Skip to main content
sharethis

นักวิชาการบังกลาเทศเสนอให้เจรจา รบ.พม่าให้คืนสัญชาติแก่ชาวโรฮิงยาเป็นอันดับแรก ด้านชาวมุสลิมในมาเลเซียและอีกหลายประเทศเตรียมส่งสิ่งของทางเรือเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงยาถึงรัฐอาระกัน ขณะที่สมาคมชาวพุทธในมาเลเซีย เรียกร้องรัฐบาลพม่ายุตินองเลือด และล่าสุดองค์การความร่วมมืออิสลามลงมติให้นำเรื่องโรฮิงยาเข้าที่ประชุมสหประชาชาติ

ในการประชุมวิชาการนานาชาติโรฮิงยา ภายใต้หัวข้อ “Contemplating Myanmar Rohingya People’s Future in Reconciliation and (Democratic) Reform.” ซึ่งจัดโดยสมาคมชาติพันธุ์โรฮิงยาในประเทศไทย (RNOT) องค์กรอาระกันโรฮิงยาในญี่ปุ่น (JARO) ที่ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. นั้น

 

นักวิชาการยันโรฮิงยาเคยถูกรับรองเป็นพลเมืองพม่า
ในสมัยก่อนรัฐประหารโดย “นายพลเนวิน”

ดร.ฮาบิบ ซิดดีกี ผู้อำนวยการศูนย์ Arakan Burma Research Center ซึ่งอภิปรายหัวข้อ “Analysis of Muslim Identity and Demography in Arakan” กล่าวยืนยันว่าชาวโรฮิงยาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในรัฐอาระกันมาตั้งแต่ก่อนพม่าจะได้รับเอกราชจากอังกฤษ ในปี 1946 นายพลออง ซาน ผู้ก่อตั้งประเทศพม่า บิดาของออง ซาน ซูจี เคยรับรองสิทธิให้แก่ชาวโรฮิงยาเป็นพลเมือง และถือว่าเป็นชนพื้นเมืองด้วย “เราให้เช็คเปล่าแก่คุณ เราอยู่ด้วยกัน และตายด้วยกัน”

ทั้งนี้กฎหมายที่บังคับใช้สมัยอังกฤษปกครองพม่า ก็ไม่ได้ถือว่าชาวโรฮิงยาเป็นชาวต่างชาติที่ต้องไปขึ้นทะเบียนตามกฎหมายชาวต่างชาติ ในช่วงการบริหารงานของอาณานิคม ก็มีผู้แทนสภาที่เป็นชาวโรฮิงยามาจากทางตอนเหนือของรัฐอาระกัน มีชาวโรฮิงยาประกอบอาชีพต่างๆ เป็นแพทย์ เป็นทหาร เป็นข้าราชการ ในสมัยที่พม่าได้รับเอกราช ทั้งตามสัญญาออง ซาน – แอตลี ปี ค.ศ. 1947 และ Burma Independence Act ค.ศ. 1947 และตามรัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 1947 จนถึงก่อนการรัฐประหารของนายพลเนวินในปี ค.ศ. 1962 ก็ถือว่าชาวโรฮิงยาเป็นพลเมืองในดินแดนของพม่า

ทั้งนี้ที่เมืองเมาก์ดอว์ (Maungdaw) และบูดีเท่าก์ (Buthidaung) ชาวโรฮิงยาเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ เป็นชาติพันธุ์ส่วนใหญ่อย่างเช่นที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นในพม่าเป็นชนกลุ่มใหญ่ในรัฐของชาติพันธุ์ อย่างรัฐคะฉิ่น รัฐคะยา หรือรัฐมอญ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรัฐประหารของนายพลเนวิน ในพม่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเลือกปฏิบัติ ไม่เฉพาะกับชาวพม่าปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์อื่น แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็ปฏิบัติต่อกัน ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ก่อนเป็นอาณานิคมอังกฤษ รัฐอาระกันเพิ่งอยู่ใต้อำนาจกษัตริย์พม่าไม่เกิน 40 ปี และอังกฤษมีอำนาจในรัฐอาระกันยาวนานกว่าเสียอีก

นอกจากนี้ชาวโรฮิงยาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานได้ ถูกเลือกปฏิบัติ มีการทำลายมัสยิดอย่างเป็นระบบ ในอินเทอร์เน็ตก็มีการแสดงความเห็นในทำนองเกลียดชัง โดยพวกที่เหยียดเชื้อชาติมักจะใช้คำว่า “ “นั่นไม่ใช่พวกเรา  นั่นเป็นพวกเขา” และในปี 2552 ทูตพม่าที่ฮ่องกงก็บอกว่า “โรฮิงยาน่าเกลียดเหมือนยักษ์” มีสีผิวต่างจากชาวพม่า

“พวกเรายังอยู่ในยุคที่คนตัดสินความเป็นมนุษย์กันด้วยสีผิวแบบนี้หรือ ทั้งที่เลขาธิการยูเอ็นคนก่อนก็เป็นคนผิวสี” ดร.ฮาบิบกล่าว

โดยสหประชาชาติก็ประมาณการว่ามีชาวโรฮิงยาประมาณ 800,000 คนจากอาระกัน ถูกเลือกปฏิบัติ และถูกกดขี่ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าบังกลาเทศ ไม่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องที่โชคร้ายอย่างมาก

 

นักวิชาการบังกลาเทศชี้พม่ามีปัญหาชาติพันธุ์
ที่ร้าวลึกกว่าปัญหาประชาธิปไตย

ส่วน ดร.อบิด บาฮาร์ นักวิชาการชาวบังกลาเทศ ปัจจุบันอยู่ที่Dawson College ประเทศแคนาดา ผู้เขียนหนังสือ Burma Missing Dots ซึ่งอภิปรายในหัวข้อ “Analysis of Muslim Identity and Demography in Arakan”

กล่าวว่าปัญหาในพม่าเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง ปัญหาของพม่าไม่ใช่ปัญหาประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาชาติพันธุ์ โดย 1 ใน 3 ของประชากรพม่า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่ชาวพม่า และ 2 ใน 3 ของพื้นที่ประเทศเป็นของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่พม่า

ทั้งนี้พม่ามักกล่าวว่า โรฮิงยาทุกคนมาจากบังกลาเทศ คำถามก็คือ ทำไม ทั้งๆ ที่ GDP ของรวมของบังกลาเทศสูงกว่าพม่า เนปาล ภูฏาน และศรีลังกา บังกลาเทศ GDP สูงกว่าพม่าเพราะบังกลาเทศเป็นประชาธิปไตยและเปิดกว้าง ขณะที่พม่าทั้งที่มีทรัพยากรและเนื้อที่มาก แต่มีปัญหาประชาธิปไตย

อบิด บาฮาร์ กล่าวว่าในพม่ามีธรรมชาติของการปฏิเสธการมีตัวตนอยู่ของชาวโรฮิงยา โดยชาวโรฮิงยามักถูกประณามว่าเป็นชาติที่เพิ่งเข้ามาในพม่า แต่ผมพบว่าชาวโรฮิงยาเข้ามาอยู่ในรัฐอาระกันนานแล้ว ตั้งแต่ก่อนสมัยเป็นอาณานิคมอังกฤษ โดยชาวโรฮิงยาหยุดเข้ามาในรัฐอาระกันตั้งแต่ตอนที่กษัตริย์ Shah Sulja ถูกฆ่าโดยกษัตริย์อาระกัน

ทั้งนี้ ทางการพม่าบอกว่าชาวโรฮิงยาไม่ใช่พลเมืองพม่า เพราะเป็นชาวจิตตะกองที่พูดภาษาพม่าไม่ได้ดี แต่ที่จริงคนส่วนใหญ่ในพม่าก็พูดภาษาพม่าไม่ได้ดี เพราะระบบการศึกษาที่จำกัด ขณะที่ชาวโรฮิงยาไม่สามารถเรียนได้เกินเกรด 5 แล้วจะไปเรียกร้องให้ชาวโรฮิงยาพูดภาษาพม่าให้ดีได้

อบิด บาฮาร์ เชื่อว่า เชื้อสายของชาวโรฮิงยานั้นมาจากหลายทาง นอกจากเชื้อสายเบงกอลแล้วยังมีเชื้อสายอาหรับ เปอร์เซีย หรือแม้แต่เชื้อสายโปรตุเกส เหมือนกับเชื้อสายของชาวดัตซ์นั้นมาจากหลายทาง และเพราะชาวโรฮิงยาได้รับผลกระทบร่วมกัน จึงทำให้พวกเขาหลอมรวมกัน

โดยเขาเสนอแนวทางการแก้ปัญหาว่า ต้องมีการเจรจากับทางการพม่าในเรื่องของการคืนสัญชาติ และเมื่อได้รับการรับรองสัญชาติ จึงจะได้เรียกร้องสิทธิอื่นๆ เช่นเดียวกับพลเมืองของพม่า ทั้งนี้คงมีชาวโรฮิงยาที่คิดจะแก้ปัญหาด้วยกองกำลัง แต่ผมเชื่อเรื่องการเจรจา อย่างไรก็ตามก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะไปควบคุมใครได้ เพราะคนที่คิดแบบนี้ เป็นเพราะครอบครัวของเขาอาจถูกทำลาย แต่ถ้าเราเชื่อเรื่องการปรองดองก็ต้องมุ่งไปเจรจากับทางการพม่า แต่ถ้าชาวโรฮิงยาบอกว่าอยากปรองดองก็อาจไม่มีผลเพราะเป็นการปรองดองข้างเดียว ต้องเป็นทางการพม่าที่กล่าวว่าต้องการปรองดอง โดยถ้าคุณเป็นประธานาธิบดี ต้องเป็นประธานาธิบดีสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่ประธานาธิบดีของคนพม่า

ทั้งนี้ยิ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ออง ซาน ซูจี ใช้คำว่า “ไม่ทราบ” เกี่ยวกับเรื่องโรฮิงยา และใช้คำว่า “ผู้ที่ถูกเรียกว่า โรฮิงยา” ระหว่างที่ผู้สื่อข่าวถามออง ซาน ซูจีระหว่างการเยือนยุโรป ทั้งที่ออง ซาน ซูจีเป็นผู้นำฝ่ายค้านของพม่า เป็นผู้นำระดับโลก ออง ซาน ซูจี ไม่ได้เลือกพูดว่าจะสนับสนุนสิทธิการเป็นพลเมืองของโรฮิงยาอย่างที่นายพล ออง ซาน หรืออดีตนายกรัฐมนตรีอูนุ รับรอง ซึ่งถ้าออง ซาน ซูจีพูดแบบนี้ ชาวโรฮิงยาก็จะได้รับการปกป้อง แต่นี่ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ กลับไม่ได้พูดอะไร

นอกจากนี้เขาเสนอให้ชาวโรฮิงยา เรียกตนเองว่า “Muslim of Arakan” หรือชาวมุสลิมแห่งอาระกัน ควบคู่ไปกับการใช้คำว่าโรฮิงยาด้วย เขาเสนอด้วยว่าทั้งชาวอาระกันหรือยะไข่ และชาวโรฮิงยา ถือเป็นเพื่อนบ้านกันจะต้องอยู่ด้วยกัน เป็นไปไม่ได้ที่จะขับไล่ชาวโรฮิงยาจนถึงชาวโรฮิงยาคนสุดท้ายได้ เขาเชื่อว่าทั้งชาวอาระกันและชาวโรฮิงยาต่างก็เป็นคนดี คนมีน้ำใจ ถ้ามีเพื่อนเป็นชาวโรฮิงยานั่นหมายความว่าคุณจะมีเพื่อนที่ดีที่สุด จึงเสนอให้ทั้งสองฝ่ายลดราวาศอกต่อกัน และให้เคารพซึ่งกันและกัน

 

เตรียมลอยเรือออกจากปีนังเพื่อส่งอาหาร 400 ตัน ช่วยโรฮิงยา

ขณะเดียวกัน โมฮัมหมัด อัซมี อับดุล ฮามิด ประธานโครงการ Humanitarian Flotilla to Arakan จากมาเลเซีย กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลังเกิดสถานการณ์ในรัฐอาระกัน ได้เข้าไปในพม่าเพื่อหารือกับผู้นำรัฐบาล รวมทั้งฝ่ายค้านอย่างนางออง ซาน ซูจี แต่ทั้งเต็ง เส่งและออง ซาน ซูจีไม่ได้ออกมาพบ

ทั้งนี้ตนได้นำจดหมายจากสมาคมพุทธศาสนาในประเทศมาเลเซีย ไปให้ผู้นำรัฐบาลพม่า เพื่อให้เปิดหูเปิดตาว่านอกจากประเทศพม่าแล้ว ยังมีชาวพุทธในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิม แต่ก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข มีความเข้าใจกัน และชาวพุทธก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมาเลเซีย แต่เจ้าหน้าที่พม่าไม่รับหนังสือ ขณะที่เลขานุการส่วนตัวของออง ซาน ซูจี บอกว่าผู้นำฝ่ายค้านทำอะไรไม่ได้มากเพราะจะถูกกองทัพจัดการ

ขณะเดียวกัน เราต้องการเข้าไปดูสถานการณ์ในรัฐอาระกัน แต่ไม่ได้รับอนุญาตโดยเจ้าหน้าที่บอกว่าจะเข้าไปได้ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าพวกเขาต้องการซ่อนความจริง

โดยโมฮัมหมัด อัซมี อับดุล ฮามิด เปิดเผยด้วยว่าหลายองค์กรในมาเลเซีย และชาวมุสลิมในหลายประเทศภายใต้โครงการ “Humanitarian Flotilla to Arakan” วางแผนที่จะนำสิ่งของช่วยเหลือโดยเฉพาะอาหารและยาจำนวน 400 ตัน เข้าไปในรัฐอาระกัน โดยในเดือนกันยายนจะส่งสิ่งของเข้าไปทางเรือจากรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ผ่านทะเลอันดามันไปยังเมืองซิตตะเหว่ของรัฐอาระกัน

 

สมาคมชาวพุทธในมาเลเซีย เรียกร้องรัฐบาลพม่ายุตินองเลือด

ขณะที่ความเคลื่อนไหวล่าสุด เว็บไซต์มาเลเซียกินี รายงานว่า เมื่อวานนี้ (16 ส.ค.) สมาคมยุวพุทธศาสนิกมาเลเซีย (Young Buddhist Association of Malaysia) ได้ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงยา โดยเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงในรัฐอาระกันทันที และให้กลุ่มต่างๆ มีการหารือกันเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้อย่างสันติวิธี และปราศจากความรุนแรง

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านใช้ความพยายามอย่างเร่งด่วนในการยุติความรุนแรงต่อประชาชนในรัฐอาระกัน ด้วยการปฏิบัติภายใต้กฎหมายที่มีความเป็นประชาธิปไตย

ในข้อสุดท้ายของแถลงการณ์สมาคมยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าให้องค์กรให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอิสระและในระดับนานาชาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ให้เข้าไปในพื้นที่ๆ เกิดผลกระทบ เพื่อส่งมอบสิ่งของที่มีความจำเป็น และเพื่อยุติการนองเลือดในรัฐอาระกัน

 

ชาติอิสลามลงมตินำเรื่องโรฮิงยาเข้าที่ประชุมสหประชาชาติ

ขณะเดียวกันสำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ IOC ซึ่งมีสมาชิก 57 ชาติ ได้มีมติเมื่อ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ประณามการใช้ความรุนแรงในรัฐอาระกัน ที่ฝ่ายรัฐบาลกระทำต่อสมาชิกชนกลุ่มน้อย ชาวมุสลิมโรฮิงยา และการปฏิเสธไม่ยอมรับในสิทธิความเป็นพลเมือง และให้นำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติเพื่อพิจารณาต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net