Skip to main content
sharethis

สมาคมรัฐศาสตร์ มก.แถลงจุดยืนค้านเขื่อนแม่วงก์ พร้อมไว้อาลัยแด่ขบวนการนักอนุรักษ์ไทย ชี้หลัง ครม.ออกมติกว่า 4 เดือน การแสดงออกเหยาะแหยะ เผยเตรียมยกระดับการเคลื่อนไหว มุ่งจัดเวทีในรั้วมหา’ลัย-ยื่นหนังสือพรรคการเมือง

 
ภาพจาก: Public Seminars Project
 
วันที่ 17 ส.ค.55 สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สร.มก.) แถลงการณ์ เรื่อง “โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์” ลงนามนายธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการสูญเสียพื้นที่ป่าที่มีความสำคัญเพื่อแลกกับเขื่อน ซึ่งก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถก่อประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ ไม่ว่าจะด้านการเกษตร หรือบรรเทาปัญหาอุทกภัย
 
อีกทั้งยังไว้อาลัยแด่ขบวนการนักอนุรักษ์ของประเทศไทย ทั้งที่อยู่ในภาครัฐและภาคเอกชน ที่ไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่จะปกป้องผืนป่า โดยการแสดงออกเท่าที่ปรากฏ อย่างน้อยตลอด 4 เดือนเศษ ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติแสดงให้เห็นว่าไม่สามารถฝากความหวังได้ ทั้งที่การดำเนินการของภาครัฐในการผลักดันโครงการเป็นไปอย่างหละหลวม มีช่องโหว่จำนวนมาก โดยเฉพาะด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ภายหลังจากการสัมมนาสาธารณะในครั้งนี้ สมาคมฯ จะยกระดับการเคลื่อนไหวให้กว้างขวาง และเข้มข้นยิ่งขึ้น ด้วยการเปิดเวทีในลักษณะเดียวกันนี้อีก ตามมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาคีอื่นๆ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เป็นต้น
 
รวมถึงเข้าพบและยื่นหนังสือต่อทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อเป็นปากเป็นเสียงในรัฐสภา ในโอกาสการแถลงผลการบริหารงานครบรอบ 1 ปี ของรัฐบาลต่อรัฐสภา และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่จะมีขึ้นในสมัยการประชุมนี้
 
ภาพจาก: Public Seminars Project
 
ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าว เผยแพร่ในการสัมมนาสาธารณะ เรื่อง "เขื่อนแม่วงก์: ได้ (กี่) อย่าง ก็ต้อง (?) เสีย (กี่) อย่าง" ณ ห้องปฏิบัติการทางรัฐศาสตร์ ชั้น 7 อาคารศรีรัศมิ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผอ.สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าสากล ประเทศไทย นายชัชวาล พิศดำขำ ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.อุทัยธานี ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสัมมนา
 
นายชัชวาล กล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2533 จนถึงปัจจุบัน ปริมาณของเสือในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เพิ่มกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ที่กำลังฟื้นตัวกลับมา แต่การสร้างเขื่อนในพื้นที่จะทำให้แหล่งอาหารของเสือหมดลง เพราะบริเวณที่สร้างเขื่อนเป็นที่ราบลุ่มผืนสุดท้ายของอุทยานฯ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
 
ส่วนการที่รัฐบาลมีมาตรการลดผลกระทบของสัตว์ป่า โดยนำสัตว์ป่าที่ถูกเลี้ยงไปปล่อยกลับคืนสู่ป่านั้น เปรียบเสมือนการส่งสัตว์ไปตาย เพราะสัตว์ที่ถูกเลี้ยงมาไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพในพื้นที่ได้ทัน และไม่มีสัญชาตญาณในการหาอาหารได้ด้วยตนเอง
 
“การสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็เปรียบเสมือนการตัดหัวใจที่สำคัญต่อป่า และสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์” นายชัชวาลกล่าว
 
ขณะที่ ผศ.ดร.ประภาส กล่าวว่า ในปัจจุบันกระแสความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ ที่มีต่อการอนุรักษ์ลดน้อยลง ต่างจากกรณีเขื่อนน้ำโจนที่มีกระแสการต่อต้านจากประชาชนอย่างกว้างขวาง จนรัฐบาลล้มเลิกโครงการเขื่อนน้ำโจน ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี ส่วนกรณีเขื่อนแม่วงก์ปราศจากผู้อยู่อาศัย ถึงสร้างเขื่อนเสร็จก็แทบไม่มีประชาชนออกมาคัดค้าน เพราะพื้นที่ป่าแม่วงก์ไม่มีผู้อยู่อาศัย ไม่ต้องเวนคืนที่ดิน เหมือนการสร้างเขื่อนอื่นๆ
 
ผศ.ดร.ประภาส กล่าวฝากถึงคนรุ่นใหม่ว่า อยากให้มีความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ออกมามีส่วนร่วมรวมพลังคัดค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่กำลังจะเกิดขึ้น
 
 
แถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้
 
 
 
แถลงการณ์สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรื่อง “โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์”
 
สืบเนื่องจากการงุบงิบมีมติอย่างรวบรัด ปราศจากการมีส่วนร่วม หรือรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง ของคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันอังคารที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา อนุมัติให้ดำเนินการสร้าง “เขื่อนแม่วงก์” ในพื้นที่ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์
 
สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ประการหนึ่ง ในการส่งเสริมการเรียนรู้ วิจัย รวมถึงกระบวนการการเรียนรู้ของพี่น้องประชาชน เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมาคมฯ โดยคณะกรรมการดำเนินงาน จึงขอแถลงเพื่อแสดงจุดยืน และเรียกร้องไปยังภาคส่วนต่างๆ ดังนี้
 
1. สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการสูญเสียพื้นที่ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ป่าระดับความสูงไม่เกิน 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย รวมถึง ดร.อนรรฆ พัฒนพิบูลย์ และคุณชัชวาล พิศดำขำ วิทยากรในการสัมมนาครั้งนี้ ย้ำนักย้ำหนาว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งกับการการดำรงชีพของสัตว์ป่า เพื่อแลกกับเขื่อน ซึ่งก็ยังไม่มีความชัดเจน หรือคงเส้นคงวาแต่ประการใด ว่าจะสามารถก่อประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ ไม่ว่าจะด้านการเกษตร หรือบรรเทาปัญหาอุทกภัย ก็ตามที คุ้มค่ากับสิ่งที่เราจะต้องสูญเสียไป ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะต้องเสีย
 
2. สมาคมฯ ขอไว้อาลัยแด่ขบวนการนักอนุรักษ์ของประเทศไทย ทั้งที่อยู่ในภาครัฐและภาคเอกชน ที่ไม่สามารถแม้แต่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ที่จะปกป้องผืนป่า ที่ปากก็พร่ำพูดว่ามีความสำคัญ การแสดงออกเท่าที่ปรากฏ อย่างน้อยที่สุด ตลอด 4 เดือนเศษ ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติ ก็เป็นไปอย่างเหยาะแหยะ ฝากความหวังอะไรไม่ได้ ทั้งที่การดำเนินการของภาครัฐในการผลักดันโครงการ ก็เป็นไปอย่างหละหลวม มีช่องโหว่จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจ
 
3. ภายหลังจากการสัมมนาสาธารณะในครั้งนี้ สมาคมฯ จะยกระดับการเคลื่อนไหวให้กว้างขวาง และเข้มข้นยิ่งขึ้น ด้วยการเปิดเวทีในลักษณะเดียวกันนี้อีก ตามมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาคีอื่นๆ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เป็นต้น รวมถึงเข้าพบและยื่นหนังสือต่อทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อเป็นปากเป็นเสียงในรัฐสภา ในโอกาสการแถลงผลการบริหารงานครบรอบ 1 ปี ของรัฐบาลต่อรัฐสภา และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่จะมีขึ้นในสมัยการประชุมนี้
 
แถลง ณ วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2555
ในการสัมมนาสาธารณะ เรื่อง “เขื่อนแม่วงก์: ได้ (กี่) อย่าง ก็ต้อง (?) เสีย (กี่) อย่าง”
 
โดย นายธนพร ศรียากูล นายกสมาคมฯ
 
 
  
 
เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนจาก: ข่าวสดออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net