Skip to main content
sharethis

ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนของ UN ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าเยี่ยมนักโทษที่ต้องคดี ม. 112 ในเรือนจำทั้ง 7 คน สนับสนุนการประกันตัวและการปฏิรูปกฎหมาย ขณะที่ก่อนหน้านี้คณะทำงานเรื่องการจับกุมโดยพลการของUN แจงรัฐบาลไทยยังยืนยันม.112 เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมไทย


15 ต.ค.55 มาทิลดา บอกเนอร์ ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Office of High Commissioner for Human Rights - UNOHCHR) ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าเยี่ยมนักโทษที่ต้องคดี ม. 112 ทั้งนี้โดนผ่านการประสานงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและอธิบดีกรมราชทัณฑ์

ตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่าได้พบกับนักโทษ ม. 112 จำนวน 8 คน เป็นนักโทษชาย 7 คนได้แก่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข , สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, ธันย์ฐวุฒิ (สงวนนามสกุล), สุรภักดิ์ (สงวนนามสกุล), วันชัย (สงวนนามสกุล), เสถียร (สงวนนามสกุล),โดยใช้เวลาสนทนา 1.30 ชม. และนักโทษหญิง 1 คน คือ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล เนื้อหาการสนทนาเป็นเรื่องของคดีของแต่ละคน และสภาพของการคุมขัง

การสนทนาดังกล่าวได้รับการรายงานต่อไปยังสำนักงานข้าหลวงใหญ่แล้ว และจะมีการหารือกันต่อไปถึงประเด็นที่ผู้ต้องขังได้หยิบยกขึ้นหารือ

ตัวแทนสำนักงานยังระบุว่าจะขอเรียกร้องและสนับสนุนให้รัฐบาลไทยมีมาตรการเกี่ยวกับการให้ประกันตัว และการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 ต.ค. 55) คณะทำงานเรื่องการจับกุมโดยพลการแห่งสหประชาชาติ (UN Working Group on Arbitrary Detention) ได้ออกข้อคิดเห็นว่าด้วยการจับกุมและคุมขังของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานและแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาเพื่อประชาธิปไตย โดยข้อคิดเห็นดังกล่าวของคณะทำงานฯ ระบุว่า การจับกุมและคุมขังของนายสมยศ ขัดกับหลักกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามรับรองเป็นภาคีสมาชิก โดยเฉพาะมาตรา 19 ที่ระบุเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก และได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนายสมยศออกจากเรือนจำ และชดเชยจำเลยตามความเสียหายที่เกิดขึ้นทันที

ทั้งนี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกจับเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 54 ด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ห้าวันหลังจากที่เขาได้ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากทางการระบุว่า เขายินยอมให้มีการตีพิมพ์บทความที่ถูกมองว่ามีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในนิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ 

เอกสารข้อคิดเห็นดังกล่าว ระบุถึงคำชี้แจงจากรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 55 ด้วยว่า การรณรงค์ให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกม. 112 ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่นายสมยศถูกจับกุมเนื่องจากบทความที่มีเนื้อหาละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยย้ำว่า มุมมองหรือการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่เป็นธรรมต่อสถาบันกษัตริย์ "อาจทำให้เกิดการแสดงออกที่ไม่มีข้อจำกัดและความรับผิดชอบ เช่นเดียวกับการขาดการตรวจสอบเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อาจทำให้ประเทศแตกออกเป็นฝักฝ่าย" และเป็น "ภัยคุกตามต่อเอกภาพ เสถียรภาพ และความเป็นอยู่ของชาติ" กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงเป็นกฎหมายที่ชอบธรรมและมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของชาติ

รัฐบาลไทยได้ชี้แจงเพิ่มเติมในเอกสารของสหประชาชาติด้วยว่า "กษัตริย์มิได้ทรงอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ประชาชนไทยรู้สึกอ่อนไหวในเรื่องของสถาบันกษัตริย์ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงดำรงอยู่จากความเห็นพ้องต้องกันของสังคม หรือเป็นการแสดงออกของประสงค์ของประชาชน และเนื่องจากชาวไทยส่วนใหญ่ต้องการพิทักษ์สถาบันกษัตริย์ หรือ "บิดา" จากภัยอันตรายใดๆ กฎหมายนี้ จึงจำเป็นต้องระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญของไทย" และยังเสริมด้วยว่า การกำหนดโทษที่รุนแรงกว่าการดูหมิ่นประมาทคนธรรมดาเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ เท่ากับการดูหมิ่นสังคมโดยรวมด้วย

ด้านคณะทำงานเรื่องการจับกุมโดยพลการแห่งสหประชาชาติ มีความเห็นต่อการจับกุมและคุมขังนายสมยศว่า การจับกุมด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและพลเมือง โดยเฉพาะมาตราที่พิทักษ์เรื่องเสรีภาพการแสดงออก และย้ำว่า "การแสดงออกซึ่งดูหมิ่นบุคคลสาธารณะ ไม่เพียงพอต่อการกำหนดบทลงโทษต่อการกระทำดังกล่าว และบุคคลสาธารณะทุกคน รวมถึงผู้ที่อยู่ในตำแหน่งทางการเมืองที่สูงสุด อาทิ องค์อธิปัตย์หรือหัวหน้ารัฐบาล ก็ย่อมสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์และการคัดค้านทางการเมืองได้"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net