Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“เชษฐา กังนัมลีลา” [1] : ว่าด้วยเรื่องของ “เพลงขยะที่ก๊อปปี้ชาวบ้านมา”

ณ เวลานี้ ผู้คนที่ติดตาม “วัฒนธรรมป๊อป” อยู่บ้างก็คงไม่มีใครรู้จักเพลง Gangnam Style ของนักร้องชายเกาหลีร่างท้วมนามว่า PSY [2] และก็คงจะไม่มีใครปฏิเสธได้กับความโด่งดังไปทั้งบ้านทั้งเมืองของเพลงนี้ที่มีคลิป “ล้อเลียน” ออกมาสารพัดจากนานาประเทศ (ซึ่งก็มีหลายคลิปมาจากไทย) มีการเปิดกันทั่วทุกหัวระแหง หรือกระทั่งมันก็ไปปรากฎในรายการเล่าข่าวชื่อดังของคุณสรยุทธไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่เพลงนี้ก็ไม่ได้ต่างไปจากสรรพสิ่งใดๆ ในโลกที่มีคนรักก็ย่อมมีคนชัง นักวิจารณ์ดนตรีและดีเจผู้คร่ำหวอดในแวดวงดนตรีนอกกระแสไทยมานานอย่างคุณ “ซี๊ด” นรเศรษฐ หมัดคง ก็ได้แสดงท่าทีในทางลบต่อเพลงนี้มากโดยกล่าวอ้างว่าเพลงนี้เป็นการ “ลอก” บทเพลงของวงดนตรีเต้นรำจากโลกตะวันตกมา ซึ่งการลอกดังกล่าวทำให้เพลงนี้เป็น “เพลงขยะ” ที่ส่งผลให้ผู้ฟังเป็น “คนเห่ย ไร้รสนิยม” คุณนรเศรษฐแสดงความเห็นนี้บนหน้าเฟซบุ๊คของตนเองซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ (public) และก็มีคนถูกอกถูกใจมากมาย แต่ไม่นานนักด้วยความเป็น “สาธารณะ” ของข้อเขียนนี้ ก็ทำให้มีผู้ไม่เห็นด้วยกับคุณนรเศรษฐเข้ามาโต้เถียงมากมาย และก็มีฝ่ายที่เห็นด้วยกับคุณนรเศรษฐช่วยคุณนรเศรษฐแย้งบ้างประปราย [3]

เท่าที่ผู้เขียนอ่านดู ผู้เขียนในฐานะของผู้ที่เคยศึกษางานวิชาการด้านดนตรีหนึ่งเห็นว่ามีหลายประเด็นน่าสนใจโดยเฉพาะข้อเสนอของคุณนรเศรษฐที่เป็นการเสนอในเรื่องใหญ่มากๆ ทุกประเด็นต้องการการอภิปรายอย่างจริงจังเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโลกวิชาการด้านดนตรีสมัยนิยม (popular music) ของผู้คน ผู้เขียนจึงอยากจะหยิบมาอภิปรายในบทความนี้

ผู้เขียนอยากจะเริ่มจากข้อสรุปข้อเสนอจากปากคำของคุณนรเศรษฐเองก่อนที่คุณนรเศรษฐสรุปเองสองครั้งว่า

“ประเด็นที่ผมต้องการสื่อ คือ เพลงขยะนี้มันก๊อปปี้ ชาวบ้านมา เพราะฉะนั้น มันคือเพลงขยะที่ไม่ควร สนับสนุนหรือฟังกัน”

และ

“ ประเด็นของผมคือ ‘เพลงขยะที่ก๊อปปี้ เพลงชาวบ้านเพลงนี้ มา มันเห่ย ใครที่ฟังแล้วชอบเพลงนี้ แสดงว่าชอบฟังเพลงเห่ยๆ ไร้รสนิยม’ ”

การกล่าวอ้างนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่พอสมควร และอันที่จริงเป็นการกล่าวอ้างในหลายประเด็นซ้อนกันซึ่งน่าจะแยกได้ดังนี้

  1. อ้างว่าเพลง Gangnam Style คือการ “ลอก” เพลง Sexy and I Know It และ Party Rock Anthem ของ LMFAO
  2. อ้างว่าการ “ลอก” ทำให้ Gangnam Style เป็น “เพลงขยะ”
  3. อ้างว่าการฟัง “เพลงขยะ” เป็นการทำให้ผู้ฟังเป็น “คนเห่ย ไร้รสนิยม”

ทั้งสามประเด็นล้วนเป็นประเด็นทางวิชาการที่ใหญ่ที่เกี่ยวพันกับทั้งประเด็นเรื่องกฎหมาย สุนทรียศาสตร์ ไปจนถึงปรัชญาและทฤษฎีสังคม ผู้เขียนจะขออภิปรายเป็นกรณีๆ ไปดังนี้

จะกล่าวหาว่าก๊อปปี้ต้องมีหลักฐาน จะเป็นนักวิชาการต้องอธิบายข้อเสนอของตนได้

จากการอ่านข้อถกเถียง ผู้เขียนพบว่าในการอภิปรายทั้งหมดไม่มีการยกประเด็นขึ้นมาเลยว่าภายใต้คำ “อธิบาย” แบบใดที่เพลง Gangnum Style จะเป็นเพลงที่เข้าข่าย “ก๊อปปี้” ผู้เขียนเน้นว่านี่เป็นสิ่งที่ต้องการการ “อธิบาย” เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่ฟังแล้วชัดเจนในตัวเองสำหรับทุกคนแน่ๆ เพราะทั้งทางฝั่งคุณนรเศรษฐก็ยืนยันว่านี่เป็นการ “ลอก” โดยไม่ต้องพิสูจน์อะไรอีก ทางอีกฝั่งในหลายๆ ส่วนก็ยืนยันว่า Gangnam Style เป็นเพลงที่มีแบบฉบับเฉพาะ (originality) ของตนเองที่ไม่ได้ลอกใครมา ซึ่งแน่นอนว่าเถียงกันแบบนี้นอกจากมันจะไม่จบแล้วมันก็ยังไม่ไปไหน

มันจะดีมากถ้าคุณนรเศรษฐสามารถอธิบายให้สมกับที่อ้างตัวเองเป็น “นักวิจารณ์ อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ดนตรี” ที่ “ได้ร่ำเรียนมาทางดนตรี” มาว่าการ “ลอก” ที่ว่าเกิดขึ้นตรงไหนและอย่างไร “ในแง่ของทฤษฎีและวิชาการ” เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ไม่มีนักวิชาการคนใดในโลกที่จะไม่ต้องพิสูจน์หรืออธิบายในสิ่งที่ตนเสนอ (แต่ถ้าจะเป็นศาสดาหรือประกาศกก็อีกเรื่อง) และถ้าประเด็นเรื่องการ “ลอก” มันเป็นปัญหานัก คุณนรเศรษฐก็น่าจะแสดงภูมิความรู้ในฐานะนักวิชาการออกมาโดยชี้ชัดๆ เลยว่าไลน์เครื่องดนตรีใดในนาทีที่เท่าไรของ Gangnam Style มันไปพ้องกับเพลงของ LMFAO บ้าง และเลือกงานวิชาการมาอ้างเลยเพื่อยันว่าความเหมือนในระดับนี้ถือว่ามี “นัยสำคัญ”

และนี่ก็ไม่ใช่แค่เรื่องความรับผิดชอบทางวิชาการกับข้อเสนอของตัวเองเท่านั้น แต่นี่ยังดูจะเป็นความรับผิดชอบในบทบาทของ “นักวิจารณ์” โดยทั่วๆ ไปด้วยซ้ำ เพราะการกล่าวหาว่า “ลอก” ในทางกฎหมายคือการกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งในกรณีนี้ในกฎหมายไทยเป็นความผิดทางอาญาด้วยซ้ำ พูดอีกระดับคือในสายตาของกฎหมายการกล่าวหาว่า “ลอก” หรือกล่าวหาว่า “ฆาตกรรม” มันก็ล้วนเป็นการกล่าวหาว่าผู้อื่นทำผิดทางอาญาเหมือนกัน

แน่นอนว่ากรณีแบบนี้สามารถอ้างว่าเป็น “การวิจารณ์โดยสุจริต” เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาเล่นงานด้วยคดีหมิ่นประมาทไม่ได้ ซึ่งผู้เขียนก็เห็นควรด้วยว่าควรจะอ้างได้ มิเช่นนั้นเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ก็คงจะมีปัญหามากแน่ๆ ในสังคมที่ผู้คนรู้สึกว่าตนอ่อนไหวถูกทำร้ายได้ง่ายเช่นนี้ อย่างไรก็ดีการกล่าวหาว่า “ลอก” ใดๆ ทั้งปวงไม่ว่าจะในกรณีนี้หรือกรณีไหน ก่อนที่เราๆ ท่านๆ จะทำการตัดสิน เราก็ควรจะใช้หลักกฎหมายว่าจำเลยยัง “บริสุทธจนกระทั่งถูกพิสูจน์ว่าผิด” (innocent until proven guilty) ก่อน เพราะการลงทัณฑ์ทางสังคมกับผู้ถูกกล่าวหาว่า “ลอก” โดยไม่พิจารณาหลักฐานให้ถ้วนถี่จากทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยมันก็ดูจะเป็นกระบวนการยุติธรรมแบบดิบๆ ไม่ผิดจากการใช้ศาลเตี้ย

ดังนั้นสำหรับผู้เขียน PSY ก็ยัง “บริสุทธิ์” อยู่เพราะยังไม่มีการพิสูจน์ว่า “ผิด” อย่างชัดเจน ทั้งนี้ถึงทางคุณนรเศรษฐจะยกความเหมือนกันของเพลงของ PSY กับเพลงของ LMFAO มาให้เห็นชัดๆ ฝ่ายที่แย้งคุณนรเศรษฐก็สามารถจะแย้งในอีกระดับได้อีกว่าสิ่งที่เหมือนกันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “จารีต” ทางดนตรีหรือไม่ เพราะถ้านับว่าเป็นจารีตแล้ว การบอกว่า “ลอก” ก็เป็นเรื่องที่ผิดฝาฝิดตัวเป็นอย่างมาก [4]

… ผู้เขียนไม่อยากจะโทษคุณนรเศรษฐที่ไม่ได้ชี้ประเด็นนี้ให้ชัดหรือกระทั่งโทษผู้ที่มาถกเถียงกับคุณนรเศรษฐที่ไม่จี้ให้คุณนรเศรษฐชี้แจงรายละเอียดการ “ลอก” ผู้เขียนได้แต่เสียดายที่ข้อถกเถียงมันไม่ได้ไปทางนี้ เพราะถ้าไม่ว่ากันในรายละเอียดมันไม่มีทางจะคุยกันรู้เรื่องและประนีประนอมกันได้ ผู้เขียนเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาถกเถียงกับคุณนรเศรษฐก็ไม่ได้ต่างไปจากมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่จำนวนมากที่ก็ยังเชื่อแนวคิดเรื่องการ “ลอก” และกฎหมายลิขสิทธิ์บางรูปแบบอยู่ เพียงแต่เส้นแบ่งระหว่างการ “ลอก” กับการ “มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว” ของแต่ละคนอาจต่างกัน และถ้าเราไม่คุยกันในรายละเอียดเราก็ไม่สามารถจะไปต่อได้ ซึ่งผู้เขียนมองว่านี่เป็นเรื่องใหญ่เพราะทรัพย์สินทางปัญญาน่าจะเป็นสิ่งที่กำหนดชีวิตทางเศรษฐกิจของสังคมมนุษย์ไปอีกหลายต่อหลายปี และการเลือกที่จะลากเส้นแบ่งว่าตรงไหนคือการ “ลอก” ก็ควรจะมองว่าป็นเรื่องของนโยบายทางเศรษฐกิจ ที่การดำเนินต่างกันมันก็จะสร้างโลกทางศิลปวัฒนธรรมที่ต่างกันไป และผู้คนก็สมควรจะมีสิทธิ์เลือกโลกที่เขาอยากอยู่

ว่าด้วย “เพลงขยะ” ในทางวิชาการและสังคมตะวันตก

เมื่อผู้เขียนอ่านข้อถกเถียงไปเรื่อยๆ ผู้เขียนพบว่าปัญหาที่สำคัญในการที่ผู้คนเข้ามาแย้งคุณนรเศรษฐเกิดจากในส่วนที่คุณนรเศรษฐไปเรียก Gangnam Style ว่า “เพลงขยะ” และซึ่งเท่านั้นยังไม่พอยังไปว่าคนฟังอีกว่าฟังเพลงขยะพวกนี้แล้วเป็น “คนเห่ย ไร้รสนิยม” แน่นอนว่าคนที่ฟังเพลงพวกนี้ก็โกรธแน่ๆ แต่คุณนรเศรษฐก็ยันยันว่า

“ผมแสดงความเห็น...ในฐานะของนักวิจารณ์ อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ดนตรีว่ามันเป็นเพลงที่ทำลายรสนิยมของผู้คน”

“ความรู้ที่ผมได้ร่ำเรียนมาทางดนตรีนั้น มันบอกว่าเพลงนี้เป็นเพลงขยะ”

“ผมมีอาชีพหลักเป็นนักวิจารณ์ เป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ดนตรี ซึ่งเพลงตามกระแสนั้น มันขัดแย้งกับความเป็นจริงในแง่ของทฤษฎีและวิชาการที่ผมสอนอยู่”

เห็นชัดได้ว่าคุณนรเศรษฐพยายามจะอ้างหลักวิชาการอะไรบางอย่างในการกล่าวอ้างว่าเพลง Gangnam Style เป็นเพลงขยะที่จะส่งผลร้ายกับผู้ฟัง ซึ่งผู้เขียนก็ได้ศึกษาเกี่ยวกับ “เพลงขยะ” มาพอสมควรและค่อนข้างจะงงงวยกับความสัมพันธ์ระหว่างข้อเสนอและจุดยืนทางวิชาการของคุณนรเศรษฐ และขอชี้แจงเป็นประเด็นย่อยๆ ดังนี้

โดยทั่วไป ไม่มีผู้ศึกษาดนตรีสมัยนิยมในโลกตะวันตกคนไหนจะปฏิเสธ “เพลงขยะ” มีแต่ที่จะพยายามเอา “เพลงขยะ” มาให้เป็นส่วนหนึ่งของโลกวิชาการด้วยซ้ำ

ในโลกตะวันตก เพิ่งจะมีการศึกษา “เพลงขยะ” กันอย่างเป็นล่ำเป็นสันกันตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 เอง ซึ่งที่เรียกว่า “เพลงขยะ” ในที่นี้โดยทั่วไปก็หมายถึงเพลงป๊อปหรือเพลงสมัยนิยม (popular music) ทั้งหมด ต้องเข้าใจก่อนว่าในตอนแรกสาขาวิชาที่ผูกขาดการศึกษาดนตรีในโลกตะวันตกก็ได้แก่ดุริยางคศาสตร์ (musicology) และชาติพันธุ์ดุริยางคศาสตร์ (ethnomusicology) ซึ่งก็มีวัตถุการศึกษาที่ต่างกันไปโดยศาสตร์แรกทำการศึกษาดนตรีคลาสสิคในจารีตแบบยุโรป ส่วนศาสตร์ที่สองทำการศึกษาดนตรีนอกโลกตะวันตกทั้งหมด

การเกิดขึ้นของดนตรีสมัยนิยมในตอนต้นศตวรรษที่ 20 พร้อมๆ กับอุตสาหกรรมดนตรีนั้นเป็นสิ่งที่วงวิชาการแทบจะไม่ให้ความใส่ใจที่จะศึกษาเลยมากว่าครึ่งศตวรรษ เพราะโดยทั่วไปดุริยางคศาสตร์ก็ไม่ได้มาสนใจ “ดนตรีขยะ” ของมวลชนที่ไม่มีคุณค่าทางศิลปะนี้อยู่แล้วเพราะดนตรีที่มีคุณค่าพอต่อการศึกษามีแต่ดนตรีคลาสสิค ส่วนชาติพันธุ์ดุริยางคศาสตร์ก็มองว่าดนตรีสมัยนิยมที่กำเนิดมาจากอเมริกา (และกระจายไปทั่วโลก) นี้มีลักษณะแบบ “ตะวันตก” มากเกินกว่าที่จะอยู่ในขอบเขตการศึกษา ดนตรีสมัยนิยมจึงไม่ได้รับความสนใจจากโลกวิชาการตะวันตก

กระแสความสนใจเหล่า “ดนตรีขยะ” มาเริ่มปะทุขึ้นเมื่อนักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้สถาปนาสาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษาขึ้นมาในอังกฤษราวช่วงทศวรรษที่ 1970 โดยกลุ่มนักวิชาการพวกนี้หันมาสนใจเพลงสมัยนิยมและบรรดา “วัฒนธรรมวัยรุ่น” ต่างๆ ในฐานะของพลังในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบางแบบของวัยรุ่นชนชั้นแรงงานในอังกฤษ ซึ่งนี่น่าจะนับว่าเป็นครั้งแรกๆ ในวงวิชาการตะวันตกที่มีการมอง “วัฒนธรรมป๊อป” ในแง่บวกกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

นี่เป็นจุดเริ่มที่สำคัญ เพราะแนวทางแบบวัฒนธรรมศึกษา “ระบาด” ไปทั่ววงวิชาการในโลกตะวันตกอย่างรวดเร็วมันก็ทำให้ดนตรีสมัยนิยมกลายเป็นประเด็นศึกษาที่มีความชอบธรรมทางวิชาการไปด้วยจากที่มันไม่เคยเป็นมาก่อน และการศึกษาดนตรีสมัยนิยมทั้งหมดมันเริ่มจากจุดนี้ ในแง่นี้การดิ้นรนพื้นฐานของนักวิชาการด้านดนตรีสมัยนิยมก็คือการทำให้ “เพลงขยะ” ที่อาจเลวทรามต่ำช้าที่สุดในสายตาของชนชั้นสูงทางดนตรีหรือกระทั่งนักวิจารณ์ดนตรีมันเป็นสิ่งที่มีค่าพอที่จะให้มีการศึกษาในทางวิชาการ

อย่างไรก็ดีแนวทางการศึกษา “เพลงขยะ” พวกนี้ก็แตกต่างไปจากแนวทางการศึกษาดนตรีแบบดุริยางคศาสตร์หรือกระทั่งแนวทางการศึกษาศิลปะโดยทั่วไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเป้าประสงค์ของการศึกษาแนวทางนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อประเมินคุณค่าทางสุนทรียะของเนื้องานดนตรี แต่มุ่งไปที่การศึกษาดนตรีในฐานะของปรากฏการณ์ทางสังคม ศึกษาดนตรีในฐานะที่มันสัมพันธ์กับสังคม ดังนั้นโจทย์การศึกษามันจึงไม่ใช่จะบอกว่าบทเพลงไหนมันเป็น “ขยะ” หรือเป็นสิ่งดีงาม แต่เป็นว่าการที่บทเพลงหนึ่งๆ ได้รับความนิยมมันสะท้อนอะไรของสังคมออกมา ไปจนถึงการศึกษาการตีความและหักเหความหมายของดนตรีจากระบบทุนนิยมให้เป็นการ “ต่อต้าน” ทุนนิยม ซึ่งนี่เป็นคนละท่าทีกับการบอกว่าสังคมมันขยะเพราะคนฟังเพลงขยะแน่ๆ

ไซมอน ฟริธ (Simon Frith) หนึ่งในผู้วางรากฐานสำคัญของการศึกษาดนตรีสมัยนิยมเคยกล่าวไว้อย่างชัดเจนในงานศึกษาของเขาในทำนองว่าเพลงป๊อปที่ดีคือเพลงป๊อปที่ยอดขายมากที่สุด [5] ตรงนี้เขาไม่ได้บอกว่าเพลงที่ยอดขายดีมันเป็นเพลงที่ดี แต่เขาสะท้อนระบบการประเมินคุณค่าดนตรีป๊อปออกมา ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ไม่ต้องเถียงกันแล้ว ไปศึกษาในมิติอื่นดีกว่า มีอีกเยอะแยะให้ศึกษา

ในแง่นี้ผมจึงงงงวยมากว่าคุณนรเศรษฐกล่าวออกมาได้ไงว่า “ยอดวิว… ไม่สามารถนำมายืนยันหรือเป็นหลักฐานได้เสมอไปว่า เป็นสิ่งที่ดีหรือเพลงที่ดี” ผมคิดว่าการกล่าวแบบนี้ในฐานะของนักวิจารณ์น่าจะชอบธรรมอยู่ แต่หากจะกล่าวในฐานะของนักวิชาการด้านดนตรีสมัยนิยมศึกษาแล้ว มันแทบจะเป็นสิ่งที่กลับหัวกลับหางกับสิ่งที่ยอมรับกันทั่วไปในสาขาวิชาเลย หรือคุณนรเศรษฐไม่ได้รับการฝึกฝนทางวิชาการมาในสาขาที่ผู้เขียนเข้าใจ?

นักประวัติศาสตร์ดนตรีสมัยนิยมควรจะมีหน้าที่ชี้ให้เห็นกับความสัมพัทธ์กับยุคสมัยของเพลงขยะ มากกว่าไปตัดสินว่าจะเพลงในปัจจุบันเพลงไหนเป็นเพลงขยะ

คุณนรเศรษฐกล่าวว่าตัวเอง “อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ดนตรี” มันก็คงจะชอบธรรมกว่าที่ผมจะตัดสินคุณนรเศรษฐบนฐานความความเป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ดนตรี อย่างไรก็ดีสิ่งที่ผมยังงุนงงก็คือ “ประวัติศาสตร์ดนตรี” แบบไหนที่คุณนรเศรษฐสอนนักศึกษา

เท่าที่ผู้เขียนศึกษามาการศึกษาประวัติศาสตร์ดนตรีโดยเฉพาะน่าจะแบ่งได้เป็นสองแขนงที่ผูกอยู่กับสาขาวิชาอื่นๆ ซึ่งหลักๆ น่าจะแบ่งเป็นส่วนที่ผูกอยู่กับดุริยางคศาสตร์กับส่วนที่ผูกอยู่กับประวัติศาสตร์ ผู้เขียนไม่คิดว่าคุณนรเศรษฐจะเป็นนักประวัติศาสตร์ดนตรีในสายดุริยางคศาสตร์เพราะในสายนี้มันไม่มีการศึกษาดนตรีสมัยนิยมกันจริงจังเท่าไร และนักดุริยางคศาสตร์ที่เป็นนักประวัติศาสตร์ดนตรีเท่าที่ผู้เขียนเข้าใจก็คือผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่กับการศึกษาสกอร์เพลงในอดีตเป็นหลัก และไม่ได้เน้นศึกษางานบันทึกเสียง เหนือไปกว่านั้นแล้วการศึกษาในแนวทางนี้ยังไม่มีการแยกแยะระหว่าง “เพลงป๊อปที่ดี” และ “เพลงป๊อปที่เลว” ออกจากกันด้วย ซึ่งต่างจากท่าที่ของคุณนรเศรษฐที่ทำการแยกแยะบทเพลงทั้งสองชนิดออกจากกันอย่างชัดเจน ผู้เขียนจึงขอพิจารณาคุณนรเศรษฐในฐานะของนักประวัติศาสตร์ดนตรีในสายประวัติศาสตร์ในบทบาทของผู้สอน

ผู้เขียนเข้าใจว่าหน้าที่สำคัญของการสอนประวัติศาสตร์ใดๆ ก็ตามให้นักศึกษาอย่างน้อยที่สุดต่อให้นักศึกษาไม่ใด้วิธีการทางประวัติศาสตร์และแนวทางประวัติศาสตร์ใดๆ กลับไป นักศึกษาก็ควรจะได้สำนึกความเป็นประวัติศาสตร์ของสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตกลับไป กล่าวคือ ผู้เรียนควรจะมีความเข้าใจว่าอดีตต่างจากปัจจุบันอย่างไร มิติความต่างกันข้ามเวลา (diachrony) เป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานของวิชาประวัติศาสตร์

ที่นี้คำถามคือการพูดถึง “เพลงขยะ” ของคุณนรเศรษฐนี่มันเป็นการพูดผ่านสำนึกทางประวัติศาสตร์แค่ไหน ผมไม่แน่ใจว่าคุณนรเศรษฐมีมากน้อยแค่ไหน แต่ในการถกเถียงของคุณนรเศรษฐ ผมไม่เห็นเลยแม้แต่นิดเดียว

การศึกษาดนตรีในเชิงประวัติศาสตร์นั้นไม่เคยเป็นการศึกษาดนตรีในแบบที่แยกขาดออกจากสังคม (ในแบบที่นิยมกันในทางดุริยางคศาสตร์) แต่เป็นการศึกษาดนตรีในฐานะที่มันเชื่อมโยงกับสังคมมาโดยตลอด และการศึกษาในแบบนี้มันไม่มีทางจะไม่เห็นว่า เพลงขยะมีลักษณะสัมพัทธ์กับยุคสมัย แน่ๆ

ท่าทีแบบตุลาการทางรสนิยมทางดนตรีของคุณนรเศรษฐในการพูดถึง “เพลงขยะ” ที่มีลักษณะสัมบูรณ์ไร้กาลเวลา ดูจะไม่สอดคล้องกับการกล่าวอ้างว่าเป็นผู้สอนประวัติศาสตร์ดนตรีพอสมควรอยู่

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างของข้อเขียนถึง “เพลงขยะ” ในช่วงทศวรรษที่ 1920 และ 1930 ให้ฟังดังนี้ [6]

“... เรารู้ว่าในความชั่วร้ายของมัน แจ๊สได้สร้างความเสียหายให้กับร่างกายและจิตใจของคนหลุ่มสาวที่ยังไม่สามารถจะต่อต้านแรงปรารถนาอันชั่วร้ายได้ นี่อาจเป็นคำอธิบายว่าทำไมอเมริกายุคนี้ถึงมีอัตราการก่ออาชญากรรมสูงเช่นนี้” ข้อความจากนิตยสารดนตรีคลาสสิคปี 1925

“ดนตรีแจ๊ส… ได้เปลี่ยนทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กกลับไปสู่ภาวะป่าเถื่อน” ข้อความจากหนังสือพิมพ์ New York Times ปี 1925

“[นักประวัติศาสตร์ในอนาคต] จะเห็นว่าในยุคที่เราคิดว่าเรารู้แจ้งทางดนตรีแล้ว เรายังให้พวกคนดนตรีแจ๊ซเถื่อนๆ พวกนี้มาทำลายประวัติศาสตร์ดนตรีคลาสสิคของเรา นอกจากนี้เรายังต้องฟังข้อเรียกร้องในการหมิ่นศาสนาอันโสมมของคนพวกนี้อย่างอดทนด้วย” ความเห็นของนักประพันธ์เพลงคลาสสิคจากหนังสือพิมพ์ New York Times ปี 1929

“เราอนุญาตให้มี… การแจมดนตรีกัน นักเต้นสวิง และจังหวะมั่วเซ็กส์ของพวกมนุษย์กินคนมาให้มีที่ทางในสังคมแล้ว มันเป็นการปูทางไปนรกให้กับเยาวชนของเราชัดๆ” บาทหลวงผู้หนึ่งกล่าวถึงแจ็ส จากหนังสือพิมพ์ New York Times ปี 1938

ทุกวันนี้ก็คงไม่มีใครจะเห็นว่าดนตรีแจ๊สเป็น “ดนตรีขยะ” อีกแล้ว เพราะมันก็เป็นดนตรีชั้นสูงของชนชั้นกลางระดับสูงหรือกระทั่งชนชั้นสูงไปเรียบร้อยแล้ว และปรากฏการณ์เลื่อนชั้นจากดนตรีขยะไปเป็นดนตรีที่ไม่ขยะมันก็เกิดขึ้นเป็นปกติซ้ำแล้วซ้ำอีกในศตวรรษที่ 20 เพราะอย่างน้อยๆ ดนตรีร็อคแอนด์โรลก็ถูกประนามหยามเหยียดในทศวรรษที่ 1950 [7] แบบที่ดนตรีแจ๊สโดนในทศวรรษที่ 1920 และถ้าประวัติศาสตร์ดนตรีในศตวรรษที่ 20 จะสอนอะไรสักอย่างเรา มันก็คงจะเป็นการที่บรรดาดนตรีใหม่ๆ ทั้งหลายที่กลายเป็นดนตรีขึ้นหิ้งไปแล้วมันก็เคยเป็น “ดนตรีขยะ” มาแทบทั้งสิ้น และดูจากท่าทีของคุณนรเศรษฐ ผมก็พบว่าคุณนรเศรษฐดูจะไม่ได้ระมัดระวังมาตรฐานของความเป็น “ดนตรีขยะ” ที่ลื่นไหลไปถามยุคสมัยเลย ซึ่งผู้เขียนคิดว่านี่น่าจะเป็นจริตที่ดูจะสอดคล้องกับคนที่เป็นนักประวัติศาสตร์ดนตรีมากกว่า

ซึ่งตรงนี้ผมก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าคุณนรเศรษฐไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียก Gangnam Style หรือบทเพลงใดๆ ในโลกว่า “เพลงขยะ” แต่ผมก็ไม่เข้าใจคุณนรเศรษฐเป็นอย่างยิ่งว่าคุณนรเศรษฐจะอ้างความเป็นนักประวัติศาสตร์ดนตรีของตนมาเพื่ออะไร เพราะท่าทีมาตรฐานต่อปรากฏการณ์ “เพลงขยะ” ของนักประวัติศาสตร์ดนตรี(สมัยนิยม) นั้นก็ดูจะแตกต่างกับสิ่งที่คุณนรเศรษฐแสดงออกมาโดยสิ้นเชิง

การกล่าวอ้างว่าเพลงบางแบบเป็น “เพลงขยะ” มีอยู่จริงในโลกวิชาการ แต่ “เพลงขยะ” มันคือเพลงป๊อปทั้งหมด และแนวคิดแบบนี้ก็ตกไปนานแล้ว

คนนอกโลกวิชาการส่วนใหญ่จะไม่คิดว่าการกล่าวอ้างว่าบทเพลงบางชนิดเป็น “เพลงขยะ” ที่ทำให้คนฟังโง่งมนั้นจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกวิชาการ แต่การกล่าวอ้างแบบนี้ก็มีจริงๆ ในข้อเขียนเกี่ยวกับแจ๊สอันฉาวโฉ่ของนักปรัชญาและสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ธีโอดอร์ อดอร์โน (Theodore Adorno) นักคิดเยอรมันผู้นี้เป็นศัตรูตัวฉกาจของดนตรีแจ๊ส และได้ผลิตข้อเขียนทางวิชาการที่ซับซ้อนออกมาเพื่ออธิบายว่าดนตรีแจ๊ส (ในตอนต้นศตวรรษที่ 20) มันเป็นดนตรีที่ทำให้คนโง่งมง่อยเปลี้ยอย่างไร

ผู้เขียนคงจะไม่ลงไปในคำอธิบายของอดอร์โน [8] แต่ผู้เขียนอยากจะเน้นว่าการเสนอเรื่องใหญ่ๆ อย่างการฟังดนตรีบางแบบแล้วจะทำให้คนโง่งมง่อยเปลี้ยนั้นมันต้องการการให้เหตุผลที่แน่นหนาตามมา และสิ่งที่อดอร์โนทำก็คือ อธิบายมันอย่างเชื่อมโยงกับการผลิตศิลปะวัฒนธรรมมวลชนของระบบทุนนิยมทั้งหมด ข้อเสนอที่รุนแรงระดับนี้มันต้องการการให้เหตุผลที่แน่นหนาระดับนี้ มันถึงจะเป็นที่ยอมรับได้ในทางวิชาการ

แต่สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้อดอร์โนฉาวโฉ่ดังที่ได้บอกไปแล้ว การเสนอเรื่อง “ความขยะ” ของดนตรีแจ๊สของเขา (ที่จริงๆ ก็ไม่ได้ต่างจากคนร่วมสมัยกับเขา ดังที่ได้ยกตัวอย่างมาด้านบนบ้างแล้ว) ทำให้นักวิชาการรุ่นหลังจำนวนไม่น้อยปฏิเสธงานของเขาเพราะมันแสดงถึงความคับแคบและล้าหลังของเขา [9] ซึ่งนี่ยังไม่รวมประเด็นที่ว่าเหตุผลที่เขาให้ก็ยังดูจะไม่แน่นหนาพอในสายตาของหลายๆ ฝ่าย กล่าวคืองานของเขาให้ภาพมนุษย์ที่ง่อยเปลี้ยเกินไปที่ฟังเพลงแล้วโง่งม ซึ่งเป็นท่าทีที่ต่างจากบรรดานักวัฒนธรรมศึกษาที่มักมองมนุษย์ว่ามีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงและหักเหความหมายในระดับที่ว่าถึงจะมีความโง่เขลาเบาปัญญาใดๆ ในดนตรี มันก็ไม่อาจที่จะทำให้ผู้ฟังโง่เขลาเบาปัญญาตามได้ (ซึ่งนี่ก็เป็นมุมมองที่มีปัญหาไปอีกแบบ)

ตรงนี้จะเห็นได้ว่าข้อเสนอเรื่อง “ดนตรีขยะ” ในโลกวิชาการของแม้แต่นักวิชาการใหญ่ผู้ทรงอิทธิพลมันก็โดนปฏิเสธไปแล้วด้วยซ้ำ แต่ที่สำคัญกว่านั้นหากเราไปดูเหตุผลในการอธิบายว่าทำไมดนตรีแจ๊สเป็น “ดนตรีขยะ” แล้ว เราก็จะพบว่าเพลงสมัยนิยมใดๆ ในโลกล้วนแต่เพลงขยะทั้งสิ้น เพราะองค์ประกอบที่สำคัญของ “เพลงขยะ” ของอดอร์โนคือโครงสร้างบทเพลงที่ตายตัว และท่วงทำนองที่คาดเดาได้ (แน่นอนว่าเมื่อเทียบกับเพลงคลาสสิคในบางรูปแบบที่มีโครงสร้างไม่ตายตัว และมีการปรากฎของตัวโน๊ตที่คาดเดาไม่ได้)

ถ้าเราจะกลับมาที่ประเด็นของคุณนรเศรษฐ หากใช้มาตรฐานนี้ซึ่งน่าจะเป็นมาตรฐานทางวิชาการเดียวในการกล่าวถึง “เพลงขยะ” แล้ว ไม่ว่าจะบทเพลงของ PSY บทเพลงของ LMFAO หรือกระทั่งดนตรีต่างๆ ที่คุณนรเศรษฐเคยเสนอในนิตยสาร Generation Terrorist ก็น่าจะเป็นเพลงขยะอย่างไม่แตกต่างกัน

และหลังจากไล่เลียงคำอธิบายทางวิชาการเกี่ยวกับ “เพลงขยะ” ทั้งหมดที่ผู้เคยเคยได้ยินมาแล้วจนถึงตรงนี้ผมก็ผู้เขียนไม่ได้ข้อสรุปว่าที่ “ความรู้” ที่คุณนรเศรษฐกล่าวถึงว่า “ความรู้ที่ผมได้ร่ำเรียนมาทางดนตรีนั้น มันบอกว่าเพลงนี้เป็นเพลงขยะ” มันเป็นความรู้แบบไหน

ทิ้งท้าย: ความมีเอกลักษณ์ของคนขาวและการลอกเลียนของคนเอเชีย

จริงๆ แล้วผู้เขียนตั้งใจอย่างถึงที่สุดในการหาที่ทางในทางวิชาการด้านดนตรีในโลกตะวันตกสำหรับข้อเสนอของคุณนรเศรษฐ แต่ผู้เขียนก็ไม่สามารถหางานใดๆ ที่จะสนับสนุนการไล่เลียงตรรกะที่เริ่มจาก เพลงก๊อป->ทำให้เกิดเพลงขยะ->ทำให้ผู้ฟังเห่ยและไร้รสนิยม ได้เลย

แต่นี่ก็อาจเป็นมุมมองจากวงวิชาการของโลกตะวันตกที่ไม่แฟร์แต่คุณนรเศรษฐที่กล่าวถึงความสำคัญของ “ความเป็นไทย” ก็ได้แนวทางวิชาการด้านดนตรีในแบบคุณนรเศรษฐอาจเป็นแนวทางแบบไทยๆ ที่ผู้เขียนไม่เข้าใจและไม่เคยทราบด้วยซ้ำว่ามีอยู่ก็ได้ คุณนรเศรษฐอาจต้องการแนวทางวิชาการที่มีเอกลักษณ์ดังเช่นที่คุณนรเศรษฐเสนอความเห็นกับเพลงไทยว่า “เพลงไทยที่ผมรังเกียจคือ เพลงที่ไม่คิดเอง และไม่ยอมนำความเป็นไทยไปขายฝรั่ง” อย่างไรก็ดีความคิดเรื่อง “ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว” (originality) ก็ดูจะไม่ใช่อะไรนอกจากผลผลิตของสังคมยุโรป เพราะในสังคมไทยเองบรรดาศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีต่างๆ ก็ดูจะเน้นไปที่การเล้นล้อต่างๆ กับจารีต หรือเน้นการทำซ้ำและดัดแปลงมากกว่าการสร้างขึ้นใหม่โดยสิ้นเชิง ซึ่งลักษณะเหล่านี้ทำให้ดนตรีในไทยคล้ายกับดนตรีในวัฒนธรรมคนดำไปจนถึงวัฒนธรรมชาวบ้านทั่วโลกมากกว่าที่จะเป็นวัฒนธรรมดนตรีคลาสสิคที่ “ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว” เป็นเรื่องสำคัญมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นอย่างน้อย ปัญหา ณ ที่นี้ก็คือถ้าเราเรียกร้องให้บรรดา “ศิลปิน” ไทยมี “ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว” แล้ว เราไม่ได้กำลังเล่นเกมทางเศรษฐกิจไปตามกรอบคิดแบบตะวันตกอยู่หรือ?

ผู้เขียนกลับมองว่าหากจะอ้างความเป็นไทยในแบบ “บ้านๆ” แล้ว การ “ลอกเลียน” ที่คุณนรเศรษฐจงเกลียดจงชังนักหนานี่แหละที่เป็นสำนึกแบบไทยๆ ก็เป็นที่รู้กันว่าชาวไทยมีสำนึกด้านทรัพย์สินทางปัญญาต่ำมากๆ จนแทบจะเรียกได้ว่ามีเอกลักษณ์ แต่นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะมองว่าเป็นเอกลักษณ์แบบไทยอันน่าภาคภูมิใจ และจริงๆ แล้วก็ไม่มีใครนับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์ไทยด้วยซ้ำ

ผู้เขียนไม่ได้พยายามจะบอกว่า “การลอก” มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม แต่ผู้เขียนอยากจะตั้งคำถามว่า “การลอก” นี่หรือเปล่าที่เป็นวิถีแห่งเอเชียอันแตกต่างจากตะวันตกอย่างเด่นชัดที่เราไม่เคยยอมรับ? และบางทีในการถกเถียงกันว่าบทเพลงหนึ่งๆ นั้น “ลอก” ฝรั่งมาหรือไม่นั้น กรอบการคิดที่ว่าการ “ลอก” เป็นสิ่งผิดบาปนี่แหละที่เราเอามาจากฝรั่งแบบที่เราไม่ตั้งคำถามเลย

และท้ายที่สุดแล้วผู้เขียนก็ว่าคิดว่าเราถ้าเราต้องการจะเตรียมพร้อมการเข้าสู่สมาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มภาคภูมิแบบที่คุณนรเศรษฐห่วงใย เราก็ต้องเริ่มจากการยอมรับในสิ่งที่เราเป็นนี่แหละ หรืออย่างน้อยที่สุดเราก็คงจะต้องตระหนักก่อนว่าเกมที่เราเล่นอยู่ไม่ใช่เกมที่เราเขียนกฎเอง แต่เราจำต้องเล่น ซึ่งนี่ต่างจากการโจมตีโลกตะวันตกภายใต้กรอบความคิดแบบตะวันตกที่เราไม่เคยตั้งคำถามแน่นอน

 

หมายเหตุ:

  1. ผู้เขียนเอาวลีนี้มาจากเพจ “ตะละแม่ป๊อปคัลเจอร์” ดูต้นฉบับได้ที่ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=377509548988678&set=pb.377496815656618.-2207520000.1346301590&type=1
  2. ผู้เขียนค่อนข้างมั่นใจว่าผู้ที่เข้ามาอ่านบทความนี้ทั้งหมดน่าจะเคยฟังเพลง Gangnam Style มาแล้ว แต่ก็ขอปะลิงค์เอาไว้ตามขนบงานเขียนถึงดนตรีที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตในยุคสมัยนี้ รับชมเพลงนี้ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=9bZkp7q19f0
  3. อ่านการถกเถียงหรือ “ดราม่า” นี้ได้ที่ http://drama-addict.com/2012/08/28/%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%8E%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B8%A5/
  4. ผู้เขียนพยายามจะเข้าไปที่โพสต์ต้นเรื่องของคุณนรเศรษฐเพื่ออ่านการโต้เถียงอย่างละเอียด แต่พบว่าเข้าไปไม่ได้แล้ว ดังนั้นผู้เขียนจะเขียนบทความนี้จากลิงค์นี้เป็นหลัก ผู้เขียนได้เขียนถึงประเด็นเกี่ยวกับจารีตไปจนถึงบรรดาข้อยกเว้นทางกฏหมายในการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ในชุดบทความ “ละเมิด/ไม่ละเมิดงานดนตรี 101” ซึ่งมี 4 ตอนแล้ว อ่านได้ที่ http://prachatai.com/journal/2012/05/40665, http://prachatai.com/journal/2012/05/40781, http://prachatai.com/journal/2012/06/40935, http://prachatai.com/journal/2012/06/41204
  5. Simon Frith, Sound Effects: Youth, Leisure, And The Politics of Rock’N’Roll, (New York: Pantheon Books, 1981)
  6. อ่านทั้งหมดได้ใน Alan P. Merriam, Anthropology of Music, (USA: North Western University Press, 1980), pp. 241-244
  7. ผู้อ่านสามารถอ่านข้อมูลแบบนี้ได้ในงานประวัติศาสตร์ดนตรีร็อคแอนด์โรลที่เขียนมาในยุคที่ร็อคแอนด์โรลมันยังไม่ได้รับกันกว้างขวางเช่นนี้ งานเด่นๆ ก็เช่น Charlie Gillett, The Sound of The City: The Rise of Rock ‘N’ Roll, (New York: Dell Publishing, 1972[1970])
  8. ถ้าไม่อยากลงไปอ่านงานของอดอร์โนเลย ท่านก็พอจะหาอ่านได้ใน นันทวัฒน์ ฉัตรอุทัย, “อดอร์โนกับอุตสาหกรรมวัฒนธรรม: กรณีศึกษาเพลงสมัยนิยม” ใน เหลียวหน้าแลหลังวัฒนธรรมป๊อป (กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2549)
  9. ดูการอภิปรายถึงความเกลียดชังแจ๊สของอดอร์โนและการแบนอดอร์โน ได้ใน Robert W. Witkin, “ Why Did Adorno “Hate” Jazz ”, Sociological Theory, Vol. 18, No. 1 (March, 2000), pp. 145-170

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net