Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"You chose to be Human Rights Defender by your choice. When you chose it, be it. It's your country and your duty to defend. Also be sure that you will be attacked. There's fear and risk to be HRDs. People die every day but those die during their struggle will be remembered. If you couldn't confront fear, then leave."

Maina Kiai,
UNSR on the rights to freedom of peaceful assembly and of association 
[1]

“คุณเลือกที่จะเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะคุณตัดสินใจที่จะเป็น เมื่อคุณเลือกแล้ว มันคือประเทศของคุณ, คือหน้าที่ของคุณ แน่นอนว่าคุณจะถูกข่มขู่ คุกคาม หรือแม้กระทั่งถูกทำร้าย การเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้นมีทั้งความเสี่ยงและความหวาดกลัว มีคนเสียชีวิตทุกวันจากการยืนหยัดปกป้องสิทธิมนุษยชน, แต่การตายของเขาหรือเธอระหว่างการต่อสู้จะถูกจดจำ ถ้าคุณไม่สามารถเผชิญหน้ากับความหวาดกลัวเหล่านั้น, อย่าเลือกเส้นทางนี้”

 

คำพูดข้างบนนั้นเป็นของ Maina Kiai ผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและเสรีภาพในการสมาคม, กล่าวไว้ในงานประชุมนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเอเชียครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 3-5 กันยายน 2555 ที่กรุงเทพฯ หากพูดกันในเชิงหลักการ, ไม่ควรมีใครต้องเสียชีวิตหรือแม้กระทั่งสูญเสียอิสรภาพจากการปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ในความเป็นจริง, นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนแล้วคนเล่าถูกข่มขู่, คุกคาม, ทำร้ายจนบางครั้งถึงแก่ชีวิต เพียงเพราะเขาหรือเธอเหล่านั้นเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

7 กันยายน 2012 เป็นวันครบรอบ 8 ปีแห่งการจากไปของ Munir Said Thalib นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมต่อต้านการทุจริตที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูเนียร์เป็นผู้ก่อตั้ง Kontras องค์กรที่มีพันธกิจส่งเสริมและปกป้องผู้ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในอินโดนีเซีย แปดปีที่แล้ว, มูเนียร์ถูกวางยาพิษจนถึงแก่ความตายบนเครื่องบินของสายการบิน Garuda ซึ่งเป็นสายการบินของรัฐบาลอินโดนีเซีย ขณะกำลังเดินทางไปประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อศึกษาต่อในสาขากฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชนที่มหาวิทยาลัย Utrecht ผลการชันสูตรศพบ่งชี้ว่ามูเนียร์น่าจะถูกวางยาด้วยสารหนูขณะเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ เพราะมูเนียร์เปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพอินโดนีเซียในติมอร์ตะวันออก, อาเจะห์ และปาปัวตะวันตก รวมถึงการลักพาตัวนักกิจกรรม 13 คนในช่วงปลายทศวรรษที่ 90

หลังการเสียชีวิตของมูเนียร์, Polycarpus  Priyanto นักบินของสายการบินการูดาที่ไม่ได้มีตารางการบินในวันที่ 7 กันยายน 2004 และใช้เอกสารปลอมในการขึ้นเครื่อง ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใส่สารหนูลงในน้ำส้มของมูเนียร์ระหว่างรอเปลี่ยนเครื่องที่สิงคโปร์ ในปี 2008 ศาลฎีกาตัดสินจำคุก Priyanto 20 ปีในข้อหาฆาตกรรม รวมถึงอดีตสองผู้บริหารของสายการบินการูดา Indra Setiawan และ Rohainil Aini ที่ถูกลงโทษจำคุกคนละหนึ่งปีในข้อหาช่วยเหลือและสนับสนุนการฆาตกรรมมูเนียร์ แต่ภรรยาม่ายและกลุ่มนักรณรงค์เชื่อว่า นายทหารยศพลตรี Muchdi Purwopranjono อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองอินโดนีเซีย (Indonesia’s Intelligence Agency) ในเวลานั้นเป็นคนบงการสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้ท้าทายอำนาจรัฐอย่างมูเนียร์ เพราะมีหลักฐานการติดต่อทางโทรศัพท์ระหว่าง Priyanto และ Purwoprajonon ก่อนการเสียชีวิตของมูเนียร์ [2] ในปี 2009 มีความพยายามที่จะนำตัว Muchdi เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่มีเหตุผิดปกติหลายประการเกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการสืบพยาน เช่น พยานไม่มาปรากฏตัวหรือพยานขอถอนคำให้การในศาล ทำให้สุดท้ายศาลสั่งยกฟ้องในคดีของพลตรี Muchdi Purwopranjono [3]

แปดปีผ่านไป แต่ภรรยาม่ายของมูเนียร์และกลุ่มนักกิจกรรมที่ต้องการเห็นการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษยังคงต่อสู้เพื่อความยุติธรรมซึ่งมูเนียร์สมควรได้รับ ความยุติธรรม, อาจจะเป็นเพียงคำธรรมดาสามัญแต่ยากที่จะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมในสังคมที่มีวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิด (Culture of Impunity) อย่างหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ไม่เพียงแต่กรณีของมูเนียร์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนแล้วคนเล่าต้องจากไปโดยหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ ในประเทศไทย,จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นผู้บงการให้สมชาย นีละไพจิตรสูญหาย ยังไม่มีใครรู้ว่าใครคือผู้บงการปลิดชีวิตเจริญ วัดอักษร สิบปีที่ผ่านมา, นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (ส่วนใหญ่เป็นแกนนำในการต่อต้านโครงการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อชุมชน) อย่างน้อย 20 คนถูกสังหาร[4] กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นคือมือปืนผู้ลั่นไกใส่ทองนาค เสวกจินดา แกนนำกลุ่มต่อต้านการขนส่งถ่านหินที่จังหวัดสมุทรสาครถูกประกาศิตสั่งตายเช่นกัน [5] ทำให้โอกาสที่จะสาวไปถึงตัวผู้บงการใหญ่นั้นริบหรี่เต็มทน  

ในประเทศฟิลิปปินส์ นักกิจกรรมฝ่ายซ้ายเจ็ดคนถูกสังหารและสามคนถูกบังคับให้สูญหาย (Enforced Disappearance) โดยมีกองทัพเข้ามาเกี่ยวข้อง และไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้[6] และทั้งสามประเทศนี้คือประเทศที่มีพัฒนาการด้านประชาธิปไตย “ก้าวหน้า” ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทางออกของปัญหาวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดนั้นไม่มีทางอื่น นอกจากการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการช่วยกันสร้างสังคมที่เคารพในประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน สังคมที่จะไม่ลงมือเข่นฆ่าหรือกักขังกันเพียงเพราะผลประโยชน์ขัดแย้งหรือความเห็นแตกต่าง สังคมที่บังคับใช้กฎหมายกับทุกคนและทุกชนชั้น

น่าเศร้าและสิ้นหวังเกินไป, หากเราต้องจัดงานรำลึกและทวงถามความยุติธรรมให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นรายปี, โดยที่ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้, และสุดท้ายเขาหรือเธอเหล่านั้นก็จะค่อยเลือนหายไปจากความทรงจำของสังคม  

 

หมายเหตุ Thank you two Indonesian UPEACERs from Asia Leaders Programme, University for Peace, Dani for sparking and Dico Luckyharto for information.



[1] จาก Facebook ของคีตนาฏ วรรณบวร, Protection officer องค์กร Protection International องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศซึ่งทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ

[6] http://www.hrw.org/news/2011/07/18/philippines-new-killings-impunity-reigns mso-ascii-theme-font:minor-bidi;mso-hansi-theme-font:minor-bidi;mso-bidi-font-family:
"Cordia New";mso-bidi-theme-font:minor-bidi">

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net