Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย โวยปูนบำเหน็จตำรวจจำเลยคดีวิสามัญหลังศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดสังหารเด็กหนุ่มชาวกาฬสินธุ์วัย17ปี


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียตกตะลึงเมื่อทราบข่าวว่า  เร็วๆ นี้ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 (ผบช.ภ.4) ได้มอบเงินช่วยเหลือก้อนโตให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย ที่ได้รับการตัดสินว่ามีความผิดในคดีฆาตกรรมเด็กวัยรุ่น นายเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง ในช่วงที่รัฐบาลประกาศ “สงครามกับยาเสพติด” เมื่อปี 2547

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555  พล.ต.ท.สมพงษ์ คงเพชรศักดิ์ ผบช.ภ.4 ได้มอบเงินจำนวน 100,000 บาท ให้แก่ พ.ต.ท.สุมิตร  นันท์สถิต พร้อมพวกอีก 4 คน โดย เว็บไซต์ตำรวจภูธรภาค 4  เป็นผู้โพสต์ข่าวดังกล่าว   ข้อมูลจากเว็บไซต์ระบุว่า เงินที่มอบให้นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือตำรวจทั้ง 5 ในกรณีที่ “ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์”

(ที่มาของภาพ: เว็บไซต์ตำรวจภูธรภาค 4)

หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวได้ไม่นาน  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียได้ออกถ้อยแถลงแสดงความยินดีต่อคำพิพากษาดังกล่าวที่เป็นดั่งหมุดหมายสำคัญ และเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า ในที่สุด ศาลสถิตยุติธรรมในประเทศไทยก็แสดงเจตนาที่จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรับโทษต่อการใช้ความรุนแรงนอกกระบวนการยุติธรรมต่อประชาชน   แต่แล้วการกระทำในทางตรงกันข้ามกับคำพิพากษาของ  พล.ต.ท.สมพงษ์ คงเพชรศักดิ์ ได้แสดงถึงเจตนาที่ชัดเจนของตำรวจที่จะไม่ขีดเส้นแบ่งระหว่างการปฏิบัติหน้าที่และการใช้ความรุนแรงนอกกระบวนการยุติธรรม  และยังแสดงถึงการสนับสนุนอย่างโจ่งแจ้งของนายตำรวจที่เป็นผู้บังคับบัญชาให้มีการใช้ความรุนแรงนอกกระบวนการยุติธรรมต่อประชาชน

ย้อนกลับไปดูข้อเท็จจริงของคดีนี้โดยย่อ เพื่ออธิบายถึงบริบทของการกระทำของ ผบช.ภ.4 ในการจ่ายเงินทำขวัญให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาที่ทำการฆาตกรรมผู้ต้องหาขณะปฏิบัติ “หน้าที่”  เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาในคดีดำที่ 3252/2552, 3466/2552  ตัดสินลงโทษตำรวจ 5ใน 6 นาย ที่ตกเป็นจำเลยในคดีฆาตกรรมนายเกรียงศักดิ์ ถิตย์บุญครอง อายุ 17 ปี เมื่อปี 2547  จำเลยทั้ง 6 ได้แก่ ด.ต.อังคาร คำมูลนา, ด.ต.สุดธินัน โนนทิง, ด.ต.พรรณศิลป์ อุปนันท์, พ.ต.ท.สำเภา อินดี, พ.ต.อ.มนตรี ศรีบุญลือ  และ พ.ต.ท.สุมิตร นันท์สถิต ทั้ง 6 เป็นตำรวจประจำอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองกาฬสินธุ์   ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2547 จำเลยได้จับกุมนายเกรียงศักดิ์ ในข้อหาลักทรัพย์รถจักรยานยนต์  เมื่อครอบครัวของนายเกียรติศักดิ์ทราบข่าว จึงมาที่สถานีตำรวจและพยายามที่จะขอเข้าเยี่ยมนายเกียรติศักดิ์  หลังความพยายามกลับมาที่สถานีตำรวจหลายต่อหลายครั้ง ในที่สุด ในวันที่ 22 กรกฎาคม ผู้เป็นย่าจึงได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมฟังการสอบปากคำนายเกียรติศักดิ์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้บอกให้นางรอ  เนื่องจากนายเกียรติศักดิ์จะได้ประกันตัวในวันนั้น แต่แล้วนางก็ไม่เห็นเขากลับมาบ้านเลย  จนกระทั่งอีกหลายวันต่อมา มีคนพบศพนายเกียรติศักดิ์ในจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียง  โดยศพซึ่งมีร่องรอยการถูกทำร้าย  

หลังการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์ ครอบครัวจึงเริ่มการต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงและจับกุมตำรวจในจังหวัดกาฬสินธุ์มารับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของนายเกียรติศักดิ์  ตลอดจนการฆาตกรรมประชาชนอีก 27 ราย ที่เกิดขึ้นโดยฝีมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีเดียวกันนี้  ทั้งในช่วงที่รัฐบาลประกาศนโยบายทำ “สงครามกับยาเสพติด” และหลังจากนั้นอีกต่อมา   จากการดิ้นรนต่อสู้อย่างยากลำบากของครอบครัว ในที่สุด ศาลชั้นต้นจึงมีคำพิพากษา โดยตัดสินให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นจำเลย 3 รายมีโทษถึงประหารชีวิต  1 ราย ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต   และอีก 1 ราย มีโทษจำคุก 7 เดือน

ในประเทศไทย  เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงนอกกระบวนการยุติธรรมต่อประชาชนแทนที่จะถูกจับกุมมารับโทษในอาชญากรรมที่เขาก่อ  ผู้กระทำผิดเหล่านี้มักได้รับการปูนบำเหน็จเป็นการตอบแทน  ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอุ้มฆ่าทนายสมชาย นีละไพจิตร นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับการเลื่อนตำแหน่งแม้แต่ในขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น  ตำรวจรายอื่นๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าซ้อมทรมานและฆาตกรรมประชาชนถูกย้ายเข้ากรุ และถูกพิจารณาลงโทษตามสมควรหากคดีนั้นเป็นที่สนใจของสาธารณะและได้รับการประท้วงอย่างหนัก  แต่โดยส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมักไม่ถูกลงโทษโดยอาศัยโอกาสที่สังคมเฉื่อยชา  พวกเขาก็จะไม่ได้รับความสนใจไปโดยปริยาย  ธรรมเนียมปฏิบัติที่สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ก่อให้เกิดผลในระยะยาวประการหนึ่งตามมานั่นคือ ความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นของวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดต่อความรุนแรงโดยรัฐในประเทศไทย   

ดังนั้น  คดีของเกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง จึงแตกต่างจากคดีวิสามัญฆาตกรรมอื่นๆ ในประเทศไทยในช่วงหลายสิบปีหลังอย่างเห็นได้ชัด โดยที่คดีอื่นๆ นั้น ศาลแสดงเจตนาที่จะไม่เอาผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งรวมถึงคดีการเสียชีวิตหมู่ของประชาชนในระหว่างถูกควบคุมตัวภายหลังเหตุการณ์ประท้วงที่ตากใบเมื่อเดือนตุลาคม 2547 และการสังหารผู้ชุมนุมในกรุงเทพเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553  แม้แต่ในคดีที่ศาลพิพากษาว่าประชาชนเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัวอันเนื่องมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ซึ่งถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิตเมื่อเดือนมีนาคม 2552  แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่ถือเป็นการปฏิบัติราชการตาม “หน้าที่” ดังนั้น ผู้กระทำผิดจึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกดำเนินคดี

การกระทำของ พล.ต.ท.สมพงษ์ คงเพชรศักดิ์ เป็นความพยายามที่จะทำลายการแสดงออกซึ่งจุดยืนอันกล้าหาญของศาลอาญา และนำเอาระเบียบปฏิบัติ “อันเป็นปกติ”  กลับคืนมา นั่นคือ การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ต้องรับผิดต่อการทรมาน การฆาตกรรม การบังคับให้สูญหาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ  การที่ พล.ต.ท.สมพงษ์มอบเงินช่วยเหลือแก่ตำรวจทั้ง 5 นาย และยืนยันว่าเป็นการช่วยเหลือกรณีที่ต้องเผชิญกับการถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่นั้นเป็นการแสดงถึงวัฒนธรรมของการไม่ต้องรับผิดที่แพร่กระจายอยู่ทั่วสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  และเป็นการกระทำที่ท้าทายต่อความพยายามของศาลที่จะกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของตำรวจให้อยู่ภายใต้กฎหมายที่พวกเขาเองอ้างในการบังคับใช้กับประชาชน  อันที่จริง การกระทำดังกล่าวเป็นการลบเส้นแบ่งระหว่างกฎหมายและความรุนแรงนอกระบบกฎหมายออกโดยสิ้นเชิง  โดยการแสดงเป็นนัยว่า การซ้อมทรมานและการฆาตกรรมเด็กหนุ่มที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการกระทำที่สอดคล้องแนวปฏิบัติปกติในการปฏิบัติ  “หน้าที่”  ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  และไม่ได้เป็นการกระทำที่พวกเขาจะต้องถูกลงโทษแต่อย่างใด

ยิ่งไปกว่านั้น ความไม่ชัดเจนว่าเงินช่วยเหลือดังกล่าวเป็นเงินของทางการจากหน่วยงานของตำรวจ หรือเป็นเงินช่วยเหลือส่วนตัวจาก พล.ต.ท.สมพงษ์ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับรูปแบบของการไม่ต้องรับผิดที่ปรากฏอยู่ในหมู่ตำรวจไทย  รายงานข่าวเรื่องการมอบเงินช่วยเหลือที่ปรากฏในเว็บไซต์ตำรวจภูธรภาค 4 ประกอบด้วยข้อความบรรยายถึงเงินช่วยเหลือดังกล่าว และภาพประกอบ 3 ภาพ ภาพแรกแสดงการมอบเงินช่วยเหลือจาก พล.ต.ท.สมพงษ์ให้แก่ตำรวจทั้ง 5 นาย  เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจทั้ง 5 ยังแต่งเครื่องแบบ เนื่องจากทั้งหมดยังคงปฏิบัติราชการอยู่ในช่วงที่ได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์  ถึงแม้โดยข้อเท็จจริงแล้วพวกเขาถูกพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำแล้วก็ตาม  ส่วน พล.ต.ท.สมพงษ์ ไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ถึงแม้ว่าการเลือกที่จะแต่งกายเช่นนั้นอาจจะมีเจตนาที่จะส่งสัญญาณว่า เงินดังกล่าวเป็นเงินช่วยเหลือส่วนตัว ไม่ใช่เงินช่วยเหลือของทางการ  แต่การโพสต์รูปและข่าวลงในเว็บไซต์ของตำรวจภูธรภาค 4 ทำให้เป็นที่ชัดเจนว่าเงินช่วยเหลือนั้นได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ  การไม่ต้องรับผิดต่อความรุนแรงนอกระบบยุติธรรมไม่ว่าจะได้รับการรับรองผ่านนโยบายอย่างเป็นทางการของตำรวจ  หรือผ่านเครือข่ายระบบอุปถัมภ์อย่างไม่เป็นทางการซึ่งเป็นที่รับรู้โดยทั่วไป  แต่สารที่ตำรวจส่งถึงประชาชนก็คือ “เราจะคุ้มครองตัวเราเอง ไม่ใช่ท่าน” ซึ่งเป็นสารที่ประชาชนไทยทั้งมวลคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียขอเรียกร้องต่อกลไกของตำรวจในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อ พล.ต.ท.สมพงษ์ ให้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการต่อต้านการใช้ความรุนแรงนอกกระบวนการยุติธรรมในกรณีการฆาตกรรมนายเกรียงศักดิ์ ถิตย์บุญครอง และในกรณีอื่นๆ เช่นเดียวกัน โดยต้องแยกแยะความแตกต่างระหว่างการปฏิบัติหน้าที่และการฆาตกรรม  ขอเรียกร้องให้ พล.ต.ท.สมพงษ์เรียกคืนเงินช่วยเหลือที่มอบไปแล้ว  ขอเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพักราชการโดยไม่มีการจ่ายเงินเดือน ตำรวจทั้ง 5 นาย ที่ถูกพิพากษาว่ากระทำผิดทางอาญาอย่างร้ายแรง  จนกว่าศาลอุทธรณ์และฎีกาจะมีคำพิพากษา  ยกเลิกการปูนบำเหน็จและริเริ่มให้มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นที่รับรู้ว่ากระทำการซ้อมทรมานและฆาตกรรมผู้อื่น โชคร้ายที่ตำรวจที่เข้าข่ายดังกล่าวในประเทศไทยมีจำนวนไม่ใช่น้อย  และกระบวนการในการถอดถอนคนเหล่านี้ออกจากตำแหน่งคงต้องใช้เวลายาวนานและมีความยากลำบาก  แต่อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นจะต้องเกิดขึ้น   ศาลอาญาได้เปิดโอกาสให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเริ่มกระบวนการดังกล่าวแล้วจากคดีของเกียรติศักดิ์   ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องรีบฉกฉวยโอกาสนี้เริ่มต้นแสดงตนเองว่าเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์มืออาชีพ  ไม่ใช่แก๊งอาชญากรรมในเครื่องแบบ  และร่วมมือกับศาลในการขัดขวางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีพฤติกรรมก่ออาชญากรรม  ไม่ใช่ท้าทายอำนาจศาลด้วยการปกป้องฆาตกรที่อยู่ใต้บังคับบัญชา ผู้ซึ่งแก้ตัวว่าการกระทำทุกอย่างทำไปตาม “หน้าที่”

 


ที่มา: http://www.humanrights.asia/news/ahrc-news/AHRC-STM-207-2012
 
หมายเหตุ: เกี่ยวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย(AHRC):  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียเป็นองค์กรในระดับภูมิภาคที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาล  ทำหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเอเชีย จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ และสนับสนุนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการปฏิรูปเชิงสถาบันเพื่อรับรองการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน   สำนักงานตั้งขึ้นในฮ่องกงเมื่อ พ.ศ.2527

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net