งานวิจัยเผย นสพ.อังกฤษเต็มไปด้วยการเหมารวมทางเพศ

องค์กร Women in Journalism นำเสนองานวิจัยเปิดเผยว่า ผู้ชายมีชื่อในฐานะผู้เขียนร้อยละ 78 ในหนังสือพิมพ์อังกฤษ และมีผู้ชายถูกอ้างอิงร้อยละ 84 ส่วนที่เหลือเป็นผู้หญิงและมักถูกนำเสนอในฐานะเหยื่อหรือดารา

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2012 องค์กร Women in Journalism (WIJ) เผยแพร่งานวิจัยของกลุ่มเกี่ยวกับเพศสภาพตามหน้าหนังสือพิมพ์ของอังกฤษ โดยกล่าวว่าหน้าแรกของหนังสือพิมพ์อังกฤษเต็มไปด้วยการเหมารวมเหยียดเพศ, รูปภาพเหยียดหยามสตรี และผู้เขียนที่เป็นชาย
 
งานวิจัยเปิดเผยว่านักข่าวชายเป็นคนเขียนบทความลงหน้าแรกถึงร้อยละ 78 ขณะที่มีการอ้างอิงคำพูดและการถูกกล่าวถึงในข่าวหน้าแรก ร้อยละ 84 เป็นการอ้างอิงตัวบุคคลหรือคำพูดของผู้ชาย
 
ทีมวิจัยทำการสำรวจข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ของประเทศอังกฤษ 9 ฉบับ ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ เป็นเวลาติดต่อกัน 4 สัปดาห์
 
ผลการวิจัยรายงานว่า สตรีที่ได้รับการขึ้นหน้าหนังสือพิมพ์อังกฤษบ่อยๆ ได้แก่ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ น้องสาวของเธอ ปิบปา มิดเดิลตัน และเหยื่ออาชญากรรม เมดเดลีน แมคแคน ส่วนบุรุษที่ถูกนำเสนอภาพในหน้าหนังสือพิมพ์มากที่สุดได้แก่ ไซมอน โคเวล ที่อัตชีวประวัติของเขาได้รับการตีพิมพ์ในเดือนที่มีการวิจัย นิโกลา ซาร์โคซี ผู้ลงสมัครต่อสู้ในการเลือกตั้งของฝรั่งเศส และเจ้าชายวิลเลี่ยม
 
กลุ่มสิทธิสตรีที่ไม่พอใจเรื่องการเหมารวมเหยียดเพศในสื่อยอมรับผลการวิจัยชิ้นนี้ แอนนา ฮีสวิค ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรชื่อ Object. บอกว่า "จากการที่หนังสือพิมพ์ถูกควบคุมโดยบุรุษเพศ จึงไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ผู้หญิงถูกนำเสนอเช่นนี้ หากเราเพิ่มจำนวนนักเขียนที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น ภาพของผู้หญิงที่ถูกนำเสนอในสื่อจะดีขึ้นมาก หากพวกเราต้องการสื่อที่รับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงจัง"
 
แฮร์เรียต ฮาร์มาน รองหัวหน้าพรรคแรงงานผู้ที่รณรงค์ต่อต้านการเหยียดเพศกล่าวว่า "สื่อควรจะสะท้อนความเห็นจากทุกๆ คน แล้วในประเทศนี้มีการสะท้อนมุมมองของผู้หญิงมากน้อยเพียงใด ในสภาก็มีแต่ผู้ชายในสื่อที่รายงานเรื่องของผู้ชายในสภา เลยเป็นผลกระทบสองต่อ"
 
รายงานวิจัยของ WIJ สะท้อนความกังวลที่ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของ BBC จอร์จ เอนท์วิสเทิล ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้นจริง ทาง BBC ถูกกดดันในเรื่องการปฏิบัติต่อผู้หญิงขณะเผยแพร่รายการ หลังจากที่มีการเหยียดเพศและเหยียดวัยในหลายรายการ และช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนดังในสื่ออังกฤษก็กล่าวแสดงความกังวลเรื่องการปฏิบัติต่อสตรีสูงวัยในสื่อ
 
มาร์ก ทอมป์สัน อดีตผู้อำนวยการข่าวก่อนหน้านี้ของ BBC ยอมรับว่า สำนักข่าวของเขาต้องตอบคำถามเรื่องการขาดผู้นำเสนอรายการที่เป็นผู้หญิงโดยเฉพาะในบทบาทที่มีชื่อเสียง เอนท์วิสเทิลยอมรับว่าพวกเขายังให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้หญิงในรายการข่าวไม่มากพอ
 
เอนท์วิสเทิล กล่าวว่าเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการจัดการกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบันของโลกซึ่งเป็นสถานที่ของผู้ชาย ทำให้ BBC ต้องสะท้อนความเป็นไปของโลกในแบบที่มันเป็น
 
สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน ของอังกฤษเปิดเผยว่างานวิจัยชิ้นนี้ใกล้เคียงกับที่เดอะ การ์เดียน เคยทำไว้เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งนำเสนอว่า ภายในเดือนหนึ่ง มีบทความที่เขียนลงหนังสือพิมพ์โดยผู้ชายร้อยละ 78 ผู้ร่วมรายการในรายการ Question Time ร้อยละ 72 เป็นผู้ชาย ผู้รายงานข่าวและแขกรับเชิญในรายการ Today ของเรดิโอโฟร์เป้นชายร้อยละ 84
 
ก่อนหน้านี้ในปีเดียวกัน องค์กร 'ฐานันดรที่ 4' (4th Estate) ของสหรัฐฯ ก็เคยทำวิจัยพบว่า เมื่อสื่อรายงานประเด็นที่เกี่ยวกับผู้หญิงรวมถึงการทำแทงค์และการคุมกำเนิด มีการอ้างอิงคำพูดของผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 5 เท่า
 
WIJ วิจัยพบอีกว่าหนังสือพิมพ์ที่มีชายเป็นใหญ่ส่วนมากเป็นหนังสือพิมพ์อิสระ โดยมีบทความหน้าแรก 70 บทความมีผู้เขียนเป็นชายถึงร้อยละ 91 ในช่วงที่มีการวิจัย ขณะที่หนังสือพิมพ์ Express ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์แทบลอยด์แนวอนุรักษ์นิยมของอังกฤษมีชื่อผู้เขียนหลัก 24 คนเป็นผู้หญิงร้อยละ 24
 
ในหมู่สื่อที่เรียกตัวเองว่าสื่อคุณภาพ หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์มีอัตราส่วนนักเขียนหญิงขึ้นหน้าแรกมากที่สุดคือร้อยละ 34 ชื่อผู้เขียนที่เป็นผู้ชายมีอัตราส่วนจำนวนมากอยู่ในหนังสือพิมพ์ เทเลกราฟ (ร้อยละ 89), เดอะ ซัน (ร้อยละ 86%), เดอะ ไทม์ (ร้อยละ 82) ส่วนเดอะ การ์เดียนมีร้อยละ 78
 
ในหมู่คน 668 คนที่มีชื่อในบทความหลัก ร้อยละ 84 ที่เป็นผู้ชายซึ่งได้รับการอ้างอิงหรืออ้างถึงนั้นส่วนใหญ่ถูกอ้างอิงจากการพิจารณาความสามารถอาชีพของพวกเรา เทียบกับผู้หญิงร้อยละ 16 ที่ได้รับการอ้างอิง มักจะถูกอ้างอิงใฐานะเป็นเหยื่อหรือเป็นดารา
 
แม้จะมีความเท่าเทียมทางเพศมากกว่าในการใช้รูปภาพหน้าแรก แต่ก็ไม่มีนักการเมืองผู้หญิงคนใดเลยที่ติดอันดับ 10 รูปภาพที่ใช้ในช่วงเดือนนั้น
 
มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าเมื่อมีการใช้ภาพของสตรีที่มีอำนาจทางการเมือง จะเป็นภาพที่พวกเธอดูไม่มีพลัง เช่น เทเรซ่า เมย์ รมต.มหาดไทยของอังกฤษ ผู้มีภาพปรากฏภายในเดือนนั้น 4 ครั้ง ก็มีการใช้ภาพเดียวกัน 3 ครั้งโดยไม่เปลี่ยน ซึ่งเป็นภาพหน้าตาบูดบึ้ง ส่วนแองเจลล่า เมอเคิล ที่ปรากฏตัวเป็นภาพบนสื่อ 3 ครั้งในเดือนนั้น มีสองภาพที่ชูมือขึ้นบนอากาศแล้วฉีกยิ้ม มีน้อยภาพมากที่ผู้หญิงดูมีพลังและมีความจริงจัง
 
 
 
ที่มา
Sexist stereotypes dominate front pages of British newspapers, research finds, The Guardian, 14-10-2012
 
แผนภาพรายละเอียด
How women make the front page in Britain: get the full data, The Guardian, 15-10-2012

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท