ศูนย์ข้อมูลสิทธิฯอีสาน จัดเวที ม.นอกระบบกับความเป็นธรรมด้านการศึกษา

                เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน จับร่วมกับแนวร่วมนิสิตนักศึกษาค้านม.นอกระบบและเครือข่ายนักศึกษัดค้าน ม.ขอนแก่นออกนอกระบบ ได้ร่วมกันจัดเวทีอภิปรายในหัวข้อ “ม.นอกระบบกับความเป็นธรรมด้านการศึกษา”  ณ อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โดยมีนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยและชาวบ้านจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เข้าร่วมประมาณ 50 คน

                นายสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า เวทีในวันนี้เป็นเวทีเสวนาสันติประชาธิปไตย ซึ่งทางผู้จัดได้ติดตามประเด็น ม.นอกระบบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรณีของ ม.ขอนแก่น ซึ่งเราในฐานะของผู้ปกครองก็มีความกังวเช่นเดียวกับนักศึกษา ม.ขอนแก่น และคิดว่า ปัญหาเรื่อง ม.นอกระบบเป็นปัญหาของทุกคน ดังนั้นวันนี้จึงจัดเวทีคุยเรื่องนี้ เชิญชาวบ้านมาพูดคุยแลกเปลี่ยนด้วย เพราะถือว่าพวกเขาส่งลูกหลานไปฝากให้มหาวิทยาลัยดูแล 4-5 ปี ชาวบ้านจึงน่าจะมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดพื้นที่ในนักศึกษา มรภ.อุดรธานีนี้ ได้มีพื้นฐานความเข้าใจเรื่อง ม.นอกระบบ และปัญหาระบบการศึกษาโดยรวม

                นายปกรณ์ อารีกุล คณะทำงานข้อมูลแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ ได้อภิปรายถึงความหมายและที่มาของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และเปรียบเทียบพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราภัฏ ปี 2547 กับ ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ.เพื่อแปรรูป นำ มรภ.สวนดุสิตออกนอกระบบ

                “ผมยกตัวอย่างให้ใกล้เคียงกับ มรภ.อุดรธานีให้มากที่สุด เพราะสวนดุสิตก็เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏเหมือนกัน และการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะมีผลเป็นทางการ เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติฉบับใหม่ขึ้นมา ปัญหาอยู่ที่ ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ ไม่มีหลักประกันเรื่องค่าเทอม อำนาจของสภามหาวิทยาลัยมากเกินไปและไร้การตรวจสอบนั้น จะทำให้สภาฯ ออกระเบียบขึ้นค่าเทอมเมื่อไหร่และเท่าไหร่ก็ได้ มีอำนาจแม้กระทั่งขายหรือให้เช่าที่ดินของในมหาวิทยาลัยได้ ดังนั้นนี่คือความไม่เป็นธรรมที่ถูกเขียนในกฏหมาย เพราะเราถือว่า มหาวิทยาลัยเป็นสมบัติของส่วนรวมเป็นของประชาชน”

                อ.สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรฯ กล่าวว่าในฐานะของอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยนั้น รู้สึกว่าระบบราชการทำให้การศึกษาในระดับอุดมศึกษาล้าหลัง แต่ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการแปรรูป หรือทำให้การศึกษากลายเป็นสินค้า

                “ผมคิดว่ามันน่าจะมีทางเลือกอื่นๆ มีทางออกอื่นๆ เป็นตัวเลือก ไม่ใช่ว่าพอไม่เอา ม.นอกระบบแล้วเราจะย่ำอยู่กับที่ พอใจในความเป็นอยู่เหมือนเดิม บอกตรงๆว่า เราไม่พอใจ มันมีปัญหามากมายภายใต้ระบบราชการ ทั้งเรื่องหลักสูตร ทั้งเรื่องวัฒนธรรมองค์กร แต่ถ้าจะให้แก้ปัญหาเดิมด้วยการออกนอกระบบ ผมก็ไม่เห็นด้วยเหมือนกัน”

                นิติกร ค้ำชู เครือข่ายนักศึกษาคัดค้าน ม.ขอนแก่นออกนอกระบบ กล่าวว่า ในส่วนของ ม.ขอนแก่นนั้น นักศึกษาไม่เคยได้รับข้อมูลเรื่อง ม.นอกระบบเลย อยู่ดีๆ พอรู้จากคนนอกว่า มหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบ เราก็หาข้อมูลกัน เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ แล้วก็ไปขอข้อมูลจากมหาวิทยาลัย เขาก็ไม่ให้ ไปยื่นหนังสือคัดค้าน ขอเข้าพบอธิการบดี ท่านก็ไม่สนใจ ไม่เคยให้พื้นที่นักศึกษาในการแสดงความคิดเห็นเลย ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งมหาวิทยาลัยควรจะให้ประชาคมทั้งหมดเข้าไปมีส่วนร่วม

                ในช่วงท้ายได้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนจากผู้เข้าร่วมอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่แสดงความเห็นคัดค้านและมีความรู้สึกกังวลว่า นโยบายการศึกษาของประเทศที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นจะทำให้ลูกหลานคนจนเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา

                “หากนักศึกษามีการเคลื่อนไหวคัดค้าน ม.นอกระบบอีกเมื่อไหร่ ผมพร้อมเข้าร่วมด้วย เพราะเราส่งลูกหลานไปเรียนมหาวิทยาลัย เราก็รู้สึกว่าควรมีส่วนในเรื่องนี้” พ่อปัญญา หนึ่งในชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีกล่าว

                นอกจากนี้ยังมีผู้เสนอทางเลือกที่ 3 ตามที่อาจารย์สันติภาพตั้งคำถามไว้ โดยรายละเอียดคือ ให้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยฉบับนักศึกษาและประชาชน และให้ประชาชนลงชื่อสนับสนุน 10,000 รายชื่อ และเสนอไปให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ผู้เข้าร่วมเสวนาสนใจและเห็นควรในการดำเนินการเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป

                ผู้สื่อข่าวได้โทรสัมภาษณ์ นายนิพิฐพนธ์ คำยศ ผู้ประสานงานแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบถึงทิศทางในการเคลื่อนไหวในอนาคต

                “เรากำลังอยู่ในช่วงขยายแนวร่วมกับเพื่อนๆนักศึกษา กับผู้ปกครอง กับสังคม จะเห็นว่า เราไปจัดวงคุยที่ มศว. สัปดาห์ก่อน เราก็ไปจัดที่ ม.เชียงใหม่ และในครั้งนี้ จัดที่ราชภัฏอุดรธานี ซึ่งทุกเวทีเราพยายามทำในลักษณะการแลกเปลี่ยนกัน เวลาพูดเรื่องมนอกระบบ เราพูดทั้งข้อดี-ข้อเสีย แล้วก็ถกเถียงกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้ใหญ่ๆ หลายๆ ท่านที่อยากนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เขาไม่เคยทำเลย ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท