Skip to main content
sharethis
รายงานจาก HSRI FORUM ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ.2555 ว่าด้วยบทบาทของ อปท.ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการและผู้สูงอายุในชุมชน จากกรณีศึกษา อบต.ดอนแก้ว จ.เชียงใหม่

 

 

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ในเดือนธันวาคม 2554 ประชากรไทยทั้งประเทศมีจำนวนประมาณ 64 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป)ประมาณ 8 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผู้สูงอายุเหล่านี้หากไม่ได้รับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงก็อาจทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บและนำไปสู่ความพิการได้ 

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็มีผู้พิการทุกประเภทรวมกันไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน (เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 1.3 ล้านคน) ซึ่งคนพิการเหล่านี้แม้ว่าในปัจจุบันจะมีหน่วยงานและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น การฟื้นฟูสมรรถภาพ การส่งเสริมอาชีพแล้วก็ตาม แต่ภาระในการดูแลคนพิการเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ยังตกอยู่กับครอบครัวหรือญาติพี่น้อง ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการดูแลส่งเสริมผู้พิการและผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว ดังเช่นที่ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 
 
นพดล ณ เชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลในตำบล พบว่าผู้พิการและผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีฐานะยากจน บ้านเรือนมีสภาพทรุดโทรมผุพัง บางครอบครัวต้องออกไปทำงานนอกบ้านจึงต้องปล่อยให้ผู้พิการอยู่บ้านตามลำพัง ขณะเดียวกันครอบครัวก็ไม่มีความรู้ในการดูแลผู้พิการ ทำให้ผู้พิการใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก ขาดคนดูแล บ้างก็ถูกทอดทิ้ง 
 
ตนในฐานะที่เป็นนายกฯ อบต.จึงต้องให้ความช่วยเหลือคนพิการและผู้สูงอายุเหล่านี้ เพราะถือว่าเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม และเมื่อ อบต.ดอนแก้วรับการถ่ายโอนสถานีอนามัยมาบริหารจัดการในปี 2551 แล้ว อบต.ดอนแก้วจึงได้ออก ‘ข้อบัญญัติเรื่องการดูแลช่วยเหลือคนพิการและผู้สูงอายุ’ ขึ้นมา เพื่อเป็นหลักประกันว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร อบต.ในอนาคต แต่ข้อบัญญัติของ อบต.เรื่องการช่วยเหลือผู้พิการฯ ก็จะคงอยู่ และผู้บริหารชุดใหม่ก็จะต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัตินั้น
 
สาระสำคัญของข้อบัญญัติเรื่องการดูแลช่วยเหลือคนพิการและผู้สูงอายุของ อบต.ดอนแก้วก็คือ การจัดให้มีกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้พิการฯ ทั้งเรื่องการส่งเสริมอาชีพ ความรู้ การให้กู้ยืมเงินไปประกอบอาชีพ การซ่อมแซมบ้านเรือนให้เหมาะสมแก่สภาพของคนพิการและผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม กองทุนนี้ไม่ได้กำหนดเอาไว้ตายตัวว่าแต่ละปี อบต.จะสมทบงบประมาณจำนวนเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับแผนงานและความต้องการของผู้พิการ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้ที่ใจบุญร่วมบริจาคเงินเข้ากองทุนนี้ด้วย
 
“เราจะมีการสำรวจและสอบถามความต้องการของผู้พิการก่อนว่า มีความต้องการหรืออยากจะได้รับการสนับสนุนในเรื่องใด เราจะไม่ไปยัดเยียดให้เขา บางคนอยากจะทำอาหารขาย หรืออยากจะเย็บผ้าเพื่อหารายได้ อบต.ก็จะหาคนมาสอน แล้วให้กู้ยืมเงินไปประกอบอาชีพ รายละไม่เกิน 10,000 บาท บางคนก่อนจะพิการมีความรู้เรื่องการซ่อมคอมพิวเตอร์มาก่อน เราก็ให้ยืมเงินไปเปิดร้านซ่อมคอมฯ ซึ่งที่ผ่านมา อบต.ได้ให้คนพิการกู้ยืมเงินไปประกอบอาชีพแล้ว กว่า 10 ราย” นพดล ณ เชียงใหม่ นายก อบต.ดอนแก้ว ยกตัวอย่างความช่วยเหลือ
 
นอกจากนี้ อบต.ดอนแก้วยังได้จัดตั้ง ‘ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการและผู้สูงอายุ’ ขึ้นมา โดยใช้สถานที่ของสำนักสงฆ์ในตำบลเป็นที่ทำการ มีการทำกายภาพ บำบัดให้แก่คนพิการและผู้สูงอายุโดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ใช้วัสดุในท้องถิ่นมาทำเป็นอุปกรณ์ในการออกกำลังกล้ามเนื้อและทำกายภาพบำบัด การนวดแผนไทยกิจกรรมการฝึกอบรมอาชีพให้แก่คนพิการทางปัญญา เช่น การเย็บตุ๊กตาดับกลิ่น ฯลฯ 
 
กิจกรรมสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในตำบลดอนแก้วก็คือ การเปิดรับอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือดูแลคนพิการ ซึ่งปัจจุบันมีอาสาสมัครในตำบลดอนแก้วประมาณ 30 คน อาสาสมัครเหล่านี้จะได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ในการดูแลคนพิการและผู้สูงอายุ จากนั้นอาสาสมัครก็จะออกไปเยี่ยมบ้านสัปดาห์ละ 2 วัน ช่วยสอนญาติหรือคนในครอบครัวให้ดูแลคนพิการอย่างถูกต้อง และช่วยนำคนพิการออกมาทำกายภายบำบัด มาร่วมกิจกรรมสันทนาการที่ศูนย์ฟื้นฟูฯ เพื่อให้คลายเหงา หรือช่วยฟื้นฟูจิตใจให้แจ่มใส ไม่ต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน
 
ส่วนการช่วยซ่อมแซมหรือปรับปรุงบ้านเรือนให้เหมาะสมกับสภาพการใช้ชีวิตของคนพิการและผู้สูงอายุนั้น นายก อบต.ดอนแก้วบอกว่า จะมีทีมงานของ อบต.ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย อสม. และเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างออกไปสำรวจสภาพบ้านเรือน ดูสภาพความเป็นอยู่ ความเดือดร้อนของผู้พิการและผู้สูงอายุ และตรวจดูบริเวณพื้นที่ที่อาจจะเกิดอันตราย เช่น ในห้องน้ำ เพราะหากพื้นห้องน้ำลื่น ผู้สูงอายุก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุหกล้มได้และเสี่ยงต่อความพิการที่จะเกิดขึ้นตามมา 
 
จากนั้นจึงจะให้ช่างและชาวบ้านช่วยกันลงแรงปรับปรุงซ่อมแซมสภาพบ้านเรือนและที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม ตรงกับความต้องการของคนพิการและครอบครัว เช่น คนพิการที่ใช้รถเข็นอาจมีการจัดทำทางลาดภายในบริเวณบ้านเพื่อให้เคลื่อนไหวได้สะดวก ทำประตูห้องน้ำให้กว้างเพื่อให้รถเข็นเข้าไปได้ ทำราวพยุงตัว ปูพื้นห้องน้ำเพื่อกันลื่น ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมา อบต.ได้ช่วยปรับปรุงซ่อมแซมบ้านคนพิการและผู้สูงอายุไปแล้วจำนวน 10 หลัง 
นอกจากนี้ในพื้นที่สาธารณะ เช่น วัด สุสาน ก็ได้จัดทำห้องน้ำสำหรับคนพิการ เพื่อให้คนพิการออกมาใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไปได้ เพราะคนพิการส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องการขับถ่าย และห้องน้ำสาธารณะที่มีอยู่ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำเผื่อคนพิการ เช่น ประตูห้องน้ำแคบรถเข็นเข้าไม่ได้ ไม่มีราวจับช่วยพยุงตัว 
 
ส่วนการดูแลผู้สูงอายุนั้น อบต.ได้ส่งอาสาสมัครไปเยี่ยมผู้สูงอายุสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ให้คำแนะนำในเรื่องสุขภาพ เช่น ไม่ควรกินอาหารรสเค็ม อาหารหวานมันมากเกินไป ไม่สูบบุหรี่หรือดื่มเหล้า เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคไต เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ แล้วชวนผู้สูงอายุมาออกกำลังกายทุกวันอังคารและพฤหัส เป็นการเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง เพราะหากผู้สูงอายุเกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมาก็มีโอกาสเสี่ยงต่อความพิการที่จะตามมา 
 
ปัจจุบันในตำบลดอนแก้วมีผู้พิการทุกประเภทรวมกันประมาณ 130 คน ซึ่งนายก อบต.ดอนแก้วบอกว่า ก่อนหน้านี้ไม่นานจำนวนคนพิการทั้งตำบลมีอยู่ประมาณ 70 คนเท่านั้น แต่เมื่อ อบต.ดอนแก้วได้ให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง จึงทำให้คนพิการจากนอกตำบลย้ายเข้ามาอยู่ที่ดอนแก้วเพิ่มมากขึ้น
 
นอกจากการฟื้นฟูสมรรถภาพและการช่วยเหลือผู้พิการดังกล่าวแล้ว นายก อบต.ดอนแก้วได้กล่าวถึงแผนงานสำคัญในการป้องกันไม่ให้มีผู้พิการเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน อบต.ดอนแก้วมี ‘ศูนย์พัฒนาครอบครัว’ อยู่แล้ว ดังนั้นตนจึงมีเป้าหมายที่จะใช้ศูนย์พัฒนาครอบครัวเป็นศูนย์ฝึกอบรมให้ความรู้แก่หนุ่มสาวในตำบลที่กำลังจะมีครอบครัวหรืออยู่ในวัยเจริญพันธุ์ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนมีครอบครัว เพราะหากมีการตั้งครรภ์ในสภาวะที่ไม่พร้อม เช่น แม่ยังเป็นวัยรุ่น หรือมีโรคประจำตัว บุตรที่คลอดออกมาก็อาจจะมีความเสี่ยงที่จะพิการ
 
“เรามีแผนงานที่จะส่งเจ้าหน้าที่อนามัยของเราไปฝึกอบรม หรือร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อจัดเก็บข้อมูลคนที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ในตำบลย้อนหลังไปถึงครอบครัวว่า ครอบครัวใดเคยมีใครเจ็บป่วยด้วยโรคที่ติดต่อทางพันธุกรรมบ้าง หรือเคยเป็นโรคที่อาจจะทำให้เกิดความพิการได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางสายตา เพื่อให้ความรู้แก่คนที่กำลังจะมีครอบครัว จะได้หาทางป้องกันไม่ให้ตนเองและครอบครัวเป็นโรคต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่อความพิการที่จะตามมา” นายก อบต.ดอนแก้วกล่าวถึงแผนงานเชิงรุกที่จะดำเนินการต่อไป
 
นี่คือบทบาทของ อบต.ยุคใหม่ ซึ่งไม่ได้ทำงานเฉพาะการบริการสาธารณูป โภคพื้นฐานแบบ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก” อีกต่อไป แต่หลายๆ แห่งได้เป็นแบบอย่างในการขยายบริการด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน รวมทั้งการส่งเสริมและพัฒนาสมรรถภาพของผู้พิการและผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 
ดาวน์โหลด HSRI FORUM ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ.2555 ได้ที่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net