ประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ล่องเรือร้อง ‘อาเซม’ หยุด ‘เขื่อนไซยะบุรี’

เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง พร้อมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ล่องเรือบนน้ำโขงฝั่งหนองคายตรงข้ามที่ประชุมอาเซม รณรงค์ค้านเขื่อนไชยะบุรี ด้าน สปป.ลาวสัมภาษณ์สื่อเผยวางศิลาฤกษ์โครงการฯ 7 พ.ย.นี้

 
 
วันที่ 5 พ.ย.55 ในลำแม่น้ำโขงด้านหน้าวัดชุมพล ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านหาดดอนจัน นครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวง สปป.ลาว สถานที่จัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) รวมทั้งประชาชนใน จ.หนองคาย ประมาณ 200 คน ร่วมกันจัดกิจกรรมคัดค้านการสร้างเขื่อนไชยะบุรีของ สปป.ลาว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มชาวบ้านได้นำเรือราว 50 ลำล่องในลำแม่น้ำโขง โดยเรือแต่ละลำได้ติดป้ายรณรงค์คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนไชยะบุรี อย่างไรก็ตามขบวนเรือล่องประชิดชายฝั่งไทย เนื่องจากมีเรือลาดตระเวนของ สปป.ลาวจำนวน 3 ลำ ประกบเพื่อไม่ให้ขบวนเรือรุกล้ำเข้าไปใกล้ฝั่ง สปป.ลาว นอกจากนี้ยังมีเฮลิคอปเตอร์ของทางการบินวนเวียนสังเกตการณ์ ทำให้ชาวบ้านต้องเร่งมือกันทำกิจกรรมให้ลุล่วง
 
นายอิทธิพล คำสุข ตัวแทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (จังหวัดหนองคาย) กล่าวว่า ในวาระการประชุมผู้นำประเทศเอเชีย-ยุโรป หรืออาเซม ในวันนี้ ณ นครหลวงเวียงจันทร์ สปป.ลาว พวกเราเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสช.) ขอเรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมได้รับรู้ว่าแม่น้ำโขงกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติเนื่องจากโครงการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงทางตอนล่างที่กำลังคืบหน้าอย่างรวดเร็ว
 
โดยเฉพาะโครงการเขื่อนไซยะบุรี ตั้งอยู่ใน สปป.ลาว ซึ่งเป็นการลงทุนโดยบริษัทเอกชนไทย สัญญาซื้อขายไฟฟ้าลงนามโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเดินหน้าการก่อสร้างอย่างรวดเร็ว ทั้งที่มีการคัดค้านจากรัฐบาลกัมพูชาและเวียดนาม ตลอดจนประชาชนในภูมิภาค
 
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า เขื่อนไซยะบุรีเป็น 1 ใน 12 โครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่จะกั้นแม่น้ำโขงทางตอนล่าง ชาวบ้านที่อาศัยริมแม่น้ำโขงมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าจะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง พันธุ์ปลา การประมงการเกษตร การคมนาคม และปากท้องวิถีชีวิตของประชาชนกว่า 60 ล้านคนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
 
สำหรับประเทศทั้งในเอเชียและยุโรปที่เป็นผู้บริจาคแก่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) หลายปีที่ผ่านมาเราพบว่ากลไกของ MRC ไม่มีประสิทธิภาพไม่สามารถไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ แม้จะมีข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 แต่ข้อตกลงนี้ก็แทบไม่มีความหมายเพราะการตัดสินใจไม่ได้อยู่บนฐานของข้อเท็จจริง ความรู้ และการมีส่วนร่วมแต่กลับเป็นเรื่องของผลประโยชน์เฉพาะหน้า
 
แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามนำเสนอผ่านสื่อมวลชนของทางการลาวว่าเขื่อนแห่งนี้เป็นเขื่อน “โปร่งใส” ไม่มีการกักเก็บน้ำ ไม่กักเก็บตะกอน และไม่มีผลกระทบต่อพันธุ์ปลา แต่กลับไม่มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการแก่สาธารณะและผู้ได้รับผลกระทบอย่างรอบด้านที่เพียงพอที่จะใช้ประเมินความเสียหายโดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดนต่อชุมชนท้ายน้ำ-เหนือน้ำ ในประเทศเพื่อนบ้านนับตั้งแต่ประเทศไทยเรื่อยไปจนถึงกัมพูชาและเวียดนาม
 
ด้านนายเสถียร มีบุญ สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย กล่าวเสริมว่า จวบจนขณะนี้ชาวบ้านริมน้ำโขงซึ่งจะต้องเป็นผู้เดือดร้อนยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อน ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมาถามเราว่า ชุมชนริมแม่น้ำโขงพึ่งพาแม่น้ำโขงเพียงใด ใครกันที่จะรับรองได้ว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อชุมชน
 
ในวาระที่จะมีการประชุมเอเชีย-ยุโรป และจะมีการพูดคุยในที่ประชุมเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน ชาวชุมชนริมแม่น้ำโขงขอเรียนว่าแม่น้ำโขงเป็นเส้นเลือด เป็นชีวิต เป็นจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของประชาชนอย่างน้อย 60 ล้านคน แม่น้ำโขงมีค่ามากเกินกว่าจะเป็นเพียงแหล่งผลิตพลังงานหรือเพื่อสร้างความร่ำรวยแก่บุคคลกลุ่มเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียว ประชาชนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงแห่งนี้ต้องการการวางแผนพลังงานที่รอบด้านยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีส่วนร่วมตลอดสายน้ำ
           
“หยุดโครงการเขื่อนไซยะบุรี ศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน และมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อแม่น้ำโขงที่ไหลอย่างอิสระ” นายเสถียรกล่าวย้ำถึงข้อเรียกร้อง
 
ในวันเดียวกัน (5 พ.ย.55) สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานสัมภาษณ์นายวีระพน วีระวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ สปป.ลาวว่า จะมีพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการเขื่อนไซยะบุรี ในวันพุธที่ 7 พ.ย.นี้ ที่หัวงานเขื่อน แม้จะมีการคัดค้านจากประเทศท้ายน้ำ และนักอนุรักษ์ทั่วโลกก็ตาม โดยพลังงานไฟฟ้าเป็นผลประโยชน์ใหญ่หลวงของลาว ถ้าไม่สร้างเขื่อนไซยะบุรี ลาวจะมีทางเลือกอื่นอย่างไร

“เราศึกษาประเมินแล้ว ตลอดเวลา 2 ปี เราศึกษาเรื่องที่มีข้อห่วงใยแล้วเกือบทุกประเด็น” นายวี ระพน กล่าว และว่า กัมพูชาที่เคยคัดค้านโครงการนี้มีความสุขมาก

 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท