Skip to main content
sharethis

โครงการออกแบบที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อคนพิการ “สถาปนิกเป็นอาชีพที่รับใช้ทุนนิยมมานานแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่สถาปนิกจะต้องทำงานรับใช้ประชาชน”

 
 
เมื่อเอ่ยถึง ‘สถาปนิก’ ขึ้นมา ผู้คนในสังคมจะมองว่าเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นคอนโดฯ ที่หรูหรา บ้านเดี่ยวสไตล์โมเดิร์น ฯลฯ ไม่มีใครคิดว่าอาชีพสถาปนิกจะไปเกี่ยวข้องกับคนยากคนจนหรือคนที่ด้อยโอกาสในสังคมได้อย่างไร แต่มุมมองนี้กำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อมีสถาปนิกรุ่นใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยได้ใช้วิชาความรู้ให้เป็นประโยชน์ โดยการออกแบบที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เอื้อกับคนพิการและผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน
 
อาจารย์กตัญญู หอสูติสิมา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยสารคาม กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นไม่ได้มีบทบาทในการช่วยเหลือปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับคนพิการ อีกทั้งครอบครัวหรือคนพิการส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ ทำให้คนพิการใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก หรือแม้แต่ผู้สูงอายุที่อยู่อาศัยในบ้านเรือนที่มีสภาพไม่เหมาะสม เช่น อาศัยอยู่บนเรือนชั้นบนก็อาจจะพลัดตกบันได หรือลื่นล้มในห้องน้ำ ทำให้เกิดความพิการได้
 
ดังนั้นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ ม.มหาสารคาม จึงได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ม.มหาสารคาม โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ และสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) จัดทำ “โครงการสนับสนุนการออกแบบที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เอื้อกับคนพิการและผู้สูงอายุ” ขึ้นมา เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อศึกษารายละเอียดของสมรรถภาพทางร่ายกายและสภาพที่อยู่อาศัยของผู้พิการ รวมไปถึงกลไกการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้พิการ 
 
“โครงการนี้เป็นกระบวนการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความรูู้ ความเข้าใจในเรื่องการจัดการที่พักอาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้พิการให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมให้หน่วยงานในท้องถิ่น เช่น อบต.มีแผนการดำเนินงาน มีการจัดบริการที่พักและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่ผู้พิการ โดยจะเน้นการสร้างต้นแบบและพัฒนากลไกการจัดการในระดับท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้พิการและครอบครัว” อ.กตัญญูในฐานะหัวหน้าโครงการชี้แจง
 
โครงการนี้มีพื้นที่ดำเนินการใน 3 จังหวัด คือ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และหนองบัวลำภู โดยคณะกรรมการในระดับท้องถิ่น เช่น อบต. และอาสาสมัครดูแลคนพิการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากสถานพยาบาลในท้องถิ่น จะทำการประชาคมหมู่บ้าน เพื่อคัดเลือกที่อยู่อาศัยของคนพิการและผู้สูงอายุที่ควรได้รับการปรับปรุงสภาพบ้านเรือนก่อน จังหวัดละ 11 หลัง รวมทั้งหมด 33 หลัง ใช้งบประมาณเฉลี่ยหลังละ 20,000 บาท โดย สสพ.จะสนับงบประมาณหลังละ 5,500 บาท ส่วนที่เหลือเป็นงบประมาณจากท้องถิ่น เช่น อบจ.,อบต. และหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งเงินบริจาคจากชาวบ้าน
 
สำหรับขั้นตอนในการดำเนินโครงการนั้น อ.กตัญญูกล่าวว่า ทางคณะวิจัย ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ (สถาปนิก) จากคณะสถาปัตย์ นักศึกษา และคณะแพทยศาสตร์ ม.มหาสารคาม จะลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง มีการเก็บข้อมูลครัวเรือนผู้พิการ การสำรวจข้อมูลเพื่อออกแบบ เช่น การทำผังเส้นทางสัญจรภายในตัวบ้านและนอกบ้าน บริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ฯลฯ โดยทางเจ้าหน้าที่จากคณะแพทยศาสตร์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับสภาพร่างกายและการเคลื่อนไหวของคนพิการแต่ละประเภทเพื่อให้สถาปนิกเข้าใจ
 
หลังจากได้ข้อมูลมาแล้วก็จะเป็นขั้นตอนการออกแบบหรือทำโมเดลให้เหมาะสมกับคนพิการแต่ละครอบครัว แล้วนำโมเดลไปให้คนพิการและครอบครัวดูว่าเหมาะสมหรือไม่ หรือควรจะแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนการปรับปรุงซ่อมแซม โดยมีแรงงานจากอาสาสมัครและครอบครัวของคนพิการมาช่วย เช่น คนพิการที่ใช้รถเข็นก็อาจจะปรับปรุงพื้นที่ทางเข้าบ้านให้มีทางลาดเหมาะกับรถเข็น ขยายประตูห้องน้ำให้กว้างเพื่อให้รถเข็นเข้าได้ มีราวจับพยุงตัวในห้องน้ำ-ในบ้าน หรือคนพิการที่มีห้องน้ำอยู่ห่างจากตัวบ้านก็จะย้ายห้องนอนไปใกล้ห้องน้ำ หรือปรับพื้นที่นั่งเล่นใหม่ให้เป็นพื้นนุ่มเพื่อลดบาดแผลจากการเคลื่อนไหว ฯลฯ 
 
“หลังจากเสร็จสิ้นโครงการนี้แล้ว ก็จะมีการจัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานระหว่างคนพิการ ครอบครัว ชุมชน หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ เช่น อบต. สถานพยาบาล อาสาสมัคร ฯลฯ เพื่อสร้างเครือข่ายขึ้นมา ผมหวังว่าโครงการนี้จะเป็นโมเดลหรือเป็นต้นแบบให้หน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นได้นำไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการและผู้สูงต่อไป” อ.กตัญญูกล่าว
 
อ.กตัญญูกล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้ตนกำลังร่างหลักสูตร การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) ซึ่งรวมถึงการออกแบบที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อคนพิการและผู้สูงอายุด้วย คาดว่าจะเปิดสอนในระดับปริญญาตรีที่ ม.มหาสารคามได้ในปีหน้า นักศึกษาที่จบออกไปก็สามารถนำความรู้ไปทำงานเพื่อสังคมได้
 
อย่างไรก็ตาม นอกจากคณะสถาปัตย์ ม.มหาสารคาม จะมีโครงการออกแบบที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อคนพิการและผู้สูงอายุดังที่กล่าวไปแล้ว มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่ ก็ได้ร่วมกับสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) ดำเนินโครงการในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
 
อาจารย์วิติยา ปิดตังนาโพธิ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ทาง ม.นเรศวร ได้ให้นักศึกษาคณะสถาปัตย์ ลงไปสำรวจพื้นที่ ดูสภาพบ้าน สภาพความพิการ แล้วกลับมาสรุปให้เห็นปัญหาสภาพบ้านเรือนที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของคนพิการ นอกจากนี้ก็จะให้นักศึกษาสมมุติตัวเองว่าเป็นคนพิการประเภทต่างๆ เช่น พิการทางสายตาต้องใช้ไม้เท้า หรือเคลื่อนไหวร่างกายช่วงล่างไม่ได้ต้องนั่งรถวีลแชร์ ฯลฯ ทำให้นักศึกษาได้รู้ว่าเวลาเดินหรือเข้าห้องน้ำ คนพิการจะเกิดความลำบากอย่างไร 
 
เมื่อได้โจทย์หรือเห็นปัญหาแล้ว นักศึกษาก็จะออกแบบหรือปรับปรุงสภาพบ้านเรือนที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับคนพิการและบ้านหลังนั้นๆ เช่น เพิ่มเติมห้องน้ำให้อยู่ใกล้ห้องนอน เพิ่มวัสดุกันลื่นในห้องน้ำ ติดตั้งชักโครก เพิ่มราวกันตก ราวพยุงตัว สร้างทางลาดภายในบ้านสำหรับคนพิการที่ใช้รถเข็น ปรับปรุงพื้นที่ชั้นล่าง (ในกรณีบ้านเป็นใต้ถุนโล่ง) ให้เป็นห้องนอน เพื่อป้องกันการพลัดตกจากชั้นบน ทำราวฝึกหัดเดินจากวัสดุรอบตัว เช่น ยางในรถยนต์ ไม้ไผ่ ฯลฯ 
 
“สถาปนิกเป็นอาชีพที่รับใช้ทุนนิยมมานานแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่สถาปนิกจะต้องทำงานรับใช้ประชาชน ซึ่งโครงการนี้ทำให้นักศึกษาได้ไปเรียนรู้จากชาวบ้าน เมื่อเรียนจบออกมาแล้วก็สามารถใช้ความรู้กลับไปทำงานในท้องถิ่น เช่น เป็นสถาปนิกของ อบต.ก็ได้ เพราะ อบต.มีงบประมาณในการสนับสนุนชุมชน ไม่จำเป็นต้องเข้าไปทำงานในเมือง” อ.วิติยากล่าวทิ้งท้าย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net