เลาะเลียบริมโขง: 3G และเทคโนโลยีไอทีลาว

ธีรภัทร เจริญสุข รายงานความคืบหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคมตลอดจนปัญหาอุปสรรคของมิตรประเทศเพื่อนบ้าน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

คนไทยมักจะมองเพื่อนบ้านใกล้ชิดอย่างลาวว่า เป็นประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม และอยู่ในภาพอดีต แต่ที่จริงแล้ว การพัฒนาเชิงเทคโนโลยีของลาวเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านการติดต่อสื่อสารโทรคมนาคม เนื่องจากประเทศลาวมีภูมิประเทศค่อนข้างทุรกันดาร เดินทางไปมาลำบาก ทำให้การพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมไร้สายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ที่จะทำให้ประชาคม รวมถึงหน่วยงานรัฐสามารถสื่อสารได้โดยสะดวก

ปัจจุบัน ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมในประเทศลาว (Service Provider) มีทั้งหมด 4 ราย ได้แก่

-          ETL (ອີທີແອລ) บริษัท อีทีแอล มหาชน จำกัด

-          Unitel บริษัทสตาร์ เทเลคอม จำกัด ใช้ชื่อการค้าว่า ยูนิเทล

-          Lao telecom ລາວ ໂທລະຄົມ บริษัท ลาวโทรคม จำกัด

-          Beeline ບີລາຍ บริษัท บีไลน์ จำกัด

โดยให้บริการครอบคลุมทั้งอินเตอร์เน็ต ADSL โทรศัพท์มือถือระบบ 3G ตั้งแต่ปี 2009 และระบบ 4G ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ระบบ LTE ในปีนี้
 

รายละเอียดของบริษัทผู้ให้บริการดังกล่าว มีดังต่อไปนี้

บริษัท อีทีแอล มหาชน จำกัด แปรรูปมาจากรัฐวิสาหกิจไปรษณีย์โทรคม โดยระหว่างปี 1954-1994 รวมอยู่ในรัฐวิสาหกิจไปรษณีย์โทรคมลาว ต่อมาในปี 1996 ได้ร่วมทุนกับบริษัทชินวัตร อินเตอร์เนชันแนล จำกัด เป็นบริษัทลาวโทรคม (LTC) และในปี 2000 ได้แยกออกมาเป็นรัฐวิสาหกิจโทรคมลาว (ETL) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐ 100% และต่อมาในปี 2011 ได้เปลี่ยนชื่อจากบริษัทรัฐวิสาหกิจโทรคมลาว มาเป็น บริษัท อีทีแอล มหาชน เพื่อเตรียมแปรรูปเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศลาว

ยูนิเทล เป็นแบรนด์บริการโทรศัพท์มือถือของบริษัท สตาร์ เทเลคอม จำกัดซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท Lao-Asia Telecom ซึ่งสนับสนุนทุนจากกระทรวงการป้องกันชาติของลาว กับกลุ่มบริษัทเวียตเทล โกลบัล (Viettel Global) ซึ่งเป็นกลุ่มทุนของกระทรวงกลาโหมเวียตนาม ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมในปี 2008 และให้บริการ 3G ในปี 2010 ในชื่อ Unitel 3G

บริษัท ลาว โทรคม จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาว (51%) กับบริษัท Shennington จากไทย (49%) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทลงทุนที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่และร่วมให้บริการคือเครือ AIS ในสัญญาสัมปทานอนุญาตระยะ 25 ปี ซึ่งบริษัท ลาวโทรคม ให้บริการทั้งโทรศัพท์พื้นฐาน อินเตอร์เน็ต ADSL และโทรศัพท์มือถือหลายระบบ ในแบรนด์ M-phone ซึ่งกลุ่มบริษัทร่วมทุนนี้ ยังประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือในกัมพูชาอีกเช่นกัน

บริษัท บีไลน์ จำกัด (ประเทศลาว) เป็นเครือข่ายบริการโทรศัพท์มือถือสัญชาติรัสเซีย ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท Vimplecom จำกัด (78%) และรัฐบาลลาว (22%) ซื้อใบอนุญาตประกอบการคลื่นโทรศัพท์ รวมถึงลูกค้าในเครือข่ายต่อจากระบบ Tango (โดยเครือ Orange ของเนเธอร์แลนด์) และ TiGo (โดยเครือ Milicom ของลักเซมเบิร์ก) นอกจากนี้ บีไลน์ยังได้ร่วมมือกับบริษัทดีแทค ของประเทศไทย ในการวางเครือข่ายและบริการโรมมิ่งระหว่างประเทศด้วย

ระบบสื่อสารไร้สายในประเทศลาว ได้รับการพัฒนาจากการแข่งขันระหว่างบริษัทอย่างเข้มข้น ทำให้ค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือ ทั้งการใช้สนทนา และการใช้บริการข้อมูลอินเตอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน ค่าใช้บริการโทรศัพท์ทั้งแบบจ่ายรายเดือนและเติมเงินอยู่ที่ระหว่าง 280-800 กีบ/นาที (1 – 3.2 บาท/นาที) ค่าบริการอินเตอร์เน็ตแบบคิดเป็นปริมาณข้อมูล (Data internet) อยู่ที่ Mb ละ 300 กีบ (1.20 บาท) แต่สามารถเลือกใช้แพ็คเกจต่างๆ ได้ตามความต้องการ เช่น แพ็คเกจ Data 1.2 Gb เดือนละ 49,000 – 50,000 กีบ (196-200 บาท) ซึ่งอินเตอร์เน็ตเป็นระบบ 3G+4G ทุกเครือข่าย

ในขณะเดียวกัน การวางสายเคเบิลอินเตอร์เน็ตแบบ ADSL ยังไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกพื้นที่ เนื่องจากจำนวนประชากรที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน และสภาพภูมิประเทศที่ลำบาก ทำให้ค่าใช้บริการเมื่อเปรียบเทียบกับความเร็วที่ได้ ยังถือว่าแพงอยู่มาก เช่น เครือข่าย ETL อินเตอร์เน็ต ADSL ความเร็ว 1Mbps/512 Kbps ราคาเดือนละ 350,000 กีบ (1,400 บาท) หรือ เครือข่าย Beeline ความเร็ว 4 Mbps ราคาเดือนละ 4,000,000 กีบ (16,000 บาท) เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่ล่าสุด อินเตอร์เน็ต ADSL เพิ่มความเร็วเป็น 10 Mbps ในราคา 590 – 699 บาท (3BB และ True internet)

ด้วยราคาค่าใช้บริการดังกล่าว ทำให้โทรศัพท์ประเภท Smartphone หรือ ມືຖືສະຫລາດ ที่สามารถเชื่อมต่อระบบ 3G ได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนมากประชาชนชาวลาวจะซื้อสมาร์ทโฟนที่ตลาดจีน ซึ่งนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าต่างๆ มาจากประเทศจีน เช่น ตลาดซันเจียง ในนครหลวงเวียงจันทน์ สมาร์ทโฟนของจีนส่วนใหญ่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ที่ปรับแต่งเฉพาะ และหลายครั้งก็เลียนแบบรูปทรงภายนอกของโทรศัพท์แบรนด์รุ่นราคาแพงอย่าง iPhone หรือ Samsung อย่างไรก็ตาม แอพพลิเคชั่นที่สนับสนุนการใช้งานในลาวยังมีน้อยอยู่ รวมถึงการพัฒนาซอฟท์แวร์ที่ใช้กับระบบการทำงานในลาวก็ยังไม่สมบูรณ์เท่าใด เนื่องจากการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์โปรแกรมยังไม่เป็นที่แพร่หลาย และยังขาดแคลนบุคลากรในแวดวงคอมพิวเตอร์อยู่มาก เป็นโอกาสที่ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ชาวไทยจะเข้าไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี หากสามารถเรียนรู้ภาษาลาวและเข้าไปร่วมงานกับบริษัทโทรคมนาคมในลาวได้ทันการณ์

สำหรับชาวลาวที่มีฐานะ ก็มักจะข้ามมาซื้อหาสินค้าอุปกรณ์ไอที รวมถึงโทรศัพท์มือถือจากประเทศไทย ทำให้ธุรกิจอุปกรณ์ไอทีบริเวณชายแดนเฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก ทั้งในจังหวัดหนองคาย อุดรธานี และอุบลราชธานี ที่อยู่ใกล้กับนครหลวงเวียงจันทร์และเมืองจำปาสัก ที่ผู้คนมีกำลังซื้อมากกว่าแขวงและเมืองอื่น โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนและแทบเล็ทแบรนด์ Apple ซึ่งยังไม่มีผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศลาวเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากเป็นตัวแทนของความหรูหรามีระดับของผู้ใช้งาน

ชาวต่างชาติที่ต้องการประกอบธุรกิจในประเทศลาว หรือเข้าไปท่องเที่ยว สามารถซื้อ ซิมการ์ดโทรศัพท์พร้อมเปิดใช้บริการอินเตอร์เน็ต 3G อย่างง่ายดาย เพียงเข้าไปยังศูนย์บริการหรือหน่วยขายของเครือข่ายต่างๆ พนักงานขายจะช่วยเหลือปรับตั้งค่าอุปกรณ์ของท่านเป็นอย่างดี ซึ่งเครือข่ายสามารถใช้ได้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ภายในนครหลวงเวียงจันทร์ หลวงพระบาง ไปจนถึงแขวงทางใต้อย่างอัตตะปือหรือสาละวัน โดยนักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวนิยมใช้บริการระบบเติมเงิน ซึ่งนอกจากจะสามารถเติมเงินผ่านทางจุดบริการของเครือข่าย หรือร้านสะดวกซื้อแล้ว บางเครือข่ายเช่น Beeline ยังมีบริการเติมเงินแบบรถเร่ หรือคนเดินเร่ขายบัตรเติมเงินตามสถานที่ท่องเที่ยวและร้านอาหารด้วย

ข้อดีหนึ่งของสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในลาวคือมีเสรีภาพสูงแตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่อวิทยุโทรทัศน์ เนื่องจากรัฐบาลลาวยังขาดบุคลากรที่มีความสามารถเข้ากำกับดูแล ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจึงสามารถสร้างสรรค์และเข้าถึงข้อมูลจากต่างประเทศได้อย่างอิสระ โดยปัจจุบันยังไม่พบการปิดกั้นเว็บไซต์หรือการดำเนินคดีและกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตในลาวอย่างชัดเจน วัยรุ่นและบริษัทบันเทิงต่างๆ จึงสามารถใช้อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางเผยแพร่ผลงาน ความคิดเห็น เพลง และความสนใจต่างๆ ได้ยิ่งกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม กัมพูชา หรือแม้กระทั่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโทรคมนาคมและวงการไอทีในลาวก็มีความผันผวนอย่างมาก เนื่องจากความไม่แน่นอนและขาดความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจและออกใบอนุญาตประกอบกิจการ ดังเช่นการถอนตัวออกจากการร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจโทรคมลาวของเครือชินวัตรในปี 1998 หรือการเปลี่ยนมือใบอนุญาตหลายครั้งของเครือ Beeline การทำตลาดของบริษัทผู้ให้บริการจึงต้องอยู่กับความไม่แน่นอนของนโยบายและผู้มีอำนาจในรัฐเป็นอย่างยิ่ง ส่วนตลาดอุปกรณ์ไอที ฮาร์ดแวร์ ก็ต้องเผชิญกับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ราคาถูกจากประเทศจีน และขั้นตอนการขออนุญาตขายและนำเข้าสินค้าของรัฐบาลลาว ที่ต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดของกระทรวงการป้องกันชาติ กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว และกระทรวงไปรษณีย์ โทรคมนาคมและการสื่อสารที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งลำดับขั้นตอนการขออนุญาตค่อนข้างซ้ำซ้อนและยุ่งยาก การเปิดกิจการในฝั่งไทยจึงสมเหตุสมผลและรวดเร็วกว่า

ภาพรวมของการสื่อสารและเทคโนโลยีในลาว จึงเคลื่อนไหวพัฒนาอย่างรวดเร็วแต่ยังคลุมเครือ ขาดความโปร่งใส และต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าเราเป็นเพียงนักท่องเที่ยวไปเที่ยวประเทศลาว ก็จะได้เพลิดเพลินกับการใช้บริการสื่อสารโทรคมนาคมด้วยราคาถูก ดี และทั่วถึงอย่างสบายใจ

     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท