Skip to main content
sharethis

การประกวดนางงามวิทยาศาสตร์ในญี่ปุ่น และปรากฏการณ์เล็กๆ ในสื่อรายการวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ เจเรมี ซู จาก Livescience นำเสนอมุมมองเรื่องภาพเหมารวม และการนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ให้วงการวิทยาศาสตร์

เจเรมี ซู นักเขียนอาวุโส เว็บไซต์ Livescience กล่าวถึง ดร. เอริก้า เอบเบิ้ล แองเกิล ที่ปรากฏตัวในรายการของตัวเองคือ 'ดร.เอริก้า โชว์' พร้อมสวมมงกุฏมิสแมสซาชูเซตส์ ทำให้เด็กๆ ในรายการของเธอร้องอุทาน "โอ้!" ขึ้นมาพร้อมกัน เอริก้า เรียนจบปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาชีวเคมีจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เป็นผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไร Science from Scientists และเป็นพิธีกรรายการวิทยาศาสตร์ 10 นาที ที่เผยแพร่ในช่องเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น อีกทั้งกำลังวางแผนเป็นผู้ประกอบการจากความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพของเธอเองด้วย

"คุณค่าของความงามและสติปัญญาถูกเน้นย้ำน้อยมากในที่อื่นที่ไม่ใช่วงการบันเทิงฮอลลืวูด" เจเรมีกล่าวในรายงาน "แต่ผลสะท้อนล่าสุดจากรายการ 'ดร.เอริก้า โชว์' แสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นผู้หญิงจำนวนมากกำลังตอบรับสิ่งที่แองเกิลพยายามสื่อ เมื่อเธอเลือกสวมมงกุฏนางงามพร้อมเสื้อโค้ทห้องแล็บออกรายการเธอเอง พวกเด็กผู้หญิงพากันบอกว่า พวกเธออยากจะเป็น 'เจ้าหญิงนักวิทยาศาสตร์' "

"วิทยาศาสตร์กลายเป็นภาพตีตราในสังคมว่า หากคุณเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้หญิง คุณก็ไม่มีความสนใจในเรื่องอื่น และคุณจะเป็นพวกสวมกางเกงขายาวที่ไม่สนใจเรื่องรูปร่างหน้าตาหรือเรื่องความสวยความงาม" เอบเบิ้ล แองเกิล กล่าว

ในญี่ปุ่นมีความพยายามฉีกภาพลักษณ์กี๊คๆ (Geeky*) ของนักวิทยาศาสตร์ด้วยการจัดประกวด 'Miss Rikei Contest' โดยกลุ่มองค์กรนักศึกษาของญี่ปุ่น โดยมีผู้ที่เข้ารอบสุดท้าย 6 คน คัดจากนักศึกษาและนักวิจัยชาวญี่ปุ่น ที่จะชิงชัยกันทางการลงคะแนนเสียงด้านความสวยงาม, สติปัญญา และการเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของวิทยาศาสตร์ (Rikei ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า 'วิทยาศาสตร์')

ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองเพศต่างก็มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างหลากหลายเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ และนักวิจัยหลายคนที่ให้สัมภาษณ์กับ Livescience ก็บอกว่าเรื่องสไตล์ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีสาระพอจะนำมาหารือกันเรื่องงานของพวกเขาเลย

ซูกล่าวในรายงานว่า ความพยายามเสริมความงามแบบสตรีลงไปในตัวแทนภาพลักษณ์ของนักวิทยาศาสตร์ยังเป็นการแตะประเด็นที่อ่อนไหว เนื่องจากผู้หญิงในประวัติศาสตร์ต่อสู้มานานมากเพื่อให้ไปไกลกว่าภาพเหมารวมของผู้หญิงในสนามงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมที่มีชายเป็นใหญ่ ขณะที่รายการของ ดร.เอริก้า เน้นการช่วยนักเรียนในการหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์หรือโครงการทางวิทยาศาสตร์ของพวกเขา การประกวดความงามของ Miss Rikei ได้รับการตอบรับในหลายๆ แง่

ความสวยและความกี๊ค
มีความไม่พอใจเล็กน้อยในหมู่นักวิทยาศาสตร์ นักข่าว และนักการศึกษาของสหรัฐฯ ต่อกรณีของการประกวด Miss Rikei โจแอนน์ มานัสเตอร์ อาจารย์และนักพัฒนาหลักสูตรการสอนวิชาวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยอิลินอยส์ กล่าวในทวิตเตอร์ว่า เมื่อเธอเข้าไปดูในเว็บไซต์ที่แสดงความเห็นต่อการประกวดนี้ มันเต็มไปด้วยความเห็นจากผู้ชายที่มีปฏิกิริยาต่อผู้หญิงสวยๆ ซึ่งมานาสเตอร์บอกว่า "ฉันคิดว่าเรื่องนี้ทำให้คนที่อยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์เป็นกังวล โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยากให้คนมองพวกเธอจริงจังกว่านี้"

ทาง Livescience ได้ถามความเห็นจากนักวิทยาศาสตร์หญิงของญี่ปุ่น 3 คน ที่จบปริญญาตรีจากสาขาวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์

ผู้ใช้ชื่อ 'ยูคาริ' นักวิจัยด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยในนิวยอร์คซิตี้ ให้ความเห็นว่า การประกวด Miss Rikei เป็นแค่เรื่องผิวเผิน และไม่เห็นด้วยกับการพยายามทำให้วิทยาศาสตร์ดูมีความเป็นหญิงมากเกินไปในเชิงภาพเหมารวม

'ยูคาริ' บอกว่าเธอชอบมากกว่าที่จะปล่อยให้คนคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นแหล่งอุดมสำหรับหมู่กี๊คที่ไม่ค่อยสนใจโลกภายนอก "มีอะไรบางอย่างในวิทยาศาสตร์สำหรับฉันที่สามารถมองข้ามภาพลักษณ์ของชายเป็นใหญ่หรือความเป็นกี๊คได้ ดังนั้นหากคุณสนุกหรือมองเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ มันก็ไม่เกี่ยวเลยว่ามันจะเป็นเรื่องกี๊คๆ เรื่องชายเป็นใหญ่ หรือได้เงินไม่มากเท่าคนทำการเงิน"

'ริน' นักวิจัยด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยในนิวยอร์กซิตี้ คาดการณ์ว่าการประกวด Miss Rikei จะไม่ได้ผลในแง่การพยายามส่งเสริมให้ผู้หญิงญี่ปุ่นหันมาสนใจอาชีพวิทยาศาสตร์มากขึ้นได้

"นักวิทยาศาสตร์ผู้หญิงคนใดก็ตามที่ทำงานได้ดีในสายวิชาชีพของตนเอง ควรจะเป็นต้นแบบตัวอย่างสำหรับนักศึกษาใหม่" รินกล่าว "นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนซูเปอร์โมเดล หรือ นักแสดงหญิง"

คานาเอะ โคบายาชิ ผู้ที่ทำงานในบริษัทรักษาความปลอดภัยของญี่ปุ่นหลังจบจากสาขาวิศวกรรมอุตสาหกรรม บอกว่าการประกวดนางงามวิทยาศาสตร์ดูน่าสนุก และไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่ก็คิดว่ามันไม่ได้ช่วยให้ผู้หญิงอยากทำอาชีพวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นมากนัก

เป็นคุณหรือเป็นโทษ
การที่ไม่ได้ช่วยอะไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน Livescience ก็ตั้งคำถามว่ามันอาจจะทำให้เกิดผลในทางข้าม คือทำให้ผู้หญิงที่เป็นเยาวชนไม่อยากเข้ามาเรียนวิทยาศาสตร์หรือไม่

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ตีพิมพ์ในวารสารเมื่อเดือน มี.ค. เปิดเผยว่า การใช้ผู้หญิงเป็นแบบอย่างทำให้เด็กผู้หญิงมีความสนใจและความสามารถด้านคณิตศาสตร์ลดลง และทำให้พวกเขาลดความคาดหวังความสำเร็จในระยะสั้น และการมีต้นแบบที่เน้นความสวยงามยังเป็นการลดแรงจูงใจของเด็กผู้หญิงที่ไม่ได้สนใจเรียนวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์มาก่อนด้วย

ไดอานา เบทซ์ และ เดนนิส เซกากัวเทวา นักจิตวิทยาผู้อยู่เบื้องหลังงานวิจัยของม.มิชิแกน เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ก็มีงานวิจัยของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ที่บอกว่าแบบอย่างที่ดูกี๊คๆ ทำให้ผู้หญิงสนใจสายวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์น้อยลงเช่นกัน

แล้วแบบอย่างผู้หญิงในสายงานนี้ควรเป็นเช่นไร?
เบทซ์ และเซกากัวเทวา กล่าวว่าแบบอย่างควรจะมาจากตัวอย่างกว้างๆ ของคนที่ประสบความสำเร็จในสายงานต่างๆ โดยไม่ต้องจำกัดเขาอยู่ในภาพเหมารวมอย่างใดอย่างหนึ่ง

นักวิจัยเสนอว่าเด็กผู้หญิงและเด็กสาวควรมองเห็นความหลากหลายในหมู่สตรีผู้เป็นแบบอย่าง พวกเขาไม่ควรมองว่าวิทยาศาสตร์ต้องโยงกับคนประเภทเดียวคือกี๊ค หรือ ผู้หญิงสาวสวย

"บางที วิธีการที่ดีที่สุดในการส่งเสริมให้ผู้หญิงหันมาสนใจคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์คือการให้พวกเขาได้เจอนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์หญิงตัวจริง" เบทซ์ และเซกากัวเทวากล่าว "เด็กหญิงควรรู้ว่านักวิยาศาสตร์คือคนจริงๆ ที่มีความซับซ้อน เช่นเดียวกับตัวพวกเขาเอง แล้วพวกเธอก็มีความหลากหลายทางสายงาน และมีเป้าหมายชีวิตต่างกันไป"

นักวิจัยชี้ให้เห็นด้วยว่าสิ่งที่ลดแรงจูงใจเด้กผู้หญิงคือความรู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถอาจเอื้อมเป็นได้แบบเดียวกับภาพลักษณ์ของต้นแบบ แต่แนวคิดเรื่องการไม่สามารถอาจเอื้อมถึงก็เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงวัย นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเด็กผู้หญิงถึงยกย่องให้ ดร.เอริก้า เป็นไอดอล แม้ว่าเด็กสาวที่โตกว่านี้จะเมินเธอในฐานะซูเปอร์โมเดลแห่งวงการวิทยาศาสตร์

ปรับโฉมให้วิทยาศาสตร์
ในประวัติศาสตร์ ภาพเหมารวมของผู้หญิงเคยหลอกหลอนนักวิทยาศาสตร์หญิงมาก่อน อย่าง โรซาลินด์ แฟรงคลิน ผู้ร่วมค้นพบ DNA เคยถูก เจมส์ วัตสัน ที่เอางานวิจัยของเธอมาใช้กล่าวถึงเธออย่างตรงไปตรงมาว่าแฟรงคลินไม่ชอบทาลิปสติกและไม่พยายามแต่งตัวให้ดูเป็นผู้หญิงมากกว่านี้

แต่ Livescience ก็บอกว่าแนวคิดเรื่อง "สวยแบบมีสมอง" อาจจะเป็นแนวคิดที่ก้าวหน้าได้ เมื่อสองทศวรรษที่แล้วมีตุ๊กตาทีนส์ทอล์กบาร์บี้พูดกับเด็กสาวอเมริกันว่า "วิชาคณิตฯ ยากจัง" แต่การประกวด Miss Rikei เป็นการยืนอยู่คนละข้างกับคำพูดของบาร์บี้โดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับที่ ดร.เอริก้า เอาใจช่วยเด็กผู้หญิงที่อยากโตขึ้นเป็นเจ้าหญิงนักวิทยาศาสตร์

เอริก้า เอบเบิ้ล แองเกิ้ล ก็ปกป้องแนวคิดเรื่องการประกวดนางงามวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นเช่นกัน แต่ต้องแยกแยะให้ดีระหว่างการประกวดความงาม (มิสยูนิเวิร์ส) กับการประกวดชิงทุนการศึกษา (มิสอเมริกา) เธอบอกว่าเธอชอบที่ได้สร้างความสามารถทางสังคมและความมั่นใจในตัวเองจากการประกวดหลายปีจนได้เป็นมิสแมสซาชูเซตส์ หลังจากที่เพื่อนเธอที่ MIT ส่งชื่อเธอประกวดโดยที่เธอไม่รู้

"จากสิ่งที่ฉันอ่านเกี่ยวกับเรื่องการประกวดนางงามวิทยาศาสตร์ ฉันคิดว่ามันให้โอกาสพวกเขาได้พิสูจน์ว่าเขาสวยแบบมีสมอง" เอริก้ากล่าว "ฉันไม่เห็นว่ามันมีอะไรผิด พวกเขาเป็นผู้หญิงที่โตแล้ว บางคนเรียนจบแล้วหรือยังเรียนอยู่ พวกเขาตัดสินใจว่าอยากให้ภาพลักษณ์ของตัวเองเป็นอย่างไรได้"

เอริก้าบอกว่าเธอเห็นมงกูฏประกวดในฐานะสัญลักษณ์แห่งความเป็นไปได้ เด็กหญิงและผู้หญิงวัยรุ่นสามารถรักในวิทยาศาสตร์ ไปพร้อมๆ กับการเป็นนักเต้น, นักดนตรี, นักฟุตบอล หรืออะไรก็ตามที่พวกเธอต้องการได้ "มันเป็นข้อความมากกว่าจะเป็นแค่มงกุฏ"

มานาสเตอร์ ผู้ที่เตือนคนจำนวนมากผ่านทวิตเตอร์เรื่องเกี่ยวกับการประกวด Miss Rikei ยอมรับว่ารูปลักษณ์ภายนอกของเธอเองมีส่วนในการสร้างความต่างเมื่อเธอทำรายการวิทยาศาสตร์ทางโทรทัศน์หรือในค่ายวิศวกรรมเด็กผู้หญิง ในอดีตมานาสเตอร์เคยเป็นนางแบบแฟชั่นมาก่อน แต่เธอก็เน้นย้ำว่าความรักในงานวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญจริงๆ

"บางทีเรายังไม่ได้แสดงให้เห็นมากพอ ว่ามีนักวิทยาศาสตร์ผู้หญิงที่หลงใหลในงานของตัวเอง" มานาสเตอร์กล่าว "ทำงานวิทยาศาสตร์ถ้าคุณรักมัน และถ้าคุณเป็นผู้หญิงมันเยี่ยมยอด และถ้าคุณไม่ใช่ผู้หญิง มันก็เยี่ยมยอดเช่นกัน"

 

ที่มา
'Princess Scientists' Stir Controversy, Livescience, 06-09-2012
http://www.livescience.com/22992-princess-scientists-take-stage.html

เชิงอรรถ
*Geek ผู้ที่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและหลงใหลในความรู้เฉพาะด้านของตนอย่างมาก พวกเขามักจะมีภาพลักษณ์เป็นหนอนหนังสือหรือคนที่ดูไม่ใส่ใจกับรูปลักษณ์ภายนอกของตัวเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net