และเห็นว่าการเป็นสหภาพแรงงานแบบอุตสาหกรรมมันดีกว่าที่เป็นอยู่ที่เป็นสหภาพเดี่ยวๆ

ข้อเสนอเชิงนโยบาย
นโยบายด้านเศรษฐกิจและค่าจ้างแรงงาน ที่เร่งด่วนคือเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจต้องเปลี่ยนไปเน้นเรื่องคุณภาพชีวิตของคนแทนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นิยามค่าจ้างขั้นต่ำตามหลักสากล เป็นเรื่องที่ต้องเคลื่อนต่อไป เพราะ 300 บาท อยู่ได้คนเดียว ครอบครัวอยู่ไม่ได้ ประเด็นเรื่องของประชาคมอาเซียน องค์กรแรงงานเองต้องมีการจัดทำข้อเสนอนโยบายต่อรัฐก่อนที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ระยะยาว มองไปถึงการมีระบบเศรษฐกิจตลาดที่เป็นธรรมทางสังคม มีการจ้างงานที่เป็นธรรม Social Market Economy มองถึงระบบภาษีก้าวหน้าเพื่อนำไปสู่สังคมสวัสดิการโดยรัฐ

นโยบายด้านสิทธิและสวัสดิการเฉพาะหน้าว่ารัฐจะรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 87, 98, 177 และ 189 การแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติจัดตั้งและเป็นกรรมการสหภาพแรงงานได้ การปฏิรูปกองทุนประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ ขยายการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ นโยบายด้านสังคมเฉพาะหน้า ต้องบรรจุวิชาสิทธิแรงงานอยู่ในหลักสูตรการเรียนของนักเรียน นักศึกษาระดับต่างๆ ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ควรรณรงค์ให้สังคมมีทัศนะที่ถูกต้องต่อแรงงานผ่านสื่อกระแสหลัก เรียกร้องให้นายจ้างยอมรับแรงงานในฐานะหุ้นส่วนทางสังคม

ระยะยาวทั้งรัฐและแรงงานจะต้องมีการรณรงค์ให้มีการปรับทัศนคติของสังคมไทยให้ยอมรับบทบาทขององค์กรแรงงาน ขบวนการเคลื่อนไหวของแรงงาน ในฐานะสถาบันที่เป็นตัวแทนการต่อสู่เพื่อความเป็นธรรมของแรงงาน

นโยบายเพิ่มอำนาจการต่อรองคือการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กระบวนการแรงงานในฐานะสถาบันที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เฉพาะหน้าขบวนการแรงงานในส่วนที่เป็นสหภาพแรงงานต้องพัฒนาบทบาทให้เป็นองค์กรนำที่จะเป็นตัวแทนปกป้องสิทธิแรงงานทุกกลุ่ม ระยะยาวต้องพัฒนาเป็นสหภาพแรงงานเพื่อสังคม การสร้างเครือข่ายประสานงานของขบวนการแรงงานในประชาคมอาเซียนเพื่อที่จะรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net