Skip to main content
sharethis

ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมร่วมกับนักวิจัยหลายพื้นที่ทั่วโลก คิดค้นเตาปรุงอาหารที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากคลื่นเสียง คาดช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนพลังงานในประเทศกำลังพัฒนา

โครงการวิจัย score stove หรือ เตาคลื่นเสียง ริเริ่มโดยมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม สหราชอาณาจักร โดยร่วมมือกับสถาบันอีกหลายแห่งทั่วโลกเช่น มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม วิทยาเขตมาเลเซีย มหาวิทยาลัยกาฐมัณฑุของเนปาล และมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งบังคลาเทศ สถาบันวิจัยลอส อลามอส ในนิวแม็กซิโก และเริ่มทดลองใช้ในเขตชนบทของเนปาลและบังคลาเทศที่ยังขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า

หลักการทำงานของอุปกรณ์ดังกล่าวคือ การเปลี่ยนพลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ใช้ในการหุงต้มแปรรูปเป็นคลื่นเสียงและก่อให้เกิดพลังงานไฟฟ้า

พอล ไรลีย์ ผู้อำนวยการโครงการอธิบายการทำงานว่า เตานี้จะให้ความร้อนที่ปลายท่อด้านหนึ่งซึ่งออกแบบพิเศษโดยที่ปลายอีกด้านหนึ่งเย็น

การอัดอากาศเข้าไปในท่อทำให้เกิดการสั่นสะเทือนและเกิดคลื่นเสียงที่มีพลังที่ระดับ 170 เดซิเบล ซึ่งเป็นเสียงดังมากระดับเดียวกับเสียงที่เกิดขณะกระสวยอวกาศขึ้นจากพื้นดิน อย่างไรก็ตามเสียงที่เล็ดลอดออกมาภายนอกท่อที่ผลิตและออกแบบเป็นพิเศษจะเบาเพียงเท่าเสียงกระซิบเท่านั้น

ผลการทดลองในห้องปฏิบัติการ ไรลีย์และผู้ร่วมทีมจากนอตติงแฮมผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 36 วัตต์ และได้เริ่มติดตั้งและทดลองใช้งานเตาผลิตไฟฟ้าในชนบทของเนปาลและบังคลาเทศ ซึ่งเขาระบุว่าต้องมีการปรับรูปแบบให้เข้ากับแต่พื้นที่ รวมถึงคำนึงถึงพลังงานชีวภาพในแต่ละพื้นที่ ประเภทของหม้อ กระทะที่ใช้ในการทำอาหาร ด้วย

รายงานขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศในปี 2554 ระบุว่า ประชากรกว่า 1.3 พันล้านคนทั่วโลกไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยที่ประชากรกลุ่มดังกล่าวนี้ ราว 95 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่ประเทศที่ตั้งอยู่ตอนใต้ของทะเลทรายซะฮาราในแอฟริกา และประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย

แม้ว่าทีมวิจัยจะคาดหมายว่าเตาผลิตพลังงานไฟฟ้าจะให้พลังงานประมาณ 150 วัตต์ แต่จำนวนที่ผลิตได้ 36 วัตต์นี้ก็เพียงพอสำหรับการใช้ในการเปิดหลอดไฟหรือชาร์ตแบตเตอรี่มือถือซึ่งกำลังเป็นที่นิยม ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของสมาคมจีเอสเอ็มเอ (GSMA) ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมการสื่อสารไร้สายทั่วโลก พบว่าภายในปี 2012 นี้ ประชากรกว่า 70 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนราวหนึ่งพันล้านคนในแอฟริกาจะมีมือถือใช้

เตาคลื่นเสียงจะช่วยลดภาวะเรือนกระจกและลดปริมาณควันที่เกิดจากการทำอาหาร โดยปัจจุบันนี้ประชากรกว่า 3 พันล้านคนยังคงใช้เตาหุงต้มที่อาศัยเชื้อเพลิงชีวภาพอยู่ สำหรับต้นทุนในการผลิตเตาในปริมาณมากขณะนี้อยู่ที่ หน่วยละ 250 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7,500 บาท)แต่ผู้อำนวยการโครงการระบุว่าตั้งเป้าจะลดต้นทุนให้เหลือ 30 เหรียญต่อเตา (ประมาณ 900 บาท) ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net