Skip to main content
sharethis

กรอบข้อตกลงสันติภาพดังกล่าว มุ่งสร้างสันติภาพในเกาะมินดาเนาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ภายในปี 2559 โดยก่อนหน้านี้ การสู้รบระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและรบ. ฟิลิปปินส์ได้ดำเนินมากว่า 40 ปี 

 

15 ต.ค. 55 - รัฐบาลฟิลิปปินส์และกลุ่มกบฎมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์ได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพแล้ววันนี้ที่ทำเนียบประธานาธิบดี กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์  ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวได้ร่างขั้นตอนการดำเนินงานที่จะยุติความขัดแย้งในเกาะมินดาเนาภายในปี 2559 หลังการสู้รบระหว่างทั้งสองฝ่ายดำเนินมากว่า 40 ปี 
 
หัวหน้าการเจรจาจากทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในกรอบข้อตกลงสันติภาพในวันนี้ ณ ทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ระดับชาติด้วย โดยมีประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เบนิญโน่ อาคีโน่, หัวหน้าขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร มูราด อิบราฮิม และนายกรัฐมนตรีมาเลเซียนาจิบ ราซัก ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ย เข้าร่วมในพิธีลงนามดังกล่าว 
 
กรอบข้อตกลงดังกล่าว กำหนดให้มีเขตปกครองตนเองใหม่ที่ชื่อว่า "บังซาโมโร" ซึ่งแปลว่า "ชาติมุสลิม" ที่เกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ภายในปี 2559
 
องค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ ได้แสดงความยินดีต่อการลงนามในข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งบรรลุหลังการเจรจาระหว่างขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโรและรัฐบาลฟิลิปปินส์ ดำเนินมากว่า 15 ปี
 
อย่างไรก็ตาม ทางหัวหน้าของขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร เช่นเดียวกับผู้สังเกตการณ์อิสระและรัฐบาลต่างประเทศ ได้กล่าวด้วยความระมัดระวังว่า เส้นทางไปสู่สันติภาพยังมีอุปสรรคที่ยังขวางกั้น และการลงนามในวันจันทร์ไม่ได้การันตีว่าความขัดแย้งจะยุติลง 
 
"เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับการต้อนรับในกรุงมะนิลา แต่ข้าพเจ้าต้องย้ำว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นชองการเดินทางไปสู่สันติภาพเท่านั้น" กาซิล จาฟาร์ รองหัวหน้าฝ่ายการเมืองของอิบราฮิม ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี 
 
แผนที่แสดงให้เห็นเขตปกครองพิเศษเดิมในเกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์
ซึ่งแทนด้วยพื้นที่สีเขียวโดยจุดสีแดง คือเขตที่มีการลงคะแนนเสียงในปี 2544
ว่าต้องการรวมเข้าไปในเขตปกครองพิเศษของมุสลิมมินดาเนาด้วย 

ที่มาภาพ: เว็บไซต์ The Phillipines Inquirer
 
 
การต่อสู้เพื่อเอกราช
 
กลุ่มกบฎมุสลิมได้ต่อสู้เพื่อเอกราช และอำนาจในการปกครองตนเองมาตั้งแต่ทศวรรษ 2510 ในเกาะมินดาเนา ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นมาตุภูมิของตน ตั้งแต่ก่อนที่ชาวเสปนที่เผยแพร่ศาสนาคริสต์จะเข้ามายึดครองประเทศให้เป็นอาณานิคมเมื่อราว 500 ปีที่แล้ว 
 
ในปัจจุบัน ชาวมุสลิม 4-9 ล้านคน นับว่าเป็นชนกลุ่มน้อยในมินดาเนา หลังจากที่ประชาชนกรชาวแคทอลิกอพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่มากขึ้น แต่พวกเขาก็ยังถือว่าเป็นประชากรส่วนใหญ่ในบางพื้นที่ โดยในเขตการปกครองที่จะมีขึ้นใหม่ จะทำให้ชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ของพื้นที่นี้ 
 
ความขัดแย้งที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลานาน ได้ทำให้มินดาเนา ซึ่งเป็นพื้นที่ 1 ใน 3 ของฟิลิปปินส์ และเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่เพาะปลูก ต้องตกอยู่ในความยากจนที่ยืดเยื้อยาวนาน และยังทำให้การครอบครองอาวุธที่ไม่มีการจดทะเบียน และขุนศึกทางการเมืองที่ต่อสู้เพื่อแย่งชิงการถือครองที่ดิน เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนมุสลิม ก็สามารถยึดครองพื้นที่ที่กฎหมายไม่สามารถคุ้มครองได้ด้วย 
 
มีการประมาณการณ์ว่า มีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งดังกล่าวแล้วอย่างน้อย 150,000 คน โดยส่วนมากเสียชีวิตในการสู้รบที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 2510 เมื่อเกิดการปะทะอย่างหนัก 
 
ข้อตกลงหยุดยิงระหว่างขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโรและรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่มีขึ้นในปี 2546 ได้ทำให้เกิดสันติภาพมากขึ้น แต่ยังคงมีความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา 
 
ขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร เป็นกลุ่มกบฎที่ใหญ่ที่สุดที่ยังหลงเหลือในขณะนี้ หลังจากที่ขบวนการปลดปล่อยโมโรแห่งชาติ หรือ Moro National Liberation Front (MNLF) ได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับรัฐบาลไปเมื่อปี 2539
 
สนธิสัญญาดังกล่าว ได้นำไปสู่การตั้งเขตปกครองตนเองในมินดาเนา ซึ่งต่อมา อาคีโนได้กล่าวถึงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เป็น "การทดลองที่ผิดพลาด" เนื่องจากการคอร์รัปชั่นที่สูงและความยากจนที่เลวร้ายลง โดยเขตปกครองตนเองใหม่นี้ จะแทนที่เขตปกครองพิเศษอันเก่า
 

กองทัพของขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร
ที่มาภาพ: เว็บไซต์ www.bikyamasr.com
อุปสรรคต่อสันติภาพ
 
การโจมตีโดยขบวนการปลดปล่อยโมโรแห่งชาติ หรือกลุ่มอิสลามขนาดเล็กที่ยังต้องการเอกราช ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในอนาคต รวมถึงกลุ่มฝ่ายค้านจากนักการเมืองสายศาสนาคริสต์และผู้นำทางธุรกิจ นอกจากนี้ รัฐสภาแห่งชาติ ยังจำเป็นต้องผ่านกฎหมายว่าด้วยเขตปกครองตนเองด้วย 
 
อย่างไรก็ตาม อาคีโน หนึ่งในประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคนหนึ่งของฟิลิปปินส์ ได้ใช้ทุนทางการเมืองและความพยายามส่วนบุคคลอย่างมากในการยุติความรุนแรงดังกล่าว 
 
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ประธานาธิบดีอาคีโนอาจจะสามารถโน้มน้าวประชากรส่วนมากที่เป็นชาวแคธอลิกให้มาสนับสนุนการปกครองตนเองของชาวมุสลิมได้ ซึ่งต่างจากสมัยของประธานาธิบดีอาร์โรโย ที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก 
 
ทั้งสองฝ่าย ได้กำหนดให้ปี 2559 เป็นเส้นตายของการดำเนินแผนการดังกล่าว เนื่อจากเป็นเวลาที่อาคีโนต้องลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 
 
การเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการ ได้เกิดขึ้นที่มาเลเซียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอาคีโน ได้ประกาศว่าสามารถบรรลุ "กรอบข้อตกลง" หลังจากการเจรจาอย่างเข้มข้นเป็นเวลาหลายเดือนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย  
 
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net