Skip to main content
sharethis

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล เชิญ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาพูดคุยเรื่องโครงการรับจำนำข้าว เขาอธิบายเรื่องนี้อย่างเป็นระบบและง่ายต่อการทำความเข้าใจ มีประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการประกันรายได้สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ และโครงการรับจำนำในสมัยรัฐบาลเพื่อไทย  ซึ่งอาจเป็นมุมมองที่แตกต่างไปจากนักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป หรือภาคประชาสังคม ที่เห็นกันว่าหากมีสองตัวเลือกโครงการประกันรายได้น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

ประชาไทจึงสรุปความในช่วงอภิปรายนี้โดยแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ เพื่อสะดวกต่อการอ่าน พร้อมกับตั้งคำถามเพิ่มเติมในตอนท้ายเกี่ยวกับกลไกตลาด และแนวทางในระยะยาว ซึ่งพิชิต สรุปไว้ว่า หากจะถามว่าเห็นด้วย 100% ไหม ก็คงไม่ใช่เช่นนั้น แต่หากมีตัวเลือกในเชิงนโยบายเพียงเท่านี้ เขาก็ไม่คัดค้านโครงการรับจำนำเพราะผลประโยชน์ที่ตรงและทั่วถึงกับชาวนามากกว่า พร้อมร่วมลุ้นรอดูฝีมือการบริหารสต๊อกข้าวของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าถึงที่สุดก็เชื่อว่านโยบายนี้น่าจะเป็นนโยบายระยะสั้นเท่านั้น 

อะไรคือเหตุผลของทั้งหมดที่กล่าวมา คำตอบอยู่ในเนื้อหาด้านล่าง

 

000000000

 

ปูพื้นภาพรวม เกษตรกรรมไทยอยู่ตรงไหน

ภาพรวม ในประเทศไทย รายได้ประชาชาติ หรือจีดีพี นั้น  จะเห็นว่าภาคเกษตรกรรมสำคัญทั้งในแง่รายได้และจำนวนคน  ในภาคเกษตรมีรายได้ 10-12% ของรายได้ประชาชาติต่อปี นั่นคือ คนไทยผลิตสิ่งของมาขาย 100 บาทเป็นสินค้าเกษตร 10 กว่าบาท แต่ใน 10 กว่าบาทนั้นมีคนไทยแบ่งรายได้นั้นหรือใช้ชีวิตในภาคเกษตรประมาณ 40%  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคนในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการจะมีรายได้โดยเฉลี่ยสูงก ว่าบริษัทใหญ่ๆ ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ลองไปดูรายชื่อผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะนามสกุล บริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์จะพบว่าเกือบทั้งหมดอยู่ในกำมือของกลุ่มเศรษฐี เพียงไม่กี่ตระกูล ในธุรกิจเกือบทุกประเภทมีประมาณ 20 กว่านามสกุล และส่วนที่ใหญ่ที่สุดและมีเกือบในทุกที่คือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยผ่านบริษัทถือหุ้นเช่น ทุนลดาวัลย์ เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้เปิดเผยเป็นการทั่วไป

จึงกล่าวได้ว่า ระบบเศรษฐกิจของไทยผูกขาดอย่างมาก อยู่ในกลุ่มตระกูลเก่าๆ ไม่กี่ตระกูล เรียกว่า ทุนเก่า หากินด้วยกันมาเกือบร่วมร้อยปี

ในภาคเกษตร มีสินค้าเกษตรหลายตัว แต่ตัวสำคัญจริงๆ คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน แต่ในบรรดาพืชเหล่านี้ กลุ่มเกษตรกรที่เป็นกลุ่มใหญ่และมีความสำคัญในแง่เม็ดเงินคือ ข้าว กับยางพารา ข้าวอยู่ในภาคกลาง เหนือ อีสาน ส่วนยางพารา หลักๆ อยู่ภาคใต้ ในบรรดาสินค้าเหล่านี้ จะมีกลุ่มทุนเกษตรเข้ามากินในลักษณะเป็นพ่อค้าคนกลางเกือบทุกตัว  และมักดำเนินธุรกิจส่งออกด้วย


ตลาดข้าวผูกขาดมายาวนาน ไม่มีการแข่งขันจริง

ในตลาดข้าว องค์กรที่มีความสำคัญ กลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญที่สุดคือ สมาคมผู้ส่งออก รวบรวมผู้ส่งออกข้าวแทบทั้งประเทศอยู่ด้วยกัน ซึ่งนับเป็นรูออกของข้าวไทย ในกลุ่มพ่อค้าส่งออกข้าวของไทย ถ้าดูเฉพาะจำนวนจะเห็นว่ามีเป็นร้อยบริษัท ดูเหมือนกระจายดี  นี่เป็นเหตุให้นักวิชาการบางค่ายออกมาด่าเรื่องนี้เป็นประจำ เพราะเมื่อเห็นเป็นร้อยบริษัทก็เชื่อว่าแข่งขันกัน ไม่มีการผูกขาด มีรายเล็กรายน้อยมาแย่งซื้อข้าวจากชาวนา และโรงสีไปส่งออก ดังนั้น จึงเป็นราคาตามกลไกตลาดแข่งขันเสรีที่เป็นธรรมแล้ว

แต่ความเป็นจริง ลองไปดูโควตาการส่งออกที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะเห็นว่าพ่อค้ารายใหญ่เป็นล้านตันขึ้นไปต่อปี มีไม่เกิน 10 บริษัท ซึ่งเป็นพวกตระกูลเก่า อยากรู้ว่าใคร เข้าไปในเว็บไซต์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ดูรายชื่อกรรมการ ดูรายชื่อบริษัท แล้วเข้าไปดูในเว็บไซต์ของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ดูรายชื่อบริษัทท็อปเท็น จะเห็นบางอ้อ ตาสว่างทันที

พ่อค้าส่งออกข้าวรายใหญ่พวกนี้ คือ ทุนเจ๊กที่หากินกับทุนโบราณมาหลายชั่วคนนั่นเอง ตลาดส่งออกข้าวไทยจึงบอกตรงนี้เลยว่า เป็นทุนผูกขาด ไม่กี่บริษัทที่คุมการส่งออกข้าวของไทยไว้ และจึงเป็นผู้กำหนดราคาข้าวในประเทศไทย เพราะส่งออกเป็นราคาในตลาดโลก ส่งได้เท่าไรหักต้นทุนลงมาเรื่อยๆ  ข้าวสารหนึ่งตันราคาส่งออกประมาณสามหมื่น ลงมาถึงชาวนาก่อนจะมีโครงการรับจำนำข้าว เมื่อก่อนประกันรายได้บ้าง ประกันราคาบ้าง ประกันราคาสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ชาวนามีรายได้ตันละ 6-7 พันบาท ขณะที่พ่อค้าส่งออกได้ 30,000 บาท ถามว่าใครอ้วน


โครงการประกันรายได้ งบรัฐอุ้มชาวนา พ่อค้าลอยลำกดราคาต่อ

โครงการประกันรายได้ มีผลข้างเคียง คือ หนึ่ง เอื้อประโยชน์ให้พ่อค้าส่งออกโดยตรง สอง ทำให้ข้าวมีราคาต่ำ เพราะโครงการประกันรายได้ของอภิสิทธิ์ มีวิธีการคือ ชาวนาขายให้พ่อค้าตามราคาตลาด 6,000-9,000 บาทต่อตัน ไม่เคยเกิน 10,000 บาทต่อตันสำหรับข้าวเปลือก ชาวนาขายไป รัฐบาลจะตั้งราคาสูงไว้ เช่น สมัยอภิสิทธิ์ตั้งที่ 10,000 บาทต่อตัน ถ้าชาวนาขายให้พ่อค้า 8,000 บาท รัฐบาลจ่ายให้อีก 2 ,000 บาท ส่งเช็คถึงบ้านเลย กำหนดไว้เลยว่าครอบครัวหนึ่งไม่เกิน 15 หรือ 20 ไร่ ไร่หนึ่งไม่เกิน 400 กิโลกรัม สามารถคำนวณได้เลยว่าส่วนต่างต่างกันเท่าไร จับคูณเข้าไป ไม่ซับซ้อนอะไร

ฉะนั้น วิธีการอย่างนี้ พ่อค้าไม่เสียประโยชน์เลย  ยังคงรับซื้อข้าวจากชาวนาแบบกดราคาได้เหมือนเดิม ชาวนาก็ยังต้องขายข้าวให้พ่อค้าเพราะไม่มีรัฐบาลมาซื้อแข่ง และข้าวก็อยู่ในมือของพ่อค้า  ดังนั้นมันจึงให้ประโยชน์กับพ่อค้าโดยตรง

อีกประการหนึ่ง การที่รัฐบาลตั้งราคาสูงไว้ที่ 10,000 บาทต่อตัน แปลว่าอะไร เป็นการส่งสัญญาณให้พ่อค้ารู้ว่า ราคาตลาดต้องไม่เกิน 10,000 บาทต่อตัน ชาตินี้ทั้งชาติ ขายข้าวไม่มีทางได้เกินนี้ เรื่องอะไรพ่อค้าจะโง่ไปซื้อเกินจากนี้ เพราะรู้ว่าชาวนาไม่มีทางเลือก เอามือซุกหีบ มันเลยกลายเป็นเพดานขั้นสูง  ผลในทางปฏิบัติคือ โครงการประกันรายได้ของชาวนา คือ โครงการห้ามชาวนารวย

ทีนี้ที่บอกว่าชาวนาขายได้เท่าไร รัฐบาลเติมส่วนต่างให้ ปัญหาเกิดอีกเพราะรัฐบาลไม่รู้ว่าจริงๆ ชาวนาขายได้เท่าไร ตรวจสอบไม่ได้ รัฐบาลก็ใช้วิธีการง่ายๆ ตั้ง “ราคาอ้างอิง” โดยสมมติว่า ชาวนาทุกคนในพื้นที่นั้นขายได้เท่านี้ ส่วนจะขายได้เท่าไหร่ไม่รู้ ไอ้ราคาสมมติเจ้ากรรม มันเสือกสูงว่าราคาที่ชาวนาขายได้จริง มันจึงชดเชยได้น้อย เช่น รัฐบาลตั้งราคาไว้ 10,000 ชาวนาขายได้จริง 6,000 แต่ราคาอ้างอิงดันเป็น 8,000  รัฐบาลก็จ่ายให้แค่ 2,000  ระบบนี้ชาวนาไม่เคยได้ตามราคาขั้นสูงที่รัฐบาลตั้งไว้เลย เพราะราคาอ้างอิงที่สมมติก็ตั้งโดยข้าราชการคุยกับพ่อค้า มีคนอ้างว่าเป็นตัวแทนชาวนาไปนั่งอยู่บ้างเหมือนกัน

ระบบนี้ถ้าไปถามชาวนาที่อยู่ในโครงการ ก็จะพูดเหมือนกันหมดว่า ไม่เคยได้เต็มตามที่รัฐบาลบอกเลย เพราะเหตุนี้ก่อนเลือกตั้ง ต้นปี 54 เราเห็นชาวนาในภาคกลางออกมาปิดถนนทุกจังหวัด ออกมาประท้วงเรื่องประกันรายได้ว่ามันไม่เวิร์ค แล้วเรียกร้องให้รัฐจำนำข้าว เพราะชาวนาเคยได้มาตั้งแต่สมัยทักษิณ 1 มันไม่ได้เพิ่งมาทำวันนี้ แต่ไม่เป็นข่าว มันไม่เยอะ  ชาวนาเขาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมาตลอด ถึงสมัยสมัคร สุนทรเวช สมัยสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ยังทำอยู่ เพิ่งมาในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่บอกไม่ทำ ให้เป็นระบบประกันรายได้ ในเวลานั้นกำลังจะเลือกตั้ง ก็กลัวจะแพ้ยิ่งลักษณ์ ตอนนั้นสมัยปลายรัฐบาลอภิสิทธิ์ จึง “ทำทั้งสองอย่าง”  คือ ประกันรายได้ด้วย รับจำนำด้วย  ลืมกันหมดแล้ว พวกสื่อก็ลืมหมดแล้ว

แล้วชาวนาจริงๆ ได้ประโยชน์หรือเปล่า คำตอบคือ จำนวนมากไม่ได้ประโยชน์ จากโครงการประกันรายได้ เพราะเขาใช้วิธีการลงทะเบียนโดยยึดถือจากโฉนดที่ดิน ที่ดินตรงนี้มีโฉนดและทำนาจึงจะได้ ดังนั้น คนที่จะได้ประโยชน์คือเจ้าของที่ดินที่ให้เขาเช่าทำนา ส่วนนี้ก็จะได้ด้วยทั้งที่ไม่ได้ลงมือทำนาเองจริงๆ  พอสิ้นฤดูกาลมีเช็คส่งถึงบ้าน ส่วนต่างกี่พันบาทเขาคำนวณให้เสร็จ ทั้งที่คนเช่าปลูก ได้สองเด้ง

ที่แย่ยิ่งกว่านั้น ในหลายพื้นที่ ส.ส.มาเล่าให้ฟัง มีโฉนดมาลงทะเบียน ได้ชดเชยด้วย แต่ไม่ได้ทำนา ที่ดินเอาไปทำประโยชน์อื่น สมัยนั้นเขาเลยมีคำพูดกันเสมอๆ ว่า ขี่เบนซ์ ขี่วอลโว มารับเช็ค


ประกันรายได้ไม่ทั่วถึงจริง

ประเด็นต่อมา โครงการประกันรายได้เป็นโครงการที่รัฐบาลลงมือทำน้อยมาก ราคาอ้างอิงก็กำหนดโดยผู้เชี่ยวชาญมานั่งทำกัน แล้วเอาเข้าครม. ยกมือเห็นด้วย สิ้นปีก็ส่งเช็ค ไม่ต้องลงไปดู เรียกว่า แจกเงินอย่างเดียว และไม่มีข้าวในมือแม้แต่เม็ดเดียว ถึงเวลาก็ตั้งงบประมาณมา สิ้นฤดูก็เซ็นเช็คไป จบ ไม่มีข้าวในมือเอาไปขาย ไม่มีทางตรวจสอบได้ว่าเงินที่ออกไปใครได้บ้าง ตัวจริงหรือไม่ พ่อค้าก็ยังซื้อได้ในราคาตามใจชอบ

พวกนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาเรียกร้องให้กลับไปใช้ระบบประกันรายได้ ขอบอกเลยว่า ไม่รู้เรื่อง หรือไม่ก็เพราะเป็นคนคิดโครงกานี้ให้พรรคประชาธิปัตย์ 


โครงการรับจำนำ ดีกว่าตรงไหนบ้าง

โครงการรับจำนำข้าว ต่างออกไป คือ รัฐบาลตั้งราคาจำนำไว้สูง โดยไม่จำกัดจำนวน ไม่ได้เข้าไปแย่งซื้อนะ ให้ชาวนามาจำนำโดยมีระยะไถ่ถอน 60 วัน หรือ 90 วันแล้วแต่สัญญา ถ้าราคาตลาดสูงกว่าที่รัฐบาลตั้งไว้ชาวนาสามารถไถ่คืนแล้วไปขายข้างนอกได้  แต่ในทางปฏิบัติ ปรากฏว่าราคาที่รัฐบาลเพื่อไทยตั้งไว้มันสูงมาก คือ 15,000 บาทต่อตัน  ขณะที่ราคาที่เปิดการซื้อขายกันในตลาดมัน 6,000 บาท 7,000 บาท 8,000 บาท ช่วงที่ข้าวขาดแคลนก็อาจขึ้นถึง 10,000 บาทต่อตัน  พอรัฐบาลตั้ง 15,000 บาทต่อตัน มันสูงกว่าในตลาดเยอะ ชาวนาก็เลยเอาข้าวไปจำนำกับรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่  ปีที่แล้วทั้งปี ข้าวเปลือกที่เข้าสู่โครงการรับจำนำข้าวประมาณ 17-19 ล้านตัน ทั้งที่ผลผลิตทั้งหมดประมาณ 30 กว่าล้านตัน  ที่เหลือบางส่วนชาวนาเก็บไว้กินเอง อีกส่วนก็ขายให้พ่อค้าอยู่

ถ้ามองจากมมุมชาวนา ชาวนามีทางเลือกสองทาง ทางหนึ่งเข้าโครงการจำนำของรัฐบาล ทางหนึ่งไม่เข้าโครงการ ขายให้พ่อค้ากับโรงสีเหมือนเดิม  ตามข้อมูล ชาวนามีทั้งหมดราว 3 ล้านครัวเรือน มีประชากรเกือบ 20 ล้านคน ซึ่งเข้าโครงการรับจำนำข้าวไม่ทั้งหมด เข้าประมาณ 2 ล้านครัวเรือน  ถามว่าชาวนาได้ประโยชน์หรือไม่ ทั้งชาวนาที่เข้าโครงการและไม่ได้เข้าโครงการ ชาวนาที่เข้าโครงการได้ประโยชน์ตรงๆ แน่นอน เพราะเอาข้าวไปให้รัฐบาลโดยตรง แล้วไปเก็บในคลังของรัฐบาล ไม่เก็บที่โรงสี เก็บที่โกดังรัฐบาล การที่รัฐบาลนี้เก็บที่คลังส่วนกลางเพื่ออุดช่องโหว่สมัยทักษิณ ที่รับจำนำข้าวไว้ที่โรงสี ซึ่งเกิดกรณีข้าวหาย สต๊อกลม เกิดการเอาข้าวคุณภาพต่ำมาแทนคุณภาพสูง หายเป็นแสนตัน ถูกด่าเยอะ รัฐบาลนี้เลยอุดจุดอ่อน เก็บที่คลังส่วนกลางของรัฐบาล ชาวนาที่เอาข้าวมาจำนำก็จะได้ใบประทวน แล้วเอาใบประทวนไปยื่นที่ ธกส. ดูแล้วก็โอนเงินเข้าบัญชีชาวนาโดยตรง ตามที่คำนวณในใบประทาน อันที่จริงชาวนาก็ไม่ได้เต็มหมด เพราะต้องหักลดค่าความชื้น ข้าวเกี่ยวใหม่ๆ ความชื้นมันสูง แต่นั่นก็เป็นอัตราที่รัฐบาลกำหนด ราคาประกาศจริงๆ ก็มีลดหลั่นมาว่าความชื้นเท่าไรควรจะได้เท่าไร

ลักษณะวิธีการอย่างนี้ ชาวนาต้องมีข้าวจริงมาให้มาให้รัฐบาล แล้วรัฐบาลโอนเงินเข้าบัญชีชาวนาโดยตรง พ่อค้ากับโรงสีไม่เกี่ยวเลย ฉะนั้น ชาวนาได้ประโยชน์โดยตรงหรือไม่ ตอบตรงนี้ว่าได้โดยตรงแน่ๆ ขอให้มีข้าวเท่านั้น เช่าเขาทำก็ได้ ชาวนาที่เช่าที่ดินทำนาก็ได้ด้วย  ขอให้เป็นชาวนาตัวจริง มีที่ดิน ไม่มีที่ดินก็ได้ประโยชน์


ชาวนาที่ได้ประโยชน์ มีแต่ชาวนาที่เข้าโครงกาหรือชาวนารวย จริงหรือ ?

ในส่วนของชาวนาที่ไม่เข้าร่วมโครงการ พรรคประชาธิปัตย์ นักวิชาการหลายคนโจมตีว่า ชาวนาที่เข้าโครงการมีแต่ชาวนารวย ชาวนายากจนที่ไม่มีที่ดิน หรือมีที่ดินน้อยไม่ได้ประโยชน์ จริงหรือเปล่า คำตอบคือไม่จริง ชาวนาที่ไม่ได้เข้าโครงการก็ได้ประโยชน์ทางอ้อม เพราะรัฐบาลรับจำนำ 17-18 ล้านตัน เหลือข้าวที่ซื้อขายกับเอกชนอีก 10 กว่าล้านตัน เขายังหาซื้อได้ ข้าวในตลาดเอกชนมันหายไปเยอะ พ่อค้าข้าวต้องแย่งซื้อข้าวที่จำนวนน้อยลง ทำให้ราคาข้าวเปลือกนอกโครงการก็แพงขึ้นไปด้วย ดังนั้น ชาวนาที่ไม่เข้าโครงการก็ได้ประโยชน์ด้วย แน่นอน อาจต่ำกว่าราคาจำนำอยู่บ้าง ข้อมูลมีอยู่ประมาณ 8,000-12,000 บาท ราคาโดยเฉลี่ยก็ยังถือว่าดีตามไปด้วย นี่คือสาเหตุว่าทำไมชาวนาไม่เข้าโครงการทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์

แน่นอน โครงการนี้พ่อค้าเสียประโยชน์โดยตรง เพราะ หนึ่ง ต้องมาแข่งซื้อข้าวกับรัฐบาลในราคาที่สูงขึ้น สอง ข้าวมีในมือน้อยมาก ส่งออกไม่พอ ประเทศไทยส่งออกข้าวปีหนึ่งประมาณ 8-10 ล้านตันต่อปี ดังนั้น ทางออกสำหรับพ่อค้าคือ ต้องตั้งราคาสูงขึ้นไปอีกเพื่อดังข้าวจากชาวนา หรือไม่ก็ต้องไปประมูลซื้อจากรัฐบาล

คนจะเสียประโยชน์ค่อนข้างมากคือ พ่อค้าส่งออกโดยรวม โดยเฉพาะขั้นกลางและขั้นเล็ก เขาต้องซื้อในราคาที่สูงขึ้น ทั้งยังต้องแข่งกับพ่อค้ารายใหญ่ และรัฐบาลด้วย ฉะนั้น รายกลาง รายเล็ก จะมีปัญหา ส่วนรายใหญ่มีปัญหาบางส่วน เพราะซื้อในตลาดเปิดต้องซื้อในราคาแพงขึ้น ไม่มีข้าวจะส่งออก รายใหญ่ส่วนใหญ่มีสัญญาล็อตเป็นก้อนใหญ่ ต้องมาประมูลจากรัฐบาล ซึ่งมันก็มีปัญหาว่า รายใหญ่บางรายอาจจะได้ บางรายอาจจะไม่ได้ พ่อค้าที่ประมูลไม่ได้ก็เสียประโยชน์โดยตรงก็จะออกมาดิ้น ส่วนที่ประมูลได้ก็อาจไม่บ่นเท่าไรแม้ต้องประมูลในราคาสูงจากรัฐบาล

อีกฝั่งหนึ่งที่ไม่ได้เสียประโยชน์ และได้ประโยชน์ด้วยคือ โรงสี  แต่เดิม พ่อค้าก็ต้องมาจ้างโรงสีสีอยู่แล้ว แต่ ณ วันนี้ ก็มารับจ้างสีให้รัฐบาล ราคา 500 บาทต่อตัน ดังนั้น  โรงสีไม่ได้เสียประโยชน์ โรงสีจึงไม่ได้ออกมาคัดค้าน ต่อต้านเลยถ้าสังเกตดู คนที่คัดค้านหนักคือพวกพ่อค้าส่งออก และนักวิชาการที่ยืนข้างพ่อค้าส่งออก

โดยสรุป ชาวนาทั้งในและนอกโครงการ ได้ประโยชน์ โรงสีได้ประโยชน์ พ่อค้าส่งออกเสียประโยชน์มากบ้าง น้อยบ้าง  อีกส่วนหนึ่งที่ได้ประโยชน์ทางอ้อมไปบ้างคือ พวกเจ้าของที่ดิน ซึ่งมันเป็นผลทางกลไกอยู่แล้ว เมื่อราคาข้าวมันสูงขึ้น ก็จะมีความต้องการในการเช่าที่ดินทำนาเพิ่มขึ้น แต่ที่ดินมีจำกัด ค่าเช่าที่ดินเพิ่มขึ้นแน่นอน ประโยชน์ที่ชาวนาได้ไปส่วนหนึ่ง เจ้าของที่ดินก็ต้องมาแบ่งเค้กส่วนหนึ่งแน่นอน จะไปห้ามเขาก็ไม่ได้ เพราะถ้าไปห้ามชาวนาจะเป็นคนเสียประโยชน์เอง เพราะถ้าห้ามเขาก็จะไม่ให้เช่า หรือทำเองดีกว่า

ดังนั้น ที่โจมตีว่าชาวนาก็ต้องจ่ายค่าเช่าเพิ่มขึ้น อันนี้จริงบางส่วน ต้องยอมรับ  อีกอันที่ได้ประโยชน์ทางอ้อมคือพวกข่ายปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าแมลง ก็ได้ตามไปด้วยแน่นอน อันนี้ห้าไม่ได้ ผลประโยชน์จากโครงการจำนำข้าวมันจะกระจายไปหลายกลุ่ม ชาวนาเป็นกลุ่มใหญ่ที่ได้มากที่สุด แต่ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่ได้


โครงการแบบนี้ต้องขาดทุนอยู่แล้ว !

บอกคนถามเรื่องปัญหาโกดังเก็บ หรือไซโล ที่เคยมีปัญหามาก่อนหน้านี้  เรื่องคลังสินค้าที่จะสต๊อกข้าวมีจำนวนจำกัด ทำให้เราต้องคุยกันเรื่องจุดอ่อน ซึ่งรัฐบาลต้องใช้ฝีมือในการบริหาร ปัญหาใหญ่ที่สุดของโครงการับจำนำข้าวแบบนี้คือ ขาดทุน ขอเรียนให้ทราบว่า รัฐบาลรับจำนำ รับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาสูงมาก  15,000  บาทต่อตันข้าวเปลือก 20,000 บาทต่อตันข้าวเปลือกหอมมะลิ ถือว่าสูงมาก ถ้าคำนวณเป็นข้าวสาร ราคาเกือบเท่าราคาส่งออกเลย ซึ่งถ้ารัฐบาลจะระบายข้าวออกไปไม่เก็บไว้จะต้องขายในราคาต่ำ ซึ่งก็สมเหตุสมผล ถ้ารัฐบาลรับจำนำข้าวจากชาวนาแล้วไปขายได้กำไร ก็ผิดแล้วแสดงว่าหาประโยชน์จากชาวนาน่ะสิ

ดังนั้น ขอเรียนว่า โครงการแบบนี้ รัฐบาลตั้งขาดทุนเพื่อช่วยชาวนา แต่ขาดทุนมากแค่ไหน เป็นภาระงบประมาณหรือไม่ ทำให้รัฐบาลเป็นหนี้เพิ่มหรือไม่ นี่ต่างหากที่เป็นประเด็น

โครงการแบบนี้จะเหมือนโครงการอื่นๆ อีกเยอะที่รัฐบาลทำเพื่อช่วยคนจน เช่น รถเมล์ รถไฟ ที่ขาดทุนรัฐบาลต้องอุ้มเป็นพันล้านทุกปี  เป็นการอุ้มคนจนในการเดินทาง ฉะนั้น โครงการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรทุกตัว รัฐบาลต้องขาดทุน แต่จะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับโครงการ


ความเสี่ยงของโครงการจำนำข้าวที่จะเพิ่มการขาดทุน

โครงการรับจำนำข้าวขาดทุนแน่ จาก 3 สาเหตุหลัก 1.ทุจริต 2.ข้าวบูดเน่าเสียหาย 3.ขายออกไปในราคาต่ำเพื่อระบายข้าวออก

1.ทุจริต มีตั้งแต่เอาข้าวเปลือกข้ามพรมแดนเข้ามา  แล้วมาสวมสิทธิเอาใบประทวนไปขึ้นเงิน , ชาวนาตัวปลอมมาลงทะเบียนปลอม, ข้าวในโกดังหายหรือถูกสลับด้วยข้าวคุณภาพต่ำกว่า ถามว่า ไอ้การทุจริตพวกนี้มันเยอะไหม ถ้าเยอะก็เสียหายเยอะ ถ้าน้อยก็เสียหายน้อย ณ วันนี้หลักฐานที่เป็นการสำรวจไม่มีข้อมูล ที่กล่าวหาว่าจะเสียหายเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน ที่พูดล้วนเป็นการคาดเดาทั้งสิ้น  ที่มีหลักฐานชัดเจน คือ คดีที่ดีเอสไอทำเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว จะพบว่า มีการทุจริตประมาณ 16 จังหวัด ภาคกลางส่วนใหญ่ ภาคเหนือนิดหน่อย ภาคอีสานแทบจะไม่มีเลย เป็นคดีจังหวัดละ 2-3 คดี รวมแล้วไม่ถึงร้อยคดี นับเม็ดเงินไม่ถึงร้อยล้านบาท เทียบกับโครงการปีที่แล้ว 2.6 แสนล้านบาท มันถือว่าน้อยมาก ไม่ถึง 1% สมมติโกงกันจริง สิบเท่าของที่จับได้ ตัวเลขก็ยังเป็นร้อยล้าน ถ้าคิดร้อยเท่า ก็ตัวเลขเป็นพันล้าน ซึ่งเทียบกับขนาดโครงการก็ยังน้อยมาก

เรื่องนี้สรุปต่างกัน คุณจะเชื่อฝั่งไหนก็ตามสะดวก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ต้องเอาจริงกับเรื่องนี้ แต่การทำเป็นคดีพิเศษก็พอวางใจได้ว่าไม่ได้ขึ้นกับอำนาจในท้องถิ่น ดีเอสไอจัดการเองโดยตรง  ส่วนการทุจริตอื่นๆ เช่นเอาข้าวจากเขมรมาสวมสิทธิ์ ในทางปฏิบัติทำได้ยาก แล้วถ้าทำได้ต้องมีเจ้าหน้าที่ที่พรมแดนร่วมมือด้วย มันไม่ง่าย ฉะนั้น มันพูดกันเกินเลยเรื่องนี้ ส่วนชาวนาสวมสิทธิ์ ถ้าจะทำได้ก็เจ้าหน้าที่ต้องเห็นด้วย ต้องจัดการ ซึ่งผมเชื่อว่าไม่เยอะอีก ส่วนสต๊อกลม หรือสวมรอยคุณภาพต่ำ เชื่อว่าทำได้ยากขึ้น เพราะได้แก้จุดอ่อนในสมัยทักษิณ ที่เอาข้าวไปฝากไว้กับโรงสี ซึ่งก็เหมือนฝากปลาย่างไว้กับแมว ฉะนั้น จึงแก้จุดอ่อนด้วยการฝากในคลังของรัฐบาล แล้วก็มี surveyer เอกชนคอยเข้ามาตรวจตลอดเวลา ข้าวจะหายน้อยลงเยอะ ถ้าข้าวหาย ผู้บริหารคลังกลางติดคุกหมด

ดังนั้นสาเหตุเรื่องการโกงกัน  มันยังไม่หลักฐาน เป็นความเชื่อ ผมเชื่อว่าน้อย ฝั่งนั้นเชื่อว่าเยอะ

จุดอ่อนอีกประการที่อาจสำคัญขึ้นมาอีกคือ ข้าวที่เก็บไว้บูดเน่า เก็บไว้นานเกินไป เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ก่อนรัฐประหาร เอาข้าวเปลือกมาเก็บ 2-3 ปี เสียหายเป็นแสนตัน แต่เผอิญโครงการมันยังเล็ก ความเสียหายจึงไม่เยอะ แต่วันนี้โครงการมันใหญ่ขึ้นเยอะ ข้าว 17-19 ล้านตัน สมมติมันเน่าหมดเลย ไม่เหลือสักเม็ด มันก็เป็นจุณ  นักวิชาการที่บอกว่าจะเสียหาย 2 แสนกว่าล้านบาท แปลว่าเขาสมมติว่าข้าวทั้งหมดจะเน่าหมดทุกเม็ด ที่ผ่านมามันเกิดขึ้นน้อยมากเพราะเพิ่งผ่านมาแค่ปีเดียวด้วย

แต่อันนี้ก็เป็นข้อคิดว่า ถ้าเก็บไว้นานเกินไปความเสียหายจะเกิดขึ้น แต่รัฐบาลชุดนี้ก็มีการแก้จุดอ่อน สมัยทักษิณเก็บเป็นข้าวเปลือกข้ามปี รัฐบาลนี้รับมาปั๊บ ภายใน 5 วัน สีเป็นข้าวขาวเลย  สีออกมาได้ 10-12 ล้านตัน ก็น่าจะเก็บได้ง่ายกว่า ประหยัดพื้นที่การเก็บ  การเก็บเป็นข้าวเปลือกอาจเก็บได้นานกว่าหากมีเทคโนโลยีสูง ซึ่งเราไม่ถึง ที่สำคัญ ชาวนาส่วนใหญ่ที่นำมาจำนำก็เป็นข้าวสด ความชื้นยังสูง การเก็บเป็นข้าวเปลือกอาจเสียหายมาก แต่ข้าวสารก็ยังมีเวลาการเก็บจำกัด  รัฐบาลจึงต้องหมุนเวียนข้าวให้ได้ทัน ด้วยการระบายข้าวออก ถ้าได้ตามกำหนดเวลา ความเสียหายก็จะน้อย อันนี้ก็ต้องดูฝีมือของรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ว่าหมุนเวียนข้าวได้ดีแค่ไหน ถ้าระบายและหมุนเวียนข้าวได้เร็ว จะประหยัดไม่ต้องสร้างคลังเพิ่ม และข้าวก็เสียหายน้อยลง

ในเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา กรทะรวงพาณิชย์ก็ดำเนินการได้ดีพอสมควร ระบายได้ประมาณเกือบ 1 ล้านตันข้าวขาว จากทั้งหมดประมาณ 10-12 ล้านตัน โดยทำเป็นข้าวถุง เป็นสวัสดิการให้หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ จำนวนหนึ่ง เปิดประมูลให้พ่อค้าเอาไปทำเป็นข้าวถุงขายในประเทศ รวมกันแล้วประมาณ 1 ล้านตัน ซึ่งยังน้อย ไม่สามารถระบายข้าวในประเทศได้ เพราะเดี๋ยวข้าวราคาตก ต้องส่งออกอย่างเดียว

การส่งออกมี 2 วิธีคือ ให้พ่อค้ามาประมูลเป็นล็อตแล้วเอาไปส่งออก รัฐบาลไม่ต้องยุ่ง 2. ทำ G to G หรือรัฐบาลเอาข้าวไปแลก หรือขายให้รัฐบาลประเทศอื่นโดยตรง  ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ประมูลข้าวให้พ่อค้าส่งออกไม่มากนัก  ประมาณ 1 ล้านตัน เพราะอะไร เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่ยอมปล่อยประมูลในราคาต่ำ เพราะถ้าปล่อยในราคาต่ำมาก รัฐบาลขาดทุนเยอะ พ่อค้าส่งออกได้กำไรจากการส่งออกเยอะ  ที่ผ่านมาจึงมีปัญหาเวลาพ่อค้าส่งออกมาประมูลในราคาต่ำมาก พาณิชย์ก็ไม่ให้ มันจึงเป็นการยืนจ้องหน้ากันระหว่างพ่อค้ากับรัฐบาลว่าใครยืนระยะได้อึดกว่า กัน

ที่ผ่านมา พ่อค้าส่งออกรวมหัวกันไม่ยอมซื้อในราคาสูง รวมหัวกันประมูลโดยราคาต่ำ รัฐบาลก็กลัวถูกด่า สมัยทักษิณถูกด่าเรื่องนี้ด้วยเพราะปล่อยประมูลในราคาต่ำมาก แล้วคนที่ได้ก็มีอยู่หนึ่งหรือสองราย ตระกูลที่เรารู้กันอยู่ ถูกด่ามาก รัฐบาลนี้ก็รู้ว่าถูกจ้อง รัฐบาลนี้ไม่ยอมปล่อยประมูลในราคาต่ำ ประมูลไปสองหรือสามรอบแล้วปล่อยน้อยมาก เราก็ไม่รู้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะอึดไปได้กี่น้ำ ทางออกอันหนึ่งที่เขาทำได้ดีพอสมควรคือ การทำจีทูจี ซึ่งระบุว่าทำไปได้ 7 ล้านตันข้าวสาร ทยอยส่งมอบแล้ว 4 ล้านตัน ก็หวังว่าจะเร่งระบายในทางนี้ให้ข้าวปีที่แล้วออกไปให้หมด เพื่อรอรับของปีที่กำลังจะเข้ามา


ตัวเลขการขาดทุน พอๆ กับโครงการประกันรายได้

ข้อมูลล่าสุดสำหรับการทำจีทูจี รัฐบาลขายได้ 600 ดอลล่าต่อตัน ขณะที่ราคาส่งออกอยู่ที่ 700-800 ดอลล่าต่อตัน ฉะนั้น คำนวณได้ง่ายๆ รัฐบาลจะขาดทุน 3,000-5,000 บาทต่อตัน มีข้าวสารต้องระบายออกประมาณ 10 ล้านตัน รวมแล้ว 50,000 ล้านบาท ไม่ได้เสียหาย 200,000 ล้านอย่างที่พยายามพูดกัน ผมคำนวณเองจากราคาที่ขายขาดทุนบวกที่เน่าเสีย บวกทุจริตอีกนิดหน่อย รวมแล้ว 60,000 ล้านบาท ผมอ่านรายงานจากสมาคมโรงสีไทย ตัวเลขอยู่ที่ 60,000-80,000 ล้านบาทเท่านั้น

ฉะนั้น เมื่อเทียบกับโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ โครงการนั้นใช้ไปในปีการผลิตหนึ่งปีใช้ไป 90,000 ล้านบาท เซ็นเช็คแจกให้คนขับรถเบนซ์ รถวอลโวจำนวนหนึ่ง จ่ายเฉยๆ ไม่มีข้าวสักเม็ด ใช้จ่ายไป 90,000 ล้าน แต่โครงการนี้อย่างแย่ไม่เกิน 80,000 ล้าน แล้วชาวนาได้ประโยชน์โดยตรง แล้วเงินที่หมุนเวียน ไม่ได้หายไปหมด ขาดทุน 80,000 ล้าน ก็ใส่เติมให้เต็ม เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ชาวนาได้ประโยชน์แน่นอน ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกินกว่าโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลประชาธิ ปัตย์แน่นอน และเชื่อว่าทุจริตคอรัปชั่นก็ไม่มากไปกว่าที่เคยเป็นมา และอาจจะน้อยกว่าด้วยซ้ำ

คนที่ออกมาคัดค้าน ต้องถามว่า สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์แจกเงินให้ชาวนาทั้งตัวจริง ตัวปลอม 90,000 ล้านบาท พวกคุณไปมุดหัวอยู่ที่ไหน

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ปีการผลิตปีที่แล้ว ทั้งนาปีและนาปรัง ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการได้เงินไป  1.4 แสนล้านบาท จากครัวเรือนประมาณ 2 ล้านครัวเรือน  ชาวนาที่ไม่ได้ร่วมโครงการ ก็ดูได้ว่า ข้าวในตลาดเปิดยังสูงกว่าสมัยอภิสิทธิ์ 2,000-3,000 บาทต่อตัน ชาวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมก็ได้ประมาณ 7 หมื่นล้าน

รวมแล้วชาวนาทั้งหมดได้เงินจากโครงการนี้ 2.1 ล้านบาท เอา 3 ล้านครัวเรือนหารก็รู้ว่าได้เท่าไร ชาวนาเขาถึงมีความสุข

แต่เขาก็กำลังจะมีความทุกข์ จากนักวิชาการที่ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ หาว่ารัฐบาลละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 84(1) ที่บอกว่า ห้ามรัฐบาลทำธุรกิจแข่งกับเอกชน ยกเว้นกิจการเพื่อความมั่นคงของชาติและสาธารณูปโภค อันนี้โอเค เพราะหลักนี้เป็นหลักที่ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกทำกัน ถ้าไม่จำเป็นรัฐบาลไม่ควรแข่งกับเอกชน แต่กรณีโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลไม่ได้แข่งกับเอกชน เพราะไม่ได้เข้ามาผูกขาดการซื้อข้าว เป็นการรับจำนำ คือ รัฐบาลไม่ได้รวบซื้อข้าวหมด ข้าวครึ่งหนึ่งหรือ 2 ใน 3 เท่านั้นที่อยู่ในมือรัฐบาล และไม่ได้บังคับให้จำนำ ชาวนามีทางเลือก ไม่ได้สั่งห้ามให้พ่อค้าห้ามซื้อ

รัฐธรรมนูญมาตราเดียวกัน มันยังมี 84(7) บอกว่ารัฐบาลต้องมีมาตรการอุ้มราคา ไม่ให้ราคาสินค้าต่ำ ต้องให้เกษตรกรมีรายได้สูงเพื่อความอยู่รอด ตกลงจะให้ทำตามมาตราไหน

 

คำถามเพิ่มเติม
 

Q:ตามทฤษฎีเรื่องกลไกตลาด การเข้ามาแทรกแซงของรัฐขนานใหญ่เป็นเรื่องผิดหลักไม่ใช่หรือ และตัวอาจารย์เองก็เคยเห็นด้วยเรื่องกลไกตลาด การแข่งขันเสรีมาก่อนไม่ใช่หรือ เช่น กรณีของเอฟทีเอ

A: กลไกตลาด ต้องเข้าใจก่อนว่า ถ้าทุกฝ่ายแข่งขันกัน คนซื้อก็แข่ง คนขายก็แข่ง ประโยชน์มันจะกระจายกันออกไป ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผูกขาด แต่ถ้ากลไกตลาดเกิดการผูกขาดขึ้นมาแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ คนได้อำนาจผูกขาดจะได้ประโยชน์ ซึ่งกรณีอย่างนี้ ปกติมักจะให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซง ฉะนั้น กลไกตลาดไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลแทรกแซงไม่ได้เลย แต่ถ้ากลไกตลาดทำงานได้ไม่ครบถ้วน เกิดการผูกขาด หรือสองฝั่งทำงานได้ไม่เท่ากัน รัฐบาลก็ต้องเข้ามาทำในบางจุดที่เข้ามาทำได้ ดังที่ผมพูดตอนแรกว่า นักวิชาการบางคนออกมาบอกว่าตลาดส่งออกข้าวเป็นตลาดแข่งขันผมจึงเถียงว่ามัน ไม่จริงไง ตลาดมันไม่ได้แข่งขันจริง จำนวนผู้ส่งออกอาจจะมีเป็นร้อยบริษัท แต่ผู้ส่งออกใหญ่เป็นตัวหลักมีไม่ถึงสิบราย และมีผลกระทบต่อราคาข้างล่างนี่อีก ในกรณีอย่างนี้ไม่เฉพาะข้าว แต่สินค้าเกษตรตัวอื่นด้วย ถ้าอำนาจต่อรองระหว่างเกษตรกรและพ่อค้ามันไม่เท่ากัน แล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์มากกว่า รัฐบาลก็ต้องเข้ามาช่วย

ในกรณีของข้าวเป็นระบบแบบนี้มาหลายสิบปี คนรวยคือพ่อค้ากับคนส่งออก ชาวนานี่จนมาตลอด ถ้ามันแข่งกันจริงทำไมชาวนาจน ถ้าพ่อค้าแข่งกันซื้อข้าวจากชาวนาจริง ทำไมราคามันต่ำ มันต้องมีปัญหาแล้ว เวลาชาวนาขายทำไมขายได้ถูก แต่พ่อค้าซื้อถูกกลับเอาไปขายแพงได้ แล้วส่วนต่างมันเยอะมาก แสดงว่าข้อต่อตรงพ่อค้าส่งออกมันมีอำนาจไม่เท่ากัน มันจึงไม่ใช่ตลาดแข่งขันจริงในกรณีของตลาดข้าว


ถ้าใช้ตรรกะนี้ อย่างนี้สินค้าเกษตรของไทย มิต้องให้รัฐอุดหนุนหมดเลยหรือ โมเดลอย่างนี้โอเคหรือ

ขึ้นอยู่กับวิธีการนะ ในแต่ละอันมันจะไม่เหมือนกัน อย่างกรณีของพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่จะใช้วิธีจำนำเป็นหลัก จำนำข้าว จำนำมันสำปะหลัง จำนำยาง เขาใช้วิธีการนี้เพราะมองว่าอยากจะให้เกษตรกรกับรัฐบาลมาดีลกันโดยตรง โดยไม่ผ่านพ่อค้า แนวโน้มของเพื่อไทยคือข้ามกลไกของพ่อค้าไป แต่ถ้าเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคอื่น จะใช้วิธีประกันราคา จะให้พ่อค้าและเกษตรกรยังซื้อขายกันอยู่ แล้วรัฐบาลเข้าไปอุดในส่วนที่เป็นส่วนต่าง ขึ้นอยู่กับปรัชญา แนวคิด และวิธีการ

ทีนี้ การรับจำนำ ที่ผมบอกมันก็มีข้อเสียอยู่จำนวนหนึ่ง เช่น เม็ดเงินเยอะ โอกาสจะเสียหายจากการทุจริตก็เยอะตามไปด้วย มันเป็นหลักทางเศรษฐศาสตร์ที่รู้กันว่า โครงการใดที่ทำมาก การทุจริตมันก็จะมากเป็นเงาตามตัว ฉะนั้น โครงการอย่างนี้หัวใจสำคัญ อยู่ที่การควบคุม ดูแลเรื่องทุจริต ซึ่งรัฐบาลต้องเอาจริง ช่วงปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ที่จับได้และมีหลักฐานอาจจะยังน้อย แต่ถ้าโครงการนี้ทำไปหลายๆ ปี เรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งอันนี้จะเป็นจุดอ่อนสำคัญ การมีคนมาทักท้วง ไม่ว่าจะเป็น มล.ณัฐกร ก็ดี อาจารย์ วีรพงษ์ รามางกูร ก็ดี ว่าจะต้องระวังการทุจริตเป็นคำเตือนที่ดี และรัฐบาลก็ควรฟัง เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ และที่ผมย้ำก็คือ การบริหารสต๊อกข้าว คุณจะต้องหมุนเวียนข้าวให้ทัน อย่าให้ข้าวมันค้างในโกดังนานจนเสียหาย และการระบายออก ประมูลออกก็ต้องทำในทางที่ขาดทุนน้อยที่สุด ถ้าทำแบบไทยรักไทย 1 ที่ประมูลยกล็อตไปทีเดียว มีรายเดียวได้และราคาต่ำมาก คุณก็ต้องถูกโจมตีแน่ว่าว่ามีนอกมีในกับคนที่มาประมูล

ผมคิดว่า การทำในสมัยนี้ทำได้ ผมก็สนับสนุนไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก บอกตรงๆ แต่ผมก็ไม่คัดค้าน ถ้ามีตัวเลือกให้เลือกระหว่างประกันรายได้ กับจำนำ ผมก็ยังเลือกการจำนำว่าน่าจะได้ผลกว่า แต่ถ้าจะมีวิธีการอื่นไหมที่ดีกว่านี้ ผมก็ว่าน่าจะลองแสวงหาดู มาตรการที่รัฐเข้ามาแทรกแซงแล้วใช้งบน้อยกว่านี้ โอกาสทุจริตน้อยกว่านี้ โอกาสเสียหายน้อยกว่านี้ ถ้ามีก็ควรจะทำ  ผมก็ยังนึกไม่ออกนะ ในต่างประเทศก็มีหลายโครงการที่พยายามทำ ซึ่งเราก็ต้องไปศึกษา เช่น ในอเมริกา เขาใช้วิธีให้เงินให้เกษตรกรงดการเพาะปลูก ผลผลิตออกมาน้อย ผลผลิตส่วนที่ออกมาก็มีราคาสูง ในยุโรปใช้วิธีการอุดหนุนเงินให้เกษตรกรเลย เกษตรกรขายแพงในต่างประเทศ และขายในประเทศราคาถูกลง


เราบอกว่า ระบบเดิมมันมีผู้เล่นใหญ่ในตลาดข้าวไม่กี่เจ้า เป็นการผูกขาด การรับจำนำของรัฐบาล มันยิ่งสร้างการผูกขาดเข้าไปใหญ่ไหม เพราะเอกชนที่จะประมูลได้ก็น้อยลงไปอีก

ก็ใช่ ถ้าพูดกันให้ชัด โครงการรับจำนำข้าวน่าจะเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวมันไม่ได้แก้ปัญหาโครง สร้างตลาดข้าวอย่างแท้จริง ชาวนาจะได้ประโยชน์เฉพาะตอนที่มีโครงการ คนที่จะเดือดร้อน เสียผลประโยชน์มากน่าจะเป็นพ่อค้าส่งออกขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ซึ่งไม่มีปัญหามาประมูลแข่งกับรายใหญ่ได้ พวกนี้จะเผชิญกับปัญหาในการหาข้าว


มาตรการชั่วคราวนี่ชั่วคราวขนาดไหน กี่ปี

อย่างน้อย 2-3 ปี ถ้ามี AEC (เขตเศรษฐกิจอาเซียน) นี่ก็ไม่น่าจะทำได้แล้ว เพราะถ้ามี AEC สินค้าต้องไหลเวียนได้โดยเสรี นโยบายที่ทำให้ข้าวไทยราคาแพง จะกระทบกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างน้อย ลาว เขมร น่าจะกระทบ มันจะไปดึงราคาข้าวเขาสูงขึ้นมาด้วย ทั้งที่รายได้ประชาชนเขาต่ำกว่าเรา


ไม่ได้กระทบในแง่ว่า ของเราราคาสูง แข่งกับเขาไม่ได้หรือ

ราคาสูง คนจะไปซื้อข้าวจากลาว เขมร พม่า เพราะมันถูกกว่า แล้วจะเกิดปัญหาข้าวข้ามพรมแดน อาจมีแนวโน้มไหลเข้ามามากขึ้น ถ้าโครงการนี้อยู่นาน แต่โครงการนี้เพิ่งเกิดขึ้นปีเดียว ข้าวสวมสิทธิ์ข้ามพรมแดนยังน้อยมาก แต่ถ้าทำนานๆ ก็จะเกิดได้ อย่างน้ำตาล ก็มีน้ำตาลจากมาเลเซีย ไหลเข้ามา


แต่ต่อให้เป็นมาตรการระยะสั้นก็ตาม ก็ยังมีคนกังวลเรื่องการแข่งขัน ทำให้เราแข่งขันไม่ได้

ผมว่า เม็ดเงินจากการส่งออกสินค้าเกษตรโดยรวม ของไทยมันน้อยอยู่แล้ว สินค้าส่งออกไทย 100% เป็นสินค้าเกษตรแค่ 11-12% เอง ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรมันดูเยอะ แต่เม็ดเงินนิดเดียว การส่งออกข้าวสาร 8-10 ล้านตันต่อปี เราอาจเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก แต่เม็ดเงินก็ยังไม่เยอะ มันกลายเป็นการเมืองใหญ่ เพราะเราส่งออกในตลาดโลกเยอะ คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ ชาวนา เยอะ มันจึงเป็นสินค้าที่กระทบคนเยอะ แต่ถ้าเม็ดเงินต่อภาพรวมทั้งหมด มันไม่เยอะหรอก


แปลว่าไม่กังวลเรื่องการแข่งขันในตลาดโลก

ไม่กังวล เพราะจริงๆ สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องส่งออกอยู่ดี ส่งออกด้วยจีทูจีบ้าง  หรือโดยการให้เอกชนประมูลไปส่งออกบ้าง ฉะนั้น ข้าวที่เกินมาจากการบริโภคภายในประเทศ ก็ต้องหมุนเวียนสต๊อกด้วยการส่งออก เพียงแต่มีโครงการนี้ขึ้นมา การส่งออกด้วยจีทูจี จะเป็นรายการที่ใหญ่ขึ้นมา จากที่เคยมีแค่การส่งออกของเอกชน เท่านั้นเอง มันอาจกระทบในแง่ที่ว่าอาจไม่ได้เป็นอันดับหนึ่งของโลกอีกต่อไปในบางปี ก็ so what   ก็ถ้าประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ชาวนายังยากจนตลอด มันจะมีประโยชน์อะไรมากมาย มีแต่พ่อค้าที่รวยขึ้นๆ  จริงๆ การได้ที่หนึ่งในการส่งออก ถ้าเอาข้อมูลมาดูจะพบว่า พ่อค้าไทยเอาข้าวไทยที่มีคุณภาพดีไปดั้มขายในราคาเดียวกับเวียดนาม ขายถูก 400 เหรียญต่อตัน ก็เลยได้ตำแหน่ง ปริมาณเยอะ ทั้งที่ความจริงข้าวไทยมันแพงกว่า ตอนนี้มีโครงการรับจำนำข้าว ข้าวไทยไหลไปต่างประเทศน้อยลง ปรากฏว่าข้าวไทยราคา 600 เหรียญ ข้าวเวียดนาม 400 กว่าเหรียญ มีคนซื้อไหมก็มี เพราะข้าวไทยเป็นตลาดข้าวที่มีคุณภาพค่อนข้างสูง แม้แต่จะเป็นข้าวขาวธรรมดาก็ตาม คุณภาพมันดีกว่า เวียดนาม อินเดีย  เรื่องนี้ไปถามโรงสีจะรู้ แต่พ่อค้าส่งออกมันไม่พูด เพราะจะดั้มราคา

ส่งออกเป็นจำนวนตันเป็นอันดับหนึ่งของโลก ไม่มีความหมาย ไม่ใช่ประเด็น ใครได้ประโยชน์บ้าง ต้องย้อนถาม แต่ถ้าส่งออกแล้วได้มูลค่าสูงสุดของโลก เออ มันน่าทำ

ฉะนั้น สำหรับตลาดข้าวไทย เฉพาะหน้าคือโครงการรับจำนำ ระยะยาวคือการบริหารด้านการตลาด ด้านคุณภาพ ถ้ารัฐบาลมองการณ์ไกลก็ต้องมีโครงการเหล่านี้ด้วย  ไม่ใช่แค่จำนำเพื่อให้ได้คะแนนสูงๆ ถ้าไม่คิดแค่เรื่องเลือกตั้งนะ


จริงๆ แล้วชาวนาได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า เพราะปัจจัยการผลิตทั้งหลายขึ้นราคาเป็นเงาตามตัว

พ่อค้าก็ได้ด้วย คนเช่าที่ดินก็ได้ด้วย อย่างที่ผมบอก ก็ได้ไป ถ้าชาวนาได้ แล้วแบ่งให้คนพวกนี้บ้าง ตามกระบวนการของกลไกตลาดและต้นทุน มันก็โอเค มีกิจการใดบ้างที่ไม่มีต้นทุน ไม่มีปัจจัยการผลิต 


แต่สัดส่วนที่แย่งไปมันเยอะ

มันคำนวณได้ ถ้าจะเถียงนะ ส่วนต่างที่ชาวนาได้ไป สมมติตันละ 3 พันบาท เป็นค่าเช่ากับต้นทุนการผลิตหมดเลย ชาวนาไม่ได้เพิ่มเลย ชาวนาก็เลิกผลิต แต่เขาไม่เลิก ยังทำอยู่ แสดงว่าเขาก็ยังต้องได้ และผมคิดว่าชาวนาก็ไม่ได้โง่ขนาดว่า ได้เงินมาคำนวณแล้วไม่ได้อะไรเลย มันก็คงไม่ใช่ ปีที่ผ่านมาชาวนาก็ออกมาสนับสนุนเต็มที่เรื่องนี้ ได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์ ไปดูข้อมูล 3-6 เดือนหลังจากนี้ ไปดูยอดขายมอเตอร์ไซด์ รถกะบะ เครื่องใช้ไฟฟ้า ในต่างจังหวัด พุ่งขึ้นหรือไม่ ผมจะบอกเลยถ้าเดา ยอดขายเหล่านี้จะขึ้น วัสดุก่อสร้างจะขายได้ดี


ไม่ได้ดูเรื่องหนี้ลดลงหรือ

หนี้มันก็มีอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าหนี้ก็จะลดลงส่วนหนึ่งด้วย ถ้ามีเม็ดเงินเข้ามา ก็ปล่อยให้ชาวนาเขาคิดไป ได้เงินมาก้อนหนึ่งจะบริหารยังไง จะใช้หนี้เท่าไร จะไปทำอะไรบ้าง คนเมืองยังไปรูดบัตรซื้อนู่นซื้อนี่ได้ ชาวนาก็เป็นคน เขาก็มีสิทธิ ถ้าเขาเลือกไม่ใช่หนี้ ไปซื้อรถกระบะก็สิทธิของเขา พวกธุรกิจมีหนี้ทั้งนั้น ทำไมยังขยายกิจการ ทำไมไม่ห้ามเขา ให้เขาไปใช้หนี้ก่อน การทำนาก็เป็นธุรกิจแบบหนึ่ง

โดยสรุปคือ ผมคิดว่าโครงการรับจำนำเป็นโครงการที่พอทำได้ในระยะสั้น 2-3 ปี ดีกว่าประกันราคา ถ้ามีตัวเลือกแค่สองตัว เพราะชาวนาได้มากกว่าแน่ แต่ระยะยาวต้องปรับโครงสร้างตลาด โครงสร้างการแข่งขัน และโครงสร้างการผลิต ยกระดับตลาดข้าวให้เป็นตลาดที่มีคุณภาพ ขายได้ราคาสูง อย่าไปแข่งกับเวียดนาม อินเดีย เพราะข้าวไทยมันมีคุณภาพดีอยู่แล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net