Skip to main content
sharethis

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ร่วมกับสหภาพแรงงานไทย จัดการประชุมการให้สัตยาบันและการปฏิบัติตามอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เมื่อวันที่ 29-30 สิงหาคม 2555 ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกต กรุงเทพ

โดยอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการปกป้องสิทธิในการจัดตั้ง และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการจัดตั้งและการเจรจาต่อรองร่วม เป็นอนุสัญญาพื้นฐานที่จะเป็นหลักประกันสิทธิแรงงานในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งประเทศไทยที่เป็นสมาชิกเริ่มแรกของ ILO ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462 ยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ

ที่ผ่านมา ไอ แอล โอ และองค์กรแรงงานต่างๆ ในประเทศไทยได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิดความตระหนักถึงความจำเป็นของอนุสัญญาในกลุ่มแรงงาน ข้าราชการ สมาชิกรัฐสภาและสื่อมวลชนว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ จะช่วยลดปัญหาเรื่องแรงงานสัมพันธ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน การพัฒนาสิทธิแรงงานให้ดีขึ้นเป็นการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้น อันจะนำไปสู่การเติบโตของภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม การให้สัตยาบันยังช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งหลายประเทศใช้มาตรฐานแรงงานเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้า และในระยะยาว การให้สัตยาบันจะช่วยสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียม แบ่งบันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม และลดช่องว่างทางรายได้

แต่แม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้มีการรับรองอนุสัญญา 2 ฉบับดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2535 และมีการตั้งคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อย่างจริงจัง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 จนคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 แต่ก็ต้องถอนเรื่องออกในเวลาต่อมาเพื่อรอความชัดเจนของการออกกฎหมายรองว่าจะต้องให้รัฐสภาเห็นชอบตามมาตรา 190 หรือไม่ อย่างไรก็ตามกระทรวงแรงงานฯ ในยุคของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้ดำเนินการจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายครั้ง โดยสิ้นสุดไปเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และจะเสนอให้ ครม.ดำเนินการต่อไป

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงแผนการขับเคลื่อนในระยะต่อไปเพื่อผลักดันการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับว่า ประกอบด้วย การสื่อสารสาธารณะผ่านสื่อกระแสหลักและสื่อขององค์กรแรงงาน การรณรงค์ ให้ข้อมูลทำความเข้าใจกับคนงานในพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ ทุกภูมิภาค การประสานความร่วมมือกับภาคประชาสังคม และองค์กรแรงงานในระดับสากล การประสานติดตามกับภาครัฐ ทั้งราชการและฝ่ายการเมือง รวมทั้งภาคเอกชนและการเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อรัฐบาลเพื่อให้มีการให้สัตยาบันอนุสัญญา ไอ แอล โอ ฉบับที่ 87และ 98 ต่อไป

ที่ผ่านมาพบว่าสถานการณ์ด้านการรวมตัวของขบวนการแรงงานไทยยังพบปัญหาดังนี้
1) เสรีภาพการรวมตัวถูกจำกัด นายจ้างมักจะไล่ออกผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงาน มีการกลั่นแกล้งกรรมการสหภาพแรงงาน บทลงโทษนายจ้างกรณีนายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่ทำให้นายจ้างต้องเคารพสิทธิแรงงาน การจัดตั้งสหภาพแรงงานมีจำนวนน้อย

2) กลไกรัฐและกฎหมายขาดการส่งเสริมการรวมตัวของแรงงาน การยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งสหภาพแรงงาน การจัดทำข้อบังคับ/การประชุมใหญ่อยู่ในกรอบที่รัฐกำหนด รัฐมีอำนาจตรวจสอบสำนักงานสหภาพแรงงาน ปลดกรรมการสหภาพแรงงาน และยุบเลิกสหภาพแรงงาน พนักงานรัฐวิสาหกิจห้ามหยุดงาน การจัดตั้งสหภาพแรงงานไม่ครอบคลุมข้าราชการพลเรือน กลุ่มแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มวิชาชีพ

3) การแบ่งแยกแรงงานภาครัฐวิสาหกิจออกจากแรงงานภาคเอกชน จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ทำให้แรงงานภาคเอกชนมีอำนาจต่อรองลดลง เนื่องจากผู้ใช้แรงงานภาคเอกชนมีจำนวนน้อย มุ่งเน้นการทำงานเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนเนื่องจากค่าจ้างแรงงานต่ำและสวัสดิการต่ำ

4) กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานและกลไกศาลแรงงานขาดประสิทธิภาพ กรอบคิดและวิธีปฏิบัติในการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งด้านแรงงานหรือคดีแรงงานขาดหลักประกันในสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน ศาลแรงงานมีหน้าที่หาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนเพื่อวินิจฉัยข้อกฎหมายหรือแก้ไขปัญหา มิใช่ไกล่เกลี่ยโดยไม่คำนึงข้อเท็จจริง และประนีประนอมเพื่อลดภาระคดีในทางศาล

5) การจ้างบริษัทเหมาช่วงแรงงาน นายจ้างต้องการกำกับควบคุมแรงงาน ในมิติจำนวนแรงงานที่ไม่สามารถสร้างอำนาจต่อรองกับนายจ้าง ความพยายามหลีกเลี่ยงการจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือลดจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงาน
ดังนั้นการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 จึงเป็นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง

ข้อดีของการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ประกอบด้วย
1. เป็นการช่วยลดปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ที่มีอยู่ปัจจุบันและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งมีรากฐานมาจากการที่สังคมมีทัศนคติในทางลบต่อสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ทำให้ช่องทางในการพูดคุยอย่างเท่าเทียมโดยใช้หลักความเป็นเหตุเป็นผลมีไม่เพียงพอ เมื่อลูกจ้างและนายจ้างเกิดความขัดแย้งจึงมีแนวโน้มจะขยายเป็นความรุนแรงได้ง่าย การให้สัตยาบันจะทำให้ประเทศไทยมีภาระผูกพันในการดำเนินการตามอนุสัญญา ต้องส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจังให้ทุกฝ่ายยอมรับและปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างสามารถเจรจาและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อันเป็นการส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนที่แท้จริง

2. การให้สัตยาบัน เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในชุมชนระหว่างประเทศ

2.1. ปรับสถานะประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศสมาชิกส่วนน้อยขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ยังไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้ ซึ่งเหลืออยู่ไม่มากและถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างไปทั่วโลก

2.2. เป็นการแสดงว่าประเทศไทยยอมรับมาตรฐานแรงงานสากล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในยุคโลกาภิวัตน์ ที่กำลังนำเรื่องมาตรฐานแรงงานมาใช้เป็นเหตุผลในการกีดกันทางการค้า

3. การให้สัตยาบัน จะเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วม และแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในประเทศให้สอดคล้องตามหลักการของอนุสัญญาดังกล่าว ที่สำคัญได้แก่

3.1. การส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่ม เช่น ข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานภาคเอกชนกับสหภาพแรงงานภาครัฐวิสาหกิจสามารถเข้าร่วมเป็นองค์กรเดียวกันได้

3.2. การคุ้มครองจากการแทรกแซงจากนายจ้าง เช่น คนงานที่ริเริ่มจัดตั้งสหภาพแรงงานและรวมตัวเจรจาต่อรองต้องได้รับการคุ้มครองจากการถูกเลิกจ้างและการปิดงานเฉพาะกลุ่ม

3.3. การคุ้มครองจากการแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การสั่งให้กรรมการสหภาพออกจากตำแหน่ง การบังคับให้ลูกจ้างและนายจ้างที่จัดตั้งองค์กรต้องจดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่รัฐ การบังคับให้ที่ปรึกษาของนายจ้างและลูกจ้างต้องจดทะเบียนกับทางการ

4. การให้สัตยาบัน ในระยะยาว จะช่วยสร้างสังคมที่มีการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างเป็นธรรม และช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน

5. การทำให้สิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจังในประเทศไทย ย่อมเกิดผลดีต่อทั้งคนทำงานและนายจ้าง ความพึงพอใจของทั้งสองฝ่ายจะมีส่วนกระตุ้นให้ผลิตภาพขยายตัวในที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยโดยรวม

ดังนั้นเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยสามารถเข้าถึงสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะทำให้คนทำงานทุกภาคส่วนสามารถรักษาสิทธิและผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ และเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมทางสังคมและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ คนทำงานทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างรัฐ ลูกจ้างเอกชน แรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งประชาชนทั่วไป จึงสนับสนุนให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยเร็ว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงานทุกคนในประเทศไทย

 


ที่มา: นักสื่อสารแรงงาน เว็บไซต์วอยซ์เลเบอร์ 1, 2

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net