Human Resource ปัญหาที่ท้าทายของเมียนมาร์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“การปิดตัวเอง” และถูก “คว่ำบาตร” มาอย่างน้อยกว่า 2 ทศวรรษ ได้ทำให้ “เมียนมาร์” มีหลายปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน หนึ่งในปัญหาใหญ่ก็คือเรื่อง ทรัพยากรบุคคล

            ภาพของ “เมียนมาร์” ในปัจจุบันดูจะเปรียบดั่งขุมทรัพย์อันหอมหวานของหลายประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสู่ความเป็น “ประชาธิปไตย” รวมถึงการปรับปรุงและผ่อนคลายเงื่อนไขทางกฎหมายและการวางแผนทางเศรษฐกิจตลอดช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนและการค้า โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศอย่างมาก โครงการลงทุนขนาดใหญ่ได้เริ่มปรากฎให้เพิ่มมากขึ้นในดินแดนแห่งนี้ พร้อมกับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่เริ่มทยอยไหลบ่าจากหลากหลายประเทศและองค์กรเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

            กระนั้นก็ดี “การปิดตัวเอง” และถูก “คว่ำบาตร” มาอย่างน้อยกว่า 2 ทศวรรษ ได้ทำให้ “เมียนมาร์” มีหลายปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน บางปัญหามีรากฐานมาแต่ครั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทศวรรษ 1960 โดยที่ปัญหาเหล่านี้ในมุมหนึ่งได้ส่งผลต่อการสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนในปัจจุบันและอนาคต

            ในมุมมองของผู้เขียน “ทรัพยากรบุคคล” เป็นปัญหาหลักสำคัญหนึ่งของเมียนมาร์ที่ต้องเผชิญในระยะเวลาอันใกล้นี้ แม้เมียนมาร์จะมีแรงงานราคาถูกอันล้นเหลือที่พร้อมรองรับการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมประเภทใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) หากแต่บุคลากรในระดับเทคนิค วิชาชีพ วางแผน และบริหารเป็นสิ่งที่เมียนมาร์ยังคงขาดแคลนอยู่อย่างมากทั้งในภาครัฐและเอกชน

            ปัญหาทรัพยากรบุคคลของเมียนมาร์เป็นสิ่งที่ได้รับการกล่าวถึงมานานตั้งแต่ทศวรรษ 1950 หลุยส์ เจ วาลินสกี้ (Louis J Walinsky) นักวิชาการและอดีตหัวหน้าที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลพม่า (1953 – 1958) ได้ชี้ให้เห็นว่าการขาดทรัพยากรบุคคลทางด้านต่างๆ เป็นปัญหาหลักสำคัญประการหนึ่งของประเทศและเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาประเทศ บุคลากรชาวอังกฤษและอินเดียส่วนใหญ่ที่เคยกุมบทบาทในระดับวิชาชีพและการวางแผนได้ได้ย้ายออกจากประเทศภายหลังการประกาศเอกราช

            ในทางเดียวกัน นักประวัติศาสตร์หญิงคนหนึ่งที่สนใจเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงหลังอาณานิคมของเมียนมาร์ ได้เคยกล่าวกับผู้เขียนว่าปัญหาทรัพยากรบุคคลนี้ นอกจากจะแทบไม่ได้รับการแก้ปัญหาแล้ว ยังประสบปัญหาซ้ำอีก ในทศวรรษ 1960 หลังการรัฐประหารของนายพลเนวิน และการประกาศใช้ “ระบบสังคมนิยมวิถีพม่า” ได้ส่งผลให้บรรดานักเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งทยอยเดินทางออกนอกประเทศ อีกจำนวนหนึ่งได้ยุติบทบาทของตัวเองลง รวมถึงระบบเศรษฐกิจที่ว่านี้ยังทำให้ภาคเอกชนมีการขยายตัวที่ต่ำ อันหมายถึงบุคลากรและเจ้าหน้าที่ภาคเอกชนที่มีจำนวนเพียงน้อยนิด ในทางเดียวกัน การละเลยที่จะให้ความสำคัญกับการศึกษาในทุกระดับ และการปิดมหาวิทยาลัยหลายครั้งเพื่อยุติบทบาทการเคลื่อนไหวนักศึกษาได้กระทบต่อการพัฒนาและวางรากฐานทรัพยากรบุคคลของประเทศด้วยเช่นกัน

            สถานการณ์ในปัจจุบัน แม้จะมีสภาพในหลายด้านที่ดีขึ้นกว่าในอดีต หากแต่ในด้านทรัพยากรบุคคลในระดับกลางและสูงดูจะยังประสบปัญหาอย่างมาก แม้ในหลายภาคส่วนทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจและการเงินจะปรากฎข่าวการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและการอบรมจากสถาบันการเงินต่างประเทศ หากแต่นั่นเป็นสิ่งที่ยังคงต้องเวลาและการสร้างความคุ้นเคยสำหรับเจ้าหน้าที่ในประเทศที่แทบจะตัดขาดจากระบบการเงินสมัยใหม่ของโลก ทำนองเดียวกับ การพัฒนาบุคลากรผ่านการศึกษาที้จำเป็นต้องใช้เวลาอย่างมากกว่าจะเห็นผล ทว่าสภาพการศึกษาและการบุคลากรของเมียนมาร์ยังดูแทบจะหยุดนิ่ง หลายสิ่งหลายอย่างที่ปรากฎในแผนงานและเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับการศึกษาของรัฐดูจะยังแทบห่างไกลกับสภาพการศึกษาที่เป็นจริง รวมถึงการที่รัฐบาลแทบจะไม่มีการส่งคนหรือบุคลากรไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเพื่อซึมซับระบบการทำงานและสภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคนิควิธีการเลย

            นอกจากนี้ ชาวเมียนมาร์ที่มีหน้าที่ในภาคเอกชนและบริษัทชั้นนำในหลายประเทศ แม้พวกเขาจะอยากกลับไปช่วย “พัฒนา” บ้านเกิดที่จากมาแสนนาน หากแต่ปัญหาสำคัญดูจะอยู่ที่เสถียรภาพทางการเมืองที่ถึงจะมีการปรับปรุงในหลายด้าน ทว่ายังคงมีความคุมเครือในอนาคตอยู่มาก และปัญหาของการกีดกัน/ขัดแย้งทางศาสนาดูจะทำให้พวกเขาหลายคนต้องคิดหนักกับการกลับไปเมียนมาร์

            จากที่กล่าวมา เมียนมาร์ในอนาคตอันใกล้จึงอาจประสบปัญหากับการขาดแคลนบุคลากรระดับกลางและสูงที่จะมีส่วนช่วยผลักดันและวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ถึงแม้กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศฉบับใหม่ที่มีแผนประกาศใช้ในอีกไม่นาน จะปรากฎเงื่อนไขที่บริษัทต่างประเทศต้องเพิ่มสัดส่วนแรงงานมีฝีมือชาวเมียนมาร์อันอาจรวมบุคลากรในระดับวิชาชีพและเทคนิค จากร้อยละ 25 ในปีที่ 5 เป็นร้อยละ 50 และ 75 ในปีที่ 10 และ 15 ของกิจการ หากแต่เป็นที่น่าจับตาว่าในทางปฏิบัติจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด และแรงงานมีฝีมือที่ระบุนั้นมีขอบเขตกว้างขวางขนาดไหน

            ทรัพยากรบุคคลของเมียนมาร์จึงเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่ง ที่ควรตระหนักท่ามกลางภาพแห่งความหวังของการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุน เพราะความยั่งยืนและทิศทางแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ นอกจากแรงงานระดับล่างจะมีความสำคัญแล้ว บุคลากรในระดับกลางและสูงยังมีความสำคัญไม่แพ้กัน และเป็นรากฐานให้เมียนมาร์ยกระดับการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศจากการพึ่งพาแรงงานราคาถูก มาเป็นการผลิตและเศรษฐกิจที่พึ่งพาเทคโนโลยีและภาคบริการในอนาคต

 

 

 

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน คอลัมน์ มุมมองบ้านสามย่าน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 2 สิงหาคม 2555

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท