อองซอมเบิล โมเดโร ปาลู: ดนตรีจากเกาะสุลาเวสีมาแสดงที่กรุงเทพฯ

เมื่อวานนี้ (7 ก.ย. 55) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มีการแสดงดนตรีคณะอองซอมเบิล โมเดโร ปาลู (Ensambel Modero Palu ในภาษาอินโดนีเซีย หรือ Ensemble Modero Palu) จากเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย โดยงานนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันไคลีแห่งสุลาเวสีกลาง ประเทศอินโดนีเซีย และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

โดยคณะอองซอมเบิล โมเดโร ปาลู ได้แสดงดนตรีกว่า 10 ชุดการแสดง และการแสดงหลายชุดมีการเชิญชวนให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับการแสดงด้วย เช่น การแสดงชุด Pompaura หรือจุดไฟ กระชับหัวใจคุณ ที่เชิญชวนผู้ชมมามีส่วนร่วมกับการแสดงด้วยการเล่นเครื่องประกอบจังหวะบนเวทีด้วย

ส่วนหนึ่งของการแสดงโดยคณะอองซอมเบิล โมเดโร ปาลู จากเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา

การแสดงชุด Ndua Ndua เป็นเพลงที่ใช้ในพิธีแต่งงาน เมื่อเจ้าบ่าวมาถึงที่งาน

การแสดงชุด Pompaura ที่เชิญชวนผู้ชมมามีส่วนร่วมกับการแสดง


ช่วงหนึ่งของการแสดงโดยคณะอองซอมเบิล โมเดโร ปาลู 

การแสดงชุด Poveba หรือ พัดลมมือ ผลงานซึ่งแต่งโดย Hasan Bahasyuan ในปี พ.ศ. 2513 คณะอองซอมเบิล โมเดโร ปาลู นำมาบรรเลงพร้อมกับนักแสดงซึ่งเป็นเพศชายที่แต่งกายแบบสตรี

 

สำหรับส่วนหนึ่งของการแสดงโดยคณะอองซอมเบิล โมเดโร ปาลู ได้แก่การแสดงชุด Dapa Dapa Lauro หรือดาปา ดาปา เลาโร เป็นการแสดงที่เกิดจากเพลงของเด็กชาวคาลี โดย Dapa Dapa Lauro ซึ่งหมายถึงไม้หวาย โดยดั้งเดิมเด็กๆ จะร้องเพลงในขณะที่เล่นเคาะไม้หวาย และคณะดังกล่าวได้นำเพลงดั้งเดิมนี้มาต่อด้วยเพลง Didi Lauro ซึ่งแต่งโดย Syahril Lawide

การแสดงชุดต่อมาคือ Ndua Ndua หรือนดัว นดัว เป็นผลงานดั้งเดิมของเพลงคาคูละ (Kakula) ที่โด่งดัง ได้นำมาแปลงในรูปแบบ "Kreasi Baru" หรือการสร้างใหม่ เพลงนี้ใช้ในระหว่างพิธีดั้งเดิมเช่นงานแต่งงาน จะเป็นเพลงแรกและเพลงประจำที่ใช้เมื่อเจ้าบ่าวเดินทางมาถึงที่งาน

ต่อมาเป็นการแสดงชุด Ada Mposalama หรืออะดา โปซาลามะ งานชิ้นนี้แต่งโดย Ansar Dolo และเรียบเรียงโดยคณะอองซอมเบิล โมเดโร ปาลู มีพื้นฐานอยู่บนการชุมนุมพระราชพิธี

สำหรับคณะอองซอมเบิล โมเดโร ปาลู ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2540 ที่เมืองปาลู เกาะสุลาเวสีตอนกลาง ประเทศอินโดนีเซีย ดนตรีอันมีเอกลักษณ์เฉพาะของคณะดนตรีนี้้เกิดจากการประยุกต์ดัดแปลงจากดนตรีขนบเดิมของเกาะสุลาวีตอนกลาง นับตั้งแต่ก่อตั้งคณะดนตรีนี้ ได้มีการแสดงไปหลายเมืองในอินโดนีเซียทั้งยอร์กยาการ์ตา สุราบายา ปาลู จาร์กาตา มักกะสัน และปาดัง นอกจากนี้ยังได้แสดงในโทรทัศน์ท้องถิ่นอีกด้วย

ทั้งนี้เครื่องดนตรีคาคูล่า ยังเป็นส่วนหนึ่งของ "วัฒนธรรมฆ้อง" ที่พบในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ จนถึงเกาะสุมาตราตะวันตก ซึ่งครอบคลุมหลายประเทศตั้งแต่ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซีย โดยวัฒนธรรมฆ้อง หรือ คาคูล่า ในอินโดนีเซีย ยังพบแพร่หลายในภาคกลางของเกาะสุลาเวสี เกาะโมลุกกะ และบางพื้นที่ในกะลิมันตัน สุลาเวสี และสุมาตรา

สำหรับคณะอองซอมเบิล โมเดโร ปาลู จะจัดแสดงในกรุงเทพฯ อีกรอบในวันนี้ (8 ก.ย.) ระหว่างเวลา 18.00 - 20.00 น. ที่หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในช่วงบ่ายจะมีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการดนตรีและการเต้นแบบคาคูละให้กับผู้สนใจด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท