Skip to main content
sharethis

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีจัดกิจกรรมดำนารวมดึงนักศึกษาร่วมทำนาพื้นที่ 13 ไร่ หวังนำข้าวไปขายระดมทุนต้านภัยเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ อาจารย์ชี้พานักศึกษาเรียนรู้การรวมพลังเพื่อปกป้องสิทธิชุมชน

 
 
วันนี้ (8 ส.ค.55) เวลา 08.00 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 150 คน จัดกิจกรรมดำนารวม เพื่อนำข้าวที่ได้ไปขายระดมทุนเข้ากลุ่มในช่วงการจัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ต้านภัยเหมืองแร่โปแตช ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี
 
ในปีนี้ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีซึ่งเป็นองค์กรชาวบ้านที่ติดตามและตรวจสอบการผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานีมาเกือบ 11 ปี ร่วมใจกันทำนากว่า 13 ไร่ อีกทั้งยังมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยการออกมาช่วยกลุ่มชาวบ้านดำนาในครั้งนี้ด้วย
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ว่าในช่วงเช้าที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการร่วมทำกิจกรรมในวันนี้ ชาวบ้านทุกคนต่างช่วยกันทำตามบทบาทหน้าที่ขอนแต่ละคน ทั้งถอนกล้า ปักดำ ส่วนนักศึกษาก็คอยเรียนรู้และลงมือทำนาตามคำแนะนำของชาวบ้านซึ่งทำหน้าที่ครูนอกห้องเรียนให้กับพวกเขา โดยมีเจ้าของที่นาคอยขับรถไถปรับพื้นที่ให้มีความเหมาะสมสำหรับการทำนา ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ได้ช่วยกันทำข้าวปลาอาหารสำหรับมื้อเที่ยงให้ทุกคนที่เข้ามาร่วมดำนารวม
 
 
นายคณิศร ทอนสูงเนิน แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ในปีนี้เขาได้อุทิศแปลงนาของตนเองให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ดำเนินกิจกรรมทำนารวม โดยที่เขามีมุมมองว่าที่ผ่านมาการทำนารวมของชาวบ้านมีความจำเป็นเป็นอย่างมากในการระดมทุน เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มในการคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช ซึ่งตนเองก็มุ่งหวังอยากให้กลุ่มได้ข้าวเป็นจำนวนมากจากการทำนารวม
 
“ผมก็เอาแปลงนาของผมเองให้กลุ่มทำ เพราะว่ามีอยู่สองแปลงทำแปลงเดียวก็พอกินแล้ว ที่เหลืออีกแปลงหนึ่งก็อยากเสียสละให้กลุ่มมาทำนารวม ซึ่งผมก็มาช่วยไถนาปรับพื้นที่ให้ และถ้าเกี่ยวเสร็จก็จะมาช่วยสีข้าวให้อีก ซึ่งผมไม่ได้คิดที่จะแบ่งส่วนข้าวจากการทำนารวมของกลุ่มเลย กลุ่มทำได้เท่าไหร่ก็ให้กลุ่มทั้งหมดเลย” นายอดิศรกล่าว
 
 
นางสาวเพ็ญนภา พึ่งกลิ่น นักศึกษาสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี กล่าวถึงการออกมาหาประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียน ในครั้งนี้ว่า นักศึกษาที่พากันมาในวันนี้เป็นกลุ่มที่ลงเรียนวิชาวิถีไทยพื้นถิ่นอุดร จึงได้พากันมาศึกษาวิถีชีวิตของชาวนา ทำให้เข้าใจสภาพชีวิตของชาวบ้านที่มาทำนา เห็นการออกมาช่วยเหลือกันของกลุ่มชาวบ้าน
 
“สำหรับตัวนักศึกษาที่ออกมาทำกิจกรรมด้วยกันในวันนี้ก็ได้ความสามัคคีกัน ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และบางคนที่ไม่เคยทำนาก็ได้ลองมาสัมผัสกับการออกแรงทำนา และที่สำคัญทำให้เข้าใจกลุ่มชาวบ้านที่ออกมารวมกันทำนารวมเพื่อคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช” นาวสาวเพ็ญนภากล่าว
 
ด้าน อาจารย์สุภี สมอนา อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี กล่าวว่า มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้นักศึกษารู้ถึงรากฐานวิถีชีวิตของการทำนาซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวอีสาน และนักศึกษาก็จะได้เห็นการรวมพลังของกลุ่มชาวบ้านที่มาร่วมกันทำนารวมเพื่อที่จะปกป้องสิทธิชุมชน
 
“ผมคิดว่ากิจกรรมลักษณะนี้คงจะมีแต่ที่นี่ที่เดียวที่ยังคงมีการรวมตัวกันทำนารวม โดยชาวบ้านมาออกแรงร่วมกันเพื่อทำนาข้าวแล้วนำข้าวไปขายนำเงินทุนเข้ากลุ่ม และที่สำคัญกิจกรรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียนเกี่ยวกับวิถีไทยพื้นถิ่นอุดร ซึ่งผมคิดว่าไม่สามารถเรียนเพียงแค่ทฤษฎีในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องออกมาปฏิบัติจริงด้วย” อาจารย์สุภีร์กล่าว
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net