Skip to main content
sharethis

สรุปเผาโชว์รูมฮอนด้าปัตตานีสูญ 12 ล้าน ทำประกันภัยรถจากก่อการร้านแค่ 2 คัน เผยเป็นกลุ่มธุรกิจเดียวกับโรงแรมซีเอส.ปัตตานี รัฐเยียวยาโรงแรมดัง 8 ล้าน เสียหายรวม 17 ล้าน จังหวัดเล็งกำหนดเซฟตี้โซน 2 จุดในปัตตานี หนุนรัฐ-เอกชนออกเงินคนละครึ่งติดวงจรปิด

สรุปเผาโชว์รูมฮอนด้าปัตตานีสูญ 12 ล้าน

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 23 สิงหาคม 2555 ที่ห้องปฏิบัติการชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดปัตตานีหลังเก่า มีการประชุมคณะกรรมการประเมินความเสียหายด้านทรัพย์สินระดับจังหวัด เพื่อให้ความช่วยเหลือ กรณีโรงแรมซีเอส.ปัตตานี และศูนย์บริการฮอนด้า บริษัท ปัตตานีฮอนด้า คาร์ส จำกัด และทรัพย์สินอื่นๆ ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุไม่สงบ โดยมีว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานการประชุม พร้อมตัวแทนหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องและผู้เสียหาย เข้าร่วมประชุมประมาณ 30 คน

นางสาวมยุรี สงแก้ว ผู้จัดการ บริษัท ปัตตานีฮอนด้าคาร์ส์ จำกัด รายงานต่อที่ประชุมว่า มูลค่าความเสียหายจากเหตุคนร้ายลอบเผารถยนต์ของบริษัทปัตตานีฮอนด้า คาร์ส จำกัด เมื่อกลางดึกวันที่ 22 สิงหาคม 2555 มีรถยนต์เสียหาย 15 คัน คิดจากราคาทุนของรถยนต์ จึงมีมูลค่าความเสียหายรวมทั้งสิ้น 12,572,695.05 บาท

นางสาวมยุรี เปิดเผยอีกว่า ในจำนวน 15 คันดังกล่าว มีเพียง 4 คันที่บริษัท ปัตตานีฮอนด้า คาร์ส์ จำกัดได้ทำประกันภัยรถยนต์ไว้ โดยมี 2 คันที่ทำประกันภัยกับบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด ซึ่งคุ้มครองภัยก่อการร้ายด้วย จึงได้รับเงินประกันคืนจากความเสียหายครั้งนี้ ส่วนอีก 2 คัน ทำประกันภัยไว้กับบริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด ซึ่งตามกรมธรรพ์ไม่ได้รองรับความเสียหายจากภัยการก่อร้าย จึงไม่มั่นใจว่าจะได้เงินประกันภัยคืนหรือไม่

ส่วนความเสียหายของอาคารเก็บรถยนต์ดังกล่าว คิดเป็นมูลค่าความเสียหายจำนวน 697,528.12 บาท รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 13,270,223 บาท โดยบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด จะให้เงินประกันคืนจำนวน 5,000,000 บาท

โรงแรมซีเอส.ปัตตานีเสียหาย 17 ล้าน เยียวยาให้ 8 ล้าน

สำหรับโรงแรมซีเอส.ปัตตานี และศูนย์บริการฮอนด้า บริษัท ปัตตานีฮอนด้า คาร์ส จำกัด เป็นองค์กรธุรกิจในกลุ่มเครือข่ายเดียวกัน

นอกจากนี้ที่ประชุม ยังมีการรายงานความเสียหายของโรงแรมซีเอส.ปัตตานี ที่ถูกคนร้ายลอบวางระเบิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 แบ่งความเสียหายออกเป็น 10 ส่วน ได้แก่ 1.ระบบไฟฟ้า ซึ่งคณะกรรมการฯต้องตรวจสอบว่า จะหักค่าเสื่อมราคาหรือไม่ 2.ระบบห้องประชุม 3.ห้องพัก 4.ห้องน้ำพราว 5.ห้องสต๊อกเก็บของ 6.ห้องครัวจัดเลี้ยง 7.ห้องสจ๊วต 8.ความเสียหายของชั้น 8 9.ความเสียหายของห้อง 718 ซึ่งเสียหายมากที่สุด โดยถูกไฟไหม้ทั้งห้อง และ 10.ความเสียหายอื่นๆ รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นประมาณ 17,004,507 บาท

ทั้งนี้ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตว่า ต้องตรวจสอบราคาสิ่งของบางส่วนจากท้องตลาดอีกครั้ง เพื่อประเมินมูลค่าความเสียหาย ประกอบการพิจารณาขออนุมัติงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยา และจะอนุมัติงบประมาณรอบแรกเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น หรือประมาณ 8,500,000 บาทเท่านั้น

ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี แจ้งต่อที่ประชุมว่า การให้ความช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายของรถยนต์ที่ไม่ใช้รถใหม่จะต้องหักค่าเสื่อมราคาด้วย รวมถึงจะต้องนำกรมธรรพ์ประกันภัยที่ทำไว้มาเป็นหลักฐานประกอบการขอรับเงินช่วยเหลือเยียวยาด้วย ซึ่งตามหลักเกณฑ์การเยียวยา คือ การชดเชยเพื่อให้คงไว้สภาพเดิมเท่านั้น

ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ แจ้งอีกว่า เมื่อบริษัทประกันภัยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการแล้ว หน่วยงานราชการจึงจะให้ความช่วยเหลือในส่วนที่เหลือ ซึ่งไม่ควรผลักภาระการช่วยเหลือเยียวยาให้ราชการเพียงฝ่ายเดียว แต่เนื่องจากโรงแรมซีเอส.ปัตตตานี ไม่ได้ต่ออายุการทำประกันภัยก่อการร้าย จึงไม่สามารถสรุปในที่ประชุมได้ว่า จะให้ความช่วยเหลือได้หรือไม่ ซึ่งทางตัวแทนบริษัทประกันภัยจะไปประชุมหารือและจำต้องนำผลสรุปมารายงานในที่ประชุมคณะกรรมการประเมินความเสียหายฯ อีกครั้งในวันที่ 5 กันยายน 2555

เล็งกำหนดเซฟตี้โซน 2 จุดในปัตตานี

ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ เปิดเผยด้วยว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 ตนได้รับทราบข้อสรุปในการประชุมของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี ที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานีว่า มีข้อเสนอให้หน่วยงานราชการในพื้นที่มีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ให้มากกว่านี้ เพื่อเรียกว่าเชื่อมั่นให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด

“แม้นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ต่อต้านการจัดพื้นที่เซฟตี้โซน เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบทำให้ยอดขายที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีจำเป็นต้องมีพื้นที่เซฟตี้โซน เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลโดยตรง โดยเฉพาะการรักษาความปลอดภัยในช่วงกลางคืน ซึ่งการกำหนดเซฟตีโซนอาจเป็นบริเวณถนนพิพิธหรือย่านตลาดมะกรูด ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี เป็นพื้นที่นำร่อง” ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ กล่าว

สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยนั้น ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ เปิดเผยว่า ตนได้เน้นให้กองกำกับการจังหวัดปัตตานีที่มาร่วมประชุมวันนี้ด้วย ให้ดูแลพื้นที่อำเภอเมืองปัตตานีมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญๆ ซึ่งมาตรการรักษาความปลอดภัยมีมานานแล้ว แต่การปฏิบัติยังไม่มีประสิทธิภาพ เช่น เมื่อเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าถึงพื้นที่ให้เร็วที่สุดอย่างไร

หนุนรัฐ-เอกชนออกเงินคนละครึ่งติดวงจรปิด

ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ เปิดเผยอีกว่า จะให้สถานประกอบการและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาความปลอดภัยด้วย เช่น พนักงานต้องมีความรู้และคอยสังเกตสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในพื้นที่หรือบริเวณใกล้เคียง เพราะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่สามารถดูแลความปลอดภัยได้อย่างทั่วถึง เพราะฉะนั้นจึงควรติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อเป็นตัวช่วยในการสอดส่องดูแลด้วย โดยขอให้เจ้าของหรือบริษัทที่มีกำลังความสามารถลงทุนติดตั้งวงจรปิดเอง ปัจจุบันราคาประมาณ 5-6 หมื่นบาท

ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ กล่าวว่า หน่วยงานราชการต้องสนับสนุนเอกชนในพื้นที่มากกว่านี้ เช่น งดเว้นภาษีการติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือออกเงินติดตั้งหรือจัดซื้อ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะมีการประชุมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดและหอการค้าจังหวัดในเรื่องนี้ ซึ่งตนเห็นด้วย

ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ กล่าวอีกว่า ขอให้เจ้าหน้าที่นำภาพรถที่ถูกโจรกรรมมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อให้ชาวบ้านทราบและช่วยสอดส่องดูแล ซึ่งก่อนเกิดเหตุระเบิดที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี ชาวบ้านเห็นรถยนต์คาร์บอมบ์จอดอยู่บริเวณหลังโรงแรม แต่ไม่ทราบว่าเป็นรถคาร์บอมบ์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้เผยแพร่ภาพให้ชาวบ้านทราบก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net