Skip to main content
sharethis

คลิกที่นี่เพื่อชมแบบ HD

เมื่อ 21 สิงหาคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มีการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง ประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนกับการชำระประวัติศาสตร์ไทยและเพื่อนบ้าน โดยก่อนหน้านี้ประชาไทได้นำเสนอการอภิปรายของ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต หัวข้อ "อาเซียนกับประวัติศาสตร์ไทย (ASEAN and Thai history)" ไปนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ต่อมาเป็นอภิปรายหัวข้อ "พงศาวดารอาเซียนในแบบเรียนประวัติศาสตร์มัธยมไทย" โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง โดยในบทความประกอบการอภิปรายของภิญญพันธุ์ (อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง) ระบุว่า "บทความนี้จึงมุ่งที่จะทำความเข้าใจการศึกษาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในฐานะหน่วยทางการเมืองและการรวมตัวกันในฐานะองค์กร ผ่านความเปลี่ยนแปลงในแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่กำลังทวีบทบาทสำคัญในฐานะของรากฐานอุดมการณ์ที่ถูกกระตุ้นเร้าขึ้นมาอย่างช้าในปี 2544 หรืออาจกล่าวได้ว่าคือ ประวัติศาสตร์ของแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์นั่นเอง"

"ในเวลาและหน้ากระดาษอันจำกัด ผู้เขียนเลือกแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นตัวแบบในการทำความเข้าใจ ด้วยสาเหตุ 2 ประการนั่นคือ การศึกษาภาคบังคับปัจจุบันนับช่วงการศึกษาอยู่ 9 ปี นั่นคือตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นอกจากนั้นช่วงอายุนี้ยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับนักเรียนที่อยู่ในภาวะที่เจริญพันธุ์ที่กำลังลอกคราบสู่วัยผู้รุ่นที่กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ซึ่งหลังจบการศึกษาภาคบังคับนี้ ก็จะนำไปสู่หนทางชีวิตที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นออกไปทำงาน, เรียนต่อสายวิชาชีพ และเรียนต่อสายสามัญนอกจากนั้นในเชิงสถิติ ปี 2553 นักเรียนระดับมัธยมต้นมีจำนวน 2,636,288 คน เมื่อนับจากนักเรียนในระบบตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลจนถึงระดับปริญญาเอกทั้งหมด 13,157,103 คน นับเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงชั้นการศึกษาทั้งหมด"

ในตอนท้ายของบทความ เสนอว่า ส่วนที่เป็นปัญหาของแบบเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมไทยอยู่ในส่วนของโครงสร้าง "ที่แม้เนื้อหาแต่ละส่วนจะมีความน่าสนใจมากขึ้นแต่ ปัญหาอยู่ที่การไม่ได้บูรณาการบทต่างๆ เข้าหากัน ไม่ว่าจะส่วนวิธีการทางประวัติศาสตร์, การเชื่อมโยงกับภูมิภาค และส่วนที่เป็นประวัติศาสตร์ไทย ราวกับว่าแต่ละหน่วยแยกกันเขียนอย่างอิสระตามทัศนคติของผู้เขียน ดังนั้นจึงพบข้อกังขาจำนวนมากที่เป็นคำถามอันลักลั่นกัน เช่น ข้อเขียนถึงประวัติศาสตร์สุโขทัยที่กล่าวรัฐขนาดกลางที่เติบโตพร้อมกัน แต่ในแผนที่ยังเป็นอาณาเขตของสุโขทัย หรือกรณีที่อธิบายภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยท่าทีที่ระแวดระวังอคติระหว่างกัน แต่ในเนื้อหาประวัติศาสตร์ไทยกลับเน้นไปที่ความสัมพันธ์เชิงสงครามมากกว่าทำให้เห็นความสัมพันธ์ทางสังคมในด้านอื่นๆ ในส่วนของเนื้อหา เช่น การที่ยังเชิดชูอาณาจักรสุโขทัยว่ามีความกว้างขวางมหาศาล, การสอนประวัติศาสตร์ที่ยังเน้นการสงครามระหว่างรัฐ และการเชิดชูบุคคลที่มีความเป็นชนชั้นนำอย่างเดียว"

ส่วนความก้าวหน้าที่ค้นพบก็คือ "เนื้อหาในหลักสูตรได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก เพื่อให้เป็นพื้นฐานการทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ นอกจากนั้นวิชาประวัติศาสตร์ก็ไม่เป็นเพียงแต่ประวัติศาสตร์ของไทยอย่างเดียว มีการบทการเรียนรู้เชื่อมโยงกับภูมิภาคจากเล็กไปใหญ่ ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอเชีย และโลก นอกจากนั้นก็คือ เทคนิคการนำเสนอที่น่าสนใจขึ้นมากกว่าแบบเรียนในอดีต"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net