ชำนาญ จันทร์เรือง: กรณี 98 ศพ จะเอาผิดเฉพาะผู้สั่งการไม่ได้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

"อย่ากลัวทหารจนอุจจาระขึ้นสมอง และอย่าเล่นการเมืองจนลืมหลักการทางกฎหมาย เสียชื่อที่เคยเป็นอดีตทหารเก่าและเป็นนักกฎหมายในระดับปริญญาเอก"

ผมไม่เห็นด้วยกับคุณเฉลิม อยู่บำรุง ที่ให้สัมภาษณ์ว่าคดีชันสูตรพลิกศพที่ บชน.เป็นผู้รับผิดชอบ และสิ่งที่ดีเอสไอทำ เป็นไปตามที่มีคนมาร้องทุกข์ว่าให้ดำเนินการกับผู้สั่งการ ไม่ได้ร้องให้ดำเนินคดีกับผู้ปฏิบัติ ส่วนคดีอื่นๆ หากจะให้ดำเนินการ ก็ต้องมีคนมาร้องทุกข์ก่อน

"ผบ.ทบ.ทราบ และเข้าใจดีว่าเราไม่มีเจตนาที่จะไปทำร้ายทำลายกองทัพ ฝากบอกพรรคประชาธิปัตย์ ว่าถ้ามีวิธีคิดดีๆ ว่าจะสั่งดีเอสไอเช็กบิลพรรคประชาธิปัตย์ได้ ช่วยแนะนำผมหน่อยจะได้ฉลองศรัทธา เพราะมันทำไม่ได้ ถ้าไม่ผิดก็คือไม่ผิด และทหารตำรวจไม่เกี่ยวข้อง คนที่สั่งการต้องรับผิดชอบ และผมได้กำชับ ผบช.น.ไปแล้วว่าให้ทำงานไปตามหลักฐาน และอย่าให้สัมภาษณ์” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว(http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXdNakUzTURnMU5RPT0=&sectionid=TURNd01RPT0=&day=TWpBeE1pMHdPQzB4Tnc9PQ==)

ผมไม่แปลกใจในการให้สัมภาษณ์ของคุณเฉลิมที่ออกมาในลักษณะนี้ เพราะประสบการณ์ในอดีตของคุณเฉลิมที่ได้เคยอพยพหลบหนีภัยอย่างหัวซุกหัวซุนจากการปฏิวัติรัฐประหารโดยทหารในอดีตมาแล้ว

แต่ทว่าบัดนี้สถานการณ์เปลี่ยน เวลาเปลี่ยน ข้อเท็จจริงเปลี่ยน ที่สำคัญก็คือผมไม่เชื่อว่าทหารจะลากรถถังมาปฏิวัติรัฐประหารอีกโดยไม่ถูกต่อต้านจากประชาชน

การให้สัมภาษณ์ของคุณเฉลิมในลักษณะนี้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ากรณี 98 ศพนี้จะเอาผิดได้เฉพาะ ผู้สั่งการซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองซึ่งหมายถึงคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีและคุณสุเทพ เทือกสุบรรณในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ. นั้น ไม่เป็นความจริง ไม่ว่าจะเป็นด้วยประเด็นข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง

จริงอยู่ในกรณีนี้ผู้สั่งการต้องรับผิดชอบอย่างแน่นอนและหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผู้ปฏิบัติก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะมาตรา 17 ของ พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา 17 พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่”

ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าการคุ้มครองนั้นจะคุ้มครองเฉพาะ “หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น” เท่านั้น

ประเด็นจึงมีอยู่ว่า

กรณี 98 ศพนี้เป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นหรือไม่

คำตอบ คือ ไม่ว่าจะมองด้วยมิติใด การใช้อาวุธปืนไม่ว่าจะเป็นสไนเปอร์หรือไม่ก็ตามสังหารฝูงชนทั้ง    ผู้ชุมนุมประท้วงและเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจตลอดจนผู้สื่อข่าวต่างประเทศนั้นย่อมเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุและเกินกว่ากรณีจำเป็นอย่างแน่นอน

ผู้บังคับบัญชาฝ่ายประจำที่เข้าร่วมประชุม ศอฉ.และรับคำสั่งมาปฏิบัติต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่

คำตอบ คือ ย่อมต้องร่วมรับผิดชอบด้วย หากพิสูจน์ได้ในการประชุมหรือรับคำสั่งมานั้นทั้งๆที่รู้ว่าเป็นคำสั่งที่เกินสมควรแก่เหตุและเกินกว่ากรณีจำเป็นแต่ไม่ได้แสดงความเห็นคัดค้านหรือแสดงเหตุผลถึงผลดีผลเสียหรือความจำเป็นว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ประการใด เพราะไม่เช่นนั้นหากเกิดเหตุการณ์ในทำนองนี้ต่อไปภายหน้าผู้บังคับบัญชาฝ่ายข้าราชการประจำก็จะใช้ข้ออ้างนี้เสมอเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบเมื่อมีการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ซึ่งในกรณีนี้นอกจากผู้บังคับบัญชา(ในขณะนั้น)ของเจ้าหน้าที่ทหารที่ใช้อาวุธปืนแล้วย่อมหมายความรวมไปถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งนั่งอยู่ในที่ประชุม ศอฉ.ในฐานะเลขานุการฯที่ออกมาแถลงข่าวในวันถัดมาหลังจากที่คุณเฉลิมแถลงด้วย ว่าเคลียร์กับทหารแล้วและยังเสริมอีกว่าเจ้าหน้าที่อาจไม่ต้องรับผิดเสมอไปด้วยซะอีกแน่ะ

เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในการใช้อาวุธปืนสังหารกลุ่มบุคคลต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่

คำตอบ คือ ต้องพิสูจน์เป็นแต่ละกรณีๆไปว่าในการใช้อาวุธในครั้งนั้นสามารถหลีกเลี่ยงได้หรือไม่หรือสามารถยิงไปยังจุดอื่นของร่างกายที่ไม่ต้องถึงแก่ชีวิตได้หรือไม่ หากได้ เจ้าหน้าที่ผู้นั้นก็ต้องรับผิดชอบ ยิ่งหากพิสูจน์ได้ว่ามีการห้ามปรามจากเจ้าที่อื่นที่ร่วมปฏิบัติงานด้วยแล้วยังขืนกระทำการอีก(ตามคลิป   ยูทูปและที่เผยแพร่โดยทั่วไป)ก็ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ ที่แย่ที่สุดก็คือการยิงทิ้งผู้ที่หนีไปอยู่ในวัดปทุมวนารามและอาสามัครที่ไม่มีพิษภัยอันใด

การมุ่งดำเนินการเฉพาะผู้สั่งการซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองโดยอ้างว่าผู้ร้องทุกข์ต้องการให้ดำเนินการเฉพาะผู้สั่งการ ไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ปฏิบัตินั้นฟังดูแล้วไม่สมเหตุผลเอาเสียเลย ไม่มีพ่อแม่ใครหรอกครับที่ลุกหลานตัวเองถูกยิงตายไปร้องทุกข์แจ้งความเอาเรื่องเฉพาะผู้สั่งการ แน่จริงลองเอาคำร้องทุกข์ที่ว่านั้นมาเปิดเผยดูสิครับว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือเปล่า แต่ก็อาจเป็นไปได้ในบางกรณีที่ถูกชักจูงหรือถูกกล่อมให้ดำเนินการอย่างที่ว่า แต่ผมเชื่อว่าไม่ใช่ทุกกรณีอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีชาวต่างประเทศที่เสียชีวิต

ที่สำคัญหากเลือกดำเนินการเฉพาะผู้สั่งการ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตั้งแต่พนักงานสอบสวนจนถึงผู้บังคับบัญชาซึ่งก็อาจรวมถึงคุณเฉลิมด้วยหากพิสูจน์ได้ว่ามีการสั่งการที่ว่าเช่นนั้นจริง ก็อาจเข้าข่ายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่บัญญัติไว้ว่าผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย

อย่ากลัวทหารจนอุจจาระขึ้นสมองและอย่าเล่นการเมืองจนลืมหลักการทางกฎหมายเลยครับ เสียชื่อที่เคยเป็นอดีตทหารเก่าและเป็นนักกฎหมายในระดับปริญญาเอกที่ตนเองเคยพูดอยู่เสมอว่า “อ่านกฎหมายรู้ ดูกฎหมายเป็น”เปล่าๆครับ เผลอๆจะมาเสียคนเอาตอนแก่ ซ้ำร้ายอาจจะติดคุกเอาดื้อๆนะครับ หากมีการเอาเรื่องขึ้นมาน่ะครับ

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 22 สิงหาคม 2555

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท