'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: พรรคพวกเพื่อนศาล Fast Track (2)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“หลักสูตรก็สำคัญ  คอนเนคชั่นก็สำคัญ มีเพื่อนดีๆ ที่สกรีนมาให้เราแล้ว ถึงมีเงินก็ใช่จะหากันได้ เพื่อนที่จบในรุ่นจะรักกันสนิทกันมาก แถมยังสนิทข้ามรุ่นอีกต่างหาก” หรีด-รพีพรรณ เหลืองอร่ามรัตน์ พีอาร์ประจำรุ่น วตท.9 วิเคราะห์ให้ฟังเป็นฉากๆ

ระหว่างความรู้กับคอนเนคชั่น ถ้าจะให้ว่ากันตามจริงในเมืองไทย เธอฟันธงเลยว่า  Know How ไม่สำคัญเท่า Know Who ถ้ารู้จักคน เข้าให้ถูกทาง จะทำงานอะไรก็ลื่น

“คุณหรีด” ยังประกาศชัดๆ ว่า งานหนึ่งของเธอคือล็อบบี้ยิสต์ ซึ่งทำมานานแล้ว แต่หลักๆ ตอนนี้จะเป็นล็อบบี้ยิสต์ประสานงานให้ธุรกิจปิโตรเคมีข้ามชาติแห่งหนึ่งที่เคยมีแผนมาลงทุนในเมืองไทย

“ถึงไม่เป็นล็อบบี้ยิสต์ ยังไงเราก็ต้องรักษาคอนเนคชั่น หรีดทำรายการทีวีถ้าไม่รู้จักคน จะขายสปอร์เซอร์ได้ยังไง หรีดนั่งเป็นกรรมการที่บริษัทสามารถฯ ก็ต้องช่วยติดต่องาน ไม่ว่าอาชีพไหนก็ต้องมีคอนเนคชั่น”

คุณหรีดเล่าว่า ปีนี้เธอยอมตัดกิจกรรมหลายอย่างทิ้ง เพราะต้องเรียนควบ 2 หลักสูตร ทั้งวตท. และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ซึ่งบังเอิญได้เรียนทีเดียวพร้อมกัน จะสละสิทธิ์ก็เสียดาย โดยเฉพาะวปอ.ที่อยากเรียนมาก เฝ้ารอมานานถึง 3 ปี

.......................................

เมื่อคนที่ประสบความสำเร็จสูงในชีวิตระดับผู้นำมาเรียนหนังสือร่วมกันเกือบร้อยชีวิต จะให้ชั้นเรียนของนักศึกษาวตท. “ธรรมดาๆ”ได้อย่างไร

ด้วยเพียบพร้อมทั้งสถานที่เรียน และผู้บรรยายตั้งแต่ระดับเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงบิ๊กๆ ในหน่วยงานราชการ ขณะที่งานเลี้ยงสังสรรค์ที่แบ่งกลุ่มกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละสัปดาห์ ต่างงัดพลังศักยภาพออกมาสร้างความประทับใจกันเต็มที่

แค่ครั้งแรก กลุ่ม ”คุณหรีด” ก็สร้างความฮือฮาลงทุนยกบริการสปามาไว้บริการเพื่อนๆ พร้อมหมอนวด และเตียงให้บริการยกหน้าเด้ง

แต่ที่ลือลั่นสะท้านวงการกว่าใครคือกลุ่มของกนกศักดิ์ ปิ่นแสง ที่ลงทุนยกห้องอาหารลอดจิมป์สุดหรูจากโอเรียนเต็ลมาให้บริการ ลือกันว่ามื้อนั้นไม่ต่ำกว่าหลักล้าน

“ที่นี่มีเอกชนมาเรียนเยอะ ข้าราชการน้อย คนที่มีฐานะก็ใจกว้างอยากจะบริการเพื่อนๆ“ อดิศักดิ์ ทิมมาศย์ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ศาลฎีกา เล่า

อดิศักดิ์ เป็นหนึ่งในนักศึกษากลุ่มผู้พิพากษา อัยการ หลายคนที่เข้ามาเรียนร่วมหลักสูตรเพิ่มพูนความรู้ตลาดทุนที่นี่ กลุ่มผู้พิพากษาที่จบไปรุ่นก่อนๆ กลับไปพูดถึงหลักสูตรกันอื้ออึง บอกว่าเรียนแล้วเหมือนได้มาคลายเครียด

“ปกติงานของผู้พิพากษาก็หนักและเครียดอยู่แล้ว หาความบันเทิงยาก เพราะต้องวางตัวอยู่ในกรอบไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ทุกคนพอถึงวัยนี้ ก็อยากจะมีความบันเทิงส่วนตัวบ้าง ถ้าเรียนวิชาการอย่างเดียวคงไม่มีใครอยากมา"

0 0 0

นี่ก๊อปมาจากบางส่วนของรายงานพิเศษในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 เรื่อง “Leader Society ... ห้องเรียนนี้มีแต่เฟิร์สคลาส” โดยดุลยปวีณ กรณฑ์แสง ซึ่งกล่าวถึงหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน หรือ “วตท.” โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รุ่นที่ 9 ซึ่งมีพินิจ จารุสมบัติ เป็นประธานรุ่น มีนักการเมืองเช่น ไตรรงค์ สุวรรณคีรี, วิษณุ เครืองาม, อนุทิน ชาญวีรกูล, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ,พรเทพ เตชะไพบูลย์ มีวัชรกิติ วัชโรทัย จากสำนักพระราชวัง ขณะที่ฝั่งธุรกิจมีสุรางค์ เปรมปรีด์, ปณต สิริวัฒนภักดี (ซึ่งบอกว่าพี่ชาย ฐาปน สิริวัฒนภักดี มาเรียนตั้งแต่รุ่น 5 พี่เขย อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ผู้บริหารเบอร์ลียุคเกอร์ มาเรียนรุ่น 6)

คมชัดลึกยังมีรายงานเรื่อง “ควันหลง วตท.10 สปิริตเกิน 100” บรรยายงานรับน้อง วตท.10 ที่มีบุคคลระดับ “เฟิร์สคลาส” 350 คน ไปรวมกันที่รอยัลคลิฟบีช พัทยา เมื่อปี 2553 ว่า ละครเฮฮาที่จัดโดย “คุณหรีด” มีผู้แสดงตั้งแต่อดิศักดิ์ ทิมมาศย์ ที่ออกมาร้องเพลง “มนต์รัก วตท.” ท่านผู้หญิงวิระยา ชวกุล, ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล, ภริยาเอกอัครราชทูตอเมริกา, อนุทิน ชาญวีรกูล, พล.ต.อ. ดร.ชิดชัย วรรณสถิต, องอาจ คล้ามไพบูลย์ ขณะที่ “น้องรุ่น 10” ออกมารำเคียวเกี่ยวข้าว ได้แก่ "หมอเลี้ยบ" น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, คีรี กาญจนพาสน์, สุกัญญา ประจวบเหมาะ, ปิยะนุช มาลากุล ณ อยุธยา, ชัชวาล เจียรวนนท์, สงกรานต์ อิสสระ, ตัน ภาสกรนที

คนอื่นๆ ที่ชื่นมื่นสังสรรค์กันอยู่ในงานก็เช่น วราเทพ เทพกาญจนา, คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, สนั่น และณัฐิกา อังอุบลกุล เป็นต้น

ฟังดูก็ตลกดี ในขณะที่คนข้างล่างแบ่งสีแบ่งฝ่าย ม็อบชนม็อบจะฆ่ากันตาย บุคคลระดับนำกลับสร้างคอนเนคชั่นโดยไม่ต้องเลือกข้าง

ศาลยุติธรรมส่งผู้พิพากษาระดับสูงมาเรียน วตท.รุ่นละคน อดิศักดิ์ ทิมมาศย์ เป็นตุลาการชั้น 8 และเป็น 1 ใน 9 ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่วินิจฉัยให้ยึดทรัพย์ทักษิณฐาน “ได้ประโยชน์โดยไม่สมควร” (เข้าใจว่าท่านเรียนจบวิทยาลัยตลาดทุนแล้วกลับไปยึดทรัพย์พอดี)

ผมชอบที่คุณหรีดเธอพูด ชัดเจนตรงไปตรงมาดี ในสังคมไทย Know How ไม่เท่า Know Who ที่มาเรียนนี่ก็เพื่อจะรู้จักคน

ถามว่าพวกที่มาเรียนหลักสูตรแบบนี้โง่หรือครับ แต่ละคนฉลาดทั้งนั้น ไม่งั้นไม่ประสบความสำเร็จหรอก ไม่ต้องเรียนเขาก็ทำมาหากินร่ำรวยอยู่แล้ว กะอีแค่มาฟังวิทยากรบรรยาย จะมีอะไรนักหนา สิ่งสำคัญมันอยู่ที่การสรวลเสเฮฮา ทำกิจกรรม แบ่งกลุ่มทำรายงานด้วยกัน แล้วก็เดินทางไปทัศนศึกษา ทั้งในและต่างประเทศด้วยกันต่างหาก

แล้วเวลาเดินทางไปทั้งเมืองไทยเมืองนอกเนี่ย ก็เป็นโอกาสที่พ่อค้านักธุรกิจ จะช่วยเหลือเพื่อนร่วมรุ่นที่เป็นข้าราชการ ในด้านที่ตัวเองถนัด ตั้งแต่แนะนำโน่นนี่ พาไปช็อปไปกินนอกรอบ (หรือพาไปดูแดงเดือด-ฮา)

เอ้า สมมติคนมาจากทรู จากเอไอเอส เวลาไปต่างประเทศ พี่จะทำโรมมิงไหม เดี๋ยวผมจัดการให้ โอ๊ยไม่ต้องพี่ ค่าใช้จ่ายเล็กน้อย บริษัทผมเอง ฯลฯ

แล้วต่อไป เวลาไปมาหาสู่มีความสัมพันธ์กัน หน่วยงานของพี่ยังขาดงบประมาณอะไรบ้างไหมครับ บริษัทผมมีงบ CSR ช่วยเหลือกันได้

คำถามคือ เวลาไปอบรม บ.ย.ส. บ.ย.ป.บรรดาเศรษฐีล็อบบี้ยิสต์เหล่านี้จัดเลี้ยงมื้อเป็นล้านหรือบริการสปาหรูกันไหม (กนกศักดิ์ ปิ่นแสง ก็ไปอบรม บ.ย.ส.) ผมเชื่อว่าศาลท่านคงไม่ยอมให้ประเจิดประเจ้อขนาดนั้น แต่เวลาไปทัศนศึกษา ไปทัวร์เมืองนอก หรือจัดกิจกรรมนอกสถานที่ล่ะ เวลานัดตีกอล์ฟ เวลานัดทำรายงานในภัตตาคาร ฯลฯ ใครจะตามไปตรวจสอบได้

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้พิพากษาตัวดี จ้องจะกินฟรีเที่ยวฟรี คบค้ามหาเศรษฐี ผมเชื่อว่าผู้พิพากษาตุลาการส่วนใหญ่ที่เข้าอบรมไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น แต่เจตนาของนักธุรกิจ นักการเมือง หรือทนายความ เห็นชัดเจน แล้วระบบอุปถัมภ์พวกพ้องเส้นสายในสังคมไทย มันก็มาพร้อมกับน้ำใจ มารยาทสังคม ที่ปฏิเสธยากหากมีช่องให้คบหากันแล้ว

ตลกร้ายคือผู้ที่เปิดช่องให้พ่อค้านักธุรกิจมีโอกาสมาตีสนิทชิดเชื้อ “เข้าถึงตุลาการ” กลับเป็นสำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลปกครองเสียเอง

น่าสังเกตด้วยว่า นอกจากมีโอกาสตีซี้ผู้พิพากษาตุลาการแล้ว พ่อค้านักธุรกิจยังมีโอกาสใกล้ชิดข้าราชการในพระองค์ รวมทั้งสื่อมวลชน ซึ่งได้รับเชิญเข้าอบรม บ.ย.ส. บ.ย.ป.รุ่นละ 2-3 คน (เข้าใจว่าได้ตั๋วฟรีหรือตีตั๋วเด็ก)

 

ใครจัดคิว
หลักสูตร บ.ย.ป.รุ่นที่ 4 ระบุค่าสมัครไว้ 120,000 บาทต่อหัว รวมค่าเดินทางไปทัศนศึกษาต่างประเทศ

แต่หลักสูตร บ.ย.ส.ไม่กำหนดค่าสมัครไว้ ไม่ทราบว่าเก็บตังค์ หรือเรียนฟรี แบบศาลยุติธรรมออกให้หมดแถมค่าสมุดดินสอ

ซึ่งก็เป็นไปได้ที่จะเรียนฟรี เพราะเท่าที่ทราบ สำนักงานศาลยุติธรรมจ่ายให้ผู้บรรยายตามระบบราชการ ชั่วโมงละ 600 บาทเท่านั้น (ถ้าเก็บตังค์เป็นแสน แบบหลักสูตรปริญญาโท เขาคงจ่ายแพงกว่านี้)

คำถามคือแล้วเวลาเดินทางไปดูงานต่างประเทศล่ะ ใครจ่าย อย่าบอกนะว่าสำนักงานศาลยุติธรรมจ่าย ควักงบประมาณพานักธุรกิจนักการเมืองล็อบบี้ยิสต์ไปเที่ยวเมืองนอกกับผู้พิพากษา

หรือว่าให้ลงขันกันเอง อันนี้ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะมันไม่ใช่แค่ค่าโรมมิ่ง หรือพาไปกินไปช็อปปิ้ง แต่จะบานปลายกว่านั้น

ขอฝากเป็นข้อกังขา เพราะสำนักงานศาลยุติธรรมไม่เปิดเผยว่าคิดค่าสมัครเท่าไหร่ ใช้งบประมาณเท่าไหร่ อันที่จริงหลักสูตรโด่งดังซะขนาดนี้ อย่าว่าแต่เงินแสนเลย 2-3 แสนหรือมากกว่านั้น นักธุรกิจก็พร้อมจ่าย จะเปิดประมูลก็ยังได้ สมมติเช่น บ.ย.ส.รุ่นนี้เรามีประธานศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายเข้าอบรมด้วยนะ พวกล้มบนฟูกใครอยากศึกษาหาความรู้ใส่ตัวบ้าง ขอเชิญประมูลออนไลน์ รีบด้วย ที่นั่งมีจำกัด

พูดเป็นเล่น แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีมูล เพราะเมื่อหลักสูตรยอดฮิตอย่างนี้ มีคนเข้าคิวรอสมัครตั้งแต่ศาลฎีกา สนามหลวง ไปถึงศาลอาญา รัชดา ก็ต้องเกิดคำถามว่า แล้วสำนักงานศาลยุติธรรม หรือสำนักงานศาลปกครอง ท่านมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคนอย่างไร ทำไมคนนั้นได้เข้าอบรม ทำไมคนนี้ไม่ได้เข้าอบรม ทำไมตัวแทนบริษัทนี้ได้บ่อยจัง ทำไมตัวแทนบริษัทนั้นเข้าไม่ได้เลย

ศาลท่านอาจมีกุศลจิต แต่ผู้สมัครเข้าอบรมไม่ได้มีกุศลจิตเสมอไปนะครับ พวกปากหอยปากปูก็เยอะ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่เขาแข่งขันช่วงชิงผลประโยชน์มหาศาลกันอยู่ เขาสู้กันทุกปริมณฑล ท่านเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในวังวนของเขา ก็เลี่ยงไม่ได้

แม้กระทั่งการแบ่งกลุ่มย่อยตอนเข้าอบรม ยังมีเสียงซุบซิบเลยว่าทำไมตัวแทนบริษัทนั้นได้เข้ากลุ่มกับตุลาการคนนี้ มีเลือกปฏิบัติหรือเปล่า ฯลฯ

ศาลยุติธรรมยังไม่เท่าไหร่ แม้จะว่าคดีแพ่ง คดีล้มละลาย คดีทรัพย์สินทางปัญญา คดีผู้บริโภค ก็อาจเกี่ยวข้องกลุ่มธุรกิจเพียงบางครั้ง แต่ศาลปกครองสิครับ เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องสัมปทานรัฐ อย่างเช่นการประมูล 3G สัญญาระหว่างบริษัทมือถือกับ ทศท. กสท. ฯลฯ หรือเรื่องโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ที่พ่นมลภาวะใส่ชาวบ้าน

ฉะนั้นอย่าแปลกใจที่กลุ่มธุรกิจและสำนักงานกฎหมายแห่ไปอบรม บ.ย.ป.เพียบ บางกลุ่มก็ชนกันเอง เช่น ทรู กับบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากทรูทำคดีมือถือทั้งหมด ตัวแทนบริษัทนี้เข้าอบรมทั้งรุ่น 2 รุ่น 3 โดยมีปริศนาคำทายว่าลูกสาวบิ๊กตุลาการคนไหนเอ่ย ทำงานอยู่บริษัทนี้ด้วย

ที่จริงก็เป็นเสรีภาพในการประกอบอาชีพสุจริต เชื่อว่าไม่มีนอกไม่มีนัยอะไร แต่พอมันมีจุดไขว้กันก็อดอึดอัดใจแทนไม่ได้

ปัญหาการคัดเลือกคนเข้าอบรม สถาบันพระปกเกล้าเคยโดนวิพากษ์วิจารณ์มาแล้ว ในการคัดคนเข้าอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตร​ผู้นำยุค​ใหม่​ในระบอบประชาธิป​ไตย รุ่นที่ 1 ​ซึ่งมี 120 รายชื่อ แต่ผลออกมา ตามโปรยข่าวไทยโพสต์ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2554 “วุฒิสารแจงไม่มีเลือกปฏิบัติ แต่พบกว่า 70% ข้องเกี่ยว "กลุ่มทุน-นักการเมือง" ผงะ! เครือข่าย สนช.ติดโผพรึ่บ”

มันน่าเศร้าเพราะหลักสูตรนี้สถาบันพระปกเกล้าออกค่าใช้จ่ายให้หมด “เรียนฟรี” แต่ดูชื่อคนที่มาเรียนมีแต่ตระกูลดังๆ ลูกหลานนักการเมือง นักธุรกิจ เช่น ธนา เธียรอัจฉริยะ อดีตผู้บริหารดีแทค, วิชญะ เครืองาม (ลูกวิษณุ หลานบวรศักดิ์ ทำงานเป็นนักล็อบบี้ให้ทรู) ชลาทิพย์ พุกผาสุข ลูกสาว พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข นารถสินี ยุติธรรมดำรง ลูกสาวพชร ยุติธรรมดำรง ลูกสาวอดีตอัยการสูงสุด พีรพล สุวรรณฉวี ลูกชายไพโรจน์ สุวรรณฉวี เป็นต้น

หลักสูตรนักบริหารระดับสูงของ ก.พ.ก็ฟรีนะครับ ไปเมืองนอกฟรีด้วย แต่นั่นเขาจำกัดเฉพาะข้าราชการ ไม่มีภาคเอกชน

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า ผู้เคยร่างหลักสูตรให้ วปอ.ยอมรับว่าระยะหลังมี “นักล่าหลักสูตร” เข้ามาเยอะมาก ราว 1 ใน 4 ของผู้เรียน หลักสูตร ปนป.ของสถาบันพระปกเกล้า ยอมรับว่ามีลูกคนใหญ่คนโตมาเรียน แล้วพอรุ่น 1 ประสบความสำเร็จ รุ่น 2 ก็มากันเต็ม แต่ท่านมองว่าหลักสูตรที่เสี่ยงมากกับผลประโยชน์ทับซ้อนคือ หลักสูตรของ กกต.หลักสูตรของศาลยุติธรรม และหลักสูตรของศาลปกครอง ซึ่งถ้าสร้างคอนเนคชั่นเชื่อมไปยังผู้พิพากษาได้ ก็เสี่ยงมาก

แต่ไหนๆ ก็เปิดหลักสูตรฮิตมาถึงขนาดนี้แล้ว ศาลยุติธรรมกับศาลปกครองคงไม่ยุบหลักสูตรง่ายๆ กระมังครับ ท่านคงถือว่าท่านมีเจตนาบริสุทธิ์ ถึงร่วมทำกิจกรรมก็เป็นเรื่องการกุศล อย่างเช่นเมื่อต้นเดือนกันยายน ประธานศาลปกครองท่านก็เพิ่งไปปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติกับ บ.ย.ป.รุ่น 2 ที่มีนพดล พลเสน ประธานที่ปรึกษากองทุนอนุรักษ์มรดกโลกห้วยขาแข้ง (อดีต ส.ส.พรรคชาติไทยผู้ถูกตัดสิทธิ วันก่อนยังเห็นไปร่วมงานศพลูกชายชาดา ไทยเศรษฐ์) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในพื้นที่

ผมก็ไม่ได้เรียกร้องให้ยุบ แต่อย่างน้อยทั้งสองศาลก็น่าจะประกาศหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน ว่าคัดเลือกคนอย่างไร ตามคิว หรือตามคุณสมบัติ เพื่อขจัดเสียงนกเสียงกา โดยเฉพาะศาลยุติธรรม น่าจะชี้แจงด้วยว่าใช้งบประมาณจากไหน อย่างไร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท