1 ทศวรรษ การมีส่วนร่วมของประชาชน สู่ความเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2555 ในโอกาสครบรอบ 10 ปี การจัดรัฐสวัสดิการด้านสุขภาพระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ ออกคำประกาศและข้อเสนอนโยบาย 1 ทศวรรษ การมีส่วนร่วมของประชาชนสู่ความเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

0 0 0

คำประกาศและข้อเสนอนโยบาย

1 ทศวรรษ การมีส่วนร่วมของประชาชน
สู่ความเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

โอกาสครบรอบ 10 ปี การจัดรัฐสวัสดิการด้านสุขภาพ
ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
หลักประกันคุณภาพชีวิตคนไทย ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และ
สร้างความเป็นธรรม ให้กับประชาชนพลเมืองผู้เสียภาษีทุกคน

วันนี้เรามาร่วมกันเพื่อยืนยันเจตจำนงของประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในนามประชาชนผู้มีความรักและมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้ก้าวหน้า เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนทุกคนที่อาศัยบนแผ่นดินไทย

เราในนามประชาชนผู้เสียภาษีให้รัฐทั้งทางตรง และทางอ้อมใคร่ขอกล่าวสดุดีการดำเนินการสร้างหลักประกันชีวิตของทุกคนที่เจ็บป่วยให้สามารถเข้าไปรับบริการรักษาที่หน่วยบริการใกล้บ้านใกล้ใจได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องมีผู้ป่วยอนาถาอีกต่อไป เพราะรัฐได้จัดสรรงบประมาณค่ารักษาให้ทุกคนแล้วในรูปสวัสดิการถ้วนหน้าจากเงินภาษีประชาชน  

นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ประชาชนไม่ต้องเผชิญกับภาวะล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษาอีกต่อไป ช่วยลดความยากจนจากการต้องเป็นหนี้สินจากการรักษาพยาบาล  ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจน คนรวย เนื่องเพราะทุกคนได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ มาตรฐานเดียวกัน แม้จะยังไม่อาจลดความเหลื่อมล้ำ ระหว่างกลุ่มคนในประกันสังคม กลุ่มคนในบัตรทองรวมถึงกลุ่มคนในระบบราชการได้

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมานี้ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้การกำหนดนโยบายของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ ที่ประกอบไปด้วยภาคประชาชน ภาคราชการ ภาควิชาชีพ และฝ่ายนโยบายของพรรคการเมือง(ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล) ได้ร่วมกันสร้างแนวทางที่ดีตามเจตนารมย์ของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการจัดการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษา และการฟื้นฟูเยียวยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการตามมาตรา 47 ที่มีการจัดสรรงบประมาณให้จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่ เพื่อให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคด้วยตนเอง เพื่อสร้างความยั่งยืนในการจัดการด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วม มีการดำเนินการตามเจตนารมย์ของกฎหมาย โดยสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนประชาชนเข้าเป็นกรรมการบริหารกองทุน รวมถึงให้เครือข่ายประชาชน องค์กรประชาชน สามารถเสนอโครงการรับงบประมาณจากกองทุนเพื่อใช้ในการจัดการสุขภาพของตนเองด้วยตัวเอง

การดำเนินการตามเจตนารมย์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับโดยประชาชนและองค์กรเอกชนสาธารณะประโยชน์ที่ทำงานด้านต่างๆอย่างน้อย 9 ด้าน ตามกฎหมาย มีตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อกำหนดนโยบายระดับประเทศ มีตัวแทนเข้าเป็นคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับชาติ  รวมถึงคณะอนุกรรมการในระดับเขต ระดับจังหวัด ที่ระบบหลักประกันสุขภาพได้กำหนดให้ตัวแทนประชาชนเข้าเป็นกรรมการด้วย ในการทำหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการในส่วนภาคประชาชนได้มีส่วนผลักดันให้มีการกำหนดนโยบายและการดำเนินการเพื่อสร้างให้มีการเข้าถึงบริการที่จำเป็น โดยการสร้างความเข้าใจและความตระหนักในปัญหาในมุมมองของภาคประชาชน หรือผู้ป่วยโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภาระค่าใช้จ่ายสูง

10 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือ สามารถให้การรักษาได้ครอบคลุมโรค ทั้งไตวายเรื้อรัง เอดส์ มะเร็ง ซึ่งเป็นโรคที่อาจทำให้เกิดความล้มละลายของประชาชน การสร้างมาตรฐานการรักษาโดยการใช้ระบบบัญชียาอย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินการเพื่อให้ได้ยาราคาที่เหมาะสม แม้ยาบางชนิดจะติดสิทธิบัตรที่ทำให้ราคายาสูงมาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็กล้าที่จะใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรตามเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก ทำให้ไทยมียาต้านไวรัสเอชไอวี ยารักษาโรคหัวใจ และยารักษามะเร็ง ในราคาที่เหมาะสมไม่ค้ากำไรเกินควร เหล่านี้ เป็นกระบวนการที่เครือข่ายประชาชน โดยเฉพาะเครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรังได้มีส่วนร่วมผลักดัน ขับเคลื่อนให้รัฐไทยดำเนินการมาตรการเหล่านี้

ความก้าวหน้าในการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกประการหนึ่งคือ การจัดตั้งและดำเนินการ “ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน” ในจังหวัด อำเภอ ตำบล เพื่อเป็นหน่วยขับเคลื่อนงานการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ มีส่วนร่วมเป็นตัวแทนในคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ระดับเขต และในกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่ โดยศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน ทำหน้าที่เป็นหน่วยให้ความรู้ ข้อมูล และคุ้มครองสิทธิประชาชนให้สามารถเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

10 ปีของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นับว่าเป็นเวลายาวนานพอสมควร ยังมีหนทางข้างหน้าอีกยาวไกลที่ระบบจะต้องดำรงอยู่อย่างยั่งยืน และมีคุณภาพ สำหรับประชาชนทุกคน  วันนี้ เราประชาชนมารวมตัวกันเพื่อทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมา และเพื่อผนึกกำลังช่วยกันทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบสำหรับประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง ไม่มีความเหลื่อมล้ำ แต่มีมาตรฐานและคุณภาพเดียวกัน โดยมีข้อเสนอเพื่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนี้

ข้อเสนอต่อรัฐบาล
1. ต้องยืนยันในนโยบายการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพสู่ระบบที่มีความเท่าเทียมทางสุขภาพ โดยพัฒนาเป็นระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวสำหรับทุกคน

             1.1 ทำตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 9 มาตรา 10 ขยายความครอบคลุมไปยังผู้มีสิทธิอื่น ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมและอื่นๆ

             1.2 สร้างระบบในการบริหารจัดการทุกกองทุนด้านสุขภาพให้เป็นระบบเดียวกัน

             1.3 มีชุดสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมกลุ่มบุคคล โดยคำนึงถึงปัญหาเฉพาะของประชากรทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัยเป็นสำคัญ และมีคุณภาพมาตรฐานการรักษาเดียวกัน

             1.4 พัฒนาการเข้าถึงสิทธิ การใช้สิทธิของประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค เท่าเทียมเน้นการใช้ระบบการเงินการคลังของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ

             1.5 ให้ใช้อัตราและวิธีการจ่ายค่าบริการให้หน่วยบริการเป็นมาตรฐานเดียวในทุกกองทุนสุขภาพ

             1.6 เร่งออก พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข เพื่อให้เป็นกลไกคุ้มครองสิทธิสำหรับประชาชนทุกคน

2. ให้จัดการเรื่องระบบการเงินการคลังของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความยั่งยืนของระบบ ประชาชนมีส่วนร่วมจ่ายผ่านการจัดการระบบภาษีด้านสุขภาพ หรือภาษีอื่นที่เป็นธรรมเหมาะสมกับสังคมไทย การจัดการเรื่องระบบภาษีของประเทศให้มีประสิทธิภาพเป็นจริงตามสภาพรายได้ การมีงานทำ และการใช้อัตราภาษีก้าวหน้าเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน ภาษีสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมที่ก่อปัญหามลพิษ ภาษีจากการลงทุนของทุนข้ามชาติ การยุติการยกเว้นภาษีส่งเสริมการลงทุน  

3. ให้ทุกคนที่อาศัยบนแผ่นดินไทยมีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมทุกคน อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรมไม่ว่าจะเป็นชนพื้นเมือง ชาติพันธุ์ ไทยพลัดถิ่น คนไร้สถานะ ไร้รัฐ บุคคลอพยพเคลื่อนย้าย แรงงานข้ามชาติโดยไม่คำนึงถึงสถานะทางกฎหมาย ทั้งนี้มุ่งให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการดูแลโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เช่นเดียวกับกลุ่มประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

4. มีนโยบายในการอภิบาลระบบ เพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ
             4.1 การดำเนินนโยบายอื่นของประเทศ ต้องตระหนักถึงผลกระทบด้านลบต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ เช่น นโยบายศูนย์กลางทางการแพทย์ การทำข้อตกลงการค้าเสรี การควบคุมราคายาและเวชภัณฑ์ การควบคุมความปลอดภัยจากอาหารและยา รวมถึงนโยบายอื่นใดที่จะมีผลลบต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานของประชาชน

             4.2 ยืนยันนโยบายด้านยาของประเทศ ในการใช้ยาตามระบบบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อให้เกิดการใช้ยาที่สมเหตุผล และลดความฟุ่มเฟือยจากการใช้ยาเกินจำเป็น ประกอบกับการดำเนิน นโยบายด้านราคายา มีกลไกการต่อรองราคายา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นได้อย่างเหมาะสม คุ้มค่า

             4.3 มีนโยบายด้านกำลังคน โดยให้ภาคเอกชนรับภาระในการผลิตบุคคลากรทางการแพทย์ด้วยตนเอง

5. รัฐไทยเป็นแกนนำสนับสนุนให้รัฐบาลของประชาคมอาเซียน สร้างระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับประชาชน ที่สามารถเชื่อมระบบระหว่างประเทศสมาชิกได้

ข้อเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
1. พัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิได้อย่างไม่มีอุปสรรค

             1.1 สนับสนุนกลไกการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ โดยการคงให้มีคณะอนุกรรมการเพื่อการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการเป็นกลไกสำคัญซึ่งมีหลักการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม

             1.2 พัฒนาสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สอดคล้องกับปัญหา และความต้องการ

ด้านสุขภาพเฉพาะกลุ่มของประชาชนทั้ง 9 ด้านตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ

             1.3 ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นในด้านคุณภาพชีวิตให้กับผู้พิการ เช่น ผ้าอ้อม

ผู้ใหญ่ รวมถึงเพิ่มแนวทางการซ่อมบำรุง หรือเปลี่ยนกายอุปกรณ์ให้ตามความจำเป็นและการใช้งานจริง ไม่ใช่การกำหนดด้วยจำนวนปี

             1.4 ขยายเวลาในการให้บริการ มีแพทย์ประจำที่สามารถให้บริการได้ โดยไม่จำกัดเฉพาะเวลา

ราชการ  

             1.5 นิยามความหมายของคำว่า“เจ็บป่วยฉุกเฉิน” ให้รวมถึงความหมายของความฉุกเฉินทาง

การแพทย์ และความหมายและการรับรู้ของผู้ป่วยด้วย พร้อมทั้งมีกลไกลดความขัดแย้งและแก้ปัญหาในการใช้บริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินให้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที ครอบคลุมในทุกระบบหลักประกันสุขภาพ

             1.6 ลดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ โดยให้เข้ารับบริการจากหน่วยบริการใดก็ได้ โดยเริ่มต้นจากหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ

             1.7 พัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ให้มีความละเอียดอ่อนในการให้บริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์โดยจัดบริการป้องกัน ดูแล รักษา และฟื้นฟู ให้เด็กหญิง ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง ผู้หญิงที่บาดเจ็บและทุพลภาพจากการยุติการตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ไม่พร้อมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

             1.8 พัฒนาให้มีกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการและผู้สูงอายุระดับจังหวัด ให้ครอบคลุมทุกจังหวัด

2. พัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ให้เป็นกลไกหลักเพื่อส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค

             2.1 กำหนดให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร ต้องมีกองทุนสุขภาพท้องถิ่นเช่นเดียวกับภูมิภาค

             2.2 ปรับปรุงองค์ประกอบและสัดส่วนของคณะกรรมการกองทุน โดย

                          2.2.1 ประธานกองทุนสุขภาพท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งกันเองของคณะกรรมการ

                          2.2.2 เพิ่มสัดส่วนตัวแทนประชาชนในกองทุนฯ จากตัวแทนเครือข่าย 9 ด้านในพื้นที่  

                          2.2.3 การส่งเสริมสนับสนุนให้คณะกรรมการและประชาชนในพื้นที่ เข้าใจเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค ที่อ้างอิงหลักการนานาชาติ ควรเปิดกว้างให้กองทุนดำเนินกิจกรรมที่หลากหลายสอดคล้องกับสภาพในพื้นที่ ไม่ควรกำหนดเกณฑ์จากส่วนกลางว่าต้องทำงานมุ่งเน้นเฉพาะกลุ่มเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง

3. สนับสนุนให้ประชาชนจัดบริการสุขภาพที่สอดคล้องกับความจำเป็นเฉพาะกลุ่มด้วยตนเองในระดับประเทศ ระดับจังหวัด  เพื่อครอบคลุมประชากรและสภาพสุขภาพในพื้นที่ เช่น ผู้หญิง เยาวชน แรงงาน อาชีพเสี่ยงต่างๆ รวมถึงปัญหาเฉพาะของท้องถิ่น เช่น การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคตามแนวชายแดน

4. ยืนยันการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

             4.1 ให้มีกองทุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยจัดสรรงบประมาณจากค่าเหมาจ่ายรายหัว 0.50 บาท มาตั้งเป็นกองทุน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการและการพัฒนาระบบ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพ การป้องก้นโรค การฟื้นฟูสุขภาพในระดับประเทศ จังหวัด ตำบล

             4.2 เพิ่มสัดส่วนตัวแทนภาคประชาชนจากเครือข่าย 9 ด้านตามพ.ร.บ.ในกรรมการและอนุกรรมการทุกระดับ

             4.3 พัฒนาศักยภาพกรรมการภาคประชาชน และเครือข่ายประชาชนอย่างต่อเนื่อง

             4.4 ให้ออกหลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติในการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปตาม มาตรา 18(13) อย่างมีมาตรฐานและติดตามผลของการดำเนินการตามข้อเสนอ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

5. ทบทวน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลระบบสุขภาพให้ประชาชนทุกคนบนผืนดินไทย

ข้อเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข
1. พัฒนาหน่วยบริการทุกระดับทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ให้มีคุณภาพ มาตรฐานในการวินิจฉัยโรคการรักษา และส่งต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.  พัฒนาระบบส่งต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ลดผลกระทบต่อผู้ป่วย โดยจัดทำข้อเสนอผ่านณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ใช้มาตรการทางการเงินการคลังที่เหมาะสม

3.  สนับสนุนให้หน่วยบริการทุกระดับ ทุกสังกัดยอมรับแนวทางการใช้การจ่ายเงินแบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมเดียวกัน เพื่อความเป็นธรรมทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และการเงินการคลังของประเทศ

4.  เพิ่มการสนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5)

5.  สนับสนุนการยกระดับศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนให้เป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5)  และให้เป็นหน่วยงานภาคประชาชนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพ เป็นช่องทางสำหรับทุกคน ทุกสิทธิ

6. สนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูล และประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ แนวทางการรักษา ทางเลือกในการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนสามารถตัดสินใจเรื่องสุขภาพของตนได้อย่างมีข้อมูลรอบด้าน ตามหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมฯ ในมาตรา 50(9) รวมถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางในเรื่องสุขภาพ เรื่องสิทธิทางเพศและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ และอื่นๆ โดยคำนึงถึงความแตกต่างของข้อมูลเฉพาะกลุ่ม และความเหมาะสมของสื่อต่อผู้รับสาร เช่น สื่อสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน สื่อสำหรับชนพื้นเมือง ชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น

วันนี้  เป็นโอกาสดีที่พวกเราทุกภาคส่วนทั้งประชาชนผู้เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม มารวมกันเพื่อทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา และมีข้อเสนอสำหรับอนาคตของระบบหลักประกันสุขภาพ และจะติดตามผลการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว กับรัฐบาล คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง เชื่อมต่อข้อมูลความก้าวหน้าให้เครือข่ายประชาชนทุกส่วน เพื่อเป็นหลักประกันให้กับพี่น้องประชาชน ได้มีระบบที่ดีในการดูแลสุขภาพของทุกคน 

26 ตุลาคม 2555
เวที 1 ทศวรรษการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

24-26 ตุลาคม 2555
ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ80พรรษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นนทบุรี

ภาคประชาชนในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ภาคประชาชนในคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข
ภาคประชาชนในคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต (อปสข.)
ภาคประชาชนในคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับจังหวัด (อปสจ.)
ภาคประชาชนในคณะอนุกรรมการพิจารณาการช่วยเหลือเบื้องต้นตาม ม. 41
ภาคประชาชนในคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับจังหวัด
ภาคประชาชนในคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น
หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตาม50(5)
ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน
เครือข่ายประชาชน 9 ด้านตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท