10 ปีศึกสิทธิบัตรยา ชำแหละปัญหาสิทธิบัตรไม่มีวันตาย-การต่อสู้ไม่มีวันจบ

 

1 ตุลาคม 2555 ถือเป็นวันครบรอบ 10 ปี ของการสถาปนาสิทธิในการเข้าถึงยา

มันเป็นก้าวสำคัญเพราะการต่อสู้ระหว่างภาคประชาชน โดยเฉพาะเครือข่ายผู้ติดเชื้อ กับ บรรษัทข้ามชาติผู้เข้ามาขอจดสิทธิบัตรยาต้านไวรัสที่เรียกว่า ดีดีไอ ในประเทศไทย -- บริษัทบริสเตอร์ ไมเยอร์ สควิปป์ (MBS)

ปัญหาหลักที่ภาคประชาชนนำเสนอคือ หากการขอสิทธิบัตรยาตัวนี้สำเร็จลุล่วง บริษัทจะผูกขาดตลาดตั้งราคาสูงได้นาน 20 ปี ทั้งที่ยาตัวนี้ไม่ได้มีความใหม่ หรือมีขั้นการผลิตที่สูงขึ้นแต่อย่างใด และไม่ควรที่จะมากีดกันองค์กรเภสัชกรรม ซึ่งสามารถผลิตยาต้านไวรัสนี้ออกมาได้เช่นกัน ด้วยสูตรผสม และปริมาณมิลลิกรัมต่อเม็ดที่แตกต่าง
(อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบด้านล่าง)

ท่ามกลางการต่อสู้กันพักใหญ่ ในหลายๆ รูปแบบ ประท้วง ประชุมสัมมนา รวมถึงการฟ้องคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญา ท้ายที่สุด นี่เป็นคดีแรกที่ฝ่ายประชาชนเป็นผู้ชนะ ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรยาดังกล่าว

ขณะเดียวกันประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะกับ ‘สินค้า’ อย่างยา กำลังเป็นประเด็นใหญ่ในการตกลงทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะเอฟทีเอกับมหาอำนาจทั้งอเมริกา อียู เรื่องนี้จึงยังเป็นเรื่องสำคัญที่ยังมีการผลักดันกันต่อ แม้จะทำกันมานานนับทศวรรษแล้ว

ในวงประชุมวิชาการหัวข้อ ‘ครบรอบ 10 ปี คำพิพากษาคดีสิทธิบัตรยาดีดีไอ’ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมก็ยังพูดกันถึงข้อห่วงกังวลนี้

“กระบวนการสกัดกั้นการเข้าถึงยา ไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิบัตรโดยตรง แต่รวมถึงเอฟทีเอด้วย ภาคประชาชนได้เข้าไปจับตาดูเรื่องสิทธิบัตรแล้วก็พบว่า โครงสร้างของการพิจารณาให้สิทธิบัตรในบ้านเรามีปัญหา วันนี้ยังไม่แก้ เรายังพบการให้สิทธิบัตรในส่วนที่ไม่ควรจะได้รับ เขาได้รับการคุ้มครองยี่สิบปี เขาสามารถกำหนดราคา” สุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ กล่าว

10 ปีผ่านมา ปัญหาพื้นฐานที่ยังเถียงกันไม่จบคือการพิจารณาสิทธิบัตร ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา

“กระบวนการพิจารณาสิทธิบัตรเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ไม่อย่างนั้นเราก็ต้องตามไปคัดค้านแบบนี้ไม่รู้เท่าไร ยาตัวไหนใกล้หมดสิทธิบัตร บริษัทก็ใช้วิธีขอ Evergreening Patent ไม่มีอะไรใหม่แต่ผสมสูตรใหม่นิดหน่อยก็มาจดอีก ทำให้ผูกขาดได้ตลอด ถ้ารู้ทันก็ไปขอถอนทัน แต่ถ้าไม่มีใครรู้ก็ได้การคุ้มครองไปอีกยี่สิบปี” สุภัทราย้ำ

เรื่องสิทธิบัตรไม่มีวันตาย หรือ Evergreening Patent ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในประเทศไทย อุษาวดี มาลีวงศ์  นักวิชาการอิสระ  ระบุว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาร่วมของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย สถานการณ์ของกรณีบราซิล  อาเจนตินา แอฟริกาใต้ ก็ดูจะไม่แตกต่างกัน

อุษาวดียังนำเสนองานวิจัยที่ทำร่วมกับนักวิจัยของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อศึกษาสิทธิบัตรยาที่จัดว่าเป็น evergreening patent ซึ่งศึกษาคำขอรับสิทธิบัตรระหว่างปี 2542-2553  พบว่า ใน 11 ปีนี้มีคำขอรับสิทธิบัตรยา ประมาณ  2,000 กว่าฉบับ ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด ของไทยเองมีเพียง 10 ฉบับ และพบว่าคำขอรับสิทธิบัตรเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ใหม่ หรือมีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น กว่า 84% เป็นเพียงการนำสารเคมีเดิมๆ มาผสมกันเท่านั้น และในจำนวนของ Evergreening Patent ทั้งหลาย ก็มียาต้านไวรัส สูตรผสมจากต่างประเทศจำนวนไม่น้อยที่ภาคประชาชนทำการคัดค้านคำขอสิทธินั้นๆ ไม่ทันภายใน 90 วันในช่วงประกาศโฆษณา (pre-grant  opposition) เล็ดรอดออกไป

อย่างไรก็ตาม ในคำขอจำนวนนี้ก็พบว่ามีการละทิ้งคำขอไปเองประมาณ 800 ฉบับ ยังอยู่ในกระบวนการขอรับสิทธิบัตร 1,500 กว่าฉบับ ส่วนที่ได้รับสิทธิบัตรไปจริงๆ มี 31 ฉบับ ซึ่งอาจเพราะเจ้าหน้าที่ในกรมฯ มีไม่เพียงพอที่จะพิจารณาอย่างรวดเร็ว

“เรามองว่าหากกรมทรัพย์สินทางปัญญามีคู่มือการพิจารณาความเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องสิทธิบัตรยา ก็จะผ่อนปรนปัญหาที่เกิดขึ้นได้” อุษาวดีกล่าว

ทางออกที่มีการนำเสนอเบื้องต้นของทีมวิจัยนี้ คือ การพัฒนาคู่มือที่จะใช้ในการพิจารณาความเหมาะสมในการออกสิทธิบัตร โดยเฉพาะสิทธิบัตรยา ใช้เวลาดำเนินการในการจัดทำ 2 ปี จนกระทั่งร่างมาสำเร็จและส่งมอบให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 54 ผ่านมา 1 ปี แต่ยังไม่มีการตอบรับจากกรมฯ ว่าจะนำไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่

(ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรายละเอียดคู่มือดังกล่าวได้ที่ http://kb.hsri.or.th/dspace/handle/123456789/3501 )

สำหรับเครือข่ายภาคประชาชนอย่างสุภัทรา นาคะผิว มองว่าใน การปฏิรูประบบการพิจารณาสิทธิบัตรยานั้นจะต้องมีสัดส่วนของเภสัชกรมากขึ้น เพราะปัจจุบัน คณะกรมการพิจารณาเรื่องนี้ไม่มีเภสัชอยู่เลย แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ายาตัวไหนใหม่หรือไม่ใหม่ นอกจากนี้ในการเจรจาเอฟทีเอไม่ว่ากับสหรัฐ หรืออียู ต้องระมัดระวังอย่างสูง รัฐต้องยึดหลักชัดเจนว่าการเจรจาต่อรองกันจะต้องไม่กระทบกระเทือนกับการเข้าถึงยาของประชาชน เพราะสองมหาอำนาจนี้มีบริษัทยายักษ์ใหญ่จำนวนมาก และประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญหาโดยเฉพาะสิทธิบัตรยาก็เป็นประเด็นใหญ่ในข้อตกลง

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้น แต่ท่ามกลางระบบที่เป็นอยู่  ก็ยังไม่มีทางออกที่น่าพอใจ

อัจฉรา เอกแสงศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตยาชื่อสามัญที่มีราคาถูก และร่วมมือกับภาคประชาชนในการต่อสู้กับบรรษัทยาในคดีดีดีไอ ระบุว่า ที่ผ่านมา ‘เรา’ ทำกันได้เพียงเล็กน้อยในการตรวจสอบและต่อสู้กับการจดสิทธิบัตรที่ไม่สมควร  ส่วนใหญ่ก็เป็นยาต้านไวรัส ซึ่งแล้วแต่ว่าเรารับรู้ข่าวสารหรือไม่ เมื่อไร แต่ไม่มี ‘ระบบ’ จับตา ตรวจสอบอย่างจริงจัง ทำให้ที่ผ่านมา มียาในลักษณะเดียวกันอีกหลายตัวที่เล็ดรอดได้สิทธิบัตรไปอย่างไม่ควรจะได้

นอกจากนี้เธอยังเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการต่อสู้เมื่อ 10 ปีที่แล้วในกรณีดีดีไอว่าประสบปัญหาและความยากลำบากในกระบวนการทางกฎหมายเพียงไร โดยเน้นว่าปัจจัยที่สำคัญในการต่อสู้คดีคือ ผู้พิพากษา หากโชคดีจะได้คนที่เข้าใจประเด็นอันสลับซับซ้อนทางยาได้ แต่ในบางกรณีก็จะพบว่าผู้พิพากษาไม่เข้าใจมากนัก

ที่น่าสนใจสำหรับงานอภิปรายคราวนี้ คือ เสียงจากผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลทรัพย์สินทางปัญญา  คมน์ทะนงชัย ฉายไพโรจน์ ซึ่งแม้จะออกตัวว่าพูดได้ในเชิงวิชาการ ไม่สามารถพูดอะไรได้มากเพราะสถานะที่เป็นอยู่ แต่ก็ทำให้ได้เห็นมุมมองใหม่ๆ หลายประเด็น

คมน์ทะนงชัย กล่าวว่า  สำหรับผู้พิพากษาในศาลทรัพย์สินทางปัญญานั้นคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะอยู่แล้ว แต่ต้องมีช่องให้ศาลสามารถพิพากษาได้ด้วย เขาเห็นว่า ตัวแปรสำคัญในการต่อสู้คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะสิทธิบัตรยา ก็คือ ‘ทนายความ’

“ทนายที่เก่งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามีน้อยมาก โดยเฉพาะสิทธิบัตรยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ เพราะมันยากมากกว่าตัวอื่นๆ ท่านจะเอาเงินที่ไหนแพงๆ ไปจ่ายทนายเก่งๆ ซึ่งส่วนใหญ่ไปอยู่บริษัทยา ไปอยู่ inter law firm หมด นี่คือปัญหาของท่าน ท่านต้องหาวิธีจะหาทนายเก่งมาฟ้องคดีเหล่านี้”

“เวลาเราพิจารณาพวกนี้ จากประสบการณ์ทำคดีทรัพย์สินทางปัญญามา 7-8 ปี จะเห็นว่าครึ่งหนึ่งที่แพ้คดีเพราะทนายไม่เก่งทรัพย์สินทางปัญญา เรานั่งฟังแล้วก็รู้สึกว่าทำไมไม่ถามประเด็นนี้ แต่เราพูดไม่ได้”

“คดีสิทธิบัตรที่มีการฟ้องเพิกถอน แล้วสั่งเพิกถอนมีประมาณ 80% ลองค้นสถิติดู  เพียงแต่ท่านอย่านิ่งเฉย อย่าช้า การยื่นคำคัดค้านต่อกรมทรัพย์สินเป็นเรื่องจำเป็น”

คมน์ทะนงชัย กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ไม่ว่าจะอย่างไร ผู้พิพากษาก็ต้องทำหน้าที่ภายใต้กฎหมายที่บังคับใช้ และขณะนี้กำลังมีแก้ไขกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ ท่ามกลางการกดดันของพี่เบิ้มอย่างอเมริกา ที่ขณะนี้ก็กำลังบีบบังคับญี่ปุ่นแก้กฎหมายเหล่านี้อยู่  ประเทศไทยเองก็กำลังแก้อยู่  ขอให้ภาคประชาชนช่วยกันจับตาและตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วย

หัวหน้าองค์คณะผู้พิพากษาในศาลทรัพย์สินทางปัญญายังกล่าวอีกว่า การทำงานของศาลทรัพย์สินทางปัญญานั้น ผู้พิพากษาต้องทำการบ้านอย่างหนัก และศึกษาปฏิญญา กฎหมายระหว่างประเทศจำนวนมาก หากมีข้ออ้างอิงกับสิ่งเหล่านี้ ภาคประชาชนต้องรวบรวมมาให้ครบถ้วนและยื่นต่อศาลด้วย เพื่อความสะดวกของผู้พิพากษา  โดยยกตัวอย่างกรณีของดีดีไอที่ภาคประชาชนชนะคดี ก็จะเห็นว่า ศาลมีการหยิบยกปฏิญญามาใช้พิจารณาด้วย ทำให้ประเด็น “ผู้เสียหาย” ที่มีสิทธิฟ้องคดี ซึ่งโดยปกติตามวิแพ่ง วิอาญา ผู้ป่วยและเอ็นจีโอ ไม่อาจนับเป็นผู้เสียหายโดยตรงด้วยนั้นก็ถูกนับรวมในกรณีนี้ อีกทั้งยังมีการบรรยายในคำพิพากษาที่เป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญ คือ “ยาเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ แตกต่างจากทรัพย์สินอื่นที่ผู้บริโภคจะเลือกใช้หรือไม่ก็ได้”

“ถ้ามองในแง่คนใช้กฎหมายอยู่ทุกวัน  กรณีดีดีไอสังคมไทยได้อะไร ผมยังมองว่าอาจจะได้บ้าง แต่ยังได้ไม่มากพอ เพราะเหตุว่าปัจจุบัน ยาบางตัว มันราคาแพงแล้วโอกาสเข้าถึงยามันยาก สังคมไทยได้เฉพาะเรื่องนี้หรือยาบางตัว แต่ยาอีกหลายๆ ตัวที่ได้รับสิทธิบัตรผูกขาดกัน แล้วภาคองค์กรพัฒนาเอกชน ท่านยังไม่ได้เทคแอคชั่นสักเท่าไร ดังนั้นเรื่องนี้น่าจะเป็นงานหลักมากๆ ของท่าน”

นอกจากข้อเรียกร้องโดยตรงไปยังภาคประชาชนแล้ว คมน์ทะนงชัย ยังแสดงความเห็นในทางส่วนตัวว่า หากเปรียบเทียบกฎหมายสิทธิบัตรของไทย กับอินเดีย อินโดนีเซีย กระทั่งอเมริกา จะเห็นได้ว่ากฎหมายเรานั้นสมบูรณ์แบบ เข้มงวดในการคุ้มครองผู้ประดิษฐ์อย่างมากมาก ในขณะนี้ที่ระดับคุณภาพชีวิตของเรายังต่ำกว่าญี่ปุ่นและอเมริกาหลายช่วงตัว

 

การต่อสู้เรื่องสิทธิบัตร กรณียาดีดีไอ

ที่มา: เว็บไซต์เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ แห่งประเทศไทย

 

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ติดเชื้อฯ ไม่สามารถเข้าถึงยาได้ คือ ยามีราคาแพง เนื่องจากมีการผูกขาดจากบริษัทยาต่างประเทศ ที่มีสิทธิบัตรยา

การเคลื่อนไหวที่สำคัญเมื่อปี 2542 มีการรวมตัวของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ที่หน้ากระทรวงสาธารณสุข โดยเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาเอาใจใส่ราคายาต้านไวรัส โดยยกกรณีของยาเม็ดดีดีไอมาเป็นกรณีตัวอย่าง โดยที่บริษัทบริสตอล ไมเยอร์ สควิปป์ หรือ BMS ไม่มีความชอบธรรมในการจดสิทธิบัตรยาตัวนี้ เนื่องจากในคำขอฉบับแรก มีการกำหนดขนาดของยา ไว้ที่ 5 - 100 มิลลิกรัมต่อหน่วยการใช้ยา แต่ในสิทธิบัตร ไม่ปรากฏขนาดของการใช้ยา ทำให้ขอบเขตครอบคลุมสิทธิบัตรยาเป็นไปอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ผู้ผลิตรายอื่นไม่สามารถผลิตยาได้

ต่อมา เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ดำเนินการฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิบัตรยาดีดีไอ ในท้ายที่สุดบริษัท BMS ขอเจรจา โดยจะถอนสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา นั่นหมายถึง ยาเม็ดดีดีไอ ไม่มีสิทธิบัตรในประเทศไทยต่อไป

นี่จึงนับได้ว่าเป็นความสำเร็จหนึ่งในการต่อสู้ด้วยหลักการสำคัญ คือ ลดการผูกขาดการผลิตยาจากบริษัทยาข้ามชาติ สนับสนุนให้มีการผลิตยาราคาถูกในประเทศ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อฯ สามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมียาต้านไวรัสที่จำเป็นอีกหลายตัว ที่ยังมีราคาแพงอยู่ และจะเป็นปัญหา หากผู้ที่ดื้อยาแล้วต้องเปลี่ยนสูตรยา โดยจะทำให้โอกาสและทางเลือกในการใช้ยาของผู้ติดเชื้อฯ น้อยลง ซึ่งหนทางการต่อสู้เรื่องยาแพง จะยังไม่จบง่ายๆ เราจะต้องเดินหน้าต่อสู้เรื่อง "สิทธิบัตรยา" ต่อไป

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวยาดีดีไอ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวประเด็นการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (ซีแอล) เนื่องจากเราพยายามผลักดันให้รัฐบาลสมัยนั้น ผลิตยาดีดีไอชนิดเม็ด โดยใช้ช่องทางของมาตรการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสมัยนั้นยังไม่มีแนวคิดที่จะผลิต ทำให้องค์การเภสัชกรรมผลิตยาดีดีไอชนิดผง ซึ่งไม่ติดเงื่อนไขสิทธิบัตรออกจำหน่ายแทน

สรุปการฟ้องเพิกถอนสิทธิบัตรยาดีดีไอ

เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยการช่วยเหลือของสภาทนายความ ดำเนินการฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิบัตรยาดีดีไอ โดยในเบื้องต้นได้ดำเนินการฟ้องบริษัท BMS ต่อ 'ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง' เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2544 ให้กำหนดขนาดการใช้ยาที่ระบุในสิทธิบัตรให้ชัดเจน ซึ่งจากเดิมในคำขอฉบับแรก กำหนดขนาดไว้ที่ 5 - 100 มิลลิกรัมต่อหน่วยการใช้ยา แต่ในสิทธิบัตรฉบับปัจจุบัน ไม่มีปรากฏขนาดของการใช้ยาในสิทธิบัตร ทำให้ขอบเขตครอบคลุมสิทธิบัตรยาเป็นไปอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ผู้ผลิตรายอื่นไม่สามารถผลิตได้ หากผลิตก็อาจจะส่งผลให้เกิดการฟ้องร้อง เรื่องละเมิดสิทธิบัตรได้ ศาลจึงได้เชิญกรมทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นจำเลยร่วม ซึ่งศาลตัดสินพิพากษาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 โดยให้บริษัท BMS และกรมทรัพย์สินทางปัญญาแพ้คดี ต้องแก้ไขในข้อถือสิทธิ์ ให้ระบุขนาด "จาก 5 - 100 มิลลิกรัมต่อหน่วยขนาดใช้ยา" ในสิทธิบัตรเลขที่ 7600 แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญา และบริษัท BMS อุทธรณ์คำสั่ง และขอทุเลาคดี

ตุลาคม 2545 มีการฟ้องคดีที่ 2 โดยฟ้องบริษัท BMS และกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ศาลพิพากษาเพิกถอนสิทธิบัตรเลขที่ 7600 หรือสิทธิบัตรยาดีดีไอ ในประเทศไทย ขณะเดียวกัน ได้มีการร้องขอต่อศาล ให้คุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้องค์กรอื่นๆ สามารถผลิตยาได้ ในขณะที่คดีความกำลังดำเนินอยู่ โดยไม่เป็นการละเมิดสิทธิ

ในช่วงนี้ เครือข่ายฯ และองค์กรพันธมิตร ได้รณรงค์กับเพื่อนผู้ติดเชื้อฯ และเอ็นจีโอ ทั้งในประเทศและทั่วโลก ให้ร่วมกันส่งจดหมายถึงองค์การเภสัชกรรม ,กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรียกร้องให้องค์การเภสัชกรรม ฟ้องบริษัท BMS จนกระทั่ง สธ. มีคำสั่งให้องค์การเภสัชกรรม เป็นโจทย์ฟ้อง

มกราคม 2547 บริษัท BMS ขอเจรจา โดยจะขอถอนสิทธิบัตรหมายเลข 7600 จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีข้อสรุปว่า บริษัท BMS จะต้องดำเนินการถอนอุทธรณ์คดีที่ 1 เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะถอนการฟ้องคดีที่ 2 และบริษัท BMS จะต้องยื่นถอนสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา นั่นหมายถึง ยาเม็ดดีดีไอ ไม่มีสิทธิบัตรในประเทศไทยอีกต่อไป

 

* เรียบเรียงจากการประชุมเชิงวิชาการ ‘ครบรอบ 10 ปี คดีเพิกถอนสิทธิบัตรยาดีดีไอ วันที่ 17 ตุลาคม 2555 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะรัฐศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท