เมื่อลาวติดปีก : ธุรกิจสายการบินลาวทะยานสู่น่านฟ้าเอเชีย

ธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจหนึ่งที่ประสบภาวะซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง นับแต่การก่อวินาศกรรมโดยเครื่องบินในเหตุ 9/11 กับสหรัฐอเมริกาเป็นต้นมา ต้นทุนด้านการรักษาความปลอดภัยเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สายการบินต่างขาดทุน และทยอยปิดตัวลง สายการบินใหญ่ๆ เช่น United Airlines, Japan Airlines หรือแม้แต่การบินไทย มียอดขาดทุนสะสม ต้องปิดเส้นทางการบินที่ไม่ทำกำไรลงเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสายการบินชนิดต้นทุนต่ำ (Low cost airline) ได้เข้ามาแทนที่ความต้องการในการเดินทางของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่ต้องการลดค่าใช้จ่าย ด้วยการลดบริการส่วนเกิน เช่น อาหารระหว่างเที่ยวบิน ลดขั้นตอนการเช็กอินและออกบอร์ดดิ้งพาสโดยให้ผู้โดยสารบริการตัวเอง สายการบินต้นทุนต่ำเช่น Ryan Air, Aerosvit จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเดินทางของผู้คนทั่วไป ส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น สายการบิน Air Asia ซึ่งมีฐานการบินที่มาเลเซีย ได้กระตุ้นกระแสสายการบินต้นทุนต่ำให้เกิดขึ้น จนหลายประเทศต่างก็มีสายการบินต้นทุนต่ำเป็นของตัวเอง เช่น นกแอร์ บางกอกแอร์เวย์ส เซบูแปซิฟิก เป็นต้น

การเดินทางทางอากาศในลาวนั้นเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากถนนหนทางที่ยังไม่ทันสมัย เป็นหลุมบ่อ และสภาพภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาและภูเขาสลับไปมา เส้นทางคดเคี้ยวเลาะเลี้ยวไหล่เขามีอันตรายทั้งจากธรรมชาติ และอันตรายจากมิจฉาชีพที่ซุ่มซ่อนอยู่ เห็นได้จากที่ทางการลาวต้องส่งทหารไปเฝ้าระวังตามสะพานข้ามแม่น้ำลำห้วย และทางขึ้นเขาตามแขวงต่างๆ การเดินทางโดยเครื่องบินที่สะดวกสบายและรวดเร็วกว่า จึงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่จำเป็นต้องเดินทางไปมาในประเทศลาว ก่อนหน้านี้ เครื่องบินที่ใช้เดินทางในประเทศลาวมักเป็นเครื่องเช่าเหมาลำ (Charter Flight) โดยผู้โดยสารต้องมีเส้นสายกับนายทหารหรือคนใหญ่โตในพรรคประชาชนปฏิวัติลาวจึงเดินทางได้ เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารไม่คุ้มค่าต่อการเปิดเส้นทางการบินพาณิชย์

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเดินทางท่องเที่ยวในลาวได้รับความนิยมมากขึ้น อีกทั้งธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าไปลงทุนตามแขวงเมืองต่างๆ เริ่มขยายตัว การเดินทางทางอากาศจึงเข้าสู่จุดคุ้มค่าในการประกอบกิจการพาณิชย์ มีสายการบินพาณิชย์หลายสัญชาติมุ่งจุดหมายปลายทางสู่ประเทศลาว โดยส่วนมากเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ บินระยะสั้นจากฮับการบินที่สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ได้แก่[1]

  • Air Asia เส้นทาง กัวลาลัมเปอร์-เวียงจันทร์
  • Bangkok airways เส้นทางกรุงเทพ-เวียงจันทร์
  • China eastern airline เส้นทางคุนหมิง, หนานหนิง-เวียงจันทร์
  • Jin air เส้นทางโซล, อินชอน-เวียงจันทร์
  • Lao air เส้นทางซำเหนือ-ไซยะบุลี-เวียงจันทร์
  • Lao Airlines เส้นทางกรุงเทพ, บ้านห้วยซาย, ดานัง, ฮานอย, โฮจิมินห์, คุนหมิง, หลวงน้ำทา, หลวงพระบาง, อุดมไซ, ปากเซ, สะหวันนะเขด, เสียมเรียบ, เซียงขวาง, สิงคโปร์-เวียงจันทร์
  • Lao Central Airlines เส้นทางกรุงเทพ, หลวงพระบาง, ปากเซ-เวียงจันทร์
  • Thai airways เส้นทางกรุงเทพ-เวียงจันทร์
  • Vietnam Airlines เส้นทางฮานอย, โฮจิมินห์, พนมเปญ-เวียงจันทร์

รัฐวิสาหกิจการบินลาว (Lao Airlines)[2] ซึ่งมีฐานการบินอยู่ ณ สนามบินนานาชาติวัดไต (Wattay International Airport : VTE) เป็นสายการบินที่รัฐบาลลาวถือหุ้น 100% เดิมการบริการจะเน้นการบริการแก่ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาล เมื่อมีความต้องการเพิ่มเติมจึงขยายการบริการสู่เอกชน ในปัจจุบันที่การเดินทางทางอากาศเฟื่องฟู สายการบินลาวได้ปรับตัวให้ทันสมัยด้วยการนำเอาระบบซื้อและจองตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยตัวเองมาใช้งาน ประกอบกับการขยายเส้นทางการบินไปยังแขวงต่างๆ และวางแผนที่จะขยายเส้นทางการบินต่างประเทศเพิ่มเติมนอกจากไทย กัมพูชา เวียตนาม และมณฑลทางใต้ของจีน โดยสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวนสองลำ จากบริษัทแอร์บัสของฝรั่งเศส และเตรียมเพิ่งเที่ยวบินไปยังนครกวางโจวของจีน กรุงโซลและเมืองปูซานของเกาหลีใต้ และกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น

ท่านสะเหลิม ไตยะลาด หัวหน้าฝ่ายขายและการตลาดของรัฐวิสาหกิจการบินลาว ให้การชี้แจงว่า[3]

ປັດຈຸບັນ​ນີ້ ​ເຮົາ​ມີ​ແຜນການ​ທີ່​ຈະ​ບິນ​ໄປ​ກວາງ​ໂຈ​ວ​
​ແລະ​ກະບິນ​ໄປ​ໂຊ​ລ​ໄປ​ເກົາຫຼີ​ໃຕ້​ກະ​ມີ​ແຜນ​ຢູ່ ​ແລະ​
ພວກ​ເຮົາ​ກະ​ກໍາລັງ​ສຶກສາ​ຄວາມ​ເປັນ​ໄປ​ໄດ້​ຢູ່ ​ເພາະ
ວ່າ​ທີ​ມງານ​ພວກ​ເຮົາ​ກໍາລັງສຶກສາ​ຄວາມ​ເປັນ​ໄປ​ໄດ້​
ວ່າ​ເຮົາ​ຈະ​ບິນ​ເຂົ້າ​ໄປ​ຊ່ວງ​ໃດ ປະຕິບັດ​ການບິນ​ແບບ​​
ເຊົ່າ​ເໝົາ ຫຼື​ສິ​ເອົາ​ແບບ​ປົກກະຕິ​ອັນ​ນີ້​ພວກ​ເຮົາ​ຕ້ອງ​
ເບິ່ງ​ເພາະວ່າ​ພວກ​ເຮົາ​ກໍ​ຕ້ອງ​ດໍາ​ນຶງ​ເຖິງ​ປະສິດທິ​ຜົນ​
ໃນ​ການ​ດໍາ​ເນີນ​ທຸລະ​ກິດ.

“ปัจจุบันนี้ เรามีแผนการที่จะบินไปกวางโจว และก็บินไปโซล เกาหลีใต้ก็มีแผนอยู่ และพวกเราก็กำลังศึกษาความเป็นไปได้ว่าเราจะบินไปในช่วงใด ปฏิบัติการบินแบบเช่าเหมา หรือจะเอาแบบปกติก็ต้องดูก่อน เพราะเราต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจด้วย”

โดยทางรัฐวิสาหกิจการบินลาวคาดว่า รายได้จากการเดินทางทางอากาศจะเพิ่มขึ้นเป็น 200 ล้านดอลลาร์ ในปี 2015 ที่จะถึงนี้

ในส่วนสายการบินเอกชน ประเทศลาวมีสายการบินต้นทุนต่ำสองสายการบิน ให้บริการเส้นทางยอดนิยมเช่น กรุงเทพ-เวียงจันทร์-หลวงพระบาง-ปากเซ-ไซยะบุลี คือ สายการบิน Lao Central Airlines และสายการบิน Lao Air โดยสายการบิน Lao Central Airline เปลี่ยนชื่อจากสายการบินพงสะหวัน ในปี 2012 ให้บริการด้วยเครื่อง Boeing 737-400 จำนวน 2 ลำ และ Sukhoi superjet อีก 3 ลำอยู่ระหว่างการสั่งประกอบ ส่วนสายการบิน Lao Air เป็นสายการบินภายในประเทศ บินด้วยเครื่อง Cessna 208 และบริการเฮลิคอปเตอร์ให้เช่า

ผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจในลาว จึงมีตัวเลือกในการเดินทางที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น และเสี่ยงต่ออุบัติภัยและโจรภัยน้อยลง

*******************************

 

เกร็ดภาษาลาวประจำวันนี้ เสนอคำว่า ເຮືອບິນ (เฮือบิน) - เครื่องบิน, airplane

ตลกไทยมักเอาคำภาษาลาวมาเล่นให้เข้าใจผิดว่า เครื่องบินนั้น ภาษาลาวเรียกว่า "กำปั่นเหาะ" ซึ่

งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะแท้จริงภาษาลาวเรียกเครื่องบินว่า ເຮືອບິນ 

 



[1] http://worldaerodata.com/wad.cgi?id=LA11076&sch=VLVT

[2] http://www.laoairlines.com/

[3] http://lao.voanews.com/content/laos-airlines-to-expand-its-international-flights-to-china-korea-and-japan/1519572.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท