นักธุรกิจวอนรัฐหนุนธุรกิจท่ามกลางไฟใต้ ชี้ถูกขู่หยุดวันศุกร์

นักธุรกิจชายแดนใต้วอนรัฐช่วยเหลือให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สนับสนุนการประกันวินาศภัย  แจงข่าวลือให้หยุดวันศุกร์ ขู่ตัดหูหากไม่ปฎิบัติ

 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 ก.ย. 2555 ที่ห้องอัล-อิมาม อัน-นาวาวีย์ อาคารวิทยอิสลามนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หอการค้าจังหวัดปัตตานี จัดโครงการ “เชื่อมั่นเศรษฐกิจชายแดนใต้” ภายใต้ชื่องาน “เปิดบ้านปัตตานี”
 
ในการเสวนาพิเศษ เรื่อง “ผู้ประกอบการอยู่กันอย่างไรภายใต้ภาวะความไม่สงบ” นายมานะ สัตกุลพิบูลย์ เจ้าของธุรกิจจัดส่งเสื้อผ้าและของใช้ภายในบ้านกล่าวว่าครั้งหนึ่งเคยมีคนร้ายยิงปืนเข้ามาในร้านค้าของตน ซึ่งตนคิดว่าคนร้ายกลุ่มนี้เป็นวัยรุ่นมากกว่า เพราะตนทำการค้าอย่างบริสุทธิ์โปร่งใสและไม่เคยข้องแวะหรือเป็นศัตรูกับใคร  ซึ่งนับจากนั้น ตนต้องปรับมาตรการรักษาความปลอดภัยโดยการติดตั้งวงจรปิดและให้ลูกจ้างระวังภัยมากขึ้น
 
เขามองว่าการทำการค้าในพื้นที่มีข้อดีคือมีคู่แข่งน้อยและก็ต้องการให้รัฐมีมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการมากขึ้นด้วยการลดภาษีและลดดอกเบี้ยให้เหลือ 1.5 เปอร์เซ็นต์ โดยควรจะให้มีระยะเวลาการกู้ที่ยาวเช่น  6 – 7 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาที่จะทำให้ธุรกิจคืนทุน 
 
นายสุวิทย์ มาตยานุมัติ เจ้าของร้านอาหารไทปันกล่าวว่าร้านอาหารปัตตานีเบย์ซึ่งเป็นร้านอาหารอีกร้านของตน นอกเหนือจากร้านไทปันได้ปิดกิจการไปเมื่อประมาณ 2 - 3 ปีที่ผ่านมาเพราะเคยถูกยิงเข้าไปในร้านเช่นกัน
 
“เราต้องทำใจ เพราะอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ โดยเฉพาะที่เกิดเหตุการณ์ใน 2 - 3 ปีแรก ลำบากมาก เพราะคนตื่นกลัว ไม่กล้าออกจากบ้าน แต่ปัจจุบันประชาชนเริ่มชินชากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะรู้สึกว่าประชาชนไม่ค่อยตื่นกลัวมากเท่าไหร่แล้ว ซึ่งการที่ประชาชนชินแล้วนั้น เป็นสิ่งที่ดี เพราะหมายถึงประชาชนในพื้นที่เริ่มปรับตัวได้แล้ว” นายสุวิทย์ กล่าว
 
ก่อนหน้านี้มีคนนอก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเข้ามาท่องเที่ยวและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ก็ไม่ค่อยได้นอนพักค้างคืนกันมากนัก
 
“(ผม) ต้องใช้ความอดทน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีการปลดคนออก เพราะแรงงานหายาก คนนอกไม่เข้ามาทำงาน แต่ก็ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนให้ลูกจ้าง เพราะถือว่าช่วยๆ กัน”
สุวิทย์กล่าวว่าตนจะไม่ขยายร้านแต่จะทำให้ดีขึ้น พัฒนาศักยภาพคนทำงานในร้านให้ดีขึ้น โดยเขาเชื่อว่า “สงครามอย่างไรก็ต้องมีวันยุติ”
 
นางกัญญาภัทร ศรวียวิวัฒน์ เจ้าของธุรกิจประมงและผลไม้กวนตราก๊วน กวน เชฟ กล่าวว่าตนต้องการให้ความช่วยเหลือของรัฐมีความต่อเนื่อง
“ธนาคารที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ต้องช่วยเหลือจริง ไม่ใช่ช่วย 1 ก้าว ถอยหลัง 1 ก้าว ...ที่ผ่านมารัฐไม่เคยเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจของตนเลย” นางกัญญาภัทรกล่าว “ผู้ประกอบการอยากเดินงานต่อ แต่ขอให้มีทุนเข้ามาสนับสนุน เพราะหากภาครัฐยังไม่เชื่อมั่นตัวเอง แล้วเราจะเชื่อมั่นได้อย่างไร”
 
นางกัญญาภัทร กล่าวอีกว่า เนื่องจากปัจจุบันยอดการส่งออกปลาทูน่าน้อยลงจึงหันมาทำผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปด้วยเพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้าน หากชาวบ้านปลูกผลไม้ ซึ่งหากผลไม้ชนิดใดสามารถทำมาแปรรูปได้ก็จะนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งเรามีแนวคิดว่า หากผู้ทำมีความสุข ผู้บริโภคก็มีความสุข จากที่คนทั่วไปเคยรับประทานบ๊วย ก็อาจกลัวว่าเม็ดจะติดคอ แต่ผลิตภัณฑ์ของตนได้นำเม็ดออก และในหนึ่งเมล็ดมาผลไม้รวมกันถึงสามชนิด และไอเดียการทำผลไม้แปรรูปนี้อยากให้เป็นไอเดียสำหรับคนรุ่นใหม่ในการทำสินค้าส่งออก ซึ่งอยากให้ราชการมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกด้วย
 
นางกัญญาภัทรได้กล่าวว่าในช่วงที่ผ่านมามีข่าวลือข่มขู่ให้หยุดทำงานวันศุกร์ 
“ช่วงนี้มีข่าวลือว่า ห้ามทำงานวันศุกร์ มิฉะนั้นจะโดนตัดหู สำหรับธุรกิจของตนก่อนหน้านี้มีวันหยุดเพียงวันเดียวคือวันอาทิตย์ แต่เมื่อเกิดข่าวลือเช่นนี้ ตนก็ต้องหยุดวันศุกร์แทน ซึ่งตนก็เห็นด้วยในการให้หยุดวันศุกร์ เนื่องจากที่ผ่านมา วันหยุดที่เป็นวันอาทิตย์นั้นลูกจ้างไม่สามารถไปติดต่อหน่วยงานราชการ ไปทำธุรกรรมอื่นๆ พาคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องไปทำธุระได้เลย” นางกัญญาภัทรกล่าว
 
นายกิตติ สมบัติ เจ้าของห้างหุ้นส่วน ซูซูกิปัตตานี จำกัดกล่าวว่าตนทำธุรกิจเป็นดีลเลอร์ในการจัดสินเชื่อบ้าน  แต่ว่าไม่ได้เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อเอง  โดยช่วงปี 2552 เป็นช่วงที่เหตุการณ์มีความรุนแรง ผู้ปล่อยสินเชื่อก็ตั้งข้อจำกัดว่าบริษัทจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับหมู่บ้านในบริเวณนั้นบริเวณนี้ โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถที่จะไปตามทวงค่างวด เพราะกังวลในเรื่องความปลอดภัยของพนักงาน 
 
เขาเล่าว่าวันหนึ่งมีลูกค้ามาถามว่าเขาว่าร้านของตนจะขายสินเชื่อให้คนนาเกตุมั้ย เนื่องจากช่วงนั้นผู้ใหญ่ถูกยิง ถูกระเบิด หมู่บ้านดังกล่าวจึงกลายเป็นพื้นที่ต้องห้ามไป ลูกค้าบอกกับตนว่าไปถามมาหลายร้านแล้วไม่มีใครขายไฟแนนซ์ให้และบอกว่าหมู่บ้านของตนอยู่ในพื้นที่ห้ามขายให้แล้ว
 
“ผมจึงบอกกับลูกค้าไปว่า ผมจะขายให้และขายให้จริงๆ หลังจากนั้นไปประชุมกับไฟแนนซ์ ไฟแนนซ์ก็ถามว่าทำไมจึงขาย ผมจึงให้เหตุผลไปว่า คนในพื้นที่ตรงนั้น คนในหมู่บ้านนั้น เป็นคนชั่วทั้งหมดหรือ ทำไมไม่ให้ผมมีสิทธิ์ในการเลือกลูกค้า ผมเป็นคนปัตตานี เกิดที่ปัตตานี อยู่ที่ปัตตานีมาตลอด ผมพูดภาษามลายู มีเพื่อนเป็นคนอิสลาม จึงขอให้ไฟแนนซ์ให้สิทธิ์ผมบ้าง และผมขายได้ ซึ่งในช่วงนั้นร้านผมขายดีกว่าร้านอื่น เพราะคนไปบอกต่อกันว่า ร้านของผมขายให้ ช่วงหลังร้านอื่นๆ จึงขายตามด้วย ซึ่งความจริงเราต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่ให้รัฐทำอย่างเดียว” นายกิตติ กล่าว
 
“ลูกค้าของเราเสียเปรียบที่อื่นเยอะเลย ผมเคยไปดูที่สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ออกรถ 1 บาท เปิดร้านกันจนถึง 2 - 3 ทุ่ม ของผมเนี่ย 5 โมงต้องปิดแล้ว เปิดต่อไม่ได้แล้ว ออกรถ 4,900 ซึ่งเหตุที่ออกราคาดังกล่าว บริษัทรถบอกว่าจะต้องจ่ายค่าประกันรถหาย 2 ปี ประกันอุบัติเหตุให้กับผู้ซื้อ 1 ปี คิดค่าประกันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 2,500 บาท แต่จังหวัดสงขลาซึ่งอยู่ติดกับเรา คิดแค่ 1,500 บาท ต่างกัน 1,000 บาท เวลาออกรถ ประชาชนจังหวัดสงขลาออกรถในราคา 3,900 บาท ขณะที่ประชาชนในจังหวัดปัตตานีต้องออกรถต่ำสุดในราคา 4,900 บาท ผมพยายามเอาสถิติรถหายมาดู ปรากฏว่าสถิติรถหายในพื้นที่ก็ไม่ได้ต่างจากนอกพื้นที่เลย แต่ทำไมจึงมาคิดในสามจังหวัดแพงขึ้น” นายกิตติ กล่าว
 
นายกิตติได้ระบุถึงข่าวลือเรื่องการหยุดวันศุกร์เช่นกัน  
 
“ยิ่งช่วงนี้มีข่าวลือว่าให้ผู้ประกอบการหยุดงานวันศุกร์ ซึ่งในร้านมีลูกจ้างที่ต้องไปละหมาด โดยช่วงบ่ายวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานตำรวจในพื้นที่อ.โคกโพธิ์จะมีการประชุมกับ เพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้”  และเขากล่าวว่ารัฐควรที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือเรื่องการประกันวินาศภัยซึ่งโดยส่วนใหญ่บริษัททั่วไปมักจะคิดค่าเบี้ยประกันสูง 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท