นักสหภาพแรงงานเกาหลีชี้ ‘นักสหภาพฯ’ ต้องมีจิตสำนึก ‘คนงาน’ มากกว่า ‘ลูกจ้าง’

นักสหภาพแรงงานเกาหลีระบุจิตสำนึก “คนงาน” ต่างจาก “ลูกจ้าง” นักสหภาพต้องมีจิตสำนึกคนงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง และความมุ่งหวังของคนงานคือ “แรงงานสัมพันธ์ที่มีสันติ” เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ไปถึงคือ “การเจรจาต่อรอง” และความเข้าใจเรื่อง “มาตรฐานแรงงานสากล” จำเป็นสำหรับกิจกรรมสหภาพแรงงาน

ยูน เฮียววัน (Yoon Hyowon) ผู้ประสานงาน IndustriAll

เมื่อวันที่ 27 - 28 ต.ค. 55 ที่โรงแรมเวอโรนิก้า กรุงเทพฯ สหพันธ์แรงงานสากล IndustriAll ได้จัดเสวนา "มาตรฐานแรงงานสากลและการเจรจาต่อรองร่วม" โดยในหัวข้อ “มาตรฐานสากลสำหรับนักสหภาพแรงงาน” ยูน เฮียววัน (Yoon Hyowon) ผู้ประสานงาน IndustriAll เป็นผู้นำเสวนา

 

นักสหภาพแรงงานต้องมีจิตสำนึก “คนงาน” ไม่ใช่ “ลูกจ้าง”

ยูนกล่าวถึงประเด็นการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ทั้งนี้แนวความคิดของนักสหภาพแรงงานอาจจะดูไม่เหมือนกับกลุ่มนักกิจกรรมอื่นๆ ที่เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนแต่ไม่กล่าวถึงสิทธิแรงงาน ยูนกล่าวว่าถ้าไม่มีสิทธิแรงงานแล้วก็จะไม่เกิดสิทธิมนุษยชน และแก่นของการจัดตั้งสหภาพแรงงาน มีอยู่สองเรื่องสำคัญที่ต้องพูดถึง นั่นก็คือเรื่องการเรียกร้อง “ผลประโยชน์” (Interest) และการปกป้อง “สิทธิ” (Right) ให้กับคนงาน

เมื่อพูดถึงคำว่าคนงานแล้ว ยูนให้ภาพว่านักสหภาพแรงงานต้องมีมุมมองต่อคำว่า “คนงาน” (Worker) กับ “ลูกจ้าง” (Employee) ให้ต่างกัน เพราะจะมีผลต่อทัศนคติการทำงานในฐานะนักสหภาพแรงงาน

ทั้งนี้ความเป็น “คนงาน” นั้นมันจะติดตัวนักสหภาพฯ ไปตลอดเวลา เพราะหากเราคิดว่าเราเป็นแค่ “ลูกจ้าง” ที่หมายถึงการเป็นแค่ผู้ที่ถูกจ้างให้ทำงาน ซึ่งการเป็น “ลูกจ้าง” นั้นมันขึ้นอยู่กับสถานะทางตลาดแรงงานที่เราอาจจะถูกเลิกจ้าง หรืออยู่ในระหว่างเปลี่ยนงาน หรือแม้แต่กระทั่งบริษัทปิดตัวลงไป ความเป็นลูกจ้างก็สิ้นสุดลง ซึ่งหากเราคิดว่าเราเป็นแค่ลูกจ้างก็จะเป็นการเอาตัวไปผูกติดกับนายจ้างมากเกินไป และจะเป็นทัศนะคติมุมมองที่ไม่สามารถต่อยอดให้ทำกิจกรรมสหภาพแรงงานให้มีประสิทธิภาพได้

ในการเรียกร้องผลประโยชน์และเรียกร้องสิทธินั้น นักสหภาพฯ จะต้องทำให้กับคนงานที่แม้ว่าจะถูกเลิกจ้างไปแล้ว และการเป็นนักสหภาพฯ นั้นมีความเป็นสากล เพราะหากเราเป็นสมาชิกสหภาพฯ ซึ่งเชื่อได้ว่าองค์กรสหภาพของเราจะต้องขึ้นอยู่กับองค์กรสหพันธ์แรงงานสากลต่างๆ [1] ที่มีสมาชิกรวมกันเป็นคนงานหลายร้อยล้านคน การต่อสู้ของเราจึงจะมีสมาชิกขององค์กรต่างๆ ที่เป็น “คนงาน” เหมือนเราหนุนช่วยกันทั่วโลก และเราก็ต้องหนุนช่วยคนงานเหล่านั้นด้วยเช่นกันเมื่อเขาเกิดปัญหา

เมื่อพูดถึงสหภาพแรงงาน ในทัศนะของยูนมองว่าสหภาพแรงงานจะต้องไม่เกี่ยวข้องและถูกครอบงำบริษัท แต่องค์กรสหภาพแรงงานจะต้องเป็นเอกเทศ และมุ่งเป้าไปที่การเรียกร้องผลประโยชน์และปกป้องสิทธิให้คนงานเท่านั้น โดยวิธีการรวมตัวกันเพื่อเจรจาต่อรองเป็นวิธีการที่สำคัญที่สุด

 

สู่ “แรงงานสัมพันธ์ที่มีสันติ” ด้วย  “การเจรจาต่อรอง”

ทั้งความมุ่งหวังของคนงานคือ “แรงงานสัมพันธ์ที่มีสันติ” (Industrial Peace) และเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายนี้ได้คือ “การเจรจาต่อรอง” โดยสหภาพแรงงาน และในการทำกิจกรรมสหภาพแรงงานนั้น จะต้องมีการเจรจาต่อรองร่วม (collective bargaining) คือการเจรจาระหว่างสหภาพแรงงานกับนายจ้าง เพื่อร่วมกันตัดสินใจในเรื่องค่าจ้าง และสภาพการทำงาน ซึ่งมีผลต่อชีวิตการทำงานของคนงานและความเป็นอยู่ของครอบครัวของคนงาน

และการเจรจาต่อรองร่วมนั้นแตกต่างกับการต่อรองรายบุคคล เพราะการพูดคุยเรื่องผลประโยชน์ระหว่างนายจ้างกับคนงานแบบรายปัจเจกนั้น แทบที่จะเรียกว่าเป็นการต่อรองได้ด้วยซ้ำ เพราะนายจ้างกุมอำนาจไว้ และสามารถเอาเปรียบคนงานได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้การทำข้อตกลงสภาพการจ้าง ต่างกับสัญญารายบุคคล เพราะเป็นการกระทำรวมหมู่ของคนงานที่เพิ่มอำนาจการต่อรอง ให้การเจรจากับนายจ้างดูสมเหตุสมผลมากขึ้นกว่าการทำเป็นรายบุคคล และในอีกนัยหนึ่งคือถ้าไม่มีข้อตกลงสภาพการจ้างก็หมายความว่าไม่มีสหภาพแรงงาน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วข้อตกลงสภาพการจ้างต้องอยู่ในระดับที่สูงกว่าและดีกว่ากฎหมายในประเทศ และต้องดีกว่ามาตรฐานสากล

 

ทั้งนี้ในการเสวนา ยูนได้กล่าวถึงความสำคัญของมาตรฐานแรงงานสากลว่า ควรเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่สุดและเป็นสิทธิพื้นฐานที่คนงานทุกคนต้องได้รับ โดยในการเสวนา ได้มีการให้ข้อมูลถึงความสำคัญของมาตรฐานแรงงานกลต่างๆ ที่นักสหภาพแรงงานควรรู้ไว้ดังนี้ ...

มาตรฐานแรงงานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

มาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization - ILO) ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีในระดับนานาชาติ มีมาตรฐานแรงงานพื้นฐานสำหรับคนงานโดยเป็นอนุสัญญาหลัก 8 อนุสัญญา ได้แก่

1. อนุสัญญาว่าด้วยเสรีภาพการรวมกลุ่มและการคุ้มครองสิทธิการรวมกลุ่มจัดตั้ง ค.ศ. 1948 (หมายเลข 87)

2. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิการรวมกลุ่มจัดตั้งและการเจรจาต่อรองร่วม, ค.ศ. 1949 (หมายเลข 98)

3. อนุสัญญาว่าด้วยการใช้แรงงานบังคับ, ค.ศ. 1930 (หมายเลข 29)

4. อนุสัญญาว่าด้วยการยกเลิกการใช้แรงงานบังคับ, ค.ศ. 1957 (หมายเลข 105)

5. อนุสัญญาว่าด้วยอายุขั้นต่ำ, ค.ศ. 1973 (หมายเลข 138)

6. อนุสัญญาว่าด้วยการใช้แรงงานเด็กที่เลวร้ายที่สุด, ค.ศ. 1999 (หมายเลข 182)

7. อนุสัญญาว่าด้วยค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน, ค.ศ. 1951 (หมายเลข 100)

8. อนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติ (ในการจ้างงานและอาชีพ), ค.ศ. 1958 (หมายเลข 111)

โดยเรื่องหลักที่ ILO ให้ความสำคัญประกอบไปด้วย

เสรีภาพการรวมกลุ่มและการยอมรับอย่างจริงจังต่อสิทธิการเจรจาต่อรองร่วม (อนุสัญญาฉบับที่ 87, 98) – คนงานมีเสรีภาพและสิทธิในการรวมกลุ่มจัดตั้งสหภาพแรงงานของตนเองหรือเข้าร่วมสหภาพแรงงานที่สามารถปกป้องสิทธิประโยชน์ของเขา, นายจ้างและรัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงการรวมกลุ่มจัดตั้งของคนงานหรือกิจกรรมสหภาพแรงงาน และคนงานมีเสรีภาพและสิทธิในการเข้าร่วมองค์กรแรงงานระดับจังหวัด ระดับชาติ และสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมมีสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในการให้การสนับสนุนคนงานและจัดตั้งสหภาพแรงงาน

สำหรับด้านสิทธิการเจรจาต่อรองร่วมนั้น การเจรจาต่อรองร่วมเป็นการเจรจาที่กระทำระหว่างฝ่ายจัดการและสหภาพแรงงานเพื่อการกำหนดร่วมกันในเรื่องค่าจ้าง สภาพการทำงาน สิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนงานและครอบครัวของคนงาน โดยผลของการเจรจาต่อรองร่วมคือการทำข้อตกลงสภาพการจ้าง (CBA) และการทำข้อตกลงสภาพการจ้างสามารถทำได้ทุกระดับ: สถานประกอบการ, จังหวัด รวมถึงในระดับอุตสาหกรรม และระดับชาติ

การขจัดการใช้แรงงานบังคับทุกรูปแบบ (อนุสัญญาฉบับที่ 29, 105) - การทำงานภายใต้การข่มขู่และ บังคับโดยที่บุคคลไม่ยินยอม และการทำงานล่วงเวลาโดยไม่มีการปรึกษาหารือกับคนงานหรือสหภาพแรงงาน

การขจัดการใช้แรงงานเด็กอย่างจริงจัง (อนุสัญญาฉบับที่ 138 182) - เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ไม่ควรทำงาน, เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีไม่ควรทำงานที่ผู้ใหญ่ทำ และเด็กอายุต่ำกว่า 18  ปีไม่ควรให้ทำงานที่เข้าข่ายเป็นงานอันตราย

การขจัดการเลือกปฏิบัติในเรื่องการจ้างงานและอาชีพ (อนุสัญญาฉบับที่ 100, 111) - ค่าจ้างเท่าเทียมสำหรับงานที่เท่ากัน, การปฏิบัติทีเท่าเทียมสำหรับการทำงานเท่ากัน, ขจัดการการเลือกปฏิบัติระหว่างหญิง-ชาย  และขจัดการเลือกปฏิบัติระหว่างคนงานประจำและคนงานชั่วคราว

นอกจากนี้ยูนยังได้เพิ่มเติมว่า ส่วนใหญ่ประเทศที่มีขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งนั้นมักจะรับสัตยาบันอนุสัญญาของ ILO มากกว่าประเทศที่มีขบวนการแรงงานอ่อนแอ รวมถึงประเทศที่รัฐมักจะเข้าข้างฝ่ายทุนมากกว่าคนงาน และประเทศที่เป็นเผด็จการนั้นมักจะไม่เข้าไปรับ สัตยาบันอนุสัญญาของ ILO แตกต่างจากประเทศประชาธิปไตย

แนวปฏิบัติ OECD สำหรับบรรษัทข้ามชาติ

 

แนวปฏิบัติขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) องค์กรระหว่างประเทศของประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยภายใต้การนำของยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีสมาชิก 31 ประเทศ  ได้แก่ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาลี, สวีเดน, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, สเปน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สหรัฐ, แคนาดา, เม็กซิโก และชิลี

แนวปฎิบัตินี้เป็นมาตรฐานสากลเป็นแนวทางจรรยาบรรณเพื่อการปฏิบัติของบรรษัทข้ามชาติ ของประเทศในกลุ่ม OECD พึงปฏิบัติ (ไม่มีบทลงโทษตามกฎหมายแต่เป็นแนวปฏิบัติที่แนะนำให้มีการปฏิบัติตาม) โดยแนวปฎิบัติที่เกี่ยวข้องกับคนงานได้แก่ บทที่ 3, 4 และ 5 คือเรือง การเปิดเผยข้อมูล, สิทธิมนุษยชน และเรื่องแรงงานสัมพันธ์ ตามลำดับ

การเปิดเผยข้อมูล - บรรษัทข้ามชาติควรเปิดเผยข้อมูลเรื่อง กิจกรรมบรรษัทข้ามชาติ, โครงสร้าง, สถานการณ์ทางการเงินและผลการประกอบการ, lบริษัทลูก, สัดส่วนการถือครองหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในบริษัทลูกเหล่านี้, การถือหุ้นประเภทอื่นๆ 

และบรรษัทข้ามชาติควรเปิดเผยข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษรดังต่อไปนี้ ผลการดำเนินธุรกิจและการเงินของบริษัท, คณะกรรมการบอร์ดและผู้บริหารหลักๆ และค่าจ้างของพวกเขา, ข้อมูลเรื่องลูกจ้างของบริษัทและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ และโครงสร้างการบริหารงานรวมถึงนโยบาย

สิทธิมนุษยชน - สิทธิแรงงานเป้นสิทธิพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนที่บรรษัทข้ามชาติพึงควรเคารพ

แรงงานสัมพันธ์ - สิทธิการเข้าร่วมสหภาพแรงงานและข้อตกลงสภาพการจ้าง, การยกเลิกการใช้แรงงานเด็ก, การขจัดการใช้แรงงานบังคับ และการไม่เลือกปฏิบัติต่อคนงานเพราะสาเหตุของเชื้อชาติ เพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง สัญชาติ และภูมิหลังความเป็นมา

การจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ที่ดี จะต้องประกอบไปด้วย การอำนวยความสะดวกให้กับผู้แทนของคนงานในการเจรจาต่อรอง, การเปิดเผยให้ข้อมูลเพื่อการเจรจาต่อรองที่สร้างสรรค์, การปฏิบัติตามกฏหมายแรงงานในประเทศที่มีการลงทุน, ส่งเสริมสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน, จัดการฝึกอบรมการทำงานที่เหมาะสม, ในกรณีที่จะมีการเลิกจ้างจำนวนมาก บริษัทจะต้องแจ้งล่วงหน้าและมีระยะเวลาที่สมเหตุสมผล พร้อมกับการให้ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์กับสหภาพแรงงาน, ห้ามขู่ว่าจะมีการโอนย้ายการผลิตส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดไปยังประเทศอื่นโดยการอ้างว่าเป็นเพราะการดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงาน การ, เจรจาต่อรองข้อเรียกร้องหรือ การนัดหยุดงานของสหภาพแรงงาน และเปิดโอกาสให้ผู้แทนคนงานเข้าปรึกษาหารือกับผู้บริหารที่มีอำนาจในการตัดสินใจ

 

 

…………

เชิงอรรถ

[1] ก่อนถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2555 นั้น องค์กรสหพันธ์แรงงานระดับโลกมีด้วยกัน 11 องค์กร ประกอบไปด้วย ...

1. สหพันธ์แรงงานนานาชาติกิจการเคมีภัณฑ์, พลังงาน, เหมืองแร่, แรงงานทั่วไปในประเทศไทย (International Federation of Chemical, Energy, Mine and General Workers' Unions - ICEM)

2. สหพันธ์แรงงานโลหะระหว่างประเทศ (International Metalworkers' Federation - IMF)

3. สหพันธ์แรงงานสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องหนังระหว่างประเทศ (International Textile, Garment and Leather Workers' Federation - ITGLWF)

4. สหพันธ์แรงงานก่อสร้างและงานไม้ระหว่างประเทศ (Building and Wood Workers' International - BWI)

5. สหพันธ์แรงงานภาคสาธารณูปโภคระหว่างประเทศ (Public Services International - PSI)

6. สหพันธ์แรงงานภาคการศึกษาโภคระหว่างประเทศ (Education International - EI)

7. สหพันธ์แรงงานภาคการขนส่งระหว่างประเทศ (International Transport Workers' Federation - ITF)

8. สมาคมสหภาพแรงงานอาหาร เกษตรกรรม โรงแรม ภัตตาคาร การบริการอาหาร ยาสูบและแรงงานพันธมิตรระหว่างประเทศ (International Union of Food, Agricultural, Hotel, Restaurant, Catering, Tobacco and Allied Workers' Association - IUF)

9. สหพันธ์แรงงานภาคการเงินและภาคบริการระหว่างประเทศ (UNI global union - UNI)

10. สหพันธ์แรงงานสื่อสารมวลชนระหว่างประเทศ (International Federation of Journalists - IFJ)

11. พันธมิตรคนทำงานด้านศิลปะและการบันเทิงระหว่างประเทศ (International Arts and Entertainment Alliance - IAEA)

แต่หลังจากวันที่ 19 มิถุนายน 2555 องค์กรสหพันธ์แรงงานระดับโลกจะเหลือเพียง 9 องค์กร เนื่องจาก ICEM, IMF และ ITGLWF ควบรวมกันเป็น สหพันธ์แรงงานสากล IndustriAll

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท