ไต่สวนการตาย 6 ศพวัดปทุม แม่น้องเกด-พี่ชายอาสาปอเต็กตึ๊ง เชื่อฝีมือทหาร

9 ส.ค.55 เวลาประมาณ 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 402 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพการเสียชีวิต คดีหมายเลขดำที่ ช. 5/2555 กรณีการเสียชีวิตของนายสุวรรณ ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1,นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2, นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3, นายรพ สุขสถิตย์ อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4, น.ส.กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5 และ นายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 ซึ่งทั้ง 6 ศพ ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ใกล้แยกราชประสงค์ ในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

พยานในวันนี้ได้แก่ นางพะเยาว์ อัคฮาด อายุ 47 ปี มารดาของ น.ส.กมนเกด นายสมใจ เข็มทอง อายุ 56 ปี พี่ชายของนายมงคล และนางสมคิด สุขสถิตย์ อายุ 61 ปี ภรรยานายรพ

นางพะเยาว์ เบิกความว่าบุตรสาวของตนถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 19 พ.ค.53 ที่วัดปทุมวนาราม ซึ่ง น.ส.กมนเกด ได้เข้าไปอยู่เต๊นท์พยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่ป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ ก่อนหน้าที่ น.ส.กมนเกด จะเสียชีวิต ในเวลา 18.00 น. เศษได้โทรศัพท์คุยกับแม่อยู่ แต่ต่อมาเวลา 20.00 น. มีคนโทรมาโดยใช้เบอร์ของบุตรสาวตนเพื่อบอกว่า น.ส.กมนเกด เสียชีวิตแล้ว

สำหรับการทำงานของ น.ส.กมนเกด ก่อนเสียชีวิต นางพะเยาว์ เบิกความว่าบุตรสาวทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาล ตอนเกิดเหตุสึนามิในจังหวัดภาคใต้ปลายปี 2547 กมนเกดก็ได้เข้าร่วมกับกลุ่มของ แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ในการเข้าไปไปทำงานในพื้นที่ประสบภัยอยู่เกือบ 1 เดือน และ ในวันที่ 10 เม.ย.53 ที่มีการปะทะที่บริเวณสี่แยกคอกวัวจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น กมนเกด ได้ร่วมช่วยปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บทั้งทหารและผู้ชุมนุมด้วย โดยในช่วงชุมนุมของ นปช. เธอเข้าไปในที่ชุมนุมเพื่อช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยตลอดหลังจากเลิกงาน

มารดาของ น.ส.กมนเกด ยังได้เบิกความโดยอ้างถึงข้อมูลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ว่า ทิศทางของกระสุน มาจากราง BTS ที่อยู่บริเวณด้านหน้าวัดปทุมวนาราม และในบริเวณดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ นอกจากนี้ในการรับฟังข้อมูลของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง (คอป.) ยังได้ทราบจากปากของเจ้าหน้าที่ทหาร 3 นายที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณราง BTS ว่ามีการยิงเข้าไปในวัดปทุมจริง โดยทหารอ้างว่ามีชายชุดดำใช้อาวุธยิงตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ทหาร

นางพะเยาว์ ได้เบิกความยืนยันว่า นางสาวกมนเกด ไม่ใช่ผู้ชุมนุม นปช. และเชื่อได้ว่าการเสียชีวิตของบุตรสาวตนเป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร

 

ภาพ น.ส.กมนเกด ขณะช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่อพยพจากแยกราชประสงค์มาวัดปทุมฯ ในช่วงบ่าย
ก่อนถูกยิงเสียชีวิตในช่วงเย็น ที่มาภาพ จาก Youtube โดย Tawan472 นาทีที่ 3.23 

 

นายสมใจ เบิกความว่า นายมงคล เข็มทอง หรือน้องชาย ได้ถูกยิงเสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม โดยกระสุนความเร็วสูงเข้าที่หน้าอกและไหล่ซ้าย ในวันที่ 19 พ.ค.53 และขณะเสียชีวิตนั้นมีที่พักอาศัยอยู่บริเวณวัดปทุม เคยประกอบอาชีพผู้ช่วยกุ๊กบริเวณห้างเซ็นทรัลเวิลด์ แต่ได้ลาออกและมาเป็นอาสาสมัครพยาบาลกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่ราชประสงค์ น้องชายก็ไปช่วยดูแลการเจ็บป่วยของผู้ชุมนุม ก่อนเสียชีวิตก็ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บอยู่บริเวณวัดปทุมฯ และเชื่อว่าการเสียชีวิตของน้องชายเป็นผลมาจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร

 

ภาพนายมงคล ขณะเข้าช่วยเหลือนายนรินทร์ ศรีชมพู ผู้ถูกยิงเสียชีวิตสายวันที่ 19 พ.ค.53
บริเวณหน้าคอนโดบ้านราชดำริ ใกล้แยกราชดำริ
ที่มาภาพจากคลิปที่อัพโหลดโดย
senoh  นาทีที่ 01.14

 

นางสมคิด สุขสถิตย์ เบิกความว่า นายรพ สุขสถิตย์ ผู้เป็นสามีทำงานขับรถรับส่งของที่สนามบิน เป็นคนไม่ชอบทะเลาะกับใคร โดยสามีออกจากบ้านในวันที่ 18 พ.ค. 53 แล้วไม่ได้ติดต่อเลย โดยภายหลังมีการพยายามตามหาและทราบข่าวการเสียชีวิตประมาณวันที่ 29-30 พ.ค. 53 เนื่องจากบุตรชายเห็นรูปศพที่นอนเรียงกันในวัดปทุมฯ จากมติชนสุดสัปดาห์ จึงทำให้ทราบว่าสามีเสียชีวิต

ภรรยานายรพ เบิกความด้วยว่าในระหว่างที่มีการชุมนุมของ นปช. นายรพก็มักจะไปร่วมชุมนุมหลังจากเลิกงาน สำหรับการเสียชีวิตของนายรพ  นางสมคิดเบิกความว่าไม่แน่ว่าเสียชีวิตจากการกระทำของใคร

อนึ่ง สำหรับนาย 'รพ สุขสถิตย์' ตามรายงานของ VoiceTV  ในช่วงแรกมีการระบุชื่อผิดเป็นนาย 'วิชัย มั่นแพ'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลได้นัดไต่สวนฯ ครั้งต่อไปในวันพฤหัสบดีที่ 16 ส.ค.55 โดยตามกำหนดจะเป็นการเบิกความของญาตินายสุวรรณ ศรีรักษา  นายอัฐชัย ชุมจันทร์  และนายอัครเดช ขันแก้ว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท